2 พฤศจิกายน 2018
9 K

เธอเล่นหยอกล้อกับสุนัขบอสตันเทอเรียของเธอ ยิ้ม หัวเราะ กินข้าวจนหมดชาม และฮัมเพลงอยู่ตลอด

นี่คือ เอิน-กัลยกร นาคสมภพ ผู้ที่คุมอาการซึมเศร้าไว้ได้อยู่หมัดด้วยจิตบำบัดและยา

20 ปีที่ผ่านมา เอินเป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรัง อาการทรุดหนักขนาดที่อยากฆ่าตัวตาย แต่หลังจากวันที่เธอรวบรวมความกล้าไปหาจิตแพทย์ แล้วกินยาไปควบคู่กับการทำจิตบำบัด สุขภาพใจก็กลับมาคงที่ได้ 2 ปีแล้ว

จนวันหนึ่ง เธอตัดสินใจหยุดยาติดต่อกัน 16 วัน และเผชิญหน้ากับตัวเองในมุมที่อ่อนแอที่สุดอีกครั้ง เพื่อทำหนังสั้น Love in Depression สื่อสารเรื่องราวของคนซึมเศร้า ภายใต้โครงการ RAQUE Forward ช่องทางช่วยเหลือผู้ป่วยซึมเศร้าในแบบของเธอเอง แม้หนังจะฉายไปรอบเดียวที่ Doc Club Theatre แต่ก็ได้เสียงตอบรับดีมาก และช่วยชีวิตคนได้มากกว่าความคาดหวังของผู้ทำเสียอีก

“เราเป็นคนที่ขับเคลื่อนด้วยเป้าหมายมาก” คือสิ่งที่เอินบอกตั้งแต่เนิ่นๆ และคือคำอธิบายเบื้องหลังการทำสิ่งต่างๆ ในชีวิตเธอ นั่นคือเริ่มจากการกำหนดเป้าหมาย แล้วทำทุกวิถีทางเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนั้น การทำ RAQUE Forward และหนังสั้น ต่างก็เกิดจากคุณสมบัตินี้

ไปเข้าใจที่มาที่ไป ความกล้าหาญ และเป้าหมาย ของความ RAQUE ด้วยกัน

เอิน กัลยกร นาคสมภพ, โรคซึมเศร้า

โจทย์ที่ 1 อยากให้… ให้มากกว่านี้

คนมักรู้จักเธอในฐานะดารา แต่ความจริงแล้ว เอินเคยสวมหมวกที่หลากหลาย ตั้งแต่เป็นนักข่าวให้สำนักข่าวต่างประเทศ เป็นศิลปินอิสระที่ปั้นงานขาย เป็นโปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์ เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย จนกระทั่งเธอพบว่าสิ่งที่ชอบทำคืองานแบรนดิ้งและการสื่อสาร ซึ่งได้ใช้ความสามารถทุกด้านของเธออย่างครบถ้วน และยังได้สอนเด็กรุ่นใหม่ไปด้วยพร้อมกัน

ผสมกับจังหวะนั้น เธออยาก ‘ให้’ แก่คนอื่นให้มากกว่านี้ จึงนำมาสู่การเปิดเอเจนซี่ของตัวเอง นามว่า kal&co ซึ่งตั้งอยู่บนนโยบายที่ว่าจะคิดค่าจ้างก้อนเดียวโดยไม่บวกอะไรเพิ่มมากนัก และแบ่ง 10% ของกำไรสู่สังคมด้วย

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สวรรคต เอินผู้เคารพรักพ่อหลวงจึงยิ่งอยากทำเพื่อสังคมมากกว่าเดิม เธอกับสามีนั่งคิดกันว่าจะทำอะไรดี งานด้านการเกษตรเธอก็ไม่ถนัด ด้านเศรษฐกิจเธอก็รู้สึกว่ามีหลายหน่วยงานช่วยอยู่แล้ว จนกระทั่งมาถึงเรื่องโรคซึมเศร้า ปัญหาเรื้อรังในสังคมที่ยังไม่ค่อยได้รับการแก้ไข และตัวเธอเองรู้จักดียิ่งกว่าใคร เพราะมีประสบการณ์ตรงมายาวนาน

เอิน กัลยกร นาคสมภพ, โรคซึมเศร้า

จึงเป็นที่มาของ RAQUE ธุรกิจเพื่อสังคมคนซึมเศร้า

RAQUE เป็นแบรนด์แฟชั่นที่ทำมาเพื่อช่วยให้คนรู้สึกดีกับตัวเอง เอินบอกว่า คนเป็นซึมเศร้ามักจะกินมากเกินไปไม่ก็น้อยเกินไป ทำให้อ้วนมากหรือผอมมาก ในอีกแง่หนึ่ง การใส่เสื้อผ้าสวยๆ จะช่วยคนเป็นซึมเศร้าให้รักตัวเองขึ้นมาบ้าง เธอจึงตั้งใจขายเสื้อผ้าตั้งแต่ไซส์เล็กมากถึงใหญ่มากที่ออกแบบโดยคนซึมเศร้า เพื่อคนซึมเศร้า

ในตอนแรก เธอตั้งใจว่าจะนำเงินที่ได้มาสนับสนุน RAQUE Forward องค์กรแยกย่อยสำหรับจัดกิจกรรมช่วยเหลือผู้ซึมเศร้าโดยเฉพาะ แต่ทำไปทำมาแล้ว เสื้อผ้ากลับใช้เวลานานกว่าที่คิด เธอเลยหันมาทำงานเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าโดยตรงเสียก่อน ด้วยกำไรที่ได้จาก kal&co เราจึงขอพูดถึง RAQUE Forward ก่อน ในขณะที่เสื้อผ้ากำลังจะตามมาเร็วๆ นี้ โปรดอดใจรอคอย

เอิน กัลยกร นาคสมภพ, โรคซึมเศร้า

โจทย์ที่ 2 อยากชวนคนป่วยไปหาหมอ

เป้าหมายของ RAQUE Forward มี 2 ย่างหลักๆ คือสนับสนุนให้คนป่วยไปหาหมอ และเป็นสะพานเชื่อมความเข้าใจระหว่างสังคมกับผู้ป่วย

“เราเป็นโรคซึมเศร้ามา 20 กว่าปี โดยที่ใช้เวลา 10 ปีกว่าจะยอมรับว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้าได้เต็มปากเต็มคำ แล้วก็ใช้เวลาอีก 3 – 4 ปี กว่าจะกล้าไปหาหมอ แล้วพอไปดูงานวิจัย เราพบว่าระยะเวลา 10 ปีนี่คือปกติมาก จากวันที่รับรู้เกี่ยวกับโรคนี้ จนถึงวันที่ไปหาหมอ แล้วบางคนก็อยู่ไม่ถึงด้วยนะ ฆ่าตัวตายไปก่อน” เอินอธิบายปัญหา “เราเลยอยากหาทางร่นระยะเวลาตรงนี้ลง”

การพูดถึงโรคซึมเศร้าในตอนนี้ ไม่ใช่ว่าไม่มี แต่ในความเห็นของเธอ ผู้ที่พูดมักจะเป็นคุณหมอที่อธิบายอาการซึมเศร้าอย่างเป็นวิชาการสุดๆ ไปเลย หรือไม่ก็เป็นผู้ป่วยที่เล่าเป็นเชิงระบายเสียมากกว่าจะให้คนมาเข้าใจ “มันยังไม่มีคนที่ยืนอยู่ในมุมผู้ป่วย แล้วเล่าสิ่งเหล่านี้ออกมาได้อย่างเข้าใจ เราเลยตัดสินใจว่า โอเค ถ้าอย่างนั้นฉันจะเป็นกระบอกเสียงให้เอง”

การเป็นกระบอกเสียง นั่นหมายความว่าเธอต้องตะโกนให้ดังพอ ทั้งตะโกนผ่านเพจ บทความ ซึมเศร้าทอล์ก โร้ดโชว์ตามโรงเรียน รวมไปถึงผ่านการให้สัมภาษณ์ตามสื่อต่างๆ

นั่นหมายความว่า เอิน กัลยกร ผู้ตัดสินใจออกจากวงการดาราเพราะไม่ชอบชื่อเสียง จะต้องนำตัวเองออกสู่สายตาสื่ออีกครั้ง

เอิน กัลยกร นาคสมภพ, โรคซึมเศร้า

เริ่มต้นที่รายการเจาะใจ ซึ่งติดต่อมาหลังจากเห็นการทำเพจ RAQUE Forward ของเธอ การตัดสินใจไปออกรายการทำให้เธอมีปัญหากับคนใกล้ตัว และร้องห่มร้องไห้อยู่ 3 วัน 3 คืนก่อนถ่ายทำ จากวันนั้น เธอก็ตั้งใจว่าจะยอมแลกอะไรก็ตามเพื่อให้ได้เล่าของตัวเองออกไป ด้วยความเชื่อว่าการเล่านี้จะช่วยชีวิตคนได้    

ปรากฏว่าความเชื่อนั้นได้รับการยืนยันทันทีหลังออกรายการ เอินเล่ากรณีหนึ่งให้ฟังว่า “หลังจากที่เราไปออกประมาณสัปดาห์หนึ่ง เพื่อนที่ไม่สนิทคนหนึ่งส่งข้อความมาหาเรา บอกว่าเขาไม่เคยชอบเราเลยเพราะเราเป็นคนเยอะ แต่ความเป็นคนเยอะของเรากลับช่วยชีวิตเขา เพราะเขาเคยคิดจะฆ่าตัวตายเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว แล้วก็มีคนส่งคลิปเจาะใจนี้มาให้ดู นั่นเป็นครั้งแรกในชีวิตที่เขารู้สึกว่ามีคนเข้าใจเขา มีคนที่กำลังเจอในสิ่งที่เขาเจออยู่ เขาเลยตัดสินใจไม่ฆ่าตัวตาย

“ตอนนั้นเราโคตรอิมแพคเลย ก่อนหน้านั้นก็รู้นะว่าการเล่าเรื่องช่วยได้ แต่มันไม่มีหลักฐานยืนยัน พอมีหลักฐานนี้มา เราเลยลุยเต็มที่”

เอิน กัลยกร นาคสมภพ, โรคซึมเศร้า

เอิน กัลยกร นาคสมภพ, โรคซึมเศร้า
โจทย์ที่ 3 อยากบันทึกภาพโรคซึมเศร้า

เมื่อตะโกนออกไปผ่านหลายช่องทางแล้ว โจทย์ใหม่ที่เอินพบคือ คนส่วนใหญ่ได้ฟังก็จริง แต่ไม่ได้เห็น

ภาพของอาการซึมเศร้าที่อยู่ตามสื่อมักเป็นการให้นักแสดงมายืนเหงาๆ เศร้าๆ จนเอินรู้สึกว่าเธอต้องทำอะไรใหม่เพื่อให้คนเข้าใจโรคซึมเศร้าในแบบที่มันเป็นจริงๆ และการจะทำเช่นนั้นได้ ก็ต้องตามถ่ายคนที่มีอาการของโรคซึมเศร้าจริงๆ ให้เห็นกันไปเลย

แต่ใครล่ะจะอยากเปิดเผยช่วงที่ตัวเองอ่อนแอที่สุดให้คนอื่นดู? เอินผู้เคยผ่านการเป็นนักแสดงพร้อมกับเป็นโรคซึมเศร้ามาแล้วย่อมเข้าใจดี เธอจึงตัดสินใจว่าจะใช้ตัวเองนี่แหละเป็นผู้ดำเนินเรื่อง

“ไม่รู้ว่ากล้าหรือเสียสละมั้ย เราแค่รู้สึกว่าเราไม่ยอมให้คนอื่นมาทำ เพราะเรารู้ว่ามันยาก เราไม่อยากให้คนอื่นเดือดร้อน ถ้าจะต้องมีใครเดือดร้อน ให้เราเดือดร้อนเอง” เอินบอก

เมื่อตัดสินใจได้ เอินก็เริ่มติดต่อทีมงานที่เธอเคยทำงานด้วย แล้วนัดแนะวางแผนให้เสร็จเรียบร้อยก่อน วิธีการคือเธอจะบินไปหาสามีที่อินโดนีเซีย ให้ช่างกล้องตามติดไปด้วยเพื่อเก็บตัวด้วยกัน จนเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจมากพอ เธอจึงเริ่มหยุดยา

เมื่อหยุดไปได้สัปดาห์หนึ่ง อาการเก่าๆ ก็กลับมา ในช่วงแรกที่อาการกำเริบ ทีมงานแทบไม่ได้ฟุตเทจเลย เพราะสามีก็คอยประคองไม่ให้อาการเธอกำเริบ ส่วนเธอเมื่อเริ่มตกหลุมซึมเศร้าแล้วก็ไม่ยอมหันหน้าเข้าหากล้อง “มันต้องสู้กับตัวเองนะ บางทีเราก็คิดว่าจะตามมาดูกูทำไม อ๋อ กูให้เขาตามนี่ หรือจะถ่ายอะไรนักหนาวะ อ๋อ กูให้เขาถ่ายนี่ เอินนึกย้อนกลับไปถึงเวลานั้นแล้วเล่ากลั้วเสียงหัวเราะ

เอิน กัลยกร นาคสมภพ, โรคซึมเศร้า

สิ่งที่ทำให้การถ่ายทำผ่านพ้นไปได้ คือความคิดมุ่งมั่นสู่เป้าหมายของเธอ “พอหยุดยามา 14 – 15 วันแล้ว เราไม่ไหว ร้องไห้ทุกวัน ก็เลยตกลงใจกับตัวเองว่าให้เขาถ่ายๆ ไปเถอะ ไม่งั้นก็กลับไปกินยาไม่ได้นะ พอถ่ายเสร็จแล้วจะได้กินยาสักที” พอตั้งใจเช่นนั้น การถ่ายทำก็เริ่มดำเนินไปได้

หลังจากถ่ายทำเสร็จ แล้วตัดต่ออีกเกือบครึ่งปีจนออกมาเป็นสารคดี Love in Depression เธอก็จัดแจงติดต่อไปที่ Documentary Club เพื่อขอพื้นที่ฉาย และได้รับความช่วยเหลืออย่างดี เริ่มจากการทดลองฉาย 1 รอบ เมื่อได้เสียงตอบรับล้นหลาม จึงตกลงฉายต่ออีก 5 รอบ

หนังเรื่องนี้ช่วยให้เสียงตะโกนดังออกไปไกลยิ่งกว่าเดิม ทั้งในหมู่คนเป็นซึมเศร้า และคนรอบตัวคนกลุ่มนี้ด้วย เอินเล่าผลบางส่วนให้ฟังว่า “มีคนทักเราบนรถไฟฟ้า แล้วบอกเราว่า เขาไม่เคยเข้าใจแม่ที่เป็นโรคซึมเศร้าเลย แต่พอดูหนังเรื่องนี้จบ เขาก็โทรไปคุยกับแม่เขา แล้วพร้อมจะฟังแม่ หลังจากนั้นแม่ลูกก็กลับมาเข้าใจกัน หรืออีกคนหนึ่งเขาพาแม่ไปดู ทำให้แม่เขายอมไปหาหมอแล้ว ส่วนอีกคนหนึ่งเขาก็ไปหาหมอเองเลย

“เฉพาะตัวหนังเองมันช่วยไปได้ตั้ง 3 เคสแล้ว แค่นี้ก็พอแล้ว” เธอกล่าว

เอิน กัลยกร นาคสมภพ, โรคซึมเศร้า

โจทย์ที่ 4 อยากรอดชีวิต

เอินบอกว่า สิ่งที่จะทำให้มีชีวิตรอดผ่านโรคซึมเศร้าไปได้ประกอบด้วยความอดทนและความมุ่งมั่น

“เวลาเราตกหลุมมากๆ ไม่มีทางออกเลย ทำได้อย่างเดียวคืออดทน พอทนแล้วจะเห็นผลว่าเดี๋ยวมันก็ผ่านไป แม้กระทั่งเรื่องชีวิตคู่ ต้องทนผ่านช่วงเวลาทะเลาะผิดใจกันไปให้ได้ มันถึงจะรอด หรือเรื่องงาน เราต้องอดทนผ่านช่วงเวลาที่มันไม่โอเค เพื่อให้เราได้เติบโตแล้วกลายเป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง” เอินอธิบาย

ส่วนความมุ่งมั่น หมายถึงความมุ่งมั่นที่จะมีชีวิตต่อและหายจากโรค เอินเคยได้ยินเรื่องเล่าของผู้ชมหนังคนหนึ่ง ว่ามีวันหนึ่งที่เขาอยากตายมากจนตั้งใจว่าจะขับรถให้ตกสะพาน แต่รู้ตัวอีกที เขากลับขับรถไปที่ศรีธัญญาแทน “เราฟังแล้วบอกว่า นั่นแหละคือตัวจริงของคุณที่ต้องการจะมีชีวิตอยู่ ถ้าเราขาดความมุ่งมั่นนี้ไป เวลาที่เราตกหลุมจะตายได้ง่ายๆ แต่ถ้าเรามุ่งมั่น พอถึงเวลาที่มันตกหลุมจะมีตัวนี้คอยไฟต์ให้มันอยู่รอดเอง

“ปัจจัยภายในสำคัญที่สุด ต่อให้คนข้างๆ อยากสู้กับเราแค่ไหน ถ้าเราไม่มีใจจะสู้เอง มันไปไม่ถึงไหนเลยนะ เราเห็นระเบียงน่ากระโดดก็กระโดดไปแล้ว เราเลยต้องสู้เองก่อน” เธอเสริม

“เราก็เคยคิดนะว่าโรคซึมเศร้าเป็นศัตรูที่ต้องฆ่าให้ตาย แล้วพอมันไม่ตายสักทีมันท้อนะ พอถึงวันหนึ่ง เรามองหน้ามันแล้วบอกว่า ก็จะอยู่กับมันแบบนี้แหละ แค่กินยาใส่ก็จบแล้ว ก็อยู่กับมันง่ายขึ้น” เธอยิ้ม “มันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรากลายเป็นคนแบบนี้ ซึ่งเราก็ชอบเราที่เป็นอยู่ทุกวันนี้นะ”

เอิน กัลยกร นาคสมภพ, โรคซึมเศร้า

เอิน กัลยกร นาคสมภพ, โรคซึมเศร้า

โจทย์สุดท้าย อยากมอบ RAQUE ต่อไป

RAQUE ดีต่อคนมากมาย แล้วดีต่อตัวเธอเองบ้างไหม เราถาม

ดีสิ เอินตอบ

“เราเป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรังประเภทที่มีชุดความคิดว่าเราไม่มีคุณค่า แล้วเราเคยตั้งเป้าหมายในชีวิตว่า ชีวิตนี้เราจะต้องเลี้ยงพ่อให้ได้ จะต้องดูแลพ่อ พาพ่อไปเที่ยว เรามีพ่อเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต จนอยู่มาวันหนึ่งมีเหตุที่พ่อทำให้เราเจ็บฉิบหายจนไม่อยากอยู่แล้ว

“เราเลยเข้าใจว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้มันผิด เพราะมันผูกกับคนอื่นเอาไว้ แล้วพอไม่มีเป้าหมายมันแทบอยู่ไม่ได้เลย เราเลยมาหาว่าสิ่งที่จะทำให้ชีวิตเรามีคุณค่าคืออะไรบ้าง แล้วมันก็เลยไปเจอว่าการให้ทำให้ชีวิตมีคุณค่า

“สิ่งนี้ยิ่งชัดเจนขึ้นในวันที่มาทำ RAQUE Forward แล้วมีคนบอกว่าเขาอยู่ต่อได้เพราะเรา หรือเขาแย่มากแล้ว แต่เขาจะไปหาหมอเพราะเรา มันชัดเจนเลยว่าสิ่งที่เราทำมันเกิดคุณค่าจริงๆ แล้วมันทำให้เรารู้สึกว่าเรามีเหตุผลที่จะอยู่แล้ว คือเรารู้ว่าเรามีคุณค่าต่อโลกใบนี้แล้ว นี่คือที่ยืนของเรา”

เอิน กัลยกร นาคสมภพ, โรคซึมเศร้า

Love in Depression ยังมีฉายอีก 2 รอบ วันพฤหัสบดีที่ 8 เวลา 18.00 น. และวันเสาร์ที่ 10 เวลา 20.00 น. ที่ Doc Club Theatre (Warehouse 30) และขอเชิญชวนจ่ายค่าเข้าชมเท่าไรก็ได้ เพื่อนำรายได้ไปทำกิจกรรมเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า หรือถ้าใครไม่ทัน หลังจากนี้รอติดตามกันได้บนยูทูบนะ

รายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.facebook.com/raqueforward/

Writer

Avatar

อลิษา ลิ้มไพบูลย์

นักอยากเขียนผู้เรียนปรัชญาเพื่อเยียวยาอาการคิดมาก เวลาว่างใช้ไปกับการร้องคอรัสเล่นๆ แบบจริงจัง และดูหนังอย่างจริงจังไปเล่นๆ

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ