9 พฤศจิกายน 2018
11 K

คนตัวเล็กๆ คนหนึ่งจะช่วยรักษาสมบัติชาติได้อย่างไร

วัดภูเขาทอง เป็นที่จดจำด้วยเจดีย์ขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่กลางทุ่ง ที่จริงแล้วด้านหลังเจดีย์มีวัดที่ถูกสถาปนาขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.1930 อายุร่วม 600 ปี และรุ่มรวยด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ แต่เมื่อผ่านวันเวลาก็มีแต่จะทรุดโทรมลงเรื่อยๆ หากไม่มีมือใครยื่นเข้ามาช่วยเสียก่อน

“จิตอาสามันคือใจล้วนๆ นะ ถ้าไม่ใช่ใจ มันมาไม่ได้ขนาดนี้หรอก” นี่คือสิ่งที่ ปุ้ม-รุจิเรช ศรีโสภณ เลขานุการคณะทำงานอนุรักษ์อุโบสถและพัฒนาวัดภูเขาทอง สื่อสารผ่านทั้งรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ

คนตัวเล็กหัวใจใหญ่ที่ช่วยฟื้นฟูวัดภูเขาทอง วัดอายุ 600 กว่าปี ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

ปุ้มไม่ได้เป็นสถาปนิก ไม่ได้เป็นนักโบราณคดี เธอไม่เคยทำงานกับวัดมาก่อน และไม่ได้อยู่ในหน่วยงานพัฒนาชุมชนใดๆ ทั้งนั้น แต่ช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ปุ้มกลับเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่ช่วยพลิกฟื้นวัดเก่าใกล้ตายให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง แล้วได้กลายเป็น 1 ใน 9 วัดบันดาลใจที่สถาบันอาศรมศิลป์เข้ามาช่วยดูแลด้วย

คนตัวเล็กที่ไม่ได้มีตำแหน่งอะไรอย่างเธอทำงานที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ได้อย่างไร ลองไปฟังพร้อมกัน

ปุ้ม-รุจิเรช ศรีโสภณ เลขานุการคณะทำงานอนุรักษ์อุโบสถและพัฒนาวัดภูเขาทอง

วัด

วัดภูเขาทอง สร้างในยุคสมเด็จพระราเมศวร โดยกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ 2 พระองค์ คือพระเจ้าบุเรงนองที่สร้างช่วงฐานไว้ กับพระนเรศวรที่มาต่อเติมยอดในภายหลัง สาเหตุที่เลือกสร้างวัดกันที่นี่อาจเพราะเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ดี ถ้าฝ่ายใดยึดทุ่งภูเขาทองได้ก็จะได้เปรียบมาก หลังจากสถาปนาวัดจึงเจอหลักฐานการตั้งค่ายของทั้งฝั่งพม่าและไทยซ่อนอยู่ใต้ชั้นดินเต็มไปหมด

ส่วนในยามบ้านเมืองสงบ วัดภูเขาทอง จะทำหน้าที่เป็นแลนด์มาร์กขนาดยักษ์ สำหรับให้ชาวบ้านมาพักผ่อนหย่อนใจ นัดพบ จัดงานเทศกาล และเล่นเพลงเรือ

วัดภูเขาทอง

ความโชคดีอีกอย่างของวัดภูเขาทองคือ วัดนี้ไม่ถูกเผาทำลาย หลักฐานทางประวัติศาสตร์จึงยังอยู่พร้อมเพรียง

ไม่ใช่แค่วัดที่เก่าแก่ ชุมชนรอบวัดแห่งนี้ก็เป็นชุมชนที่อยู่มาตั้งแต่ช่วงรัตนโกสินทร์ตอนกลาง ความหักมุมคือ ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ของ ‘คนภูเขาทอง’ นับถือศาสนาอิสลาม พวกเขามีชื่อด้านการสานปลาตะเพียนและถักเปลญวนมาตลอด

วัดภูเขาทอง

แม้จะเป็นวัดที่มีของดีซ่อนอยู่มาก แต่หากมาเห็นวัดนี้หลังจากเกิดน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 คงไม่มีทางนึกภาพออก เพราะในตอนนั้นสภาพวัดทรุดโทรมมาก อุโบสถเต็มไปด้วยขี้นก บริเวณที่เป็นไม้ผุพังและมีปลวกกิน ภายในศาลาต่างๆ ทั้งสกปรกและมืด เพราะไฟในอาคารโดนโขมยไป ต้นไม้ใบหญ้าขึ้นกันรกรุงรัง พระที่จำวัดก็มีเพียง 3 รูป หนึ่งในนั้นคือเจ้าอาวาสผู้ที่แม้หมู่ประชารักและเลื่อมใส แต่ก็ชราภาพมากเกินกว่าจะจัดกิจกรรมใดๆ แล้ว

จากวัดที่เคยมีประวัติศาสตร์และชุมชนอันเข้มข้น กลายเป็นวัดที่กำลังจะตาย

หากไม่ทำอะไร คุณค่าของวัดนี้ก็คงสูญสลายไปอย่างช้าๆ

บุญ

ตัดภาพมาที่ปุ้ม เธอเป็นคนธรรมดาคนหนึ่งที่เรียนจบสาขาวิชาการบัญชี วิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการราชดำเนิน และทำงานมาหลายอย่าง ปัจจุบันทำงานเป็นฟรีแลนซ์ด้านบัญชี ปุ้มชื่นชอบการทำบุญ เพราะก่อนที่พ่อของเธอจะเสียชีวิต เขาได้ฝากเธอไว้ว่าให้ทำบุญแทนเขาที่ไม่เคยมีโอกาสบวช หากมีโอกาส ปุ้มก็อยากทำนุบำรุงศาสนาเท่าที่แรงกำลังจะไหว

จนวันหนึ่งเพื่อนชวนเธอไปทำบุญที่อยุธยา และไหว้พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชพร้อมแวะวัดภูเขาทองกันก่อนกลับ เมื่อเห็นสภาพอันทรุดโทรมของวัดก็อยากช่วยบูรณะปฏิสังขรณ์ โดยคิดแค่ว่าจะเรี่ยไรเงินบริจาคง่ายๆ ผ่านกฐินและผ้าป่า

วัดภูเขาทอง

ระหว่างที่ปุ้มเล่าเธอหัวเราะบ่อยครั้ง ส่วนหนึ่งเพราะแปลกใจเหมือนกันว่าการทำบุญเล็กๆ กลายมาเป็นโครงการที่ใหญ่โตขนาดนี้ได้อย่างไร

ปุ้มทบทวนกลับไป แล้วบอกว่า “การเอาเงินทำบุญคนอื่นมาใช้ มันคือเราเอาศรัทธาของเขามา เราต้องทำศรัทธาของเขาให้ไม่มีข้อข้องใจ นั่นคือต้องใช้เงินนั้นให้ได้ประโยชน์คุ้มค่า”

หากจะทำทั้งที ต้องทำให้ดี นั่นคือความเชื่อของปุ้ม

เธอไปคุยกับหลวงปู่เจ้าอาวาส แล้วพบว่าวัดแห่งนี้อยู่ใต้การดูแลของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ หลวงปู่ช่วยติดต่อให้เธอได้เข้าไปคุยกับขบวนงานหรือทีมงานที่รับผิดชอบการบูรณะวัดแห่งนี้อยู่

เมื่อขบวนงานให้ข้อมูลมาศึกษา เธอก็เริ่มวิเคราะห์และตั้งโจทย์กับตัวเอง จนพบว่าถ้าอยากให้เกิดประโยชน์จริง การดูแลรักษาวัดต้องเป็นหน้าที่ของคนใกล้วัด โดยคนไกลบ้านอย่างพวกเธอทำได้แค่สนับสนุน

นี่เองคือจุดเริ่มต้นของคณะทำงานอนุรักษ์อุโบสถและพัฒนาวัดภูเขาทอง

ชุมชน

โจทย์สำคัญของการพัฒนาวัด คือการทำให้วัดกลับมาเป็นศูนย์กลางชุมชนเหมือนในสมัยก่อนอีกครั้ง

แต่จะทำให้ชุมชนมุสลิมสนใจวัดพุทธได้อย่างไรล่ะ

ปุ้มใช้วิธีการเปลี่ยนมุมมอง เธอเห็นว่านอกจากศาสนสถาน เจดีย์องค์นี้ยังเป็นโบราณสถาน เมื่อเป็นโบราณสถานแล้วก็ไม่ใช่ของคนศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่เป็นของคนทั้งชาติ

พอเปลี่ยนมามองมุมนี้แล้ว วิธีเสนอภาพวัดภูเขาทองให้ชาวบ้านฟังก็ต่างไป เธอยกตัวอย่างผ่านกรณีป้าเล็ก “ป้าเล็กเป็นมุสลิม บ้านป้าสร้างคร่อมซากโบราณสถานเลย ป้าจะทุบทิ้งยังได้ ตอนนั้น สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเข้ามาดูงาน เราเลยพาเที่ยวชุมชน ให้คนจากทางการและคนในชุมชนพุทธกับมุสลิมขึ้นรถไปด้วยกันหมดเลย

วัดภูเขาทอง
โปรเจกต์บูรณะวัดภูเขาทอง วัดเก่าแก่ที่สร้างโดยพระเจ้าบุเรงนองและพระนเรศวร กับการเป็นศูนย์รวมใจทั้งคนพุทธและมุสลิม

“ระหว่างอยู่บนรถไปบ้านป้าเล็ก เราบอกป้าเล็กต่อหน้าคนทั้งรถว่า ป้าสุดยอดเลยนะ ป้าอยู่บนแผ่นดินที่มีประวัติศาสตร์ สมเด็จพระนเรศวรทรงเคยเอาปืนใหญ่มาตรงนี้ ไล่ข้าศึกศัตรูออกจากบ้านเรา ป้าเล็กอย่าให้ใครมาเอาสมบัติบ้านเราไปนะ ป้าเล็กฟังไปก็น้ำตาไหล ตอบเราว่า ต่อไปนี้ใครมาขออิฐก้อนเดียวป้าก็ไม่ให้ เพราะเขาเข้าใจแล้วว่ามันคือสมบัติชาติ ถ้าเราบอกว่านี่เป็นศาสนวัตถุ คิดว่าคนมุสลิมอย่างเขาจะอินขนาดนี้มั้ย”

นอกจากนั้น ยังมีงานไหว้วัดที่ชาวพุทธในชุมชนต่างคนต่างทำกันอยู่ทุกปี เมื่อปี 2560 ปุ้มเปลี่ยนงานไหว้วัดให้เป็นงานใหญ่ประจำชุมชน และชวนคนมุสลิมมาร่วมงานด้วย มีแคร่ตั้งให้ชาวบ้านมาออกร้านขายของ และมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมมุสลิมกลางลานวัด!

ภาพโต๊ะอิหม่ามกับเจ้าอาวาสยืนยิ้มถ่ายรูปข้างกันเกิดขึ้นจริงได้ที่วัดภูเขาทองแห่งนี้

โปรเจกต์บูรณะวัดภูเขาทอง วัดเก่าแก่ที่สร้างโดยพระเจ้าบุเรงนองและพระนเรศวร กับการเป็นศูนย์รวมใจทั้งคนพุทธและมุสลิม

สิ่งก่อสร้าง

ส่วนงานด้านกายภาพ สถาบันอาศรมศิลป์และโครงการวัดบันดาลใจ ร่วมกับภูมิสถาปนิกของกรมศิลปากร ช่วยกันศึกษา วางผัง ออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม ก่อนจะลงมือทำจริง

วัดแบ่งเป็น 2 เขต คือพุทธาวาส เขตโบราณสถานที่กรมศิลป์ทำหน้ารับผิดชอบ กับส่วนสังฆาวาส ซึ่งทุกคนต้องช่วยกันดูแล เนื่องจากตั้งอยู่ติดกัน สถาปัตยกรรมใหม่ฝั่งสังฆาวาสเลยต้องออกแบบให้ไปด้วยกันกับสิ่งเดิมที่มีอยู่ โจทย์จึงเป็นการออกแบบให้อาคารเก่าในบริเวณโบราณสถานอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ และไม่ขัดกับภูมิทัศน์เดิมที่มีอยู่ พวกเขาคิดลงไปลึกถึงการเลือกปลูกต้นไม้ในบริเวณ และวิธีขนย้ายชิ้นส่วนโบราณสถานออกไปเก็บไว้ไม่ให้เสียหาย

การวางผังก่อนบูรณะเป็นเรื่องสำคัญ เพราะผังที่ดีจะช่วยให้สถานที่นั้นอยู่ได้นานขึ้นด้วย

วัดภูเขาทอง
วัดภูเขาทอง

คน

“คนคือตัวแปรสำคัญที่สุดในการเปลี่ยนแปลง ตราบใดที่ยังมีคนให้ความสำคัญ ตราบนั้นวัดนี้จะยังคงอยู่” ปุ้มย้ำหลายครั้งด้วยน้ำเสียงจริงจัง

โปรเจกต์บูรณะวัดภูเขาทอง วัดเก่าแก่ที่สร้างโดยพระเจ้าบุเรงนองและพระนเรศวร กับการเป็นศูนย์รวมใจทั้งคนพุทธและมุสลิม

กว่าจะออกมาเป็นโครงการนี้ได้สำเร็จเธอต้องพบเจอคนจำนวนมาก ตั้งแต่โต๊ะอิหม่ามซึ่งควบตำแหน่ง อบต. สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากร สภาวัฒนธรรมตำบล คณะสงฆ์ประจำจังหวัด ไปจนถึงชาวบ้านทุกคน เมื่อมีคนใหม่เข้ามารับผิดชอบโครงการ เธอก็ต้องเล่าความสำคัญและปัญหาให้ฟังใหม่ตั้งแต่ต้นจนจบอีกรอบ

เพราะรู้ว่าคนเหล่านี้คือส่วนสำคัญในการเป็นวัด ปุ้มจึงมุ่งมั่นเข้าไปคุยจนกว่าทุกคนจะเข้าใจ

โปรเจกต์บูรณะวัดภูเขาทอง วัดเก่าแก่ที่สร้างโดยพระเจ้าบุเรงนองและพระนเรศวร กับการเป็นศูนย์รวมใจทั้งคนพุทธและมุสลิม

สิ่งหนึ่งที่ทำให้คนฟังปุ้ม อาจเป็นวิธีการพูดจาที่เต็มไปด้วยความมั่นใจ ความรัก และความกล้า เมื่อมีสิ่งใดที่เธอเชื่อเธอก็จะพูดออกไปตรงๆ แม้ผู้ที่นั่งฟังอยู่จะมียศตำแหน่งสูงก็ตาม ในขณะเดียวกัน เธอก็มีอัธยาศัยที่ดีและมีอารมณ์ขันมากพอที่จะชวนให้ผู้ฟังเพลิดเพลินและพยักหน้าเห็นด้วย

แต่ปุ้มคนเดียวคงไม่มีทางโน้มน้าวคนทั้งหมดได้

คนอีกกลุ่มที่เธอให้เครดิตและชื่นชมอยู่เสมอตลอดการสนทนา คือเหล่าพระสงฆ์ประจำวัด

พระครูบรรพตสุวรรณวัฒน์ (สายบัว กตปุญฺโญ) เจ้าอาวาสกิตติมศักดิ์ เป็นที่เคารพของทั้งชุมชนพุทธและมุสลิม ช่วยยึดเหนี่ยวและรวมจิตใจคนเข้ามาได้ ส่วนเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน พระครูใบฎีกาประเทือง กิตติปฺญโญ เป็นช่างถนัดซ่อมและลงมือทำ ถ้าหม้อหุงข้าวใครพังท่านก็ซ่อมให้ หรือใครอยากตัดผมท่านก็ช่วยได้ ในขณะที่ผู้ช่วยเจ้าอาวาส พระมหานัธนิติ สุมโน (มานะทัต) ก็เป็นกำลังสำคัญในการประชาสัมพันธ์ จนวัดเป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้น

พลังเล็กๆ จากพระ 3 รูป และฆราวาสหญิงอีก 1 คน ส่งต่อไปสู่คนอื่นๆ จนเกิดเป็นผลที่ยิ่งใหญ่

ชีวิต

ผ่านมา 6 ปีนับจากวันที่เริ่มทำงาน แต่ละบ้านที่เคยกระจัดกระจายกันอยู่รวมกันเป็นหนึ่งชุมชนอีกครั้ง คนรู้จักวัดภูเขาทองมากขึ้นผ่านสื่อและกิจกรรมหลากหลาย เทียบกับเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้วที่วันหนึ่งๆ มีคนมาวัดแค่สิบกว่าคน ตอนนี้คนเดินกันทั่ว บ้างใช้วัดเป็นสถานที่พบปะ มาถ่ายรูป วาดภาพ ทุกวันพระก็มีชาวพุทธมาถือศีลฟังธรรม และมีคนติดต่อเข้ามาขอทำกิจกรรมกับวัดอยู่เรื่อยๆ

ความมีชีวิตของวัดภูเขาทองกลับมาแล้ว

โปรเจกต์บูรณะวัดภูเขาทอง วัดเก่าแก่ที่สร้างโดยพระเจ้าบุเรงนองและพระนเรศวร กับการเป็นศูนย์รวมใจทั้งคนพุทธและมุสลิม
โปรเจกต์บูรณะวัดภูเขาทอง วัดเก่าแก่ที่สร้างโดยพระเจ้าบุเรงนองและพระนเรศวร กับการเป็นศูนย์รวมใจทั้งคนพุทธและมุสลิม
โปรเจกต์บูรณะวัดภูเขาทอง วัดเก่าแก่ที่สร้างโดยพระเจ้าบุเรงนองและพระนเรศวร กับการเป็นศูนย์รวมใจทั้งคนพุทธและมุสลิม

ความรู้

หากอยากให้การพัฒนายั่งยืนจริง คนจะเข้ามาใช้งานด้วยความรักอย่างเดียวไม่พอ ต้องรู้วิธีการดูแลด้วย

นี่เป็นที่มาของโครงการ ‘อาสาพาใจมาอนุรักษ์’ ทุกปี วัดจะเชิญผู้เชี่ยวชาญจากกรมศิลป์มาให้ข้อมูล สอนว่าเวลาเราไปตามโบราณสถานแล้วเห็นความเสียหายทรุดโทรมควรแจ้งใคร หน่วยงานไหน หรือช่วยเหลืออะไรในเบื้องต้นได้บ้าง

ความงดงามของงานนี้คือความหลากหลายของคนมาร่วมงาน ที่มีตั้งแต่นักศึกษามหาลัย นักเรียนเตรียมทหาร คนอยุธยา คนกรุงเทพฯ คนจังหวัดอื่นๆ ทั้งมากับเพื่อนและมากับครอบครัว ต่างมาช่วยเก็บกวาดวัด พร้อมรับความรู้ดีๆ กลับไป

คนตัวเล็กหัวใจใหญ่ที่ช่วยฟื้นฟู วัดภูเขาทอง อายุ 600 กว่าปี ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

“ความรู้มาจากสิ่งที่เรามองเห็นก่อน แล้วพอเกิดคำถามให้ตัวเอง เราจะไปตามหาคำตอบ พอเรารู้ เรารัก เราก็รู้สึกอยากใส่ใจดูแลมันเอง” ปุ้มกล่าว “สิ่งที่มีอยู่ในมือเราจะมีคุณค่าแค่ไหน ขึ้นอยู่กับสายตาที่เรามองมัน แค่นี้แหละ

ไม่ใช่แค่การดูแลวัดเท่านั้น ความรู้เหล่านี้นำไปปรับใช้กับโบราณสถานแห่งไหนก็ได้ ภายใต้ความเชื่อที่ว่า การดูแลสมบัติชาติควรเป็นความรับผิดชอบของทุกคน

การเดินทาง

“งานนี้ เราไม่ได้มองว่าต้องทำจนสำเร็จ ไม่ได้มองว่ามาทำแล้วเราต้องเป็นเจ้าของ เพราะเราไม่ได้เป็นอมตะ แต่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของงานที่มันเดินทางมาตั้งแต่วันที่เริ่มสถาปนาวัดในปี 1930 แล้ว ปัจจุบันงานมันเดินทางมาถึงเรา ซึ่งอนาคตก็ไม่รู้หรอกว่าจะเดินทางไปถึงใครต่อ” ปุ้มบอกด้วยรอยยิ้ม

“เรามองแค่ว่า ถ้าเราทำให้มีคนมาสานต่อได้ มีเด็กตัวน้อย เด็กรุ่นลูก มองเห็นความสำคัญของวัดขึ้นมาก็คือทำสำเร็จแล้ว”

คนตัวเล็กหัวใจใหญ่ที่ช่วยฟื้นฟู วัดภูเขาทอง อายุ 600 กว่าปี ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
 

วัดภูเขาทอง

เลขที่ 153 หมู่ 2 ตำบลภูเขาทอง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ดูรายละเอียดและงานที่วัดจัดได้ที่ https://www.facebook.com/pkt13000/

Writer

Avatar

อลิษา ลิ้มไพบูลย์

นักอยากเขียนผู้เรียนปรัชญาเพื่อเยียวยาอาการคิดมาก เวลาว่างใช้ไปกับการร้องคอรัสเล่นๆ แบบจริงจัง และดูหนังอย่างจริงจังไปเล่นๆ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล