The Cloud x The Hero Season3
ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 5 ประเทศที่ทิ้งขยะลงทะเลมากที่สุดในโลก
ตำแหน่งแชมป์ที่เราไม่ภูมิใจ มาพร้อมเต่าที่มีหลอดอุดจมูก วาฬที่ขยะพลาสติกเต็มท้อง และสารพัดสัตว์ทะเลที่บาดเจ็บล้มตายไม่เว้นแต่ละวัน
ภาพสะเทือนใจเหล่านั้นส่งผลให้ช่วงนี้กระแสรักสิ่งแวดล้อมถูกจุดขึ้นอีกครั้ง มีการสนับสนุนให้เปลี่ยนมาพกขวดน้ำส่วนตัว หลอดสแตนเลส และถุงผ้า ห้างร้านต่างๆ รณรงค์งดใช้ถุงพลาสติกและหลอด
สุดปลายด้ามขวานประเทศไทย มีการเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจเกิดขึ้น เมื่อร้านกาแฟเล็กๆ ในตัวเมืองปัตตานีตัดสินใจนำหลอดใช้แล้วมาสร้างงานศิลปะชวนกระตุกใจที่เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลศิลปะ Bangkok Biennial 2018
เมื่อสั่งเครื่องดื่มที่ร้านกาแฟ The R.I.P cafe ใจกลางเมืองปัตตานี หากต้องการหลอด คุณต้องเดินไปหยิบใต้ตุ๊กตาศพวาฬและเต่าที่แขวนอยู่ ท้องไส้ของสัตว์ทะเลเป็นหลอดใช้แล้วสีสันสดใส ซึ่งรวบรวมจากสมาคมผู้ประกอบการร้านอาหารกว่า 18 ร้านในปัตตานี
ไอเดียเบื้องหลังโครงการ ‘ปัตตานีแลนด์หลอด’ นี้เรียบง่าย แต่เราคิดว่าชวนให้ฉุกคิดและเก๋ไม่แพ้เจ้า Skyscraper วาฬยักษ์ที่ทำจากพลาสติก 5 ตันจากทะเลแปซิฟิก ซึ่งกระโดดขึ้นจากน้ำในเมือง Bruges ประเทศเบลเยียม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลศิลปะ Bruges triennial 2018
ภาพ: Studiokca
ยิ่งคิดว่างานที่จัดทำโดยศิลปินจากนิวยอร์กอย่าง Studiokca ขนพลาสติกจากทะเลฮาวายมาประกอบและใช้เงินทุนมากมาย เจ้าวาฬ เต่า และหมอนอิงไส้หลอดของปัตตานีแลนด์หลอดยิ่งดูน่ารักถ่อมตัว มันไม่ได้ใช้เงินทองมากมาย นอกจากความคิดและพลังของคนธรรมดาที่ผลิตขยะใช้แล้วทิ้งทุกวัน แต่อยากให้ทุกวันเกิดการเปลี่ยนแปลง
เก็บหลอดมานอนหนุน
ปัตตานีแลนด์หลอด เกิดจากความคิดอยากทำเก้าอี้ Bean Bag ใช้ในร้านกาแฟ ของเพื่อน 2 คน คือ มะหนึ่ง-วลัย บุปผา โปรดิวเซอร์สารคดี นักมานุษยวิทยาทัศนา (Visual Anthropology) และอาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่ย้ายมาอยู่แดนใต้ และ อนีส-อนีส นาคเสวี อดีตอาจารย์ศิลปะเจ้าของร้านกาแฟ R.I.P (Rest in Pattani)
“การทำบีนแบ็กต้องใช้หลอดมหาศาล หลอดจากร้านกาแฟของอนีสร้านเดียวไม่พอ เราเลยคิดจะไปขอหลอดจากร้านอื่นๆ ทุกคนยินดีให้เพราะหลอดเป็นขยะ ไม่มีวิธีจัดการ ต้องทิ้งลูกเดียวเท่านั้น และไม่เคยมีใครทำอะไรกับมันมาก่อน เราเลยขอทดลองทำเป็นหมอนอิงก่อน พวกเขาเลยเก็บรวบรวมให้ แป๊บเดียวก็ได้หลอดเยอะมาก พอเก็บปุ๊บก็คิดว่าเราทำเล็กๆ ไม่ได้แล้วแหละ เพราะมันเชื่อมโยงกับหลายคนในพื้นที่ เลยทำเป็นแคมเปญรณรงค์ลดหลอดไปด้วยเลย”
มะหนึ่งเล่าที่มาของปัตตานีแลนด์หลอดซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ต้นปี 2018 การขอหลอดร้านเพื่อนบ้านเริ่มกลายเป็นโครงการใหญ่ เพราะร้านต่างๆ ในปัตตานีต่างรู้จักกันเป็นเครือข่าย ร้านที่สนใจเข้าร่วมมีมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะทุกคนก็อยากหาวิธีกำจัดหลอดของร้านตัวเอง บางร้านถึงขั้นล้างหลอดและแยกสีแยกขนาดให้ด้วยเสร็จสรรพ
“ตอนแรกเราไม่ได้จะรณรงค์ลดหลอดซะทีเดียว เราจับเรื่องรีไซเคิลก่อน แต่พอลงมือทำจริงๆ เราเริ่มรู้สึกถึงความทรมานในการรีไซเคิล ค่าใช้จ่าย พลังงาน เวลาที่เราเสียไป ทำให้เราคิดว่า หรือการรีไซเคิลจะไม่ใช่คำตอบที่ถูก” อนีสเสริม รอบตัวเขาคือกล่องและถุงบรรจุหลอดหลากหลายสีและขนาดซึ่งถูกตัดแบ่งอย่างเป็นระเบียบตลอดระยะเวลาหลายเดือน
“หลอดทุกอันต้องล้างน้ำเปล่า แล้วคนแถวนี้ชอบกินน้ำปั่นและกาแฟ อะไรที่มีนมย่อมบูดแน่นอน เราล้างหลอดกันจนผื่นขึ้น เลยรู้ว่ามันไม่เวิร์ก หลอดมันเป็นขยะที่สร้างขึ้นมาเพื่อทิ้งแท้ๆ เลย มันเผาผลาญพลังงานจนเราสรุปได้ว่าการรีไซเคิลตอบโจทย์นี้ไม่ได้ ดังนั้นโครงการนี้จะบอกว่าการรีไซเคิลแท้จริงมันก็ยาก มันมีทางอื่นที่ง่ายกว่านี้มั้ย มี แต่มันคือการต่อรองกับความเคยชินของคน”
มะหนึ่งเอ่ยอย่างหนักแน่น
“เราไม่ได้ปฏิเสธการใช้หลอดทุกกรณีนะ ถ้าเราจะกินน้ำปั่น ชานมไข่มุก เราจะทำยังไง ก็คงต้องหาวิธีร่วมกันที่จะสร้างขยะน้อยที่สุด”
ดินแดนแลนด์หลอด
“ชื่อโครงการ ‘แลนด์หลอด’ มันพ้องกับสิ่งที่เราตั้งคำถามอยู่ เราเป็นคนนอกที่มาท่องเที่ยวปัตตานี แล้วเราก็ตั้งคำถามว่าเจ้าของที่ดินทำอะไรกับที่ดินของคุณอยู่ แล้วคำว่า Landlord มันก็แปลได้ทั้งเจ้าของที่ดินหรือดินแดนของขยะหลอด สรุปมันเป็นที่ดินของคนหรือที่ดินของหลอด”
อาจารย์พิเศษของ ม.อ. ปัตตานี ตั้งคำถาม ขณะที่คนปัตตานีแท้ๆ อย่างอนีสก็มีสารที่อยากสื่อเช่นกัน
“อีกประเด็นนึงคือคนปัตตานีแสดงความเป็นเจ้าของเยอะมาก ทางการเมือง ทางสังคม เราอยากตั้งคำถามคนที่เป็นเจ้าบ้านว่าเราทำอะไรกันได้อีก แต่ว่าไม่ต้องส่งหลอดมาให้เรานะครับ มีคนที่อ่านเจอเพจเราในเฟซบุ๊กแล้วอินมาก อยากส่งหลอดมาให้ ผมก็ห้ามเลย คุณไปทำแลนด์หลอดที่บ้านของคุณเลย เราไม่รับขยะจากที่อื่น อย่าให้เราตัดหลอดลดขยะให้จังหวัดอื่น คุณไปจัดการเองเถอะ ทำแลนด์หลอดของตัวเองขึ้นมาเลย”
หลอดที่ยัดไส้หมอนอิงหนึ่งใบ ประมาณได้หลวมๆ คือใช้หลอด 400 อัน เส้นละ 25 เซนติเมตร ในช่วงแรก ปัตตานีแลนด์หลอดใช้หลอดไปประมาณ 9,000 อัน เส้นรอบวงปัตตานีคือ 310 กิโลเมตร เท่ากับได้ความยาว 1% ของเส้นรอบวงปัตตานีแล้ว ทั้งที่เพิ่งเก็บหลอดได้ไม่นาน
“เราตั้งใจจะทำหมอนไปคืนร้านทุกร้านที่ให้หลอดมา ร้านไหนที่แยกหลอดมาให้ เราก็จะใส่แต่หลอดจากร้านเขาเท่านั้น ส่วนลายมือที่เขียนติดอยู่บนหมอนและป้ายที่ร้านเป็นลายมือเด็กๆ ลูกหลานร้านต่างๆ ที่ให้หลอดมา เพราะกระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้มันไม่ทันในยุคเรา แต่มันมีเพื่อรุ่นลูกรุ่นหลานเรา”
จากศพวาฬ ถึงวันพรุ่งนี้
จากหมอนสี่เหลี่ยมธรรมดา อนีสนำโครงการนี้ไปเสนอกับร่วมกับโครงการ Bangkok Biennial ที่เปิดโอกาสให้ศิลปินที่สนใจทำงานศิลปะเล็กๆ ของตัวเองเป็น Pop-up Pavillion ร้านกาแฟใจกลางปัตตานีเลยต้องสร้างงานศิลปะ Inst(r)a(w)llation ประดับร้าน
“เราเลือกวาฬและเต่า เพราะอยากสื่อสารกับคนให้กว้างและไวที่สุด เราไม่ได้ทำงาน Pure Art ไม่ต้องตีความอีก 3 – 4 วัน เพราะสิ่งที่เราอยากสื่อสารมันไม่ควรซับซ้อน ทุกคนควรเข้าใจทันที เป็นการทดลองกับคนที่มาร้านกาแฟ เราจะไม่เสิร์ฟหลอด แต่ถ้าไม่ให้หลอดเลยมันเป็นการคุกคามเขาเกินไป เลยให้เขาเดินไปหยิบเองที่หน้าศพวาฬที่มีไส้หลอดไหลออกมา
“เราตั้งใจทำให้มันดูน่ารัก เป็นการเสียดสีส่วนตัว เพราะผมคิดว่าเรามองบางปัญหาอย่างโลกสวยเกินไป ผมเลยนำเสนอด้วยตุ๊กตาน่ารักและหลอดสีสันสวยงาม เราจะดูว่ามีผลอย่างไรรึเปล่า เหมือนเป็นงาน Interactive เล็กๆ และต่อไปคงจะหมุนเวียนทดลองไปเรื่อยๆ และมีแพะด้วย เพราะแพะที่นี่กินขยะเยอะมาก”
เจ้าของร้านกาแฟเอ่ย ปัจจุบันปัตตานีแลนด์หลอดขายหมอนอิงไส้หลอดโดยไม่เอากำไร ราคา 450 บาทของหมอน 1 ใบจะช่วยต่อหมอนได้อีกใบ แต่จะจ่ายมากกว่าเพื่อสนับสนุนโครงการก็ได้ไม่ว่ากัน
“สารภาพตรงๆ เราไม่ได้คิดว่ามันจะมาไกลขนาดนี้ เราแค่อยากได้บีนแบ็ก แต่พอมาถึงขั้นนี้เราก็จะทำต่อไป โครงการจะสำเร็จคือไม่มีหลอดให้เก็บเลย” มะหนึ่งกล่าว
แม้ความตั้งใจดีนี้ยังไม่อาจหยุดขยะที่ไหลท่วมทะเล แต่อย่างน้อยท่ามกลางกองขยะมหึมา ปัตตานีแลนด์หลอดบอกเราว่าคนตัวเล็กๆ ยังทำอะไรเพื่อสิ่งแวดล้อมได้มากมาย
และในวันพรุ่งนี้ แผ่นดินแม่ยังมีความหวัง
สั่งซื้อหมอนไส้หลอดรีไซเคิล และติดตามความเคลื่อนไหวของปัตตานีแลนด์หลอดได้ที่นี่