01

ละครใบ้สไตล์ญี่ปุ่น

“งาน PANTOMIME IN BANGKOK ใหญ่กว่าเทศกาลละครใบ้ที่เราจัดกันในญี่ปุ่นอีกนะ” โยชิสะวะ โคอิจิ โปรดิวเซอร์ละครใบ้ชื่อดังของญี่ปุ่น บอกในสิ่งที่ผมไม่เคยรู้ และคนไทยส่วนใหญ่ก็คงไม่รู้

PANTOMIME IN BANGKOK หรือ ‘ละครใบ้ในกรุงเทพฯ’ กำลังจะจัดครั้งที่ 16 ในรอบ 22 ปี ระหว่างวันที่ 20 – 21 กรกฎาคม 2561 ที่โรงละคร เอ็ม เธียเตอร์ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ซื้อบัตรได้ที่ไทยทิกเก็ตเมเจอร์ทุกสาขา

ผมดูละครใบ้ในกรุงเทพฯ ครั้งที่ 1 สมัยเรียนมหาวิทยาลัย รอบแรก ผมไปดูคนเดียวด้วยความอยากรู้ว่ามันคืออะไร รอบสอง ผมย้อนกลับไปดูใหม่ในวันรุ่งขึ้น พร้อมกับชวนเพื่อนพ้องไปดูด้วย ถึงขนาดว่าออกเงินซื้อตั๋วให้ทุกคนก่อน ถ้าใครดูแล้วไม่ชอบก็ไม่ต้องเอาเงินมาคืน

หลังจบการแสดง ผมได้เงินคืนครบจากทุกคน พร้อมคำขอบคุณมากมาย และหลายคนก็กลายมาเป็นแฟนประจำของละครใบ้ จัดเมื่อไหร่ก็ชวนกันไปดูอีกจนถึงทุกวันนี้

ผมมีนัดคุยกับ 2 บุคคลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการแสดงซึ่งเล่นต่อเนื่องในบ้านเรามายาวนานถึง 2 ทศวรรษ ที่คาเฟ่ย้อนยุคสุดสวยตรงข้ามสถานีรถไฟ JR Shin-Okubo ในเมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

นักแสดงผู้เปลี่ยนละครใบ้ญี่ปุ่นให้ไม่เหมือนชาติใดในโลก

สำหรับคนที่ยังนึกไม่ออกว่าละครใบ้คืออะไร เราทำมาความรู้จักกันสักเล็กน้อย

“ละครใบ้ต่างจากการแสดงประเภทอื่นตรงไม่ใช้คำพูด เรื่องไหนที่ไม่สามารถสื่อสารผ่านคำพูดได้มักจะนำมาเล่าผ่านละครใบ้ ความแตกต่างอีกอย่างคือการสร้างพื้นที่ ละครใบ้ไม่มีฉาก แต่คนดูจะใช้จินตนาการสร้างฉากทุกอย่างขึ้นมาเอง ตัวอย่างที่ง่ายที่สุดที่น่าจะนึกกันออกก็คือ การทำท่าไต่กำแพง” โคจิมะยะนักแสดงละครใบ้และผู้อำนวยการสมาคมนักแสดงละครใบ้อธิบาย

ละครใบ้เหมือนจะเป็นภาษาสากล แต่ละครใบ้ในญี่ปุ่นกลับไม่เหมือนละครใบ้ในถิ่นกำเนิดอย่างยุโรป สิ่งแรกที่สังเกตได้คือ นักแสดงละครใบ้ในญี่ปุ่นไม่ทาหน้าขาว

นักแสดงผู้เปลี่ยนละครใบ้ญี่ปุ่นให้ไม่เหมือนชาติใดในโลก

“จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นในยุคของโคจิมะยะ” โยชิสะวะหันหน้าไปมองเพื่อนสนิทผู้สร้างละครใบ้สไตล์ญี่ปุ่นขึ้นมา

นักแสดงละครใบ้คนแรกของญี่ปุ่นชื่อ โยเนยะมะ มะมะโกะ ตอนนี้อายุ 83 ปีแล้ว เธอไปเรียนละครใบ้สายยุโรป หรือสายออร์ทอดอกซ์ มาจากอเมริกา แล้วก็นำสิ่งนี้มาเผยแพร่ที่ญี่ปุ่น

“โคจิมะยะเห็นว่าสิ่งที่รุ่นพี่ทำมีกรอบมากเกินไป เขาเลยใช้เวลา 30 – 40 ปี ค่อยๆ พัฒนาละครใบ้แบบของเขาขึ้นมา เป็นละครใบ้ที่มีบทและวิธีเล่าเรื่องใกล้เคียงกับละครเวที” โปรดิวเซอร์ชื่อดังอธิบาย

ละครใบ้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อ 200 – 300 ปีที่แล้ว เป็นการแสดงภายใต้แสงไฟที่จำกัด การทาหน้าขาวช่วยให้คนเห็นได้ง่ายขึ้น และต้องเล่นใหญ่เพื่อให้คนเห็นชัด แต่เมื่อเวลาผ่านไป มีไฟฟ้าใช้ หน้าขาวก็มีความหมายในรูปแบบอื่นแทน คือ แทนการใส่หน้ากาก และเป็นการกำหนดลักษณะของตัวละครให้ชัดเจน เช่น เป็นคนดี เป็นคนเลว

“การทาหน้าขาวเป็นการจำกัดบทบาทของตัวละครที่ผมต้องการ ผมอยากให้ตัวละครมีความเป็นมนุษย์ เลยคิดว่าการทาหน้าขาวไม่ใช่สิ่งที่สำคัญอีกต่อไป” โคจิมะยะเล่าถึงที่มาของการไม่ทาหน้าขาว

บทละครของเขาก็แตกต่างจากละครใบ้ในอดีต โคจิมะยะสนใจเรื่องเล็กๆ ในชีวิตประจำวัน แล้วยกเหตุการณ์นั้นขึ้นมาเป็นโลกใบใหม่

“แล้วผมก็ชอบเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนที่มีบทบาทต่างกัน โชว์ที่คุณจะได้ดูตอนบ่ายนี้ มีเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไอดอลกับผู้จัดการ คุณรู้จักไอดอลแบบ AKB48 ใช่ไหม ผมลองคิดว่าไอดอลกับผู้จัดการจะมีปฏิสัมพันธ์กันยังไง แล้วก็สร้างเป็นเรื่องขึ้นมา”

ฟังแล้วก็อยากรู้ว่า เรื่องเล่าของไอดอลสาวที่ถ่ายทอดผ่านละครใบ้จะสนุกแค่ไหน

02

ชุมชนละครใบ้ในญี่ปุ่น

พวกเราเดินจากคาเฟ่มุ่งหน้าไปยังโรงละครขนาดเล็กความจุ 50 ที่นั่ง ซึ่งใช้เป็นที่จัดการแสดงละครใบ้บ่ายนี้ มันเป็นโรงละครขนาดมาตรฐานที่คณะละครใบ้ใช้กัน ถ้าอยากเล่นที่ใหญ่กว่านี้ก็ต้องใช้วิธีจัดร่วมกันหลายๆ คณะ ถึงจะกล้าไปเช่าโรงละครขนาดใหญ่

“คุณอาจมองว่า ซ้อมมาตั้งนานคนดูแค่นี้คงไม่คุ้ม สำหรับละครใบ้แล้ว โรงละครขนาด 50 ที่นั่งคือพื้นที่ที่เราจะเล่นได้เข้าถึงทุกคนจริงๆ แต่ขนาดที่ดีที่สุดเมื่อมองในด้านธุรกิจด้วยก็คือ 200 – 300 ที่นั่ง” โยชิสะวะเล่าระหว่างพาเราเดินไปโรงละคร

ตอนนี้ญี่ปุ่นไม่มีงานละครใบ้ขนาดใหญ่แล้ว พวกเขาเคยทำอยู่ 10 ปี หลังจากปี 2007 รัฐบาลท้องถิ่นตัดงบสนับสนุน ซึ่งการแสดงทุกประเภทโดนเหมือนกันหมด ในญี่ปุ่นเลยเหลือแค่งานละครใบ้เล็กๆ 2 – 3 งาน งานใหญ่ที่สุดในเอเชียอยู่ที่เกาหลีใต้

“ปีที่แล้วผมไปแสดงที่เกาหลีใต้ 7 ครั้ง ทั้งเล่นแบบงานเล็กๆ และในโรงละครขนาด 400 ที่นั่ง งานของเกาหลีใต้ถือว่าใหญ่ที่สุดเพราะจัดกัน 2 – 3 สัปดาห์ เชิญนักแสดงมา 20 – 30 คน ถ้าอยากดูครบทุกคณะอาจจะต้องซื้อบัตรดูสัก 7 รอบ ไม่เหมือนเมืองไทย มีแพ็กเกจเดียว ทุกคนจะได้ดูโชว์ชุดเดียวกันหมด เป็นโชว์ที่เราคัดมาแล้วว่าดีที่สุด” โยชิสะวะเล่าถึงเทศกาลละครใบ้กรุงเทพที่เขาเริ่มต้นบุกเบิกเมื่อ 20 ปีก่อน

แล้วถือว่าเป็นงานละครใบ้ที่ดีที่สุดในเอเชียได้ไหม

“ผมคิดว่าใช่นะ” โยชิสะวะตอบเสียงเบาแบบถ่อมตัว

03

ละครใบ้เดินทางไปเมืองไทย

โคจิมะยะให้พวกเรายืนรอหน้าโรงละครสักครู่

ตอนนี้ข้างในกำลังมีสอนละครใบ้ เป็นหนึ่งในช่องทางการสร้างรายได้ของนักแสดงละครใบ้ที่นี่  ถึงแม้ว่าละครใบ้จะเป็นการแสดงที่มีผู้ชมและผู้เล่นน้อยมากเมื่อเทียบกับการแสดงประเภทอื่น แต่คนมากมายก็อยากเรียนละครใบ้เพราะเป็นพื้นฐานการแสดงที่นำไปใช้ต่อยอดกับการแสดงละครเวที การเล่นตลก และการแสดงประเภทสตรีทโชว์

ย้อนเวลากลับไปเมื่อ 21 ปีก่อน ผมอยากรู้ว่า เขารู้สึกยังไงกับการนำการแสดงละครใบ้ไปแนะนำให้คนไทยรู้จัก

“ผมไม่ได้กังวลนะ ตื่นเต้นมากกว่า ละครใบ้ไม่มีข้อจำกัดด้านภาษา น่าจะสื่อสารกันได้ ผมไม่ได้คิดว่าเพราะเป็นเมืองไทยเลยอยากเลือกเรื่องประเภทนี้ประเภทนั้นไปแสดง ผมพยายามดูภาพรวมของงานให้สมดุล อยากให้มีทั้งเรื่องตลก เรื่องที่แสดงถึงความเป็นมนุษย์ และการเคลื่อนไหวของร่างกายที่น่าทึ่ง” โปรดิวเซอร์อธิบาย

คำตอบของเขาทำให้ผมนึกถึงการแสดงเรื่องซากุระที่นักแสดงเล่นเป็นต้นซากุระซึ่งมีความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง และสุดท้ายมันก็ถูกโค่น การแสดงเรื่องนี้เล่นคนเดียว ไม่มีฉาก ไม่มีคำพูด แต่มันทำให้ผมเสียน้ำตาได้

“เรื่องนั้นมีความเป็นญี่ปุ่นมากนะ แต่คนไทยก็เข้าใจมันได้” โคจิมะยะแสดงความเห็น

โยชิสะวะเสริมว่า ถึงแม้ละครใบ้จะเป็นภาษาสากล แต่ก็มีความแตกต่างในแต่ละประเทศ เช่น การทำท่ากินข้าว ถ้าเป็นที่อินเดียการทำท่าใช้มือหยิบอาหารเข้าปากถือเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าเป็นที่ญี่ปุ่นจะดูเป็นการกินที่ไม่ค่อยมีมารยาท หรือการลูบหัวเด็กซึ่งบางประเทศไม่ทำ พอนักแสดงเล่นคนดูก็อาจจะไม่เข้าใจว่าทำอะไร

“ผู้ชมชาวญี่ปุ่นโดยเฉพาะที่โตเกียวแทบไม่แสดงความรู้สึกทางสีหน้าเลย หน้านิ่งมาก แต่ผู้ชมชาวไทยขำก็หัวเราะให้นักแสดงได้ยิน ตกใจสีหน้าก็ออก นักแสดงเลยเล่นง่ายกว่า”

โคจิมะยะอธิบายความแตกต่างระหว่างการแสดงในญี่ปุ่นกับไทยอีกเรื่อง

“คนไทยเข้าใจละครใบ้แบบลึกซึ้ง เข้าใจเยอะกว่าคนชาติอื่นๆ ผมรู้สึกว่าคนไทยเป็นเหมือนเด็กที่เรียนเก่ง” นักแสดงละครใบ้ผู้มีประสบการณ์มากว่า 30 ปีหัวเราะ

โปรดิวเซอร์เล่าว่า โรงละครขนาด 450 ที่นั่ง ที่กรุงเทพฯ ใหญ่กว่าโรงละครที่ญี่ปุ่นเยอะ และเป็นขนาดที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่ละครใบ้จะเล่นได้แล้ว งานละครใบ้ในกรุงเทพฯ จึงเป็นเวทีที่นักแสดงญี่ปุ่นต่างก็อยากมาเล่น เพราะถือเป็นงานใหญ่ระดับเอเชีย แต่การเลือกคนมาเล่นก็ไม่ง่าย เพราะพวกเขาอยากคัดคนที่ดีที่สุดมา

ละครใบ้ญี่ปุ่น ละครใบ้ญี่ปุ่น ละครใบ้ญี่ปุ่น

“นักแสดงที่พวกเราเลือกมา คือนักแสดงที่ดีที่สุดในญี่ปุ่น ในสายตาของพวกเรา” โยชิสะวะพูดด้วยน้ำเสียงมั่นใจ

ปีที่ผ่านมา วงการละครใบ้ของไทยและญี่ปุ่นต่างก็สูญเสียนักแสดงละครใบ้ระดับตำนาน คือพี่อั๋น ไพฑูรย์ ไหลสกุล หรือ คนหน้าขาว ผู้บุกเบิกการแสดงละครใบ้ในไทย และฮอนดะ นักแสดงคู่หูของโคจิมะยะ ละครใบ้ในกรุงเทพฯ ปีนี้เลยอยากให้โอกาสนักแสดงรุ่นใหม่ ก็เลยเป็นส่วนผสมของนักแสดงรุ่นใหญ่กับรุ่นใหม่

นักแสดงที่ต้องจับตาก็คือ คณะอะยุโคจิ หรือการจับคู่กันระหว่างโคจิมะยะกับอะยุมิ นักแสดงสาวหน้าใสวัยยี่สิบกว่าๆ ซึ่งอายุห่างกับโคจิมะยะถึง 34 ปี

ผมกำลังจะได้ดูพวกเขาเล่นในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า

04

บ้านของละครใบ้

ละครใบ้ญี่ปุ่น ละครใบ้ญี่ปุ่น

การแสดงละครใบ้ในโรงละครที่มีบรรยากาศเรียบง่ายและอบอุ่นเหมือนบ้านจบลงแล้ว

เป็นการแสดง 5 เรื่อง ความยาวรวมกันชั่วโมงนิดๆ เรื่องไอดอลกับผู้จัดการสนุกสมกับที่เขาแนะนำ และอีกเรื่องที่ผมตกใจในวิธีเล่าแบบนอกกรอบมากๆ ก็คือ เรื่องเข็มเครื่องเล่นแผ่นเสียง ที่อะยุมิเล่นเป็นอุปกรณ์ชิ้นนี้

เมื่อสิ้นเสียงปรบมือยาว ทีมงานก็เอาชั้นวางของที่ระลึกพวกเสื้อยืด เข็มกลัด มาตั้งขายบนเวที นักแสดงทั้งคู่ยืนรับแขกอยู่บนเวที คนดูเกือบทุกคนเดินมาขอจับมือและถ่ายรูปคู่ บางคนก็ชวนคุยยืดยาว เป็นบรรยากาศที่อบอุ่นมาก

นักแสดงผู้เปลี่ยนละครใบ้ญี่ปุ่นให้ไม่เหมือนชาติใดในโลก

พอผู้ชมคนสุดท้ายเดินออกไป เราได้คุยกันต่ออีกนิด

“นักแสดงรุ่นใหญ่มีประสบการณ์เยอะ มีเทคนิคในการเล่นกับคนดูเยอะ แต่นักแสดงรุ่นใหม่สดกว่า มีพลังกว่า เขามีวิธีดึงความสนใจคนดูอีกแบบ” โยชิสะวะวิเคราะห์ความแตกต่างของนักแสดงสองรุ่นให้ฟัง

“พออายุมากขึ้นเราอาจจะไม่คล่องแคล่วเหมือนเด็ก เราต้องตัดการเคลื่อนไหวที่ไม่จำเป็นออกไปให้หมด เหลือแค่การเคลื่อนไหวที่เป็นแกนจริงๆ เท่านั้น” โคจิมะยะอธิบายพร้อมกับเอาผ้าขนหนูซับเหงื่อที่ต้นคอ

ถ้าย้อนกลับไปดูการแสดงที่เพิ่งจบไป อะยุมิเล่นเยอะมาก ส่วนโคจิมะยะเล่นน้อยกว่าเยอะ แต่ทุกการเคลื่อนไหวของเขามีความหมายและมีพลัง อย่างที่เรียกได้ว่า เล่นน้อย แต่ได้มาก

ละครใบ้ญี่ปุ่น

แต่ถึงจะเล่นน้อย นักแสดงวัย 60 ปีคนนี้ก็ซ้อมหนักมาก ไม่ต่างจากตอนหนุ่มๆ

“ผมอยากเล่นให้ได้อย่างน้อยที่สุดอีก 10 ปี” เขาเล่าเป้าหมายให้ฟัง

ถึงตอนนั้นเขาก็จะอายุ 70 ปี ซึ่งถือว่าไม่เยอะเลย เพราะอาจารย์ของเขา ตอนนี้อายุ 71 ปีก็ยังเล่นละครใบ้ได้อย่างคล่องแคล่ว ไม่ต่างจากนักแสดงละครใบ้คนแรกของญี่ปุ่นวัย 83 ปี ซึ่งตอนนี้ก็ยังแสดงได้เป็นปกติ

ทุกวันนี้เขายังตื่นเต้นอยู่ไหม ผมอยากรู้

“เวลาทำละครเรื่องใหม่ๆ ผมกังวลมาก กดดัน เรียกว่าทรมานก็ได้ แต่ก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะแปลว่า เรากำลังรู้สึกกับงาน ยังทำงานด้วยความสดเหมือนเด็กๆ การแสดงที่ดีต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ ถ้าคุณมีความกระหายอยากให้คนดูจดจำ อยากให้คนดูร้องไห้ อยากให้คนดูได้เห็นสิ่งใหม่ๆ ถ้าคุณไม่เข้มงวดกับตัวเองอย่างถึงที่สุด สิ่งนั้นจะไม่มีทางเกิดขึ้น”

โคจิมะยะทิ้งท้ายด้วยถ้อยคำที่เต็มไปด้วยพลัง

Facebook l PANTOMIME IN BANGKOK

Writer & Photographer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป