สุรินทร์เป็นจังหวัดที่ประสบปัญหาภัยแล้งอันดับต้นๆ ของประเทศ

ชาวบ้านยากจน หน้าแล้งไม่สามารถปลูกพืชได้จากการขาดแคลนน้ำ และหน้าฝนหากโชคร้ายฝนทิ้งช่วง ไร่นาก็อาจล่มสลาย

เกือบทุกปีสุรินทร์จะได้รับการประกาศเป็นจังหวัดที่ประสบภัยแล้งจัด

แต่ชาวบ้านแห่งตำบลเชื้อเพลิง อำเภอปราสาท ไม่เคยขาดแคลนน้ำมาหลายปีแล้ว

เมื่อมีแหล่งน้ำอันอุดมสมบูรณ์ พวกเขาก็มีรายได้จากการทำเกษตร มีฐานะพอเพียง

แต่แหล่งน้ำที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพราะการร้องขอ แต่เป็นเพราะชุมชนมีความมุ่งมั่นที่จะเอาป่ากลับคืนมา

เมื่อมีป่า แหล่งน้ำก็ตามมา

แทบไม่น่าเชื่อว่าห่างจากอำเภอเมืองสุรินทร์ ทำเลเศรษฐกิจชั้นดีไม่กี่สิบกิโลเมตร จะมีป่าชุมชนที่ชาวบ้านเชื้อเพลิงช่วยกันรักษา 3,900 ไร่

ชาวตำบลเชื้อเพลิงส่วนใหญ่เป็นลูกหลานของคนเขมรหรือ ‘ส่วย’ ที่อาศัยมานานหลายร้อยปีแล้ว ส่วยเป็นชาวพื้นราบที่ผูกพันและหวงแหนป่ามานานแล้ว

บัตรคนจน, สุรินทร์

ป่าชุมชนที่พวกเขารักษาชื่อ ‘ป่าตาเกาว์’ เป็นภาษาเขมรมาจากชื่อ ‘หญ้าตะกั๊ก’ หญ้าที่เกิดขึ้นบริเวณนี้ จนภายหลังเพื้ยนมาเป็น ‘ตาเกาว์’

ตอนแรกป่าตาเกาว์มีพื้นที่สองพันกว่าไร่

จนเมื่อ 20 ปีก่อน นายพินิจ เมืองไทย กำนันหนุ่มแห่งตำบลเชื้อเพลิง ได้ร่วมกับแกนนำชุมชนเจรจาขอคืนพื้นที่ป่าคืนจากชาวบ้านผู้บุกรุกจนสำเร็จ ได้พื้นที่ป่าคืนมาพันกว่าไร่

บัตรคนจน, สุรินทร์ บัตรคนจน, สุรินทร์

กำนันบอกผมว่า ตอนนั้นเขามีความมุ่งมั่นว่าต้องรักษาป่าผืนนี้ให้ได้ เพราะเขาเชื่อว่าไม่มีป่า ไม่มีน้ำ

แต่แทนที่จะปลูกเป็นป่าหมด พวกเขาแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งวางแผนสร้างสระน้ำเพื่อกักเก็บน้ำหลายแห่ง ใหญ่บ้างเล็กบ้างกระจายไปรอบๆ ป่า และร่วมแรงร่วมใจกันขุดลอกแหล่งน้ำตามธรรมชาติเดิมทั้งหมดให้สามารถเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้น

บัตรคนจน, สุรินทร์ บัตรคนจน, สุรินทร์

พอฝนตกลงมาชาวเชื้อเพลิงมีน้ำเต็มสระน้ำ บึงน้ำเหล่านี้รวมกัน 5 ล้านกว่าลูกบาศก์เมตร เป็นหลักประกันว่าหน้าแล้งพวกเขาสามารถทำไร่ ปลูกผักได้ โดยมีการต่อท่อสูบน้ำไปยังไร่ของตัวเอง

ท่อเหล่านี้ไม่ต้องใช้เครื่องสูบน้ำ แต่ใช้หลักการแรงดึงดูดน้ำจากที่สูงไหลสู่ที่ต่ำ

ชาวเชื้อเพลิงนอกจากปลูกข้าว ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ได้แล้ว ในป่ายังมีแหล่งอาหารมากมาย โดยเฉพาะเห็ด ขณะที่ในน้ำมีกุ้ง หอย ปู ปลา ไม่เคยขาด

พวกเขาเชื่อว่า ‘น้ำจะไหลไปหาคนยากคนจนที่ขยันเท่านั้น’

ชาวเชื้อเพลิง 12 หมู่บ้านเจ็ดพันกว่าคนจึงมีฐานะพอเพียงท่ามกลางความแห้งแล้ง

ไม่จำเป็นต้องมีบัตรคนจน พวกเขาก็อยู่รอดได้

Writer

Avatar

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

นามปากกา วันชัย ตัน นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี อดีตรองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย (THAIPBS) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTVHD36 มีผลงานเขียนตีพิมพ์เป็นหนังสือ 28 เล่ม เป็นนักเดินทางตัวยง จากความเชื่อที่ว่า การใช้ชีวิตให้มีความสุขควรประกอบด้วยสามสิ่ง คือ ทำงานที่ใจรัก ช่วยเหลือคนรอบข้าง และเดินทางท่องเที่ยว