The Cloud x The Hero Season3

ตั้งแต่เกิดจนตั้งไข่ เขาเติบโตมาในครอบครัวที่ปฏิบัติตามประเพณีและวิถีภูมิปัญญาแบบล้านนาดั้งเดิม

อายุ 18 ปี เขาเข้าศึกษาในคณะวิจิตรศิลป์ สาขาวิชาศิลปะไทย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปัจจุบัน ด้วยวัย 27 ปี เขาเป็นนัก ‘ดาครัว’ หรือนักเตรียมของสำหรับการจัดพิธีกรรมท้องถิ่นแบบล้านนาที่อายุน้อยที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ และมีคิวดาครัวตลอดทั้งปีทั้งในและต่างจังหวัด

นั่นคือเรื่องราวพอสังเขปของชายหนุ่มที่ชื่อ ธวัชชัย หินเดช หรือ มงมัน

ธวัชชัย หินเดช, มงมัน, ประเพณีล้านนา

กล้วยคาง่าม ง่ามคากล้วย

สุภาษิตล้านนา แปลว่า คนเราต้องพึ่งพาอาศัยกัน

หากจะเล่าถึงจุดเริ่มต้นในการเป็น ‘นักดาครัว’ ของมงมัน ต้องย้อนกลับไปเมื่อ 27 ปีที่แล้ว

เด็กชายมงมันเกิดและเติบโตที่หมู่บ้านบวกครกใต้ หมู่ 9 ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ เขาเติบโตในครอบครัวที่มีคุณแม่และคุณยายที่เลี้ยงดูเขา คุณยายประกอบอาชีพทำสวน คุณแม่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป

ธวัชชัย หินเดช, มงมัน, ประเพณีล้านนา ธวัชชัย หินเดช, มงมัน, ประเพณีล้านนา

สิ่งหนึ่งในวัยเด็กที่เด็กชายมงมันจดจำได้ดี คือบรรยากาศในหมู่บ้านที่มีการพึ่งพาอาศัยของเพื่อนบ้านในละแวกเดียวกัน อันเป็นสิ่งที่ไม่เคยจางหายไปในสังคมชนบทล้านนา

“สังคมล้านนาชนบทที่ผมอาศัยอยู่เป็นสังคมที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สมมติว่าบ้านผมมีงานในหมู่บ้าน ญาติพี่น้องต่างบ้านก็จะมาช่วยกัน เพราะคนสมัยก่อนทำไร่ ทำสวน ทำนา กันเยอะ ทำงานข้าราชการ ครูบาอาจารย์หรืองานประจำกันน้อย แต่ปัจจุบันนี้ลูกหลานไม่ค่อยกลับมารวมตัวกัน จะมาช่วยกันต่อเมื่อมีงานสำคัญจริงๆ หรือไม่ก็มาเพียงใส่ซองช่วยค่าจัดงาน แล้วก็กลับบ้าน เพราะต่างคนต่างมีภาระหน้าที่มากขึ้น

“ตอนผมอายุ 4 – 5 ขวบผมไม่ค่อยมีเพื่อนวัยเดียวกัน เลยไปอยู่วัดกับหลวงลุง หลวงน้า ที่เป็นญาติพี่น้อง เลยได้ซึมซับวัฒนธรรมล้านนาผ่านพุทธศาสนา เช่น ช่วยหลวงลุงคัดลอกคำเทศนาลงในใบลาน หรือช่วยเขียนอักขระล้านนาบนเทียนสำหรับใช้ในการทำบุญต่างๆ เวลาหลวงลุงมีกิจนิมนต์ก็จะได้ตามไปศึกษา เวลาชาวบ้านจัดงาน ก็ไปช่วยคุณตา คุณชาย หรือช่วยชาวบ้าน จัดของเพื่อเตรียมงานต่างๆ เช่น งานขึ้นบ้านใหม่ งานทำบุญบ้าน หรืองานศพ” มงมันเล่าถึงจุดเริ่มต้นในการเรียนรู้วัฒนธรรมล้านนา

เมื่อเวลาผ่านไป ย่อมเกิดความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในสังคมที่มงมันเคยอาศัย

แต่หลายสิ่งที่เคยเกิดขึ้น ยังไม่จางหายไปอย่างถาวร

กิ๋นแล้วหื้อเก็บ เจ็บแล้วหื้อจำ

สุภาษิตล้านนา แปลว่า ให้รู้จักเก็บและจดจำประสบการณ์เอาไว้

ถึงเวลาหนึ่ง เมื่อมงมันต้องเลือกเพื่อศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ทางเลือกเดียวที่เขามีในใจ คือคณะวิจิตรศิลป์ สาขาวิชาศิลปะไทย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ธวัชชัย หินเดช, มงมัน, ประเพณีล้านนา

“ผมชอบศิลปะวัฒนธรรมล้านนาครับ ผมเห็นผลงานของรุ่นพี่ที่คณะก็เลยอยากเรียนคณะนี้ ตั้งเป้าหมายเลยว่าจะต้องสอบเข้าคณะวิจิตรศิลป์ให้ได้ ก่อนหน้านั้นผมติดคณะอื่น ก็สละสิทธิ์เพื่อจะเรียนคณะนี้ให้ได้ พอสอบติดแล้วก็ได้เรียนทุกอย่างที่เกี่ยวกับศิลปะโดยรวม เน้นไปทางประวัติศาสตร์ ทางความเชื่อก็มี”

นอกเหนือจากความรู้ในห้องเรียนแล้ว สิ่งที่เปิดโลกความรู้ทางวัฒนธรรมล้านนาให้กับมงมัน นั่นคือการไปดูงานในพื้นที่ต่างๆ เพื่อศึกษาวัฒนธรรมเฉพาะในแต่ละพื้นที่

“อาจารย์พาไปดูงานหลายที่ครับ เช่น ไปงานตั้งธรรมหลวง (การแสดงพระธรรมเทศนาที่จัดขึ้นในช่วงประเพณียี่เป็งของภาคเหนือ หรือวันลอยกระทงของภาคกลาง) ที่วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร หรือไปวัดปงสนุกที่จังหวัดลำปาง จังหวัดน่าน ก็จะได้เห็นวัฒนธรรมที่ต่างกันออกไป เราได้เห็นสิ่งที่ต่างกับวัฒนธรรมที่เชียงใหม่ คือวัฒนธรรมทางภาษา การกิน มหรสพดนตรี หรือบทสวดในการประกอบพิธีก็ต่างกัน” นั่นคือสิ่งที่มงมันได้รับจากการดูงาน

ธวัชชัย หินเดช, มงมัน, ประเพณีล้านนา

ความรู้จากในห้องเรียนและการเดินทางไปชมพิธีกรรมต่างๆ เป็นเพียงความรู้ส่วนหนึ่งที่เขาได้รับเท่านั้น หากแต่มงมันยังค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมจากแหล่งข้อมูลในชุมชนที่เขาอาศัยอยู่ แหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดคือ ประสบการณ์ที่เขาสะสมจากการดาครัวมาตลอดหลายปี

“เรานำแหล่งข้อมูลจากการดาครัวแต่ละที่มาปรับปรุง คุณตาคุณยายรู้เรื่องอะไรเป็นพิเศษ เราก็จะไปถามท่าน เพราะแต่ละคนจะรู้ไม่เหมือนกัน ข้อมูลที่ถูกต้องที่สุดคือคำตอบจากหลายๆ คนรวบรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน แล้วก็มาศึกษาข้อมูลที่มีในหนังสือ อ้างอิงในหนังสือ อีกทีว่าจะต้องเป็นแบบไหน”

ธวัชชัย หินเดช, มงมัน, ประเพณีล้านนา ธวัชชัย หินเดช, มงมัน, ประเพณีล้านนา

เกิดเป็นคน ขึ้นห้วยหื้อสุด ขุดฮูไหนหื้อตึก

สุภาษิตล้านนา แปลว่า ทำให้ถึงที่สุด

มงมันซึมซับวัฒนธรรม ความรู้ และเคล็ดลับ ในการ ‘ดาครัว’ จากความทรงจำในวัยเด็ก อีกทั้งเกร็ดความรู้จากผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคยได้รับในการช่วยเหลืองานต่างๆ หรือความรู้จากการเรียนในมหาวิทยาลัย ทำให้มงมันยึดอาชีพ ‘นักดาครัว’ ตั้งแต่อายุ 18 ปี

ธวัชชัย หินเดช, มงมัน, ประเพณีล้านนา

“ตอนที่ผมเริ่มดาครัวจริงๆ จะเป็นช่วงก่อนเข้าไปเรียนที่คณะวิจิตรศิลป์ครับ ช่วยเหลือชุมชน ชาวบ้านมาตลอด การดาครัวมันหมายถึงการตระเตรียมเพื่อพิธีกรรมต่างๆ โดยจะมีวันจริงและวันดา วันดาคือวันเตรียมงาน เราก็ไปช่วยปู่ย่าเขาหาของต่างๆ แต่วัฒนธรรมพวกนี้เริ่มจะจางหายไป เพราะว่าทั้งคุณตา คุณยาย ที่เขาดาครัวมานานก็เสียชีวิตไป เลยไม่มีใครสืบสาน”

ทุกศาสตร์และศิลป์ย่อมมีวิธีการเฉพาะตัว และทักษะสำคัญเพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างราบรื่น และสัมฤทธิ์ผล แล้วการดาครัวล่ะ ต้องเริ่มเรียนรู้อย่างไร และใช้ทักษะอะไรบ้าง

“ผมคิดว่าทักษะการดาครัวมีการใช้ฝีมือ ไหวพริบ ความประณีต และความเข้าใจในวัฒนธรรม เพราะแต่ละวัฒนธรรมแต่ละท้องถิ่นมันไม่เหมือนกัน เราเห็นมาตั้งแต่เด็กจึงจำวิธีการ ขั้นตอน หรือของที่ใช้ได้ แต่การดาครัวของคนในชุมชนอาจจะขาดรายละเอียดปลีกย่อยไปบ้าง งานที่ดาออกมามันก็จะไม่ค่อยสวย เมื่อเราก้าวเข้าสู่คณะวิจิตรศิลป์ปุ๊บ เราได้เรียนการจัดการวัฒนธรรมและอีกหลายๆ อย่าง เราก็เลยเอามาประยุกต์ใช้ว่าควรจะทำยังไงให้สวย ให้ออกมาดี แล้วนำความรู้ตรงนี้ไปช่วยชาวบ้านได้”

ธวัชชัย หินเดช, มงมัน, ประเพณีล้านนา ธวัชชัย หินเดช, มงมัน, ประเพณีล้านนา

ไก่เกยจน คนเกยฟ้อน

สุภาษิตล้านนา แปลว่า คนที่มีประสบการณ์ย่อมทำงานที่เคยทำมาแล้วได้

มงมันมีคิวดาครัวที่จังหวัดเชียงใหม่เกือบตลอดทั้งปี เว้นแต่ช่วงเทศกาลเข้าพรรษา เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่พระงดรับกิจนิมนต์ มงมันใช้ช่วงเวลาดังกล่าวสำหรับเตรียม ‘ของดา’ หรืออุปกรณ์ต่างๆ เพื่อรองรับการว่าจ้างให้เตรียมงานในช่วงเวลาต่างๆ นอกจากจังหวัดเชียงใหม่แล้ว เขายังได้รับความไว้วางใจจากผู้ว่าจ้างในหลายจังหวัด ทั้งเชียงราย ลำพูน ลำปาง สมุทรสงคราม และกรุงเทพฯ ในการดาครัวในพิธีกรรมล้านนาต่างๆ ซึ่งมงมันจะขนของที่ต้องใช้ในพิธีกรรม หรือแม้กระทั่งเป็นผู้ประสานงานบุคคลต่างๆ และการนิมนต์พระสงฆ์เพื่อประกอบพิธีกรรม

หากนับรวมมงมันแล้ว ปัจจุบันมีผู้ประกอบอาชีพ ‘นักดาครัว’ ที่ยึดเป็นอาชีพหลักเพียงแค่ 3 – 4 คนทั่วจังหวัดเชียงใหม่เท่านั้น

โชคดีที่ในวงการนักดาครัว ทุกคนต่างช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เสมือนเป็นพี่น้องที่มีความสนใจและอุดมการณ์เดียวกัน

“คนที่ประกอบอาชีพนี้ก็จะช่วยดึงกันไปทำงานต่างๆ หากต้องการคน หรือต้องการของอะไรที่ขาดเหลือจากพี่คนอื่น ถ้าของบางอย่างขาดไปเราก็ติดต่อขอที่คนนี้ได้ เราช่วยกันได้ หรือคนขาดก็จะขอแรงจากทีมอื่นๆ  ไม่เคยแบ่งแยกว่าใครทำงานให้ใคร”

อย่างที่มงมันบอก จำนวนของนักดาครัวในปัจจุบันถือว่าน้อยมากจนน่าตกใจ

หนึ่งในหนทางการสืบสานหรือรักษาอาชีพใดๆ คือการมีผู้สานต่อ

แต่ทำไมเด็กวัยรุ่นถึงไม่สนใจการดาครัวอีกแล้ว

“ส่วนหนึ่งน่าจะขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูและวัฒนธรรมร่วมสมัย ผมอยู่ในชุมชน ถูกฟูมฟักให้อยู่กับวัฒนธรรมดั้งเดิม ต่างจากเด็กที่เติบโตในเมือง ความรู้สึก ความเข้าใจ เกี่ยวกับวัฒนธรรมที่เคยมีก็จะหายไป เพราะว่าเจอสภาพแวดล้อมใหม่” มงมันตอบคำถาม

สิ่งหนึ่งที่มงมันภาคภูมิใจที่สุดในการเป็นนักดาครัว คือการได้รับเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมเทศกาลแสดงศิลปะแห่งลุ่มน้ำโขง หรือ 2017 Asia-Pacific Traditional Arts Festival in Taiwan ณ กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน เมื่อปี 2560 มงมันนำศิลปะการทำโคมในประเพณียี่เป็ง ซึ่งเป็นอุปกรณ์ส่วนหนึ่งสำหรับการดาครัวในวันยี่เป็ง ไปเผยแพร่ในเทศกาลครั้งนี้

จากปากคำของมงมัน การดาครัวนั้นเป็นเรื่องที่เขาสนุกกับมัน และทำมันด้วยความสุข

และจุดประสงค์ที่สำคัญ เขาทำเพื่อรักษาวัฒนธรรมตามแบบต้นฉบับล้านนาดั้งเดิมไม่ให้สูญหายไป

“เราชอบด้านนี้อยู่แล้ว เราออกไปทำงานก็คือเราสนุกกับมัน ไม่เคยบ่นเลยนะว่ามันเหนื่อย มันลำบาก ยิ่งไปเจอชาวบ้านแต่ละที่มาต้อนรับเรามันยิ่งสนุก ถามว่ามันสนุกยังไง เราสนุกที่เราได้ไปรู้ไปเห็นอะไรใหม่ๆ มากกว่า

“ไม่เบื่อเลยนะครับ เราทำไปทุกวันๆ แต่ละวันมันก็มีอุปสรรคที่ไม่เหมือนกัน ไปส่งงานแต่ละงานอุปสรรคไม่เหมือนกัน ทำให้เราได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเอง” มงมันทิ้งท้าย

ถ้ามองแบบกว้างๆ เราจะเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นงานช่างฝีมือแขนงไหนล้วนแต่เจอปัญหาคล้ายๆ กัน คือไม่มีคนรุ่นใหม่มาสืบทอด แต่ถ้าลองมองดูดีๆ เราก็จะเห็นว่า ตอนนี้เริ่มมีคนหนุ่มสาวเข้าไปเรียนรู้ และสืบทอดงานเหล่านั้นในแบบของพวกเขา เพื่อรักษารากเหง้าบางอย่างของพวกเราเอาไว้

เหมือนอย่างที่มงมันกำลังทำ

ธวัชชัย หินเดช, มงมัน, ประเพณีล้านนา

ภาพ ธวัชชัย หินเดช

Writer

Avatar

สุรพันธ์ แสงสุวรรณ์

เขียนหนังสือบนก้อนเมฆในวันหนึ่งตรงหางแถว และทำเว็บไซต์เล็กๆ ชื่อ ARTSvisual.co

Photographers

Avatar

สโรชา อินอิ่ม

Freelance photographer ชอบความอิสระ ชอบเดินทางท่องเที่ยว บันทึกความทรงจำผ่านภาพถ่าย