16 พฤศจิกายน 2018
16 K

นักเรียนในโรงเรียนจังหวัดเชียงใหม่กว่าครึ่งไม่ว่าจะวัยใด ต้องเคยเข้าเรียนวิชาภูมิปัญญาที่โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนามาอย่างน้อย 1 ครั้ง

อย่าตกใจ คำว่า ‘โฮงเฮียน’ คือคำเมืองล้านนาที่แปลว่า ‘โรงเรียน’ ในภาษาไทยกลาง

โรงเรียนนี้ห้อมล้อมด้วยต้นไม้ พืชพรรณธรรมชาติ และบ้านทรงไทยล้านนา ที่สร้างด้วยการใช้องค์ความรู้แบบล้านนา ตั้งอยู่ที่ถนนแก้วนวรัฐ ใจกลางเมืองเชียงใหม่

ฉันพบ คุณหนึ่ง-ยุทธการ ขันชัย เจ้าหน้าที่ประสานงานโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา ในเช้าที่มีคลาสเรียน 2 กลุ่มคือ นักเรียนตัวเล็กๆ ชั้นประถมที่กำลังตื่นตาตื่นใจกับวิธีการทำผ้ามัดย้อมด้วยลวดลายแบบล้านนา และกลุ่มนักเรียนหญิงจากมหาวิทยาลัยประเทศญี่ปุ่น ที่พวกเธอกำลังขะมักเขม้นกับการวาดลวดลายบนร่มกระดาษสา

ด้วยความอยากรู้อยากเห็นของเด็กตัวเล็กๆ และความตั้งใจของนักเรียนสาวที่อยากวาดร่มให้ได้ลวดลายที่สวยงาม เนื้อหาการเรียนการสอนในโรงเรียนแห่งนี้ ไม่ได้สอนวิชาความรู้ตามหลักสูตรที่ผู้ใหญ่กำหนดมา

หากแต่เป็นหลักสูตรที่เพิ่มเติมองค์ความรู้ในท้องถิ่น เพื่อไม่ให้สิ่งเหล่านี้จางหายไปตามกาลเวลา

โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา

สั่งสม

พิษต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ทำให้ชีวิตใครหลายคนเปลี่ยนไปในชั่วข้ามคืน

ผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนคือผู้คนที่อาศัยในตัวเมือง ในทางกลับกัน ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในแถบชนบทกลับไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากการล่มสลายทางเศรษฐกิจเมื่อ 21 ปีที่แล้ว และสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุข พอใจในปัจจัยชีวิตของตน

นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดงาน ‘สืบสานล้านนา’ ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนาในเวลาต่อมา

โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา

“ในช่วงพิษเศรษฐกิจชาวบ้านนอกเมืองไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลยจากระบบเศรษฐกิจที่ล่มสลาย เขายังคงดำรงชีวิตของเขาได้ กลุ่ม NGO ภายใต้การนำของ อาจารย์ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ จึงจัดงาน ‘สืบสานล้านนา’ ขึ้น มีการนำวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น มาจัดแสดง รวมถึงมหรสพ การแสดงดนตรีพื้นเมือง ซึ่งจัดในรูปแบบของกาดหมั้ว หรือตลาดนัดแบบล้านนา ที่นำมาประยุกต์จนเป็นที่นิยมในปัจจุบันเลยก็ว่าได้

“ทุกปีเมื่อจัดงานก็จะมีคนมาถามว่า เรื่องราวของวิถีชีวิตเหล่านี้ ทั้งดนตรี การแสดง การฟ้อนรำต่างๆ ถ้าอยากเรียน จะไปเรียนได้ที่ไหน จนวันหนึ่งทางกลุ่มคิดกันขึ้นมาว่าทำไมเราไม่ตั้งโรงเรียน ประกอบกับได้คำแนะนำจาก พระพุทธพจนวราภรณ์ (จันทร์ กุสโล) ที่ท่านกล่าวว่า การสืบสานมันไม่ใช่ปีหนึ่งจัดงานครั้งหนึ่ง เราควรจะสืบสานทุกลมหายใจเข้าออก  

“เราเลยเริ่มก่อตั้งโฮงเฮียนขึ้นมาเมื่อประมาณปี 2546 บริเวณที่ตั้งปัจจุบัน เดิมเป็นที่ดินของ คุณเล็ก ล่ำซำ ท่านให้ยืมพื้นที่จัดงานมาก่อน จนคุณเล็กยกให้กับหลวงปู่จันทร์แล้วก็เอามาตั้งเป็นโรงเรียน หลังจากหลวงปู่จันทร์มรณภาพ พื้นที่ก็มอบให้กับวัดป่าดาราภิรมย์ดูแลต่อไป” คุณหนึ่งเล่าถึงจุดเริ่มต้นอันยาวนานกว่า 7 ปี จากความเปลี่ยนแปลงของงานประจำปี สู่โรงเรียนที่จัดสอนวิชาภูมิปัญญาล้านนาเพียงวิชาเดียว

โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา

สั่งสอน

การเริ่มต้นโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา คือการเฟ้นหาพ่ออุ้ย (คุณตา) แม่อุ้ย (คุณยาย) และปราชญ์ชาวบ้านที่มีองค์ความรู้ในภูมิปัญญา เป็นคุณครูประจำวิชาในโรงเรียนแห่งนี้

แต่กว่าจะได้พบเจอครูแต่ละคน เป็นการเริ่มต้นที่ยากพอดู เนื่องจากครูแต่ละคนนั้นต่างอยู่ในพื้นที่ๆ ไกลจากโรงเรียน

“ช่วงแรกนี้มันเป็นยุคเริ่มโรงเรียนใหม่ เราได้เชิญครูภูมิปัญญาต่างๆ ซึ่งอยู่ในเชียงใหม่ อย่างเช่น พ่อน้อย ศรีแก้ว ที่เชี่ยวชาญในด้านการทำโคม หรือแม่ไหล (แม่บัวไหล คณะปัญญา-ผู้ริเริ่มการทำธุรกิจโคมล้านนาในย่านบ้านเมืองสาตร ตำบลหนองหอย อำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงใหม่) ในยุคแรกเป็นยุคของพ่อครู แม่ครู ที่อายุมาก ซึ่งมาสอนให้โดยไม่มีค่าตอบแทน”

โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา

“ในยุคนั้นมีนักเรียนเยอะพอสมควร วิชาหนึ่งก็เปิดรับ 10 – 20 คนต่อรอบ ผ่านไปถึงช่วงปี 2550 คนเฒ่าคนแก่เริ่มมาสอนไม่ไหว ทำให้เริ่มมีการเก็บค่าเรียน จากเคยเก็บ 300 บาท ค่อยๆ ขยับเป็น 500 – 700 บาท จนปัจจุบันเป็นคอร์สละ 1,500 ต่อ 15 ชั่วโมง ให้นักเรียนได้เรียนเต็มกระบวน ให้เรียนรู้จนครบชั่วโมงที่จะรับรู้ รับทราบ แต่ใครอยากจะต่อยอดก็คุยกับครูได้เลย” คุณหนึ่งเล่าถึงการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน

โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา

“ปัจจุบันทางโรงเรียนเปิดสอนวิชาอะไรบ้าง” ฉันถาม

“ถ้าแบ่งเป็นหมวดใหญ่มีอยู่ 5 หมวด หมวดภาษา คือคำเมือง ตัวอักษรล้านนา และวรรณกรรมพื้นบ้าน หมวดคีตหรือว่าดนตรีพื้นเมือง หมวดศิลปะ เช่น การทำโคม ทำตุง และวาดรูป พวกวาดลายต้อง ลายแต้ม หมวดงานหัตถกรรม เช่น สล่าจักสาน แกะสลัก ดุนโลหะ หล่อพระ ทำเครื่องเขิน และสุดท้ายคือถึงนาฏย คือการฟ้อนรำต่างๆ ทั้งชายและหญิง” คุณหนึ่งอธิบายถึงรายวิชาในโฮงเฮียน

หมวดวิชาที่ได้รับความนิยมมากมีอยู่ 3 วิชาหลักๆ คือหนึ่ง ฟ้อนที่ต้องใช้ผู้หญิงเป็นผู้แสดง เช่น ฟ้อนเล็บ ฟ้อนสาวไหม ฟ้อนเทียน รองลงมาคือฟ้อนที่ใช้ผู้ชายเป็นผู้แสดง ได้แก่ ฟ้อนเจิง หรือฟ้อนดาบ อันดับสามคือ งานหัตถกรรมและงานศิลปะ ได้แก่ วาดภาพบนผลิตภัณฑ์หรือวาดภาพแบบล้านนา เป็นต้น

ส่งเสริม

ด้วยสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของโลกและการเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น ผู้ปกครองส่วนหนึ่งเล็งเห็นปัญหาเหล่านี้ในบุตรหลาน จึงตัดสินใจส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนที่โรงเรียน เพื่อให้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ แถมได้ความรู้และความสามารถพิเศษติดตัวอีกด้วย

“เมื่อก่อนจะเป็นนักเรียนในช่วงอายุ 10 – 20 ปี ก็คือช่วงประถมปลายจนถึงมหาวิทยาลัย แต่ทุกวันนี้เหลือเด็กตัวเล็กลง เป็นเด็กชั้นประถมต้น เพราะเด็กวัยนี้อยู่ในช่วงเก็บเกี่ยวประสบการณ์ และนำประสบการณ์เหล่านี้ไปใช้เป็นคุณสมบัติพิเศษ หรืออีกหนึ่งเหตุผลคือ ผู้ปกครองอยากให้เรียน เพราะว่าอยากให้เด็กห่างจากเกมหรือสื่อต่างๆ เพื่อมาเรียนรู้สังคม มาเรียนรู้ศิลปะพวกนี้”

โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา

ไม่ใช่เพียงนักเรียนหรือนักศึกษาเท่านั้น โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาได้เปิดโฮงเฮียนต้อนรับชาวต่างชาติเข้ามาเรียนรู้วัฒนธรรมล้านนา ทั้งนักเรียน นักศึกษา และนักท่องเที่ยว ที่นี่จึงเปรียบเสมือนโรงเรียนนานาชาติที่ต้อนรับเพื่อนใหม่จากต่างแดน เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมซึ่งกันและกัน

สืบสาน

ปีนี้เข้าสู่ปีที่ 15 ของการก่อตั้งโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา เมืองเชียงใหม่มีความเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ ทั้งความเจริญในสังคม การคมนาคม สิ่งอำนวยความสะดวก แม้กระทั่งวัฒนธรรมล้านนาดั้งเดิมก็ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงนี้เช่นกัน

แต่โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนายังยืนหยัดที่จะรักษาวัฒนธรรมล้านนาในรูปแบบดั้งเดิม อีกทั้งการแสวงหาองค์ความรู้ที่ไม่ผ่านการเปลี่ยนแปลง หรือปรับปรุงใดๆ เพื่อส่งต่อสู่คนรุ่นใหม่ ไม่ให้สูญหายไป ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างมากต่อคุณหนึ่งและทีมงานในการตามหาผู้เชี่ยวชาญในองค์ความรู้เหล่านั้น

แต่ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีภูมิปัญญาและศิลปะอีกมากมายถูกค้นพบ และยังมีผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่คอยให้ความรู้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง

“ไม่นานมานี้เพิ่งค้นพบฟ้อนโบราณชนิดหนึ่ง ที่ครั้งหนึ่งเคยใช้ฟ้อนรับเสด็จรัชกาลที่ 5 ที่เมืองลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ตอนนี้มันเกือบสูญหายไป ปัจจุบันแม่ครูทั้งสามท่านที่มีความรู้ในการฟ้อนชนิดนี้เหมือนจะเสียชีวิตไปแล้ว ยังดีที่เรายังส่งคนเข้าไปสืบและเรียนไว้ แล้วก็เอาความรู้เหล่านี้กลับมาส่งต่อให้สังคมอีกทอดหนึ่ง รวมไปถึงการทอผ้าห่อคัมภีร์ หรือคัมภีร์ใบลาน ที่มันกำลังจะหายไป เราจึงพยายามดึงขึ้นมาให้เกิดเป็นวิชาที่น่าสนใจของสังคม แล้วเอาวิชาเหล่านี้ไปต่อยอดต่อไปได้ เป็นงานอดิเรกหรืออาชีพหลักก็ได้”

โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา

สิ่งหนึ่งที่คุณหนึ่งและทีมงานของโฮงเฮียนยังคงยืนหยัดท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคม คือการสืบสานวัฒนธรรมล้านนาดั้งเดิมให้เป็นมรดกของแผ่นดินเชียงใหม่ โดยยังมีผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ ส่งต่อความรู้เหล่านี้ให้กับเด็กรุ่นใหม่ จากรุ่นสู่รุ่น

“เรารักษาวัฒนธรรมรวมถึงองค์ความรู้แบบดั้งเดิมที่ตกทอดมาให้คงอยู่ เพื่อจะส่งต่อความเป็นเอกลักษณ์แบบดั้งเดิมไปถึงอีกรุ่นหนึ่งให้ได้ คนเหล่านี้จะแตกงอกไปเป็นเมล็ดพันธุ์ใหม่ในที่ต่างๆ รวมถึงในหน่วยงานของสถาบันการศึกษา เพราะสิ่งเหล่านี้ค่อนข้างยืดยาว และเปลี่ยนรุ่นมาเรื่อยๆ จึงเกิดการสานต่ออย่างต่อเนื่อง ห่วงอยู่อย่างเดียวว่าการรักษาวัฒนธรรมที่ไม่เข้มแข็งพอจะทำให้วัฒนธรรมผิดเพี้ยนและบิดเบี้ยว พอนานเข้า สักวันหนึ่งวัฒนธรรมที่บิดเบี้ยวจะกลายเป็นความถูกต้องขึ้นมา”

โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา

ปัจจุบันมีผลผลิตจากโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนากระจายตัวอยู่ตามแหล่งชุมชน โรงเรียน มหาวิทยาลัย อยู่จำนวนหนึ่ง นอกจากโฮงเฮียนจะให้ความรู้กับนักเรียนใหม่หลากหลายช่วงวัย หลายเชื้อชาติ หลายความแตกต่างแล้ว การสร้างบุคคลผู้มีองค์ความรู้ทางภูมิปัญญาเพื่อกระจายตัวไปยังที่ต่างๆ ยิ่งเป็นผลผลิตที่สำคัญที่จะทำให้วัฒนธรรมล้านนาแบบดั้งเดิมไม่สูญหายไปตามประสงค์ของโรงเรียนอย่างแน่นอน

โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา

Writer

Avatar

สุรพันธ์ แสงสุวรรณ์

เขียนหนังสือบนก้อนเมฆในวันหนึ่งตรงหางแถว และทำเว็บไซต์เล็กๆ ชื่อ ARTSvisual.co

Photographer

Avatar

บีซัน ตัน

ช่างภาพหุ่นหมี อารมณ์ดี มุกแป้ก เพิ่งจบใหม่จากรั้ววิจิตรศิลป์ มช. ปัจจุบันเป็นวิดีโอครีเอเตอร์อิสระอยู่ที่เชียงใหม่