The Cloud x Dutch Mill Delight
นี่คือเรื่องราวเล็กๆ บนเกาะเล็กๆ แห่งหนึ่งกลางทะเลอันดามัน
หมอนิล-มารุต เหล็กเพชร คือหมอเวชศาสตร์ครอบครัวเพียงคนเดียวบนเกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงา ก่อนหน้าที่หมอนิลจะมาประจำการอยู่ที่นี่ เกาะแห่งนี้มีเพียงสถานีอนามัยประจำตำบล เป็นสถานพยาบาลสำหรับชาวบ้านร่วมหมื่นคน
คำถามในใจหมอนิลตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาแพทย์คือ เราจะเปลี่ยนระบบการรักษาพยาบาลอมทุกข์ มาเป็นระบบแห่งความสุขในโรงพยาบาลได้อย่างไร
คำตอบอยู่ที่ขนาดของโรงพยาบาลหรือจำนวนหมอที่ประจำการหรือเปล่านะ
ที่สถานีอนามัยเล็กๆ แห่งนั้น ด้วยทรัพยากรอันจำกัด หมอนิลและชาวบ้านได้ช่วยกันก่อสร้างต่อเติมอาคารเก่าที่ผ่านแดดฝนจนซีดจางมากว่า 30 ปี ด้วยเงินเพียงไม่กี่แสนบาทซึ่งมาจากการระดมทุนขายขนมบ้าบิ่น ขนมพื้นถิ่นบนเกาะยาวใหญ่ จนกลายมาเป็นโรงพยาบาล
โรงพยาบาลประจำเกาะขนาด 5 เตียง เทียบกับโรงพยาบาลในเมืองที่มีมูลค่าหลายร้อยล้านบาท คงแทบไม่เห็นฝุ่น แม้จะเป็นโรงพยาบาลที่เล็ก แต่ในขณะเดียวกันที่นี่ก็เป็นโรงพยาบาลที่อบอุ่นที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย
ที่อบอุ่น เพราะโรงพยาบาลเล็กๆ ของชาวบ้านและหมอนิลไม่ได้รักษาแค่ ‘โรค’ แต่รักษา ‘คน’
คำว่า ‘คน’ มีนิยามกว้างกว่าแค่กายภาพมากมายนัก ความเจ็บป่วยของมนุษย์เกิดจากปัจจัยทางสังคม สิ่งแวดล้อม และมิติทางจิตวิญญาณ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว การรักษาจะอยู่เพียงแค่กายภาพภายนอกได้อย่างไร
คำตอบที่หมอนิลใช้เวลานับสิบปีค้นหา ระบบความสุขในโรงพยาบาลเกิดจากความสัมพันธ์ที่คนมีต่อกันในกระบวนการเยียวยารักษา เพราะโรงพยาบาลไม่ใช่อาคารอึดอัดแข็งกระด้าง แต่เป็นเหมือนบ้านที่อนุญาตให้ญาติจำนวนมากมาเยี่ยมเยียนและทำกับข้าวกินกัน เป็นบ้านที่ผู้ป่วยได้ใช้ลมหายใจสุดท้ายของชีวิตร่วมกับลูกหลานที่อยู่กันพร้อมหน้า
ไม่จำเป็นต้องใหญ่โต, หมอนิลบอกว่า “Small is beautiful.”
และเมื่อฟังเรื่องราวของหมอหนุ่มผู้ขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงบนเกาะเล็กๆ แห่งนี้จบ ถ้อยคำที่อยู่ในหัวเราคือ ‘Small is powerful.’
01
หมอผู้ไม่อยากให้คนมาโรงพยาบาล
เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว หมอนิลสมัยเป็นนักศึกษาแพทย์ปีที่ 5 ข้ามน้ำข้ามทะเลมาเที่ยวที่เกาะยาวใหญ่เป็นครั้งแรก ค้นพบความงดงามและเงียบสงบบนเกาะกลางทะเลแห่งนี้ “ตอนนั้นยังไม่มีโรงพยาบาล มีแต่สถานีอนามัย ผมก็คิดไว้ตั้งแต่วันนั้นว่าตอนปี 6 ที่ต้องเลือกโรงพยาบาลใช้ทุน จะเลือกมาประจำที่นี่ เพราะถ้าทำงานโรงพยาบาลในเมือง ปีหนึ่งมีวันหยุดแค่ไม่กี่วัน ถึงจะไปพักผ่อนเที่ยวแม่น้ำ ทะเล ภูเขาได้ แต่ประจำอยู่ที่นี่ ได้ใช้ชีวิตใกล้กับธรรมชาติ ถือเป็นกำไรและความสุขในการดำเนินชีวิต
“ปีต่อมา ตอนเลือกโรงพยาบาลใช้ทุน ฉลุยมากครับ ไม่มีเพื่อนนักศึกษาแพทย์คนอื่นแย่งลงสถานีอนามัยตำบลพรุใน เกาะยาวใหญ่เลย ผมจึงได้มาประจำที่นี่อย่างที่ตั้งใจไว้” หมอนิลเล่ายิ้มๆ
แม้จะเป็นเกาะเล็กๆ แต่มีชาวบ้านอยู่เกือบหมื่นคน ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ประกอบอาชีพประมงและทำสวน สมัยก่อนเวลาป่วยไข้ ชาวบ้านต้องนั่งเรือไปหาหมอที่โรงพยาบาลเกาะยาวน้อยหรือโรงพยาบาลบนฝั่ง ช่วงกลางวันมีเรือวิ่งแค่วันละ 2 เที่ยว ถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินตอนกลางคืนชาวบ้านต้องควักกระเป๋าเหมาเรือไปส่งโรงพยาบาล ทั้งที่ชาวบ้านเองก็ไม่ได้มีสตางค์มาก
เมื่อมีนายแพทย์หนุ่มมาประจำการ สถานีอนามัยเล็กๆ แห่งนี้จึงถูกพัฒนาเป็นศูนย์แพทย์ชุมชนพรุในที่พร้อมให้การรักษาอย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสิ่งแรกที่หมอนิลตั้งใจทำให้เกิดขึ้น คือการสร้างระบบสุขภาพชุมชนให้กับคนบนเกาะยาวใหญ่
“ผมเรียนมาทางสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว หรือ Family Care ซึ่งเน้นการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพมากกว่ารักษา เป็นวิชาแพทย์ที่มุ่งดูแลสุขภาพของผู้คน ผ่านการเข้าถึงคนไข้ ดูแลอย่างต่อเนื่อง และเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน”
หมอนิลอธิบายว่า ปัญหาการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ประเภทที่ชาวบ้านผู้อาศัยอยู่ห่างไกลจากตัวเมือง ต้องหอบหิ้วกันไปโรงพยาบาลโดยใช้เวลาเป็นวันๆ นั้นไม่ได้มีแค่ที่เกาะยาวใหญ่ สมัยที่ยังเรียนอยู่หมอนิลเคยไปออก ‘ค่ายสร้าง’ ค่ายอาสาพัฒนาชนบทของเหล่านักศึกษามหาวิทยาลัยนเรศวร ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดเพชรบูรณ์ หนทางแสนไกลและลำบากมากในการจะมาโรงพยาบาลแต่ละครั้ง
“เมื่อหลายสิบปีก่อนระบบสุขภาพของประเทศไทยเป็นแบบ Hospital Based คือเอาความสะดวกของคลินิกเป็นที่ตั้ง หากโรงพยาบาลจะมีคลินิกวันนี้ ชาวบ้านก็ต้องมาวันนี้เท่านั้น ไม่ได้เอาผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง หมอจะประจำการอยู่ที่โรงพยาบาล ไม่ออกไปไหน
“แต่เวชศาสตร์ครอบครัวคือการสร้างระบบสุขภาพแบบ Community Based หรือการเอาชุมชนและชาวบ้านเป็นที่ตั้ง ผมมีปณิธานตั้งแต่สมัยเรียนว่าอยากสร้างโรงพยาบาลที่เป็นแบบนี้ โรงพยาบาลที่ทุกคนมีส่วนร่วมกันออกแบบ และชาวบ้านสามารถดูแลสุขภาพได้ด้วยตัวเอง”
ด้วยปณิธานนี้ ทำให้หลังใช้ทุนเสร็จ หมอนิลจึงเลือกมาเป็นแพทย์ประจำที่เกาะยาวใหญ่ต่อ ตั้งแต่ พ.ศ. 2546 จนถึงปัจจุบันก็เป็นเวลา 15 ปีมาแล้ว “ชุมชนที่มีบริบทแบบชนบทเหมาะที่สุดในการสร้างระบบสุขภาพแบบเวชศาสตร์ครอบครัว ด้วยข้อจำกัดหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะเรื่องความห่างไกลของพื้นที่ การส่งเสริมสุขภาพจึงเป็นระบบที่เอื้อกว่าและใช้งบประมาณน้อยกว่าด้วย”
กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว เช่นเดียวกับการสร้างระบบสุขภาพที่ไม่ได้เห็นผลในเวลาไม่กี่วัน หมอนิลค่อยๆ วางรากฐานอันเหนียวแน่นในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับชุมชนมาโดยตลอด จากที่ชาวบ้านต้องมาหาหมอที่โรงพยาบาล เปลี่ยนเป็นหมอไปเยี่ยมคนไข้ที่บ้านบ้าง
แรกๆ หมอนิลไปคนเดียว บางทีก็ไปกับพยาบาลผู้ช่วย จนนานวันเข้าก็เริ่มเปิดพื้นที่ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ผ่านการเป็นอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้ในการดูแลผู้ป่วยจากหมอนิลเพื่อดูแลเพื่อนพ้องน้องพี่แถวบ้านตัวเอง ตั้งแต่ช่วยทำกายภาพบำบัดชาวบ้านที่ป่วยเป็นอัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมอง ไปจนถึงผู้สูงอายุออกกำลังกายเพื่อยืดเส้นยืดสาย
“เราดูแลคนไข้แบบ Comprehensive หมายถึงดูแลทั้งทางกาย จิตใจ สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เกิดไปจนตาย เราดูแลอย่างองค์รวม เพราะระบบสุขภาพจริงๆ แล้วเป็นวงจรที่ใหญ่มาก เราไม่สามารถแยกออกมารักษาแค่ทางกายอย่างเดียวได้ ต้องทำทั้งหมด จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเวชศาสตร์ครอบครัวจึงต้องดูแลเรื่องสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ของผู้ป่วยด้วย”
หมอนิลเสริมต่อว่า “พูดให้เข้าใจง่ายๆ เวชศาสตร์ครอบครัวมีเพื่อไม่ให้คนต้องมาโรงพยาบาลเยอะ เพราะโรคบางโรคมันป้องกันได้ และโรคบางโรคถ้ามารักษาที่โรงพยาบาลมันอาจจะสายเกินไป ไม่ต้องรอให้เป็นโรคเบาหวาน เป็นโรคความดันโลหิตสูง ก่อนแล้วจึงค่อยมาโรงพยาบาล แต่ต้องป้องกันและทำให้สุขภาพดีตั้งแต่แรก”
02
โรงพยาบาลที่เล็กที่สุดในประเทศไทย
นั่งคุยกันไปสักพัก หมอนิลถามว่า “รู้ไหม ประเทศอะไรมีระบบสุขภาพดีที่สุดในโลก”
สวีเดน, ผิด
สหรัฐอเมริกา, ผิด
ญี่ปุ่น, ผิด
คำตอบคือประเทศคิวบา แม้จะเป็นประเทศยากจน มี GDP พอๆ กับประเทศไทย แต่คิวบามีระบบสุขภาพดีเทียบเท่าประเทศรัฐสวัสดิการ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษคิวบามุ่งพัฒนาระบบสาธารณสุขและการศึกษา จนสามารถผลิตบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพออกมาดูแลสังคมได้อย่างทั่วถึง ที่คิวบาหมอ 1 คนดูแลผู้ป่วยเฉลี่ยเพียง 150 คนเท่านั้น ในขณะที่ประเทศไทยคนไข้เฉลี่ยต่อปีที่หมอแต่ละคนต้องรับผิดชอบสูงเกือบ 1,400 คน
ที่สัดส่วนแพทย์ต่อผู้ป่วยของคิวบาน้อยไม่ใช่เพราะมีจำนวนแพทย์เยอะอย่างเดียว แต่มาจากความเข้าใจระบบสุขภาพอย่างลึกซึ้งของชาวบ้านด้วย คนคิวบาได้รับการปลูกฝังเรื่องสุขภาพอย่างที่ควรจะเป็น ทำให้รู้ว่าต้องดูแลตัวเองอย่างไร ซึ่งเป็นหลักของเวชศาสตร์ครอบครัวที่เน้นการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพนั่นเอง
หมอนิลเล่าต่อว่า “ที่คิวบาเมื่อหมอมีเวลา เขาจึงสามารถทำการวิจัยเรื่องการรักษาและดูแลสุขภาพต่างๆ ร่วมกับคนในท้องถิ่นได้ เราเรียกการวิจัยแบบนั้นว่า PAR (Participatory Action Research) โดยโรงพยาบาลของผมก็ใช้ PAR ในการสร้างระบบสุขภาพเช่นกัน”
ที่เกาะยาวใหญ่ โรงพยาบาลและชุมชนเป็นหนึ่งเดียวกัน หมอนิลรู้จักคนไข้แทบทุกคน เมื่อถึงวันที่ชาวบ้านเดินมาบอกหมอนิลว่า พวกเขาต้องการสร้างเรือนพักผู้ป่วยหลังใหม่แทนหลังเดิมที่คับแคบและทรุดโทรม เนื่องจากใช้งานมานานร่วม 30 ปีแล้ว โครงการก่อสร้างโรงพยาบาลโดยการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมของชุมชน จึงเกิดขึ้นบนเกาะเล็กๆ กลางทะเลแห่งนี้
“เราใช้เวลา 2 ปีในการออกแบบโรงพยาบาลร่วมกับชาวบ้าน โดยตั้งหมายว่าโรงพยาบาลนี้จะสร้างระบบสุขภาพที่ยั่งยืน และเอื้อต่อการรักษาแบบเวชศาสตร์ครอบครัว ที่คำนึงถึงมิติในด้านศาสนา วัฒนธรรม จิตวิญญาณ และชุมชน คนบนเกาะยาวใหญ่เป็นคนมุสลิมเสียเป็นส่วนใหญ่ และโรงพยาบาลของคนมุสลิมก็ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน ถ้าอย่างนั้นควรเริ่มจากตรงไหนดี จะใช้แบบก่อสร้างของกระทรวงไหม แบบมาตรฐานที่ใช้เหมือนกันทั้งประเทศ แม้ว่าโรงพยาบาลจะตั้งอยู่ในบริบทที่ต่างกันก็ตาม”
แบบโรงพยาบาลสำเร็จรูปของกระทรวงสาธารณสุข ขนาดเล็กที่สุดคือ 10 เตียง ชาวบ้านปรึกษาหารือกันและได้ข้อสรุปว่าบนเกาะยาวใหญ่ โรงพยาบาลขนาดแค่ 5 เตียง ก็เพียงพอสำหรับรองรับทุกคนบนเกาะอย่างเหลือเฟือแล้ว ถือเป็นโรงพยาบาลที่เล็กที่สุดในประเทศไทย
หมอนิลเล่าต่อว่า “เราไม่ได้ออกแบบโรงพยาบาลอย่างเดียว เราออกแบบระบบสุขภาพชุมชนด้วย ดังนั้นจากกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมนี้ นอกจากชาวบ้านจะรู้สึกเป็นเจ้าเข้าเจ้าของโรงพยาบาลแล้ว เขาจะรู้สึกเป็นเจ้าของสุขภาพของตัวเองด้วย ไม่ใช่หมอที่เป็นคนจัดการเท่านั้น”
03
บทบาทของหมอบ้านนอก
“จากการเรียนรู้ที่ผ่านมาจากชีวิตจริงในชุมชน เราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าการออกแบบโรงพยาบาลแบบเดิมๆ นั้นไม่อาจทำให้กระบวนการเยียวยาให้เกิดขึ้นได้ และมันค่อนข้างไม่เหมาะสมกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนในชนบท เมื่อเราออกแบบตามมาตรฐานการแพทย์แบบตะวันตก ผลก็เป็นอย่างที่เห็นกันในโรงพยาบาลทั่วไป ใครไม่ป่วยเข้าไปแล้วก็ป่วย” หมอนิลเริ่มอธิบาย
หมอนิลเคยเขียนบทความชิ้นหนึ่งลงในนิตยสารเมื่อหลายปีที่แล้ว เป็นถ้อยความทรงพลังที่อธิบายว่า วิถีแบบเอเชียคือการที่เรามีญาติจำนวนมากมาเฝ้าไข้ เราจึงเห็นญาติคนไข้ผลัดเปลี่ยนกันมานอนใต้เตียงในโรงพยาบาลรัฐบาล เราต้องการตายอย่างสงบและมีญาติพร้อมหน้าพร้อมตา เรามีพิธีกรรมทางศาสนาที่เกี่ยวข้องกับชีวิตตั้งแต่เกิดจนถึงตาย เรามีพิธีรับขวัญเด็กเกิดใหม่
แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นในโรงพยาบาล เพราะเราไม่เคยออกแบบพื้นที่ไว้รองรับ และเราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า การแพทย์แบบตะวันตกนั้นได้กันผู้คนจำนวนมากให้ออกไปจากโรงพยาบาล
แพทย์พื้นบ้าน ผู้นำศาสนาที่ผู้ป่วยศรัทธา หรือแม้กระทั่งหมอตำแย คนเหล่านี้ในอดีตคือมิติทางด้านจิตวิญญาณ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องงมงายแต่เป็นเรื่องของระบบความสัมพันธ์ในชุมชน และสิ่งเหล่านี้เองมีผลอย่างมากในการเอื้อให้กระบวนการเยียวยาเกิดขึ้นได้
ตอนนี้มุมมองวิธีคิดด้านการแพทย์เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เราดูแลอย่างเป็นองค์รวมมากขึ้นทั้งร่างกาย จิตใจ รวมถึงด้านสังคม เพราะความเจ็บป่วยเกิดขึ้นจากปัจจัยด้านจิตใจและสังคมด้วย เวลาคนไข้มาโรงพยาบาลเรายังต้องดูไปพร้อมกันทั้งครอบครัว
โรงพยาบาลของหมอนิลมีสิ่งที่เรียกว่าแฟ้มครอบครัว ที่บันทึกข้อมูลสุขภาพของทุกคนในบ้าน สามารถดูได้ว่าภรรยาของเขาเพิ่งคลอดลูก แม่เขาเป็นเบาหวาน เดือนที่แล้วยังไม่ได้มารับยา ลูกคนโตยังไม่ได้มาฉีดวัคซีน บรรยากาศของการรักษาจะเต็มไปด้วยการพูดคุย ทำให้ทุกคนในครอบครัวมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพซึ่งกันและกัน
ถ้าเป็นโรคที่ต้องส่งต่อไปยังที่ที่มีศักยภาพสูงกว่า เราจะประสานงานให้ผู้ป่วยเข้าถึงได้รวดเร็ว เร็วเพราะเราได้คัดกรองไปแล้วโทรติดต่อประสานงาน หรือบางโรคที่อยู่ในระยะสุดท้าย โรงพยาบาลใหญ่ๆ หมดทางรักษาแล้วก็จะส่งกลับมาให้เราดูแลต่อในชุมชน นี่คือข้อดีของการที่เราอยู่ในชุมชน เป็นด่านแรกในระบบสุขภาพที่คนจะมาหาเรา
คุณอาจคิดว่าหมออยู่ตามบ้านนอกนั้นไม่เก่ง แต่ว่านั่นคือคนละบทบาทหน้าที่ อยู่ในชุมชนเราเน้นการสร้างสุขภาพมากกว่าซ่อมสุขภาพ ไม่อย่างนั้นแล้วจะมีผู้คนจำนวนมากไปแออัดอยู่ในโรงพยาบาลใหญ่ๆ ภาพแห่งความหดหู่ไม่มีวันหายไป ทุกคนก็เป็นทุกข์กันเหมือนเดิม
หมอนิลอธิบายต่อว่า “โจทย์ของเราอย่างหนึ่งคือทำอย่างไรให้กระบวนการสร้างสุขภาพเกิดขึ้นในทุกกระบวนการ คนเราจะเปลี่ยนแปลงได้ถ้ามีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ถ้าเรามีห้องครัวที่เอื้อให้ญาติผู้ป่วยทำอาหารกินกัน มีสวนสมุนไพร มีสวนครัวในโรงพยาบาล ที่เป็นพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กระบวนการสร้างสุขภาพอย่างที่เราตั้งใจไว้ก็จะเกิดขึ้นได้”
คำถามคือ ทำอย่างไรภาพเหล่านั้นจึงจะเกิดขึ้นได้
04
โรงพยาบาลที่ชาวบ้านเป็นเจ้าของ
หมอนิลตอบคำถามพร้อมอธิบายว่า “ผมใช้หลักการของหมอครอบครัว คือการฟังแบบ Deep Listening ฟังแบบไม่ตัดสิน ไม่เอาตัวเองไปเกี่ยวข้อง ฟังอย่างตั้งอกตั้งใจว่าความต้องการที่แท้จริงของเขาคืออะไร และร่วมออกแบบไปกับเขา เราจะไม่ไปบอกนะว่าต้องทำแบบนี้แบบนั้น แต่ในที่สุด ถ้ามันเป็นสิ่งที่ดี ผลลัพธ์มันจะปรากฏตรงกันเสมอ เราไม่ได้เป็นผู้ชี้นำความคิดชาวบ้าน แต่เราเหมือนเป็น Facilitator มากกว่า
“การออกแบบนี้จะเกิดขึ้นได้ถ้าเราได้ไปซักถามชาวบ้านจริงๆ พูดคุยกับพวกเขาอย่างเคารพในภูมิปัญญา แล้วเราจะเห็นมิติที่ลึกมากขึ้น เราก็ให้ชาวบ้านวาดแผนที่ออกมาเลยว่าเขาคิดว่าพื้นที่ตรงไหนของโรงพยาบาลที่จะสามารถส่งเสริมสุขภาพได้บ้าง เช่น สวนสมุนไพรพื้นบ้าน ที่ชาวบ้านนำพันธุ์สมุนไพรท้องถิ่นมามอบให้โรงพยาบาลปลูกเพื่อเก็บเกี่ยวไว้ใช้”
นอกจากสมุนไพรที่ปลูกในโรงพยาบาลแล้ว หมอนิลยังใช้สมุนไพรในป่ามาทำยารักษาอาการป่วยไข้อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่นผักบุ้งทะเลใช้ทำน้ำยาฆ่าเชื้อ เหงือกปลาหมอช่วยเรื่องระเบบภูมิคุ้มกันน้ำเหลือง ไพรใช้ทำลูกประคบ และมีสมุนไพรบางชนิดที่ป้องกันโรคเบาหวานและความดัน
หมอนิลเล่าต่อว่า “โครงการนี้ผมชวนกลุ่มสถาปนิกที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการจัดกระบวนการมีส่วนร่วม และมีแนวคิดที่อยากจะเปลี่ยงแปลงอะไรบางอย่างมาลองนั่งคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน นั่นถือเป็นจุดเริ่มต้นของสถาปนิกกลุ่ม CROSSs ซึ่งตอนนั้นยังเป็นนักศึกษาปริญญาโทคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ พวกเขาลงมาฝังตัว ทำความเข้าใจ และจัดกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมกับชาวบ้าน ตั้งแต่ขั้นตอนแรกไปจนถึงการปรับปรุงแบบ
“ชาวบ้านมีสิทธิ์เลือกแบบที่เขาต้องการจริงๆ จนกระทั่งมีส่วนร่วมในการก่อสร้าง และที่สำคัญกว่านั้นคือชาวบ้านจะเป็นคนกำหนดรูปแบบกิจกรรมรวมถึงการใช้พื้นที่ทั้งหมดของโรงพยาบาล ทั้งกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพที่เราคาดหวัง การเยียวยารักษาที่เข้ากับวีถีชีวิตและท้ายที่สุดวัฒนธรรมของเขาก็จะเกิดขึ้น”
หมอนิลอธิบายภาพรวมและรายละเอียดของสถาปัตยกรรมและภูมิทัศน์ใหม่ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ว่าประกอบไปด้วยมีเรือนนวดแผนไทย ลานชุมชน สวนสมุนไพร ห้องอบไอน้ำสมุนไพร โรงครัว สวนครัว และที่สำคัญคือ เรือนพักผู้ป่วยจำนวน 5 เตียง
ผู้ป่วยจะได้นอนพักรักษาในเรือนพักที่อบอุ่น แวดล้อมด้วยญาติมิตร สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ตั้งแต่วัฒนธรรมการคลอดจนถึงการเสียชีวิต มีห้องหนึ่งสำหรับพักคลอดที่พ่อแม่ลูกจะได้พักฟื้นอยู่ด้วยกัน คนแก่มีที่สำหรับลูกหลานที่มาเฝ้า และมีที่สำหรับคนไปละหมาด มีที่สำหรับคนไปเยี่ยมเป็นจำนวนมาก เพราะเขาเป็นญาติกันหมดทั้งเกาะ ครอบครัวใหญ่มีห้องพักพิเศษสำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้าย มีห้องครัวเปิดสำหรับการเรียนรู้เรื่องอาหารสุขภาพ
ทั้งหมดนี้คือการผสานภูมิปัญญาของชุมชนเข้ากับการเยียวยาและการส่งเสริมสุขภาพ
05
พฤติกรรมเปลี่ยนโรค
ในฐานะหมอที่คลุกคลีกับคนไข้มานานหลายสิบปี หมอนิลเล่าถึง ‘เบาหวาน’ โรคที่ดูเหมือนจะไม่ร้ายแรงแต่ติดอันดับโรคเรื้อรังที่คนไทยจำนวนมากประสบ คนไข้บางคนไม่รู้ว่าคืออาการแปลกๆ ในขั้นเริ่มต้นอย่างการกระหายน้ำมากจนผิดปกติ เป็นอาการของโรคเบาหวาน
อาการแปลกๆ ที่ว่า มีตั้งแต่อ่อนเพลียง่าย ทั้งๆ ที่พักผ่อนเพียงพอและไม่ได้ป่วยไข้ ผอมลงอย่างไม่ทราบสาเหตุ ปัสสาวะบ่อยผิดปกติ หิวน้ำมากกว่าปกติเพราะร่างกายสูญเสียน้ำจากการปัสสาวะบ่อย ตาพร่ามัวลงอย่างไม่ทราบสาเหตุผิวหนังแห้ง ไปจนถึงมีอาการคัน โดยอาจจะคันตามตัว ลามไปถึงการคันบริเวณปากช่องคลอดเลยทีเดียว
อธิบายให้เข้าใจง่ายที่สุด สมมติว่าร่างกายเราทำงานแบบระบบปั๊มน้ำ น้ำที่ถูกปั๊มคือเลือด ถ้าน้ำมีความเข้มข้นปกติ ปั๊มน้ำก็จะทำงานต่อไปได้อย่างไม่มีขัดข้อง แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่น้ำข้นหนืดขึ้น เมื่อนั้นระบบปั๊มน้ำก็จะมีปัญหาตามมา
โดยสาเหตุที่ทำให้น้ำหรือในความเป็นจริงคือเลือดข้นขึ้น มาจากการเติมน้ำตาลลงไปในน้ำ ปั๊มหรือหัวใจจึงต้องทำงานหนักขึ้น ส่งผลให้ท่อน้ำหรือหลอดเลือดเองก็ต้องรับแรงดันที่มากขึ้นด้วย นี่จึงเป็นสาเหตุที่คนเป็นโรคเบาหวานมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนกับอวัยะต่างๆ เพิ่มขึ้นได้
คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิด ว่าโรคเบาหวานมีสาเหตุหลักมาจากการพฤติกรรมติดรสชาติหวาน ทั้งที่จริงๆ แล้ว ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานนั้นมีอยู่หลายข้อ ส่วนหนึ่งก็มาจากเรื่องของพันธุกรรมที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น จนมาถึงเรื่องของการใช้ชีวิตประจำวันที่เรานั้นอาจไม่ทันได้ให้ความสำคัญหรือหลงลืมไป
อย่างแรกคือเรื่องของพันธุกรรม คนที่มีครอบครัวสายตรง ไม่ว่าจะเป็น พ่อ แม่ พี่ น้องที่เป็นท้องเดียวกันป่วยเป็นโรคเบาหวาน เราที่เป็นรุ่นต่อมาก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานได้สูงกว่าคนทั่วๆ ไป
ผู้ที่เป็นโรคอ้วน มีน้ำหนักตัวเกิน และไม่ออกกำลังกายหรือออกกำลังกายไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากการออกกำลังกายจะช่วยทำให้เราสามารถควบคุมน้ำหนักได้ อีกทั้งยังช่วยให้เซลล์ต่างๆ ไวต่อการนำน้ำตาลไปใช้ รวมถึงช่วยในเรื่องของการเผาผลาญน้ำตาลในเลือดได้ดีอีกด้วย
หมอนิลเล่าว่า อีกประมาณ 20 ปี คนจะเป็นเบาหวานมากขึ้น ตอนนี้เงินสำหรับดูแลผู้ป่วยของโรงพยาบาลเกือบครึ่ง ถูกใช้ไปกับการดูแลรักษาผู้ป่วยเบาหวาน ตัวเบาหวานเองไม่เท่าไหร่ แต่ผลข้างเคียงและโรคอื่นๆ ที่ตามมา เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด เส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบ และโรคไตวาย ทำให้ความร้ายแรงของโรคนี้มีขึ้นทวีคูณ
“ถ้าเราไม่ป้องกันตั้งแต่วันนี้ การใช้จ่ายด้านสาธารณสุขจะหมดไปกับเบาหวานเยอะ จนอาจทำให้เกิดทำการล้มละลายทางระบบสุขภาพ เพราะต้องแบกรับการดูแลโรคเรื้อรังแบบนี้ที่จริงๆ แล้วสามารถป้องกันได้ โดยบทบาทของแพทย์มีทั้งการส่งเสริมป้องกันให้ผู้ที่ยังไม่เป็นโรค (Primary Prevention) และดูแลรักษาผู้ป่วยโรคให้มีภาวะแทรกซ้อนน้อยที่สุด (Secondary Prevention)” หมอนิลอธิบาย
โรคเรื้อรังเหล่านี้ การป้องกันสามารถปลูกฝังได้ตั้งแต่เด็ก ตอนนี้หมอนิลกำลังทำโครงการที่ชื่อว่า ‘โรงเรียนชีวิต’ เป็นการสร้างหลักสูตรการศึกษาทางเลือกที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ โดยการนำ EF เข้าไปประยุกต์ใช้ในระบบการศึกษาสำหรับเด็กเล็ก และ Health Literacy ไปประยุกต์กับการศึกษาสำหรับเด็กโต หลักสูตรนี้ราคาไม่แพง ทำให้สามารถนำไปใช้ในโรงเรียนทั่วๆ ไป หรือโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการได้ ต่างจากหลักสูตรการศึกษาทางเลือกทั่วไปที่มักอยู่ในโรงเรียนเอกชนราคาแพง
ทักษะ EF (Executive Functions) คือ กระบวนการทางความคิดในส่วน สมองส่วนหน้าที่เกี่ยวข้องกับความคิด ความรู้สึก การกระทำ เป็นความสามารถของสมองที่ใช้บริหารจัดการชีวิตในเรื่องต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้สามารถตั้งเป้าหมายในชีวิต รู้จักการวางแผน สามารถยั้งคิด ไตร่ตรอง ควบคุมอารมณ์ได้ ยืดหยุ่นความคิดเป็น ซึ่งทักษะเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องใช้และมีผลต่อความสำเร็จในชีวิต ทั้งการงาน การเรียน และการใช้ชีวิต เป็นคุณสมบัติที่มนุษย์มี แต่สัตว์อื่นไม่มี
Health Literacy หรือความฉลาดทางสุขภาพ หมายถึงความสามารถและทักษะในการเข้าถึงข้อมูล ความรู้ ความเข้าใจเพื่อวิเคราะห์ ประเมินการปฏิบัติและจัดการตนเอง รวมทั้งสามารถชี้แนะเรื่องสุขภาพส่วนบุคคล ครอบครัวและชุมชนเพื่อสุขภาพที่ดี
“โรงเรียนจะรู้ว่าอาหารอะไรควรขาย ในขณะที่เด็กเองก็จะรู้ว่าควรเลือกกินอาหารชนิดใด ใน ‘โรงเรียนชีวิต’ มีกิจกรรมในหลักสูตรการศึกษาที่เรียกว่า Project Learning คือให้เด็กได้ไปทำความเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ด้วยตัวเอง อย่างการทำความรู้จักโรคเรื้อรังอับดับต้นของประเทศไทยอย่างโรคเบาหวาน เด็กๆ ก็ได้ลงไปพูดคุยสัมภาษณ์ผู้ป่วยโรคเบาหวานจริงๆ”
หมอนิลอธิบายต่อถึงความสำคัญของความยั่งยืนทางอาหาร เพราะต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ อาหารเพื่อสุขภาพมีราคาแพงกว่าท้องตลาด คนที่เข้าถึงได้คือคนมีเงิน เพราะประเทศเราไม่มีระบบที่สนับสนุนความยั่งยืนทางอาหาร
“โรคเรื้อรังจะน้อยลง สุขภาพของผู้คนจะดีขึ้น หากการกินมีประสิทธิภาพ ดังนั้นถ้าถ้าเราสามารถหาข้าวกล้องหรือพืชผักผลไม้ปลอดภัยกินได้ในราคาที่ไม่แพงนัก หรือมอบองค์ความรู้ให้ชาวบ้านที่ไม่มีทุนทรัพย์สามารถปลูกหรือจัดการกับวัตถุดิบได้เอง จะช่วยทำให้ความยั่งยืนทางอาหารของประเทศไทยมีมากขึ้นได้จากจุดเล็กๆ”
ในการรักษาคนไข้ นอกจากการรักษาตามอาการ จ่ายยาเพื่อบรรเทาแล้ว อีกหนึ่งการรักษาหลักที่หมอนิลใช้คือ MI (Motivational Interviewing) เป็นการพูดคุยและทำความเข้าใจคนไข้อย่างลึกซึ้ง เพื่อหาจุดที่จะทำให้เขาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตได้ เขาเกิดแรงบันดาลใจบางอย่างในการต่อสู้เพื่อดำรงชีวิตอยู่ต่อไปอย่างแข็งแรง ให้เขารักชีวิตของตัวเอง มันต้องเริ่มที่วิธีคิดซึ่งจะสะท้อนมาสู่วิถีการใช้ชีวิตที่เหมาะสม
เช่น คุณลุงคนหนึ่งมีหลานที่กำลังจะเรียนจบ เขาอยากอยู่ให้ถึงวันนั้นเพื่อไปงานรับปริญญาของหลาน แต่ถ้าวันนี้คุณลุงไม่ดูแลตัวเอง เป็นเบาหวาน ความดัน แล้วยังไตวายอีก อยู่ได้ไม่กี่ปีแน่ๆ คุณลุงก็จะไม่ได้ไปงานรับปริญญาหลาน
หมอนิลอธิบายว่า “สำหรับชาวบ้าน บางทีความรู้ไม่สำคัญเท่าความรู้สึก คนไข้บางคนรู้อยู่แล้วว่าไม่ควรกินอะไรหรือควรใช้ชีวิตยังไง หมอทุกคนพร่ำบอกความรู้เหล่านี้ ทุกครั้งที่คนไข้มาโรงพยาบาลอยู่แล้ว แต่เขาจะไม่เปลี่ยน หากเขาไม่รู้สึกว่าอยากจะเปลี่ยน หมอจึงต้องทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจด้วยการนำเหตุผลในการมีชีวิตอยู่ มาเป็นแรงขับเคลื่อนในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสุขภาพของเขาเอง”
06
ความสุขมาพร้อมสุขภาพที่ดี
จนถึงทุกวันนี้โรงพยาบาลที่เล็กที่สุดแห่งนี้สร้างเสร็จและเปิดให้คนเกาะยาวใหญ่เข้าใช้บริการมาแล้วกว่า 6 ปี มีหมอเวชศาสตร์ครอบครัว 1 คน คือหมอนิล หมอฟัน และหมอแผนไทย อย่างละ 1 คน และพยาบาล 6 คน ระบบสาธารณสุขพัฒนาขึ้นมากจากเมื่อ 20 ปีก่อน ตอนที่หมอนิลไปเกาะยาวใหญ่ครั้งแรก เพราะระบบสุขภาพชุมชนถูกวางรากฐานไว้อย่างหนาแน่นแข็งแรง ผ่านการประยุกต์ภูมิปัญญารักษาพื้นบ้านกับความเป็นมุสลิม
หมอนิลบอกว่า “บนเกาะยาวใหญ่มีการทำกองทุนเพื่อช่วยผู้ป่วยที่ไม่มีเงิน โดยการเก็บเงินบ้านละ 100 บาท ทำเป็นกองทุนประกันว่าถ้าปีนี้บ้านนี้เจ็บป่วยฉุกเฉินต้องผ่าตัด ก็มั่นใจได้ว่ามีเรือที่จะพาผู้ป่วยไปส่งโรงพยาบาลบนฝั่งได้ทันท่วงที เรือเหมาเที่ยวละเป็นหมื่นบาท บ้านของผู้ป่วยก็ไม่ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนั้นทั้งหมด
“แต่ถ้าปีนั้นบ้านเราไม่เจ็บป่วยอะไร ก็ถือว่าเราทำบุญให้คนอื่น ซึ่งกระบวนการทั้งหมด ชาวบ้านเป็นผู้ตกลงหารือกันเองว่าจะเก็บเงินบ้านละเท่าไหร่ และถ้าหากเงินไม่พอ ชาวบ้านก็จะจัดงานการกุศลหาเงินเพิ่ม ขายขนมบ้าบิ่นพื้นบ้านเพื่อระดมทุน แบบนี้แหละที่เรียกว่าระบบสุขภาพชุมชนที่แข็งแรง”
หมอนิลเล่าทิ้งท้ายว่า “ผมเคยไปถามชาวบ้านว่า ความสุขของคนเกาะยาวคืออะไร คนเฒ่าคนแก่บอกว่า อยู่ที่การได้ละหมาดและอ่านหนังสือทุกวัน”
คำตอบเรียบง่ายแต่เต็มไปด้วยรายละเอียดในแง่การส่งเสริมสุขภาพ เพื่อคงความสุขของผู้คนให้ยั่งยืนต่อไปให้นานที่สุด
คนแก่จะสามารถทำละหมาดได้ การทรงตัวและหัวเข่าต้องดี เพื่อให้อ่านหนังสือได้แน่นอนว่าสายตาต้องดี และถ้าเขาอ่านหนังสือได้เรื่อยๆ เขาก็จะไม่เป็นสมองเสื่อม เพราะใช้สมองและความรู้สึกนึกคิดอยู่ตลอดเวลา
ไม่ได้เป็นการบังคับให้ทำ แต่ชาวบ้านเขาทำด้วยจิตวิญญาณ เป็นการใส่เรื่องการแพทย์เข้าไปจากความสุขของคนในชุมชน
เมื่อเราดึงชุมชนเข้ามาเป็นส่วนร่วม โรงพยาบาลก็จะเติบโตอย่างกลมกลืนไปกับชุมชน
ขอบคุณภาพจาก CROSSs