The Cloud x The Hero Season3

ท่ามกลางเสียงหัวเราะของเด็กๆ ฉันได้พบ กี้-ณัชชา โรจน์วิโรจน์ เจ้าของ ‘BLIX POP’ ของเล่นตัวต่อขนาดยักษ์สำหรับเด็ก มันเหมาะจะให้เด็กๆ ได้ทดลองออกแบบ โยกย้าย และปีนป่าย เด็กๆ จะสนุกกับของเล่นชุดนี้ได้ ถึงแม้ว่าจะกำลังหลับตาอยู่ก็ตาม

ธุรกิจนี้เริ่มต้นในฐานะวิทยานิพนธ์ปริญญาโทของณัชชาที่ Academy of Art University ในซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเธอได้แรงบันดาลใจจากโรงเรียนสอนคนตาบอดแห่งหนึ่ง เธอจึงอยากทำของเล่นสำหรับเด็กอายุ 4 – 8 ขวบ ไม่ใช่แค่สำหรับเด็กปกติหรือเด็กตาบอด แต่เป็นของเล่นของเด็กทุกคน

หลังจากศึกษาหาข้อมูลอย่างหนักหน่วง ณัชชาพัฒนางานออกมาเป็นบล็อก 4 แบบ ประกอบด้วยฐาน ตัวเสริม ขอนไม้ และหญ้า แม้หน้าตาจะเรียบง่าย แต่นำมาพลิกแพลงเล่นได้อย่างไร้ขีดจำกัด รวมถึงช่วยพัฒนาศักยภาพโดยไม่ฝืนนิสัยเด็ก แถมยังเป็นของเล่นที่ทำให้คนหลายคนมามีปฏิสัมพันธ์กันด้วย

ปี พ.ศ. 2561 นี้ BLIX POP เพิ่งได้รับรางวัลจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาโลก และรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ รวมถึงรางวัล DEmark จากกรมการค้าระหว่างประเทศด้วย

ทำไมของเล่นชิ้นนี้ถึงกวาดรางวัลมาได้มากมาย ต้องลองไปดูกัน

จุดเริ่มต้น

BLIX POP, ธุรกิจของเล่น, กี้ ณัชชา โรจน์วิโรจน์

ณัชชาเรียนปริญญาตรีด้านการออกแบบภายใน และปริญญาโทด้านการออกแบบอุตสาหกรรมในต่างประเทศ เธอชื่นชอบงานออกแบบ สนใจงานออกแบบทุกประเภท และเคยมีความฝันว่าอยากทำเฟอร์นิเจอร์ไม้สวยเก๋

จนกระทั่งวันหนึ่ง เมื่อเธอมีช่วงว่างจากการศึกษาและเดินทางกลับมาไทย แม่ของเธอชวนเธอไปเป็นอาสาสมัครสอนเด็กในโรงเรียนสอนคนตาบอด เธอจึงได้พบโลกอีกใบที่แตกต่างจากโลกใบเดิมซึ่งเธอเคยชินมาตลอด

ช่วงแรก เธอรู้สึกกลัวและไม่แน่ใจ เพราะเด็กตาบอดแยกย่อยออกเป็นหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มมองเห็นมากน้อยต่างกัน เธอต้องปรับเปลี่ยนทั้งวิธีการเข้าหาและการพูดคุยเพื่อให้เด็กๆ เข้าใจ แต่เมื่อเวลาผ่านไป เธอสังเกตว่าพวกเขาก็ทำสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้เช่นเดียวกับคนตาดีอย่างเธอ

ประสบการณ์ครั้งนั้นสร้างความประทับใจให้เธออย่างมาก ตลอดการพูดคุยเธอมักย้ำออกมาบ่อยๆ ว่าเด็กเหล่านี้เป็นเด็กพิเศษ ไม่ได้เหนือหรือต่ำกว่าเด็กกลุ่มอื่นๆ แต่มีความพิเศษเฉพาะตัวแตกต่างไป

ในอีกด้านหนึ่ง เธอมองเห็นของที่อยู่ในสถาบันแห่งนั้นแล้วพบว่า แม้จะมีคนนำของเล่นมาบริจาค แต่แทบไม่มีของเล่นที่ตอบโจทย์ด้านพัฒนาการเด็ก ปัญหาที่ตามมาคือ เด็กตาบอดจะพลาดโอกาสชีวิตหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องการออกไปข้างนอก ซึ่งมีสิ่งกีดขวาง พื้นลาดเอียง และผิวสัมผัสหลายแบบ ที่รวมกันแล้วอาจอันตรายหากมองไม่เห็น

“ไหนๆ เราเรียนออกแบบแล้ว ลองออกแบบของเล่นให้เด็กที่พิเศษดีกว่ามั้ย” ณัชชาเล่าว่า โจทย์ของเธอเริ่มมาจากจุดนี้ ในแง่หนึ่ง สิ่งที่ทำให้เธอสนใจคือความท้าทาย เพราะการออกแบบสำหรับเด็กก็ยากอยู่แล้ว เมื่อเป็นเด็กกลุ่มนี้ยิ่งยากมากเข้าไปอีก

เหตุการณ์ในวันนั้นจึงเปลี่ยนความคิดความฝันด้านการออกแบบของณัชชาอย่างสิ้นเชิง กลายมาเป็นนักออกแบบเพื่อเด็กๆ ดังทุกวันนี้

รับรู้โลกต่างกัน เลยต้องการเครื่องมือต่างกัน

“ถ้ามีของเล่นกับเครื่องมือมาให้เด็ก เด็กก็คงเลือกของเล่น” ณัชชาชี้ชวนให้เรานึกถึงบันไดสำหรับทำกายภาพบำบัด แม้จะดีต่อสุขภาพ แต่ใครจะอยากเดินขึ้นลงบันไดเฉยๆ วนไปวนมาอย่างไร้จุดหมาย จะดีกว่าไหมถ้าเราสร้างของเล่นที่นอกจากจะสนุกแล้ว ยังช่วยทำกายภาพบำบัดในรูปแบบคล้ายกันไปในตัว

ภาพฝันของเธอคือของเล่นที่คล้ายการจำลองโลกภายนอกในสภาวะที่ควบคุมได้ การมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งนี้คล้ายการลองผิดลองถูก ฝึกใช้ชีวิตประจำวันไปในตัว เมื่อเด็กๆ เติบโตขึ้นและออกไปเผชิญโลกที่ปลอดภัยน้อยลง พวกเขาจะได้เรียนรู้ที่จะอยู่ได้ง่ายขึ้น

“เด็กกลุ่มพิเศษแทบไม่มีโอกาสออกไปเล่นข้างนอกเลย เพราะคนดูแลมีน้อยกว่าเด็ก เขาไม่สามารถดูแลเด็กทั้งหมดพร้อมกันได้” ณัชชาอธิบายที่มาของการสร้างสนามเด็กเล่นในร่ม

ความคิดดังกล่าวก่อตัวขึ้นมาเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ ซึ่งโดนอาจารย์ที่ปรึกษาถามกลับทันทีว่า เธอจะทำให้สำเร็จได้อย่างไร ทั้งที่ไม่มีความรู้เรื่องเด็กตาบอดเลย

“ตอนนี้เธอก็ทำงานอย่างตาบอดอยู่เหมือนกัน” อาจารย์บอกกับเธอ ทำให้นักออกแบบไฟแรงต้องไปศึกษาอย่างหนักเกี่ยวกับวิธีการเข้าใจโลกของคนตาบอด ว่าแตกต่างจากวิธีที่คนตาดีอย่างเธอใช้อย่างไรบ้าง เธอใช้วิธีเข้าไปขลุกตัวอยู่กับเด็กๆ และลองให้พวกเขาทำสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวันเพื่อสังเกตพฤติกรรม

ณัชชาพบว่า เด็กทั่วไปเริ่มเล่นของเล่นจากการมองสิ่งที่น่าสนใจ แล้วเดินไปหยิบมาลองเล่น ในขณะที่เด็กตาบอดตัดสินใจจากการลองสัมผัส หากสัมผัสแล้วเข้าใจได้เร็ว พวกเขาจะเริ่มติดใจ การออกแบบของเล่นให้เด็กกลุ่มนี้เล่นด้วยได้จึงต้องทำตามสองเงื่อนไขคือ มีสัมผัสที่ดี และมีกลไกที่ไม่ซับซ้อน

ณัชชายังเพิ่มเงื่อนไขให้ตนเองอีกข้อว่า อยากให้ของเล่นชิ้นนี้สร้างความสนุกให้เด็กได้ทุกกลุ่ม รวมถึงเด็กพิเศษประเภทอื่นๆ เช่น เด็กออทิสติก จึงยิ่งต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและสัมผัสที่น่าไว้ใจ

BLIX POP, ธุรกิจของเล่น, กี้ ณัชชา โรจน์วิโรจน์ BLIX POP, ธุรกิจของเล่น, กี้ ณัชชา โรจน์วิโรจน์

ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับผู้ใช้

การออกแบบของณัชชาเต็มไปด้วยความเอาใจใส่อย่างลึกซึ้งในทุกแง่

เป้าหมายของ BLIX POP คือให้เด็กๆ เล่นสนุกอย่างอิสระ วัสดุจึงต้องเน้นความปลอดภัย เธอเลือกใช้โฟมปลอดสารพิษ แม้เด็กจะกัดหรือเอาเข้าปากก็ไม่อันตราย แถมชิ้นยังใหญ่จึงไม่ต้องกลัวเด็กกลืน ขณะเดียวกัน ก็ยืดหยุ่นกันกระแทก หากน้องๆ ล้มใส่หรือทำตกใส่เท้าก็จะเจ็บไม่เท่าวัสดุอื่นๆ ณัชชาตระหนักดีว่าโฟมมีปัญหาด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เธอเองก็กำลังคิดวิธีรีไซเคิลที่เหมาะสมอยู่

รูปทรงและสัมผัสของบล็อกทั้ง 4 แบบเป็นทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพราะมั่นคงที่สุด ผู้ออกแบบท้าให้ฉันลองขึ้นไปยืนหลับตาอยู่บนบล็อก (ใช่ เจ้าบล็อกรับน้ำหนักได้มาก ผู้ใหญ่ยืนเหยียบก็ไม่ยุบ) ความเท่ากันทุกด้านของจัตุรัสทำให้รับรู้ได้ทันที แม้มองไม่เห็นก็รู้สึกปลอดภัย บล็อกมีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักพอสมควร เพื่อให้เด็กได้ออกกำลังเวลาโยกย้าย แต่ไม่หนักเกินจนยกไม่ไหว ด้วยน้ำหนักเท่านี้ เด็กๆ จะยกบล็อกได้พร้อมกันประมาณ 3 บล็อก

เรื่องผิวสัมผัส ณัชชาให้เด็กๆ ตาบอดเลือกเองว่าถูกใจสัมผัสแบบไหนที่สุด จึงได้ลายขอนไม้กับพื้นหญ้าออกมา ซึ่งเป็นสัมผัสที่ดีเพราะใกล้เคียงกับธรรมชาติภายนอก หากเด็กกลุ่มนี้ออกไปเล่นด้านนอกตั้งแต่แรกอาจอันตรายเกินไป การเริ่มจากโลกของ BLIX POP จึงอาจช่วยลดช่องว่างระหว่างโลกปลอดภัยกับโลกจริงได้

กลไกในการต่อบล็อกเน้นความเรียบง่าย แต่ละบล็อกมีรูและส่วนยื่นเพื่อให้ต่อซ้อนกันได้โดยไม่ต้องใช้ความพยายามมาก ส่วนตัวฐานสีน้ำเงินมีตัวช่วยในการต่อด้านข้าง คือมีแม่เหล็กช่วยให้ฐานยึดติดกัน รวมถึงมีรูและตุ่มนูนให้จับว่าด้านไหนต้องต่อกับด้านไหน

BLIX POP, ธุรกิจของเล่น, กี้ ณัชชา โรจน์วิโรจน์

BLIX POP จะช่วยเด็กๆ เรื่องความคิดสร้างสรรค์ว่าจะต่อยังไงให้สนุก ต่อเป็นทรงแบบไหนได้บ้าง แล้วเมื่อต่อแล้วบล็อกก็จะเกิดมิติสูงต่ำ ช่วยการเรียนรู้เกี่ยวกับมิติสัมพันธ์ และการฝึกเดินทรงตัว เป็นการพัฒนาทั้งสมองและร่างกายในด้านที่เหมาะกับเด็กๆ กำลังดี

ทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดจากการออกแบบเพียงครั้งเดียวจบ แต่ณัชชาได้ทดลองทำ ทดลองใช้ และแก้ไขปรับเปลี่ยนมาหลายครั้ง จนกลายเป็น BLIX POP ดังที่เห็น และในระหว่างทางการลองผิดลองถูก ณัชชาก็ได้เข้าใจเด็กๆ กลุ่มนี้มากขึ้นอีกด้วย

เปลี่ยนงานวิจัยให้กลายเป็นธุรกิจ

เมื่อมีสิ่งของที่อยากให้คนใช้แล้ว คงน่าเสียดายหากไม่ถึงมือคนใช้จริง แม้บล็อกเหล่านี้จะมีกลุ่มเป้าหมายที่กว้างอยู่แล้ว ต่อให้เป็นโรงเรียนธรรมดา ไม่ใช่โรงเรียนสำหรับเด็กตาบอด ก็ซื้อไปใช้ได้ แต่ปัญหาคือ ไม่มีทุนตั้งต้น การนำต้นแบบชิ้นเดียวไปผลิตเพิ่มโดยไม่รู้อนาคตเป็นเรื่องเสี่ยงเกินไป

ณัชชาจึงระดมทุนเพื่อแจกของเล่นให้โรงเรียนคนตาบอด 16 โรงเรียนทั่วประเทศ จนได้เงินเพียงพอผลิต ในระยะนี้เป้าหมายของเธอไม่ใช่กำไร แต่เป็นเสียงตอบรับของผู้ใช้ และการเป็นที่รู้จักในวงการของกลุ่มเป้าหมายอีกด้วย

หลังจากโครงการครั้งนั้น ก็เริ่มมีคนกลุ่มอื่นรับรู้และสนใจงานของเธอมากขึ้น “ตอนแรกว่าจะจบโครงการแล้วจะไปทำงานอย่างอื่นแล้วนะ แต่มันก็ไม่จบแฮะ” ณัชชาพูดขำๆ ก่อนเล่าต่อว่า ผู้คนที่ติดต่อเข้ามาทำให้เธอต้องเริ่มคิดโมเดลธุรกิจใหม่ โดยเลือกใช้การขายแบบตอบโจทย์ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ของบริษัทต่างๆ เสนอเป็นบริการครบวงจร คือมีตั้งแต่ชิ้นของเล่นสำหรับให้บริจาค เรื่อยไปจนถึงรายงานตอบกลับถึงผลกระทบของการบริจาค ซึ่งตอบโจทย์กับทางบริษัททั้งหลาย และทาง BLIX POP เองก็พอมีรายได้ในระดับที่อยู่ได้

BLIX POP, ธุรกิจของเล่น, กี้ ณัชชา โรจน์วิโรจน์

ล่าสุด โมเดลได้ใช้จริงกับศูนย์การศึกษาพิเศษทั่วประเทศซึ่งมีประจำอยู่ทุกจังหวัด โดยมีผู้สนับสนุนเป็นองค์กร มูลนิธิ กองทุน และบุคคลทั่วไป จากการผลิตแค่ 10 กว่าชุด จึงขยายไปเป็นเกือบร้อย และศูนย์เหล่านี้ก็ดูแลเด็กพิเศษทั้ง 9 ด้าน ไม่ใช่เพียงเด็กตาบอด กลุ่มผู้ใช้จึงขยายกว้างออกไปอีก และศูนย์เหล่านี้มักจะมีกิจกรรมข้ามศูนย์ เจ้าบล็อก 4 สีจึงขยายจากการแค่เชื่อมต่อกันเอง ไปสู่การเชื่อมต่อจนเกิดความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียน ทั้งกับเด็กและครู พวกเขาได้คุยกัน แลกเปลี่ยนวิธีการใช้เครื่องเล่นพวกนี้ รวมถึงมาร่วมเล่นด้วยกัน

ธุรกิจของ BLIX POP ไม่ได้จบเพียงแค่ในประเทศเท่านั้น ยังขยายไปถึงประเทศอื่นๆ ด้วย โดยเน้นการจัดจำหน่ายกระจายไปเป็นหลัก ตัวแทนจากญี่ปุ่นที่เข้ามาติดต่อ ก็จะเป็นการทำสัญญาเพื่อให้เขานำของเล่นไปขายเอง

ถึงจะขยายไปมาก สิ่งที่ณัชชาให้ความสำคัญก็ยังมั่นคงอยู่ที่เรื่องประสบการณ์จริงของผู้ใช้ เธอเล่าให้ฟังถึงภาพที่ประทับใจจากการออกร้านตามอีเวนต์ต่างๆ ทำให้เธอได้เห็นคุณพ่อมาเล่นต่อบล็อกกับลูก เธอเดาว่า เพราะเป็นของเล่นที่ผู้ชายโตแล้วก็เล่นได้โดยไม่เขินเท่าไร พวกเขาจึงดูมีความสุขมาก เพราะเจอของเล่นที่เล่นกับลูกๆ ได้แล้ว

ผ่านมาร่วม 2 ปี ธุรกิจขยายขนาดอย่างรวดเร็ว จนทีมงานต้องทำงานกันหัวหมุน แต่ในการทำธุรกิจทั้งหมดนี้ ความฝันของณัชชาในฐานะนักออกแบบก็ยังคงอยู่ หากวันไหนธุรกิจเริ่มมั่นคงกว่านี้ ณัชชายังอยากกลับไปสวมหมวกนักออกแบบอีก จะเป็นการคิดตัวต่อที่มีรูปทรงอื่น ผิวสัมผัสแบบอื่น ของเล่นที่ใช้วัสดุประเภทอื่น รูปแบบการเล่นอื่น หรืออะไรก็ตาม ตราบใดที่เธอยังรู้สึกตื่นเต้นกับการออกแบบสิ่งใหม่ๆ อยู่ ก็ยังมีความเป็นไปได้อีกมากมาย

ณัชชามองว่า BLIX POP ยังเป็นของเล่นที่ไม่ถึงกับครอบคลุมเด็ก ‘ทุกกลุ่ม’ เธออยากศึกษาและพัฒนาของเล่นเพื่อรวมคนกลุ่มอื่นเข้ามาด้วย บันไดขั้นต่อไปจึงน่าจะเป็นการร่วมมือกับกลุ่มเด็กที่ป่วยเป็นโรคต่างๆ เช่น ร่วมมือกับสถาบันเด็กโรคมะเร็ง เป็นต้น

จากจุดเริ่มต้นง่ายๆ ที่ไม่เห็นว่ามีของเล่นสำหรับเด็กตาบอด เธอก็ลงมือทำให้มันเกิดขึ้น ตอนนี้เธอก็ขยับเป้าหมายให้ใหญ่ขึ้น เมื่อเธอเห็นว่า ยังไม่มีของเล่นสำหรับเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียมจริงๆ

เธอก็จะทำให้เกิดขึ้นด้วยมือของเธอเอง

ขอบคุณสถานที่ Montesseri Play and Learn

Writer

Avatar

อลิษา ลิ้มไพบูลย์

นักอยากเขียนผู้เรียนปรัชญาเพื่อเยียวยาอาการคิดมาก เวลาว่างใช้ไปกับการร้องคอรัสเล่นๆ แบบจริงจัง และดูหนังอย่างจริงจังไปเล่นๆ

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ