ความเจ็บป่วยกับความเศร้าเป็นของคู่กันรึเปล่า

เช้าวันหนึ่งใน ‘บ้านชีวาศิลป์ มอดินแดง’ อาคารเล็กๆ 2 ชั้นแสนร่มรื่นในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฉันเก็บความคิดนี้ไว้ในใจเมื่อพูดคุยกับ เศก-เศกสันต์ วิชัยพล เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลบ้านชีวาศิลป์ สตูดิโอสีขาวที่ผลิตจิตอาสารุ่นแล้วรุ่นเล่าไปเล่นดนตรี เล่นละคร อ่านนิทาน และทำกิจกรรมสำหรับเด็กๆ ไม่ใช่ในสถานที่ที่เราคุ้นเคยอย่างโรงเรียนหรือห้องสมุด แต่เป็นสถานที่บรรจุผู้ป่วยที่เรียกว่าโรงพยาบาล

Art Center in Medical School คือไอเดียแรกของบ้านชีวาศิลป์ที่รองศาสตราจารย์ นพ.ภพ โกศลารักษ์ ตั้งใจก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2553 โดยเศกสันต์ที่เชี่ยวชาญด้านละครเด็กตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย เป็นผู้ออกแบบกิจกรรม สตูดิโอนี้มีห้องประชุม พื้นที่ทำงานศิลปะ ดนตรี และละคร รวมถึงลานกิจกรรม แต่เด็กๆ ที่ไม่สบายมักไม่สะดวกเดินทางออกนอกสถานที่ บ้านหลังนี้จึงกลายเป็นสถานที่ให้เศกและทีมงานรวมพลและฝึกซ้อม ก่อนเดินทางไปแจกจ่ายความสนุกให้เด็กที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์มีความสุขกับศิลปะ และลืมความเจ็บป่วยไปชั่วคราว

ชีวาศิลป์

“เด็กป่วยหรือไม่ป่วยก็เหมือนกัน เขาไม่กังวลใจถึงวันพรุ่งนี้เหมือนผู้ใหญ่ แต่ใช้ชีวิตอยู่กับวันนี้” ชายชุดขาวเล่าขณะเตรียมตัวไปทำงานศิลปะเยียวยาประจำสัปดาห์ที่ลานเด็กเล่นในสถานพยาบาล “เด็กหลายคนอาจป่วยกาย แต่ไม่ป่วยใจ เราเห็นบ่อยๆ ว่าคนป่วยกาย 1 คน แต่คนทุกข์ใจมีมากกว่าเยอะ ทั้งพ่อแม่พี่น้อง มวลความทุกข์มันมาก ถ้าเราทำให้เด็ก 1 คนมีความสุขได้สัก 4 นาที 4 นาทีนั้นคือความสุขของพ่อแม่ด้วย”

ชาวชีวาศิลป์จะเล่นละครเร่ ละครหน้าเสาน้ำเกลือ เล่านิทานหน้าเตียง แสดงดนตรี นำน้องๆ เต้นรำ ไปจนถึงชวนวาดรูประบายสีในทุกสัปดาห์ เพื่อดึงเอาความบันเทิงที่เด็กๆ โปรดปรานออกมาเป็นยาใจสู้รบกับโรคภัย โดยระมัดระวังการสื่อสารกับเยาวชน เช่น ไม่ถามถึงอาการเจ็บป่วย ไม่พูดจาตัดสินสิ่งที่เด็กๆ เป็นหรือทำ ปล่อยให้พวกเขาจินตนาการและสนุกสนานเต็มที่

“ละครมันก็มาจากความจริง แต่ความจริงเหมือนแผ่นกระดาษที่ซ้อนกันอยู่ แล้วแต่ว่าคุณจะแสดงแง่มุมไหนออกไป คนแสดงต้องจริงใจแล้วขยายความจริงออกมาให้ชัดเจน เราไปเจอเด็ก เราก็เอาความเป็นเด็กออกมาขยายแล้วแสดงเป็นเพื่อนของเขา เราไม่ใช่ผู้ใหญ่ เราเป็นตัวละครที่มีความอ่อนแอเหมือนนายนะ เขาจะได้ระบายความทุกข์ออกมา แล้วทุกคนก็เป็นผู้ร่วมแสดงไปกับเรา”

ชีวาศิลป์

ชีวาศิลป์ ชีวาศิลป์

แม้จะเป็นโครงการในมหาวิทยาลัย แต่สมาชิกชีวาศิลป์มีตั้งแต่อายุ 4 ขวบจนถึง 70 กว่าปี นอกจากนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ผลัดเปลี่ยนเข้ามา ยังมีจิตอาสาทั่วไปที่เป็นผู้ใหญ่ จิตอาสาประจำบ้าน ไปจนถึงผู้ป่วยตัวเล็กๆ ที่ลุกขึ้นมาช่วยเหลือพี่ทำกิจกรรม เปลี่ยนบทบาทจากผู้รับเป็นผู้ให้ในกระบวนการ

“บางทีผู้ใหญ่อาจจะป่วยใจมากกว่าเด็กๆ อีกนะ ยิ่งเติบโตผ่านวันเวลา มีแผลในชีวิตเกิดขึ้น เราอาจรู้สึกเหนื่อย จิตใจขาดพลัง การทำงานนี้ก็ทำให้เราได้รับพลังงานบวกจากเด็ก มันเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันเพราะศิลปะทำงานกับทุกคน”

ใกล้เวลาแสดงเต็มแก่ เราออกเดินทางไปโรงพยาบาลศรีนครินทร์ที่อยู่ใกล้ๆ ทีมงานคว้าเครื่องดนตรีและอุปกรณ์มุ่งหน้าไปตึกใหญ่ เราผ่านฝูงชนมากมาย ทั้งคนไข้และญาติผู้ป่วยที่รอการรักษา บรรยากาศของความเจ็บป่วยลอยอบอวล ความสงสัยผุดขึ้นมาอย่างแรงกล้า ฉันเอ่ยปากถามเศกว่าเขารับมือกับความเศร้าในการทำงานอย่างไร

ชีวาศิลป์ ชีวาศิลป์ ชีวาศิลป์

“การทำงานเพื่อสังคมแปลว่าคุณมีสิ่งที่คุณอยากทำ แล้วมันมีพื้นที่ที่ต้องการให้คุณไปทำ” ผู้ใช้ศิลปะเยียวยาเด็กๆ หยิบหมวกถักสำหรับการแสดงขึ้นมาสวมแล้วตอบต่อ “ถ้าคุณเอาความสงสารเป็นที่ตั้ง วันหนึ่งคุณก็จะหมดความสงสาร จิตอาสาบางคนมาแล้วสงสารเด็ก รู้สึกเวทนาห่อเหี่ยวใจจนไม่กล้ามาอีกเลย แต่เราไม่ค่อยทุกข์ใจกับอาการป่วยของเด็กนะ ในกรณีที่เรารู้ว่าเด็กจะจากเราไปแน่ๆ เราเสียใจ เราร้องไห้ เพราะเราจะไม่ได้เจอเขาอีกแล้ว แต่ไม่มานั่งหดหู่ การเห็นความเจ็บป่วยทำให้เราระลึกได้ว่าวันนึงเราอาจเป็นแบบนี้ก็ได้ พรุ่งนี้เราอาจจะป่วยหรือไม่อยู่บนโลกใบนี้แล้ว แต่ในวันนี้ที่เรายังมีพลัง เราต้องทำงานของเราต่อไป พาเขาเล่น ทำให้เรามีความสุขร่วมกัน

“การทำงานในวงการวิทยาศาสตร์สุขภาพ อยู่กับหมอ กับพยาบาล ทำให้เรารู้ว่าต้องบาลานซ์สุขภาพกายสุขภาพใจ บูรณาการศาสตร์การแพทย์กับเครื่องมือศิลปะที่เรามี หลายคนคิดว่าเรากำลังทำบุญ เปล่า เราไม่ได้สะสมเอาผลบุญชาติหน้า เราเห็นคนป่วยมาแล้ว บุญที่เราได้ตอนนี้คือการสะสมใจให้แข็งแรง เราโชคดีกว่าหลายๆ คนที่ต้องทำงานหาเงินแล้วถึงต้องใช้เวลาว่างช่วยเหลือสังคม รอเลิกงานตอนเย็นค่อยช่วยคนอื่น รอเสาร์อาทิตย์ค่อยไปวัด แต่อาชีพเราคือได้สร้างจิตอาสา พาคนอื่นมาช่วยเหลือสังคมไปด้วยกัน แถมได้โอกาสได้แสดงละครสัปดาห์ละ 3 – 4 ครั้งอีกต่างหาก”

ชีวาศิลป์

เศกตอบยิ้มๆ ขณะที่สมาชิกชีวาศิลป์เตรียมพื้นที่การแสดงบนลานเด็กเล่น ได้เวลาอันสมควรแก่ความสนุกของเด็กๆ แล้ว ฉันถอยหลังออกมามองศิลปะการต่อสู้กับความป่วยไข้ในโรงพยาบาล เอาใจช่วยให้โรคภัยพ่ายแพ้ชีวิตและศิลปะอย่างราบคาบ

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล