ขณะที่ฉันเขียนบทความนี้ ฝนกำลังตก

จริงอยู่ว่านี่หน้าฝน ฝนก็ตกเป็นธรรมดา แต่คุณก็รู้ เหมือนที่ฉันรู้ กรุงเทพฯ ของเราไม่ถูกกับฝนมานานแล้ว และเหตุการณ์น้ำท่วมเมืองครั้งล่าสุดเมื่อไม่นานนี้ก็คงยังหลอนอยู่ในความทรงจำใครหลายคน

ที่จริงแล้ว กรุงเทพฯ ของเราเป็น ‘เมือง 3 น้ำ’ เรามีน้ำจากต้นน้ำเมืองเหนือไหลมากลายเป็นเจ้าพระยา มีน้ำฝน และยังมีน้ำจากทะเลอ่าวไทยที่อยู่แนบชิดเมือง กรุงเทพฯ ก่อร่างขึ้นมาจากตะกอนที่น้ำพัดพา และมีสภาพเป็น Wet Land หรือพื้นที่ชุ่มน้ำมาก่อน เราอยู่กับน้ำมาตลอด แต่เมื่อก่อน อาจเรียกได้ว่าเราปฏิสัมพันธ์กับน้ำอย่างคุ้นเคย ผิดกับเวลานี้ ที่พวกเราล้วนกลัวน้ำและจนปัญญาในการรับมือ

แล้วจะให้ทำยังไง-คุณอาจคิดเป็นครั้งที่ 100 ระหว่างเหม่อมองน้ำเจิ่งฟุตปาธนอกรถ

กชกร วรอาคม

หนึ่งในคำตอบอาจอยู่ในแนวคิดของ SE ใหม่เอี่ยมชื่อ Porous City Network หรือ ‘ปฏิบัติการเมืองพรุน’ ของ กชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิกสาวที่สนใจใช้ความรู้ด้านภูมิสถาปัตย์มาแก้ไขปัญหาเมือง

Porous City Network
Porous City Network

ก่อนหน้านี้ กชกรมีประสบการณ์ออกแบบภูมิสถาปัตย์ดีๆ มามากมาย ตัวอย่างที่คุณน่าจะคุ้นหูคือ อุทยานจุฬาฯ 100 ปี สวนสาธารณะที่เธอก่อตั้งในนามบริษัทภูมิสถาปนิกที่ชื่อ LAND PROCESS ซึ่งเป็นสวนที่นำเสนอนวัตกรรมแก้ไขปัญหาเมืองอย่างน่าสนใจ ทั้งพื้นที่สีเขียวดูดซับน้ำ สวนน้ำฝน สระรองรับน้ำ สวนหลังคาเขียวบนอาคารขนาดใหญ่ที่สุด จนถึงการใช้พื้นที่ชุ่มน้ำประดิษฐ์ และพืชช่วยบำบัดน้ำ จุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอขยับจากบริษัทมาสู่กิจการเพื่อสังคมคือ เมื่อปีที่แล้วกชกรได้เป็น SE ตัวแทนประเทศไทยไปศึกษาดูงานที่สหรัฐอเมริกา (ในฐานะ Asia Foundation Development Fellows ด้านสิ่งแวดล้อม) และพบเจอองค์กรระดับนานาชาติเพื่อสังคมที่สร้างสรรค์มากมาย เมื่อกลับมา เธอจึงเกิดแรงบันดาลใจอยากทำกิจการเพื่อสังคมอย่างเป็นรูปธรรมที่จะช่วยแก้ไขปัญหาเมืองได้ด้วยความสามารถด้านภูมิสภาปัตยกรรมที่หลากหลาย ตอบโจทย์ที่ใหญ่ และไม่ต้องนั่งรอเพียงการแก้ปัญหาเมืองแบบเชิงรับที่ลูกค้ามาจ้างเป็นรายๆ ไป แต่เป็นการแก้ปัญหาเชิงรุก

นี่คือที่มาของโครงการกิจการเพื่อสังคมที่มุ่งรับมือปัญหาน้ำและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ตอนนี้เป็นประเด็นใหญ่ระดับโลก ทางแก้ไขที่เมืองรูพรุนเสนอคือ เปลี่ยนกรุงเทพฯ ที่ตอนนี้ฉาบเต็มด้วยคอนกรีต ให้กลายเป็นเมืองที่ ‘พรุน’ ไปด้วยพื้นที่สีเขียวชอุ่มซึ่งช่วยรับมือการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ และรองรับดูดซับน้ำได้ดีขึ้น 

SE ที่ชวนรับมือน้ำท่วมแสนน่าเบื่อและภูมิอากาศแปรปรวนด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้พรุนทั่วเมือง
รู้จัก Porous City Network SE ที่ชวนรับมือน้ำท่วมแสนน่าเบื่อและภูมิอากาศแปรปรวนด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้พรุนทั่วเมือง

“ปกติคนมักคิดว่าการสร้างพื้นที่สีเขียวคือการสร้างพื้นที่สีเขียวในเมืองขึ้นมาใช่ไหม แต่ที่จริงเรารู้สึกว่า มันคือการไปจับจองพื้นที่ในเมืองไม่ให้ถูกทำเป็นคอนกรีต เพราะเมืองเราเป็นเมืองน้ำ แต่ตอนนี้กรุงเทพฯ เต็มไปด้วยทางออกคอนกรีตแข็ง ไม่ว่าพื้น เขื่อน ถนน ซึ่งเหมือนการแก้ปัญหา แต่เรากำลังทำเมืองให้ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เรากำลังทำให้เมืองตาย หยุดหายใจ แข็งกระด้าง ไม่ยืดหยุ่น และไม่ทนน้ำ เรากำลังลดรูพรุนต่างๆ ของผืนดินเดิม แล้วอุดมันด้วยคอนกรีต เหมือนกำลังทำให้ฟองน้ำสูญเสียรูอากาศ ทำให้ความยืดหยุ่นหายไป” กชกรอธิบาย

โครงการใช้ความรู้เชิงภูมิสถาปัตย์และการออกแบบไปช่วยให้ความรู้ แนะนำ การออกแบบกับองค์กรต่างๆ จนถึงดูแลระหว่างกระบวนการที่จะเปลี่ยนพื้นที่สาธารณะของเมืองให้เป็นพื้นที่สีเขียวหลากหลายแบบ แล้วแต่บริบทและความต้องการของบริเวณ ตั้งแต่สวนสาธารณะ สวนน้ำฝน (rain garden) ป่าในเมือง อาคารรักษ์โลก จนถึงการพลิกฟื้นคูคลองที่เคยเป็นทางน้ำกลับมา แล้วจากนั้น ทีมงานก็จะนำองค์ความรู้จากโครงการต่างๆ มาเผยแพร่สู่สาธารณะต่อไป

และต่างการทำงานเชิงรับแบบบริษัทภูมิสถาปัตย์ที่อาจทำงานกับลูกค้าหรือองค์กร Porous City Network จะเน้นการทำงานเชิงรุกกับผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงชุมชนต่างๆ เพราะกชกรมองว่าขณะที่คนเมืองโดยมากอาจเป็นคนก่อปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่คนรับผลกระทบอาจเป็นชาวบ้านธรรมดาที่อาศัยตามพื้นที่เปราะบางทางสภาพภูมิอากาศ เช่น ริมคลอง ริมทะเล ริมขอบเมือง ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ผลงานแรกของทีมที่ทำร่วมกับนักออกแบบอาสาสมัคร จึงเป็นการพัฒนาพื้นที่รกร้างริมคลองให้ชุมชนลาดพร้าว ที่หลายคนอาจรู้ว่าได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมหนักหนาแค่ไหน

รู้จัก Porous City Network SE ที่ชวนรับมือน้ำท่วมแสนน่าเบื่อและภูมิอากาศแปรปรวนด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้พรุนทั่วเมือง
รู้จัก Porous City Network SE ที่ชวนรับมือน้ำท่วมแสนน่าเบื่อและภูมิอากาศแปรปรวนด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้พรุนทั่วเมือง

“เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องความไม่เท่าเทียมกัน คนที่ได้รับผลกระทบตรงนี้มักเป็นคนที่ไม่ได้เป็นต้นเหตุของสภาวะโลกร้อน เป็นชุมชนที่อยู่ตามคลอง บ้านแทบไม่ได้ติดแอร์ ไม่มีรถยนต์ ไม่ได้เป็นกลุ่มคนหลักในการเผาผลาญหรือปล่อยก๊าซ CO2 ในชั้นบรรยากาศ แต่เขากลับได้รับผลกระทบ” กชกรแจกแจงความคิด

รูพรุนสีเขียวที่จะเกิดขึ้นแบบกระจายตัวในกรุงเทพฯ ไม่ใช่แค่ช่วยเพิ่มให้เมืองยืดหยุ่น รับมือน้ำท่วมและความแปรปรวนของภูมิอากาศได้ แต่ยังช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้คนเมืองด้วยพื้นที่เขียวชอุ่ม และในอนาคต กชกรยังมองว่า โครงการอาจขยับขยายไปเชื่อมโยงกับประเทศและเมืองใกล้เคียงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนเป็นเครือข่ายเมืองพรุนเต็มความหมาย ซึ่งในภาพรวมของสภาพภูมิอากาศแปรปรวน Climate Change เราทั้งภูมิภาคกำลังรับผลกระทบร่วมกัน 

รู้จัก Porous City Network SE ที่ชวนรับมือน้ำท่วมแสนน่าเบื่อและภูมิอากาศแปรปรวนด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้พรุนทั่วเมือง

“เราอาจหยุดยั้งให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองคอนกรีตไม่ได้ แต่จะทำยังไงที่จะสร้างความตระหนักรู้ให้ผู้คนไม่สร้างปัญหาหนักขึ้นหรือแก้ปัญหาที่มีอยู่แล้วได้มากขึ้นเรื่อยๆ เราคิดว่าความพรุนน้ำ การเพิ่มนวัตกรรมพื้นที่สีเขียว พื้นที่สาธารณะที่เกิดประโยชน์ (Productive Public Green Space) น่าจะเป็นทางออกหนึ่ง เพราะยังไงน้ำก็ท่วมกรุงเทพฯ มันเกิดขึ้นมานานตั้งแต่การเริ่มตั้งรกรากแล้ว แต่ความพรุนน้ำจะช่วยให้เราสร้างความยืดหยุ่น อยู่กับน้ำ กับฝน ได้ดีขึ้น และมีพื้นที่สาธารณะที่เพิ่มคุณภาพชีวิตให้คนเมืองด้วย” ภูมิสถาปนิกเล่าถึงสิ่งที่เธอหวัง

หากคุณทำงานในหน่วยงานหรืออยู่ในชุมชนที่มีพื้นที่สาธารณะรกร้าง พื้นที่คอนกรีต และอยากได้พื้นที่สาธารณะสีเขียวที่เกิดประโยชน์อย่างจริงจัง เราขอชวนให้ติดต่อไปปรึกษาหารือกับโครงการ เผื่อจะช่วยให้กรุงเทพฯ ได้มีรูพรุนสีเขียวเพิ่มขึ้นอีก 1 รู

แล้วฝนมาคราวหน้า เราอาจไม่ต้องสิ้นหวังอยู่กับน้ำท่วมเฉียบพลัน ทันใด อย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้

รู้จัก Porous City Network SE ที่ชวนรับมือน้ำท่วมแสนน่าเบื่อและภูมิอากาศแปรปรวนด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้พรุนทั่วเมือง

Facebook | Porous City Network

Writer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan