ฟิล์มกาหลงฟิล์มกาหลง

“เคยมีคนพูดว่าผู้ชายสตูลเป็นได้ 3 อย่าง คือนักฟุตบอล ศิลปิน แล้วก็นักเลง”

มอล-ณัฐกานต์ ตำสำสู อดีตนักฟุตบอลเยาวชนจากจังหวัดสตูลเอ่ยขึ้น ฉันละสายตาจากชั้นหนังสือแน่นเอี้ยด กองนิตยสารไทยยุค 2000 และกล้องวินเทจเรียงรายในห้องสีขาว หันกลับไปมองเจ้าของสำเนียงใต้ มอลเล่าว่าหลังเกิดอาการบาดเจ็บที่ขา ชายหนุ่มล้มความฝันการเป็นนักฟุตบอลอาชีพ และเบนเส้นทางชีวิตสู่ศิลปะ ไม่ใช่ในบ้านเกิดที่อำเภอควนกาหลง ดินแดนฝนตกชุกปลายด้ามขวานทอง ศิลปะของเขาก่อตัวจากอีสาน ในบ้านชั้นเดียวหลังหนึ่งของหมู่บ้านพิมานธานี ชานเมืองขอนแก่น

ฟิล์มกาหลง

ฟิล์มกาหลง

บัณฑิตวารสาร’ มหาสารคาม ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ขอนแก่นกับครอบครัวตั้งแต่เด็ก เขาหลงใหลการถ่ายภาพตั้งแต่สมัยมัธยม เมื่อเรียนจบ มอลลงไปทำงานถ่ายวิดีโอให้นิตยสารที่กรุงเทพฯ อยู่พักใหญ่ ก่อนตัดสินใจย้ายกลับมาอยู่บ้านหลังที่สอง และเปิดแล็บฟิล์มเล็กๆ ในปี ค.ศ. 2015 ภายในบ้านของตัวเอง

“เราอยากกลับมาอยู่ต่างจังหวัด อยู่ที่ไหนก็ได้ แต่ขอให้เรายังอยู่ในโลกของภาพถ่ายอยู่ ไม่เป็นช่างภาพก็ได้ แต่ว่าขอให้ได้ทำงานเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ เรานึกถึงตัวเองว่าเมื่อก่อนอยู่ต่างจังหวัด ต้องส่งฟิล์มไปล้างกรุงเทพฯ อะไรหลายอย่างมันลำบาก คือเราทำงานด้านฟิล์มมาตั้งแต่สมัยเรียน เลยเอาเงินเก็บตัวเองมาลงทุนซื้ออุปกรณ์ล้างฟิล์มทั้งหมด ตอนแรกก็รับล้างให้เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่รู้จักกันก่อน หลังจากนั้นก็เลยตัดสินใจเปิดแล็บขึ้นมา”

“อยากให้ที่นี่มีชื่อของบ้านเกิด ตอนแรกจะตั้งชื่อว่า ‘สตูลดิโอ’ แต่มีวงดนตรีชื่อคล้ายกันไปแล้ว เลยใช้ชื่อ ‘ฟิล์มกาหลง’ จากควนกาหลงแทนแล้วกัน”

ชายหนุ่มพูดยิ้มๆ หลังช่วงตั้งไข่ที่ต้องรับงานฟรีแลนซ์นานาประเภท เพื่อหมุนเงินให้ความฝันอยู่รอด 2 ปีถัดมา การล้างฟิล์มกลายเป็นงานหลักที่พรั่งพรูเข้ามาจากไปรษณีย์ทั่วอีสาน กลักความทรงจำจากอดีต ผลงานจากช่างภาพมืออาชีพ การทดลองยิงของนักเรียนฟิล์มหน้าใหม่ ทุกอย่างค่อยๆ ปรากฏขึ้นช้าๆ ในห้องมืดของฟิล์มกาหลง แล็บที่ดำเนินการเต็มรูปแบบโดยคนเพียงคนเดียว จากปัญหาว่าร้านถ่ายรูปพาณิชย์ทั่วไปในต่างจังหวัดล้มหายตายจากไปกับยุคดิจิทัล พื้นที่อิสระเล็กๆ ที่ทำงานอัดรูปด้วยมือทีละใบ จึงกลายเป็นแหล่งชุมนุมของคนรักการถ่ายภาพด้วยฟิล์มไปโดยปริยาย

ฟิล์มกาหลง

เพราะเชื่อในความจับต้องได้ของฟิล์ม มอลศึกษาเรื่องการอัดภาพและพรินต์ภาพด้วยตนเอง เขาปรึกษาผู้รู้จนแตกฉานในศาสตร์อนาล็อก แล้วลงมือก่ออิฐสร้างอ่างน้ำ ทาสีห้องมืดหลังบ้านมากับมือ รวมถึงรับซื้ออุปกรณ์และน้ำยาต่างๆ จากอีเบย์ ปัจจุบันฟิล์มกาหลงจึงมีบริการจำหน่ายฟิล์มหลากหลาย รับล้างและสแกนฟิล์มสีและขาวดำ อัดขยายภาพขาวดำ ทำ contact sheet ไปจนถึงให้เช่าห้องมืดและเปิดสอนล้างฟิล์มเบื้องต้น ชายหนุ่มทำข้อตกลงกับคาเฟ่ในเมือง และในมหาวิทยาลัยขอนแก่นไว้ที่ละ 1 ร้าน ให้เป็นจุดรับ-ส่งฟิล์มจากลูกค้า ทุกๆ 2 วันเขาจะเข้าเมืองไปรับงานมาทำ และรอรับฟิล์มที่หลั่งไหลจากไปรษณีย์

ฟิล์มกาหลง

ฟิล์มกาหลง

มอลหยิบเนื้อฟิล์มมาล้างอย่างบรรจง ขณะตอบคำถามว่าวัยรุ่นที่เติบโตมาในยุคที่ดิจิทัลอย่างเขาติดใจอะไรในเทคโนโลยีเก่าๆ นี้นัก

“เราเชื่อว่าถ้าฟิล์มจะตายหรือสูญหายจริง มันไปนานแล้ว มันไปตั้งแต่ยุค 2005 หรือ 2006 ที่ดิจิทัลเข้ามา คือมันเหมือนจะตายไปแล้วนะ แต่สุดท้ายประมาณปี ค.ศ. 2010 – 2011 ฟิล์มเริ่มกลับมา เลยเชื่อว่ามันไม่ตายหรอก มันแค่เปลี่ยนบทบาท อีกอย่าง มันมีครั้งหนึ่งช่วงที่เราทำแล็บใหม่ๆ ตอนนั้นทำแล้วรู้สึกว่าทำแล้วไม่ได้อะไรเลย จะเจ๊งอยู่แล้ว นี่กูคิดถูกรึเปล่าที่ลาออกจากงานที่กรุงเทพฯ แล้วกลับมาบ้าน

“วันหนึ่งมีลูกค้าอายุ 50 กว่าคนหนึ่งเอาฟิล์มเล็กๆ 2 แผ่น เก่ามากๆ มาให้เรากู้ให้ เราก็ล้างน้ำยา ซ่อมแซม รีทัช สแกนอะไรใหม่ให้แล้วก็ส่งกลับไป มันเป็นภาพเก่าประมาณปี พ.ศ. 2515 – 2516 วันต่อมาเขาส่งรูปมาให้เราดูในแชต เป็นรูปพี่น้องเขาทั้งหมดอยู่ที่ร้อยเอ็ด ยืนอยู่หน้ารูปที่เราทำให้ ใส่กรอบอย่างดีแขวนไว้ เขาบอกว่าขอบคุณมาก คนในภาพคือพ่อแม่เขาที่ตายหมดแล้ว ลูกหลานไม่มีใครจำหน้าพ่อแม่ปู่ย่าตายายทวดได้เลย มีรูปนี้รูปเดียวที่หลงเหลือและบอกว่าคนพวกนี้เคยมีชีวิตอยู่

ฟิล์มกาหลง

“เราเลยรู้สึกว่าภาพถ่ายมันสำคัญจริงๆ ทำงานนี้ต่อไปดีกว่า เรายังได้อยู่ในจักรวาลของการทำงานภาพถ่าย ถึงจะได้ถ่ายรูปน้อยลงก็จริง แต่เราได้ดูงานของคนอื่น เคยมีคนบอกเราว่าอาชีพล้างฟิล์ม สแกนฟิล์ม เป็นอาชีพที่ไม่ค่อยมีคนทำ ทุกๆ วันเราได้ดูชีวิตคนอื่น เราได้เห็นว่าเขาไปไหนมา แล้วเราเป็นคนที่คอยทำภาพพวกนั้นให้เขา เราเลยรู้สึกว่ามันสำคัญ”

นอกจากเป็นร้านอัดเก็บความทรงจำใส่กระดาษ ฟิล์มกาหลงยังเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้เสรีช่วงต้นปีที่ผ่านมา แล็บจัดอีเวนต์ใหญ่ครั้งแรกเป็นการเวิร์คช็อปทั้งเดือน สัปดาห์แรกดูหนัง สัปดาห์ที่ 2 เชิญอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญด้านฟิล์มมาจัดงาน Talk ในร้านกาแฟ สัปดาห์ที่ 3 พาคนออกไปถ่ายรูป สัปดาห์ที่ 4 พาเข้ามาดูกระบวนการอัด แล้วต้นเดือนถัดมาจึงจัด Exhibition เล็กๆ กับคนในสังคมฟิล์ม

“ตั้งแต่ครั้งนั้นเป็นต้นมา มันทำให้คนที่สนใจสิ่งเดียวกัน แต่ไม่รู้จักกันมาก่อนรวมตัวเป็นกลุ่มใหญ่ ความได้เปรียบของต่างจังหวัดอย่างขอนแก่น คือคนที่ทำงานสร้างสรรค์ คนทำงานสายศิลปะ รู้จักกันเกือบหมด ด้วยความที่เมืองมันไม่ได้ใหญ่เหมือนกรุงเทพฯ มันน้อยแต่มันแน่น ทุกคนเชื่อมโยงหากัน เราได้เป็นสื่อกลางที่ทำให้เขามีทางเลือกในการทำงานมากขึ้น ตั้งแต่เปิดมาได้ช่วยธีสิสเด็กมหาวิทยาลัยขอนแก่นไป 3 งานแล้ว ตอนแรกไม่นึกว่ามันจะมาไกลขนาดนี้ แต่เรารู้สึกว่าตรงนี้มันดี เพราะเราไม่ได้ทำเพื่อจะรวย แต่ทำเพื่อให้ต่างจังหวัดมีพื้นที่ให้คนชอบฟิล์มได้พักพิง”

แผนการในอนาคตของฟิล์มกาหลงมีทั้งการทำ photo zine เป็น free copy รายเดือน และทำนิทรรศการภาพขาวดำ ต่อไปมอลตั้งใจจะปรับพื้นที่อีกห้องของบ้านเป็นสตูดิโอเล็กๆ ให้ฟิล์มกาหลงเติบโต เปิดโอกาสให้ผู้คนมาเยี่ยมเยียนและจัดกิจกรรมมากขึ้น ขยายพื้นที่มั่นคงของคนรักฟิล์มชาวอีสานให้กว้างขึ้นอีก

“ความฝันไกลๆ อีกอย่างคือกลับไปเปิดสาขาสองที่ภาคใต้”

มอลบอกด้วยดวงตาเป็นประกาย ชายหนุ่มอธิบายเพิ่มเติมว่าปัจจุบันภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคอีสานมีร้านรองรับความฝักใฝ่ในศาสตร์ถ่ายภาพเก่าเรียบร้อยแล้ว เป้าหมายของเขาจึงไม่ใช่ขยายกิจการเพื่อแสวงผลกำไรสูงสุด แต่เพื่อฟูมฟักความหลงใหลฟิล์มและถนอมประวัติศาสตร์ความทรงจำของพี่น้องจังหวัดอื่นๆ

FILMGALONG Photo Lab

ฟิล์มกาหลง ฟิล์มกาหลง

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล