ถ้าพูดถึงการทำบุญ หลายคนอาจนึกถึงการใส่บาตรหรือถวายปัจจัยให้วัดไปใช้ตามอัธยาศัย แต่ที่วัดนายโรง วัดเล็กอายุนับร้อยปีที่ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อยกว้างใหญ่ พระครูปลัดสุรัฐ สิริปุญโญ เจ้าอาวาสตั้งใจจะทำให้พื้นที่วัดอุดมด้วยสีเขียวชอุ่มในวาระเข้าพรรษาที่กำลังจะมาถึง

ด้วยสิ่งที่เรียกว่า ‘ผ้าป่าต้นไม้’

ทอดผ้าป่า, ทำบุญ, วัดนายโรง, ต้นไม้

ก่อนจะพูดถึงสิ่งนี้ อาจจะต้องย้อนเล่าหน่อยว่า นี่คือสิ่งที่วัดนายโรงคิดค้นขึ้นร่วมกับโครงการ ‘วัดบันดาลใจ‘ ของสถาบันอาศรมศิลป์ที่มุ่งพลิกฟื้นให้วัดกลับมาเป็นศูนย์รวมจิตใจผู้คน ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างส่วนต่างๆ ทั้งทางสถาปัตยกรรมจนถึงกิจกรรม

แต่ละวัดมีการพลิกฟื้นที่ต่างประเด็นกันไป สำหรับวัดนายโรง เจ้าอาวาสสนใจเรื่องต้นไม้และพื้นที่สีเขียว จึงนำไปสู่การเป็นวัดนำร่องเรื่อง ‘ผ้าป่าต้นไม้’ เชื้อเชิญให้คนร่วมทำบุญด้วยต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในวัดตั้งแต่ลานจอดรถจนถึงลานวัด ใครที่สะดวกจะหิ้วต้นไม้มาก็ได้ ส่วนคนไม่มีเวลาก็ช่วยบริจาคเงินให้วัดจัดหาต้นไม้มาได้เช่นกัน

ทอดผ้าป่า, ทำบุญ, วัดนายโรง, ต้นไม้
ทอดผ้าป่า, ทำบุญ, วัดนายโรง, ต้นไม้

คำว่า วัด เดิมมาจากคำว่า อาราม หรือ รมณียสถาน หมายถึง สถานที่ร่มรื่นเงียบสงบ เราจึงอยากสร้างวัดตามคติทางพุทธศาสนาให้เป็นสถานที่ร่มรื่น สงบ และเป็นระเบียบ” ท่านเจ้าอาวาสอธิบาย ก่อนเอ่ยต่อถึงความตั้งใจที่มากกว่านั้น “ประการที่สอง เราอยากจัดระบบความสัมพันธ์ระหว่างคนอยู่อาศัย สิ่งแวดล้อม และสัตว์ต่างๆ ให้เกื้อกูลกัน ตามหลักพุทธศาสนาเน้นความสมดุล หรือสมตา คือความสมดุลระหว่างคน สัตว์ สิ่งแวดล้อม เราไม่ทำลาย ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ การปลูกต้นไม้ยังเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลที่เน้นเรื่องนี้ด้วย”

แต่ช้าก่อน การทอดผ้าป่านี้ไม่ใช่จะเอาต้นไม้อะไรมาก็ได้ เพราะนี่คือการปลูกต้นไม้ให้วัดอย่างมีเป้าหมาย วัดและทีมงานประชุมกันเพื่อเลือกต้นไม้ทั้งไม้ใหญ่และไม้ประดับ (ในที่ประชุมมีชาวบ้านย่านบางกอกน้อยเข้าร่วมด้วย เพราะย่านนี้เคยเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ไม้ขนาดใหญ่ ชาวบ้านหลายคนจึงมีพื้นความรู้เรื่องพรรณไม้ดีเยี่ยม) วัดนายโรงเน้นต้นไม้ที่มีความสำคัญทางพระพุทธศาสนา ไม้มงคล และพันธุ์ไม้ไทยแท้ เพื่อให้ต่อจากนี้วัดจะได้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของเยาวชน เช่น ต้นมะพลับ ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำตัวพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง และยังมีความผูกพันลึกซึ้งกับวัดนายโรง เพราะยางมะพลับใช้ประกอบการทำเบี้ยแก้ ของขลังของดีประจำวัด

ทอดผ้าป่า, ทำบุญ, วัดนายโรง, ต้นไม้

นอกจากวางแผนเลือกชนิดต้นไม้ที่มีคุณค่าและความสำคัญ คำว่า ‘วางแผน’ ยังกินความไปถึงการจัดการเชิงภูมิสถาปัตยกรรม มีการคำนึงถึงการจัดวางต้นไม้อย่างละเอียด เช่น ต้นไม้ที่ปลูกใกล้อุโบสถก็ต้องไม่สูงลิบจนบดบังทัศนียภาพของวัด

ยังไม่หมดเท่านั้น ผ้าป่าต้นไม้ยังเป็นโครงการที่เจ้าอาวาสรวมพลังผู้คนหลายฝ่ายมาร่วมในการทำบุญด้วยต้นไม้ ตั้งแต่คนทั้งในและนอกพื้นที่ หน่วยงานราชการ โรงเรียนมัธยมวัดนายโรงที่อยู่ใกล้เคียง จนถึงภาคธุรกิจในบริเวณรายรอบ เช่น ห้างพาตาปิ่นเกล้าและห้างเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า ที่ล้วนมีนโยบายทำเพื่อสังคมอยู่แล้ว การรวมพลังย่อมทำให้ขับเคลื่อนโครงการไปได้อย่างมีศักยภาพ และเมื่อทุกคนได้มีส่วนร่วม ความไม่เข้าใจต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการมองจากข้างนอกก็จะบรรเทาลง

ทอดผ้าป่า, ทำบุญ, วัดนายโรง, ต้นไม้

การทอดผ้าป่าต้นไม้ครั้งนี้ได้รับกระแสตอบรับดีเยี่ยม มีคนมาร่วมเป็นเจ้าภาพให้ต้นไม้ใหญ่ รวมถึงหอบต้นไม้ต้นเล็กต้นน้อยมามอบให้มากมายในวันที่ 9 กรกฎาคม 2560 ซึ่งเป็นวันเข้าพรรษาหรือวันที่พระภิกษุสงฆ์จะเริ่มอยู่จำพรรษาที่วัดไปอีก 3 เดือน และเคยเป็นวันต้นไม้แห่งชาติมาก่อน ทางวัดจะเชื้อเชิญทุกคนมาร่วมปลูกต้นไม้เป็นพุทธบูชา ตอนนี้มีคนที่จะเข้าร่วมกว่า 200 คนแล้ว ถ้าใครสนใจก็ขอเชิญมาร่วมใจพลิกฟื้นให้วัดกลับมาเป็นสถานที่เขียวขจีร่มรื่น เหมาะแก่การเป็นศูนย์รวมจิตใจทุกคนอีกครั้ง (ส่วนต้นไม้ที่เหลือจากการปลูกจะส่งต่อให้วัดอื่นๆ)

“ในอนาคต ถ้าวัดเป็นไปตามที่เราวางไว้ จะมีความร่มรื่น สะอาด เป็นระเบียบ ก่อให้เกิดสิ่งที่ภาษาทางพระเรียกว่า ปสาทนีย คือคนเข้ามาเกิดความประทับใจ แล้วคนก็จะใช้สถานที่นี้ทำกิจกรรมเพื่อสังคมและเพื่อพระพุทธศาสนา ถือว่าเป็นการฟื้นฟูบทบาทของวัดที่เคยสูญหายไป เพราะเมื่อก่อนวัดก็เป็นศูนย์กลางของชุมชน” พระครูปลัดสุรัฐกล่าวถึงสิ่งที่คาดหวัง

ทอดผ้าป่า, ทำบุญ, วัดนายโรง, ต้นไม้

เพราะเหตุนี้ ผ้าป่าต้นไม้ของวัดนายโรงจึงไม่ใช่แค่การนำต้นไม้มาปลูกในวัดที่พบได้ทั่วไป แต่คือการปลูกต้นไม้อย่างมีการวางแผนที่ดึงดูดทุกคนมาช่วยกัน และมีเป้าหมายมากกว่าแค่เพิ่มพื้นที่สีเขียว แต่หวังช่วยชุบชีวิตวัดให้กลับสู่บทบาทเดิมที่เคยเป็น (ความน่ารักอีกอย่างที่อยากเล่าคือ ต้นไม้เหล่านี้ไม่ใช่แค่ปลูกแล้วปลูกเลย แต่เด็กๆ จากมัธยมวัดนายโรงจะมาช่วยดูแลและเรียนรู้ต่อไปด้วย)

นับเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่ใช่แค่น่าชื่นชม แต่น่าหยิบยกไปสานต่อ เพื่อให้ต้นไม้และจิตวิญญานของวัดเมืองไทยได้กลับมางอกงามอีกครั้ง

Writer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan