หนังไทยนอกกระแสและหนังนอกฮอลลีวู้ดไม่ใช่ความบันเทิงนอกบ้านที่หาดูได้ง่าย แม้อยู่ในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่มีเพียงโรงหนังอิสระเล็กๆ และสมาคมไม่กี่แห่งที่จัดฉาย หรือไม่หนังก็จะลาโรงไปในเวลาอันสั้น ยิ่งในจังหวัดอื่นๆ ที่ประชากรน้อยกว่า โรงหนังส่วนใหญ่ก็มีตัวเลือกไม่มากนัก หากเปรียบเป็นอาหาร ก็เป็นจานที่คัดมาแล้วว่าอร่อยถูกปาก แต่มีอยู่ไม่กี่เมนู

โจ้-ชลัท ศิริวาณิชย์ นักตัดต่อภาพเคลื่อนไหวชาวโคราชชอบดูหนังหลายประเภท คลังความชอบของเขาหลากหลายเกินโรงหนังท้องถิ่น เมื่อได้ดูหนังทางเลือกดีๆ ในกรุงเทพฯ แล้วอยากแบ่งปันอรรถรสแปลกใหม่ให้คนบ้านเดียวกัน สิ่งที่โจ้ทำคือคัดเลือกรสชาติที่ดีที่สุดกลับไปบ้าน แล้วจัดฉายหนังในนาม Homeflick ให้ชาวนครราชสีมาได้ดูหนังร่วมกัน ตั้งแต่ในร้านกาแฟ โรงหนัง ไปจนถึงดาดฟ้า โดยกระบวนการเกือบทั้งหมดเกิดขึ้นจากคนคนเดียว

Homeflick

โคราชพร้อมแล้ว

จากเด็กชายคลั่งไคล้ภาพยนตร์ที่ถ่อมาดูหนังดูคอนเสิร์ตในกรุงเทพฯ เข้าร้านแว่นวิดีโอตั้งแต่วัยมัธยม ชลัทสะสมความประทับใจต่อความเคลื่อนไหวด้านศิลปะของเมืองหลวงไว้ในใจ ยิ่งดูหนังมากขึ้นเรื่อยๆ เขาค้นพบว่าการดูหนังไม่ใช่แค่เรื่องสนุกผ่อนคลาย แต่ยังเปิดประสบการณ์ความคิดความรู้ใหม่ๆ ได้เห็นโลกหลายใบที่ต่างออกไป การมีพื้นที่ฉายหนังหลากหลายในบ้านเกิดจึงก่อตัวขึ้นเป็นความฝันเล็กๆ

โจ้เข้ามาเรียนหนังที่กรุงเทพฯ จบแล้วก็ทำงานตัดต่อที่กรุงเทพฯ จนกระทั่งเมื่อกลับบ้านไปเห็นความเปลี่ยนแปลง เขามองเห็นความเป็นไปได้ที่จะภาพยนตร์จะเติบโตที่โคราช

“คนที่อยู่โคราชเป็นเด็กๆ ซะเยอะมาก แล้วข้ามไปผู้ใหญ่เลย คนหนุ่มสาวจะไม่ได้อยู่ที่นั่นเท่าไหร่ เพราะมักจะมาเรียนแล้วก็ทำงานที่กรุงเทพฯ พอกลับบ้านเราก็เลยอยากรู้จักกับคนโคราชไว้บ้างว่าใครทำอะไรยังไง หลังจากหายไปเรียน 4 ปี กลับมาสภาพสังคมเปลี่ยนไป เมืองเปลี่ยนไปหมดเลย แล้วมันมีซีนหนึ่งที่จุดประกายเราคือซีนดนตรีอินดี้ โคราชมีร้านเหล้า มีคนชอบดนตรี ชอบฟังเพลงอินดี้เหมือนกัน แล้วเขาก็อยากทำให้อะไรเกิดขึ้น ช่วงแรกๆ เราตื่นเต้นมากว่าแบบ โห เอา Panda Records มาเล่นทั้งค่ายเลย นี่เป็นสิ่งที่ใหม่มากสำหรับโคราช เรากระตือรือร้นมากที่จะรู้จักกับชาวโคราชยุคใหม่

“บางทีเวลากลับโคราชเราก็อยากหาอะไรทำ อยากจะไปงานที่คนที่อยู่ตรงนั้นจริงๆ จัดขึ้นมาเองโดยไม่ต้องเอาคนจากกรุงเทพฯ มาจัดให้ เราเห็นพี่คนนึงที่ทำงานวิทยุเอา ‘แต่เพียงผู้เดียว’ มาลงในโรง EGV โคราช มีคนดูเต็มเลย เราก็แบบ เฮ้ย คืออะไรวะ มันเกิดขึ้นได้เหรอ มันถึงเวลาแล้วเหรอ พร้อมแล้วเหรอโคราช ที่เคยคิดไว้ว่าอยากจัดฉายหนังมันวิ่งกลับมาหมดเลย”

ในปี 2013 โจ้จับมือกับ ‘เฟื่องนคร’ ร้านหนังสืออิสระกึ่งคาเฟ่เพื่อจัดฉายหนังสั้นเล็กๆ ในร้าน เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลสัปดาห์หนังสืออิสระแห่งชาติ ผลปรากฏว่ามีผู้ชมมาดูอย่างอบอุ่น ชายหนุ่มจึงตัดสินใจอุทิศเวลาเพื่อจัดงานฉายหนังให้สม่ำเสมอ เคียงคู่กับความเคลื่อนไหวฝั่งดนตรี

Homeflick Homeflick Homeflick

พาหนังเข้าโรงใหญ่

“ภาพแรกสุดที่คิดคือจัดฉายหนังในร้านไปเรื่อยๆ เพราะเรารู้สึกว่าตัวเราเล็กจ้อย จะให้ไปฉายในโรงหนังได้ยังไง”

โจ้ทบทวนความจำ ในวันที่ Homeflick ฉายหนังในโรงใหญ่มาแล้วหลายครั้ง ทั้งในโรงเครือ EGV และโรงหนังท้องถิ่น Five Stars Multiplex จุดเปลี่ยนของนักฉายหนังให้คนดูหลักสิบมาเป็นโรงหนังที่นั่งหลักร้อย คือหนังเรื่อง ตั้งวง ของ คงเดช จาตุรันต์รัศมี

“พอ ตั้งวง เข้าที่กรุงเทพฯ เราก็รู้สึกว่าเราอยากให้คนโคราชได้ประสบการณ์เดียวกับคนกรุงเทพฯ ที่ได้ดูเรื่องนี้ในจอใหญ่ และได้ดูในช่วงเวลาที่ไม่เลยช่วงเข้าโรงของที่นี่มากเกินไป เลยเริ่มคิดเรื่องเอาเรื่องนี้ไปฉายโรง พอคุยกับผู้จัดการโรงก็เกิดปัญหาถัดมาต้องลงทุนเงินเยอะ เราลองคิดดูว่าถ้าแย่ที่สุดคือไม่มีคนมาดูเลย แล้วเราขาดทุนเท่านี้ เรายินดีไหมที่จะลงเงินก้อนนี้ ซึ่งตอนนั้นบ้ามาก เรายินดี (หัวเราะ)”

นักตัดต่อลงมือโปรโมตอีเวนต์ใหญ่ของตัวเองด้วยการควบทุกตำแหน่งในฝ่ายประชาสัมพันธ์ ทั้งออกแบบโปสเตอร์ ผูกงานกับอีเวนต์ดนตรี และจัดโปรโมชันสารพัด งานแรกผ่านไปโดยมีผู้ชมพอสมควร ตามด้วย Marry is Happy, Marry is Happy ที่โจ้ไปหามิตรสหายมาช่วยวาดโปสเตอร์บนแผ่นไม้เหมือนหนังสมัยก่อน ตามด้วยขอใช้พื้นที่สื่อตามป้ายดิจิทัลในห้าง ผลปรากฏว่ากระแสหนังของ เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ เฟื่องฟูสะพัดในโคราชจนต้องจัดฉายในโรงใหญ่ถึง 2 รอบ

“ตอนนั้น DVD ออกแล้วนะ มีขายเสื้อซึ่งเสื้อก็หมดเกลี้ยงไปแล้ว ก็มีคนใส่เสื้อมาดู มีคนถือ DVD มาถ่ายรูปกับโปสเตอร์ที่แปะหน้าโต๊ะขายตั๋ว ฟีเวอร์มาก มันพิสูจน์ให้เราเห็นว่าของพวกนี้มันเชื่อมต่อกันหมดด้วยโลกโซเชียล ไม่ขาดตอนแบบที่เรารู้สึกตอน ม.ปลาย ถึงไม่มีหนังฉายในจังหวัด เขาก็ยังรู้จักแมรี่อยู่ดีจากการติดตามเพจพี่เต๋อ หรือเพจส่วนกลางอะไรของกรุงเทพฯ ก็ตาม ทำให้เรารู้สึกว่าต่อไปการฉายหนังก็เป็นไปได้ ไม่ยากอีกต่อไปแล้ว ครั้งนี้มันเหมือนตัดริบบิ้น เฮ เริ่มได้แล้ว”

Homeflick Homeflick Homeflick

สร้างระบบนิเวศภาพยนตร์

หลังจากฉายหนังได้สักระยะ Homeflick เรียนรู้และเติบโตไปพร้อมกับวัฒนธรรมหนังกระแสรองในโคราช นักตัดต่ออธิบายว่าวิธีการฉายหนังในโรงใหญ่แบ่งเป็น 2 ประเภท คือติดต่อโรงหนังเพื่อแจ้งเรื่องความต้องการฉาย ทางโรงหนังจะติดต่อค่ายหนังและสายหนังเพื่อตกลงสัญญาก่อนส่งหนังมาให้ และกรณีที่เป็นหนังค่ายเล็กๆ อย่าง ภวังค์รัก (Concrete Clouds) โรงหนังให้เช่าโรงเปล่า ชายหนุ่มเดินทางไปรับไฟล์ที่กรุงเทพฯ ด้วยตนเอง แล้วนั่งประคองกระเป๋าใส่ไฟล์อย่างทะนุถนอมไปตลอดทางกลับนครราชสีมา ส่วนหนังต่างชาติมักได้มาจากพันธมิตรอย่าง Documentary Club จัดฉายตามสถานที่ต่างๆ อย่างร้านเฟื่องนคร, ฉายเรื่อง Oasis ให้ได้อารมณ์ยุคเก่าในโรงภาพยนตร์ Five Stars Multiplex, หรือหนังเรื่อง Hommeless ที่เล่าเรื่องชายที่ใช้ชีวิตจรจัดบนดาดฟ้า Homeflick ก็จัดฉายบนดาดฟ้าเพื่อให้ได้อรรถรสเต็มเปี่ยม

“ตอนแรกเรามีใจที่จะอยากให้คนโคราชทุกคนดูหนังมาก มากจนเราลดราคาตั๋วสุดๆ เลย มันไม่มีทางถอนทุนได้ เอาจริงๆ ก็โง่นะ ใจเราอยากฉายให้คนดูจริงๆ เลยทำไปด้วยความรู้น้อย หลังจากนั้นก็เพิ่มเพดานราคาให้มากขึ้น ตอนฉายหนังในโรงใหญ่ มีพี่โปรดิวเซอร์หนังโทรมาคุย แกบอกว่า ‘โจ้ ทำแบบนี้มันไม่ดีหรอก’ เราก็รู้สึกไม่ดีเหมือนกันที่ทุกครั้งที่ฉายต้องเจ็บตัว ขาดทุนตลอด ดังนั้นจะมีเกณฑ์ว่าเราจะไม่ทำให้มันเหนื่อยเกินไป ไม่ให้มันเกินแรงเรา หรือต้องไม่เสียอะไรมากเกินไป มันถึงเป็นสิ่งที่เราทำไปเรื่อยๆ ได้โดยไม่หยุด”

Homeflick Homeflick

ชลัทแก้ไขปัญหาด้วยการขอสปอนเซอร์จากชาวโคราช ทั้งในรูปแบบเงินทุนและสื่อจอภาพทั่วเมือง ขั้นตอนนี้เป็นอีกหมุดสำคัญที่ทำให้เขามองเห็นกระบวนการฉายหนังทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ เลือกกระจายความเสี่ยงด้วยการจัดงานเล็กๆ สม่ำเสมอ ความทุ่มเทฉายหนังครั้งแล้วครั้งเล่าทำให้เกิดคลื่นความสนใจหนังนอกกระแสในโคราช มีการจัดฉายหนังนอกกระแสในมหาวิทยาลัย และกลุ่ม Korat Indie Weekend ที่ร่วมเผยแพร่กิจกรรมศิลปวัฒนธรรมทางเลือกให้ชาวย่าโม ตามความตั้งใจของ Homeflick ว่า ‘บ้านเดียวกัน ดูด้วยกัน’

“เราเริ่มจากจุดที่เราขาดแคลน แต่ตอนนี้โลกมันไร้พรมแดน โซเชียลมันเชื่อมต่อเราเข้าด้วยกัน แล้วทำไมเราจะไม่ใช้โอกาสนี้เชื่อมต่อเข้าหาคนที่สนใจอะไรร่วมกัน ถ้าเราจัดงานครั้งเดียวแล้วจบไปเลยมันก็เท่านั้น มาแล้วก็หายไป แต่ถ้ามันเกิดเรื่อยๆ ซ้ำๆ กันจนเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตเราแล้วก็น่าจะกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ ให้คนโคราชมีทางเลือกเสพศิลปะความบันเทิงที่หลากหลายกว่าเดิม”

ผู้ก่อตั้ง Homeflick ตบท้าย ก่อนเอี้ยวตัวหันหลังให้เราเห็นภาพด้านหลังของเสื้อยืด รายชื่อหนังทั้งหมดที่โจ้เคยทุ่มเทแรงกายแรงใจปรากฏเป็นแถวยาว นอกจากชื่นชมความทุ่มเทของคนรักหนังและรักบ้านเกิด เราเอาใจช่วยให้รสชาติศิลปะใหม่ๆ ที่ Homeflick ตั้งใจนำเสนอ ส่งต่อไปถึงผู้ชมหลากหลายในเมืองใหญ่ของอีสาน

Homeflick

วันที่ 26-27 สิงหาคม 2560 นี้ Homeflick จะจัดฉายหนังเรื่อง Motel Mist โรงแรมต่างดาว และ ดาวคะนอง 2 เรื่องควบ ติดตามรายละเอียดได้ที่ Facebook : Homeflick

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan