ทั้งเราและคุณต่างรู้ดีว่า ปัญหาเกี่ยวกับผู้พิการทางสายตาไม่ใช่เรื่องใหม่ของสังคมไทย และทุกวันนี้ก็มีคนที่ลงไปช่วยแก้ปัญหาอยู่มากมาย แต่เหตุผลที่เราสนใจสิ่งที่ หลุยส์-กฤษณ์ สงวนปิยะพันธ์ กำลังทำนั่นเพราะเป็น ‘คำตอบ’ จากคนตัวเล็กๆ ที่มีวิธีคิดและทำสร้างสรรค์ ทั้งยังเติบโตต่อยอดกลายเป็นพื้นที่ที่เอื้อให้ใครก็เข้ามามีส่วนร่วมได้

สิ่งที่หลุยส์ทำเรียกว่า The Blind Theatre

ละครที่คนตาบอดเล่นงั้นเหรอ? คุณอาจสงสัย

The Blind Theatre The Blind Theatre

ทั้งใช่และไม่ใช่ เพราะนี่คือละครที่คนตาดีและคนตาบอดร่วมกันทำ โดยมีจุดเริ่มเริ่มต้นที่ ‘ความมืด’ พื้นที่ที่คนตาบอดจะไม่ได้เป็นเพียงผู้รับ แต่ได้ลงมือทำและสร้างประสบการณ์ไปพร้อมกับคนตาดี

จุดเริ่มต้นของโปรเจกต์นี้เกิดขึ้นหลังหลุยส์เรียนจบด้านการแสดงและมองหาวิธีที่การแสดงจะกลายมาเป็นอาชีพเลี้ยงตัว ตอนนั้นเอง เขาได้เจอกับ ท็อฟฟี่ ผู้พิการทางสายตาในโครงการอาสาสมัครโครงการหนึ่ง และพบว่าเด็กคนนี้ฝันอยากเปลี่ยนแปลงสังคม จึงเลือกเรียนรัฐศาสตร์เพื่อไปเป็นนักการเมือง

“มันเซอร์ไพรส์มาก คิดดูสิ ในชีวิตเรามีคนตาดีสักกี่เปอร์เซ็นต์กันที่อยากเปลี่ยนแปลงสังคมแล้วจะไปเป็นนักการเมือง แต่ท็อฟฟี่คิด” หลุยส์บอก

มากกว่าตื่นเต้นในความคิดอีกฝ่าย หลุยส์เองก็อยากลุกขึ้นเปลี่ยนแปลงสังคมเช่นกัน เพียงแต่เครื่องมือที่รู้จักคุ้นเคยคือ การแสดง ชายหนุ่มจึงแนะนำให้ท็อฟฟี่รู้จักเครื่องมือนี้

“เราเริ่มแชร์ประเด็นว่า ถ้าเป็นคนตัวเล็กที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม ที่จริงไม่ต้องเป็นนักการเมืองก็ได้ หนังหรือละครเวทีก็เป็นสื่อกลางเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงสังคมได้ พูดไปตอนแรกท็อฟฟี่ยังไม่เข้าใจเลยว่าละครเวทีกับวิทยุและหนังมันอันเดียวกันไหม เขาไม่เคยดู เราเลยบอกว่าไม่เป็นไร มาหาวิธีทำร่วมกัน” หลุยส์อธิบาย

นอกจากเชื่อมั่นในละครเวที หลุยส์ยังมองว่าหลายครั้งเมื่อเราช่วยเหลือสังคม ความช่วยเหลือนั้นเป็นการให้ฝ่ายเดียว แต่ที่จริงแล้ว การร่วมกันแก้ปัญหาต่างหากที่จะทำให้คนที่เราช่วยรู้สึกได้รับโอกาส เขาจะได้เป็นผู้ให้และรับพร้อมกัน และสร้างความสัมพันธ์ก็จะทำให้การช่วยเหลือนั้นยั่งยืนและเกิดขึ้นต่อเนื่องด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น หลุยส์ยังเชื่อว่าสิ่งที่เขาจะทำควรเอื้อให้คนตาดีและผู้พิการทางสายตามีส่วนร่วมกันอย่างเท่าเทียม

“ถ้าเราบังเอิญไปเจอคนที่มีฝันเดียวกัน แล้วอยากร่วมทางฝันกับเขาไปเรื่อยๆ เรารู้สึกว่ารูปแบบที่มีต้องไม่เอื้อให้ใครรู้สึกนำใครมากเกินไป” ชายหนุ่มบอก

The Blind Theatre จึงเกิดขึ้น ในรูปแบบที่ไม่ใช่แค่การให้คนตาบอดมายืนบนเวที หรือไปสอนการแสดงให้พวกเขาเฉยๆ หลุยส์พยายามหาจุดศูนย์กลางที่จะทำให้คนตาดีและคนตาบอดแสดง รวมถึงรับชมละครอย่างเท่าเทียม จนพบกับ ‘ความมืด’ ที่ทำให้ The Blind Theatre เป็นละครเวทีของทุกคน

The Blind Theatre

“คนตาบอดเขามีความมืดอยู่แล้ว คนตาดีพอหลับตาเราก็เท่ากัน มืดเหมือนกัน ความมืดเป็นของทุกคน ละครของเราจึงแสดงและรับชมในความมืด” หลุยส์กล่าว

เขาพยายามทำละครร่วมกับคนตาบอดสำเร็จ จนเกิดเป็นละครเวที “เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย” ละครในความมืดที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก บทเพลง “นิทานหิ่งห้อย” ของศิลปินเฉลียง และภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง Grave of the Fireflies เขาเริ่มต้นจากแสดงในโรงละครมหาวิทยาลัยไม่กี่รอบ มีคนดูจำนวนหนึ่ง โดยจัดทำภายใต้ชื่อ Volunteer for ME  

1 ปีผ่านไป หลุยส์ยังอยากพัฒนาสิ่งที่ทำ เขารีสเตจการแสดงขึ้นอีกครั้ง โดยคราวนี้ใช้ชื่อว่า The Blind Theatre เต็มปากเต็มคำ การแสดงครั้งนี้ฮอตฮิต แต่หลังจบละคร หลุยส์กลับเลือกที่จะหยุดเพื่อตั้งคำถามกับตัวเองว่าสิ่งที่ได้จากการทำละครคืออะไร  แม้ภาพที่คนดูเห็นจะประสบความสำเร็จ แต่เขากลับพบว่าการร่วมทำงานกับผู้พิการทางสายตาแบบ ‘ห้าสิบห้าสิบ’ นั้นไม่อาจเกิดขึ้นได้จริง

สุดท้าย หลุยส์เลือกหยุดทำละครเพื่อตามหาความหมายและรูปแบบละครเวทีที่เขาต้องการ แล้วระหว่างทางนั้นเอง เขาก็ได้เห็นปัญหาที่แท้จริงของผู้พิการทางสายตา นั่นคือทุกคนเฝ้ารอโอกาสบางอย่าง เพราะสิ่งที่เป็นอยู่อาจไม่ใช่สิ่งที่พอใจที่สุด แต่การจะลุกขึ้นไปหาการเปลี่ยนแปลงหรือทางเลือกใหม่ก็ไม่ง่าย

แน่นอนว่าการมีโอกาสเล่นละครเวทีอาจเป็นทางออกหนึ่ง แต่หลุยส์ตั้งคำถามขึ้นว่า จะเป็นยังไงหากเราสร้างทางเลือกและปรากฏการณ์แบบเดียวกับ ‘นิทานหิ่งห้อย’ ได้ด้วยเครื่องมือแบบอื่นๆ

“คนตาบอดไมได้อยากทำแค่ละครเวที เขายังมีอีกหลายอย่างที่อยากลองทำในชีวิต ซึ่งถ้าเขาไม่ได้ต้องการแค่นี้แต่ต้องการทางเลือกบางอย่าง คนที่จะมาตอบปัญหานี้ได้ก็ไม่ใช่แค่พวกเราแล้ว แต่คือทุกคนในสังคม” หลุยส์แจกแจงความคิด

The Blind Theatre The Blind Theatre

แล้ว The Blind Theatre ก็พัฒนาสู่ The Blind Theatre School

ไม่ใช่เวทีหรือที่นั่งในโรงละคร แต่คือพื้นที่ซึ่งเชื้อเชิญให้คนในสังคมมาออกแบบกิจกรรมให้คนตาดีและผู้พิการทางสายตาทำร่วมกัน (นั่นแปลว่าผู้พิการทางสายตาก็เสนอกิจกรรมสนุกเข้ามาได้) ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นการแสดงอย่างเดียว เป้าหมายที่หลุยส์วางไว้คือ กิจกรรมเหล่านี้จะสร้างทางเลือกใหม่ๆ ให้ผู้คนได้ และในอนาคต เขาหวังจะต่อยอดมันสู่กิจการเพื่อสังคมด้วย

“มันไม่ได้มีความหมายแค่ทำแล้วเจอทักษะใหม่ๆ เจอความตื่นเต้นนะ ถ้าสิ่งที่คุณออกแบบร่วมกันมันดันเวิร์กหรือไปต่อได้ นั่นหมายถึงว่า สังคมไทยจะมีอาชีพทางเลือกใหม่ขึ้นมา ไม่ใช่แค่สำหรับคนตาบอด แต่รวมถึงสำหรับคนตาดีด้วย” หลุยส์ชี้ให้เราเห็น 

หลังโครงการนี้เริ่มต้นไม่นาน ก็มีผู้สนใจส่งไอเดียกิจกรรมเข้ามากมาย ทีมงาน The Blind Theatre กำลังง่วนอยู่กับการเก็บข้อมูล เพื่อรวบรวมกลุ่มคนที่สนใจกิจกรรมคล้ายกัน เช่น การทำหนัง ทำอาหาร ทำละครเวที มาจัดเป็นเวิร์กช็อปเพื่อพูดคุยวางแผน หาแนวทางให้กิจกรรมต่อไป รวมทั้งยังคงไม่หยุดมองหากิจกรรมอื่นๆ ที่หลากหลาย

และนั่นหมายความว่า คุณเองก็ก้าวเข้าร่วมรั้วโรงเรียน Blind Theatre School ได้เช่นกัน

The Blind Theatre

Facebook l The Blind Theatre Thailnad

Writer

Avatar

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

นักศึกษาฝึกงานรหัส 001 ที่ใส่ต่างหูห่วงตลอดเวลา วางแผนจะอุทิศปัจจุบันและอนาคตให้การเขียน

Photographer

Avatar

กมลชนก คัชมาตย์

นักศึกษาฝึกงานเอกภาพยนตร์ มนุษย์ 24 บุคลิก รักการอ่านมาก แต่รักแมวมากกว่า