ฉากที่ 1 : โยโกฮามา, กุมภาพันธ์ 2017

Prumsodun Ok เป็นนักเต้น แต่ฉันรู้จักเขาครั้งแรกผ่านตัวอักษร

ย้อนกลับไปเมื่อต้นปี 2017 ฉันไปเทศกาลการแสดง TPAM ที่ญี่ปุ่น ศิลปินทั่วโลกเดินทางไปโยโกฮามา ทั้งเพื่อแสดง ชมการแสดง และแลกเปลี่ยนทรรศนะกันในโรงละครและบาร์เหล้า ฉันจองตั๋วชมละครแนวทดลองชื่อ Performance Encyclopedia ที่จับผู้ชมทั้งหมดมานั่งอ่านเอ็นไซโคลพีเดียร่วมกัน 1 ชั่วโมงเต็มในโรงละคร

ท่ามกลางความเงียบเหมือนอยู่ในห้องสมุด ฉันประทับใจสารานุกรมที่ศิลปินกลุ่มนี้ช่วยกันเขียนมาก โดยเฉพาะข้อความของศิลปินกัมพูชาที่ใช้ชื่อย่อว่า P.O. ภาษาอังกฤษของเขาสละสลวย และเนื้อหาก็โดดเด่นกินใจอย่างบอกไม่ถูก

“Is my work honest to who I am?”

บ่ายวันนั้นฉันจดข้อความท่อนหนึ่งของเขาลงสมุด มั่นอกมั่นใจว่า P.O. เป็นนักเขียนบท หรือไม่ก็กวี

คืนนั้นฉันพบ พรอมสดัง โอค ในบาร์โดยบังเอิญ ชายหนุ่มนั่งอยู่กลางวงสนทนาของชาวไทยและชาวญี่ปุ่น แท้จริงแล้ว P.O. ไม่ใช่นักเขียน แต่เป็นผู้ก่อตั้งคณะนักเต้นเกย์คณะแรกของกัมพูชา ฟังเท่านี้ก็ตื่นเต้นแล้วว่าผลงานของเขาจะเป็นอย่างไร

‘เสียดายที่ไม่ได้ดูงานของเขาที่นี่’ ฉันนึกในใจดังๆ

ฉากที่ 2 : กรุงเทพมหานคร, 4 เดือนต่อมา

พรอมสดัง โอค นั่งอยู่ในโรงละครที่กรุงเทพฯ นำคณะนักเต้นร่วมสมัย Prumsodun Ok & Natyarasa มาแสดงผลงานชิ้นเอกชื่อ Beloved ในเทศกาล Bangkok Theatre Festival Asia Focus

ชายหนุ่มชาวกัมพูชา-อเมริกันตอบตกลงให้สัมภาษณ์ เราจึงได้พบกันอีกครั้งก่อนการซ้อมใหญ่จะเริ่มขึ้น

ถึงตรงนี้ม่านที่กรุงเทพฯ จะปิดลงชั่วคราว เพราะไฟจะเปิดที่อีกฟากหนึ่งของโลก เมื่อเราย้อนไปสู่จุดแรกสุดของเรื่องนี้

Beloved

Beloved

ฉากที่ 3 : ลองบีช แคลิฟอร์เนีย, ในอดีต

เด็กชายพรอมสดังเกิดและโตที่สหรัฐอเมริกา เพื่อลี้ภัยสงครามกัมพูชาอันยาวนาน ครอบครัวของเขาและชาวกัมพูชาจำนวนหนึ่งอพยพไปอยู่ที่แผ่นดินใหม่

“ผมชอบการร่ายรำของกัมพูชามาตั้งแต่จำความได้ ในปี 1991 ตอนผมอายุ 4 ขวบ พ่อผมไปวัดแล้วอัดวิดีโอนักรำสมัครเล่นกลับมา ตอนนั้นชุมชนคนกัมพูชาในอเมริกาเพิ่งเริ่มก่อตั้งใหม่ๆ นักรำพวกนั้นไม่ใช่มืออาชีพ พวกเขาสวมชฎากระดาษ แทนที่จะห้อยอุบะดอกไม้ก็ติดสายรุ้งคริสต์มาสแทน แต่ผมตกหลุมรักการแสดงนั้นมากๆ ผมไปเอาชุดสีแดงของน้องสาวมาใส่แล้วเลียนแบบท่าทางการรำ พ่อแม่ผมอัดวิดีโอเก็บไว้เลย

“มองย้อนกลับไป ผมคิดว่าเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ที่ศิลปะแขนงนี้แข็งแรงมาก แม้ว่าการแสดงจะไม่สมบูรณ์ถูกต้อง ผมยังเห็นความงามของมัน มีบางสิ่งในนั้นที่ดึงดูดผม แต่พอโตขึ้นผมก็พยายามผลักมันออกไป เพราะเด็กคนอื่นๆ เริ่มเรียกผมว่าเกย์ ตุ๊ด กะเทย เพื่อปกป้องตัวเอง ผมเลยต้องพยายามไม่สนใจศาสตร์นี้”

เด็กหนุ่มหลีกเลี่ยงการเต้นรำจนกระทั่งอายุ 16 ปี พรอมสดังมีหน้าที่พาน้องสาวไปส่งที่คลาสเรียนรำกัมพูชาทุกวัน ความชอบศิลปะนี้จึงกลับมาอีก เขานั่งดูการซ้อมทุกวันตลอดปี ตามไปดูทุกการแสดง มอง Sophiline Cheam Shapiro ครูนาฏยศิลป์แนวหน้าของกัมพูชาสอนท่ารำต่างๆ สังเกตการสอนนักเรียนและคนที่แตกต่างกัน รวมถึงซึมซับวิธีกำกับการแสดง

“ในที่สุดผมตัดสินใจถามครูว่าผมขอเรียนบ้างได้มั้ย ครูตอบว่า ได้สิ หลังจากเรียนไปครั้งเดียว ครูตื่นเต้นมากและบอกผมว่า เธอเล่นเป็นพระรามได้นะ ตอนนั้นผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพระรามเป็นใคร (หัวเราะ) หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน ผมก็แสดงร่วมกับพวกเขา ผมโชคดีมากที่ครูใจกว้าง”

พรอมฝึกศิลปะการเต้นต่ออีก 6 ปี ชายหนุ่มเชื้อสายอาเซียนไม่เคยไปกัมพูชา แต่การถูกถามซ้ำๆ ในประเทศที่ตัวเองเกิดว่า Where are you from? ทำให้เขายิ่งพยายามกลับไปหารากของตัวเอง เมื่อเรียนต่อด้านภาพยนตร์ เขาได้เรียนรู้ว่าศิลปะการทำหนังคือการตั้งคำถาม ค้นหา และออกแบบโลกรอบตัว พรอมสดังเริ่มตั้งคำถามว่าการเต้นสร้างสิ่งเดียวกับภาพยนตร์ได้รึเปล่า

“ปกติเวลาเรียนรำ เขาจะไม่สอนว่านี่คือศิลปะ แต่บอกว่ามันคือวัฒนธรรม มันคือตัวตนของคุณ เวลามีคนถามว่าวัฒนธรรมของคุณเป็นยังไง ผมจะตอบว่าเขมร แล้วเขมรคืออะไรล่ะ นครวัด? รำเขมร? แล้วจะเกิดอะไรขึ้นถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้แล้ว เราจะไม่มีวัฒนธรรมแล้วเหรอ ผมเริ่มเปลี่ยนความคิดว่าการเต้นรำไม่ใช่แค่สิ่งที่ผมรัก แต่มันเป็นเครื่องมือต่างหาก”

ศิลปินหนุ่มเริ่มออกแบบการแสดงของตนเอง เขากลายเป็นวิทยากรและอาจารย์พิเศษตามมหาวิทยาลัยต่างๆ และตัดสินใจขอทุนเพื่อเดินทางไปสร้างการแสดงที่กัมพูชาสักครั้งหนึ่ง กะว่าจะใช้เวลาทำงานสัก 1 ปี ก่อนจะย้ายไปอยู่เม็กซิโกอย่างถาวร

Beloved Beloved

ฉากที่ 4 : พนมเปญ, ปี 2015

“เมื่อผมมาถึงกัมพูชา ครูและเพื่อนๆ ถามผมว่าเธออยู่ที่นี่ได้มั้ย ประเทศนี้ต้องการเธอ ศิลปะต้องการเธอ ผมตอบปฏิเสธ เพราะมองไปทางไหนก็เศร้าไปหมด มันเจ็บปวดมากที่ผมเห็นปัญหาในประเทศที่ผมรัก แต่ผมรู้สึกว่ามันเปลี่ยนแปลงไม่ได้”

พรอมสดังวานเพื่อนให้ช่วยหานักแสดงให้ เขาต้องการฝึกเด็กหนุ่มเกย์ 2 – 3 คนที่สนใจการร่ายรำเพื่อแสดงผลงานชื่อ Beloved แต่ปรากฏว่าเพื่อนหาเด็กวัยรุ่นที่ไม่มีพื้นฐานการเต้นมาฝึกกับเขาร่วม 20 คน ชายหนุ่มจึงตั้งต้นสอนเด็กเหล่านี้ในห้องนั่งเล่นที่บ้านตัวเอง

“ผมได้ไอเดียจากพิธีกรรมการร่วมรักระหว่างกษัตริย์และนาคของกัมพูชา เป็นความรักที่ทรงพลังมากและเป็นพิธีการขอฝนและความอุดมสมบูรณ์ให้แผ่นดิน ผมอยากใส่เรื่องนี้บนร่างกายนักเต้นที่เป็นเกย์ มันเป็นทั้งการต่อต้านและเฉลิมฉลองในคราวเดียวกัน เพราะกลุ่มเพศที่ 3 ในกัมพูชายังไม่ได้รับการยอมรับมาก ผมเลยต้องการนักเต้นเกย์มาฝึก ไม่ได้ตั้งใจจะก่อตั้งอะไร แต่หลังจากฝึกเด็กๆ ไปราวเดือนกว่า ผมก็รู้สึกขึ้นมาว่านี่มันเหมือนคณะนักเต้นจริงๆ แล้ว คณะนักเต้นเกย์แห่งแรกในกัมพูชาเกิดขึ้นในห้องนั่งเล่นบ้านผม

“ช่วงเวลานั้นเหมือนความฝันและมุมมองของผมใหญ่ขึ้น เต็มขึ้น มันกระจ่างชัดขึ้นมาตรงหน้าเลยว่านี่คือที่ที่ผมควรจะอยู่ และถ้าผมอยากจะสร้างอะไรเพื่อศิลปะหรือเพื่อโลกใบนี้ ผมต้องเริ่มทำที่กัมพูชา ผมเลยเปลี่ยนใจไม่ไปเม็กซิโก และไม่เสียใจเลยแม้แต่นิดเดียว”

คณะ Prumsodun Ok & Natyarasa จึงเกิดขึ้นเพื่อให้นักเต้นเกย์มีพื้นที่ในนาฏยศิลป์กัมพูชา แทนที่จะมีแต่นางรำผู้หญิงเท่านั้น อย่างไรก็ตาม พรอมสดังก็ยืนยันว่าการแสดงของเขาเป็นศิลปะร่วมสมัย ไม่ใช่การแสดงแบบดั้งเดิม

“สิ่งที่ผมทำคือดึงแก่นของนาฏศิลป์กัมพูชามาตีความให้แปลกใหม่ สร้างสรรค์และมีความหมาย ผมเห็นมาเยอะแล้ว เวลาบอกว่านี่คือการเต้นร่วมสมัยของประเทศอะไรก็ตาม คุณก็แค่เต้นแบบโมเดิร์นแล้วใส่ท่าจีบหรือท่าอะไรไปสักสองสามท่า นั่นมันแค่เปลือกนอก ผมกำลังพูดถึงแก่นหรือคอนเซปต์ที่อยู่ข้างใน อาจจะใช้ท่ารำแบบดั้งเดิมก็ได้ อาจจะใช้ดนตรีป๊อปก็ได้ สิ่งสำคัญคือมันมีความสมดุลและไอเดียที่สอดประสานกัน นาฏศิลป์ก็เหมือนเพชร คุณไม่จำเป็นต้องเจียระไนใหม่เพื่อให้มันสวยขึ้น อาจจะแค่เปลี่ยนพื้นผิวที่วาง ฉายไฟเพิ่ม หรือพลิกไปอีกมุม แล้วคุณก็จะเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในความงาม แค่เปลี่ยนสิ่งที่อยู่รอบๆ มันก็ใหม่ขึ้นมาแล้ว เหมือนในชีวิตจริง ไม่ว่าจะรักษาประเพณียังไง สังคมก็เปลี่ยนไปตลอดเวลาอยู่แล้ว ดังนั้นประเพณีก็ควรเปลี่ยน มุมมองที่เรามีต่อประเพณีก็ควรเปลี่ยนเหมือนกัน”

Beloved

ฉากที่ 5 : กรุงเทพมหานคร, มิถุนายน 2017

2 ปีหลังจากการก่อตั้ง กลุ่มเด็กหนุ่มในห้องนั่งเล่นของพรอมสดังกลายเป็นนักเต้นมืออาชีพ คณะนักเต้น ‘พรอมสดัง โอค และ นาฏยรศา’ เปิดการแสดงทั้งในกัมพูชาและไทยมาแล้วหลายครั้ง ความฝันของพวกเขายังคงเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ตามกาลเวลา

“ในสมัยก่อน นักเต้นเป็นผู้เชื่อมต่อระหว่างสวรรค์กับโลก เป็นผู้ทำพิธีขอฝน ฝนในสมัยนี้ไม่มีความหมายอะไรเลยในยุคที่เราเปิดก๊อกแล้วน้ำก็ไหลออกมา แต่ยุคก่อน ฝนคือความเป็นความตาย ฝนคือที่มาของอาหาร การมีอยู่ของนักเต้นจึงสำคัญมากในสังคมโบราณ นักเต้นรับประกันความอยู่ดีกินดีของสังคม นาฏศิลป์กัมพูชามีรากจากฮินดู ศิลปะนี้ถูกมอบให้มนุษย์เพื่อเป็นเครื่องมือต่อสู้กับศีลธรรมเสื่อมโทรม ศิลปะเป็นพื้นที่ให้คนที่ไม่มีปากเสียงได้พูดถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคม หน้าที่เหล่านี้เก่าแก่มาก ผมว่าศิลปินทุกคนคงอยากให้งานของตัวเองส่งผลกระทบโดยตรงกับชีวิตหรือมีความหมายมหาศาล

“ในฐานะศิลปินคนหนึ่ง การทำงานให้สวย แปลกใหม่เป็นเรื่องสำคัญ แต่งานนั้นมันควรจะมีเป้าหมาย และเป้าหมายของผมคือสร้างพื้นที่ให้กลุ่ม LGBT ในวัฒนธรรมประเพณี ผมอยากแสดงให้โลกเห็นว่าการเป็นเกย์ไม่ได้ขัดแย้งกับประเพณีกัมพูชา เขาชอบพูดกันว่าการเป็นเกย์เป็นสิ่งใหม่ มาจากตะวันตก เกย์เป็นเรื่องผิดธรรมชาติ มีเกย์จำนวนมากที่ทำอาชีพเกี่ยวกับศิลปะการแสดง แต่ตัวละครที่เป็นเกย์อยู่ที่ไหน ตัวละครที่เป็นเพศที่ 3 มักเป็นตัวตลกให้คนหัวเราะใส่ แต่มันไม่ใช่คนจริงๆ ไม่ได้ให้เกียรติคนจริงๆ ผมอยากให้เกย์ได้มองเห็นตัวเองในพื้นที่ศิลปะ ถึงนักเต้นของผมยังเด็ก แต่พวกเขาเริ่มเข้าใจแล้วว่าสิ่งที่พวกเขาทำมีความหมายขนาดไหน”

Beloved Beloved

เสียงเพลงเขมรดังก้องโรงละคร พรอมสดังลุกขึ้นไปซ้อมท่าเต้นในการแสดงเรื่อง Beloved ที่พัฒนามาร่วม 2 ปีกับลูกศิษย์ ฉันนั่งมองการเต้นรำงดงามที่พูดเรื่องความรัก คำพูดของศิลปินยังคงดังอยู่ในความคิด

“พอคนรู้ว่าผมเป็นเกย์ เขามักจะบอกว่าผมกำลังทำผิด กำลังทำบาป ความรักเลยเป็นสิ่งที่ผมคิดถึงอยู่บ่อยๆ ความรักทำให้เกย์ต้องตกนรก เข้าคุก ถูกทรมานกลั่นแกล้งต่างๆ นานา มันง่ายมากที่เราจะโกรธและใช้ความรุนแรงโต้ตอบ แต่เราก็จะกลายเป็นเหมือนเขาไง ผมคิดว่าการแสดงความรักเป็นการต่อต้านที่มีพลังที่สุด ผมมีความรักที่ยิ่งใหญ่ แม้คุณจะบอกว่าผมไม่มีทางได้รับหรือมันเป็นไปไม่ได้ แต่ผมกำลังใช้มันเต้นรำต่อหน้าคุณ มันไม่ใช่ความรักแบบฮอลลีวู้ด มันเป็นรักแบบพังก์ มีความรักหลายชั้นในงานของผมมาก รักต่อคู่รัก รักต่อการเต้นรำ รักต่อกลุ่ม ต่อสังคม ต่อโลก สิ่งที่ผมต้องการในงานและในสังคมนี้คือความรักที่บริสุทธิ์ เมื่อคุณมีความรักมากพอ คุณจะไม่กลัวที่จะแสดงมันออกมา และผมอยากเป็นเสียงที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง”

“Is my work honest to who I am?”

ในสมุดเล่มเดิมที่ฉันพกมาสัมภาษณ์พรอมสดัง ประโยคคำถามที่ฉันจดมาจากญี่ปุ่นยังคงชัดเจน เมื่อเงยหน้ามองการแสดงของเขา คำตอบก็ปรากฏตัวโดยไม่อาศัยคำพูดสักประโยคเดียว

Beloved

ภาพ: Prumsodun Ok & Natayarasa

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan