ไม่นานนี้ หลายคนคงเพิ่งรู้จัก ‘สตูล’ จริงจังเป็นครั้งแรก จากข่าวอุทยานธรณีสตูลได้รับการรับรองเป็น ‘อุทยานธรณีโลก’ โดย UNESCO และเป็นอุทยานธรณีโลกแห่งแรกของไทย

สิ่งที่ฉันนึกสงสัยตามมาคือ นอกจากภาครัฐที่ช่วยขับเคลื่อนเรื่องนี้  ‘ใคร’ ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักให้อุทยานซึ่งหลายคนอาจไม่เคยรู้ว่ามีอยู่แจ้งเกิดได้ระดับโลก

‘ณรงค์ฤทธิ์ ทุ่งปรือ’ คือคำตอบจากชาวสตูลที่ฉันสอบถาม

ถ้าลองเสิร์ชดูจะพบคำอธิบายว่า เขาคือนายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งหว้าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานธรณีสตูล

แต่นั่นเป็นแค่ข้อมูลชั้นผิวดินหรอก เมื่อได้ต่อสายคุยกับเขา ฉันขุดพบสิ่งน่าสนใจที่อยูู่ลึกกว่านั้นและกว้างกว่าแค่การพาอุทยานแห่งนี้ไปสู่การรับรองจากยูเนสโก

ณรงฤทธิ์ ทุ่งปรือ

อุทยานธรณีสตูล

ณรงค์ฤทธิ์เป็นคนตำบลทุ่งหว้าซึ่งไม่ได้ชำนาญด้านธรณีวิทยามาก่อน จุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดคือช่วง พ.ศ.2551 ตำบลทุ่งหว้าแห่งนี้มีการขุดพบฟอสซิลฟันกรามของช้างดึกดำบรรพ์ที่มีชื่อสายพันธุ์ว่า ‘สเตโกดอน’ อายุประมาณ 1.8 ล้านปี

เหตุการณ์นั้นนำไปสู่การจัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ทุ่งหว้า และทำให้ณรงค์ฤทธิ์ซึ่งตอนนั้นเป็นนายก อบต. พบว่ากรมทรัพยากรธรณีเคยทำงานวิจัยจนมีข้อมูลสำคัญเก็บไว้ว่าแผ่นดินสตูลนั้นเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย เดิมเป็นทะเลดึกดำบรรพ์ที่ย้อนอายุไปได้ถึงยุคแคมเปียนหรือห้าร้อยกว่าล้านปีที่แล้ว พูดง่ายๆ ว่าเก่ายิ่งกว่ายุคไดโนเสาร์ และมีการพบฟอสซิลของ ‘มหายุค’ ครบทั้ง 6 ยุค

ฟอสซิล

พิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ทุ่งหว้า

อุทยานธรณีสตูล

ณรงค์ฤทธิ์ไม่ได้มองสิ่งนั้นเป็นแค่ข้อมูลวิชาการ ตรงข้าม เขามองมันเป็นทรัพย์สินล้ำค่าที่จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ให้ชาวบ้านที่เคยมองว่าบ้านเกิดเป็นเพียงเมืองรอง

“ในอดีตทุ่งหว้าไม่ใช่เป็นเมืองท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวมองเราเป็นทางผ่านเพื่อไปลงเรือที่ท่าเรือปากบารา ข้ามไปเกาะตะรุเตาและเกาะหลีเป๊ะ ชาวบ้านบอกอยู่ตลอดจนผมติดหูเลยว่าเขาไม่มาเที่ยว แวะเข้าห้องน้ำก็ยังดี” เขาย้อนเล่าความทรงจำ และเอ่ยต่อว่าเมื่อมีรายได้จากที่เที่ยวทางธรรมชาติ ชาวบ้านก็จะอนุรักษ์ทรัพยากรเหล่านี้ไปโดยอัตโนมัติ

อุทยานธรณีสตูล

อุทยานธรณีสตูล

ด้วยเหตุนี้ แทนการวางงานวิจัยไว้บนหิ้ง ณรงค์ฤทธิ์จึงหยิบมันมาทำให้สตูลเปล่งประกายในด้านการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยาหรือ Geo Tourism เขาเพิ่มความรู้เชิงธรณีจากเหล่างานวิจัย เติมพื้นฐานเรื่องการท่องเที่ยวจากการนั่งคุยกับผู้รู้ แล้วหยิบทั้งหมดนั้นมาย่อยและหีบห่อให้สร้างสรรค์

“บางทีสิ่งที่เราคิดเป็นเรื่องใหม่ เรื่องแปลก คนอื่นก็มองว่าตลก แต่เรามองว่ามันทำให้เรื่องยากเข้าใจได้ง่ายขึ้นและมีเรื่องราว ผมมองว่าการท่องเที่ยวต้องสนุกและได้องค์ความรู้” ณรงค์ฤทธิ์อธิบาย

อุทยานธรณีสตูล

อุทยานธรณีสตูล

มากกว่าเรื่องเล่าที่บอกผ่านแผ่นป้ายในอุทยาน ความรู้เชิงธรณีจึงได้รับการกระจายสู่ชาวบ้านผ่านการอบรมมัคคุเทศน์และหลักสูตรท้องถิ่นในโรงเรียน ไม่หมดเท่านั้น ณรงค์ฤทธิ์ยังเดินเข้าไปพบชาวบ้าน เพื่อส่งต่อองค์ความรู้ไปต่อยอดผลิตภัณฑ์และบริการท้องถิ่นให้กลายเป็นของน่าซื้อน่าใช้มาก เช่น ผ้าบาติกย้อมด้วยสีจากผืนดินที่มาพร้อมเวิร์กช็อปสอนย้อมผ้า เมลอนหวานฉ่ำที่ชูจุดขายว่าเติบโตด้วยน้ำจากใต้ผืนดินเก่าแก่ของสตูล เมนูพื้นบ้านที่ตั้งชื่อตามสัตว์ดึกดำบรรพ์ซึ่งค้นพบที่นี่ เช่น ยำไข่แมงดาคือ ยำ Trilobite และโฮมสเตย์ที่มีชื่อล้อกับช้างสเตโกดอนว่าโฮมสเตย์โกดอน

ที่สำคัญ อย่างหวังจะเห็นสินค้าเด็ดเหล่านี้วางขายในงานโอท็อปหรือขึ้นห้างใหญ่ในกรุงเทพฯ ณรงค์ฤทธิ์ตั้งใจให้ทั้งหมดหาซื้อได้ที่สตูลเท่านั้น

“เราอยากให้คุณมาสตูล ไม่ใช่เพื่อมาซื้อของ แต่มาเที่ยว มาลงมือทำ มากิน ชุมชนจะได้มีรายได้เพิ่มขึ้น ถ้าเราเอาของไปขาย คนก็ไม่จำเป็นต้องมาสตูลแล้ว” นายก อบต. ชาวสตูลบอกเจตจำนง

อุทยานธรณีสตูล อุทยานธรณีสตูล

และไม่ห่างจากช่วงที่นายก อบต. ทุ่งหว้าเริ่มพัฒนาเรื่องการท่องเที่ยวชุมชน ทางภาครัฐก็เห็นความสำคัญทางธรณีของบ้านเกิดเขา นำไปสู่การก่อตั้งอุทยานธรณีสตูล ซึ่งกินพื้นที่กว้างครอบคลุม 4 อำเภอคือ ทุ่งหว้า มะนัง ละงู และอำเภอเมืองฯ มีครบทั้งธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และวิถีชีวิตวัฒนธรรมผู้คนซึ่งเชื่อมโยงกับพื้นที่ โดยอุทยานแห่งนี้ถูกวางเป้าหมายไว้ยาวไกลถึงการเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก

ณรงค์ฤทธิ์บอกว่าสิ่งนี้ลงล็อกพอดีกับงานที่ขับเคลื่อนอยู่ เพราะ ‘อุทยานธรณีโลก’ ของยูเนสโกมีแนวคิดคือ ต้องการให้เกิดการอนุรักษ์พื้นที่ซึ่งมีคุณค่าทั้งในด้านธรณีวิทยา โบราณคดี นิเวศวิทยา และวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน โดยชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการ นั่นแปลว่ามิติการมีส่วนร่วมของชุมชนจึงเป็นอีกเงื่อนไขที่ขาดไม่ได้

ถึงอย่างนั้น ผู้อำนวยการคนแรกและคนปัจจุบันของอุทยานธรณีสตูลก็บอกฉันปนหัวเราะว่า กระบวนการกว่าจะเป็นอุทยานธรณีโลกยากทุกขั้นตอน

“เพื่อให้เข้าใจเรื่องอุทยานธรณีซึ่งเป็นเรื่องใหม่ของไทยมากขึ้น ผมลงทุนเองเพื่อไปเรียนหลักสูตร Global Geological Park ที่ประเทศกรีซเป็นเวลา 15 วัน ซึ่งมีคนไทยแค่ 2 คนที่ไปเรียนหลักสูตรนี้ แล้วก็ไปดูงานอีกหลายประเทศ เช่น จีน ออสเตรีย และฮังการี จนได้องค์ความรู้ นอกจากนี้ การทำงานที่เกิดจากชุมชนเราต้องเดินต่อตลอด ซึ่งอุทยานที่นี่ก็ทำมา 8 ปีแล้ว ไม่ใช่แค่ 2 – 3 ปีที่ผ่านมา”

เมื่อพัฒนาคุณภาพอุทยานและการท่องเที่ยวชุมชนมายาวนานจนได้มาตรฐาน ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา อุทยานสตูลจึงได้เป็นอุทยานธรณีโลกสมดังความตั้งใจของณรงค์ฤทธิ์และทุกภาคส่วนที่ร่วมลงแรง

อุทยานธรณีสตูล อุทยานธรณีสตูล

“ถามว่าเหนื่อยมั้ย กว่าที่จะได้มานี่เหนื่อยมาก และหลังจากนี้ก็น่าจะเหนื่อยอีกเยอะ แต่ผมก็ดีใจและภูมิใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น พอได้เป็นอุทยานธรณีโลก มันกระตุ้นให้คนในจังหวัดและในประเทศได้เข้าใจเรื่องนี้เพิ่มขึ้น แล้วเราเป็นจังหวัดแรก เป็นต้นแบบนำร่อง ตอนนี้ก็เหมือนเราส่งสาวงามธรรมชาติของสตูลไปประกวดมิสยูนิเวิร์ส เมื่อยูเนสโกประกาศให้เราเป็นมิสยูนิเวิร์ส ทุกคนก็อยากมาดู ซึ่งในประเทศไทยตอนนี้ ทุกกระทรวงพูดถึงการท่องเที่ยวหมด ผมก็คิดว่าน่าเอาแนวคิดเรื่องอุทยานธรณีเข้าไปจับ” นายก อบต. ทุ่งหว้ากล่าว แล้วเอ่ยต่อถึงเป้าหมายที่อยากไปให้ถึง

“ผมบอกชุมชนว่าผมไม่ได้เป็นนายก อบต. ตลอดชีวิต ผมพยายามทำชุมชนให้เข้มแข็ง เพราะบางที่เราเห็นว่าพอเปลี่ยนรัฐบาล นายก อบต. คนใหม่มามันก็ล้ม แต่ถ้าเราทำให้เรื่องพวกนี้เป็นวิสาหกิจชุมชน เขาก็อยู่ได้ ส่วนเรื่องอุทยานธรณี ผมคิดว่าเราอาจทำงานไปได้สักระยะ แต่ต้องสร้างคนรุ่นหลังขึ้นมา นั่นคือเหตุผลว่าทำไมตอนนี้เรากำลังทำหลักสูตรท้องถิ่นให้ทุกคนในสตูลได้เรียนตั้งแต่เด็ก ซึ่งก็เป็นไปตามแนวคิดของยูเนสโก ข้อมูลที่เราศึกษายังบอกด้วยว่าหนุ่มสาวในบางภูมิภาคไปอยู่เมืองหลวง ทำงานที่โรงงาน ชุมชนมีแค่ปู่ย่าและเด็กๆ ทั้งที่ทรัพยากรธรรมชาติสุดยอดมาก ซึ่งพอเราทำอุทยานธรณี มันก็เป็นการเจียระไนพื้นที่ มีโฮมสเตย์ มีร้านอาหาร หนุ่มสาวก็กลับมาบ้าน สุดท้ายชุมชนก็อยู่อย่างมีความสุข”

ลึกลงไปใต้ผืนดินเก่าแก่ของอุทยานธรณีโลกแห่งแรกของไทยจึงไม่ได้มีเพียงฟอสซิลและประวัติศาสตร์งดงาม แต่ยังมีความหวัง ความฝัน

และพลังของคนตัวเล็กสอดแทรกเปล่งประกายระยิบอยู่ภายใน

อุทยานธรณีสตูล

อุทยานธรณีสตูล

Facebook l Satun Geopark

Writer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN