หากให้คุณลองอธิบายแนวคิดเรื่องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ภัยพิบัติ หรือแม้แต่ระบบหนี้อย่างง่ายๆ ให้ชาวบ้านในต่างจังหวัด หรือเด็กน้อยที่ยังไม่รู้ประสาฟัง คุณจะทำอย่างไร

สำหรับ รัตติกร วุฒิกร เธอเลือกสื่อสารเรื่องเหล่านี้ผ่าน ‘เกม’

รัตติกรคือนักออกแบบผู้ก่อตั้ง Club Creative บริษัทออกแบบและผลิตของเล่นเพื่อสังคมที่มีหนึ่งในผลงานคือเกมซึ่งสื่อสารเรื่องเพื่อสังคมกับคนหลากประเภท

เธอริเริ่มทำสิ่งนี้ตั้งแต่เมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว หรือเรียกได้ว่าก่อนยุคที่คนจะคุ้นเคยและนิยมเล่นเกมอย่างบอร์ดเกม บริษัทของเธอสร้างเกมมาแล้วกว่า 100 เกม ได้รับรางวัลด้านของเล่นทั้งในไทยและนานาชาตินับไม่ถ้วน เช่น รางวัล Toy Innovation Award ปี 2006 จากประเทศเยอรมนี และ Gold Award จาก The Good Toy Guide BBC – Toy Box Magazine ประเทศอังกฤษ ขณะที่ตัวผู้ก่อตั้งก็เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ยกตัวอย่างเมื่อปีที่ผ่านมา รัตติกรเพิ่งได้ก้าวขึ้นเวทีเพื่อเล่าเรื่องสิ่งที่ทำในฐานะสปีกเกอร์ของ TEDxChiangmai

เรื่องเพื่อสังคมไม่ใช่ของย่อยง่าย อะไรทำให้นักออกแบบคนนี้สนใจถ่ายทอดมันสู่ผู้คน และเธอมีวิธีหีบห่อของย่อยยากนี้อย่างไร

ในวาระที่รัตติกรร่วมมือกับแบรนด์รถจักรยานยนต์ฮอนด้า และ TK Park ออกแบบเกมล่าสุดเพื่อสื่อสารเรื่องพระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 9 ในชื่อ เกม ‘นักพัฒนาความสุข’ เราชวนเธอมานั่งลงพูดคุย

รัตติกร วุฒิกร

ย้อนไปในอดีต รัตติกรเคยทำงานออกแบบของเล่นเด็กในบริษัทของเล่น จนเมื่อมีโอกาสได้เข้าร่วมเวิร์กช็อปออกแบบของเล่นเพื่อผู้พิการทางสายตาของ UNESCO มุมมองต่อการทำงานออกแบบของเธอก็เปลี่ยนไป

“ตอนอยู่ในบริษัท เราอยากทำของที่ขายได้ อยากได้รางวัล แต่ที่จริงแล้ว การทำเพื่อสังคมต่างหากคือหน้าที่ของนักออกแบบ” รัตติกรบอก

เมื่อค้นพบคุณค่าในงาน รัตติกรจึงเกิดแรงบันดาลใจลาออกมาตั้งบริษัทออกแบบและผลิตของเล่น

ทำของเล่นที่ดี เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และทำเพื่อเด็กเป็นหลัก คือความตั้งใจของบริษัทแห่งนี้

นักพัฒนาความสุข

หนึ่งในผลงานที่รัตติกรภูมิใจมากคือ Table Game หรือเกมที่ชวนคนมานั่งโต๊ะเล่นร่วมกัน จะเป็นเกมกระดาน เกมการ์ด หรือเกมโยนลูกเต๋า ก็มีทั้งนั้น และในแต่ละเกมกลุ่มเป้าหมายก็แตกต่างไปด้วย มีตั้งแต่เกมเพื่อเด็กเล็กจนถึงชาวบ้านในชุมชน

แน่นอนว่าทุกเกมล้วนสนุก แต่จุดร่วมที่มากกว่านั้นคือ ‘ความสามารถในการสื่อสาร’ หรือการที่เกมเป็นเครื่องมือช่วยหาคำตอบให้แก่บางคำถาม และช่วยสร้างบทสนทนาระหว่างผู้เล่นที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

เด็กประถมจึงใช้เกมของรัตติกรพัฒนาทักษะและสร้างความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ได้ ขณะที่ชาวชุมชนก็ใช้เครื่องมือนี้จุดประกายการแลกเปลี่ยนความคิด เช่น ครั้งหนึ่งที่มีการนำเกมไปให้หมอกับชาวบ้านเล่น เมื่อเกมเริ่ม ความเป็นหมอกับคนไข้ก็สลายหายไป เหลือเพียงความเป็นผู้เล่น ทำให้พวกเขาได้แลกเปลี่ยนความรู้และถกเถียงประเด็นต่างๆ ในชุมชนอย่างเปิดอกเป็นครั้งแรก

“เกมคล้ายกับหนังสือ แต่จะมีอีกมิติหนึ่งที่หนังสือให้ไม่ได้ นั่นคือ ความมีชีวิต เพราะประสบการณ์ของแต่ละคนที่เล่นในแต่ละวงไม่เหมือนกัน บรรยากาศการเล่นทุกครั้งก็ไม่เหมือนกัน” นักออกแบบเกมอธิบายเปรียบเทียบ

รัตติกร วุฒิกร

อย่างไรก็ตาม งานที่เธอได้นั้นมีความยากที่ต่างจากบริษัทผลิตเกมอื่นๆ เพราะโจทย์ที่ได้มักเป็นการให้ช่วยย่อยเรื่องเข้าใจยากแล้วถ่ายทอดออกมาผ่านเกม ทำให้ต้องมีการศึกษาข้อมูลแต่ละประเด็นอย่างหนักก่อนมาถึงขั้นตอนออกแบบและผลิต ชนิดที่ใช้เวลาเฉลี่ย 1 ปี ต่อ 1 เกม

ไม่ใช่แค่ต้องศึกษาข้อมูลจนเป๊ะ แต่กระบวนการออกแบบก็ต้องอาศัยการพลิกแพลงและความคิดสร้างสรรค์

รัตติกรยกตัวอย่าง  ‘The Choice’ หรือเกมกระดานที่ทำให้กระทรวงยุติธรรม โดยมีโจทย์คือถ่ายทอดเรื่องยากอย่างกฎหมายเกี่ยวกับหนี้และการระวังไม่ให้ถูกเอาเปรียบเรื่องการเงิน รัตติกรมองว่าในครั้งนี้เกมควรมีหน้าที่เป็นโลกจำลองให้ฝึกใช้จ่ายเงิน จึงเกิดเป็น The Choice ซึ่งมีสถานการณ์มาให้ผู้เล่นต้องตัดสินใจโยกย้ายเงินของตัวเองไปทำกิจกรรมอย่างการฝากเงินและการใช้จ่าย ที่พิเศษคือสถานการณ์เหล่านี้ล้วนมาจากเรื่องราวซ้ำๆ ซึ่งรัตติกรได้รับฟังมาจากเหล่าชาวบ้าน เมื่อนำไปใช้เล่นกับคนที่ประสบปัญหาเหล่านี้อยู่แล้ว จึงทำให้พวกเขาได้เข้าใจและฝึกฝนวิธีการบริหารเงินอย่างชาญฉลาดเพื่อใช้ในชีวิตจริง

รัตติกร วุฒิกร

อีกตัวอย่างที่น่าสนใจคือ เกมเกี่ยวกับการเอาตัวรอดเมื่อเกิดภัยพิบัติซึ่งรัตติกรออกแบบร่วมกับหน่วยงานของญี่ปุ่น เกมนี้ถูกไปเล่นทั่วเอเชีย แต่ความท้าทายคือแต่ละประเทศก็ล้วนมีเงื่อนไขที่ทำให้วิธีเอาตัวรอดต่างกันไป สิ่งที่รัตติกรทำจึงคือการไปช่วยออกแบบเกมใหม่ร่วมกับคนในแต่ละพื้นที่ เช่น ที่เนปาล เด็กๆ เคยถูกสอนว่าแผ่นดินไหวต้องหลบใต้โต๊ะ แต่สิ่งก่อสร้างของเนปาลมักไม่แข็งแรง ทำให้เด็กหลายคนที่อยู่ในที่โล่งแจ้งและปลอดภัยแล้วแต่เลือกวิ่งกลับไปหลบใต้โต๊ะต้องถูกบ้านถล่มทับ เกมจึงต้องถูกปรับใหม่ให้เหมาะสม

และล่าสุด รัตติกรก็ได้แสดงฝีมือร่วมสร้างเกมกับแบรนด์รถจักรยานยนต์ฮอนด้า และ TK Park

ชื่อของเกมนี้คือ ‘นักพัฒนาความสุข’

โจทย์ที่ได้มาคือ เด็กรุ่นใหม่อาจไม่รู้ว่าทำไมตอนรัชกาลที่ 9 สวรรคต พ่อแม่ถึงร้องไห้ ไม่รู้ว่าพระองค์ทรงงานอะไร รถจักรยานยนต์ฮอนด้าจึงอยากสื่อสารจุดนี้ เพื่อให้ผลงานของพระองค์เป็นแรงบันดาลใจให้เด็กๆ” รัตติกรเล่าถึงจุดเริ่มต้น

เกมนักพัฒนาความสุข

นักพัฒนาความสุข

จากโจทย์ที่ได้รับ นักออกแบบเกมเพื่อสังคมลงมือค้นคว้า ออกแบบ และนำเกมไปให้เด็กทดลองเล่นจริง ก่อนจะแก้ครั้งแล้วครั้งเล่าเป็นเวลากว่า 6 เดือน จึงได้ผลลัพธ์เป็น ‘นักพัฒนาความสุข’ เกมสื่อสารเรื่องพระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 9 หน้าตาน่ารักที่เป็น Family Game หรือเกมที่เน้นให้เด็กระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลายเล่น โดยมีผู้ปกครองร่วมเล่นและช่วยให้คำแนะนำ คุณสมบัติของเกมนี้ช่วยให้เด็กฝึกทักษะเรื่องความจำ และอีกสิ่งที่สำคัญมากคือ ‘การแบ่งปัน’

วิธีเล่นคือ ให้ผู้เล่น 4 คนแบ่งกันแก้ปัญหาใน 4 พื้นที่บนกระดานเกมคือป่า น้ำ เมือง และพื้นที่เกษตรกรรม ด้วยโครงการในพระราชดำริต่างๆ ผ่านการทอยลูกเต๋าและเดินหมาก เช่น หากเดินไปตกที่ช่อง ‘โครงการแก้มลิง’ ก็ต้องหาการ์ดแก้มลิงซึ่งคว่ำอยู่มาวางให้ตรงช่องนั้น แล้วนำวิธีการแก้ปัญหาแบบแก้มลิงไปแก้ให้เหมาะกับพื้นที่

เกมนักพัฒนาความสุข

นักพัฒนาความสุข

แต่ระหว่างนั้นจะมีอุปสรรคมาเพิ่มความท้าทายคือ กระดานแผ่นเล็กที่ใช้ควบคู่กันซึ่งเรียกว่า ‘ศูนย์การเรียนรู้’ โดยหากใครทอยลูกเต๋าได้รูปคนแทนตัวเลขจะต้องหยิบตัวหมากรูปคนซึ่งมีวางไว้ 9 ตัวที่กระดานนี้ออกไป 1 ตัว เมื่อไหร่คนออกนอกศูนย์ฯ หมด จะถือว่าหมดเวลาเล่นเกม เด็กๆ จึงไม่ได้แข่งกันเพื่อผลแพ้ชนะ แต่เรียนรู้เรื่องการให้อย่างเป็นธรรมชาติเมื่อต้องช่วยกันเพื่อแก้ปัญหาจนครบให้ทันเวลา นอกจากนี้ ในเกมยังมีชิ้นส่วนน่ารักอย่างคน บ้าน และต้นไม้ ให้เด็กๆ วางตกแต่งเกมได้เหมือนการเล่นสร้างเมือง แต่ทีมของรัตติกรได้ออกแบบช่อง ‘มุมแบ่งปัน’ ขึ้น และตั้งกฎว่าใครที่เดินไปตกมุมนี้จะต้องแบ่งให้เพื่อนนำชิ้นส่วนไปแต่งกระดานแทน เป็นอีกวิธีที่สอนให้เด็กหัดแบ่งปันอย่างแนบเนียน

เกมนักพัฒนาความสุข

นักพัฒนาความสุข

นับเป็นอีกผลงานที่สะท้อนถึงจุดประสงค์หลักของรัตติกรในการออกแบบเกม นั่นคือการพาหัวใจของเกมไปไกลกว่าแค่ความสนุก

เป็นสิ่งที่เธอเชื่อมั่นนับแต่วันแรกที่คนยังไม่คุ้นกับของเล่นที่ไม่ได้มีแค่ความบันเทิง จนถึงวันที่หลากหลายองค์กรเห็นผลสัมฤทธิ์ของสิ่งที่เธอทำ แล้วให้การสนับสนุนบอกต่อจนกลายเป็นที่รู้จักกว้างขวาง

“เป้าหมายของเกมที่เราทำขึ้นไม่ใช่แค่ต้องสนุกเพื่อให้ขายได้เยอะๆ แต่ต้องทำหน้าสื่อสารเรื่องราว ให้คนที่เอาเกมไปใช้รู้สึกดีและคนที่เล่นเกมได้อะไรกลับไป” รัตติกรกล่าวทิ้งท้าย

 

*ตอนนี้ทางรถจักรยานยนต์ฮอนด้าได้แจกเกม ‘นักพัฒนาความสุข’ ฝีมือรัตติกรให้คนทั่วไปแล้วกว่า 1,000 เซ็ต ใครอยากให้เด็กๆ ได้ลองเล่นเกมนี้ แวะไปที่ฮอนด้า วิงเซ็นเตอร์ทั่วประเทศได้เลย

 

Writer

Avatar

อลิษา ลิ้มไพบูลย์

นักอยากเขียนผู้เรียนปรัชญาเพื่อเยียวยาอาการคิดมาก เวลาว่างใช้ไปกับการร้องคอรัสเล่นๆ แบบจริงจัง และดูหนังอย่างจริงจังไปเล่นๆ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล