เวลาพูดถึง ‘โรงพยาบาลที่ดี’ ฉันเชื่อว่าคำตอบแรกๆ ที่นึกถึงคือโรงพยาบาลที่มีหมอเก่งกาจ มีเครื่องมือดีที่สุด ทันสมัยที่สุด

แต่คุณรู้มั้ยว่ามีอีกองค์ประกอบที่ไม่ควรมองข้าม

นั่นคือ ‘สภาพแวดล้อม’

ต้นไม้สีเขียวสักต้น สถาปัตยกรรมที่มีชีวิตชีวา สิ่งเหล่านี้สร้างบรรยากาศ สร้างความรู้สึกที่จับต้องไม่ได้ แต่ช่วยให้พวกเราซึ่งกำลังเผชิญหน้ากับความเจ็บป่วยอุ่นใจและสบายใจ

วันนี้ฉันจะพาคุณไปนั่งสนทนากับผู้คนที่อยู่เบื้องหลังสิ่งนี้

พวกเขาคือสถาปนิกชุมชนรุ่นใหม่ที่เรียกตัวเองว่า ‘CROSSs’ ทำงานหลากหลายรูปแบบ แต่หนึ่งในประเภทโปรเจกต์ที่มักทำอยู่บ่อยๆ คือการออกแบบโรงพยาบาล

ที่สำคัญ มันไม่ใช่การออกแบบที่ฟังความเห็นจากแค่สถาปนิกหรือเจ้าของ แต่พวกเขาสนใจ ‘กระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม’ หรือ ‘Co-Creation’ (ที่ช่วงนี้เราได้ยินกันอยู่บ่อยๆ) อธิบายอย่างง่าย มันคือรับฟังเสียงผู้ใช้พื้นที่โรงพยาบาลด้วยวิธีการอย่างการล้อมวงคุย ล้อมวงวาดแผนที่ ฯลฯ เพื่อรับฟังความต้องการแท้จริงของคนที่เกี่ยวข้อง แล้วนำมาปรับจนกลายเป็นแบบของโรงพยาบาลในฝัน

ลองนึกภาพโรงพยาบาลที่ตั้งแต่หมอถึงแม่บ้านได้ร่วมคิดว่าพวกเขาอยากเห็นอะไรในพื้นที่นี้

นั่นแหละงานแบบที่ CROSSs ทำอยู่

ตัวอย่างผลงานของพวกเขาก็เช่น เรือนพักผู้ป่วยที่เกาะยาวใหญ่ซึ่งเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมของชุมชน โรงพยาบาลเบญจลักษณ์เฉลิมพระเกียรติ ๘o พรรษา จังหวัดศรีษะเกษ ที่มีนาข้าวเป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยให้ผู้ป่วย และโรงพยาบาลพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ ที่มี ForeStation หรือจุดเรียนรู้เรื่องป่าเพราะมีป่าชุมชนเป็นทรัพยากรในเขตโรงพยาบาล

การทำงานรวมถึงแบกความฝันคนนับสิบนับร้อยใช้พลังเยอะและไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สถาปนิกหนุ่มกลุ่มนี้ก็โดดลงไปสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นอย่างเต็มใจ

ความคิด ความเชื่อของพวกเขาต่อการออกแบบโรงพยาบาล ‘อย่างมีส่วนร่วม’ เป็นอย่างไร

เมฆ สายะเสวี หนึ่งในสถาปนิกหนุ่มจาก CROSSs จะเล่าให้คุณฟัง

 CROSSs

ขยายความหน่อยว่าการออกแบบสภาพแวดล้อมสำคัญกับโรงพยาบาลยังไง

ก่อนมาออกแบบโรงพยาบาล เรามองแค่มิติเดียวว่าถ้าหมอเก่งและมีวิธีการรักษาทางการแพทย์ที่ทันสมัย โรงพยาบาลนั้นน่าจะดี แต่จริงๆ แล้วเราได้ความรู้จากคุณหมอตอนที่ไปออกแบบโรงพยาบาลว่า สุขภาพใจ สุขภาพกาย คนจะดีได้ หรือผู้ป่วยจะรักษาความเจ็บป่วยของตัวเองได้ มันมีปัจจัย 3 เรื่อง เรื่องแรกคือ เรื่องยารักษาโรค เรื่องการบำบัด ซึ่งเป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เรื่องที่สองคือ สังคมวัฒนธรรม การปฏิสัมพันธ์ของผู้คนภายในพื้นที่ เช่น แค่เห็นหน้าคนรู้จักในหมู่บ้านเดียวกันมาคอยใส่ใจมันก็อุ่นใจขึ้น ประเด็นสุดท้ายซึ่งเกี่ยวกับสถาปนิกโดยตรงคือสภาพแวดล้อม ซึ่งสำหรับเราคือการออกแบบพื้นที่ที่เอื้อให้คนรู้สึกปลอดโปร่ง สบาย หรือจิตใจผ่อนคลาย ที่จริงมันเป็นการเยียวยาทางตรงเลยนะ เหมือนเราเดินเข้าป่า เข้าไปในที่ที่เย็น หายใจได้คล่อง มองแล้วสบายตา กลิ่นสดชื่น เราคิดว่าเท่านี้ความรู้สึกได้รับการบำบัดก็เกิดขึ้นแล้ว และจากเคสที่เคยออกแบบ พื้นที่ส่วนใหญ่ที่คนต้องการคือที่ที่อยู่ใกล้กับสวน ได้ยินเสียงน้ำ ได้กลิ่นที่ดี แล้วก็มีทางเดินสะอาด มันเป็นเรื่องสภาพแวดล้อมค่อนข้างชัด

โมเดล

ออกแบบ

ปัญหาใหญ่ของโรงพยาบาลไทยคืออะไร

น่าจะเป็นเรื่องระบบที่เรามีผู้คอยวางทิศทางของโรงพยาบาลและระบบสาธารณสุขทั่วประเทศอยู่ แต่ในการทำงานจริง การเชื่อมคนพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลเข้ากับระบบใหญ่ค่อนข้างเป็นไปได้ยาก และเราคิดว่าเพราะต้องจัดการจากศูนย์กลาง การพัฒนาโรงพยาบาลจึงต้องใช้ตัวเลขในการชี้วัด เช่น เราจะทำโรงพยาบาลที่รักษาคนได้จำนวนมากขึ้น ฉะนั้น ตัวชี้วัดก็คือปริมาณตึก ปริมาณพนักงาน ปริมาณหมอ นั่นคือวิธีคิดของส่วนกลาง แต่สิ่งที่เราพบตอนที่ลงภาคสนามจริงๆ คือในพื้นที่บางที่ไม่ได้ต้องการตึกหรือเจ้าหน้าที่จำนวนมาก เพราะใช้การเยียวยากันเองด้วยคนในชุมชนโดยที่หมอเป็นเพียงคนให้ความรู้ ถ้าคนไข้อาการหนักมากก็ส่งต่อไปที่โรงพยาบาลใหญ่ของจังหวัดอีกที

ออกแบบ

สิ่งที่เรียกว่า ‘การออกแบบอย่างมีส่วนร่วม’ ช่วยแก้ปัญหานี้ยังไง

ภารกิจหลักของเราคือ ทำให้คนที่ทำงานตรงนั้นหรือคนที่เข้าไปใช้โรงพยาบาลนั้นรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาโรงพยาบาล ในทิศทางที่เขาคิดว่าน่าจะเป็น เช่น ตอนไปออกแบบโรงพยาบาลพนมดงรักที่สุรินทร์ คุณหมอและผู้จัดการโรงพยาบาลเป็นนักพัฒนาในสายเลือดและมีใจที่บริการ อยากให้โรงพยาบาลนี้เข้าถึงชุมชน ขณะที่ชุมชนก็ช่วยกันออกเงินเพื่อให้ช่างในพื้นที่สร้างสิ่งต่างๆ  อันนี้คือความตั้งใจดีมากที่เราเห็น

สิ่งที่เราเข้าไปสนับสนุนในบทบาทสถาปนิกคือ ช่วยเติมหลักคิดในการออกแบบสภาพแวดล้อม เรื่องที่สองคือ จัดกระบวนที่ให้คนมานั่งคุยกันซึ่งเป็นเรื่องใหม่สำหรับโรงพยาบาล ทำให้ทุกคนรู้ว่าที่จริงคุณหมอกับผู้จัดการก็จัดกระบวนการแบบนี้ได้ แล้วการจัดสิ่งนี้ก็จะช่วยให้มีหลายหัวมาช่วยกันคิด รูปแบบของอาคารก็จะดูน่าตื่นเต้นขึ้น เราคิดว่าสิ่งที่ทำให้การออกแบบโรงพยาบาลของเราต่างจากการออกแบบปกติคือ เราทำให้เขาเห็นว่างานออกแบบเป็นเรื่องของทุกคนได้ เพราะทุกคนใช้งานพื้นที่นั้น สถาปนิกเป็นแค่คนแปลภาษาที่ทุกคนคุยกันให้เป็นภาพ

เวิร์กช็อป

ไอเดีย

คุณทำให้คนในโรงพยาบาลเข้าใจการออกแบบวิธีนี้ได้ยังไง

สิ่งแรกที่คนเข้าใจคือ เราเป็นสถาปนิก เป็นนักออกแบบ ที่จะไปออกแบบให้โรงพยาบาลเขาดีขึ้น และอาจจะมองว่าการออกแบบของเราคือ เขาให้โจทย์เรา พาเดินดูพื้นที่ แล้วก็รอดูว่าหน้าตาอาคารหรือสิ่งที่จะเนรมิตขึ้นมาจะเป็นยังไง เขาเองจะโอเคมั้ย เราก็อาจใช้วิธีการให้เขามีส่วนร่วมแบบเป็นธรรมชาติ คือไม่ได้ไปฝืนหรือบังคับ เช่น ที่โรงพยาบาลพนมดงรัก เราก็ทดลองบอกคุณหมอไปว่า มี Master Plan โรงพยาบาลในฝันในอีก 10 – 20 ปีมั้ย เราอยากเห็นจังว่าเป็นยังไง คุณหมอก็ทำมาเลย เป็นผังตึกที่เขียนด้วยไมโครซอฟต์เวิร์ด แล้วก็อธิบาย เช่น อยากมีโรงสีข้าวตรงนี้ แล้วเราก็เอาสิ่งที่เขาทำมาให้คนอื่นมาเสนอไอเดียต่อ เป็นการทำให้ทุกคนเข้าใจว่านี่คือการทำงานแบบมีส่วนร่วม ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องที่ต้องเตรียมตัวเยอะ แค่เราเปิดเวทีให้คนมาเสนอไอเดียซ้อนกับไอเดียที่เราคิดด้วยโจทย์ที่มันชัด เช่น ทำยังไงให้โรงพยาบาลดีสำหรับทุกคน พอผ่านกระบวนการรอบนี้ปุ๊บ ความเข้าใจขั้นต้นก็เกิดเลย

แบบจำลอง

แล้วชวนคนที่รู้สึกว่าฉันไม่เกี่ยวกับการออกแบบโรงพยาบาล เช่น แม่บ้าน มาร่วมวงยังไง

ยิ่งแม่บ้านนี่เขายิ่งอยากร่วมมากเลย (หัวเราะ) เพราะเขาคือคนที่ต้องเข็นรถ เอาของไปทิ้ง เห็นปัญหาเรื่องการสัญจรในโรงบาล เห็นปัญหาว่าต้องมีที่พักที่คนอื่นจะไม่บ่น 

 

ถ้าคนร่วมออกแบบเห็นไม่ตรงกันล่ะ

สิ่งที่สำคัญคือ ก่อนเกิดเหตุการณ์นั้น เราต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้ทุกคนรู้สึกสบายใจที่จะได้เล่าสิ่งที่ตัวเองอยากเล่าและต้องทำให้เขารู้สึกรับฟังคนอื่นมากๆ ด้วย แต่ถ้ามีเหตุการณ์เกิดขึ้น จะมีการจัดการ 2 แบบ แบบแรกคือจัดการฉับพลัน ณ ตรงนั้น โดยเราก็ว่ากันด้วยเหตุผล เช่น คนสองคนเกิดเห็นขัดแย้งกัน เราก็จะสเกตช์ความคิดเป็นภาพเลยแล้วพูดเรียบๆ ว่า ฝั่งนี้มีข้อดีตรงนี้ ฝั่งนั้นข้อดีคือตรงนี้ พยายามหาข้อดีของ 2 อันนี้แล้วหยิบมารวมกัน แต่ถ้ารวมกันไม่ได้ ก็มาดูกติกาว่า ก่อนเกิดความขัดแย้ง เราคุยกันว่าอาคารหรือพื้นที่ที่เราออกแบบคืออะไร

แต่ถ้าเรารู้สึกว่ามันแรงไป ก็จะจัดการด้วยแบบที่สองคือ ไม่จำเป็นต้องตัดสินวันนั้นเลยก็ได้ เราก็ทดไว้ว่ามันก็มีข้อดีทั้งคู่ แล้วมาคุยต่อตอนกลางคืนหรืออีกวันมาเจอกันใหม่ มันก็จะค่อยๆ คลี่คลาย เพราะบางทีคนที่กำลังตั้งธงรบกันอยู่อาจโฟกัสแค่เรื่องการเอาชนะ ไม่มีเวลาให้ไตร่ตรองว่าสิ่งที่เขาทำเป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกคนร่วมคิด เราก็ใช้เวลาช่วยจัดการ

และถ้าเป็นความขัดแย้งที่เกิดในองค์กร วิธีที่เราชอบใช้บ่อยๆ คือ มองงานนี้ให้กว้างกว่าตัวโรงพยาบาล เช่น ที่โรงพยาบาลพนมดงรัก เราก็มองไปว่ามันเป็นโรงพยาบาลเดียวนะที่ยังมีป่าชุมชนหลงเหลืออยู่ เพราะฉะนั้น มันคือเรื่องของชุมชน ของทั้งเมือง ต้องชวนนายกเทศบาล ต้องชวนพระ มาคุยด้วย ทีนี้ความรู้สึกต้องเอาชนะภายในองค์กรก็จะน้อยลง

ประชุม

เวลาทำงานคุณให้ความสำคัญกับเรื่องอะไรเป็นพิเศษ

สิ่งที่เรากังวลที่สุดคือ เราต้องใช้พลังงานในการจัดการพูดคุย เพราะวงที่ทุกคนมานั่งคุยกัน หาทางออกร่วมกัน ต้องใช้พลังงานความสร้างสรรค์สูงมาก ต้องใช้การรับฟังสูงมาก เราต้องนำวงให้ทุกคนรู้สึกผ่อนคลายและไม่ได้หนักสมองเกินไป เป็นวงที่ทุกคนเข้ามาแล้วรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับมันได้มากที่สุด ซึ่งหลักที่ทีมเรายึดก็คือต้องวางแผนให้ดีมากๆ ต้องจัดทีมนำวงที่อาจมีมากกว่าหนึ่งคนเผื่อคนนำวงรู้สึกหมดพลัง เพราะบางทีคนก็มากัน 50 คน

 

หลังออกแบบโรงพยาบาลมาหลายที่ คุณคิดว่ามันต่างจากงานออกแบบอื่นๆ มั้ย

ไม่ต่างนะ สิ่งที่เราว่าต่างคือความคิดในการออกแบบโรงพยาบาลของเรากับคนอื่นๆ เรารู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ออกแบบโรงพยาบาลอยู่ แต่ออกแบบพื้นที่ให้คนได้มีปฏิสัมพันธ์กัน ได้รู้สึกสบาย และให้คนใช้งานได้มีส่วนร่วมมากที่สุด สิ่งที่เราออกแบบจึงแตะกับส่วนที่เป็นการรักษาทางการแพทย์น้อยมาก เช่น การออกแบบโรงพยาบาลที่เกาะยาวใหญ่ก็กลายเป็นการออกแบบเพิ่มพื้นที่ให้ที่พักของญาติ หรือออกแบบห้องของผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่มีบรรยากาศเหมือนบ้าน ซึ่งถ้าเราออกแบบโรงเรียน ออฟฟิศ หรือบ้าน คนก็คงไม่ต่างกัน สุดท้ายเราก็คงได้พื้นที่ที่สบาย และคนที่เข้ามาใช้รู้สึกว่ามันควรจะต้องเป็นแบบนี้

ที่ดิน

สนาม

 

พอออกแบบจนเสร็จ โรงพยาบาลของคุณต่างจากโรงพยาบาลทั่วไปหรือเปล่า

ถ้าเป็นทางกายภาพนี่ต่างเลย เช่น ตอนออกแบบอาคารใหม่ที่โรงพยาบาลพนมดงรัก เราไม่ได้รีเสิร์ชแบบมาตรฐานของกองแบบแผน แล้วก็แทบไม่ได้คำนึงเลยว่าอาคารนี้ต้องล้อกับอาคารข้างๆ มากแค่ไหนหรือต้องได้อิทธิพลมามั้ย แบบที่เกิดมาจากคนในพื้นที่นั้นซึ่งอยู่กับพวกเรา เป็นอาคารที่มีใต้ถุนบ้านของเรือนพื้นถิ่นอีสานแบบเดิม มีชาน ค่อนข้างให้ความรู้สึกถ่อมตัว เราอธิบายไม่ได้เหมือนกันว่ามันคือสถาปัตยกรรมรูปแบบไหน แต่มันเกิดมาจากคนตรงนั้น แล้วทุกคนรู้สึกว่า นี่แหละ อาคารใหม่ที่เขาต้องการให้อยู่ในโรงพยาบาลของเขา แล้วโรงพยาบาลซึ่งเราออกแบบล่าสุดก็อยู่จังหวัดติดกัน แต่แบบคนละสไตล์ ซึ่งทำให้เราสบายใจว่านี่เป็นโรงพยาบาลที่ต้องตั้งอยู่แค่ตรงนี้แหละ ย้ายไปตั้งที่อื่นแล้วไม่เหมาะ ไม่ใช่

ส่วนเรื่องความรู้สึกของคนในโรงพยาบาล เขาจะรู้สึกเป็นเจ้าของและรับผิดชอบมันมากขึ้น ทำให้โรงพยาบาลมีแบบที่ซ่อนอยู่ในแบบที่เขียนขึ้นเยอะมาก คือถึงเราออกแบบอาคารที่ผู้รับเหมาต้องสร้างได้ตอนส่งมอบงาน แต่พื้นที่จริงจะมีบริเวณปลูกสมุนไพรซึ่งไม่มีอยู่ในแบบ แต่เขาวางแผนกันว่าจะทำต่อ ชาวบ้านจะเอาแคร่มาตั้งตรงนี้เพื่อทำตลาดนัดชุมชน หรือในโรงพยาบาลพนมดงรักที่เราออกแบบอาคารแล้วเซอร์ไพรส์เขาด้วยแบบจุดเรียนรู้เรื่องป่าที่เชื่อมกับอาคารนี้ เขาก็ไปออกแบบกันต่อ นี่คือการออกแบบเพิ่มของคนในพื้นที่

แบบโรงพยาบาล

แบบจำลอง

นอกจากเห็นความสำคัญของสภาพแวดล้อม งานนี้เปลี่ยนมุมมองของคุณต่อโรงพยาบาลในด้านอื่นอีกมั้ย

เราได้เข้าใจว่าโรงพยาบาลเกี่ยวข้องกับเราตั้งแต่เกิดจนตายจริงๆ เราเห็นคนมาคลอดที่นี่จนถึงคนป่วยที่อยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต แล้วก็ถึงขั้นอยากออกแบบโรงพยาบาลให้เป็นอีกแบบหนึ่งเลย ตั้งคำถามว่าพื้นที่ที่เยียวยาคนจริงๆ น่าจะเป็นแบบไหน ระบบที่คนอุ่นใจ เข้ามาในนี้แล้วได้ทั้งเรื่องเทคโนโลยีการรักษา ได้สภาพแวดล้อมที่ดีมาก และได้การเกื้อหนุนจากชุมชนรอบข้างด้วยจะเป็นหน้าตายังไง และสุดท้ายแล้ว โรงพยาบาลอาจไม่ใช่ที่ที่ไปเพื่อรักษา แต่เป็นที่ที่เราไปเพื่อตายอย่างสงบได้ด้วยหรือเปล่า

แต่ยังไงก็ตาม ในชีวิตจริงเราก็ยังสนุกกับการซ่อมโครงสร้างเดิมที่มีภายใต้เงื่อนไข การได้ดีลกับความจริง และอยากให้มันไปถึงขั้นมีโอกาสเสนอแคมเปญที่ช่วยให้ทุกคนร่วมซ่อมสถานพยาบาลใกล้บ้านของตัวเองได้โดยใช้ทักษะของตัวเอง แล้วขอเงินจากส่วนกลางเพื่อปรับปรุงให้ได้โรงพยาบาลตามฝัน

CROSSs

Facebook: CROSSs

Writer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan