คุณและฉันอาจมีความทรงจำถึง ‘ครู’ แบบเดียวกัน คือเป็นคนที่เราต้องเจอในโรงเรียน มักยืนสอนหนังสือ (ซึ่งเดี๋ยวจะกลายเป็นข้อสอบ) อยู่หน้ากระดาน พร้อมถือไม้เรียวไว้ขู่เด็กๆ

แต่หากลองฉีกภาพจำนั้น มองลึกไปถึง ‘คุณค่า’ เราจะได้เห็นว่าบุคคลหน้าห้องเรียนนี้คือ ห่วงโซ่สำคัญของระบบการศึกษา-สิ่งที่เป็นรากฐานการพัฒนาประเทศ

การได้พบครูคุณภาพ 1 คน อาจเปลี่ยนแปลงชีวิตเด็กหลายสิบ หลายร้อยคน

ก่อการครู

อย่างไรก็ตาม การเป็นครูไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะระบบการศึกษาไทยมองว่าครูคือผู้ป้อนความรู้แก่นักเรียนซึ่งเหมือนภาชนะว่างเปล่า และยังคงตีความ ‘ความรู้’ ตามวิธีคิดแบบเก่า นั่นคือเน้นการเรียนจากตำราเป็นหลัก การสร้างครูของเราจึงปาดไฮไลต์ที่มิติเชิงวิชาการ พร้อมวางความคาดหวังบนบ่าให้ครูสอนวิชาจากตำราครบถ้วน พานักเรียนไปสู่คะแนนสอบที่ดี รวมถึงเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็กๆ

เราหลงลืมไปว่าครูคือมนุษย์มีเลือดเนื้อ มีหัวใจ มีความทุกข์ในชีวิตและงานไม่ต่างจากใครอื่น

และนี่คือ ‘ปัญหา’ ซึ่งกลุ่มคนตัวเล็กที่ฉันมานั่งสนทนาด้วยวันนี้มองเห็น

พวกเขาคือกลุ่มคนจากหลากอาชีพ มีตั้งแต่อาจารย์ นักการศึกษา จนถึงจิตแพทย์ หากให้ยกตัวอย่างก็เช่น เดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พฤหัส พหลกุลบุตร ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษา มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) และ ณัฐฬส วังวิญญู กระบวนกรจากสถาบันขวัญแผ่นดินซึ่งทำงานเกี่ยวกับเรื่องเชิงจิตวิญญาณภายใน 

ก่อการครู

ทุกคนมีจุดร่วมคือเป็นผู้ทำงานด้านการศึกษาและพัฒนามนุษย์มายาวนาน และหลังพบปะจนคุ้นเคย พวกเขาก็ตกลงใจมาร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษาไทย โดยมีเจ้าภาพเชิงวิชาการคือ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เป็นการเปลี่ยนแปลงซึ่งเริ่มต้นที่ครู-คนตัวเล็กแต่มีบทบาทยิ่งใหญ่

ด้วยโครงการชื่อว่า ‘ก่อการครู’

แน่นอน นี่ไม่ใช่หลักสูตรพัฒนาครูรสชาติเดิมที่เน้นเทคนิควิชาการ แต่มุ่งสนใจครูในฐานะ ‘มนุษย์’

“สิ่งที่เราสนใจคือมิติของความเป็นมนุษย์แบบรอบด้านของครู ทั้งในเรื่องความสัมพันธ์ การดูแลภายในของตัวเอง หรือเทคนิควิธีการที่ไม่ใช่การสอนนักเรียนเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการสร้างสัมพันธภาพใหม่” พฤหัสที่เป็นหนึ่งในผู้ร่วมพูดคุยวันนี้เอ่ยเล่า

พฤหัส พหลกุลบุตร

อธิบายแบบกระชับเข้าใจง่าย โจทย์ที่ต้องการทำให้หลักสูตรก่อการครูแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกชื่อว่า ‘ภาวะผู้นำและการเข้าใจตนเอง’ มุ่งไปที่ตัวตนของคนเป็นครู ประกอบด้วยวิชาสอนการดูแลจิตใจเมื่อเจอปัญหาในวิชาชีพ วิชาสอนการสร้างความสัมพันธ์แบบใหม่ในห้องเรียน ที่ไม่ใช่ครูเหนือกว่าเด็กตลอดเวลา เพื่อให้บรรยากาศในห้องดีขึ้น เด็กอยากเรียนและงอกงาม ปิดท้ายด้วยวิชาการดูแลเด็กที่มีความต้องการพิเศษหลากรูปแบบ ซึ่งสอนโดยจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

เมื่อรู้วิธีรับมือปัญหาภายในใจและจัดการความสัมพันธ์ ก็มาถึงการรับความรู้จากส่วน ‘พัฒนาการเรียนรู้ (ตลาดวิชา)’ หรือหลักสูตรช่วงที่เหล่าวิทยากรหยิบ 15 วิชาที่อยากสอน น่าเรียน และอาจไม่ค่อยมีใครสอนกันมาให้ครูเลือกเรียนโดยอิสระ ตั้งแต่วิชา ‘หยุดการรังแก ด้วยการสื่อสารอย่างสันติ’ จนถึงวิชาชื่อแปลกหูอย่าง ‘เวทมนตร์คาถาในการสร้างการเรียนรู้ที่เปี่ยมความหมาย’

หลังจากนั้นก็มาถึงช่วง ‘พัฒนาและออกแบบกระบวนการเรียนรู้’ หรือการลงมือปฏิบัติจริง ที่ครูจะได้ลงมือทำแล้วนำเสนอให้เพื่อนครูในชั้นเรียนชม เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนขึ้น

ก่อการครู

ทั้งหมดเป็นหลักสูตรการเรียนรู้ที่ตั้งใจตอบโจทย์ความเป็นมนุษย์ในตัวครูแต่ละคน เพื่อให้พวกเขาพร้อมออกไปสร้างการเปลี่ยนแปลง

“ครูที่ดุอาจทำเพราะรัก ห่วงใยลูกศิษย์ แต่ไม่มีเครื่องมือ ซึ่งที่จริงมีวิธีอื่นแต่เขาอาจยังไม่รู้ ไม่เคยถูกฝึกฝน พอเขาเปลี่ยนไปใช้วิธีอื่นที่เด็กโอเคขึ้น เด็กก็โต้ตอบอีกแบบหนึ่ง เขาก็รู้สึกว่าถูกรัก มีครูจำนวนมากเลยที่บอกว่ามาเปลี่ยนในวันที่อายุห้าสิบแปดแล้ว เหลือเวลาราชการอีกสองปีจะเกษียณ เขาร้องไห้ บอกว่าทำไมไม่รู้สิ่งนี้เมื่อยี่สิบปีที่แล้ว ฉันทำร้ายเด็กไปเท่าไหร่แล้ว นี่คือคำพูดของครูที่พวกเราทำงานด้วยแล้วเขาเกิดการเปลี่ยนแปลง” พฤหัสถ่ายทอดประสบการณ์ที่ผ่านมา

ที่สำคัญ หลักสูตรก่อการครูไม่ได้ตั้งใจแค่สร้าง ‘ครูคุณภาพ’ กลับเข้าสู่ระบบ

แต่พวกเขาตั้งใจตอบโจทย์ข้อใหญ่ที่สุด นั่นคือการสร้าง ‘ครูคุณภาพสำหรับการศึกษาในศตวรรษที่ 21’ ซึ่งต้องการทั้งเครื่องมือแบบใหม่และ Soft Skill หรือทักษะด้านอารมณ์

ก่อการครู

เพราะยุคนี้คือยุคที่เทรนด์การศึกษาเน้นให้ครูเปลี่ยนบทบาทจาก ‘ผู้ให้’ โดยให้ความรู้ชุดเดียวแก่นักเรียนเพื่อผลิตคนแบบ Mass Production ตามแนวคิดการศึกษาแบบเก่า มาเป็น ‘เพื่อนร่วมเรียน’ ช่วยนำนักเรียนเข้าถึงความรู้ด้วยวิธีที่สนุก สอดรับกับธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็ก

และความรู้ที่ว่านั้นก็ไม่ได้จำกัดแค่ในตำราอีกต่อไป แต่ต้องสัมพันธ์กับโลกรอบด้าน เพื่อพัฒนาเด็กให้เติบโตงดงามแบบองค์รวม พร้อมสำหรับโลกปัจจุบันที่ต้องการ ‘ทักษะชีวิต’ มากกว่าความรู้ชุดเดียวจากหนังสือเรียน

“ยกตัวอย่างเช่นการเรียนวิทยาศาสตร์เรื่องต้นไม้ แบบเดิมคือเอาหนังสือมา ดูรูปต้นไม้ ต้นไม้นี้มีกี่ชนิด ท่องสอบ จบ แต่แบบใหม่คือไปเดินชมต้นไม้ จับ ขยี้ขยำ ทำงานศิลปะกับต้นไม้ ให้เขาได้มีประสบการณ์กับต้นไม้จริงๆ ให้มีมิติของความสัมพันธ์ที่นำไปสู่การเริ่มต้นบางอย่าง แล้วทีนี้ครูก็ชวนคุย ต้นไม้มันทำอะไรกัน มีส่วนประกอบของอะไร ลองหาจากเน็ตสิ มันก็จะมีการแลกเปลี่ยน มีปฏิสัมพันธ์มากกว่าแค่เด็กรอรับและครูให้” พฤหัสอธิบายเห็นภาพ

ด้วยเหตุนี้ ก่อการครูจึงไม่ใช่แค่โครงการเล็กๆ ที่ช่วยแก้ไขปัญหาให้ครูไทย

แต่คือโครงการที่หวังช่วยให้ ‘การศึกษาไทย’ ก้าวทันโลก

ก่อการครู

และเพราะต้องการเปลี่ยนแปลงครูอย่างถึงแก่น หลักสูตรนี้จึงไม่ใช่การอบรมที่เน้นปริมาณในระยะเวลาสั้นๆ แต่เลือกทำงานกับครูรุ่นแรกจำนวน 100 คน เป็นเวลา 1 ปี โดยเริ่มจากครูมัธยมซึ่งน่าจะต้องรับมือกับปัญหาต่างๆ มากที่สุด เพราะประกอบด้วยหลายปัจจัย เช่น มัธยมต้นคือช่วงที่เด็กต้องเลือกว่าจะเรียนสายสามัญหรือวิชาชีพ ขณะที่มัธยมปลายคือช่วงขับเคี่ยวก่อนเข้ามหาวิทยาลัย

พวกเขาตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะอบรมครูทั้งโครงการจำนวน 5,000 คน หรือ 1 เปอร์เซ็นต์ของครูทั้งระบบการศึกษา ในระยะเวลา 5 ปี เพื่อเป็นจุดคานงัดสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีพลัง

1 เปอร์เซ็นต์อาจฟังดูเป็นจำนวนน้อยนิดในมหาสมุทรการศึกษา แต่ชาวก่อการครูตั้งใจให้มันเป็นจำนวนที่เข้มแข็ง ด้วยการออกแบบหลักสูตรที่สนับสนุนให้เกิด ‘ชุมชน’ 

รวบรวมคนคิดเหมือนกันมาช่วยส่งพลังแก่กัน

“เรื่องชุมชนนี่เป็นหัวใจเลย” พฤหัสบอกฉัน “ถ้าครูสมัครใจมาโครงการนี้ มันจะมีพลังของคนมีความคิดคล้ายกัน เผ่าพันธุ์เดียวกันมาเจอกันเยอะๆ เฮ้ย ฉันไม่ได้บ้าอยู่คนเดียว ไม่ได้เฟลอยู่คนเดียวนะ รวมถึงได้มาแลกเปลี่ยนกัน มีจังหวะที่ฉันติดปัญหา เธอมาช่วยฉันหน่อย” 

ก่อการครู

จากการพูดคุยถึงความฝันอยากสร้างการเปลี่ยนแปลง โครงการก่อการครูเริ่มเปิดรับสมัคร ‘ครูผู้ก่อการ’ แล้วตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2561

เพียงสิบกว่าวัน มีครูยื่นใบสมัครไม่ขาดจนเป็นจำนวนน่าชื่นใจ

เป็นสิ่งพิสูจน์ว่าฝันนี้ พวกเขาไม่ได้ฝันอยู่เพียงลำพัง

“เราเชื่อมั่นมากว่าสิ่งนี้จะสร้างการเปลี่ยนแปลง โครงการนี้คงไม่ได้ทำงานแค่ปีเดียว เป็นโครงการระยะยาวและยากมาก เพราะไปเปลี่ยนเรื่องระบบวิธีคิดด้วย แต่เราก็เชื่อมั่นว่ามันเป็นคำตอบสำหรับอนาคต สำหรับประเทศ” พฤหัสยืนยันความเชื่อของชาวก่อการครู

ความเชื่อที่ได้รับการรดน้ำให้ผลิบานในโลกความจริง

เพื่อครู เพื่อนักเรียน เพื่อฉันและคุณ

ติดตามกิจกรรมจากโครงการก่อการครูได้ที่ Facebook : ก่อการครู

Writer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN

Photographer

Avatar

ลักษิกา จิรดารากุล

ช่างภาพที่ชอบกินบะหมี่ ถูกชะตากับอาหารสีส้ม และรักกะเพราไก่ใส่แครอท