16 กุมภาพันธ์ 2018
9 K

อนิจจาบ้านเมืองน่าเวทนา เจ้าแทบไม่กล้ารู้จักตัวเอง

ประโยคด้านบนแปลมาจากบทละครอมตะเรื่อง Macbeth ของเชกสเปียร์ ซึ่งว่าด้วยหายนะจากการกระหายอำนาจ มันปรากฏขึ้นครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อน จาก เชคสเปียร์ต้องตาย (Shakespeare Must Die) หนังผีสัญชาติไทยที่นำบทละครโศกนาฏกรรมเรื่องนี้มาดัดแปลง โดยสอดแทรกการสำรวจ สัมผัสประเด็นละเอียดอ่อนของบ้านเมืองไว้ระหว่างบรรทัด

ไม่ยากเกินคนไทยคาดเดา-หนังเรื่องนี้โดนแบน หรือถูกห้ามฉายในราชอาณาจักรไทย

ต้นปี พ.ศ. 2561 ฉันได้พบ สมานรัชฏ์ กาญจนะวณิชย์ และ มานิต ศรีวานิชภูมิ ผู้กำกับภาพยนตร์และโปรดิวเซอร์ซึ่งสนใจการวิพากษ์สังคมและอยู่เบื้องหลังหนังเรื่องนี้ ตลอดหลายปี ทั้งคู่ไม่ได้ยอมจำนนศิโรราบต่อคำตัดสินแบนหนังของพวกเขา แต่กลับเดินหน้ายื่นอุทธรณ์ต่อศาล และระหว่างนั้นก็บันทึกเหตุการณ์การต่อสู้ไว้เป็นภาพยนตร์สารคดีชื่อ เซ็นเซอร์ต้องตาย (Censor Must Die)

หากแม้ผลงานนี้จะผ่านกองเซนเซอร์ด้วยเหตุผลว่าสร้างจากเรื่องจริง มันยังคงถูกขัดขวางจนไม่อาจเข้าฉาย

“ถ้าหนังโดนแบนหลายรอบ คุณจะโกรธมาก” สมานรัชฏ์บอกฉันด้วยน้ำเสียงที่ยังกรุ่นด้วยอารมณ์ ใกล้เคียงกันคือมานิตที่ดูนิ่งสงบกว่า แต่ฉันแน่ใจว่าเขารู้สึกไม่ต่างนัก

ความโกรธเกรี้ยวนั้นนำไปสู่สิ่งใด?

สมานรัชฏ์ กาญจนะวณิชย์

มานิต ศรีวานิชภูมิ สมานรัชฏ์ กาญจนะวณิชย์

คำตอบคือ การลุกขึ้นสร้าง ‘พื้นที่เสรี’ ของตัวเอง-สถานที่ซึ่งเรานั่งสนทนากันอยู่ขณะนี้

Cinema Oasis เป็นโรงหนังอิสระบนผืนดินมรดกประจำตระกูลของสมานรัชฏ์ในซอยสุขุมวิท 43 ซึ่งจะเปิดตัวในเดือนมีนาคม โรงหนังขนาด 48 ที่นั่งนี้มีจอซิเนมาสโคป 5.1 ระบบเสียง Dolby 5.1 จนถึงเก้าอี้กำมะหยี่คุณภาพไม่ต่างจากโรงภาพยนตร์ชั้นเยี่ยม สะท้อนแนวคิด Universal Design ด้วยที่นั่งซึ่งผู้ใช้รถเข็นเข้าชมได้ บนชั้น 3 มี Galerie Oasis ไว้จัดแสดงงานหมุนเวียนจากหลากหลายศิลปิน เพื่อส่งเสริมศิลปะแขนงอื่นที่อาจถูกละเลย

Cinema Oasis

Cinema Oasis

‘องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร’ คือคำบรรยายโรงหนังแห่งนี้บนหน้าเพจเฟซบุ๊ก นั่นเพราะพวกเขาตั้งใจดำเนินงานแบบมูลนิธิ เพื่อช่วยโอบอุ้มให้คนทำหนังรายเล็กได้ทำสิ่งที่รักอย่างมีอิสระ ไม่ต้องต่อสู้กับปัญหา เช่น ระบบผูกขาดของโรงหนังซึ่งแทบไม่เหลือพื้นที่ให้ได้หายใจและได้กำไร ทั้งยังได้จัดฉายผลงานที่รักในสถานที่คุณภาพ ไม่ต้องไปกางจอโปรเจกต์เตอร์ฉายกันกลางโรงอาหารสักที่อย่างทุลักทุเล

“ถ้าคุณถามว่า ทำไมไม่ไปฉายเมืองนอกล่ะ เขาก็มีกลุ่มของเขาที่เฝ้าประตูตรงนั้น ต้องทำหนังลักษณะเดียวถึงจะไปสู่ประตูเทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศได้ เราก็หวังว่าอย่างน้อย ถ้าคุณเก่งพอ มีวิสัยทัศน์จริง มีมุมมองใหม่ที่น่าสนใจ ฉันดูรู้เรื่อง สนุก เราก็ให้โอกาสคุณ คุณก็จะไม่ต้องตาย และคุณไม่ต้องไปก๊อปปี้คนนั้นคนนี้เพื่อที่จะได้ไปฉายที่นั่นที่นี่ แค่เป็นตัวคุณ ทำภาพยนตร์ไทยแท้ๆ ทำอย่างที่คุณเป็น เราหวังว่าจะค้นพบสิ่งนี้” สมานรัชฏ์เอ่ยเล่าความฝันต่อนักทำหนังรุ่นใหม่

สมานรัชฏ์ กาญจนะวณิชย์

 ไม่เพียงแต่เป็นโอเอซิสของนักทำหนังอิสระ ที่นี่ยังเป็นโอเอซิสของผู้ชม เพราะผู้ก่อตั้งทั้งคู่มุ่งมั่นนำภาพยนตร์ทางเลือกมาให้คนดูเสพในราคาย่อมเยา เงินสนับสนุนกิจกรรมการฉายหนังสำหรับบุคคลทั่วไปอยู่ที่ 160 บาท ส่วนนักเรียนนักศึกษา ผูู้สูงวัย และเด็กอยู่ที่ 100 บาท

และไม่ใช่ฉายหนังสะเปะสะปะ แต่จะมีการจัดฉายเป็นโปรแกรมสำหรับแต่ละช่วงเวลา รวมถึงมีการเสวนาควบคู่เพื่อเปิดพื้นที่สนทนาในประเด็นสังคมที่น่าสนใจ (บางครั้งผลงานอาจเชื่อมไปถึงส่วนแกลเลอรี่ด้วย) อาทิ ช่วงเปิดตัวจะมีเทศกาลหนังเล็กๆ ชื่อ ‘เผ็ดกว่าผัดไทย’ นำเสนอหนังไทยที่บอกเล่าจิตวิญญาณความเป็นไทย โดยไม่ต้องว่าไปตามขนบหรือเป็น ‘ไทย’ แบบที่ฝรั่งชอบจำนวน 6 เรื่องคือ ทองปาน พลเมืองจูหลิง สวรรค์บ้านนา ธุดงควัต มูอัลลัฟ และ ป่า (The Forest)

นอกจากนี้ พวกเขายังต้องการให้ที่นี่เป็นโรงหนังของชุมชน

“เรามีกฎเหล็กว่า หนังต้องทำได้ดีและน่าสนใจ ไม่ใช่ว่าฉายอะไรก็ได้ ให้ชาวบ้านจริงๆ ในละแวกนี้ เช่น คนขายข้าวแกงตรงปากซอยฝั่งโน้นมาดู เชื่อมโยงกับมันได้ ไม่ใช่แค่คนดูหนังศิลปะ” สมานรัชฏ์อธิบาย

มานิต ศรีวานิชภูมิ

ทั้งหมดนี้ฟังดูเป็นความคิดที่ดีใช่ไหม? แต่ถ้ามองตามสถานการณ์จริง เราอาจพึงเรียกทั้งคู่ว่า ‘คนบ้า’

เพราะนี่คือการอาจหาญเปิดโรงหนังท่ามกลางกระแสปิดตัวของเหล่าโรงหนังอิสระ และแสงเรืองจากหน้าจอมือถือซึ่งเปิดแอพ Netflix

ยังไม่นับรวมถึงการริตั้งโรงหนังไม่แสวงหาผลกำไรบนที่ดินมูลค่ามหาศาล ชนิดที่สมานรัชฏ์เล่าว่า ทุกคนในละแวกนี้จะโดนกดกริ่งขอซื้อที่ บางคนถึงขั้นได้เห็นกระเป๋าเจมส์ บอน มาวางตรงหน้าแล้วเปิดให้เห็นปึกเงินสด  

มานิต ศรีวานิชภูมิ สมานรัชฏ์ กาญจนะวณิชย์

นั่นแหละ-อาจเรียกว่าพวกเขาบ้าได้ แต่การถูกลิดรอนเสรีภาพต่อหน้าเลวร้ายจนทั้งคู่ไม่อยากให้ใครต้องเผชิญ

“เราทำในสิ่งที่ต้องทำ ไม่ใช่เพราะอยากทำ” มานิตกล่าว “คุณรู้มั้ย เวลาทำงานนี้ สิ่งที่ตามมาคืออะไร มันคือเราอยากทำหนังอีก เราจะต้องทำหนัง แต่ก็ทำไม่ได้ ต้องเอาเวลามาบริหารโรงหนังเพราะมันไม่ใช่แค่สร้างแล้วปล่อยทิ้ง เงินส่วนหนึ่งที่ควรเอาไปทำหนังก็ถูกเอามาลงที่นี่ มันเป็นสิ่งย้อนแย้ง ยากลำบากในการตัดสินใจ แต่ถามว่าถ้าเราไม่ทำจะมีใครทำมั้ย คนต้องรู้สึกว่า อ๋อ ทำได้สิเพราะเอ็งมีเงิน แต่เราก็เห็นคนมีเงินเยอะนะ ไม่เห็นเขาทำเลย และจะไปบอกให้คนอื่นทำก็ไม่ได้ เราก็ต้องทำ ทุกอย่างก็ต้องสร้าง เหมือนทางน่ะ ถ้าคนคนหนึ่งไม่บุกไปถางป่าเพื่อสร้าง ก็ไม่มีทางเดิน หลังจากนั้นก็เดินต่อกันไป”

มานิต ศรีวานิชภูมิ

สมานรัชฏ์ กาญจนะวณิชย์

ไม่มีความสงสัยว่า การบากบั่นสร้างหนทางซึ่งอาจเป็นเพียงทางเล็กกลางป่ารกชัฏนั้นจะให้อะไร การต่อสู้ด้วยเรี่ยวแรงเล็กๆ นี้จะชนะหรือไม่

สายตาของสมานรัชฏ์และมานิตมองไปไกลกว่านั้นนานแล้ว

“คุณจะวัดคำว่าได้อะไรจากสิ่งไหน จากตัวเองได้ชื่อเสียง ได้ผลตอบแทนอะไรในแบบพื้นๆ หรือเปล่า หรือที่จริงคือเรารู้สึกดีที่จะได้เห็นคนมาชมภาพยนตร์ เกิดชุมชน เกิดการแลกเปลี่ยน สังคมดีขึ้น เราไม่ได้สร้างที่นี่ให้เป็นอนุสาวรีย์ให้ตัวเอง เราฝันอยากเห็นโลกดีกว่าที่เป็นอยู่ แล้วคิดว่าทำได้ เราก็ทำในส่วนของตัวเองเท่าที่ทำได้ หวังเพียงว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นบ้าง และเราสร้างพื้นที่ สร้างโอกาสให้แล้ว มีคนรุ่นใหม่มาสานต่อได้ เพราะเดี๋ยวเราก็จากไป” มานิตบอกเจตจำนง

บนที่แพงระยับกลางสุขุมวิท โอเอซิสเล็กๆ จึงถือกำเนิด

ผุดขึ้นกลางดินแตกระแหง หยัดยืนอย่างเสรีท้าความร้อนแล้งทั้งมวล

Cinema Oasis

Cinema Oasis จะเริ่มเปิดฉายภาพยนตร์ช่วงกลางเดือนมีนาคมนี้ โปรแกรมเปิดตัวสถานที่คือ เทศกาลหนังธีม ‘เผ็ดกว่าผัดไทย’ (Beyond PhadThai) ส่วนแกลเลอรีจะเปิดทำการในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2561 โดยนำงานแสดงศิลปะรูปปั้นสำริดและภาพถ่ายชื่อ ‘หิมพานต์’ (Eden) ของปิยะทัต เหมทัต เปิดประเดิมเป็นงานแรก

More Information :
www.cinemaoasis.com
   Facebook l Cinema Oasis

Writer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล