7 กุมภาพันธ์ 2018
12 K

วันนี้ฉันมีนัดสัมภาษณ์กับเจ้าของ ‘มหาลัย’ คนหนึ่ง

ไม่ได้บังเอิญเขียนผิด แต่เพราะพื้นที่การเรียนรู้นี้ไม่ใช่มหาวิทยาลัยในระบบ หากเป็นพื้นที่สำหรับการศึกษาแบบทางเลือกสำหรับหนุ่มสาว และดังนั้น คนที่ฉันได้เจอจึงไม่ใช่ผู้หลักผู้ใหญ่ในชุดสูทเต็มยศ แต่เป็นชายหนุ่มในชุดเสื้อตัวโคร่ง กางเกงขาบาน และรองเท้าแตะ

นี่คือ ป๊อบ-กิตติพงษ์ หาญเจริญ ผู้ก่อตั้ง ‘มหาลัยแห่งความรักและธรรมชาติ’

ดูจากข้อมูลทั่วไป กิตติพงษ์คือผู้ที่ไปได้ดีในระบบการศึกษาและสังคมมาตรฐาน เขาคือเด็กนักเรียนห้องคิงในวัยมัธยม นักศึกษาผู้สอบเข้าได้เป็นที่ 1 ของคณะในวัยมหาวิทยาลัย และชายหนุ่มผู้ร่วมก่อตั้ง production house ชื่อว่า กระต่ายตื่นตัว ที่หลายคนคงเคยได้ยินชื่อ

แต่เมื่อค้นลึกกว่านั้น ชายตรงหน้าฉันคือคนที่อยากเปลี่ยนแปลงทั้งสภาพโรงเรียนและสังคม

กิตติพงษ์ หาญเจริญ

ในวัยเด็ก เขาอาจหาญเขียนบทความวิจารณ์โรงเรียน แล้วซีรอกซ์แจกผู้อำนวยการและทุกกลุ่มสาระ ในวัยรุ่น เขาเลือกสอบเข้ามหาวิทยาลัยซึ่งมีชื่อด้านงานเพื่อสังคมเพราะอยากปฏิรูปประเทศ และหลังเรียนจบ เขาเอ่ยปากบอกเพื่อนร่วมงานว่า ขอลาออกไปร่วมทำเรื่องการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านกับ โจน จันได ปราชญ์ผู้ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเองที่ชื่อว่า พันพรรณ

แล้วหลังจากฝังตัวที่นั่น 4 ปี เขาก็เดินออกมาด้วยความฝันอยากเป็นครู

กิติพงษ์ก่อตั้งพื้นที่การศึกษาทางเลือก แล้วคิดค้นหลักสูตรการเรียนรู้เคลื่อนที่สำหรับนักศึกษา 14 ชีวิตในชื่อ ‘Gap Year Program’ อ้างอิงจาก ‘Gap Year’ หรือช่วงเวลาที่หนุ่มสาวชาวตะวันตกออกค้นหาตัวเอง ใช้เวลา 1 ปีหยุดพักจากการเรียนและการหางาน เพื่อค้นหาตัวเองผ่านการออกไปใช้ชีวิต

เขาเชิญชวนหนุ่มสาวชาวไทยใช้เวลา 9 เดือน หรือ 3 ภาคเรียน ออกค้นหาตัวเองผ่านการเรียนรู้และลงมือทำกับปราชญ์ทั่วประเทศ

ไม่มีเลกเชอร์แสนน่าเบื่อ ไม่มีข้อสอบแสนกดดัน มีเพียงการเรียนรู้ในบรรยากาศเป็นมิตร ผ่านวิชาที่มหาวิทยาลัยไม่ค่อยได้สอนหลากแขนง ตั้งแต่ทำนา สร้างบ้าน เรียนรู้วัฒนธรรมปกาเกอะญอ ปลูกป่า ออกแบบบอร์ดเกม ฯลฯ

มหาลัยแห่งความรักและธรรมชาติ มหาลัยแห่งความรักและธรรมชาติ

ที่สำคัญไม่แพ้ความรู้คือ นักศึกษาจะได้เจอผู้รู้ตัวจริงที่มาทุ่มเทใจสอนแบบไม่คิดค่าตัว

ไม่ว่าจะเป็นโจน จันได ปราชญ์ผู้เป็นแรงบันดาลใจของกิตติพงษ์และผู้แสวงหาชีวิตทางเลือกมากมาย จุลพร นันทพานิช อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญการปลูกป่า ประมวล เพ็งจันทร์ ปราชญ์ผู้เดินเท้าค้นหาความหมายชีวิตจากเชียงใหม่ถึงบ้านเกิดที่สมุย และ เดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญการสอนโดยใช้เกมที่สนุกสนานเป็นเครื่องมือ

หากใครยังสงสัยว่าบรรยากาศการเรียนจริงเป็นยังไง หลักสูตรนี้มีค่าย demo ให้ทดลองเรียนก่อนเปิดภาคเรียนจริงเพื่อตัดสินใจ

หากใครกังวลเรื่องวุฒิการศึกษา นักศึกษาที่ผ่านหลักสูตรนี้จะได้รับประกาศนียบัตรด้าน ‘การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน’ จากหลักสูตรการศึกษาทางเลือกชื่อ Gaia Education ซึ่งองค์การ UNESCO รับรอง และถ้าใครต้องการวุฒิปริญญาตรี โท หรือ เอก สามารถทำโปรเจกต์ส่วนตัวหลังจบทริป เพื่อเป็นวิทยานิพนธ์ส่งมหาวิทยาลัย Bodhisatre ในรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา 

แน่นอน-รายละเอียดด้านบนเป็นเพียงน้ำจิ้มหนึ่งหยดจากห้องเรียนเคลื่อนที่นี้

ส่วนเรื่องราวมากกว่านั้น กิตติพงษ์ชวนฉันเดินไปสนทนาในสวนสาธารณะ เพราะไม่ชอบความเย็นเฉียบจากเครื่องปรับอากาศ

แล้วฉันก็นั่งลงคุยกับเจ้าของมหาลัยแห่งความรักและธรรมชาติ-กลางธรรมชาติ ถึงเรื่องการศึกษา มหาวิทยาลัย และหลักสูตรที่อยากให้หนุ่มสาวงอกงาม

ไม่แพ้ต้นไม้รอบตัวเราตอนนี้

ก้าวเดิน

นิยามคำว่า ‘การศึกษา’ สำหรับคุณคืออะไร

หมายถึงการเติบโต อาจไม่ใช่การเติบโตทางร่างกาย อาจเป็นการเติบโตทางนามธรรมบางอย่าง เช่น ความคิด ความรู้สึก และจิตวิญญาณ แล้วก็อาจไม่ใช่การไปเรียนรู้เพื่อที่จะเติบโต อย่างวันนี้เรามาเจอกัน เราอาจไม่ได้คิดว่าจะมาเรียนรู้อะไรกัน แต่เราเชื่อว่ามันเกิดการศึกษาขึ้นแล้ว การศึกษาที่ดีควรสนุกด้วย เพราะตอนคนไม่สนุก เขาจะไม่ค่อยได้เรียนรู้

คุณเคยบอกว่า 4 ปีที่พันพรรณให้อะไรคุณมากกว่า 4 ปีในมหาวิทยาลัย ที่นั่นสอนอะไรคุณบ้าง

เราไปพันพรรณโดยไม่ได้คาดหวัง คิดว่าจะไปทำงาน ไปถึงก็ตั้งหน้าตั้งตาทำ เราเลยได้อะไรเยอะมาก ในแง่บุคคล เราได้เจอคนดีเยอะ ในแง่ความรู้ติดตัว เราได้ทักษะเพราะได้ลงมือทำทุกวัน แล้วพี่โจนเป็นคนให้พื้นที่ ถ้าไม่ได้ผิดจริงๆ ไม่เดินมาทักด้วย ให้ลองไปเลย เดี๋ยวรู้เอง พี่โจนไม่มีการแบ่งชนชั้น ซึ่งเรารู้สึกว่าสิ่งนี้แหละที่อยากได้ เพราะลึกๆ ตั้งแต่เด็ก เรามองหาพื้นที่ที่ไม่ถูกจัดการโดยอำนาจแบบพีระมิด เราโตมากับการเล่นกับเพื่อน เป็นคนเพื่อนเยอะ ดังนั้นพื้นที่ซึ่งไม่ใช่พื้นที่ของเพื่อนจะไม่ค่อยอิน เราเลยอยู่พันพรรณได้นานเพราะมันไม่มีสิ่งนี้

ไร่นา การเกษตร

ความคิดที่อยากเป็นครูเกิดขึ้นตอนไหน

น่าจะเป็นสมัยอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง Rookies มือใหม่ไฟแรง พระเอกเป็นครูที่ดูแลชมรมเบสบอลชื่อว่า คาวาโต้ เด็กนักเรียนในชมรมของเขาเป็นแก๊งเด็กไม่ได้เรื่อง ส่วนใหญ่มาอยู่ชมรมนี้เพราะกะว่าเป็นชมรมว่าง แต่เผอิญมีเด็กคนหนึ่งอยากเล่นเบสบอลขึ้นมาจริงๆ เขาเลยบอกว่า ถ้ามีคนจะเล่น ทุกคนต้องเล่นแล้ว แล้วก็ค่อยๆ พาเด็กทั้งหมดมาเล่นเบสบอลแบบจริงจังได้ เราก็ประทับใจ

พอมาอยู่พันพรรณ เราไม่ได้นึกถึงเรื่องการเป็นครูมาก่อนจนช่วงที่อกหัก อันนี้พีกนะ ต้องกลับบ้านเลย แล้วระหว่างนั้นเราเหมือนได้ยินเสียงข้างในใจบอกว่า ไปเป็นครูเถอะ เราก็คิดว่าขอพิจารณาก่อนสัก 3 เดือน จนรู้สึกว่ามั่นใจแล้ว ก็เลยถ่ายทอดวิทยายุทธ์เรื่องเก็บเมล็ดพันธุ์ให้คนอื่นในพันพรรณทำต่อ แล้วเราก็ออกมา ความตั้งใจคือไปเป็นครูมัธยมปลายเลย เพราะเราอยากทำงานกับวัยรุ่น รู้สึกว่าสนุกดี

แล้วทำไมถึงไม่ได้กลายเป็นครูตามโรงเรียนทั่วไป

โรงเรียนทางเลือกที่มีถึงระดับ ม.ปลาย นี่เราติดต่อหมดทั้งประเทศแล้ว แต่มีเหตุไม่ลงตัว โรงเรียนนี้เต็มแล้ว โรงเรียนนี้ไม่ติดต่อกลับ เราก็ซึมไปพักหนึ่ง เพราะออกจากพันพรรณด้วยความรู้สึกว่าหลายคนอวยพร พี่โจนบอกว่า ผมดีใจมากเลยตอนที่ป๊อบบอกว่าอยากเป็นครู ป๊อบเข้ากับเด็กวัยรุ่นได้ดีมาก จนมีน้องทักมาว่า ผมมีข้อแนะนำ หนึ่งในนั้นคือ ทำไมพี่ไม่ลองเปิดโรงเรียนเองล่ะ เราก็คิดหนักเลย จนผ่านไปประมาณเดือนหนึ่งก็ตัดสินใจว่าจะเปิดมหาวิทยาลัยเอง

ตอนนั้นมั่นใจแค่ไหน

เราไม่มีทีม ทุนก็ไม่มี ที่ก็ยังไม่มี แต่เราเชื่อว่าถ้าสิ่งที่จะทำสอดคล้องกับสิ่งที่ควรเกิด สุดท้ายมันจะเกิดขึ้น

ห้องเรียนทางเลือก ห้องเรียนทางเลือก หลักสูตรทางเลือก

แก่นของมหาลัยแห่งความรักและธรรมชาติคืออะไร

เราอยากให้มหาลัยนี้เป็นความโชคดีของคนเรียน ข้อแรกคือ อยากให้แต่ละคนรู้สึกมีอิสระ เป็นอิสระจากข้างในเมื่อค้นพบว่าตัวเองมีศักยภาพ ซึ่งเกิดจากการทำบางสิ่งจนพบว่าทำได้ เช่น จากทำอะไรไม่เป็นก็เริ่มต่อเสาเป็น ตีหลังคาขึ้นมา สักพักหนึ่งเราจะรู้สึกว่าสร้างบ้านได้แล้วล่ะ จนค้นพบว่าที่จริงบนโลกนี้เราทำอะไรก็ได้

ข้อถัดมาคือ พอรู้สึกมั่นใจ ความรู้สึกนี้จะเชื่อมโยงกับคำถามว่า เราต้องการทำอะไร คุณค่าที่เราให้ค่าอยู่ตรงไหน และจะเริ่มเห็นว่า การดำรงอยู่ของเรามีค่ามาก ไม่ใช่ไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม พอสิ่งนี้เกิดขึ้น เราจะเริ่มเห็นว่าทุกอย่างมีค่า แล้วความรู้สึกไม่อยากเบียดเบียนจะมาเอง เกิดความผาสุก

แล้วก็มาสู่ข้อสุดท้ายคือ ในฐานะที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์ อะไรคือของขวัญที่เราต้องการให้กับโลกใบนี้ เราเชื่อว่าทุกคนมีอยู่แล้ว มันอาจเล็กน้อยมาก รดน้ำต้นไม้ต้นนี้วันละหยดก็ได้ ทุกอย่างมีคุณค่าในแบบของตัวเอง สิ่งสำคัญคือพอเราได้ทำ รู้สึกถึงความเชื่อมโยงกับสิ่งต่างๆ เราจะมีพลังชีวิต แล้วทุกวันจะมีความหมาย

สิ่งสำคัญที่คุณอยากสอนนักศึกษาคืออะไร

เราอยากสอนให้ทุกคนกลับมาเชื่อมต่อกับสิ่งต่างๆ หมายถึงทั้งรู้จักและมีความสัมพันธ์ เช่น การเชื่อมต่อกับอาหาร เงินไม่ได้เป็นตัวปัญหา มันเป็นแค่สื่อกลาง แต่พอเราใช้เงินจนชินก็ไม่รู้แล้วว่า สิ่งนี้มันมาจากไหน ถ้าเด็กบางคนไม่รู้ก็คิดว่าโยเกิร์ตไม่ได้มาจากวัว แต่มาจากซูเปอร์มาร์เก็ต พอไม่เชื่อมต่อก็ไม่เห็นคุณค่า พอไม่เห็นคุณค่า เราก็ใช้อย่างเดียว เรารู้สึกว่าหัวใจที่มีเมตตา มีความรัก มีรอยต่อกับสิ่งต่างๆ มีค่ามาก เพราะฉะนั้น เรากลับไปตรงนั้นได้มั้ย แล้วเราจะตัดสินใจหลายอย่างในชีวิตประจำวันดีกว่านี้มาก และจะมีความสุขขึ้น

กิตติพงษ์ หาญเจริญ

ทำไมคนไม่ชอบเดินทางอย่างคุณถึงคิดจะให้มหาลัยนี้สอนด้วยหลักสูตรเคลื่อนที่

เพราะว่าเราหาที่ตั้งมหาวิทยาลัยลงตัวไม่ได้ บางอันอยู่ไกล บางอันภูมิประเทศไม่ได้ เป็นเขาเลย แล้วปีที่ผ่านมาเราเดินทางดูที่ทั้งปี สุดท้ายก็รู้สึกว่าขนาดตัวเองไม่ชอบเดินทางยังรับได้ คนที่ชอบคงสนุกมาก (หัวเราะ)

คุณเลือกคนที่จะมาสอนในหลักสูตรยังไง เลือกจากความเชี่ยวชาญหรือเปล่า

ก่อนอื่นเลย หลักสูตรนี้ชวนเฉพาะคนที่เรารู้สึกว่าเชื่อในความเท่าเทียม เชื่อในความเป็นมนุษย์ ถ้าเป็นครูแนวสั่งสอนจะไม่ชวนเลย สองคือ เขาใจดี ไม่มีความคิดเอาเปรียบ นักศึกษาได้ไปเจอคนเหล่านี้แล้วจะได้ซึมซับสิ่งดี จากนั้นก็ค่อยมาดูสิ่งที่เขารู้จากการลงมือทำ ไม่ได้จำใครมาบอก พอปลดล็อกเอง วิธีสอนจะเป็นอีกแบบ จะจับต้องได้ แล้วก็ไม่ใช่แค่บอกได้ว่าทำยังไง แต่พาให้ทุกคนทำเหมือนเขาได้ด้วย คุณสมบัติเหล่านี้หายากมาก แต่ประเทศไทยก็ยังมีคนแบบนี้เยอะมาก คำถามคือ ทำไมเราไม่เรียนกับคนแบบนี้ สนุกกว่าตั้งเยอะ ไปเรียนในห้องเรียนทำไม

อย่างอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ เขาเป็นมนุษย์คนแรกที่ตอบคำถามเราได้ทุกคำถามนะ บางคำตอบตอบไม่ตรงคำถาม แต่ตอบสิ่งที่ลึกไปกว่าสิ่งที่เราถาม ราวกับสัมผัสรู้ถึงความสงสัยหรือความติดขัดที่เป็นรากแล้วไปตอบสิ่งนั้นแทน ที่มากกว่านั้นคือ เรารู้สึกว่าอยู่กับเขาแล้วเป็นคนดีขึ้น เป็นไปเองโดยเขาไม่ต้องมาสั่งสอน มาดุอะไร

ส่วนอาจารย์จุลพร นันทพานิช เราประทับใจว่าเขาเนิร์ดเรื่องต้นไม้จริงๆ ยังไม่เคยเจอใครเนิร์ดเรื่องต้นไม้เท่านี้ แล้วก็รู้สึกว่าเขารักต้นไม้ รักป่าจริงๆ จากท่าที คำพูดเวลาที่เขาพาไปปลูกต้นไม้ เรารู้สึกว่าเขาประณีต ก็เลยรู้สึกว่าถ้าจะปลูกป่าน่าไปปลูกป่ากับอาจารย์

ทำอาหาร ทำอาหาร มหาลัยแห่งความรักและธรรมชาติ

ทำไมหลักสูตรของมหาลัยนี้ไม่มีการวัดผลด้วยข้อสอบ

เราไม่เชื่อว่าถ้าเจอวิกฤตการณ์เราจะรอดได้ด้วยการแข่งขัน เรารอดได้เพราะช่วยกัน แต่ในระบบการศึกษาฝึกให้คนแข่งขัน เราเลยคิดว่าอยากเอาสิ่งนี้ออก อยากฝึกให้ช่วยกันมากกว่า เปลี่ยนจากเกมแบบ competitive เป็นเกมแบบ co-operative บ้าง เราว่ามันยั่งยืนกว่า

แล้วเรื่องของกระบวนการเรียนรู้ เราก็จะเน้น community-based learning คือเรารู้สึกว่าโครงสร้างการศึกษาทั้งหมดมีรูปแบบที่แบ่งแยกคนเยอะมาก ตั้งแต่เรื่องสอบแข่งขัน เรื่องไปทำการบ้านต่างหาก ทั้งที่ชีวิตการทำงาน คุณต้องทำงานกับคนอื่นตลอด แล้วในที่สุดมันก็จะเริ่มเข้าสู่ความเป็นเฉพาะทาง คือยิ่งเรียนสูง ยิ่งทำอย่างอื่นไม่เป็น ซึ่งถ้าไม่มีทักษะดำรงชีวิตพื้นฐาน มันจะคับแคบมาก พี่โจน จันได เชื่อเรื่องการใช้ชีวิตเป็นทรงกลม ถ้ากลมแล้ว จะไปเชี่ยวชาญเรื่องไหนก็ไปเลย

คิดว่าการเรียน 9 เดือนยาวนานมั้ย

ไม่ สั้นหรือยาวอยู่ที่เราเปรียบเทียบกับอะไร ถ้าเราเปรียบเทียบกับค่ายฤดูร้อน แน่นอน หลักสูตรนี้ดูยาวกว่าค่ายฤดูร้อนทั่วไป แต่ถ้าเปรียบเทียบกับเวลา 50 – 60 ปีในชีวิตที่เราไปทำอะไรก็ไม่รู้โดยไม่รู้จักตัวเอง ทำตามกัน 1 ปีมันสั้นมากเลยนะเมื่อเทียบกับทั้งชีวิต

ผ้ามัดย้อม

ย้อมผ้า ผ้ามัดย้อม ย้อมผ้า

แล้วค่าเทอมแค่ 60,000 บาทสำหรับ 3 เทอมไม่ถูกเกินไปเหรอ

เราอาจจะขอเงินกันความผิดพลาดเพิ่มเติมบ้าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราคิดในฐานคิดว่าจะช่วยนักศึกษายังไง แน่นอน ค่าเทอมเท่านี้เทียบกับของโรงเรียนอินเตอร์แล้วถูกมาก เทียบกับงบไปเที่ยวญี่ปุ่น 1 ทริปแล้วถูกมาก แต่เงินของคนกลุ่มหนึ่งกับคนอีกกลุ่ม ความหมายมันต่างกันมากนะ ซึ่งเราไม่เชื่อในความยุติธรรมแบบแข็งตัว สมมติเอาคนขาเป๋มาออกวิ่งที่จุดเดียวกับคนที่ร่างกายพร้อม บอกให้วิ่งแข่งกัน แล้วบอกว่ายุติธรรมเพราะเริ่มที่จุดเดียวกัน เราว่าไม่ใช่แล้ว มันต้องพยุงคนขาเป๋ก่อน

คุณใช้เวลา 9 เดือนสอนนักศึกษาได้ 12 คน น้อยไปมั้ยเมื่อเทียบกับหลักสูตรทั่วไปที่อาจผลิตนักศึกษาได้เป็นร้อย

เราเลิกคิดเรื่องปริมาณไปแล้ว ถ้าคิดเรื่องนี้จะพูดยาก แต่ยกตัวอย่างเล่นๆ สมมติทริปนี้จบแล้วเกิดคนที่ไม่เบียดเบียนใครขึ้นคนหนึ่ง โห ลดปัญหาโลกได้เยอะเลยนะ แล้วก็มีเพื่อนแนะนำเราด้วยว่า ให้พาคนทำสารคดีไปด้วย ประโยชน์จะได้เกิดกับคนอีกเป็นพัน เป็นหมื่น

มหาลัยแห่งความรักและธรรมชาติ มหาลัยแห่งความรักและธรรมชาติ

ระหว่างสร้างหลักสูตรที่พาคนออกไปเรียนรู้ คุณเองเรียนรู้อะไรบ้าง

สิ่งที่เราได้เรียนรู้คือ การรักษาสมดุลระหว่างความคิดว่าเราจะวางใจ เชื่อว่าทุกอย่างจะไปได้ด้วยดี กับความคิดว่าต้องรอบคอบกว่านี้ ต้องทำสิ่งนี้เพิ่ม เพราะความรอบคอบส่วนหนึ่งมาคู่กับความไม่ไว้วางใจ แต่ถ้าเราหลับหูหลับตาไว้วางใจ กลายเป็นความประมาท

สิ่งที่คุณทำมีความเป็นการศึกษาทางเลือกสูงมาก คิดมั้ยว่าพ่อแม่ของหนุ่มสาวอาจไม่เข้าใจ

เราเชื่อว่ามีทั้งคนที่เข้าใจและไม่เข้าใจ ซึ่งคนที่เข้าใจน่าจะพอดีกับจำนวนที่เรามีขีดความสามารถในการรับ ณ ขณะนี้ แต่เราก็หวังใจลึกๆ ว่าโปรแกรมนี้จะสำเร็จมาก เพราะถ้าวันหนึ่งเกิดหลักสูตรแบบ Gap Year Program ย่อยๆ เต็มไปหมด แต่ละคนลุกขึ้นมาทำเอง ถึงขั้นเราไม่ทำก็ได้ อันนี้สบายเลยนะ แล้วเราไม่ได้อยากให้ทุกคนต้องมาทำแนวนี้ด้วย หลังจากนี้ ถ้ามีคนมุ่งไปทางศิลปะเลยก็ได้ เดือนนี้สอนปั้น เดือนนี้สอนวาด เอาเลย ที่เราอยากทำเรื่องความรักและธรรมชาติเพราะเป็นเรื่องสำคัญ

ในฐานะที่ได้เปิดเกม เราก็อยากเขี่ยบอลให้ดีที่สุด

กิตติพงษ์ หาญเจริญ

10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับหลักสูตร Gap Year Program

  1. Gap Year Program รับนักศึกษาจำนวน 14 คน อายุระหว่าง 17-25 ปี (แต่ถ้าใครอายุเกินแล้วอยากมามาก ลองคุยกันหลังไมค์ได้) โดยไม่จำกัดวุฒิการศึกษา
  2. หลักสูตรนี้เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม – 22 มีนาคม พ.ศ.2561 ทาง www.collegeofloveandnature.com
  3. หลักสูตรใช้ระยะเวลาการเรียนประมาณ 9 เดือน  ตั้งแต่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 – 3 มีนาคม พ.ศ. 2562
  4. การเรียนแบ่งออกเป็น 3 ภาคการศึกษา มีช่วงปิดภาคเรียน 2 ครั้ง ครั้งละ 10 วัน
  5. หลักสูตรนี้มีช่วงทดลองเรียน 2 อาทิตย์ให้นักศึกษาที่ผ่านการสัมภาษณ์ได้สัมผัสการเรียนจริงก่อนตัดสินใจ
  6. การเรียนรู้ในแต่ละหัวข้อใช้ระยะเวลาไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้สอน
  7. การเดินทางจะใช้วิธีเดินทางโดยรถตู้ไปสู่แหล่งเรียนรู้แต่ละแห่ง
  8. ค่าเทอมสำหรับ 3 ภาคการศึกษา รวมเป็นเงิน 63,000 บาท ส่วนค่าอาหารและน้ำมันรถ ใช้วิธีลงขันกัน 
  9. ไม่มีการวัดผลเพื่อจบหลักสูตร แต่ใครต้องการวุฒิปริญญาตรี โท หรือ เอก ทำโปรเจกต์ส่วนตัวหลังจบทริปได้ เพื่อเป็นวิทยานิพนธ์ส่งมหาวิทยาลัย Bodhisatre ในรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา 
  10. ผู้ที่ผ่านการเรียน Gap Year Program จะได้รับประกาศนียบัตรด้าน ‘การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน’ จากหลักสูตรการศึกษาทางเลือกชื่อ Gaia Education ซึ่งองค์การ UNESCO รับรอง
Facebook l มหาลัยแห่งความรักและธรรมชาติ

Writer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan