เชื่อว่าหลายคนคงเคยผ่านตา โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง หนังสือดีจากแดนอาทิตย์อุทัยที่เล่าวัยเด็กของคุโรยานางิ เท็ตสึโกะ นักแสดงดังของญี่ปุ่น เมื่อครั้งเป็น ‘เด็กหญิงโต๊ะโตะ’ ผู้มีสมาธิสั้นจนต้องลาออกเพราะเรียนในโรงเรียนปกติไม่ได้ แต่โชคดีได้พบโรงเรียนประถมโทโมเอซึ่งมีหลักสูตรและครูใหญ่ที่ส่งเสริมการเรียนรู้เด็ก เธอจึงเติบโตขึ้นอย่างสวยงามและมีความสุข

ตอนนี้ที่เชียงใหม่มีโรงเรียนเด็กพิเศษแสนน่ารักซึ่งได้แรงบันดาลใจจากหนังสือดังกล่าว โรงเรียนนี้ชื่อว่า ‘พอดี พอดี’ คนก่อตั้งและครูใหญ่คือหญิงสาวตัวเล็กที่ชื่อ แตงโม-สาริณี เอื้อกิตติกุล

สาริณี เอื้อกิตติกุล

ไม่มีอาคารสูงล้อมรั้วแน่นหนา ไม่มีห้องเรียนในภาพจำทั่วไป ที่นี่มีแต่บ้านไม้ขนาดเล็กน่ารักที่ล้อมรอบด้วยสวนและแปลงผัก

ฉันและแตงโมนั่งลงล้อมโต๊ะตัวเตี้ยบนพื้นไม้ที่เด็กๆ ไว้ใช้เรียนและเล่น ก่อนที่หญิงสาวผู้ย้ายขึ้นเชียงใหม่มาตั้งแต่ช่วงอายุ 10 ขวบจะย้อนเล่าถึงจุดเริ่มต้น

แตงโมคือหญิงสาวที่เรียนจบด้าน ‘จิตวิทยาคลินิก’ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สาขาที่เธอเรียนสอนเรื่องปัญหาสุขภาพจิตทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ รวมถึงวิธีวิเคราะห์สภาพจิตใจและวิธีฟื้นฟูบำบัดคนไข้ เพื่อให้จบไปทำงานเป็นนักจิตวิทยาที่ช่วยตรวจสภาพจิตใจและระดับสติปัญญา ก่อนแจ้งแพทย์ว่าควรทำการบำบัดอย่างไร

แต่แตงโมเห็นว่าองค์ความรู้ที่เรียนน่าจะช่วยคนไข้ได้มากกว่าแค่นั่งวินิจฉัย ที่สำคัญ ช่วยได้ตั้งแต่คนไข้ที่เป็นเด็กตัวจิ๋ว เธอจึงเรียนเจาะลึกไปที่เรื่องเด็กเป็นพิเศษ เวลาเข้าห้องสมุดก็สนใจหนังสือเกี่ยวกับเด็ก นอกจากเรื่องการศึกษาทางเลือกอย่างการทำโฮมสคูล ก็มี โต๊ะโตะจังฯ ที่เธอติดใจ

“การจัดกิจกรรมในโรงเรียนประถมโทโมเอช่วยให้การเรียนเป็นธรรมชาติ ครูบอกว่าเด็กแต่ละคนมีศักยภาพ และไม่ใช่ว่าคนนี้ไม่ถูกต้องในสังคมแล้วจะถูกเขี่ยทิ้ง เราเลยรู้สึกว่า ทุกคนมีความสามารถ ควรดึงจุดเด่นเขาออกมาให้ได้ แล้วก็เลยสนใจเรื่องเด็กพิเศษเป็นพิเศษ” แตงโมเล่าถึงแรงบันดาลใจที่ได้รับ

เมื่อเรียนจบ แตงโมยังคิดเช่นเดิมว่าไม่อยากทำงานสายตรงที่ได้แค่ตรวจอาการ แต่ไม่ได้บำบัดเด็กโดยตรง เธอจึงมองหางานแนวอื่นจนลงเอยที่งานฝึกเด็กเล็กในกรุงเทพฯ แต่เมื่อทำจริง หญิงสาวก็พบว่าสภาพแวดล้อมกรุงเทพฯ และการฝึกด้วยของเล่นสำเร็จรูปยังไม่ตอบโจทย์งานในฝัน เธอจึงพักจากการทำงาน หันไปเรียนต่อปริญญาโทด้านพัฒนาการเด็กที่มหาวิทยาลัยมหิดล

โรงเรียนพอดี พอดี สาริณี เอื้อกิตติกุล

แล้วระหว่างตักตวงความรู้ เธอก็ได้ฝึกงานด้วยการสอนทั้งเด็กพิเศษและเด็กปกติซึ่งต้องการพัฒนาทักษะ จนค้นพบชัดเจนว่า วิธีสอนเด็กที่เธอชอบไม่ใช่การเป็น ‘ครู’ ตามขนบที่สั่งให้เด็กเรียน และบังคับว่าต้องเรียนด้วยวิธีไหน

แต่คือการสอนที่เน้นกระตุ้นจินตนาการ ช่วยให้เด็กสนุกกับทักษะที่มีอยู่ และดึงศักยภาพของเด็กออกมา ผ่านเครื่องมืออย่าง ดนตรี ศิลปะ และธรรมชาติ

พูดอีกอย่าง มันคือการสอนที่ห่อหุ้มด้วยความสนุกและความสุข ซึ่งให้ผลลัพธ์เป็นพัฒนาการของเด็ก

“เราพยายามส่งเสริมจุดเด่น สมมติเด็กไม่เก่งภาษาไทยแต่เก่งคณิตศาสตร์ แต่เขาก็จะรู้สึกภาคภูมิใจกับสิ่งที่เก่งที่สุด แม้ไม่เก่งเท่าเพื่อน แต่ก็รู้สึกว่ามั่นใจที่จะทำ ถ้าส่งเสริมเขาไปเรื่อยๆ ก็จะช่วยดึงด้านอื่นด้วย”

แตงโมอธิบาย

เมื่อรู้ว่าตัวเองชอบอะไร อยากทำงานด้วยวิธีไหน ในตอนที่หญิงสาวย้ายกลับเชียงใหม่ เธอจึงไม่ได้ไปมือเปล่า แต่ประคองฝันก้อนหนึ่งขึ้นไปด้วย

แตงโมอยากสร้างโรงเรียนของตัวเอง

โรงเรียนพอดี พอดี

โรงเรียนที่มีบรรยากาศเอื้อต่อการเรียนรู้เหมือนโรงเรียนประถมโทโมเอ สำหรับเด็กที่ระบบการศึกษาปกติไม่ตอบโจทย์หรือไม่เพียงพอ

“เราอยากทำโรงเรียนที่เหมือนใน โต๊ะโตะจังฯ เด็กเรียนอะไรก่อนหลังก็ได้ จัดกิจกรรมเองได้ แล้วเขาก็จะรู้สึกมีส่วนร่วมมากขึ้น จะกระตือรือร้น เพราะไม่มีเด็กคนไหนหรอกที่ไม่อยากรู้ หรือไม่สนใจ แต่ในระบบการศึกษาไทย ห้องเรียนมีตั้ง 60 คน ถ้าเรียนทีละคน ครูจะสอนยังไง เราเลยอยากมีโรงเรียนที่มีเด็กกลุ่มเล็กสัก 4 – 5 คน แล้วสอนโดยให้อิสระเขาทุกด้าน” แตงโมผู้เคยวาดภาพโรงเรียนในฝันลงสมุดบันทึกเล่า

แต่ก่อนจะมาถึงโรงเรียนบ้านไม้ที่เรานั่งคุยกันอยู่ หญิงสาวเริ่มจากเข้าทำงานประจำในฐานะนักจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ควบคู่กับการริเริ่มจากลองสร้างพื้นที่อย่าง ‘มาหาสมุด’ ห้องสมุดเพื่อชุมชนและเด็กๆ ในสถานที่สุดฮอตอย่างบ้านข้างวัด แต่เมื่อพบว่าห้องสมุดไม่อาจได้อย่างที่ตั้งใจ เธอจึงถอยออกมาและหาพื้นที่ใหม่ จนลงเอยด้วยการร่วมเช่าที่ดินเปล่าในซอยวัดอุโมงค์กับนักปั้นเซรามิก

และนั่นคือที่มาของ ‘โรงเรียนพอดี พอดี’ โรงเรียนสำหรับเด็กพิเศษที่เป็นพื้นที่ซึ่ง ‘พอดี’ สำหรับแตงโม ตอนนี้โรงเรียนยังอยู่ในฐานะโรงเรียนสอนพิเศษซึ่งเปิดช่วงหลังเลิกเรียนและวันหยุด (ในอนาคตตั้งใจเปิดเป็นโรงเรียนที่สอนเต็มเวลา) โดยมีนักเรียนคือเด็กพิเศษที่หญิงสาวเจอระหว่างทำงานประจำ ส่วนการก่อสร้างก็ค่อยๆ ดำเนินไป แตงโมบอกว่าเธอสร้างที่นี่อย่างไม่เร่งร้อน เพราะอยากมีเวลาให้งานหลักและพ่อแม่ แต่แม้เนิบช้า ทุกอย่างก็เดินหน้าอย่างมั่นคงและสะท้อนตัวตนหญิงสาวคนนี้เต็มที่

โรงเรียนพอดี พอดี โรงเรียนพอดี พอดี

บ้าน

แตงโมเริ่มจากสร้างบ้านไม้หลังเล็กที่โล่งโปร่งสบาย เพราะไม่อยากได้โรงเรียนใหญ่โต หรือตึกเรียนคอนกรีตสูงลิบ ขณะที่รอบบ้านมีประตูหน้าต่างหลายบานจัดวางไล่ระดับอย่างสนุก เด็กจะเปิดประตูไหนก็ได้เหมือนเรื่อง อลิซในแดนมหัศจรรย์ และต่อไปหน้าต่างบางบานอาจมีสไลด์เดอร์ให้ลื่นไถล เพราะหญิงสาวตั้งใจให้บ้านนี้เป็นเหมือน ‘เครื่องเล่น’ ชิ้นหนึ่งที่ช่วยให้เด็กสนุกและต่อยอดสู่การเรียนรู้

ส่วนรอบบ้านนั้นโอบล้อมด้วยธรรมชาติ มีทั้งสวนเล็กๆ แปลงผัก และเล้าไก่ เป็นพื้นที่ธรรมชาติที่เด็กๆ มาเล่นและเรียนได้

บ้าน ต้นกล้วย

เมื่อมีเด็กคนหนึ่งก้าวเข้ามา แตงโมบอกว่าจะไม่เร่งรัดหรือกดดันว่าเขาต้องเรียนอะไร แบบไหน แต่จะหยิบสิ่งที่เด็กชอบมาต่อยอด เช่น ถ้าเด็กมาถึงนั่งสไลด์ไอแพด แทนที่จะดุ หญิงสาวจะสังเกตเกมในเครื่อง แล้วเอามาดัดแปลงเป็นเกมกระดาษที่ให้ความรู้ หรือถ้าเด็กต้องฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก แทนการเล่นของเล่นสำเร็จ เธอจะชวนเขาไปช่วยหยอดเมล็ดผักลงแปลงแทน

เด็กที่มาโรงเรียนนี้จึงเรียนรู้อย่างสนุก และที่สำคัญคือ เหมือนได้เรียนรู้ไปพร้อม ‘เพื่อน’

“คนเราไม่ต้องการอะไรมากหรอก แค่ต้องการเพื่อน ต้องการคนที่ฟังและเข้าใจเรา” แตงโมบอก “ถ้าเด็กมาถึงแล้วเราบอกว่า เธอทำอย่างนี้สิ เขาจะไม่รู้สึกว่าเราเป็นเพื่อน เหมือนเราตัดสะพานออก เธอเป็นนักเรียน ฉันเป็นครู แต่ถ้าเป็นเพื่อนกัน เขาก็จะไว้ใจเรามากขึ้น พอเราสอนอะไรก็จะซึมซับไปในตัวเขา”

โรงเรียนพอดี พอดี

โรงเรียนพอดี พอดีจึงเป็นโรงเรียนที่เด็กออกปากว่าอยากมา ส่วนผลลัพธ์ก็มีพ่อแม่ถึงกับมาบอกแตงโมเลยว่า ลูกที่เคยมาแล้ววิ่งรอบห้อง ไม่สนใจฟัง พัฒนาเป็นเด็กมีสมาธิและใจเย็นขึ้น

และถ้าถามว่า หญิงสาวตัวเล็กตรงหน้าฉันได้อะไรจากการสร้างโรงเรียนนี้ เธอบอกว่าได้สร้างพื้นที่ในฝันซึ่งรวบรวมทุกสิ่งที่ชอบไว้ และการได้ทำงานกับเด็กๆ ยังสร้างการเปลี่ยนแปลงภายใน

“ถึงเราผ่านประสบการณ์มามากกว่า แต่ก็ยังต้องเรียนรู้และเติบโตไปพร้อมเด็ก อย่างเมื่อก่อน เราอาจเป็นคนใจร้อน ขี้หงุดหงิด แต่พออยู่กับเด็ก เด็กก็เปลี่ยนให้เราใจเย็นกว่าเดิม” แตงโมกล่าว

นอกจากนี้ หญิงสาวตัวเล็กยังเล่าความฝันส่วนต่อขยายให้ฉันฟังมากมาย ตั้งแต่การเปิดร้านอาหารกะทัดรัดที่ใช้ผักจากสวนมาปรุงอาหาร จนถึงการสร้างบ้านดินเปิดเป็นโฮมสเตย์เล็กๆ

“เรารู้สึกว่าที่นี่คือบ้าน” เธอบอกฉันอย่างนั้นด้วยตาเป็นประกาย

และแน่นอน นี่คือบ้านหลังที่ 2 ซึ่งช่วยให้ ‘โต๊ะโตะจัง’ ทุกคนเติบโตงดงาม

สาริณี เอื้อกิตติกุล

ภาพ: มณีนุช บุญเรือง และ ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

โรงเรียนพอดี พอดี

113/12 ซอยวัดอุโมงค์ 16 ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

 (สำหรับผู้ที่ต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มหรือต้องการเยี่ยมชม โปรดติดต่อทางอีเมล    [email protected]  )

Writer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN

Photographers

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan