นักกีฬาชาวอเมริกันชื่อ แดน เบอร์ลิน หย่อนตัวลงนั่งตรงข้ามฉัน เตรียมพร้อมให้สัมภาษณ์

ตอนนี้เรานั่งอยู่ในล็อบบี้ของโรงแรมหรูใจกลางกรุงเทพฯ แต่ย้อนไปไม่กี่วันก่อน แดนกำลังวิ่ง ปั่นจักรยาน และพายคายัค เป็นระยะทาง 100 กิโลเมตรอยู่ที่กำแพงเมืองจีน ย้อนไกลไปอีกนิด เขาเคยวิ่งไป-กลับข้ามแกรนด์แคนยอนของสหรัฐอเมริกา เป็นระยะทาง 74 กิโลเมตรโดยไม่หยุดพัก

คายัค กำแพงเมืองจีน

แค่สถิตินี้ก็ฟังดูน่าทึ่งไม่น้อย แต่ถ้าคุณได้นั่งลงตรงหน้าเขา ได้สบตาเขา เรื่องราวในย่อหน้าบนจะยิ่งทวีความน่าทึ่ง

แดน เบอร์ลิน

เพราะแดนคือผู้พิการทางสายตา เขาทำสิ่งเหล่านั้นโดยไม่อาจมองเห็นเส้นทางที่ผ่านหรือกระทั่งเส้นชัย

“ผมสูญเสียการมองเห็นทั้งหมดเมื่อ 15 ปีก่อน” แดนผู้ถูกวินิจฉัยว่าจะเริ่มสูญเสียสายตาตั้งแต่ 7 ขวบเอ่ยเล่า แล้วกล่าวต่อว่าเขารู้สึกแย่กับสิ่งที่เกิดขึ้นมาก แต่แทนการนั่งจมจ่อมกับความทุกข์ เขาเลือกเปิดประตูบ้าน แล้วออกวิ่ง

จากระยะทางไม่กี่กิโลเมตร สู่การแข่งมาราธอนและไตรกีฬา

“เพราะมันยากน่ะสิ” นี่คือคำตอบของแดนเมื่อฉันถามถึงเหตุผลในการทำสิ่งยากเย็น แม้โลกนี้มีคนมากมายเล่นกีฬาเพราะอยากท้าทายขีดจำกัดตัวเอง แต่สิ่งที่แดนทำกลับไปไกลกว่านั้น จุดเริ่มต้นของเรื่องเหลือเชื่อทั้งหมดมาจากการที่เขาตัดสินใจร่วมวิ่งฉลองวันเกิดชาร์ลส สก็อตต์ เพื่อนนักวิ่ง บนเส้นทางไป-กลับแกรนด์แคนยอน แม้เป็นการวิ่งแบบไม่หยุดพักบนเส้นทางไม่คุ้นเคย และเพื่อนร่วมทางทุกคนก็ไม่ชำนาญการนำทางคนตาบอดอย่างเขาบนเส้นทางแบบนี้

“หลัง 13 ชั่วโมงผ่านไป เราปีนขึ้นไปถึงจุดสูงสุดของขอบด้านเหนือของแกรนด์แคนยอน มันเริ่มมืด อุณหภูมิลดลงจาก 25 – 28 องศาที่ฐานมาถึงเกือบ 0 องศา เราหนาว เหนื่อย และเพิ่งมาถึงครึ่งทาง ยังต้องวิ่งย้อนกลับไปอีก พวกเราไม่รู้ว่าจะทำสำเร็จ แต่เราคอยช่วยเหลือกันและเดินทางต่อไป นั่นคือสิ่งสำคัญ แม้เราไม่รู้สึกว่าจะทำได้ เราแค่ต้องผลักดันตัวเองและเดินหน้าต่อไป” แดนย้อนเล่าความรู้สึก

นักกีฬาปีนเขา ภูเขา

ด้วยเหตุนี้ หลัง 28 ชั่วโมงผ่านไปบนเส้นทางขรุขระ สูงชัน และหนาวเย็น พวกเขาก็มาถึงเส้นชัย

แดนกลายเป็นนักวิ่งตาบอดคนแรกที่สร้างสถิติวิ่งข้ามแกรนด์แคนยอนโดยไม่หยุดพักสำเร็จ

พร้อมชัยชนะ แดนและเพื่อนที่ร่วมวิ่งมาด้วยกันจนถึงจุดหมายก็ตระหนักว่าการท้าทายตัวเองครั้งนั้นสามารถต่อยอดไปสู่อะไรบางอย่างที่สร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างได้ และนั่นคือที่มาของ Team See Possibilities องค์กรการกุศลที่พวกเขาตั้งใจออกเดินทางท้าทายขีดจำกัดตัวเอง 7 ครั้ง ใน 7 ทวีป เพื่อระดมเงินและนำเรื่องไปบอกเล่าสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กผู้พิการทางสายตาทั่วโลก

ทำให้คนตาบอดมองเห็นในสิ่งที่พวกเขาอาจไม่เคยมองเห็น

ทุกคนทำได้มากกว่าที่คิด-คือสารทรงพลังที่ถูกส่งผ่านการทำสิ่งที่ลำพังแค่คนธรรมดายังถือว่ายากเย็น แต่แดนทำมันได้สำเร็จ นอกจากกำแพงเมืองจีนและแกรนด์แคนยอน เขายังผ่านการเดินขึ้นมาชูปิกชู เมืองโบราณของเปรูใน 1 วัน และการปีนคิลิมันจาโร ยอดเขาสูงสุดของแอฟริกาภายใน 2 วันครึ่ง (สถิติของคนทั่วไปคือ 5 – 8 วัน)

มาชูปิกชู

และหากมีเด็กตาบอดคนไหนยังลังเลสงสัยในศักยภาพตัวเอง คิดว่าสิ่งที่แดนทำเป็นเรื่องของศักยภาพส่วนบุคคล

นี่คือสิ่งที่เขาอยากบอก

“เธอทำได้แน่นอน มันอาจไม่ง่าย แต่ลองคิดดูสิว่าเรื่องง่ายๆ เรื่องไหนบ้างที่คุ้มค่าแก่การลงมือทำ เหมือนที่จอห์น เอฟ. เคเนดี้ เคยพูดไว้ว่า ‘เราทำสิ่งเหล่านี้เพราะมันยาก ไม่ใช่เพราะมันง่าย’ นั่นคือแก่น สำหรับเด็กตาบอด มันยากกว่าแน่นอน แต่เราจะเติบโตก็ต่อเมื่อได้ฝ่าฟันอุปสรรค ไม่อย่างนั้นเราก็จะกลายเป็นคนอ่อนแอและไม่รู้จักความลำบาก”

ไม่ใช่แค่อยากเปลี่ยนแปลงทัศนคติของเด็กๆ ผู้เป็นอนาคตของโลก Team Sees Possibilities ยังอยากเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่สังคมมีต่อเด็กพิการ พวกเขาเชื่อว่ามีความเป็นไปได้มากมายที่เกิดขึ้นได้ หากสังคมดูแลเด็กถูกวิธี

นักเรียน เด็กพิการ

“สิ่งสำคัญที่สุดคือ เราต้องปล่อยให้เด็กพิการเป็นเด็ก” แดนอธิบาย “เราปกป้องพวกเขามากเกินไป ถ้าเด็กพิการคนหนึ่งอยากออกไปเล่นที่สนามเด็กเล่น พ่อแม่หรือครูมักยืนเฝ้าให้แน่ใจว่าพวกเขาจะไม่หกล้ม แต่เราต้องปล่อยให้พวกเขารู้สึกถึงโลก ล้มบ้างบางครั้ง ไม่อย่างนั้นพวกเขาจะไม่เคยเติบโตหรือเรียนรู้ด้วยตัวเอง จะโตขึ้นโดยการพึ่งพาคนอื่น อีกอย่างคือ เราต้องมองพวกเขาในมาตรฐานเดียวกับคนอื่นในด้านการศึกษา วิธีการเรียนอาจต่าง แต่พวกเขามีความสามารถในการเรียนรู้เสมอกัน ดังนั้น เราจึงต้องขยายขอบเขตความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กทุกคนไปให้มากที่สุด”

การเดินทาง 4 ทวีปของนักกีฬาผู้มองเห็นความเป็นไปได้ 4 คน กลายเป็นข่าวในสื่อหลายแขนง ตั้งแต่ CBS Evening News จนถึง Fox News

นักกีฬาตาบอด

คิลิมันจาโร

หลายคนอาจมองว่าสิ่งที่พวกเขาได้รับคือความภูมิใจส่วนบุคคลหรือชื่อเสียง แต่เมื่อถามแดนถึงสิ่งที่ได้จากการเดินทางครั้งนี้ เขากลับบอกว่าสิ่งที่ได้กลับมาคือ ความรัก

“ผมคิดว่ามันเป็นการให้และรับความเมตตากรุณานะ” แดนเอ่ยด้วยรอยยิ้ม “เราทำสิ่งนี้เพราะอยากช่วยเหลือเด็กและคนที่กำลังต่อสู้กับสิ่งต่างๆ ในทางกลับกัน เราก็ได้รับความรัก ความชื่นชม และการสนับสนุน กลับมา จนเป็นหนึ่งในสิ่งที่ผลักให้เราก้าวต่อไป แล้วยิ่งเราให้มากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งได้มากเท่านั้น”

นอกจากวางแผนการผจญภัยในทวีปที่ 5 แดนยังเล่าให้ฟังว่า ในฤดูร้อนที่กำลังจะถึง เขาและชาร์ลสจะสร้างทีมจักรยานคนตาบอดทีมแรกในโลก เพื่อเข้าแข่งขันปั่นข้ามทวีปอเมริกาแบบไม่หยุดพัก เป็นระยะทางกว่า 5,000 กิโลเมตรภายใน 8 วัน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมคนตาบอดในฐานะแรงงานที่มีศักยภาพ

ถ้าถามว่าทำไมคนที่มองไม่เห็นคนหนึ่งเลือกภารกิจโหดหินขนาดนี้-คุณคงมองเห็นคำตอบนั้นอยู่แล้ว

Team Sees Possibilities

www.teamseepossibilities.com

Writer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล