รถเมล์ร้อนแล่นมาจอดเทียบป้าย ฉันก้าวขึ้นสาย 4 ไปเขตพระนคร จ่ายเงินกระเป๋ารถเมล์และรับตั๋วเล็กๆ มากำไว้ในมือ โดยปกติฉันนั่งรถไฟฟ้าไปทำงาน แต่วันนี้จำเป็นต้องใช้รถโดยสารประจำทาง หนึ่ง เพราะจุดหมายอยู่นอกเส้นทางรางรถ และสอง-ฉันกำลังเดินทางไปพบผู้เชี่ยวชาญเรื่องรถเมล์

วริทธิ์ธร สุขสบาย มีชื่อเล่นว่า van ที่แปลว่า รถตู้ แต่ชายหนุ่มตกหลุมรักรถเมล์มาตั้งแต่จำความได้ ไม่ว่าจะด้วยความจำเป็นหรือความตั้งใจ ชีวิตของเขาเกี่ยวข้องกับยานพาหนะคันยาวอยู่เสมอ แวนไม่ได้เป็นพนักงานประจำองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ แต่เขากำลังผลักดันการพัฒนาป้ายบอกเส้นทางรถโดยสารประจำทางในฐานะ Mayday หนึ่งในกลุ่มคนเล็กๆ ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์แก้ปัญหารถสาธารณะ

ก่อนจะเล่าเรื่องงานปัจจุบัน บทสนทนาของเราเริ่มต้นที่ป้ายแรกที่ความรักต่อรถเมล์ถือกำเนิด

Mayday, วริทธิ์ธร สุขสบาย

ก้าวแรกสู่รถเมล์

“เราโตในครอบครัวชนชั้นกลางที่ไม่มีรถส่วนตัว ต้องไปทุกที่ด้วยรถเมล์ แล้วตอนยังเด็กเราป่วยบ่อย ต้องนั่งรถเมล์ไปหาหมอตลอด เลยคุ้นเคยกับรถเมล์ รู้ตัวอีกทีก็ชอบไปแล้ว

“บ้านเราอยู่สุขาภิบาล 1 ปัจจุบันคือถนนนวมินทร์ คอนเซปต์ของที่บ้านคือนั่งไกลๆ ขึ้นรถ ปอ. นั่งใกล้ๆ ขึ้นรถร้อน รถเมล์ 3 สายที่มีผลต่อชีวิตวัยเด็กมากคือ ปอ.19 ไปหาหมอที่โรงพยาบาลราชวิถี, ปอ.12 พ่อพาผ่านปากคลองตลาดมาบ้านหม้อ ปัจจุบัน 2 สายนี้ไม่มีแล้ว และถ้าจะไปเดอะมอลล์บางกะปิก็ขึ้นสาย 95”

เด็กชายวริทธิ์ธรหลงใหลรายละเอียดเล็กๆ บนรถเมล์ ทั้งประตูสุดเจ๋งที่เปิด-ปิดเองได้ บันไดเฉียงหลบประตู กระบอกตั๋วรถเมล์แสนเท่ที่มีเทคนิคฉีกตั๋วและพับแบงก์ ไปจนถึงความรู้สึกสบายไม่เมารถเมื่อโดยสาร แต่คนรอบตัวเขาไม่สนับสนุนความชอบนี้เท่าไหร่นัก

“คนจะมองว่ามันไปทำเป็นงานไม่ได้ งานเกี่ยวกับรถเมล์มีแค่คนขับกับกระเป๋าฯ ญาติชอบถามว่าทำไมหนูไม่เล่นเป็นหมอ ตำรวจ ทหาร ล่ะลูก (หัวเราะ) ทำไมหนูเล่นเป็นกระเป๋ารถเมล์ ที่โรงเรียนเพื่อนนั่งต่อรูปทรงเรขาคณิตให้พอดี เราก็หาทรงกระบอกไปนั่งเล่นของเราอยู่คนเดียว มีเพื่อนในจินตนาการเป็นผู้โดยสารรอบคัน ครูประจำชั้นบอกพ่อแม่ว่าเราอินดี้มาก เข้าใจว่าเขาก็คงเห็นว่ามันไปต่อยอดอะไรไม่ได้ ได้มากสุดก็แค่งานอดิเรกมั้ง เหมือนเพื่อนในจินตนาการที่เขาคิดว่าวันหนึ่งก็คงหายไป ก็เลยไม่มีใครสนับสนุนอะไรมาก”

ศิลปะและการหนีออกจากบ้าน

“เราขึ้นรถเมล์เองครั้งแรกโดยลำพังปี 2546 (กระซิบ) หนีแม่มาขึ้น เราไปโตที่จันทบุรี ตอนนั้นที่บ้านใช้รถแล้ว เพราะการเดินทางด้วยรถสาธารณะที่นั่นมันลำบากมาก ทุกบ้านเลยมีรถ พอไม่มีใครใช้ รถสาธารณะเลยยิ่งผุพังลงเรื่อยๆ อีก ถ้าเป็นคนอื่นคงดีใจที่บ้านมีรถ แต่เราไม่พอใจที่มันทำให้เราไม่ได้นั่งรถเมล์ ไปไหนเองก็ไม่ได้ เราเลยต้องแสดงศักยภาพให้เขาเห็นว่าเราเดินทางเองได้

“เราบอกแม่ว่าจะไปทำรายงานในตัวจังหวัด ตอนนั้นอยู่ ม.1 อายุประมาณ 12 – 13 เราออกจากบ้านแต่เช้ามืด นั่งรถทัวร์มากรุงเทพฯ เพื่อมานั่งรถเมล์ ลงบางนาเสร็จปุ๊บข้ามถนนขึ้น 513 ไปดอนเมือง แล้วก็นั่งจากดอนเมืองกลับ แค่นั้นแหละ ชีวิตต้องการแค่นี้ ทำสำเร็จครับ แต่โดนด่ายับเลยนะ (หัวเราะ)”

นอกจากความทุ่มเทมหาศาลเพื่อขึ้นรถเมล์ บนรถโดยสารนี้เองที่เขาค้นพบความชอบที่สองที่สำคัญไม่แพ้กัน ป้ายสัญลักษณ์เต็มคันรถทำให้เด็กชายสนใจงานศิลปะ

“เราชอบศิลปะมาตั้งแต่เด็ก ชอบเขียนฟอนต์ตัวเลข เพราะเราสังเกตป้ายที่อยู่บนรถเมล์ซึ่งมีฟอนต์เยอะมาก ทั้งฟอนต์พิมพ์บ้าง ฟอนต์ทำมือบ้าง เราก็จำจนไม่รู้ว่านี่เราชอบศิลปะเอง หรือเห็นจนชอบ กระทั่งทุกวันนี้ก็ยังชอบดูฟอนต์และเขียนเอง แล้วรถเมล์สมัยก่อนจะติดโฆษณาเต็มคัน เราก็ชอบมองว่ามีสินค้าอะไรมาลง พยายามดูการจัด compose ของโฆษณาว่ามันแบ่งส่วนยังไง ถ้าสรีระของรถเปลี่ยนมันจะแบ่งยังไง เลือกวางอะไรก่อนหลัง มองสติกเกอร์ภาษาไทยที่เล่นคำ สำหรับเราแล้วรถเมล์กับศิลปะเลยมีความเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก”

Mayday

Mayday

ฉายแววเพราะรถบัส

ความสนใจรถเมล์และงานศิลปะเริ่มมาบรรจบกันเมื่อแวนเติบโตขึ้น หลังฝึกฝนความรู้เกี่ยวกับรถเมล์จนเชี่ยวชาญด้วยการอ่านหนังสือและแผนที่รถโดยสารประจำทาง (จนถึงขั้นนั่งอ่านในห้องน้ำ) เด็กหนุ่มพบว่าตนเองไม่ใช่คนเดียวบนโลกที่ชอบรถบัส เมื่อค้นพบชุมนุมคนรักรถเมล์ในเว็บไซต์ต่างๆ เช่น thaitransport-photo และ Bangkokbusclub.com ชุมชนคนรักรถเมล์ แวนเข้าไปแลกเปลี่ยนความรู้และคิดนำภาพโฆษณาสินค้าที่อยากให้ติดบนรถเมล์มาวาดทับลงบนโปรแกรม paint ผลปรากฎว่าบริษัทที่ติดโฆษณาข้างรถมาเห็นและติดต่อกราฟิกดีไซเนอร์ชั้นมัธยม 5 เพื่อจ้างให้ทำแผ่นโฆษณาจริง

“เขาบอกว่าการวางเลย์ของเราฉีกไปจากของเดิม แม่ก็เริ่มรู้สึกว่า เฮ้ย ดีไม่เบา รถเมล์ทำคุณประโยชน์ต่อชีวิตลูกได้ การชอบรถเมล์ไม่ได้เป็นได้แค่คนขับหรือกระเป๋ารถเมล์ แต่ตอนนั้นพอบริษัทนั้นรู้ว่าเราใช้โปรแกรม Paint เขาก็เลยบอกว่าไว้โอกาสต่อไปนะ เพราะใช้ Illustrator กับ Photoshop ยังไม่ได้ แต่สุดท้าย งานนั้นกลายเป็นหนึ่งในผลงานยื่นเข้าเรียน Communication Design ที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ”

นักแปลงใบประกาศ

การเรียนมหาวิทยาลัยทำให้แวนต้องนั่งรถเมล์ทุกวัน ชายหนุ่มยิ่งซึมซับความรักต่อรถเมล์เข้าไปอีก เขาฝึกการใช้โปรแกรมออกแบบต่างๆ อย่างคล่องแคล่ว และเริ่มฝึกนำข้อมูลหรือประกาศเกี่ยวกับรถเมล์มาทำเป็นประกาศที่สวยงามอ่านง่าย และเผยแพร่ใน Facebook ส่วนตัว

“เราเอาข้อมูลมาทำเป็นประกาศให้คนอื่นรู้ ทำให้มันน่าสนใจมากกว่าประกาศกระดาษ A4 เลือกเรื่องที่ถ้าคนอื่นรู้แล้วจะดี รู้สึกว่ามันมีประโยชน์และใช้เป็นพอร์ตฯ ได้ แต่ตอนนั้นไม่ได้คิดจะทำจริงจังเพราะมีเพจรถเมล์อยู่แล้ว เช่น เพจ Bangkokbusclub.com ชุมชนคนรักรถเมล์ กับ เพจรถเมล์ไทย.คอม Rotmaethai.com เขาเป็นชมรมคนรักรถเมล์ที่มีข้อมูลเยอะกว่าเรามาก ถ่ายรูปรถเมล์ทุกคัน เก็บสถิติว่าวันนี้รถเมล์คันไหนเสีย รู้จักพนักงานไปถึงนายตรวจ เจ้าหน้าที่จนถึงหัวหน้าสาย หรือ ผอ. เขตต่างๆ 

“เราก็เป็นแค่ผู้โดยสารคนหนึ่ง เลยเลือกหยิบคอนเทนต์ที่เขายังไม่พูดมาสื่อสารต่อให้เข้าใจง่าย พอเรียนมาเรารู้วิธีสังเคราะห์ข้อมูลอยู่แล้ว จากข้อมูลก้อนใหญ่ๆ ทำ infographic ภาพเดียวจบ เข้าใจทันที เช่น เรื่องสีป้ายหน้ารถ หรือวิธีแยกรถร่วมกับรถ ขสมก. รถร่วมจะมีแถบสีเหลืองคาด หรือสีชมพูทั้งคัน ส่วนรถ ขสมก. จะมีแถบสีเขียว หรือสีส้มทั้งคันอย่างรถยูโร”

เมื่อเรียนจบ แวนมุ่งหน้าทำกราฟิกหลากรูปแบบอย่างเต็มตัว ช่วงนี้เองที่รถเมล์เริ่มห่างหายจากชีวิต ยิ่งเวลาผ่านไป เขาไม่คิดว่าจะได้กลับมาพูดเรื่องรถเมล์อีกแล้ว

Mayday

กำเนิด Mayday

“เจ้านายทุกที่รู้ว่าเราชอบรถเมล์ แต่ก็แค่นั้น เราก็แค่ชอบรถเมล์ จนกระทั่งมาทำงานกับพี่ศานนท์ (ศานนท์ หวังสร้างบุญ-เจ้าของ Once Again Hostel) เราทำกราฟิกเพื่อพัฒนาชุมชนเมือง พอได้อยู่ในวงทำงานที่อยากพัฒนาเมืองทุกคน และมีบางคนที่สนใจขนส่งสาธารณะด้วย ก็เลยเริ่มจับกลุ่มกัน ทีแรกก็ยังไมรู้ว่าจะทำอะไร จนกระทั่งปีที่แล้ว 1 วันหลังในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคต เรามาทำงานตามปกติ นั่งรถไฟฟ้ามาขึ้นรถเมล์สาย 508 ตรงสนามกีฬาแห่งชาติ ปรากฏว่าผู้โดยสารหน้าคุ้นหมดเลย เป็นพนักงานบริษัทที่เราเคยไปฝึกงานด้วย ตั้งแต่รุ่นพี่ถึงผู้บริหารกำลังนั่งรถเมล์มาสนามหลวง ตรงนั้นเป็นจุดเปลี่ยนความคิดเลย เราชอบคิดว่าคนไม่ขึ้นรถเมล์ด้วยเหตุผลเดียวคือมันดูจน แต่บางทีที่เขาไม่ขึ้นเพราะเขาไม่รู้ข้อมูล เราเลยคิดว่าถ้าเราสื่อสารได้ดีมันอาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้คนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวลงได้”

แวนเปลี่ยนข้อมูลการเดินทางมางานที่สนามหลวงปึกใหญ่ให้กลายเป็นแผนที่ขนาด A3 ให้อาสาสมัครธรรมศาสตร์บอกเส้นทาง จากนั้นกลุ่ม Mayday หรือ เมล์เดย์ ก็เดินหน้าจริงจังด้วยการเข้าร่วมนิทรรศการอุตสาหกรรมขนส่งทางรางไทยเพื่อเสนอทางเลือกการเดินทางสาธารณะที่เชื่อมต่อกับรถไฟ

“ไอเดียเราคือดีไซน์มันช่วยการเปลี่ยนแปลงได้ ทุกคนคิดได้ว่าป้ายรถเมล์ควรบอกอะไร หลายคนก็พยายามหา reference จากสิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน แต่ถ้ามันยังไม่เกิดขึ้น เราก็คิดว่ามันอาจต้องประนีประนอมกับโครงเดิมที่เขามีอยู่ ทำยังไงก็ได้ให้มันเกิดประโยชน์กับผู้โดยสารสูงสุด ป้ายสีฟ้าแถบนิดเดียวยังมีพื้นที่โล่งเหลืออยู่ เราปรับอะไรเล็กๆ น้อยๆ เป็น small change, big move เพื่อช่วยเหลือได้บ้าง”

ปัจจุบันป้ายรถเมล์สีฟ้าที่สี่แยกคอกวัวและป้ายใหญ่ที่เกาะพญาไท-ดินแดง อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นความสำเร็จขั้นต้นของเมล์เดย์ นอกจากนั้น พวกเขายังมีเพจรวมข้อมูลรถเมล์ที่มีประโยชน์ต่อการเดินทาง เช่น 35 สายรถเมล์ทางด่วน จ่ายเงินไป-กลับไม่เกิน 50 บาท, รวมสายรถเมล์ไปดอนเมือง และข้อมูลอื่นๆ ที่อาจเปลี่ยนชีวิตการเดินทางในกรุงเทพฯ ให้ราบรื่นเกินคาด

Mayday

Mayday

May the force be with you

“ตอนแรกเป้าหมายเราคือสู้กับแนวคิดว่ารถสาธารณะเป็นของคนจน รัฐบาลพยายามผลักดันให้รถเมล์เป็นขนส่งของคนเงินน้อย เป็นทางเลือกสำรอง เราเข้าใจว่ารถเมล์มันอาจจะต้องลดบทบาทลง ไม่ใช่ขนส่งหลักอย่างสมัยก่อน แต่มันต้องไม่ใช่ตัวเลือกที่แย่ที่สุด ถ้ารถไฟฟ้าดี รถเมล์ก็ต้องดีน่าใช้ด้วย ไม่งั้นถ้าทางที่คุณไปรถไฟฟ้าไปไม่ถึง คุณก็ต้องนั่งรถส่วนตัว ปัญหาการเดินทางก็ไม่ถูกแก้สักที จุดมุ่งหมายอันยิ่งใหญ่มากๆ ของเราคือการสร้างวัฒนธรรมการใช้รถสาธารณะที่มันโอเค ถ้ามันเปลี่ยนแปลงจากฝั่งคนสร้างไม่ได้ ก็ต้องเปลี่ยนแปลงจากฝั่งเรา”

วริทธิ์ธร สุขสบาย : กราฟิกดีไซเนอร์ผู้แก้ไขปัญหารถเมล์ที่เขาหลงรักอย่างสร้างสรรค์

วริทธิ์ธร สุขสบาย : กราฟิกดีไซเนอร์ผู้แก้ไขปัญหารถเมล์ที่เขาหลงรักอย่างสร้างสรรค์

วริทธิ์ธร สุขสบาย : กราฟิกดีไซเนอร์ผู้แก้ไขปัญหารถเมล์ที่เขาหลงรักอย่างสร้างสรรค์

“พอพูดถึงขนส่งมวลชน มันมีความรู้สึก negative สำหรับคนไทย มันแย่ มันช้า มันห่วย มันเก่า กูรู้แล้ว (หัวเราะ) แต่เรารักมัน เราอยากพยายามทำอะไรให้มันดี หรือทำให้เขาเห็นว่าปัจจุบันมันมีประสิทธิภาพแค่ไหน รถเมล์กะสว่างหรือรถเมล์ที่วิ่งทั้งคืน มันทำเวลาดีมากเพราะถนนโล่ง ถ้ารถไม่ติด รถเมล์อาจไวเท่ากับรถไฟฟ้าหรือไวกว่าด้วยซ้ำ เราอยากให้คนอื่นๆ ได้ใช้ประโยชน์รถเมล์มากกว่านี้”

ผู้เชี่ยวชาญเรื่องรถประจำทางกล่าวอย่างมุ่งมั่น ฉันได้ทีถามเส้นทางจากบ้านไปที่ทำงานนอกเหนือรถไฟฟ้า แวนครุ่นคิดก่อนประมวลวิธีเดินทางด้วยรถสาธารณะมาให้ 3 – 4 เส้นทาง เสมือนเป็น Google Maps คนรักรถเมล์ยังช่วยเขียนเคล็ดลับการขึ้นรถเมล์แบบง่ายๆ ใส่กระดาษ แล้วฝากให้ฉันช่วยเผยแพร่แก่ผู้อื่น

“ตอนนี้พอทำเพจเราก็ช่วยคนที่ในชีวิตจริงเราอาจจะไม่เคยคุยด้วยซ้ำได้ เราดีใจที่ทำให้คนอื่นเจอการเดินทางที่มันดีขึ้น มันเป็นช่องทางที่ทำให้เราช่วยคนได้มากขึ้น การทำงานเพื่อพัฒนาเมืองคือการทำให้ทุกคนแฮปปี้ ไม่ใช่แค่ประชาชน รัฐด้วย เพราะคนที่อยู่ในรัฐก็คือประชาชน”

วริทธิ์ธร สุขสบาย : กราฟิกดีไซเนอร์ผู้แก้ไขปัญหารถเมล์ที่เขาหลงรักอย่างสร้างสรรค์

How-to ขึ้นรถเมล์แบบมืออาชีพ

1. สังเกตสีป้ายหน้ารถ: สีป้ายที่เสียบหน้ารถ ขสมก. มีความหมาย ไม่ว่าจะป้ายสี-ตัวอักษรขาว หรือป้ายขาว-ตัวอักษรสี ก็เป็นสัญลักษณ์เดียวกัน สีน้ำเงินหมายถึงวิ่งเต็มเส้นทาง สีแดงหมายถึงวิ่งตัดช่วง (รถเสริม) หรือรถเสีย และสีเหลืองหมายถึงขึ้นทางด่วน โปรดสังเกตโค้ดลับก่อนตัดสินใจขึ้นรถ

ข้อพึงระวัง: โค้ดสีนี้ใช้เฉพาะรถ ขสมก. เท่านั้น ไม่นับรถเอกชนร่วมบริการ

2. วิ่งชิดขอบถนน: ในกรณีที่ต้องวิ่งตามรถเมล์ (ไม่แนะนำให้วิ่ง ยกเว้นจำเป็นจริงๆ) ให้วิ่งตรงริมฟุตปาทติดขอบถนน เพราะคนขับจะมองเห็นจากกระจกข้างและอาจใจดีชะลอให้ แต่ถ้าวิ่งชิดในบาทวิถีมากเกินไปก็เสี่ยงตกรถมากกว่า

3. ขึ้น-ลงช้า ประตูหน้าเท่านั้น: ทุกอย่างที่เกิดขึ้นที่ประตูหน้ามักปลอดภัยเสมอเพราะคนขับมองเห็น รถเมล์ส่วนใหญ่จะออกแล่นก่อนแล้วค่อยปิดประตู ถ้าเจ็บขา เดินช้า หรือเพิ่งรู้ตัวว่าต้องลงป้ายนี้ ควรใช้ประตูหน้าเท่านั้น และถ้ากลัวคนขับไม่สังเกตเห็นเราก็ส่งเสียงบอกดังๆ ก่อนขึ้น-ลงรถ

4. บอกชื่อแลนด์มาร์กกับกระเป๋ารถเมล์: ถ้าจุดหมายชื่อไม่ดังจริง กระเป๋ารถเมล์อาจเลิกคิ้วบอกว่าไม่รู้จัก ลองบอกชื่อเล่นของย่านที่คนเรียกกัน หรือสถานที่รอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นวัด ห้าง โรงเรียน ตลาด เพื่อให้รถจอดลงป้ายสมดังปรารถนา

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan