7 พฤศจิกายน 2017
463

ฉันนั่งแท็กซี่มุ่งหน้าไปยังบ้านของ ธาวิต อุทัยเจริญพงษ์ วิศวกรยานยนต์ประจำ nuTonomy บริษัทสตาร์ทอัพออกแบบแท็กซี่ในสิงคโปร์

แท็กซีที่ฉันโดยสาร กับแท็กซีที่ธาวิตร่วมออกแบบ ต่างกันตรงผู้รักษาตำแหน่งคนขับ

ในรถแท็กซีคันสีเหลืองเขียวของฉัน มีคุณลุงใจดีที่รู้จักทุกตรอกซอกซอยในกรุงเทพฯ เป็นผู้คอยตัดสินใจบังคับรถให้วิ่งไปตามทิศทางที่ต้องการ

ส่วนในยานยนต์ของ nuTonomy ไม่ต้องมีใครบังคับพวงมาลัย รถก็วิ่งได้ด้วยตัวของมันเอง

แนวคิดการผลิตรถไร้คนขับ (Self-driving Car) คงไม่ได้แปลกใหม่สำหรับใครหลายคน เช่นเดียวกับหุ่นยนต์ที่มีจิตใจและหน้าตาเหมือนมนุษย์ ซึ่งแม้จะได้ยินมาจนคนคุ้นกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว เทคโนโลยีกลับยังผลิตตามภาพฝันในภาพยนตร์ไซไฟไม่ค่อยจะทันนัก

ถึงจะยังไม่สำเร็จสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ตามภาพฝัน แต่ถ้าอ้างอิงตามที่ธาวิตเล่าให้ฟัง รถไร้คนขับก็อาจทะยานออกจากจินตนาการมาโลดแล่นบนถนนคอนกรีตได้ในอีกไม่นาน

ธาวิต อุทัยเจริญพงษ์

ก่อนจะไปถึงวิวัฒนาการของรถยนต์ไร้คนขับ ฉันอยากให้ธาวิตพูดถึงที่มาที่ไปเสียก่อน ว่าด้วยเหตุอันใด วิศวกรชาวไทยอย่างเขาจึงได้ไปมีส่วนร่วมทำโปรเจกต์อันยิ่งใหญ่ระดับที่กินเนสบุ๊กต้องบันทึกชื่อไว้เช่นนี้

ชายหนุ่มเริ่มต้นจากการเป็นนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่ชอบทำงานสาย hardware โดยเฉพาะงานประดิษฐ์หุ่นยนต์และ system analysis หลังเรียนจบและทำงานอยู่สักพัก อาจารย์ที่เขาเคยเรียนด้วยก็หยิบยื่นโอกาสให้เขาลองไปทำงานที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore) ในแล็บพิเศษที่ชื่อว่า ‘SMART’ (The Singapore-MIT Alliance for Research and Technology) เป็นแล็บพิเศษซึ่งได้รับการสนับสนุนร่วมกันจากรัฐบาลสิงคโปร์และ MIT มหาวิทยาลัยในบอสตัน สหรัฐอเมริกา

โปรเจกต์ครั้งแรกที่ธาวิตได้ไปร่วมทำในปี 2009 คือการทำให้เครื่องยนต์แจ้งเตือนการซ่อมแซมก่อนที่ส่วนประกอบใดจะเสีย เพื่อให้เจ้าของวางแผนซ่อมแซมล่วงหน้าได้ โดยเขาไปช่วยเป็นวิศวกรประจำโปรเจกต์ให้กับเหล่าผู้ทำงานวิจัย

หุ่นยนต์

หลังโปรเจกต์ดังกล่าวจบลง วิศวกรหนุ่มก็ไปเรียนต่อปริญญาในด้าน System and Control ที่ University of New South Wales ประเทศออสเตรเลีย และไม่กี่ปีหลังจากนั้น เขาก็ย้อนกลับมาทำงานในแล็บ SMART อีกครั้ง โดยรอบนี้ งานที่ทำคือการปรับปรุงระบบไฟเขียวไฟแดงในเมืองสิงคโปร์ โดยเป็นโปรเจกต์เชิงวิจัยหลังปริญญาเอกของทิชากร วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ชาวไทยอีกคนในแล็บ

ธาวิตเล่าถึงทุกโปรเจกต์ที่ผ่านมาด้วยความสนุกสนาน แต่เมื่อถึงตอนที่เข้าเรื่องโปรเจกต์รถไร้คนขับ เสียงของเขาก็เปลี่ยนเกียร์ขึ้นทันที เริ่มจากวันที่ได้ยินเพื่อนร่วมงานบอกว่า ระหว่างแล็บที่เขาอยู่ทำโปรเจกต์ไฟเขียวไฟแดง ในอีกแล็บหนึ่งของ SMART เพิ่งได้รถไร้คนขับมือสองมาลองเล่นกัน “ผมถึงกับต้องวิ่งลงไปดูเลยว่า ไหนคือรถที่เขาพูดถึงกัน และนี่คือจุดเริ่มต้นของการมาทำงานเรื่องรถยนต์ไร้คนขับของผม”

รถยนต์ไร้คนขับ

รถยนต์ไร้คนขับ

รถคันแรก

รถไร้คนขับมือสองที่ว่านั่น ว่ากันตรงๆ ก็เป็นเพียงรถกอล์ฟที่ผ่านการปรับแต่งให้วิ่งเองได้โดย A*STAR อีกสถาบันวิจัยหนึ่งของสิงคโปร์ ซึ่งขึ้นชื่อด้านการพัฒนารถไร้คนขับเช่นกัน “สภาพรถที่มาคือ เป็นรถกอล์ฟที่มีสายระโยงระยางเข้ามาในกล่องคอนโทรลที่ใส่ไว้ใน tupperware วางอยู่ในรถเฉยๆ เลย” โจทย์ของแล็บ Future Urban Mobility หลังได้รถกอล์ฟคันนี้มา คือการพัฒนาให้ใกล้เคียงกับการใช้ได้จริงมากที่สุด

หลังจากวิจัยปรับแต่งกันไปเรื่อยๆ ผลผลิตรุ่นแรกของแล็บคือ รถกอล์ฟที่วิ่งได้เอง เลี้ยวได้เอง หยุดได้เอง ด้วยความเร็วประมาณ 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง วิธีบังคับก็เป็นระบบง่ายๆ คือให้มีกลไกเหยียบคันเร่งและเบรกคล้ายเท้าปลอม เชื่อมต่อเข้ากับสมองกล (คอมพิวเตอร์นั่นเอง) เพื่อให้รถตัดสินใจและปฏิบัติเองได้

“พอได้รถกอล์ฟคันนั้นมาแล้ว เราก็ลองติดต่อขอเอารถไปลองวิ่งให้บริการที่สวนพฤกษศาสตร์ในสิงคโปร์ ซึ่งเป็นสวนขนาดใหญ่ที่มีคนทุกประเภท ทั้งคนแก่ คนทำงาน วัยรุ่น นักท่องเที่ยว เราเปิดให้เขามาลองใช้บริการรถกอล์ฟไร้คนขับของเราดู ปรากฏว่าเสียงตอบรับดีมาก สิ่งแรกที่ทุกคนทำพอขึ้นมานั่งคือถ่ายเซลฟี่ ขนาดผมเองยังประหลาดใจเลย”

 

รถไร้คนขับ

การประสบความสำเร็จในครั้งนั้น ทำให้รัฐบาลสิงคโปร์เริ่มเห็นด้วยกับแนวคิดรถไร้คนขับ และช่วยสนับสนุนทั้งในทางเงินทุนและกฎหมายมากขึ้นไปอีก จากรถเพียงคันเดียว ก็เพิ่มขึ้นมาอีกเป็น 5 คัน พร้อมระบบต่างๆ ที่พัฒนาให้ละเอียดขึ้น ผิดพลาดน้อยลง

เมื่อผลเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่งแล้ว ก็มาถึงเวลาทดลองกับรถยนต์จริงๆ บ้าง พวกเขาเริ่มต้นจากการซื้อรถมิตซูบิชิรุ่น iMiEV มาปรับแต่งด้วยวิธีการคล้ายกับรถกอล์ฟคันเก่า แต่โจทย์สำคัญที่แตกต่างไปคือ ต้องทำให้รถวิ่งเร็วพอจนไม่กีดขวางถนน และต้องทำให้รูปลักษณ์ดูดีเข้าที่เข้าทางให้ได้

“ปัญหาของรถยนต์ระบบปิดที่ไม่เจอในรถกอล์ฟซึ่งมีรูปแบบเปิด คือการจะต่อสายต่างๆ มันทำได้ยาก เพราะทุกอย่างมันต้องซ่อนหมด โปรเจกต์ของเราต่างจากรถของเจ้าอื่น เช่น Waymo (บริษัทลูกของ Google) ตรงที่อันนั้นเขาใช้วิธีคุยกับโรงงานผลิตโดยตรงว่าอยากได้รถที่ทำอย่างนั้นอย่างนี้ได้ แต่ของเราคือซื้อรถปกติที่มีอยู่ในตลาดมาปรับแต่งให้เป็นรถไร้คนขับ ผมเลยต้องมานั่งไล่แกะเองว่าสายไฟแต่ละเส้นที่ต่ออยู่มันคืออะไรบ้าง มันทำอะไรบ้าง แล้วต่อเอาระบบของเราเข้าไปบังคับมัน”

หลังจากพัฒนาและให้รถลองวิ่งดูในเขตมหาวิทยาลัยจนค่อนข้างเสถียร ก็ทำให้ทีมพัฒนาเห็นพ้องต้องกันว่า โปรเจกต์นี้จะวิ่งไปได้ไกลกว่าแค่ในแล็บ ทำให้บริษัทสตาร์ทอัพภายใต้นาม nuTonomy ถือกำเนิดขึ้น

self-driving car

 

โรงเรียนสอนขับรถ

ด้วยเป็นผลผลิตของการร่วมมือกันระหว่างแล็บในสิงคโปร์ กับศาสตราจารย์จาก MIT ที่บอสตัน ทำให้ nuTonomy มีที่ตั้งกระจายอยู่ใน 3 เมือง คือสิงคโปร์ บอสตัน และซานตาโมนิก้า ฝั่งสิงคโปร์เป็นแหล่งออกแบบทั้ง hardware และ software ควบคู่กันไป ในขณะที่อีก 2 ที่ทำแต่ส่วน software เป็นหลัก “ข้อดีคือ ด้วยเวลาที่เหลื่อมกันมาก ทำให้พอทางสิงคโปร์ทำงานเสร็จ ก่อนเลิกงานก็ส่งไปให้ฝั่งบอสตัน ทางนั้นก็จะเป็นตอนเช้า ตื่นมาทำงานต่อได้พอดี สลับกันไปแบบนี้”

หากอธิบายง่ายๆ การทำรถไร้คนขับก็คล้ายการสร้างคนจำลอง โดยให้ส่วน hardware แทนตา และส่วน software แทนสมอง รอบรถจึงติดกล้องและเซนเซอร์ (RADAR, LIDAR) เพื่อให้รถ ‘มองเห็น’ ควบคู่ไปกับภายในที่มี GPU (คล้าย CPU สำหรับงานที่ต้องการการประมวลผลปริมาณมากและรวดเร็ว) สำหรับ ‘ทำความเข้าใจสิ่งที่เห็น’ ด้วยวิธีแบบ deep learning นั่นคือให้โปรแกรมเรียนรู้เองผ่านประสบการณ์

แล้วรถสั่งสมประสบการณ์ยังไง? คำตอบคือก็เหมือนคนนั่นแหละ วิธีเรียนขับรถที่ดีที่สุด คือลองขับดูเลย

เริ่มจากการให้โปรแกรมลองขับรถในสถานการณ์จำลอง (simulation) หลายสถานการณ์ โดยในแต่ละครั้งจะสุ่มตัวแปรแตกต่างกันไป เมื่อโปรแกรมฝึกกับภาพจำลองจนเข้าที่แล้ว ค่อยนำไปลองใช้กับรถในสนามปิดที่เตรียมไว้พิเศษ แล้วถึงจะได้วิ่งบนถนนจริง โดยให้ safety driver คอยนั่งอยู่หลังพวงมาลัย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ปกติมีหน้าที่สอนตำรวจจราจรขับรถ งานของ safety driver คือ ตัดสินใจเพื่อความปลอดภัยทันที โดยไม่ต้องสนใจว่าตัวเอง ‘คุมสอบ’ รถอัตโนมัติอยู่

“การวิ่งบนถนนจริงทำให้เจอสถานการณ์แปลกๆ เยอะ เช่น จู่ๆ ก็มีไก่วิ่งตัดหน้ารถกลางเมืองสิงคโปร์ หรือล่าสุดมีเด็กๆ กลุ่มหนึ่งเดินมาทางขวาของรถ รถเห็นแล้วก็รู้ตัวว่ามีเด็ก 5 คนกำลังจะข้ามถนน รถก็หยุด แต่พอเด็กเห็นว่าเป็นรถอัตโนมัติ ก็ยกแขนขึ้นทำท่า dab พอแขนเด็ก 5 คนยาวต่อกัน รถดันไปมองว่าเด็กกลุ่มนั้นเป็นรถอีกคันแทน”

ช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา หลังจากได้ยินข่าวลือว่า Uber มีแผนจะออกบริการแท็กซี่ไร้คนขับ ฝั่ง nuTonomy เลยเร่งพัฒนารถของตัวเอง แล้วติดต่อรัฐบาลเพื่อขออนุญาตนำรถวิ่งให้บริการฟรีในย่าน One North ย่านธุรกิจของสิงคโปร์ และให้ safety driver คอยนั่งคุมพฤติกรรมรถตลอด การชิงชัยเล็กๆ ครั้งนี้ทำให้ Guinness Book ปี 2018 บันทึกชื่อพวกเขาไว้ในฐานะแท็กซี่ไร้คนขับเจ้าแรกของโลก

เมื่อฉันถามว่า แล้วเสียงตอบรับของผู้ใช้บริการล่ะ เป็นอย่างไรบ้าง ธาวิตก็ให้คำตอบเดิมมาอีกคือ ทุกคนถ่ายเซลฟี่

ถึงแม้ภาพอัพเดตล่าสุดจะดูมีหวัง แต่รถต้นแบบทั้ง 15 คันของ nuTonomy ก็ยังวิ่งได้อยู่ที่แค่ประมาณ 30 – 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และหลังรถก็ยังมีคอมพิวเตอร์ 6 เครื่องวางเรียงราย เพื่อทำหน้าที่เป็นสมองให้รถ สภาพโดยรวมจึงยังไม่เรียบร้อยพอให้เป็นผลิตภัณฑ์ขายในท้องตลาด ดูเหมือนหนทางไปสู่การให้บริการแพร่หลาย จะยังอยู่อีกยาวไกลนัก

รถไร้คนขับ

nuTonomy

รถในฝัน

เมื่อเราถามถึงโอกาสที่จะพารถไร้คนขับมาแนะนำให้คนไทยรู้จัก ธาวิตก็ถามฉันกลับว่า “ลองคิดว่าคุณต้องขับรถในเยาวราช คุณกล้ามั้ย? ผมเองที่ไม่ชินทางยังไม่กล้าเลย” ด้วยความซับซ้อนวุ่นวายของพื้นถนนกรุงเทพฯ บวกกับแหล่งเงินทุนที่ไม่ค่อยมีนัก ทำให้คงยากที่จะเห็นรถไร้คนขับบนท้องถนนเมืองไทยโดยทั่วไปในเร็ววัน

แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะธาวิตเองก็เสนอให้เราลองเริ่มต้นจากการหารถกอล์ฟมาปรับแต่ง เช่นเดียวกับที่พวกเขาทำในตอนแรก แล้วลองวิ่งในพื้นที่เล็กๆ อย่างอุตสาหกรรม ท่าเรือ หรือภายในมหาวิทยาลัย นอกจากนั้น วิศวกรหนุ่มยังเสริมอีกด้วยว่า “จริงๆ เรื่องการปรับแต่งเนี่ย วิศวกรไทยเก่งกว่าสิงคโปร์อีกนะ เพราะเรามีพวกอู่รถ เวลาอะไรพังก็จะซ่อมก่อน หรือหาอะไหล่เก่ามาเปลี่ยนใส่แทน ถ้าไม่ได้จริงๆ ค่อยซื้อ อย่างที่สิงคโปร์เขาจะให้ซื้อของใหม่ไปเลย เพราะมีงบให้อยู่แล้ว จะได้ไม่ต้องเปลี่ยนบ่อยๆ ด้วยข้อจำกัดเรื่องเงินด้วยแหละที่ทำให้เราเก่งด้านนี้”

สำหรับที่สิงคโปร์ ธาวิตเดาไว้ว่าอีกสัก 4 – 5 ปี แท็กซี่ไร้คนขับก็คงจะเริ่มได้ใช้งานจริง ส่วนหนึ่งที่สิงคโปร์ใกล้ความสำเร็จได้ขนาดนี้ เพราะเขามองว่าแท็กซี่ไร้คนขับจะช่วยแก้ปัญหาขาดคนทำอาชีพขับรถสาธารณะได้ ส่วนการใช้แพร่หลายทั่วโลกระดับเดียวกับโทรศัพท์มือถือนั้น อาจเดายากสักหน่อยว่าจะอีกนานเพียงใด

เท่าที่ผ่านมา งานนี้ตอบโจทย์ชีวิตของธาวิตไม่น้อย ขนาดที่เขาตื่นมาแล้วก็ยังอยากไปทำงานทุกวัน เพราะคิดวิธีแก้ปัญหา แนวทางพัฒนาใหม่ๆ ที่อยากไปทดลองทำได้อยู่เรื่อยๆ แต่เมื่อฉันถามว่าเขามีความฝันอื่นไหม เขาก็ตอบว่า เขาอยากทำจรวด!

“งานสายพวกนี้ไม่ได้หาทำยากเหมือนแต่ก่อนแล้ว แต่ก่อนถ้าอยากส่งอะไรขึ้นไปบนอวกาศ ก็ต้องไปสหรัฐอเมริกา ไม่ก็รัสเซีย แต่เดี๋ยวนี้ทั้งอินเดีย จีน ญี่ปุ่น มีหน่วยงานที่ทำเรื่องนี้หมด” แม้แต่น้องฝาแฝดของธาวิตก็เคยได้ทำงานเป็นคนดูแลเรื่อง Thermodynamics ของดาวเทียมที่สวิตเซอร์แลนด์ เขาจึงมองว่าโอกาสร่วมทีมผลิตจรวดอาจหาง่ายกว่าที่คิด แล้วก็เป็นโจทย์ใหม่ที่เขาสนใจลองทำ

แต่สำหรับตอนนี้ ขอมุ่งมั่นฝึกหัดเจ้ารถคันน้อยให้วิ่งเองได้สำเร็จตามที่ฝันเสียก่อน

วิศวกรยานยนต์

Save

Save

Save

Save

Writer

Avatar

อลิษา ลิ้มไพบูลย์

นักอยากเขียนผู้เรียนปรัชญาเพื่อเยียวยาอาการคิดมาก เวลาว่างใช้ไปกับการร้องคอรัสเล่นๆ แบบจริงจัง และดูหนังอย่างจริงจังไปเล่นๆ

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan