เมื่อนานมาแล้ว สำหรับเราถ้าจะมีสิ่งใดนามธรรมไปกว่าคำว่า สวยงาม ก็คงจะเป็นคำว่า พอเพียง นี่แหละ เพราะตลอดชีวิตที่ได้ยินใครพูดถึงความพอเพียง เราก็ได้แต่เก็บความสงสัยว่า ถ้าหากเราไม่ใช่เกษตรกรอย่างที่ตำราในห้องเรียนบอก เราจะทำความรู้จักและนำศาสตร์ของพระราชาศาสตร์นี้ไปใช้ได้อย่างไรบ้าง

วันเวลาผ่านไปถึงได้รู้ว่า เหตุผลที่หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้รับการตีความและถ่ายทอดให้เข้าใจร่วมกับเรื่องการทำเกษตรทฤษฎีใหม่และการพึ่งพาตัวเอง นั่นเป็นเพราะประชากรส่วนใหญ่ของประเทศทำเกษตรกรรม

แต่กาลเวลาที่ผ่านไป ก็ไม่ทำให้ความเข้าใจในเรื่องนี้เปลี่ยนตาม ทุกครั้งที่มีคนพูดเรื่องความพอเพียง ถ้าไม่บอกให้กลับบ้านไปทำเกษตร ก็บอกให้หยุดเพื่อรอรับความเนิบช้าของชีวิต จนกระทั่งเราได้พบกับโครงการ ‘พอแล้วดี The Creator’ ที่บอกเราว่ากิจการไลฟ์สไตล์สนุกๆ ในยุคสมัยนี้ก็สามารถลุกขึ้นมาดำเนินธุรกิจด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้

ในคำบรรยายที่ช่อง About ของโครงการ ‘พอแล้วดี The Creator’ บอกเราว่า นี่คือโครงการสร้างนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่มีความเชื่อและปฏิบัติบนแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy) ทั้งยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาท้องถิ่นหรือบ้านเกิด ควบคู่ไปกับแนวคิดของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy)

เพื่อพูดคุยเรื่องราวของที่มาที่ไป ความตั้งใจ และหลักสูตรแสนสนุกที่หาจากที่ไหนไม่ได้นอกจากโครงการ เราจึงมีนัดกับ พี่หนุ่ย-ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการสร้างแบรนด์อันดับต้นๆ ของประเทศ ผู้ริเริ่มก่อตั้งโครงการผู้บอกเราเสมอมาว่า คำว่า ‘ปรัชญา’ ใน ‘หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง’ หมายความว่ากรอบความคิดนี้สามารถตีความและนำไปใช้กับเรื่องอะไรก็ได้ทุกเรื่องขึ้นอยู่กับโจทย์

และหากคุณเป็นเจ้าของกิจการ หรือหนุ่มสาวนักล่าฝัน ที่กำลังมองหากรอบความคิดหรือระบบระเบียบที่จะสร้างสรรค์และทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนตามศาสตร์พระราชาที่ล้ำสมัยมากในยุคสมัยหนึ่ง ซึ่งตอนนี้มีคนกลุ่มหนึ่งหยิบยกมาสื่อสารให้สังคมรู้ว่า เรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้อยู่เพียงเรื่องเกษตร และไม่ได้พอที่แปลว่าต้องหยุดพัฒนา

A Very Short Introduction

“หลักการ 3 ห่วง 2 เงื่อนไขในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนี่ใช้ได้ทุกเรื่องนะ แม้กระทั่งจะเลือกแฟนก็ใช้ได้” พี่หนุ่ยเกริ่นมาซะขนาดนี้ เราก็เลยขอให้ยกตัวอย่างวิธีการเลือกรับความรักอย่างพอเพียง

“สมมติมีคน 2 – 3 คนมาชอบเรา ลำดับแรกสุด เราก็ต้องรู้ว่าเราเป็นคนยังไง (ห่วงแรก รู้จักตน ประมาณตน) ไลฟ์สไตล์เราเป็นแบบนี้ ความคิด ความอ่าน ไลฟ์สไตล์เขาเป็นอย่างไร เขาจะไปกับเราได้หรือเปล่า (เงื่อนไขความรู้) ลำดับต่อมา ถ้าเราอยากจะทำความรู้จักเขาต่อ จะคบหรือไม่คบ หรือจะไปไหนมาไหนกันก็ต้องมีเหตุมีผล ทำแบบนี้เขาจะรู้สึกไหมว่าอยู่ในฐานะอะไร (ห่วงที่สอง มีเหตุมีผล) ถ้าสนิทเกินไปก็ไม่บริหารความเสี่ยง (ห่วงที่สาม มีภูมิคุ้มกัน) เกิดเขาไปคิดว่าเรารู้สึกอะไรกับเขา แล้วเมื่อถึงจุดหนึ่งว่าไม่รู้สึกอะไร​ ไปกินข้าวกันเฉยๆ ก็คงไม่ดี เราควรจะเคารพเขาด้วย มีเหตุมีผลว่าเขาก็เป็นคนคนหนึ่ง มีหัวใจและความรู้สึกเหมือนกัน (เงื่อนไขคุณธรรม)”

หากไม่เหลือบตามองขึ้นไปดูชื่อบทความเสียก่อน คุณต้องเข้าใจว่ากำลังอยู่ในรายการปรึกษาหัวใจวัยรุ่นผู้มีปัญหาไม่ชัดเจนในความสัมพันธ์เป็นแน่

“ถ้าถามว่าปัญหาคนสมัยนี้คืออะไร ก็คือคนไม่ค่อยมี common sense เราขี้เกียจแม้แต่จะคิด ทุกคนล้วนอยากได้สูตรสำเร็จ ในหลวงท่านก็ทรงสอนว่าเรื่องนี้ไม่มีสูตรสำเร็จ กรอบความคิดชุดนี้จึงเรียกว่าปรัชญา ซึ่งขึ้นกับการปรับใช้ของแต่ละคน คุณจะมาถามว่าในแต่ละวันคนเราต้องดื่มน้ำเท่าไหร่ วิทยาศาสตร์คงตอบได้ว่าควรจะดื่มกี่แก้วต่อวัน แต่จุดพอของแต่ละคนที่ดื่มแล้วรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว คุณก็ต้องดูตัวเองว่าประมาณไหน

“คุณต้องรู้จุดว่ากินน้ำแค่นี้ดับกระหายคุณหรือยัง และยังมีคนอีกไม่น้อยที่หิวน้ำอยู่”

มีอะไรบ้างในชีวิตที่ใช้หลักปรัชญานี้ไปตัดสินใจไม่ได้ พี่หนุ่ยถามกลับมาที่เรา

ดีที่พอ พอแล้วดี

นอกจากบทบาทการเป็นที่ปรึกษาแบรนด์เพื่อความยั่งยืน ที่ผ่านมา พี่หนุ่ยได้รับเชิญให้เป็นตัวแทนประเทศนำเสนอศาสตร์พระราชากับการทำการตลาดและแบรนดิ้งอย่างยั่งยืนถ่ายทอดไปสู่สากลผ่านงาน Sustainable Brand เวทีสัมมนาเรื่องการสร้างแบรนด์อย่างยั่งยืน ที่จัดอยู่ตามเมืองใหญ่สำคัญของโลก

“ทุกครั้งเวลาที่พูดเรื่องนี้ในต่างประเทศ คนก็จะถามหากรณีศึกษาของการนำหลักคิดนี้ไปใช้ในการทำธุรกิจ เราก็อ้ำๆ อึ้งๆ เพราะยังไม่มีต้นแบบของธุรกิจที่พูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำ เมื่อกลับมานั่งคิด เราพบว่าถ้าอยากทำให้เป็นรูปธรรม เราคงต้องเริ่มทำกับธุรกิจที่เป็นรายเล็กๆ เพราะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นและเห็นผลได้เร็วกว่าองค์กรขนาดใหญ่”

หนึ่งในธุรกิจสร้างสรรค์ที่พี่หนุ่ยมักหยิบยกขึ้นมาเล่า คือ ร้านจันทรโภชนา ที่ ต่อ-อุกฤษฏ์ วงษ์ทองสาลี ทายาทรุ่นที่สองกลับมาสานต่อธุรกิจ ด้วยการนำความคิดสร้างสรรค์ที่มีจากวงการโฆษณามาเพิ่มคุณค่าและเรื่องราว จนกลายเป็นร้านอาหารชื่อดังที่ใครที่แวะเวียนไปจังหวัดจันทบุรีต้องไม่พลาด

พี่หนุ่ยจึงคิดว่าคงจะดีไม่น้อยหากมีคนแบบนี้อยู่ในทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย

เหมือนที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสอน ‘เคี้ยวทีละคำ ทำทีละน้อย’ เธอและทีมผู้สอนก็ทำตามกำลังที่มี ทำให้มีแต่ความรู้สึกดีๆ ที่ได้รับจากการร่วมใจของคนดีๆ คนเล็กๆ ที่มีหัวใจที่ยิ่งใหญ่

ไม่เพียงเป็นโครงการดีๆ ที่สร้างให้นักธุรกิจใหม่ๆ นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้กับการดำเนินธุรกิจ แต่ยังเป็นการสร้างไอดอลหรือคนต้นแบบของนักธุรกิจในกิจการไลฟ์สไตล์ที่น่าสนใจ

แผนธุรกิจพอเพียง ตำราวิชาบริหารระดับโลก

ด้วยประสบการณ์กว่า 20 ปีในเรื่องการสร้างแบรนด์ และเป็นที่ปรึกษาเรื่องการสร้างสรรค์และวางกลยุทธ์ พี่หนุ่ยเล่าให้ฟังว่า เวลาพูดเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับลูกค้าซึ่งเป็นบริษัทใหญ่ๆ ส่วนมากจะรับฟังและบอกว่าได้ทำสิ่งนั้นแล้ว แต่เป็นไปในลักษณะสนับสนุนโครงการช่วยเหลือภาครัฐ ทำโรงเรียนหรือศูนย์เรียนรู้ต่างๆ แต่ไม่มีใครนำกรอบความคิดเรื่องนี้มาใช้ในการทำธุรกิจเลย

“วันนี้พี่ไม่ได้บอกว่า ‘เลิกทำกำไรกันเถอะ’ เพราะถ้าธุรกิจเลิกทำกำไร ไม่มีกำไร นั่นแปลว่าธุรกิจนั้นกำลังจะเป็นภาระของสังคมแน่นอน เพราะแปลว่าคุณไม่รู้จักหน้าที่ของคุณ”

หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 อาจดูไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการสร้างแบรนด์ หรือการทำธุรกิจ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับหลักการสร้างแบรนด์ จะเห็นว่าหลักใหญ่ 3 ประการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งประกอบด้วย การรู้จักประมาณตน การมีเหตุมีผล และการมีภูมิคุ้มกัน ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลยแม้แต่น้อย

หลักการนี้ในภาษาที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานให้นำมาใช้กับธุรกิจได้อย่างไร เราถาม

“ห่วงแรก ที่พูดถึงการประมาณตน เป็นเรื่องเดียวกับ SWOT Analysis และการทำแบรนด์เพื่อให้ตัวเองรู้จักตัวตน คุณจะแข่งอะไรกับใครถ้าคุณไม่รู้จักกำลังของตัวเอง ไม่รู้ว่าเราเก่งไม่เก่งตรงไหน โอกาสและอุปสรรคคืออะไร เพราะฉะนั้น นักธุรกิจทุกคนทำห่วงแรกนี้อยู่แล้ว ห่วงที่สอง อยู่ภายใต้คำว่าสร้างและทำทุกอย่าง อย่างมีเหตุมีผล เป็นการวางกลยุทธ์ หรือ Strategic Planning เช่นเดียวกับห่วงที่สาม คือการสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งทุกธุรกิจทำอยู่แล้วภายใต้คำว่าการบริหารความเสี่ยง

“เงื่อนไขแรกคือ ความรู้ เป็นเรื่องพื้นฐานและปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราลุกขึ้นมาพัฒนาธุรกิจ เช่น คุณจะลุกขึ้นมาวางแผนการตลาด วางแผนการสื่อสาร อะไรก็ตาม คุณก็ต้องรู้จักพฤติกรรมผู้บริโภค และคุณต้องมีความรู้เรื่องแนวโน้มของตลาดที่กำลังเปลี่ยนไปว่าเป็นอย่างไร แต่ก็ต้องระวังเพราะหากคุณใช้ความรู้นั้นเบียดเบียนหรือเอาเปรียบผู้อื่น หนึ่งในคำสอนที่ในหลวงทรงสอนเสมอ คือหากจะลุกขึ้นมาทำเรื่องการค้าการพาณิชย์ คุณก็ควรทำอย่างคนที่มีจริยธรรม มโนธรรม คุณธรรม”

เราใช้เวลาเพียงไม่นานก็จดจำแก่นใหญ่ใจความของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงผ่านกรอบความคิด 3 ห่วง 2 เงื่อนไขที่เชื่อมโยงกับการทำธุรกิจได้อย่างขึ้นใจ เราจะเห็นว่าไม่มีส่วนไหนในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ไม่อยู่ในตำราวิชาบริหารในห้องเรียนธุรกิจของมหาวิทยาลัยระดับโลก

หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน

หลักสูตรที่เกิดขึ้นใน ‘พอแล้วดี The Creator’ เกิดจากพลังอาสาของเหล่าที่ปรึกษาอันดับต้นๆ ของประเทศในวงการสาขาต่างๆ มาร่วมอาสาให้ความรู้และคำแนะนำอย่างมากมาย

ตัวแทนบทเรียนในห่วงแรกคือ SWOT Analysis กับเรื่อง Brand DNA และการทำ Brand Model จากพี่หนุ่ย

ห่วงที่สองคือ เรื่องการวางแผนธุรกิจหรือการทำ Business Model Canvas จาก ปพนธ์ มังคละธนะกุล บริษัท ล้มยักษ์ นั่นคือ คุณต้องรู้ว่ารายได้จะมาจากไหน ดำเนินการอะไรอย่างไร เป็นการสร้างเหตุและผลของการทำธุรกิจ

ห่วงที่สาม สร้างภูมิคุ้มกัน จะเรียนรู้เรื่อง Financial Management จาก ลาวัณย์ วาริชนันท์ และจาก ภัทร์ฐิตา พัวอมรพงศ์ ที่ปรึกษาการเงินส่วนบุคคล AFPT (Associate Financial Planner Thai) วางแผนทางการเงิน การทำธุรกิจแบบพอเพียงไม่ได้แปลว่าจะกู้เงินไม่ได้ เพียงแต่ว่าถ้าจะกู้เงิน ต้องกู้เงินเท่าไหร่ถึงจะพอ

ขณะที่เงื่อนไขความรู้ มีทั้งแต่เรื่องเทคโนโลยีและการประยุกต์ศาสตร์และศิลป์สมัยใหม่ให้เกิดความพอดีจาก สุทัศน์ รงรอง ผู้ก่อตั้งบริษัท ดูอินไทย, วิชาการตลาดจาก ประสงค์ รุ่งสมัยทอง ปรึกษาประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านความรู้สึก บมจ. ธนาคารกสิกรไทย และผู้ก่อตั้งบริษัทรุ่ง (R.U.N.G TEAM),  วิชาพฤติกรรมผู้บริโภคและเทรนด์โลกที่เปลี่ยนไปจาก ดั่งใจถวิล อนันตชัย Managing Director บริษัท INTAGE (Thailand) Co., Ltd. และวิชา Graphic Design และ Packaging Design จาก สมชนะ กังวารจิตต์  Executive Creative Director บริษัท Prompt Design

โดยสิ่งเดียวที่ไม่มีสอนในหลักสูตรของโครงการ ‘พอแล้วดี The Creator’ คือเงื่อนไขคุณธรรม เพราะถือว่าเป็นเงื่อนไขพื้นฐานของทุกคนที่ตั้งใจมาเข้าร่วมหลักสูตร

แค่ได้ฟังวิชาที่หนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้และรับคำแนะนำแบบตัวต่อตัวจากรุ่นพี่และผู้เชี่ยวชาญ เราก็อดรู้สึกตื่นเต้นตามไม่ได้ เพราะนอกจากจะเรียนรู้จากสิ่งที่ลงมือและลงแรงทำจริงๆ ยอดขายและผลกำไรที่เคยเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิตก็มีขนาดเล็กลงถนัดตา เมื่อเทียบกับการได้ค้นพบตัวเอง รู้สึกถึงคุณค่าในตัวเอง รู้เหตุผลของการตื่นนอน ซึ่งไม่ว่าเขาจะตัวเล็กแค่ไหน ก็มีความหมายต่อสังคม เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีพลังและคุณค่า ไม่ใช่แค่คนที่ฝันถึงความร่ำรวยตั้งแต่อายุยังน้อย

หนังสือรุ่น

ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา โครงการ ‘พอแล้วดี The Creator’ ได้สร้างนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาพัฒนาธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม มีกิจการรุ่นใหม่ที่น่าสนใจและผ่านการเข้าร่วมหลักสูตรไปแล้วถึง 2 รุ่น

เช่น บริษัทสถาปนิกใจบ้านสตูดิโอ, ร้านกาแฟละเลียด, แบรนด์ Mann Craft, เฟอร์นิเจอร์และงานศิลปะแต่งบ้านจากเศษเหล็กแบรนด์ PiN และโฮสเทล Hom Hostel & Cooking Club เป็นต้น

“ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทของ Trainer หรือ Creator อย่างน้อยเขาจะเรียนรู้ว่าศาสตร์พระราชายิ่งใหญ่ขนาดไหน แต่สำหรับเรื่องการนำไปปรับใช้ได้มากน้อยแค่ไหน เราไม่ได้คาดหวัง เราเชื่อว่าเรื่องพวกนี้ต้องมาจากความเชื่อ ความศรัทธา ในตัวตนของเขา อะไรก็ตามที่คุณทำจากใจและจากความรู้สึกที่ระเบิดอยู่ข้างใน ล้วนส่งผลที่ยิ่งใหญ่ทั้งสิ้น” พี่หนุ่ยยิ้มตอบเมื่อเราถามถึงความคาดหวังที่ซ่อนอยู่

Impact Anera

“เวลาเราพูดคำว่าพอประมาณไม่ได้แปลว่ามีเท่าเทียมนะ เพราะทุกคนมีสถานะ บทบาท เงื่อนไขในชีวิตที่แตกต่างกัน แต่ว่ามีโอกาสเท่าเทียมกันในการดำรงอยู่ได้”

นอกจากหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เราถามพี่หนุ่ยว่ายังมีศาสตร์พระราชาศาสตร์ไหนอีกบ้างที่พวกเราจะนำใช้ในชีวิตและการทำธุรกิจได้

“ทุกเรื่องที่ท่านสอนเลย ไม่ใช่แค่เรื่อง ‘ความพอเพียง’ เท่านั้นที่เราควรสนใจ หากแต่ต้องมาพร้อมกับคำว่า ‘ความพากเพียร’ ถ้าเราเชื่อว่าข้างหน้านั้นมีฝั่งแน่ๆ ต่อให้เรายังไม่เห็นฝั่งนั้นเราก็ต้องพยายามว่าย ถ้าเราไม่ว่าย ปล่อยตัวเองให้จมน้ำไปกับกระแส ถ้ามียังพอมีแรงอยู่ จงมีความเชื่อและความศรัทธา

“อีกเรื่องที่พี่หนุ่ยชอบมากคือ เรื่องทศพิธราชธรรม นำไปใช้กับการสร้าง leadership ได้หมดเลยนะ รู้จักการให้อภัย รู้จักการให้โอกาส ทั้งหมดนี้เราจะเห็นว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นปราชญ์ของแผ่นดินจริงๆ ทุกอย่างที่ทรงตกผลึกและทรงส่งมอบแก่พวกเราผ่านจากกระทำ ไม่ใช่การนั่งเขียนตำราอยู่ในวัง ทั้งหมดคือบทสรุปจากชีวิตจริงที่ท่านได้เดินเท้าไปเจอะเจอกับปัญหา คุยกับคนไทยในทุกส่วนของประเทศ”

“อะไรคือเรื่องใหญ่ที่สุดที่พี่หนุ่ยได้จากการทำโครงการพอแล้วดี” เราถาม

“คำตอบก็คือ ดี ดีแบบชื่อโครงการเลย ได้ความรู้สึกดีๆ ที่ได้สร้างคนดีๆ สิ่งที่เราทำ ไม่ได้เป็นโครงการใหญ่โตมากมาย เราทำได้ทีละ 13 – 15 คน ตั้งแต่วันแรกที่เกิดขึ้นไม่มีคำว่าสุดท้ายเลย ทุกคนกลายเป็นครอบครัวที่ลุกขึ้นมาเกื้อกูล ชวนกันไปทำอะไรที่ดีมากยิ่งขึ้น จากหนึ่งคนให้กลายเป็นสอง กลายเป็นสี่ มากยิ่งๆ ขึ้น พลังของการเปลี่ยนแปลงสวยงามมาก”

ภาพ: พอแล้วดี The Creator

Facebook I พอแล้วดี The Creator

Save

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ