Heartist คือแบรนด์กระเป๋าผ้าเพื่อสังคมที่ก่อตั้งโดย วริศรุตา ไม้สังข์ หญิงสาววัย 25 ปี 

เธอมีงานประจำ แต่นอกเวลางานเธอทุ่มเทแรงกายและใจให้กับสิ่งนี้ นับดูคร่าวๆ งานนี้ทำให้เธอมีเวลานอนน้อยนิด แต่เมื่อเล่าถึงแบรนด์กระเป๋า ดวงตาเธอเป็นประกาย จริงอยู่กระเป๋าผ้าใบสวยของเธอหมดเกลี้ยงรวดเร็วเมื่อวางขาย แต่หลังฟังเรื่องราว ฉันว่าเธอไม่ได้สนุกที่เห็นเม็ดเงินไหลบ่าเข้ามา

สิ่งสำคัญอาจเป็น ‘ความหมาย’ ในกระเป๋า

เพราะนี่เป็นกระเป๋าที่มีแค่ใบเดียวในโลกซึ่งทำจากผ้าทอของเด็กพิเศษ เพื่อเด็กพิเศษอย่างแท้จริง

Heartist : กระเป๋าใบเดียวในโลกจากฝีมือเด็กพิเศษ

Heartist : กระเป๋าใบเดียวในโลกจากฝีมือเด็กพิเศษ

Heartist เกิดขึ้นได้ยังไง? บัณฑิตสาวจากคณะเศรษฐศาสตร์เล่าว่า ก่อนก่อตั้งแบรนด์นี้เธอชอบทำงานอาสาอยู่แล้วเป็นทุนเดิม และมีโอกาสได้เข้าร่วมทอผ้าบำบัดกับเด็กพิเศษของโครงการอรุโณทัยเพื่อบุคคลพิเศษ ซึ่งเป็นกลุ่มบำบัดเด็กพิเศษที่ก่อตั้งโดยแม่ของเด็กๆ มีกิจกรรมทอผ้าเพื่อให้เด็กฝึกสมาธิและเข้าสังคม

“โลกของเด็กพิเศษเป็นอีกโลกที่เราไม่เคยรู้จัก พอได้เข้าไปอยู่ด้วยก็รู้ว่าเขาก็เหมือนคนทั่วไป คือมีทั้ง High Function และ Low Function และที่จริงเขาก็มีความสามารถเหมือนเรา แค่ขาดโอกาสกับพื้นที่” วริศรุตาเล่าประสบการณ์การคลุกคลีกับโลกแสนพิเศษใบนั้นให้ฉันฟัง

หญิงสาวไปทำกิจกรรมกับเด็กๆ สม่ำเสมอ จนเมื่อมีโอกาสเข้าอบรมกับโครงการของ G-LAB มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เธอก็ได้เข้าใจสิ่งที่เรียกว่า ‘กิจการเพื่อสังคม’ มากขึ้น และเริ่มเห็นว่าน่าจะหยิบผ้าฝีมือเด็กพิเศษมาต่อยอดเป็นสินค้าได้ เพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัวเด็กพิเศษที่มีค่าใช้จ่ายในการดูแลพวกเขาอยู่ไม่น้อย

Heartist : กระเป๋าใบเดียวในโลกจากฝีมือเด็กพิเศษ Heartist : กระเป๋าใบเดียวในโลกจากฝีมือเด็กพิเศษ

“เวลาแม่ต้องดูแลน้อง เขาไม่ได้มีเวลามาทำผลิตภัณฑ์ มาขายของ ผ้าที่เก็บไว้ก็จะประมูลปีละครั้ง หรือไม่ก็คนรู้จักช่วยกันซื้อไป” เจ้าของแบรนด์สาวบอก “แต่เวลาช่วยซื้อ ผ้าผืนหนึ่งราคา 3,000 บาท  5,000 บาท คนซื้อคือซื้อไปเก็บหรืออาจจะเอาไปเป็นผ้าปูโต๊ะ เป็นการซื้อเพราะสงสาร เราก็รู้สึกว่าเขาทอมาตั้งนาน ใช้เวลา 4 – 6 เดือน ไม่คุ้มเลย เราก็เลยบอกว่า แม่ หนูขอได้มั้ย เดี๋ยวหนูเอามาเพิ่มมูลค่า แล้วเราก็ต้องการเสนอศักยภาพเขานะ ต้องการให้รู้ว่าการทอมาจากของน้อง มันว้าว มันคือศักยภาพที่คนภายนอกไม่มีทางได้รับรู้เลย”

วริศรุตาหยิบผ้าทอของเด็กๆ มาแปลงโฉมเป็นกระเป๋า ผ้าเหล่านี้มีขนาดแตกต่างกัน มีสีสันหลากหลายตามที่เด็กชอบ และไม่ได้สวยเนี้ยบสมบูรณ์แบบ (บางครั้งถ้าเด็กๆ อารมณ์ไม่คงที่ ผ้าอาจถึงขั้นใช้ไม่ได้) แต่นั่นแหละคือเสน่ห์ที่ทำให้กระเป๋าแต่ละใบของ Heartist มีเพียงใบเดียวในโลก เป็นกระเป๋าที่ถักทอจากศิลปินคนพิเศษ

“Heartist หมายถึง heart บวก artist เราเชื่อว่าแค่มีใจ ทุกคนบนโลกเป็นศิลปินได้” หญิงสาวอธิบาย

Heartist : กระเป๋าใบเดียวในโลกจากฝีมือเด็กพิเศษ Heartist : กระเป๋าใบเดียวในโลกจากฝีมือเด็กพิเศษ Heartist : กระเป๋าใบเดียวในโลกจากฝีมือเด็กพิเศษ

ยังไงก็ตาม เส้นทางจากผ้าบนกี่ของเด็กพิเศษมาสู่การเป็นกระเป๋าหนึ่งใบไม่ได้ราบรื่น วริศรุตาจะรับผ้าทอฝีมือเด็กพิเศษจากโครงการอรุโณทัยเพื่อคนพิเศษ และอีกที่ที่เธอติดต่อเพิ่มมาคือโรงเรียนอุบลปัญญานุกูลในจังหวัดอุบลราชธานี ผ้าเหล่านี้จะรับมาแบบเหมา คือไม่ได้คัดเอาแค่ผืนสวยๆ แต่รับทุกผืน แล้วหญิงสาวก็จะหาทางหยิบมันมาแปลงโฉมเป็นกระเป๋า โดยลดต้นทุนด้วยการผสมเข้ากับผ้าทอมือคุณภาพจากกลุ่มชาวบ้านที่รู้จัก (ผ้าฝีมือเด็กๆ มีราคาสูงเพราะใช้เวลาทอนานและเป็นงานฝีมือแท้ๆ) แล้วทดลองพัฒนาจนได้กระเป๋าที่เธอพอใจ

แน่นอนว่าระหว่างทางไม่ใช่แค่ออกแบบ สั่งผลิต แล้วก็เสร็จสิ้น แต่ Heartist ล้มลุกคลุกคลานมาเยอะ เผชิญปัญหาร้อยแปด ตั้งแต่ผ้าไม่สมบูรณ์ ขึ้นแบบพลาด ของผลิตล่าช้า ฯลฯ เรื่องทุนส่วนตัวที่จ่ายไปไม่พูดจำนวนอาจดีกว่า หากหญิงสาวผู้ไม่ได้จบด้านการออกแบบก็ไม่ล้มเลิกหรือลดมาตรฐาน เพราะต้องการให้แบรนด์เพื่อสังคมนี้อยู่รอด และมีสินค้าคุณภาพที่จะทำให้คนซื้อเพราะอยากใช้ ไม่ใช่ด้วยความเห็นใจ

“การซื้อเพราะความสงสารจะไม่ยั่งยืน” วริศรุตาบอกเหตุผล “เราต้องการให้เขาซื้อเพื่อการใช้งาน แล้วค่อยเป็นเรื่องอารมณ์ความรู้สึก คืออยากให้รู้ว่าใครเป็นคนทำมา คุณเป็นคนให้โอกาสคน สนับสนุนเขา แต่ประเด็นแรกที่คุณซื้อเพราะคุณต้องการใช้กระเป๋าแบบนี้ ผ้าน้องจะได้ถูกใช้จริงๆ และการซื้อไปวางทิ้งไว้เฉยๆ ถึงได้เงินจริง แต่ไม่ทำให้เราและน้องรู้สึกภูมิใจเลย”

Heartist : กระเป๋าใบเดียวในโลกจากฝีมือเด็กพิเศษ Heartist : กระเป๋าใบเดียวในโลกจากฝีมือเด็กพิเศษ

กระเป๋าของ Heartist ต้นทุนสูง ราคาจึงอาจสูงอยู่สักหน่อย แต่เมื่อวริศรุตาปล่อยกระเป๋าสู่ตลาด ก็พบว่ากระแสตอบรับดีเยี่ยม แต่ที่สำคัญยิ่งกว่ายอดขาย คือกระเป๋าทุกใบที่ขายได้หมายถึงสังคมยอมรับในศักยภาพของเด็กพิเศษทุกคน ผลคือผู้อยู่เบื้องหลังกระเป๋าแต่ละใบต่างภาคภูมิใจ แต่มากกว่านั้น ผู้ปกครองเองก็ได้ตระหนักว่าลูกของพวกเขามีความสามารถไม่แพ้ใคร

“เวลามีคนใช้กระเป๋า เราก็บอกน้องๆ เสมอว่ามีคนชอบนะ น้องเขาก็ดีใจ และไม่ใช่แค่ตัวน้องที่ภูมิใจนะ ล่าสุดเราไปออกบูท แม่น้องที่ไม่เคยพูดว่าน้องเป็นเด็กพิเศษ ไม่ยอมรับ พาน้องมากับเราแล้วเปิดเพจใหม่ บอกว่านี่เป็นงานของน้อง น้องมาช่วยพี่ คือเรารู้สึกว่าการที่มีคนยอมรับเขา มันก็จะสะท้อนว่าคนนอกยังยอมรับเขาเลย ทำไมคนในครอบครัวถึงยังไม่ยอมรับ ไม่เปิดใจ” วริศรุตากล่าว

 

Heartist : กระเป๋าใบเดียวในโลกจากฝีมือเด็กพิเศษ

Heartist : กระเป๋าใบเดียวในโลกจากฝีมือเด็กพิเศษ

ตอนนี้ Heartist เปิดตัวมาได้เกือบ 1 ปี วริศรุตาบอกว่า แบรนด์ค่อยๆ ก้าวไปข้างหน้า โดยระหว่างทางก็เรียนรู้จากความผิดพลาด และพัฒนาด้วยวิธีอย่างไปเข้าโครงการ SET Social Impact Gym by mai Executives ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาให้คำแนะนำ แต่ทั้งนี้ หญิงสาวตัวเล็กตรงหน้าเราก็จาระไนหลายแผนการอนาคตให้ฟังเรียบร้อย ตั้งแต่ส่งเสริมให้เด็กๆ มีรายได้หลังเรียนจบมัธยมด้วยการไปติดตั้งกี่ทอผ้าที่บ้านให้ ส่งครูสอนทอผ้าไปสอนเด็กๆ เพิ่ม หาสถานที่เปิดเป็นสตูดิโอให้เด็กพิเศษได้เป็นครูสอนทอผ้า (เหมือนพี่ยิมในซีรีส์ Side by Side ไงล่ะ) จนถึงขยับไปสร้างโอกาสด้านรายได้แก่ผู้พิการกลุ่มอื่นๆ เช่น ผู้พิการทางการได้ยินซ้ำซ้อน

“เราไม่ได้มองว่า Heartist คือแบรนด์กระเป๋านะ มันแค่เริ่มต้นจากกระเป๋า” วริศรุตาบอกเราด้วยดวงตาเป็นประกายเหมือนทุกประโยคที่ผ่านมา

ส่วนเราน่ะเหรอ รู้ตัวอีกทีก็กลายเป็นเจ้าของกระเป๋าใบพิเศษไปเรียบร้อยโรงเรียน Heartist แล้ว

Facebook l HEARTISTdid

 

 

 

 

Writer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan