ฉันรู้จัก มายเดย์ ตาอู จาก ‘มาหาสมบัติ’ นิทรรศการที่ The Emquatier ซึ่งหยิบเรื่องราวผืนป่ามาถ่ายทอดสู่คนเมือง ด้านหน้าของงาน มีผลงานภาพถ่ายจากผืนป่าจัดแสดงอยู่ ส่วนหนึ่งในนั้นคือผลงานฝีมือชายหนุ่มคนนี้

ภาพของมายเดย์มีเสน่ห์และน่าสนใจ หากที่ดึงดูดไม่แพ้กันคือเรื่องราวของเขา   

เรื่องของเด็กชายชาวปกาเกอะญอผู้กลายมาเป็นช่างภาพสัตว์ป่า

มายเดย์ ตาอู

มายเดย์ ตาอู

ย้อนไปในอดีต มายเดย์ลืมตาดูโลกในฝั่งประเทศพม่า ชายหนุ่มเล่าว่าก่อนเขาเกิดมา ป่าบริเวณที่อยู่ยังอุดมสมบูรณ์ สัตว์ป่าชุกชุม แต่ทั้งหมดก็สูญสิ้นไปเพราะการสัมปทานป่าไม้ เมื่อเด็กชายชาวปกาเกอะญอจำความได้ สิ่งที่เห็นคือตอไม้และซุงท่อนใหญ่ตามถนน แล้วต่อมา ครอบครัวเขาก็ย้ายหนีเหตุการณ์รุนแรงในพม่ามาลงหลักปักฐานที่ฝั่งไทย

แต่แม้ไม่มีต้นไม้ใหญ่ มายเดย์ก็ยังคงได้ใช้ชีวิตใกล้ชิดป่า ได้ตามพ่อเดินเข้าป่าลึกที่นักลักลอบตัดไม้เข้าไม่ถึง จนเมื่อเข้าสู่วัยประถม เด็กชายมายเดย์ก็ได้พบกับมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ ซึ่งทำกิจกรรมส่งเสริมให้เยาวชนรักธรรมชาติ

ระหว่างกิจกรรม เด็กชายผู้เติบโตกับผืนป่าได้จับกล้องถ่ายรูปเป็นครั้งแรกและตกหลุมรัก

มายเดย์ ตาอู

หากในเวลาเดียวกัน เขาก็รู้ว่าตัวเองมีข้อจำกัด เพราะการถ่ายภาพนั้นต้องใช้อุปกรณ์ ซึ่งแน่นอนว่าหมายถึงเงินที่ต้องจ่าย

“ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดว่าจะได้มาถ่าย เพราะเรามีพื้นฐานที่ไม่มีเงินอยู่แล้ว” มายเดย์ย้อนเล่า แล้วเอ่ยต่อว่า หลังจากนั้นเขาก็ห่างหายจากการถ่ายภาพไปยาวนาน จนเริ่มมาทำงานกับทางมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ เขาถึงได้เริ่มจับกล้องอีกครั้ง และมุ่งมั่นจนเก็บเงินซื้อกล้องมือสองต่อจากพี่ๆ ในมูลนิธิได้ในราคา 3,000 บาท

ช่างภาพฝึกหัดชาวปกาเกอะญอเริ่มต้นด้วยการถ่ายรูปค่ายเยาวชนที่ทางมูลนิธิจัด และธรรมชาติรอบสถานที่ทำกิจกรรม ต่อมา เมื่อทางมูลนิธิฯ จับมือกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ทำโครงการถ่ายภาพสัตว์ป่าในที่อยู่ตามธรรมชาติเพื่อทำเป็นหนังสือภาพให้คนได้รู้จักและเห็นคุณค่าป่ามรดกโลกผืนนี้ มายเดย์ผู้เติบโตกับป่าก็ได้ตามเข้าไปเพื่อช่วยช่างภาพสัตว์ป่าคนอื่นๆ

มายเดย์ ตาอู

มายเดย์ ตาอู

ภาพ มายเดย์ ตาอู

แต่อนาคตเป็นสิ่งยากคาดเดา วันหนึ่งมายเดย์จึงพบว่าเส้นทางใหม่เปิดออกเผยตัว เมื่องานถ่ายภาพสัตว์ป่าหนักหน่วงจนช่างภาพคนอื่นเริ่มทำต่อไม่ไหว

“เวลาเข้าป่า เราต้องเข้าครั้งหนึ่งสิบวัน สิบห้าวัน บางทีอยู่เป็นเดือน” ช่างภาพหนุ่มเอ่ยเล่า “แล้วการถ่ายรูปสัตว์ป่าต้องเข้าป่าต่อเนื่องทุกเดือน ช่างภาพคนอื่นเขาเข้าไปนานขนาดนั้นไม่ได้ ไม่ว่าง เขาก็เริ่มฝึกให้ผมถ่ายแบบจริงจังเพราะผมมีเวลา ก็เลยได้ลองถือกล้องตัวใหญ่ เลนส์ตัวใหญ่”  

เพราะเหตุนี้ มายเดย์จึงกลายเป็นช่างภาพสัตว์ป่าเต็มตัว

และเป็นช่างภาพสัตว์ป่าที่ไม่เหมือนใคร

มายเดย์ ตาอู

หากช่างภาพคนอื่นคือผู้หลงใหลการถ่ายภาพและหลงรักธรรมชาติ จนเข้าป่าไปบันทึกภาพเหล่านั้นไว้โดยมีผืนป่าใหญ่เปรียบเหมือนออฟฟิศ ฉันคิดว่า การเป็นช่างภาพสัตว์ป่าของมายเดย์ก็คือการทำงานที่รักใน ‘บ้าน’  งานไม่ได้เบาลงหรือสะดวกสบายขึ้น แต่ชายหนุ่มไม่เคยหลงป่าแม้แต่ครั้งเดียว และเมื่อคุ้นเส้นทาง เขาก็ออกจากที่พักเข้าไปทำงานในป่าคนเดียวได้ ไม่ต้องทำงานเป็นหมู่คณะหรือมีคนนำทาง ซึ่งเป็นข้อดีใหญ่หลวง เพราะทำงานได้อย่างคล่องตัวและเสี่ยงต่อการทำให้สัตว์ป่าระแวงน้อยลง  

นอกจากนี้ เขายังเอาตัวรอดในป่าได้ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับสัตว์ป่าระยะประชิดก็รู้ว่าควรต้องรับมืออย่างไร การพบกับเสือโคร่ง ช้าง หรือกระทิงจึงผ่านมาได้ตลอดรอดฝั่ง (แถมบางครั้งยังได้ภาพด้วย) ฉันไม่รู้ว่าเขารู้ตัวมากน้อยแค่ไหน แต่การทำงานในป่าของเขาอาจเรียกได้ว่าเป็นสัญชาตญาณซึ่งคนชอบเข้าป่าต้องอิจฉา

มายเดย์ ตาอู

มายเดย์ ตาอู

มายเดย์ ตาอู

และขณะที่ช่างภาพคนอื่นหาทำเลเหมาะเจาะ กางบังไพร ซุ่มซ่อนรอสัตว์อยู่ในตำแหน่งเหมาะๆ ตลอดวัน มายเดย์กลับเลือกวิธีทำงานที่แปลก นั่นคือการคว้ากล้องออกเดิน

“ผมจะใช้วิธีเดินแล้วถ่ายภาพ คนอื่นเขาไปนั่ง สร้างบังไพร แต่ผมไม่ชอบแบบนั้น รู้สึกเหมือนเป็นการรอให้โอกาสมาหาเรา ผมสร้างโอกาสที่จะได้เจอสิ่งที่แตกต่างด้วยการเดิน ซึ่งจะได้เจออะไรหลากหลายกว่า เยอะกว่าการนั่งเฝ้า โดยเวลาเราเดิน จะมีการสำรวจก่อนรอบนึง ดูว่าสัตว์ใช้เส้นทางนี้บ่อยแค่ไหนยังไง ดูว่ามีมุมตรงไหนที่สวย แล้วเราก็หาจุดที่จะเดินไปแล้วมองเห็นสัตว์ได้โดยที่เขาไม่เห็นเรา” ช่างภาพหนุ่มชาวปกาเกอะญออธิบาย

หากแม้มีสัญชาตญาณและวิถีการทำงานไม่เหมือนใคร ทั้งหมดก็ยังตั้งอยู่บนกฏเกณฑ์ที่ฉันเชื่อว่าช่างภาพสัตว์ป่าและคนที่รักผืนป่าทุกคนเคารพ

“ต้องไม่รบกวนสัตว์ป่ามาก ให้เขาปลอดภัยแล้วเราก็ปลอดภัย” มายเดย์บอกฉัน

มายเดย์ ตาอู

จากวันแรกที่ก้าวเข้าสู่เส้นทางช่างภาพสัตว์ป่า ช่างภาพหนุ่มชาวปกาเกอะญอทำงานนี้มาได้หลายปีแล้ว และเอ่ยปนหัวเราะว่าคงทำต่อจนกว่าจะเดินป่าไม่ไหว ทั้งที่งานนี้ หากเทียบกับช่างภาพอีกหลายสาย คงจัดว่าเหนื่อยหนัก ไม่สะดวกสบาย และขึ้นอยู่กับปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ บางครั้งการทำงานทั้งอาทิตย์อาจไม่เจอสัตว์ที่ต้องการแม้แต่เงา   

ทำไมถึงคิดว่างานนี้คุ้มค่า-ฉันถาม

“เราชอบเข้าป่า ชอบอยู่ในป่า แล้วก็เห็นว่างานที่ทำมีประโยชน์ต่อคนอื่น และถ้าเราถ่ายทอดออกมาให้คนข้างนอกซึ่งส่วนใหญ่ไม่รู้ว่ามีสัตว์อะไรอยู่ในป่าบ้าง ได้รู้ว่ามีสิ่งเหล่านี้อยู่นะ ควรรักษาไว้ มันก็เป็นประโยชน์ต่อป่าและสัตว์ป่าด้วย เดี๋ยวนี้พื้นที่ป่าน้อยลงมากจากเมื่อก่อน เหลือแค่พื้นที่ที่เป็นเขตอนุรักษ์นิดหน่อย แต่ละพื้นที่สัตว์ก็น้อยลง เราอยากให้คนกลับมาสนใจและดูแล เพื่อให้สัตว์ป่ายังอยู่กับเรา ให้สัตว์ป่าได้อยู่อย่างมีความสุข” ช่างภาพผู้เติบโตกับผืนป่าให้คำตอบ

มายเดย์ ตาอู

ฉันนึกถึงภาพตอไม้และซุงท่อนใหญ่ ภาพป่าที่ไร้สัตว์ป่า-ผลการกระทำของผู้ใหญ่ที่เด็กชายคนหนึ่งเคยเห็น วันนี้เด็กชายปกาเกอะญอคนนั้นเติบโตแล้ว กลายเป็นผู้ใหญ่ที่กำลังสร้างภาพอันตรงกันข้าม

ด้วยดวงตาและกล้องในมือ

*ไปชมภาพของมายเดย์ได้ที่นิทรรศการ ‘มาหาสมบัติ’ ชั้น 5 โซน Helix Garden ห้าง The EmQuartier

Facebook l มาหาสมบัติ

Writer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan