My Love คือความทรงจำแรกของผมที่มีต่อประเทศสาธารณรัฐโมซัมบิก

เป็นความทรงจำรสชาติหวานมัน และแอบยิ้มทุกครั้งที่นึกถึง

My Love ที่ว่าไม่ใช่คน แต่เป็นชื่อเรียก รถบรรทุกขนาดเล็กที่ใช้เป็นรถโดยสารในประเทศโมซัมบิก ไม่ว่าหญิงหรือชาย เมื่อก้าวขาขึ้นรถ My Love แล้ว ทุกคนจะยืนกอดกันแน่นเพื่อรักษาสมดุลไม่ให้ตัวเองล้มหรือหล่นระหว่างเดินทาง บ่อยครั้งที่ท้ายรถแน่นจนไม่มีที่ยืน แต่กระเป๋ารถก็ยังยืนยันกับผู้โดยสารใหม่ว่า ขึ้นมาเลย ยังมีที่ว่าง และด้วยความเร่งรีบในการเดินทาง ชาวโมซัมบิกจึงพัฒนาทักษะและหาเคล็ดลับในการขึ้นลงรถ ไม่ว่าจะเป็นทางบันไดหลัง ปีนล้อด้านหน้า หรือทางอื่นๆ

My Love คือสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของโมซัมบิก เป็นระบบขนส่งมวลชนอันแสนจะเป็นเอกลักษณ์ และเป็นสิ่งที่ชาวโมซัมบิกหวังว่าจะได้รับการปรับปรุง

ถึงร้ายก็รัก, ถ้าดูจากชื่อคงต้องบอกแบบนั้น

ผมรู้จักเรื่องราวของรถน่ารักคันนี้ผ่านงานศิลปะของศิลปินชาวโมซัมบิก

มันเป็นงานแกะสลักไม้รูปพี่น้องชาวโมซัมบิกกำลังโดยสารรถ My Love ระบายสีสันสวยงาม ทั้งหมดติดอยู่บนฐานไม้ขนาดประมาณหนังสือพิมพ์พับครึ่ง บางคนบอกว่าคล้ายบ้านตุ๊กตา แต่ผมว่าคล้ายโรงละครขนาดเล็ก เหมือนเป็นละครเวทีหนึ่งฉาก ที่ตัวละครทั้งหลายกำลังแสดงอะไรสักอย่างให้เราดู

My Love

ศิลปินผู้สร้างงานนี้คือ ดีโน เจธา (Dino Jetha) เขาเดินทางมาแสดงผลงาน ‘โมซัมบิกเขียนด้วยไม้’ ที่ประเทศไทย โดยการสนับสนุนของกระทรวงการต่างประเทศ และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาปูโต

ผมพบดีโนที่สตูดิโอชั่วคราวของเขา ในตึกสาขาวิชาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ดีโนเพิ่งเดินกลับมาจากการทำเวิร์กช็อปสอนเด็กๆ โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ให้ทำงานศิลปะประเภทนี้

ดีโน เจธา

“ศิลปะประเภทนี้เรียกว่า ซิเคเลเกดานา (Psikhelekedana) หมายถึง งานแกะสลักที่ทำจากไม้ขาว เป็นงานที่พบได้ทั่วไปทางภาคใต้ของโมซัมบิก” ดีโนเล่าเป็นภาษาโปรตุเกส ผ่านล่ามชาวไทย

การแกะไม้แนวนี้ ดูเผินๆ ก็เหมือนของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยวที่ขายกันทั่วไป น่าสงสัยว่า ทำไมดีโนถึงได้รับเชิญมาในฐานะของศิลปิน

ดีโน เจธา

“ผมหัดแกะสลักไม้ตอนอายุ 13 ปี เรียนจากเพื่อนบ้าน ใช้ไม้มาฟุไรลา แปลว่า ไม้ขาว เป็นไม้ที่คนโมซัมบิกใช้ทำงานแกะสลัก เพราะมีสีขาว ระบายสีง่าย เนื้อเรียบสม่ำเสมอ และแมลงไม่รบกวน ช่วงแรกก็แกะเป็นสัตว์ เป็นกระท่อม เหมือนที่คนทั่วไปทำกัน งานมันก็ซ้ำไปซ้ำมา ผมเลยพยายามทำงานที่แตกต่าง ลองเอาชีวิตผู้คนโมซัมบิกมาถ่ายทอดผ่านการแกะไม้ ใส่เรื่องราวลงไป งานของผมจึงกลายเป็นงานศิลปะที่คนเข้าถึงได้ง่ายมาก” ศิลปินวัย 40 ปี ย้อนอดีตให้ฟัง

ดีโน เจธา

ในโมซัมบิก ไม้เป็นวัตถุดิบที่หาได้ง่ายกว่าผ้า คนโมซัมบิกใช้ชีวิตอยู่กับไม้อยู่แล้ว การสื่อสารชีวิตคนโมซัมบิกด้วยไม้จึงเป็นเรื่องที่พอเหมาะพอเจาะ

ดีโน เจธา ดีโน เจธา

ดีโนชอบเอาฉากชีวิตของคนต่างจังหวัดมาสร้างงาน ฉากในเมืองมาปูโต เมืองหลวงของโมซัมบิกก็มีบ้าง สถานที่ที่เขาชอบที่สุดก็คือ ตลาด เพราะมันเป็นที่รวมคน มีความรื่นเริง และเต็มไปด้วยความสุข คนซื้อได้ของกลับบ้านไปก็มีความสุข คนขายมีรายได้ก็มีความสุข

ผลงานของดีโนมีเรื่องราวอยู่ 2 มิติ มิติแรก มันคืองานที่สะท้อนเรื่องราววิถีชีวิตแบบโมซัมบิก แบบที่นักท่องเที่ยวอยากเก็บไปเป็นที่ระลึก อีกมิติที่ลึกกว่านั้นคือ ดีโนกำลังบอกเล่าถึงปัญหาของประเทศที่ควรได้รับการแก้ไข งานของดีโนจึงได้รับการยอมรับทั้งจากกลุ่มผู้ที่ซื้อไปเป็นที่ระลึก และกลุ่มผู้สะสมงานศิลปะ

ดีโน เจธา

เมื่อผลงานของดีโนยกระดับตัวเองจากงานฝีมือท้องถิ่นไปสู่งานศิลปะที่บอกเล่าเรื่องราวบางอย่าง งานของเขาจึงถูกนำไปแสดงในพิพิธภัณฑ์หลายแห่งทั้งในโมซัมบิกและสหรัฐอเมริกา ความต้องการในงานของดีโนก็พุ่งพรวดพราดจนเขาทำไม่ทัน หลายคนเห็นโอกาสนี้จึงก๊อปปี้งานของดีโน ยิ่งก๊อปปี้ดีโนก็ยิ่งโดดเด่น เพราะดีโนกลายเป็นคนนำเทรนด์ ถ้าเขาทำงานอะไร เดี๋ยวก็จะเห็นงานแนวนั้นวางขายเต็มตลาด

เมื่อมีความต้องการงานประเภทนี้เยอะเกินกว่าที่เขาจะทำไหว แทนที่จะปล่อยให้คนก๊อปงานของเขาขาย ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไร ดีโนจึงเปิดคอร์สสอน เพื่อสร้าง ‘ศิลปิน’ เพิ่ม งานศิลปะประเภทนี้จึงขยายตัวมากขึ้นในโมซัมบิก รวมถึงประเทศอื่นๆ ในแอฟริกาด้วย

ดีโน เจธา

ดีโนบอกว่า เมื่อก่อนเขาคิดแค่ทำงานเพื่อสะท้อนความเป็นโมซัมบิก แต่พอได้ร่วมงานกับสถานทูตไทย เขาถึงพบว่า งานของเขากำลังเล่าเรื่องโมซัมบิกให้คนที่ไม่เคยรู้จักโมซัมบิกด้วย

“ผมพยายามถ่ายทอดชีวิตคนโมซัมบิกให้คนไทยเห็นว่าตอนนี้ที่โมซัมบิกเป็นยังไง เพราะคนไทยคงยังไม่ค่อยรู้จักโมซัมบิกเท่าไหร่ เวลาคนโมซัมบิกเห็นงานผม เขาจะรู้สึกเหมือนกำลังดูชีวิตตัวเอง เหมือนได้เห็นตัวเอง แต่สำหรับคนไทย ผมหวังว่าคนไทยจะได้รู้จักโมซัมบิกมากขึ้น” ดีโนตอบพร้อมรอยยิ้ม

ดีโน เจธา

ถ้าเราจะทำความรู้จักโมซัมบิกผ่านสัญลักษณ์ง่ายๆ สัก 3 อย่าง ดีโนแนะนำว่า ควรจะเป็นสิ่งเหล่านี้

“อย่างแรก ผ้าคาปูลาน่า เป็นผ้านุ่งของผู้หญิงที่สีสันสดใส เป็นชุดพื้นเมือง ผมเดาว่าเราน่าจะได้อิทธิพลการใส่เสื้อผ้าสีสันสดใสมาจากอินเดีย ที่เดินทางมาขายผ้าตั้งแต่ในอดีต” ดีโนชี้ให้ดูผู้หญิงที่นุ่งผ้าคาปูลาน่าในงานของเขา แล้วเล่าสัญลักษณ์อย่างต่อมา

“อย่างที่สอง จอบและปืนบนธงชาติ แสดงถึงสงครามและประวัติศาสตร์ที่เราเคยผ่านมา สุดท้าย หนังสือ การศึกษาคือสิ่งที่สำคัญมากของโมซัมบิก”

ดีโน เจธา

‘โมซัมบิกเขียนด้วยไม้’ เป็นการแสดงศิลปะครั้งแรกของศิลปินโมซัมบิกในประเทศไทย แสดงระหว่างวันที่ 25 ก.ค. – 3 สิงหาคม 2560 ที่ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เนื่องจากงานนี้เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับโมซัมบิกด้วยงานศิลปะเป็นครั้งแรก ดีโนจึงเตรียมงานชิ้นพิเศษมาด้วย

“งานชิ้นนี้พูดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง สถานทูตไทยเอาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงไปเผยแพร่ที่โมซัมบิก เป็นแนวคิดที่ดีมาก นี่คืออีกสิ่งที่ผมอยากแนะนำให้คนไทยรู้จักเกี่ยวกับโมซัมบิก” ดีโนทิ้งท้ายด้วยการเชื่อมโยงความสันพันธ์ระหว่างสองประเทศ

ดีโน เจธา

งานศิลปะของดีโนกำลังทำหน้าที่ทูตเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทำให้คนไทยรู้จักโมซัมบิกดีขึ้น และน่าจะเป็นความทรงจำแรกเกี่ยวกับโมซัมบิกที่งดงามสำหรับใครหลายคน ถ้าไม่รู้ว่าไปถึงแล้วจะดูงานชิ้นไหนก่อน ผมแนะนำว่า ควรเริ่มจากงาน My Love

แล้วเราจะรู้สึกได้ถึงความเหมือนกันระหว่างไทยกับโมซัมบิก

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan