ถ้าเล่นดนตรีได้ดี เราก็คือพ่อมดแม่มด นลี อินทรนันท์ หรือ ‘ครูเบลล่า’ บอกระหว่างการสนทนา

ผู้หญิงตรงหน้าฉันคือคนที่คลุกคลีกับดนตรีมาทั้งชีวิตและศรัทธาในพลังเสียงเพลง ด้านหนึ่งเธอคือนักดนตรีและครูผู้สอนดนตรีในเชียงใหม่มายาวนาน ส่วนอีกด้าน เธอคือผู้หญิงที่มุ่งมั่นใช้เสียงเพลงสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม

ครูเบลล่า

ก่อนจะพูดถึง ‘คีตาทาน’ โรงเรียนดนตรีเพื่อสังคมที่เธอก่อตั้ง คงต้องย้อนเล่าไปถึงจุดเริ่มต้น เมื่อครูเบลล่าเข้าไปสอนดนตรีให้เด็กในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนเชียงใหม่ ซึ่งรับฝากขังเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ชั่วคราว แต่ในช่วงราว 3 เดือนที่พวกเขาอยู่ ก็อาจไม่ได้มีกิจกรรมหรือหลักสูตรอบรมให้ทำมากนัก

“เด็กแสบนี่ดนตรีและกีฬาสยบเขาได้ เพราะดนตรีกับกีฬามีพลังของความสนุก และเขาก็อยากเล่นเป็นเหมือนไอดอลที่เห็นบ้าง” ครูเบลล่าอธิบาย แล้วเล่าต่อว่าสัญชาตญานนักดนตรีทำให้เธอเฝ้ามองหาเด็กๆ ที่มีพรสวรรค์ จนพบ ติ๊ก-เจริญ ส่วยอย่า และ โอ-ภัทรภูมิ ธนสุทิน ซึ่งต้องเข้ามาอยู่ที่นี่ด้วยคดียาเสพติด ครูเบลล่าเห็นว่าทั้งคู่น่าจะไปได้ดีบนเส้นทางดนตรี นอกจากสอนพวกเขาขณะอยู่ในสถานพินิจฯ เธอจึงช่วยดูแลเมื่อทั้งคู่ออกมาสู่โลกภายนอก ทั้งสอนดนตรี ส่งเสียด้านการศึกษา และอบรมขัดเกลา ไม่ต่างจากผู้ปกครองคนหนึ่ง

การดูแลเด็กหนุ่ม 2 คนไม่ง่าย หลายครั้งเกิดปัญหาจนครูเบลล่าแทบถอดใจ แต่ท้ายที่สุด โอและติ๊กก็เติบโตตลอดรอดฝั่ง หากขณะที่เด็ก 2 คนในความดูแลเติบโตแข็งแรง ครูเบลล่ากลับตัดสินใจยอมถอยออกมาจากงานดนตรีในสถานพินิจฯ

“ผนังของอบายมุขนี่ลื่นมาก” เธอบอก “เด็กพยายามปีนขึ้นมา ในที่สุดก็จะไหลกลับลงไปเพราะทนต่อแรงดึงดูดสู่ความเลวไม่ได้ มันยากจนครูเหนื่อย เรียกว่ายกมือยอมแพ้แล้ว และมองว่าตรงนั้นคือปลายเหตุ เด็กที่พังมาแล้วด้วยสังคมย่ำยี กว่าจะให้กลับมาเป็นดีได้ยากมาก กระนั้นเลย เรามาทำงานต้นน้ำดีกว่า”

ด้วยเหตุนี้ ครูเบลล่าจึงหันมาก่อร่างสร้าง ‘คีตาทาน’ มันคือโรงเรียนดนตรีในบ้านดินสีน้ำตาลอมเหลืองที่ครูเบลล่ากับเพื่อนช่วยกันสร้าง ตั้งอยู่บริเวณชุมชนใกล้วัดโป่งน้อย เชียงใหม่ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปัญหา โดยเฉพาะปัญหามั่วสุมของเยาวชนที่อาจนำไปสู่ปัญหายาเสพติดได้  

คีตาทาน คีตาทาน คีตาทาน

เช่นที่ชื่อบอกใบ้ไว้ แนวคิดของคีตาทานคือ ‘โรงเรียนดนตรี 0 บาท’ ซึ่งเปิดสอนดนตรีฟรีให้เด็กในชุมชน อย่างไรก็ตาม เด็กๆ ที่เข้ามาจะไม่ใช่แค่ได้ความรู้ด้านดนตรี แต่พวกเขาจะได้พบพื้นที่สร้างสรรค์ซึ่งเปิดให้มานั่งเล่นอินเทอร์เน็ต เรียนอังกฤษ (ครูเบลล่าเคยเป็นครูสอนอังกฤษด้วย) จนถึงกินอาหารอร่อย โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย ที่เป็นอย่างนี้ เพราะครูเบลล่าตั้งใจทำทุกทางเพื่อดึงดูดเด็กๆ ซึ่งอยู่ในวัยประถมให้ใช้เวลาว่างในบ้านดินหลังนี้ แทนที่จะไปมั่วสุมตามที่ต่างๆ

“ถ้าเด็กมีตังค์เขาก็ไม่มาเรียนหรอก เพราะที่นี่ไม่มีแอร์ ไม่มีอะไรเหมือนโรงเรียนดนตรีทั่วไป เป็นบ้านดินแบบสมถะ แต่เด็กมาแล้วก็ได้เล่นอะไรสนุกแน่ๆ ได้ตีกลอง เล่นกีตาร์ ซึ่งก็ยังดีกว่าเขาไปคลุกอยู่ตามร้านเกม ส่วนทางพ่อแม่ มันก็ยังดีกว่าเขาต้องให้ลูกอยู่บ้านคนเดียว ทิ้งลูกไว้ตามร้านเกม หรือต้องหอบหิ้วไปที่ทำงานด้วยในช่วงปิดเทอมหรือเสาร์-อาทิตย์” ครูเบลล่ากล่าว

นอกจากนี้ การเกิดขึ้นของคีตาทานไม่ใช่แค่ช่วยเยาวชนตั้งแต่ต้นน้ำ แต่ครูเบลล่ายังตั้งใจเปิดโรงเรียนนี้เพื่อให้โอและติ๊ก สองชายหนุ่มที่เธอดูแลมาตั้งแต่เป็นเด็กหนุ่มได้ใช้ความสามารถทำประโยชน์แก่ผู้อื่น

คีตาทาน คีตาทาน คีตาทาน

“เราพยายามจะทำให้ทั้งโอทั้งติ๊กได้มีโอกาสถ่ายทอดความรู้ของตัวเองให้น้อง เรียนรู้การเป็นผู้นำ เป็นตัวอย่างที่ดีให้น้อง และที่สำคัญมากคือ เรียนรู้ที่จะเป็นครู เราก็จะปล่อยหน้าที่สอนดนตรีให้เป็นของสองคนนี้” ครูเบลล่าเล่า

ตอนนี้คีตาทานอายุได้เกือบ 2 ปีแล้ว ยังคงเป็นโรงเรียน 0 บาทที่อบอุ่นด้วยเยาวชนและอบอวลด้วยเสียงเพลง ในวาระพิเศษ ครูเบลล่าจะชวนเด็กๆ ออกไปแสดงดนตรี โดยรายได้ส่วนหนึ่งจะกลับมาเลี้ยงดูโรงเรียน อีกส่วนมอบให้เด็กๆ เป็นอั่งเปา

ขณะที่คุณครูโอและคุณครูติ๊กก็ยังคงสอนดนตรีให้น้องๆ พร้อมกันนั้น พวกเขาก็ตั้งใจว่า จะกลับไปช่วยพัฒนาบ้านเกิดที่จากมา (ครูเบลล่าเล่าว่า ติ๊กซึ่งเป็นชาวเขาเผ่ามูเซอได้เริ่มต้นไปทำกิจกรรมที่เมืองปายบ้านเกิดแล้ว)

คีตาทาน

คีตาทาน คีตาทาน

“เราก็มีความสุขทุกวัน” ครูเบลล่าเอ่ยพร้อมรอยยิ้ม “เห็นความเจริญในเด็กที่เริ่มกล้าพูดได้เต็มปากว่าตัวเองเป็นครูแล้ว เรียกตัวเองว่าครูกับน้องๆ เวลาเห็นเขาสอนเด็ก ทำอะไรโดยที่ครูไม่ต้องสั่งได้ เหมือนโตเป็นผู้ใหญ่ เราก็มีความสุขที่เห็นทั้งตัวคนสอนและคนเรียนเริ่มไปทางบวกทีละนิดทีละน้อย”

แน่นอน เวทมนตร์จากดนตรีคือตัวช่วยแสนสำคัญในเรื่องทั้งหมด

คีตาทาน

“พลังของดนตรีเอาไปใช้ได้หลายอย่าง เยียวยาคนเหงา คนเป็นทุกข์ จนถึงทำให้คนสามัคคีกลมเกลียว มีวินัย และดนตรีก็คือสะพานที่ทำให้ครูเข้าไปถึงเด็กพวกนี้ แล้วช่วยประคองเขาให้เติบโตเป็นคนที่มีคุณค่าได้” ครูเบลล่าบอกฉัน

อย่างไรก็ตาม ฉันมั่นใจว่าทุกสิ่งที่แม่มดตรงหน้าสร้างสรรค์ขึ้นไม่ได้เกิดจากพลังเสียงเพลงเท่านั้น หากยังเกิดจากพลังความรักที่ผู้หญิงคนหนึ่งถ่ายทอดสู่เด็กๆ คนแล้วคนเล่า

นำพาพวกเขาสู่แสงสว่างอย่างงดงาม

คีตาทาน

Facebook l บ้านดิน คีตาทาน

Writer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล