เวลาทำกับข้าวเสร็จหรือเมื่อกินข้าวในจานไม่หมด ฉันมักเทเศษวัตถุดิบหรือเศษอาหารลงถังขยะด้วยความสบายใจ เพราะคิดว่าของพวกนี้เดี๋ยวก็ย่อยสลายไปจากโลก

พูดง่ายๆ คือ ฉันไม่ได้มองสิ่งเหล่านี้เป็นขยะเท่าไหร่ (ขยะในหัวฉันคือของอย่างถุงพลาสติกมากกว่า)

แต่ที่จริงแล้ว เศษอาหารหรือขยะอินทรีย์เหล่านี้คือหนึ่งในปัญหาชวนปวดหัวของบ้านเรา หลายคนอาจนึกไม่ถึงว่าการเทอาหารลงถังทำให้ขยะอื่นในถังเปรอะเปื้อน จัดการยากขึ้น รวมถึงขยะสดนี้เรียกได้ว่ามีจำนวนเกินครึ่งของขยะทั้งหมดในแต่ละวัน ลองนึกภาพรถขนขยะที่ครึ่งรถเต็มไปด้วยขยะสดเหล่านี้ มันทั้งเป็นภาระในการขนย้าย เปลืองพื้นที่ในการฝังกลบ ยังไม่นับเรื่องกลิ่นเตะจมูกและแมลงวันอีก

เปล่าหรอก, ความรู้ข้างบนทั้งหมดนั่นฉันไม่ได้เนิร์ดจนไปกูเกิลมาจาระไนให้คุณฟัง แต่ทั้งหมดคือสิ่งที่ฉันได้รู้เมื่อนั่งลงคุยกับกลุ่มคนตัวเล็กที่กำลังยื่นมือเข้าช่วยแก้ปัญหานี้

พวกเขาเรียกตัวเองว่า ‘ผักDone’ ประกอบด้วยสมาชิก 3 คนคือ มานิตา วิวัฒน์เศรษฐชัย, ธนกร เจียรกมลชื่น และ อรสรวง บุตรนาค

ผักDone
ผักDone

เรื่องราวของ ผักDone เริ่มจากมานิตาอยากสร้างพื้นที่ซึ่ง ‘พออยู่พอกิน’ หรือพื้นที่ที่ผลิตอาหารและของใช้ในชีวิตประจำวันเองได้ เธอเลยตัดสินใจลาออกจากการเป็นสาวออฟฟิศ มาลุยสร้างพื้นที่ในฝันบนผืนดินย่านรังสิต แต่ปัญหาคือดินของที่ตรงนั้นปลูกต้นไม่ไม่ค่อยงาม จะซื้อปุ๋ยมาบำรุงก็ดูไม่ค่อยเข้ากับแนวคิดพึ่งพาตัวเอง มานิตาเลยมองหาทางเลือกอื่น แล้วก็พบว่าชุมชนใกล้เคียงนั้นมีทั้งร้านอาหารและตลาดสด เธอจึงเกิดไอเดียไปขอขยะอินทรีย์เหลือทิ้งจากพ่อค้าแม่ค้ามาหมักเป็นปุ๋ย โดยมีความตั้งใจอยากช่วยจัดการขยะเหล่านี้ไปด้วย

พ่อค้าแม่ค้าให้ความร่วมมืออย่างดี แต่ทำไปทำมา เธอก็เริ่มรู้สึกว่า การจัดการขยะแบบนี้อาจไม่ใช่วิธีที่ถูก เพราะปริมาณขยะไม่ได้ลดลง ยิ่งเมื่อเธอส่งไอเดียนี้เข้าร่วมประกวดกับโครงการของสวนผักคนเมืองในนาม ผักDone พี่ๆ ที่นั่นก็บอกว่า การจัดการแบบนี้ยังไม่ได้สร้างการตระหนักรู้หรือเปลี่ยนความคิดให้คนหันมารับผิดชอบต่อขยะที่ตนสร้าง

ผักDone

“เราก็เลยมาคิดใหม่ว่าจะทำยังไงให้คนได้เห็นว่าขยะไม่ใช่เรื่องของเทศบาล ไม่ใช่เรื่องของผักDone ไม่ใช่เรื่องของคนอื่น แต่เป็นเรื่องของทุกคน” มานิตาบอกฉัน และนั่นคือที่มาของกลุ่มผักDone ซึ่งคิดใหม่ทำใหม่

คราวนี้ผักDone ทำอะไร? พวกเขาตั้งใจแก้ปัญหาการจัดการขยะสดอย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมทั้งระบบ โดยเริ่มจากจุดเล็กสุดที่ไม่ค่อยมีใครสนใจเข้ามาจัดการอย่างฉันหรือคุณ คนเมืองที่อาจสนใจสิ่งแวดล้อมอยู่บ้าง

“เป้าหมายของกลุ่มเราจะเป็นพวกบ้านเดี่ยวหรือคอนโดในเมือง เพราะโดยทั่วไปแล้ว เศษอาหารในร้านอาหาร โรงแรมใหญ่อาจมีคนมารับไปทิ้งได้ แต่ตามบ้านซึ่งปริมาณน้อยมาก ต่อวันอาจจะ 1 – 3 โล มันไม่คุ้ม เขาก็ผูกใส่ถุงทิ้ง” ธนกรอธิบาย

แต่พวกเราทั้งยุ่ง ทั้งไม่มีพื้นที่ ผักDone เลยแก้ปัญหาด้วยการหยิบ ‘กล่องหมักปุ๋ย’ นวัตกรรมซึ่งชูเกียรติ โกแมน หนึ่งในทีมงานสวนผักคนเมืองคิดค้นขึ้นใช้เองและขายให้คนวงในมาขายแก่คนเมืองในวงกว้าง

ผักDone : ชวนคนเมืองเปลี่ยนขยะสดเจ้าปัญหาเป็นปุ๋ยชั้นดีด้วยกล่อง 1 ใบ

อธิบายวิธีใช้อย่างสั้นคือ วางกล่องไว้ในร่ม (แต่ไม่แนะนำให้ไว้ในห้องแอร์นะ) เวลาคุณมีขยะสดเหลือทิ้ง ให้พยายามทำให้มันแห้งที่สุด แล้วเอามาคลุกกับ Compost หรือวัสดุตั้งต้นซึ่งแถมมาพร้อมกล่อง ประกอบด้วยเศษใบไม้ กากกาแฟ ปุ๋ยคอก และดินใบก้ามปู โรยน้ำตาลและหัวเชื้อที่แถมมาเช่นกันลงไป คลุกเคล้าให้เข้ากัน จากนั้นเทใส่กล่อง ปิดฝา ทำอย่างนี้เรื่อยๆ จนกล่องเต็ม แล้วปิดฝาทิ้งไว้โดยเปิดเช็กทุกอาทิตย์ ถ้าเปียกก็คลุกๆ ให้เข้ากันเสียหน่อย เมื่อผ่านไปซัก 20 วัน อากาศในกล่อง (ซึ่งมาจากท่อสีฟ้าภายในที่เจาะรูให้อากาศเข้า) และส่วนผสมต่างๆ จะช่วยทำให้ขยะสดเหลือทิ้งแปลงร่างเป็นปุ๋ยสารอาหารเพียบ พร้อมให้เอาไปโรยต้นไม้หรือกระถางผัก

เจ้ากล่องใบนี้จึงช่วยให้เราจัดการขยะอินทรีย์ได้ง่าย ประหยัดพื้นที่ ประหยัดเวลา และไร้กลิ่นกวนใจ แถมได้ผลลัพธ์เป็นปุ๋ยพร้อมใช้ ซึ่งถ้าใครไม่สนใจปลูกต้นไม้ ทางผักDoneเองก็กำลังวางแผนรับซื้อปุ๋ยคืนมาเพื่อกระจายต่อกับเครือข่ายที่ต้องการ รวมถึงเอามาพัฒนาเป็นชุดกระถางพร้อมปลูกเพื่อเพิ่มมูลค่า

ผักDoneเริ่มผลักดันสิ่งที่คิดมาได้หลายเดือนแล้ว โดยเผยแพร่ไอเดียนี้ผ่านทั้งสื่อออนไลน์และออฟไลน์ การจัดอบรมให้เหล่าลูกค้าที่อาจยังงงๆ เรื่องหมักปุ๋ย รวมถึงไปสาธิตตามโรงเรียนหรือหมู่บ้าน ที่ถ้าเวิร์กก็จะกลายเป็นลูกค้ารายใหญ่ และทำให้การไปรับปุ๋ยสะดวก จบที่จุดเดียว พร้อมกันนั้นพวกเขาก็พยายามพัฒนากล่องหมักปุ๋ยให้ใช้ได้ดีขึ้น ง่ายขึ้น และสวยขึ้น (ส่วนใครอยากรู้ว่าตอนนี้มีกล่องแบบไหน ราคาเท่าไหร่บ้าง ลองเช็กในเพจของกลุ่มที่เราแปะไว้ให้ด้านล่างสุดนะ)

ผักDone
ผักDone
ผักDone

นอกจากนี้ กล่องหมักปุ๋ยยังเป็นแค่เครื่องมือแรก พวกเขากำลังค้นคว้าหาเครื่องมืออื่นมาเสริมทัพจัดการขยะทั้งระบบอย่างที่ตั้งใจ เช่น มองหาเครื่องมือจัดการขยะสดสำหรับหน่วยที่ใหญ่ไปกว่าครอบครัวเดี่ยว รวมถึงมีแผนการอนาคตอยากทำแอพพลิเคชันที่ช่วยเชื่อมคนมีขยะแต่จัดการเองไม่ได้กับคนที่อยากได้ขยะด้วย

การเกิดขึ้นของผักDoneและกล่องหมักปุ๋ยจึงช่วยให้เราเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาใหญ่แต่ใกล้ตัวมากอย่างขยะอินทรีย์ โดยแทบไม่ต้องออกแรง

ผักDone
ผักDone

“ขยะอินทรีย์เป็นขยะที่ทุกคนสร้างทุกวัน และบางทีปริมาณต่อคนอาจมากกว่าถุงพลาสติกหรือแก้วด้วยซ้ำ ถ้าเราจัดการขยะนี้ ขยะมวลรวมก็น่าจะลดลงอย่างเห็นภาพชัด” อรสรวงกล่าวกับฉัน

ไม่เพียงเท่านั้น กล่องเล็กๆ 1 ใบยังทำให้คนมองขยะอินทรีย์ด้วยสายตาใหม่

จากสิ่งไร้ประโยชน์ กลายเป็นสิ่งที่มีทั้ง ‘คุณค่า’ และ ‘มูลค่า’

“เราอยากเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างสังคมที่ไร้ขยะ โดยเปลี่ยนคำว่าขยะให้กลายเป็นคำว่าทรัพยากรแทน และเรามองเห็นว่า สิ่งที่ผักdoneจะผลักดันไปได้คือ ช่วยให้ทุกคนมองว่าขยะเป็นความรับผิดชอบของตัวเอง เหมือนคนเราต้องซักเสื้อผ้า การที่สร้างขยะมา เราก็ต้องจัดการ” มานิตาเล่าความฝันของกลุ่มเล็กๆ ที่ชื่อ ผักDone ให้ฟัง

ส่วนฝันของพวกเขาจะสำเร็จหรือไม่ คงต้องอาศัยตัวช่วยอย่างฉันกับคุณ

ผักDone
Facebook l ผักDone

Writer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล