Aging Society หรือสังคมผู้สูงอายุ เป็นคำที่เราคุ้นหูกันมาพักใหญ่แล้ว ถ้าคุณลองหาข้อมูล จะพบว่าเมืองไทยเราได้ก้าวเข้าสู่วงการนี้เรียบร้อย และกำลังจะเข้าอย่างเต็มรูปแบบในอีก 15 ปี  

ปัญหาเกี่ยวกับผู้สูงอายุมีมากมายหลายประเด็น เรื่องที่หลายบ้านน่าจะกำลังประสบปัญหานี้ร่วมกันก็คือ การหาคนมาช่วยดูแลผู้สูงอายุ ถ้าบ้านไหนไม่มีลูกหลานก็มักจะใช้วิธีจ้างคนมาดูแล แล้วบ้านที่รายได้ไม่มากพอจะจ้างคนมาดูแลล่ะ จะทำยังไง

Buddy Homecare คือธุรกิจเพื่อสังคมที่เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหานี้

Buddy Homecare : SE ดูแลผู้สูงอายุที่แก้ไข 2 ปัญหาสังคมไปพร้อมกัน

จุดเริ่มต้นของธุรกิจนี้เกิดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อสิบกว่าปีก่อน อาจารย์สว่าง แก้วกันทา ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุผู้เป็นเจ้าของไอเดียเล่าว่า ทางมูลนิธิได้เข้าไปแก้ปัญหาผู้สูงอายุยากไร้ในชุมชนขาดคนดูแล ด้วยความเชื่อที่ว่า ‘ชุมชน’ คือทางออกที่ตอบโจทย์และยั่งยืน จึงชักชวนให้คนในชุมชนมาเป็นอาสาสมัครดูแลคนแก่แบบจับคู่บัดดี้หรือ 1 ต่อ 1 (ป้องกันผู้สูงอายุสับสน)

โครงการนี้ดำเนินการมาหลายปีอย่างราบรื่นด้วยเงินทุนสนับสนุน แต่ที่สุด เงินทุนที่ขอมาก็หมด ทางมูลนิธิจึงหาทางออกที่ยั่งยืนด้วยการแนะนำให้อาสาสมัครไปจดทะเบียนเป็นชมรมอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุที่บ้านแบบจดทะเบียนกับจังหวัด เพราะจะทำให้ขอทุนจากรัฐบาลได้

เมื่อการปัญหาการผู้สูงอายุยากไร้ขาดคนดูแลได้รับการจัดการจนเข้าที่เข้าทาง มูลนิธิก็ขยับเข้าสู่งานระดับต่อไปที่ใกล้ตัวพวกเรามากขึ้น

Buddy Homecare : SE ดูแลผู้สูงอายุที่แก้ไข 2 ปัญหาสังคมไปพร้อมกัน

“ภาวะเจ็บป่วยไม่ได้อยู่ที่คนจนเท่านั้น คนที่มีเงินก็ป่วยและต้องการคนดูแล” อาจารย์สว่างบอกฉัน แล้วเอ่ยต่อว่าตอนนั้นมีแนวคิดเรื่องทำกิจการเพื่อสังคมอยู่แล้ว เพราะมองเห็นว่ามันเป็นยุทธศาสตร์ในการระดมทุน สิ่งที่เห็นและสิ่งที่อยากทำก่อให้เกิด Buddy Homecare บริษัทที่จัดผู้ดูแลซึ่งผ่านการอบรมอย่างดีไปดูแลผู้สูงอายุมีกำลังทรัพย์ถึงบ้านแบบบัดดี้

แต่ ‘ผู้ดูแล’ ของ Buddy Homecare ไม่เหมือนผู้ดูแลของบริษัทไหนๆ

“เราอยากอัพเกรดอาสาสมัครที่มีอยู่แล้ว แต่คนเหล่านั้นมีครอบครัว จะมานั่งอบรมกัน 300 – 400 ชั่วโมงไม่ได้ รับสมัครคนทั่วไปก็ไม่มีใครอยากทำ เพราะงานดูแลผู้สูงอายุมันไม่เซ็กซี่เหมือนทำงานกับเด็ก เด็กนี่เราเห็นการเจริญเติบโตใช่ไหม แต่งานดูแลผู้สูงอายุ สิ่งที่อาสาสมัครจะต้องไปบ่อยคืองานศพ เพราะฉะนั้น มันเป็นงานที่เห็นจุดจบช่วงสุดท้ายของชีวิต” อาจารย์สว่างเล่าอุปสรรคที่พบในตอนแรก และด้วยเหตุนี้  Buddy Homecare จึงมองไปยังกลุ่มคนที่คนทั่วไปอาจมองข้าม

Buddy Homecare : SE ดูแลผู้สูงอายุที่แก้ไข 2 ปัญหาสังคมไปพร้อมกัน

“เราเลยคิดว่า ลองไปคุยกับกลุ่มชนเผ่าสิ” อาจารย์สว่างกล่าว “เด็กชนเผ่าจบ ม.3, ม.6 ออกมาแล้วก็ไม่มีงานทำ เพราะความรู้มีแค่นั้น เมื่อไม่มีที่ไป เขาก็ต้องกลับไปไร่ไปนา ซึ่งในสถานการณ์เศรษฐกิจแบบนี้ก็ได้ค่าตอบแทนวันละร้อยกว่าบาท เราก็เลยไปชวนเขามาเรียน แต่ว่าไม่ได้จู่ๆ เข้าไปนะ เราทำงานกับเครือข่ายที่ทำงานด้านเยาวชน เราไปคุยแล้วเขาเล่าปัญหาให้ฟังว่าเด็กไม่มีที่ไป ไม่มีทุนเรียนต่อ เราก็เลยเสนอทุนให้เขา แต่ว่าต้องมาทำงานกับเรา ไปดูแลผู้สูงอายุ”

ด้วยเหตุนี้ เด็กจากชนเผ่าต่างๆ ที่สนใจจะได้รับทุนเพื่อเรียนด้านการดูแลผู้สูงอายุ เมื่อเรียนจบก็เข้าทำงานดูแลคุณตาคุณยายผู้ว่าจ้าง มีรายได้เพียงพอและมั่นคง

แต่ยังไม่จบเท่านั้น เพราะ Buddy Homecare จะส่งเสริมให้พวกเขาไปช่วยอาสาสมัครซึ่งมีความเชี่ยวชาญน้อยกว่าดูแลคุณตาคุณยายที่ยากไร้ในชุมชนด้วย ดังนั้นพวกเขาจึงทำหน้าที่ทั้งช่วยดูแลผู้สูงอายุ และเป็นอาสาสมัครสร้างคนให้ไปช่วยดูแลผู้สูงอายุที่ยากไร้

Buddy Homecare : SE ดูแลผู้สูงอายุที่แก้ไข 2 ปัญหาสังคมไปพร้อมกัน

แล้วธุรกิจนี้ก็ยังช่วยแก้ปัญหาสังคม 2 อย่างพร้อมกัน นั่นคือปัญหาผู้สูงอายุยากไร้ที่ขาดคนดูแล และปัญหาเด็กขาดโอกาสทางการศึกษาซึ่งนำไปสู่ขาดโอกาสในการทำงานต่อมา  

อาจารย์สว่างบอกฉันว่า ผลลัพธ์ภาพรวมเป็นไปได้ด้วยดี เด็กๆ ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง และนอกเวลางานก็เข้าไปเป็นกำลังเสริมช่วยอาสาสมัครดูแลคุณตาคุณยายที่ยากไร้ ส่วนปัญหาที่ว่าเมื่อผู้สูงอายุผู้ว่าจ้างเสียชีวิต เด็กจะว่างงานจนต้องไปทำอย่างอื่นเพื่อหาเลี้ยงชีพ หลังจากปีแรกซึ่งถือเป็นช่วงเริ่มต้น ทางองค์กรก็ขอทุนมาไว้จ่ายเด็กๆ ระหว่างรอบัดดี้คนใหม่ อาจน้อยกว่าอัตราเงินเดือนที่เคยได้ แต่ก็เป็นรายรับ และเด็กๆ ก็ทำงานอื่นไปด้วยได้จนกว่างานใหม่จะมา

Buddy Homecare : SE ดูแลผู้สูงอายุที่แก้ไข 2 ปัญหาสังคมไปพร้อมกัน

“เราหวังลึกๆ ว่า ถ้าเขามีความรู้ มันไม่หายไปไหน เวลาเขาหมดสัญญาหรือว่าออกจากเราไป ความรู้ก็ยังมีอยู่ เขาจะได้ไปดูแลพ่อแม่และคนในชุมชนได้” อาจารย์สว่างบอกถึงสิ่งที่คาดหวังกับผู้ดูแลรุ่นเยาว์เหล่านี้

ปัจจุบัน  Buddy Homecare เริ่มเปิดรับสมัครผู้ดูแลรุ่นที่ 2 แล้ว (รอบนี้เปิดรับคนทั่วไปด้วย) และมีเป้าหมายจะยืนหยัดเป็นธุรกิจที่อยู่รอดและมีกำไรมาใช้ทำงานเพื่อสังคมต่อไป นอกจากน่าเอาใจช่วย การมีอยู่ขององค์กรนี้ยังชวนให้เห็นความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหา

ยิงปืน 1 นัดไม่จำเป็นต้องได้นกแค่ตัวเดียว-Buddy Homecare บอกกับฉันเช่นนั้น

fopdev.or.th/บั๊ดดี้โฮมแคร์/

ภาพ: Buddy Homecare

Writer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล