เวลาที่ช่างโบราณอยากจะตกแต่งอาคารให้มีความสวยงาม ช่างแต่ละคน แต่ละยุคสมัย ก็จะมีวิธีการที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเขียนจิตรกรรม ปั้นปูน แกะสลักไม้ ซึ่งงานประดับตกแต่งเหล่านี้เป็นได้ทั้งภาพเล่าเรื่องหรือลายกระหนก ซึ่งลายกระหนกนั้น ถ้าดูเผินๆ อาจจะดูเหมือนลวดลายที่ม้วนไปม้วนมา แทงไปทางโน้นทีทางนี้ที ดูแล้วยุ่งเหยิงสับสน แต่ลายกระหนกเหล่านี้มีทั้งลวดลายที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นและลวดลายที่มีที่มาจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นเถาวัลย์ ดอกไม้ ใบไม้ ซึ่งในบรรดาดอกไม้ทั้งหลาย ดอกโบตั๋นถือเป็นดอกไม้ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดดอกหนึ่งในงานศิลปะไทยเลยก็ว่าได้

โบตั๋น ทำไมดอกไม้จีนชื่อญี่ปุ่นจึงเป็นที่นิยมมากที่สุดดอกหนึ่งในงานศิลปะไทย
ภาพ : baekhyunsmile1997

อย่างไรก็ตาม ดอกโบตั๋นไม่ใช่ดอกไม้ท้องถิ่นของไทย แต่เป็นพันธุ์ไม้ที่พบมากในประเทศจีน แต่รู้หรือไม่ครับว่า คำว่า ‘โบตั๋น’ เป็นภาษาอะไรกันน้อ ลองมาดูคำเรียกดอกโบตั๋นในภาษาต่างๆ กันดีกว่าครับ จีนกลางเรียกว่า ‘ฝูกุ้ย’ หรือ ‘หมู่ตัน’ ภาษาจีนแต้จิ๋วเรียกว่า ‘โบ่วตัว’ ภาษาจีนฮกเกี้ยนเรียกว่า ‘โม่ตัน’ ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า ‘โบตัน’

พอดูอย่างนี้แล้ว เราก็เหลือผู้ท้าชิง 2 ภาษา ได้แก่ ภาษาจีนฮกเกี้ยน กับภาษาญี่ปุ่น ซึ่งเมื่อลองมองให้ลึกลงไป เมื่อเทียบระหว่างจีนกับญี่ปุ่นแล้ว บทบาทของคนจีนในสังคมบ้านเราในอดีตมีมากกว่าคนญี่ปุ่นพอสมควร อีกทั้งคนจีนฮกเกี้ยนยังถือเป็นคนจีนกลุ่มใหญ่มาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว ดังนั้น ที่มาของคำว่า ‘โบตั๋น’ นี้จึงน่าจะเป็นคำว่า ‘โม่ตัน’ ในภาษาจีนฮกเกี้ยนนั่นเองครับ

ส่วนเหตุผลที่ช่างจีนนิยมนำดอกโบตั๋นมาใช้เป็นลวดลายตกแต่งนั้น นอกจากลักษณะของดอกโบตั๋นที่เป็นดอกไม้ขนาดใหญ่ สวยงาม และมีกลิ่นหอม จนเป็นดอกไม้ที่คนจีนนิยมปลูกแล้ว ดอกโบตั๋นยังมีความหมายอันเป็นมงคลอีกด้วย เพราะคำว่า ‘ฝูกุ้ย’ ที่เป็นชื่อหนึ่งของดอกไม้ชนิดนี้แปลตรงตัวว่า ‘ร่ำรวยและมีฐานะสูงส่ง’ ดังนั้น ลายดอกโบตั๋นจึงถือเป็นดอกไม้ที่มีความหมายเป็นมงคล กลายเป็นลวดลายที่ได้รับความนิยมอย่างมากในศิลปะจีน และความสวยงามนี้ก็แพร่กระจายไปยังดินแดนต่างๆ ที่ติดต่อกับประเทศจีน รวมถึงรัฐโบราณในดินแดนประเทศไทยด้วย โดยเหลือหลักฐานในรูปของเครื่องลายครามรูปทรงต่างๆ

โบตั๋น ทำไมดอกไม้จีนชื่อญี่ปุ่นจึงเป็นที่นิยมมากที่สุดดอกหนึ่งในงานศิลปะไทย
เครื่องลายครามที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม

แม้ในศิลปะจีนจะปรากฏหลักฐานการประดับด้วยลายดอกโบตั๋นตั้งแต่ในสมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ. 1161 – 1450) เช่น ลวดลายประดับสุสานของ Hsiangyu TianHui แต่หลักฐานเก่าแก่ที่สุดที่พบในประเทศไทยกลับพบในศิลปะลพบุรีราวปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ที่พระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี โดยพบอยู่บริเวณลายกรวยเชิง ซึ่งแม้จะเป็นเพียงดอกไม้ประดับดอกเล็กๆ ไม่ได้เป็นลวดลายหลักหรือมีความสลักสำคัญอะไร แต่สิ่งนี้เป็นเครื่องยืนยันว่า เราเริ่มมีการใช้งานดอกโบตั๋นมาประดับอาคารในพุทธศาสนาตั้งแต่เมื่อราว 700 ปีมาแล้ว

โบตั๋น ทำไมดอกไม้จีนชื่อญี่ปุ่นจึงเป็นที่นิยมมากที่สุดดอกหนึ่งในงานศิลปะไทย
ภาพ : Maryta M. Laumann, S. Sp. S., Lee Chuen-Fang, Chinese Decorative Design, 23-24
ดอกโบตั๋น ทำไมดอกไม้จีนชื่อญี่ปุ่นจึงเป็นที่นิยมมากที่สุดดอกหนึ่งในงานศิลปะไทย
ภาพ : อาสา ทองธรรมชาติ, ที่มาและพัฒนาการของลายดอกโบตั๋นในงานศิลปกรรมไทย, 49.

ในพุทธศตวรรษต่อมา ณ ดินแดนสุโขทัย ลายดอกโบตั๋นมีรูปแบบที่โดดเด่นมากขึ้น โดยเฉพาะดอกโบตั๋นบนแผ่นหินชนวนในอุโมงค์วัดศรีชุม ที่มีความคล้ายคลึงกับดอกโบตั๋นในศิลปะจีนอย่างมาก และยังพบอีกหลายที่ทั้งงานปูนปั้นและงานจิตรกรรมฝาผนัง แต่ที่ลายดอกโบตั๋นได้รับความนิยมอย่างมาก ก็คือดินแดนล้านนาทางภาคเหนือของประเทศไทยนั่นเอง เพราะในลายที่เรียกว่า ‘ลายเครือล้านนา’ นั้น แทบจะมีดอกโบตั๋นเป็นพระเอก เป็นแกนกลางของลวดลาย โดยพบตั้งแต่ยุคแรกๆ ของล้านนา เช่น วัดป่าสัก จังหวัดเชียงราย เรื่อยมาจนถึงยุคทอง อย่างวัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง และได้รับความนิยมต่อเนื่องยาวนานแม้จะผ่านมาถึงยุคร่วมสมัยกับรัตนโกสินทร์ก็ตาม

ดอกโบตั๋น ทำไมดอกไม้จีนชื่อญี่ปุ่นจึงเป็นที่นิยมมากที่สุดดอกหนึ่งในงานศิลปะไทย
ดอกโบตั๋น ทำไมดอกไม้จีนชื่อญี่ปุ่นจึงเป็นที่นิยมมากที่สุดดอกหนึ่งในงานศิลปะไทย
ดอกโบตั๋น ทำไมดอกไม้จีนชื่อญี่ปุ่นจึงเป็นที่นิยมมากที่สุดดอกหนึ่งในงานศิลปะไทย

ในขณะที่ดอกโบตั๋นในศิลปะอยุธยาก็มีทั้งรูปแบบและวิวัฒนาการที่น่าสนใจเช่นกัน ลายดอกโบตั๋นของอยุธยานั้นมีทั้งที่รับมาจากดินแดนใกล้เคียง เช่น ลพบุรี สุโขทัย ดินแดนอันห่างไกลอย่างล้านนา รวมถึงดินแดนต้นตำรับอย่างจีนด้วย ดังนั้น ลายดอกโบตั๋นในศิลปะอยุธยาจึงมีหลายแนวและประดับในหลายจุด โดยดอกโบตั๋นของอยุธยานั้นเริ่มจากลวดลายที่ยังคล้ายคลึงกับดอกไม้จริงๆ เช่นที่วัดจุฬามณี จังหวัดพิษณุโลก ก่อนจะค่อยๆ กลายสภาพเป็นลวดลายประดิษฐ์และเป็นต้นแบบของลวดลายกระหนกแบบอื่นๆ เช่น ลายช่อหางโต ที่วัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี

ดอกโบตั๋น ทำไมดอกไม้จีนชื่อญี่ปุ่นจึงเป็นที่นิยมมากที่สุดดอกหนึ่งในงานศิลปะไทย
ดอกโบตั๋น ทำไมดอกไม้จีนชื่อญี่ปุ่นจึงเป็นที่นิยมมากที่สุดดอกหนึ่งในงานศิลปะไทย

ข้ามผ่านจากอยุธยาเข้าสู่สมัยรัตนโกสินทร์ ดอกโบตั๋นมีวิวัฒนาการอีกครั้งและได้รับความนิยมขึ้นอย่างมากในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยนำไปประดับได้แทบทุกจุดในวัด แถมยังมาในรูปแบบต่างๆ ทั้งงานแกะไม้ ปูนปั้น ลายรดน้ำ จิตรกรรมฝาผนัง เช่น วัดเฉลิมพระเกียรติ นนทบุรี ที่มีทั้งบนหน้าบันและบนฝาผนัง และแม้ความเป็นตะวันตกจะเข้ามามีอิทธิพลอย่างมากในราชสำนักของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ลายดอกโบตั๋นก็ยังข้ามผ่านกาลเวลาและผสมผสานเข้ากับศิลปะตะวันตกที่เข้ามาใหม่ได้เป็นอย่างดี ดังปรากฏที่วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร

ดอกโบตั๋น ทำไมดอกไม้จีนชื่อญี่ปุ่นจึงเป็นที่นิยมมากที่สุดดอกหนึ่งในงานศิลปะไทย
ดอกโบตั๋น ทำไมดอกไม้จีนชื่อญี่ปุ่นจึงเป็นที่นิยมมากที่สุดดอกหนึ่งในงานศิลปะไทย
ดอกโบตั๋น ทำไมดอกไม้จีนชื่อญี่ปุ่นจึงเป็นที่นิยมมากที่สุดดอกหนึ่งในงานศิลปะไทย

แม้ในยุคปัจจุบัน ยุคสมัยแห่งความหลากหลาย ลายดอกโบตั๋นก็ยังคงได้รับความนิยมในงานศิลปะไทยอยู่ แต่เริ่มมีการขยับขยายจากบนวัดวาอารามหรือในรั้วในวัง ในบ้านเศรษฐีคหบดีเข้ามาสู่ครัวเรือนของคนทั่วๆ ไป กลายสภาพไปอยู่บนข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งอุปโภค บริโภค ทั้งบนเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย หรือแม้แต่ของที่ผมเชื่อว่าทุกคนต้องพกติดตัวตลอดเวลา นั่นก็คือธนบัตร ก็ยังมีรูปดอกโบตั๋นเลยนะครับ ใครไม่เชื่อ ลองหยิบธนบัตรหลายๆราคามาพลิกไปพลิกมาดู อาจจะเจอดอกโบตั๋นอยู่ในนั้นก็ได้นะครับ

ดอกโบตั๋น ทำไมดอกไม้จีนชื่อญี่ปุ่นจึงเป็นที่นิยมมากที่สุดดอกหนึ่งในงานศิลปะไทย
ภาพ : www.siambanknote.com

เห็นไหมครับว่า แม้ในยุคดิจิทัลของเราจะมีสิ่งที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ คิดค้นขึ้นใหม่มากมาย แต่ก็ยังมีของบางอย่างที่ข้ามผ่านกาลเวลานับร้อยๆ ปี และยังคงแฝงตัวเองอยู่ร่วมกับเราในชีวิตประจำวันอย่างแนบเนียนจนเราไม่รู้ตัว ผ่านวิวัฒนาการและผสมผสานเข้ากับยุคสมัยได้อย่างลงตัว ดังนั้น เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า หลายสิ่งที่เรามีอยู่ในปัจจุบันล้วนแต่มีรากฐานมาจากสิ่งที่เคยมีอยู่แล้ว อาจจะหลายสิบ หลายร้อย หรือหลายพันปีก็ได้ ใครจะรู้ล่ะครับ

เกร็ดแถมท้าย

  1. จริงๆ นอกจากดอกโบตั๋นแล้ว ยังมีดอกไม้ชนิดอื่นๆ ที่นิยมในศิลปะไทยเหมือนกันนะครับ ไม่ว่าจะเป็นดอกบัวที่เป็นดอกไม้สำคัญในพุทธศาสนาอยู่แล้ว แต่มีดีไซน์หลากหลายเหมือนกัน โดยเฉพาะที่วัดปทุมวนารามที่ผมเคยเขียนถึงไป มีดอกบัวเป็น 10 แบบเลยครับ หรือดอกบุนนาค พบได้ในวัดที่สร้างโดยตระกูลบุนนาค และวัดประยุรวงศาวาสก็มีเหมือนกันนะครับ
  2. ถ้าใครอยากดูดอกโบตั๋นแบบหลากสีหลายแบบในวัดเดียว ลองไปชมวัดที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 ดูครับ วัดในรัชกาลนี้นิยมดอกโบตั๋นมากๆ จนแทบเป็นลวดลายสามัญประจำวัดเลย อย่างวัดราชโอรสารามเองก็มีดอกโบตั๋นอยู่หลายสีหลายจุดเช่นเดียวกันครับ

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ