เป็นเอก รัตนเรือง เป็นผู้กำกับที่ใช้ปากได้ดี

ใครเคยได้ลองคุยกับเขาย่อมเห็นด้วยกับประโยคข้างต้น ไม่ว่าจะชวนคุยเรื่องอะไร ถ้อยคำที่เขาบอกเล่าออกจากปากมักเต็มไปด้วยชีวิตชีวา บทสนทนาจึงมักเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ แม้เรื่องที่กำลังคุยจะเป็นเรื่องบาดแผลในชีวิตและเรื่องพลาดผิดในการทำงาน

ใช่, เป็นเอกเป็นคนหนึ่งที่สามารถเล่าเรื่องฉิบหายที่ผ่านมาราวกับมันเป็นเรื่องธรรมดาเรื่องหนึ่ง

นับจากวันที่ ฝัน บ้า คาราโอเกะ เข้าฉายเมื่อปี 2540 จนถึงวันนี้เขาก็ปักหลักในวงการภาพยนตร์มาครบ 20 ปีพอดิบพอดี และภาพยนตร์เรื่องที่ 9 ในชีวิต อย่าง Samui Song กำลังตระเวนฉายตามเทศกาลภาพยนตร์ทั่วโลก ก่อนจะเข้าฉายในบ้านเราช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์

ด้วยความที่เป็นเอกไม่เล่นโซเชียลเน็ตเวิร์กใดๆ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ฯลฯ (โทรมายังไม่ค่อยรับสาย–เขาว่าอย่างนั้น) จึงไม่แปลกที่ยามไม่มีภาพยนตร์เข้าฉาย ชื่อของเขาจะหายไปจากพื้นที่สื่อ

“เราไม่มีสิ่งที่จะสื่อสารกับโลกได้ เลยไม่มีใครรู้ว่าเราทำอะไร” เป็นเอกบอกเมื่อเรานั่งคุยกันในห้องทำงานของเขาที่ Film Factory

ยอมรับว่าผมรู้สึกโชคดีไม่น้อยที่เขายอมเจียดเวลาที่เหลืออยู่น้อยนิดมานั่งสนทนาก่อนที่อีกไม่กี่วันข้างหน้าเขาจะบินไปงานเทศกาลภาพยนตร์ที่มาเก๊า

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราพูดคุยกัน ระหว่างบรรทัดของบทสนทนาผมจึงเห็นทั้งสิ่งที่เขาเชื่อมั่นหนักแน่นขึ้นและสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปจากวันวาน ส่วนสิ่งใดที่คงอยู่หรืออะไรบ้างที่หายไป

ไปฟังจากปากเป็นเอก

ชานบ้าน เป็นเอก รัตนเรือง

พอจะบอกได้ไหมว่าเรื่อง Samui Song ทำไมต้องเป็นสมุย ไม่เป็นเสม็ดหรือเกาะอื่นๆ

อันนี้ไร้สาระมากเลยนะถ้าจะเอาไปลง (หัวเราะ) คือมีอยู่วันหนึ่ง เพื่อนสกรีนเสื้อคอกลมให้เพื่อนอีกคน ซึ่งเพื่อนคนนี้ไปเปิดร้านกาแฟอยู่ที่สมุย เขาก็ทำเสื้อขึ้นมาเป็นรูปแมวรูปต้นไม้อะไรไม่รู้ แล้วก็เขียนว่า ‘สมุย’ ซึ่งเขาก็ส่งมาให้เราด้วย อยากให้เราใส่แล้วถ่ายรูปลงเฟซบุ๊กให้หน่อย เหมือนช่วยโปรโมตร้านให้เขา แฟนเราก็ถ่ายรูปเราใส่เสื้อตัวนั้นลงไปในเฟซบุ๊ก แล้วก็มีใครไม่รู้มาคอมเมนต์บอกว่า ‘พี่ต้อมทำหนังเรื่องใหม่ เรื่องสมุย’ ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีไอเดียนี้เลย พอเห็นคอมเมนต์ก็คิดว่า เออ กูอยากทำหนังให้มีคำว่าสมุยอยู่บนโปสเตอร์ว่ะ ต้องสวยแน่เลย แล้วก็เลยคิดจากอันนั้น กะว่าไม่ว่าทำหนังเรื่องอะไรมาเราก็จะเรียกมันว่า สมุย

ตอนเขียนบทดราฟต์แรกของหนังเรื่องนี้เราก็เขียนว่า ‘สมุยหนึ่ง’ หลังจากนั้นดราฟต์สองก็เขียน ‘สมุยสอง’ แล้วพอพิมพ์ในคอมพิวเตอร์เราขี้เกียจเปลี่ยนเป็นภาษาไทย ก็เลยเขียนว่า ‘Samui Song’ พอเขียนบทเสร็จส่งไปให้โปรดิวเซอร์อ่าน เขาบอกว่าเขาชอบชื่อนี้ เราก็คิดว่า เออดี Samui Song งั้นเอาเลย

แล้วทำไมคุณถึงเคยบอกว่า Samui Song เป็นหนังที่ต้องดู 

มันเป็นหนังที่ต้องดูเพราะว่าหนังแบบ Samui Song ในอุตสาหกรรมหนังไทยมันถูกผลิตน้อยลงเรื่อยๆ แล้วหนังที่ให้เวลากับการผลิตจริงๆ มียอดฝีมือมารวมตัวกันทุกแผนก แล้วเป็นหนังแบบ old school การคราฟต์ของมันคุณดูแล้วจะเห็นเลยว่า มันยังเป็นหนังที่ทำมืออยู่ คือทุกวันนี้มันมีรองเท้าผ้าใบที่ปั๊มมาจากเมืองจีน กับมีรองเท้าผ้าใบที่ยังเย็บมือทีละคู่ ทีละคู่ แล้วปีหนึ่งทำได้แค่ 7 คู่ (หัวเราะ) คือเราว่าหนังเรื่องนี้มันเป็นอย่างนั้น เป็นเหมือนรองเท้าที่เย็บทีละคู่จริงๆ

หลงใหลอะไรในการทำงานแบบนี้ ทำไมยังมัวมานั่งทำมืออยู่

อันนี้อาจจะเป็นรสนิยมส่วนตัว คือเราชอบอะไรที่มันมีความประณีต มีความคิดก่อนจะทำอย่างดี ให้เวลาในการทำ เราชอบอะไรอย่างนั้น ในชีวิตจริงเราจะซื้อของแพงแต่เราไม่ซื้อเยอะ เข็มขัดเส้นหนึ่งเราซื้อแพงมากแต่มันยังอยู่ เรายังใส่มา 20 ปี และเราก็จะซื้อของที่มันไม่ได้หวือหวามาก อะไรที่ดูเป็นแฟชั่นเราจะไม่ค่อยชอบ

แล้วของพวกนี้มันแพงเพราะต้นทุนมันสูง สมมติอย่างหนังที่จะเอามาทำรองเท้า ถ้าเป็นงานคราฟต์จริงๆ คุณต้องไม่ประนีประนอมกับคุณภาพของหนังที่จะเอามาทำ หรือพื้นรองเท้า เราก็รู้ว่าถ้าทากาวไปอีก 3 ปีกาวก็หมดอายุแล้วรองเท้ามันจะอ้า ฉะนั้นก็อย่าทากาว แต่หาวิธีเย็บมัน ทีนี้เวลาเย็บก็ต้องเย็บให้เข้ารูปนะ จะไปเย็บโง่ๆ ก็ไม่ได้อีก ต้นทุนมันสูง มันถึงแพง ซึ่งเวลาในการทำก็ถือเป็นต้นทุนนะ การที่ทำได้น้อยเพราะใช้เวลานานต่อหนึ่งชิ้น อย่าง Samui Song เขียนบท 2 ปี ใช้เวลาอีก 1 ปีเพื่อหาเงินมาทำ 3 ปีเข้าไปแล้วยังไม่ได้ทำอะไรเลย เสร็จแล้วเริ่มถ่ายทำ มันก็เร็วหน่อย 3 เดือน ถ่ายเสร็จเราตัดต่ออยู่ปีครึ่ง ซึ่งถือว่านานมาก เพราะมันยาก ตัดเท่าไหร่มันก็ยังไม่ชอบ เพราะฉะนั้น รวมๆ แล้วเกือบ 6 ปี

เป็นเอก รัตนเรือง

ใช้เวลาทำนาน พอทำเสร็จ ช่วงเวลาที่ได้เอาหนังไปฉายตามเทศกาลภาพยนตร์ต่างๆ ถือเป็นช่วงที่มีความสุขที่สุดแล้วหรือเปล่า

ไม่ฮะ แต่อาจจะเป็นเพราะเราทำอย่างนี้มานานมากแล้ว เราไปเทศกาลหนังมา 20 ปีแล้ว ซึ่งมันก็เหมือนเดิม พูดจริงๆ มันเป็นตอนที่เราไม่ชอบที่สุดเลย เพราะว่าเราต้องไปพูดเกี่ยวกับหนังเรา

คือเราไม่ชอบพูดเกี่ยวกับหนังตัวเอง หมายถึงว่าถ้ามีความจำเป็นต้องพูดเราก็ทำ แต่จริงๆ ตอนที่แฮปปี้ที่สุดคือช่วงเวลาที่ทำหนังมากกว่า ช่วงที่ตัดต่อ เขียนบท การที่อยู่กับกองถ่าย โอเค การไปเทศกาลหนังมันเป็นเรื่องของเกียรติยศ เป็นเรื่องของความภูมิใจบางอย่าง แต่ในขณะเดียวกันมันก็เป็นเรื่องของการพีอาร์ แล้วคนมันก็เยอะ ต้องพูดคุยกับคนเยอะ ซ้ำไปซ้ำมา

เวลาไปเทศกาลภาพยนตร์ สื่อมวลชนต่างประเทศถามคำถามต่างจากสื่อไทยไหม

ส่วนมากเขาจะถามเรื่องที่เขาสงสัยหลังจากดูหนัง อย่าง Samui Song เขาจะถามเรื่องลัทธิ ถามว่าพุทธแบบเมนสตรีมกับพุทธแบบอัลเทอร์เนทีฟมันเป็นยังไง เพราะว่าเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ แล้วไอ้ลัทธิแบบในหนังมันเป็นลัทธิแบบพุทธหรือเปล่า อีกเรื่องก็คือที่ยืนของผู้หญิงในสังคมไทยมันเป็นอย่างในหนังจริงๆ หรือเปล่า เรื่องนี้โชคดีตรงที่ตอนนี้อยู่ๆ สังคมก็ตื่นตัวเรื่องผู้หญิงถูกกระทำ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหนัง เพราะ Harvey Weinstein ( ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน) กำลังมีเรื่อง สื่อต่างประเทศก็จะถามเรื่องพวกนี้

แล้วคุณสนใจในประเด็นอะไรเรื่องผู้หญิงในสังคมไทย

เรื่อง Samui Song สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนมากคือ เราเห็นว่าผู้หญิงในสังคมไทยต้องเป็นเหมือนนักแสดงกันทุกคนเลย เพราะมีบทต่างๆ ให้เล่นเยอะมาก อยู่กับพ่อแม่ก็ต้องเป็นลูกที่เรียบร้อย เรียนหนังสืออยู่กับครูก็ต้องเป็นอีกแบบหนึ่ง ตอนยังไม่มีแฟนก็ต้องทำตัวแบบหนึ่ง โนเนะเข้าไว้ เพราะผู้ชายไทยไม่ชอบผู้หญิงแข็งแรงมาก อายุ 20 แล้วก็ต้องทำตัวคล้ายๆ อายุ 16 ในที่สุดวันหนึ่งหาแฟนได้ แต่งงาน พอกลายเป็นเมียปุ๊บ ก็ต้องไปเล่นอีกบทแล้ว ผู้หญิงคนไหนทำงานออฟฟิศมีเจ้านายเป็นผู้ชายก็ต้องเล่นอีกบท ฉลาดมากก็ไม่ได้เดี๋ยวเขาหมั่นไส้ เราว่า Samui Song มันชัดมากเรื่องนี้

เป็นเอก รัตนเรือง

คุณพูดด้วยน้ำเสียงเห็นใจหรือพูดด้วยน้ำเสียงแบบไหน

สงสารฮะ คือเป็นผู้หญิงไทยโคตรเหนื่อยเลย ผู้ชายมีอภิสิทธิ์มากกว่าเยอะมาก ผู้ชายไม่ต้องเล่นบทเยอะขนาดนั้น ยิ่งบทบาทในที่ทำงาน ผู้หญิงที่ทำงานออฟฟิศจะเห็นชัดมาก คือสังคมอื่นก็อาจจะเป็นแหละนะ แต่ว่าเราเห็นในสังคมไทยว่ามันเป็นอย่างนั้น

ซึ่งคุณอยากลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงความคิดนั้น

ไม่ๆ เราไม่ได้เป็น activist เราได้แต่คิดสิ่งเหล่านี้อยู่ในจิตใต้สำนึก แล้วพอทำหนังมันก็เลยสะท้อนสิ่งนี้ออกมา แต่เราไม่ได้จะเรียกร้องอะไร ถ้าใครดูหนังแล้วเห็นว่ามันมีมุมนี้ แล้วเขาเห็นว่ามุมนี้มันดีก็ดีไป แต่เราไม่ได้ลุกขึ้นมาเรียกร้องอะไร ก็ได้แต่คิดว่า ซวยฉิบหายเลย

แล้วเรื่องลัทธิ คุณไปเจออะไรมาถึงสนใจเรื่องนี้

เรื่องลัทธิมันมาตอนที่มีข่าวเยอะๆ เกี่ยวกับเรื่องลัทธิอัลเทอร์เนทีฟในเมืองไทย ซึ่งไม่ใช่ธรรมกายอย่างเดียวนะ ก่อนจะมีเรื่องธรรมกายก็มีเรื่องอื่น อย่างพระยันตระเขาก็ไม่ได้สึกนะ ยังมีคนติดตามเขาอยู่ อีกอย่างคือความล่มสลายของศาสนาแบบเมนสตรีมมันเริ่มเกิดขึ้นเยอะมากโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ เราไปวัดจะไปทำสังฆทานให้พ่อแม่ กว่าจะเดินไปถึงกุฏิของเจ้าอาวาสได้ โอ้โห เครื่องลางของขลังตั้งเต็นท์กันเต็มเลยระหว่างทาง ไอ้ความเป็นพาณิชย์อย่างที่เรารู้กัน เราก็มีความสนใจเรื่องนี้

คุณแยกระหว่างความเชื่อกับความงมงายยังไง อย่างการถวายสังฆทานต่างจากการเช่าพระเครื่องตรงไหน

ไม่ๆ เราไม่ได้ว่าพุทธพาณิชย์งมงายนะ คือใครเชื่อแบบไหนก็ตามสบาย ใครคิดว่าจะไปซื้อพระมาห้อยเยอะๆ ก็ตามสบาย ใครคิดว่าปีชงแล้วต้องแก้ชงก็ตามสบาย เราคิดว่าเราคงไม่บังอาจไปตัดสินอะไร

อย่างตัวคุณเองห้อยพระอะไรไหม

มีฮะ ส่วนมากห้อยพระเวลาเดินทาง

เป็นเอก รัตนเรือง เป็นเอก รัตนเรือง

ก็ยังมีความเชื่อในสิ่งเหล่านี้อยู่

มีๆ (ตอบทันที) โอ้ย ของเรานี่ศาสนาไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่ แต่ว่าโคตรจะไสยศาสตร์เลย (หัวเราะ) แล้วก็ถามตัวเองว่า เฮ้ย ทำไมกูถึงไสยศาสตร์นักวะ อ๋อ เพราะว่าอาชีพที่กูทำ กูพึ่งตัวเองมากไม่ได้เลย มันมีแต่ความไม่แน่นอนเต็มไปหมด เอาแค่ว่าถ้าถ่ายหนังกลางแจ้งเดือนพฤษภาคม แล้วโปรดิวเซอร์ดูพยากรณ์อากาศว่าพรุ่งนี้มีสิทธิ์ฝนตกครึ่งวัน คืนนี้กูนั่งสวดมนต์แล้ว

คือไอ้อาชีพที่ทำมันมีสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเราเยอะมากเลย กูรู้แล้วว่าทำไมกูเป็นคนแบบนี้ แต่มันช่วยไม่ได้ เราไม่ใช่คนที่จิตใจแข็งแกร่งมั่นคงที่สุดในโลก เราอาจจะไม่ใช่คนอ่อนแอ แต่เราก็มีความไม่มั่นใจในตัวเองสูง อะไรที่จะช่วยได้กูเอาหมด (หัวเราะ)

พระเครื่องที่ห้อยช่วยได้

ไม่รู้ช่วยได้หรือเปล่า แต่ว่าเอาไว้ก่อน อย่างจะเดินทางก็ต้องห้อยพระ ขึ้นเครื่องบินก็ห้อยพระ แต่ไม่รู้ช่วยได้หรือเปล่า (หัวเราะ)

อุ่นใจเหมือนสวมชูชีพ

จริงๆ แล้วชูชีพอาจจะช่วยได้มากกว่าหรือเปล่าก็ไม่รู้นะ (หัวเราะ)

เห็นว่าคุณกำลังจะไปวิปัสสนา ขนาดช่วงนี้ชีวิตคุณยุ่งมากยังแบ่งเวลาไปวิปัสสนา กิจกรรมนี้มีอะไรดี

คือที่จะไปวิปัสสนาเราต้องจองตั้งแต่ 6 เดือนก่อนแล้ว และจริงๆ ชีวิตยิ่งยุ่งยิ่งต้องการวิปัสสนา จะได้เป็นช่วงที่ทุกอย่างมันลงมาบ้าง ด้วยไลฟ์สไตล์ที่อยู่ที่นั่น 10 วันไม่พูดกับใครเลยแม้แต่คำเดียว ไม่มีมือถือ ไม่มีทีวี ไม่มีหนังสืออ่าน เขียนหนังสือไม่ได้ มันต้องอยู่กับลมหายใจ คือถ้าคนที่ไม่เคยทำมันก็จะเข้าใจยากหน่อย แต่คนที่เคยทำแล้วชอบจะเข้าใจว่ามันเป็นสิ่งที่ดี มันตัดทุกอย่าง

ไม่คุยกับใครก็ไม่ร้อนรน

ไม่เลยฮะ ถ้าร้อนรนเราไม่ทำ เราทำมา 8 ปีแล้ว ทำทุกปี มันทำให้เรามีความสุข

เป็นเอก รัตนเรือง

นอกจากความสงบ การไปวิปัสสนาแบบนี้มันทำให้เข้าใจสัจธรรมอะไรในชีวิตหรือเปล่า

ไม่รู้เหมือนกัน แต่เราคิดว่าเรามีความเข้าใจสัจธรรมของชีวิตตั้งแต่ก่อนเราจะไปทำสิ่งนี้แล้ว จริงๆ แล้วการที่เราทำหนังมา 20 ปี มันทำให้เราเข้าใจสัจธรรมชีวิตอะไรขึ้นเยอะมากโดยผ่านการทำหนังนะ เราอยากได้สิ่งนี้แล้วไม่มีทางได้ อยากได้แดดแต่วันนี้ครึ้มทั้งวันมึงจะทำยังไงล่ะ หรือกูอยากได้ครึ้มวันนี้มาแดดเลย เราจะดีลกับมันยังไง พวกนี้เป็นสัจธรรมชีวิตหมด

ผลของมันเหมือนการปฏิบัติธรรม

เหมือนฮะ เหมือนมาก สมมติทำหนังออกมาเสร็จเสียงวิจารณ์เหี้ยมาก ให้ทำยังไงล่ะ ก็ต้องรับไว้ หรือเสียงวิจารณ์บอกว่า โห ดีมากเลย ก็ดีใจอยู่สักวันหนึ่งแต่ก็อย่าไปอะไรกับมันมาก แล้วพอเริ่มเรื่องใหม่ โปรเจกต์ใหม่ก็กลับไปเริ่มศูนย์ใหม่ทุกที ทุกวันนี้เราดีใจกับอะไรน้อยลง เสียใจกับอะไรน้อยลง แต่เราไม่ได้จะเคลมว่าเราเป็นคนเข้าใจชีวิตถ่องแท้ขนาดนั้นนะ แค่คล้ายๆ กับว่าการทำหนัง 20 ปีมันทำให้เรารู้จักตัวเองเยอะขึ้นเยอะ รู้จักจุดแข็งตัวเอง จุดอ่อนตัวเอง รู้ว่าไม่ดียังไง ผ่านการทำหนัง พอรู้จักตัวเองมันก็ง่ายที่จะไม่รู้สึกอะไร

แล้วเป็นเอกที่คุณรู้จักตอนนี้ต่างจากเป็นเอกตอนทำหนังเรื่องแรกมั้ย

ต่างกันเยอะมากฮะ คือตอนกำกับหนังเรื่องแรกเวลาอะไรไม่เวิร์กเราจะตกใจง่ายมาก เมื่อก่อนเราเป็นคนร้อนรนกว่านี้เยอะ แต่ตอนนี้รู้แล้วว่าเราจะไม่ตกใจ เดี๋ยวก็หาวิธีค่อยๆ แก้ไป แล้วมันก็จะออกมาโอเค ซึ่งเราทำได้แค่ไหนก็แค่นั้น มันทำไม่ได้มากกว่าที่เราทำได้หรอก

คิดว่าทำได้แค่ไหนแค่นั้น ไม่ได้คิดว่าจะทำให้ดีที่สุดอีกแล้ว

ไม่ เราคิดว่าต้องทำให้ดีที่สุด แต่ว่าไอ้ดีที่สุดของเรามันคือดีที่สุดเท่าที่เราทำได้ แต่ไม่ใช่ว่าไปตั้งธงว่าต้องได้ออสการ์ อย่างนั้นมันก็ทุกข์เปล่าๆ มันอาจจะเป็นเพราะต้นทุนของเราด้วย

ตอนที่เราเข้ามาทำสิ่งนี้ครั้งแรกเมื่อ 20 ปีที่แล้วเราไม่ได้อยากจะทำอาชีพนี้ เราไม่ได้อยากจะเป็นผู้กำกับหนัง แต่มาทำเพราะว่าอยากลองดู พอมีโอกาสได้ทำไปทีหนึ่งแล้วมันชอบ รู้สึกว่าเรามีความเป็นธรรมชาติกับสิ่งนี้มากเลย เหมือนเราเกิดมาเพื่อทำสิ่งนี้ แต่เรื่องแรกผลลัพธ์มันออกมาไม่ดี เลยรู้สึกว่าเดี๋ยวทำอีกเรื่องดีกว่า หลังจากนั้นก็มีหลายอย่างมาผสม ทีมงานที่ทำด้วยกันไม่เปลี่ยนเลย เติบโตมาด้วยกัน เวลารวมตัวกันทีมันก็มีความสุข ได้อยู่กับเพื่อนเป็นเดือนๆ ช่วยกันทำ แล้วพอทำเสร็จออกมาก็มีความภูมิใจ หลายๆ อย่างมันค่อยๆ ประกอบกัน จนทำให้เหมือนเสพติด

เป็นเอก รัตนเรือง

เสพติดขั้นตอนไหนของการทำภาพยนตร์

เสพติดทั้งกระบวนการ ถ้าถามเรา ส่วนที่เป็นผลลัพธ์กลับมีผลน้อยที่สุด เรากลับเสพติดมันน้อยที่สุด อย่างที่บอก กิจกรรมการทำหนังมันควบคุมให้ผลลัพธ์ออกมาเป็นดั่งใจยากมาก เพราะฉะนั้น เราเอนจอยกระบวนการทำมากกว่า ขณะที่กำลังทำ ตอนเขียนบท ตอนแคสติ้ง ตอนออกไปดูโลเคชัน จะชอบมาก ได้เห็นที่โน่นที่นี่ ตอนถ่ายทำ ตอนตัดต่อ ค่อยๆ ประกอบมัน ค่อยๆ เห็นมันมีชีวิตขึ้นมาต่อหน้า ความสุขมันอยู่ตรงนี้ พอทำเสร็จเราก็จะรู้แล้วว่าเรื่องนี้ออกมามันได้แค่ไหน เรารู้เลยว่าเรื่องนี้แผลเยอะว่ะ เรื่องนี้ทำได้ไม่เลวว่ะ มันรู้ตั้งแต่ตอนเสร็จแล้ว

ด้วยความที่ทีมงานรอบๆ ตัวเราเติบโตมาด้วยกัน เป็นเพื่อนกัน ไม่มีใครเห็นว่าเราเก่ง โอเค เขาศรัทธาในตัวเรา แต่เขาไม่ได้เห็นเราแบบที่สื่อเห็น ไม่เหมือนที่คนที่เป็นแฟนหนังเห็น เขาก็เห็นเราทำอะไรเละเทะมา ได้เรื่องบ้างไม่ได้เรื่องบ้าง เราเลยโชคดีตรงที่ไม่เคยมีโมเมนต์ที่รู้สึกว่า โอ้โห กูแม่งสุดยอดว่ะ ใครมาวิจารณ์หนังไม่ได้ แล้วมันทำให้เราค่อนข้างจะวิพากษ์หนังตัวเองได้หนักกว่าคนอื่น

แล้วทุกวันนี้คุณสามารถทำหนังที่ไม่มีแผลได้มั้ย

ยากฮะ มันยากมาก เพราะว่าเราก็มีข้อจำกัดบางอย่าง ทุกครั้งที่ออกไปทำหนัง เราไม่ได้ตั้งเป้าไว้แค่ที่เห็นไง คือเราตั้งไว้สูงกว่านั้น แต่เราทำได้แค่นี้ มันควบคุมไม่ได้ มันยากเกิน กว่าเราจะทำหนังเรื่องหนึ่งเสร็จมันมักโดนทอนลงไป บางทีอยากได้นักแสดงคนนี้ เขาบอกไม่ได้แล้ว ถ้าอย่างนั้นเอาคนที่รองลงไป หรือโลเคชันตรงนี้ใช่เลย สวยเลย เค้าบอกจะเอา 2 แสน โอเค ถ้าอย่างนั้นอันที่ดีรองลงไปคืออะไร

แต่ว่าการประนีประนอมที่เจ็บปวดที่สุดมันไม่ใช่เรื่องพวกนั้นหรอก การประนีประนอมที่เจ็บปวดที่สุดคือเราได้ค้นพบว่ามึงแม่งไม่ได้เก่งอย่างที่มึงคิด มึงนึกว่ามึงเก่งเท่านี้ แต่จริงๆ แล้วมึงเก่งแค่นี้ อันนี้เจ็บปวดที่สุด แล้วมันจริงที่สุด มันถึงน่าผิดหวังมาตลอด ทำไมการนั่งดูหนังตัวเองมันถึงเป็นประสบการณ์ที่แย่ ทำไมวะ ก็มึงไม่เก่งอย่างที่มึงคิดไง ซึ่งตอนเด็กๆ เราจะเจ็บปวดมาก แต่โตมาก็คิดว่า แล้วมึงจะไปฝืนธรรมชาติทำไม มึงได้เท่านี้ก็เท่านี้ ยอมรับมันไปเถอะ ตอนนี้เราก็ไม่ได้ดราม่าเท่ากับที่คิดไปเองเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ที่คิดว่ามันแย่ กูจะเลิกทำหนังแล้ว เพราะว่าทำเท่าไหร่ก็ไม่สำเร็จสักที แต่ไอ้การผิดหวังกับงานตัวเองมันดี มันทำให้เราทำไปอีก ทำไปอีก คิดว่าเดี๋ยวคราวหน้ากูจะไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก บาดแผลมันทำให้เราไม่เหลิง ทำให้เราไม่คิดว่าเราเจ๋ง ทำให้เราเป็นคนติดดิน ไม่กร่าง

ทำหนังมา 20 ปี ทุกวันนี้เวลาทำหนังเรื่องใหม่มันช่วยให้ง่ายขึ้นมั้ย

ไม่ช่วยเลยฮะ ไอ้รางวี่รางวัลที่ได้มา ไอ้เกียรติยศที่ได้มา ชื่อเสียงที่ได้มา พอเริ่มอันใหม่ปุ๊บมันก็คือหนังเรื่องแรกอีกแหละ แล้วก็เริ่มด้วยความไม่มั่นใจไปตลอดทางเหมือนกันว่า เหี้ย คราวนี้คนจับได้แน่ๆ เลยว่าที่ผ่านมากูฟลุก

ที่พูดนี่ไม่ได้ถ่อมตัวใช่ไหม

ไม่ได้ถ่อมตัวๆ คนชอบคิดว่าถ่อมตัว แต่ไม่ใช่ นี่เราพูดด้วยความสัตย์จริง แต่มันเป็นข้อดีนะ ถ้าคุณรู้สึกอย่างนี้ รู้สึกว่ามันยังยาก แสดงว่าคุณแคร์กับสิ่งที่ทำมาก เรากลัวมันเหี้ย

ไม่อย่างนั้นเราชิลล์เลยนะ โห กูทำหนังมาตั้ง 20 ปีแล้ว กูจะไปกลัวอะไรวะ แบบนั้นไม่ได้ฮะ ถ้ารู้สึกอย่างนั้นเมื่อไหร่ต้องเลิกทำนะ ทำออกมามันก็เป็นขยะ เป็นมลพิษเปล่าๆ

เป็นเอก รัตนเรือง เป็นเอก รัตนเรือง

หลายคนคงคิดว่าเมื่อทำสิ่งหนึ่งมานานพอเราจะทำมันได้สบายๆ

แต่เราว่าความคิดนั้นมันเป็นความคิดที่ไม่จริง คือมันน่าจะเป็นอย่างนั้น แต่มันไม่เป็น เพราะคุณอย่าลืมว่าสิ่งที่เรากำลังทำ สมมติอย่างการเขียนหนังสือ การทำหนัง การเขียนเพลง การวาดรูป สิ่งเหล่านี้มันไม่มีสูตรตายตัวที่บอกว่าทำตามแล้วมันจะสำเร็จ หรือจะออกมาดีแน่นอน เพราะมันขึ้นอยู่กับตัวแปรเต็มไปหมด โดยเฉพาะการทำหนัง ตัวแปรที่เข้ามาในชีวิตเต็มไปหมดเลย ทั้งโลเคชัน ทั้งอากาศ ทั้งภูมิศาสตร์ ทั้งนักแสดงซึ่งมาจากร้อยพ่อพันแม่ โอ้โห เราไม่สามารถที่จะมั่นใจได้เลยสักนาทีหนึ่ง

เรามีร้านก๋วยเตี๋ยวที่เราชอบในชีวิตอยู่หลายร้าน แต่ร้านที่เรากินบ่อยมากแล้วสนิทกับเจ้าของร้าน ซึ่งเขาก็ดูหนังเราทุกเรื่อง คือร้านแซว ตรงปากซอยสุขุมวิท 49 ทุกครั้งที่เราไปกินร้านนี้เราจะคิดว่า เมื่อไหร่กูจะทำหนังได้แบบนี้วะ มันมั่นคง มันเป๊ะทุกอย่าง เศรษฐกิจจะดีจะเหี้ยคนกินล้นหลามเท่าเดิม แล้วกินยังไงก็อร่อยทุกครั้ง แต่ว่าก๋วยเตี๋ยวมันมีสูตรตายตัวไง น้ำซุปอะไรเขาทำจนเขารู้แล้ว แต่กับสิ่งที่เราทำพอเริ่มโปรเจกต์ใหม่ ไอ้ความท้าทายมันเป็นชุดใหม่หมดเลย ไอ้น้ำซุปที่มึงนึกว่ามึงต้มอย่างนั้นได้แล้วมันใช้ไม่ได้กับอันนี้แล้ว มันเป็นสัตว์ประหลาดหน้าตาใหม่มาอีกแล้ว ซึ่งเราต้องทำให้มันเชื่องให้ได้

เพราะฉะนั้น มันไม่เป็นอย่างที่คุณคิดหรอก ว่ายิ่งทำแล้วจะยิ่งง่าย สิ่งเดียวที่ประสบการณ์มันจะช่วยได้เมื่อทำมามากพอคือ เมื่อทุกอย่างไม่เป็นไปตามที่คิด เราจะตกใจน้อยลง มันจะไม่ panic เท่าเมื่อก่อน เราจะค่อยๆ หาทางออก ค่อยๆ จัดการ แค่นั้นเอง

อันนี้เป็นแค่คุณคนเดียวหรือเพื่อนร่วมวงการก็เป็นแต่เขาไม่ค่อยพูด

เราเชื่อว่าสปีลเบิร์กก็เป็นฮะ หนังสปีลเบิร์กไม่ได้ดีทุกเรื่องนะ จริงๆ เรื่องที่ดีอาจจะมีน้อยกว่าเรื่องที่ไม่ดีด้วย เราว่าเป็นกันเกือบทุกคนแหละ คนที่ทำสิ่งนี้มันคือการเดินบนเส้นด้ายทุกครั้ง พอเริ่มโปรเจกต์ใหม่ก็เดินใหม่ แล้วเส้นด้ายก็เปลี่ยนไปด้วย พอเราเริ่มงานใหม่ชุดของความท้าทายมันเปลี่ยนไปทุกครั้ง นั่นคือสิ่งที่ทำให้สิ่งที่เราทำมันยากมาก แล้วเชื่อสิ ว่าเดี๋ยวเริ่มเรื่องใหม่ก็เจอเหมือนเดิมอีก ตราบใดที่ยังทำสิ่งนี้อยู่

คุณเคยบอกว่าแต่ละช่วงชีวิตจะมีเรื่องใหญ่หนึ่งเรื่อง วัยเด็กเป็นเรื่องฟุตบอล โตมาเป็นเรื่องภาพยนตร์ ช่วงนี้เรื่องใหญ่ในชีวิตเปลี่ยนไปมั้ย

เปลี่ยนฮะ มันกลายเป็นอยากอยู่กับครอบครัว (หัวเราะ) ช่วง 5 – 6 ปีที่ผ่านมาชีวิตมันก็เปลี่ยนไปด้วย เราไม่ได้แต่งงาน แต่เหมือนเรามีครอบครัว เราก็มีแฟนที่อยู่กันมานานแล้ว มีหมาตัวหนึ่งที่ต้องดูแล เริ่มเป็นพ่อบ้านมากขึ้น ไปสร้างบ้านอยู่เชียงใหม่ เริ่มมีชีวิตเหมือนคนปกติมากขึ้น ซึ่งการไปใช้ชีวิตแบบนั้นมันเป็นสิ่งที่เราก็ไม่เคยมีโอกาสทำ ตลอดเวลาที่ผ่านมาเราทำแต่งาน โตขึ้นมาทำแต่งาน งาน งาน ทำแต่หนัง หนัง หนัง ชีวิตเราถูกมาร์กด้วยหนังแต่ละเรื่อง แม่เสียตอนทำหนังเรื่องนั้น แฟนคนที่ 2 เลิกตอนทำหนังเรื่องนี้ กูวิ่งชนกระจกรถตอนหนังเรื่องโน้น ช่วงนี้มันเป็นเวลาที่ไปใช้ชีวิตปกติ

แล้วกลายเป็นตอนนี้ความกระตือรือร้นในการทำหนังมันน้อยลงไปเยอะมากเลย แต่ถ้าได้ทำก็แฮปปี้นะ ตอนได้เปิดกล้องหนังเรื่องใหม่ ได้เตรียมงานก็มีความสุข แต่หมายความว่าความร้อนแรง ความกระตือรือร้นมันน้อยลงไปเยอะมาก

เป็นเอก รัตนเรือง เป็นเอก รัตนเรือง

ตามวัยหรือเพราะอะไร

วัยก็มีส่วน แต่ชีวิตมันเปลี่ยนด้วย คุณภาพชีวิตอาจจะดีขึ้นด้วยมั้ง ความดิ้นรนมันน้อยลง พอคุณภาพชีวิตดีขึ้น ความกระตือรือร้นในการตั้งคำถามกับอะไรต่ออะไรมันก็น้อยลงไป

เหมือนพอคุณภาพชีวิตดีขึ้นมันก็มีข้อเสีย

ไม่ฮะ คือเราก็ได้สิ่งอื่นมา เราได้ชีวิตที่สงบลง เราได้สิ่งเหล่านั้นมา มันดีนะ คือสำหรับคนคนหนึ่งที่ไม่ได้มีความฝันว่าจะมาทำสิ่งนี้ ไม่เคยมีความฝันว่าจะเป็นผู้กำกับหนัง การทำหนังมาได้ขนาดนี้ก็ถือว่าบุญมากแล้วนะสำหรับเรา (หัวเราะ) แล้วถ้าวันหนึ่งมันจะหายไปจากชีวิตเราก็ไม่ได้เศร้าอะไร คือถ้ามันหายไปด้วยความไม่สมัครใจมันคงเศร้า เช่น มีโปรเจกต์อยากทำ มีความใฝ่ฝันอยากทำ แต่ไม่มีใครให้ทำ หาเงินไม่ได้ โลกนี้ไม่มีใครให้กูทำแล้ว มันคงเศร้าแหละ แต่ถ้ามันหายไปเพราะว่าความสนใจเราหมดไป หรือเราไปสนใจอย่างอื่นมากกว่า มันก็ไม่น่าเศร้านะ เพราะเราก็มีอย่างอื่นอีกหลายอย่างที่อยากทำ เขียนหนังสือก็อยาก แปลหนังสือก็อยาก ทำภาพพิมพ์ก็อยาก ทำหนังสือการ์ตูนก็อยาก แล้วเราไม่เคยได้ทำเลย มีคนอยากให้เราเขียนหนังสือเยอะมาก เขาบอกว่าพี่เขียนหนังสือสนุกดี ซึ่งเราก็อยากเขียน แต่มันต้องใช้เวลา แล้วเราไม่มีเวลา พอมีเวลาก็มานั่งคิดพล็อตหนัง คิดบทหนัง เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดวันหนึ่งสิ่งนี้มันจะหายไปก็ไม่เป็นไร

มันคนละความหมายกับคำว่าหมดไฟในการทำหนังแล้วใช่ไหม

จริงๆ จะว่าไปมันก็คล้ายๆ หมดไฟแหละ แต่อย่างที่บอก คำว่าหมดไฟมันก็ไม่ได้แปลว่าไม่ดี หมดไฟมันอาจจะแปลอีกอย่างว่า ความสนใจเราเปลี่ยนก็ได้ แล้วเดี๋ยวพอเราก็ไปเริ่มสิ่งใหม่ เราก็เริ่มเหมือนเราทำหนังอีกนั่นแหละ

สำหรับเรามันเป็นแค่เรื่องสื่อกลาง ต่อให้เราเลิกทำหนัง เราก็ยังต้องทำอะไรที่เกี่ยวกับศิลปะหรืองานสร้างสรรค์อยู่ดี จะเขียนหนังสือ จะวาดรูป ทำหนังสือการ์ตูน หรือจะเป็นช่างไม้ ยังไงมันก็ต้องเกี่ยวกับงานสร้างสรรค์ เพราะเราขาดสิ่งนี้ไม่ได้ เราชอบทำสิ่งนี้ มันเป็นวิถีชีวิตไปแล้ว แค่บังเอิญที่่ผ่านมา 20 ปีเราใช้กล้อง

อีกอย่างคุณต้องเข้าใจด้วยว่า จริงๆ แล้วเราเป็นคนชอบความสันโดษ เรามีเพื่อนอยู่แค่นิดเดียว สนิทกันกินข้าวกัน พูดคุยปรึกษาอะไรกัน แล้วส่วนใหญ่ก็อยู่กับแฟน แต่ไอ้กิจกรรมการทำหนังเกือบทั้งกระบวนการมันต้องอยู่กับคนจำนวนมาก พอถึงวันหนึ่งเราก็ถวิลหาการได้ทำสิ่งเดียวกัน ด้วยสื่อกลางที่เราทำได้สงบๆ อยู่คนเดียว มันอาจจะดีกว่าด้วยซ้ำใช่มั้ย มีเรื่องอยากเล่าก็ได้เล่า เพียงแค่สื่อกลางมันเปลี่ยนไป

ถ้าอย่างนั้นไอ้ที่เคยเชื่อว่าชีวิตเกิดมาเพื่อทำภาพยนตร์มันก็ไม่จริงแล้ว

มันจริงในช่วงเวลาหนึ่ง คือคุณต้องเข้าใจว่ามันไม่มีอะไรที่คงอยู่ไปตลอด แต่เราคิดว่าตัวตนหรือความคิดมันจะยังคงอยู่ สมมติอยู่ๆ วันหนึ่งเราเริ่มอาชีพใหม่ สมมติกูอยากวาดการ์ตูนเล่าเรื่อง เชื่อสิ ไอ้การ์ตูนที่เราทำออกมามันก็จะไม่เหมือนชาวบ้านอยู่ดี มันก็จะมีทุกอย่างเหมือนที่เราทำหนัง เราก็มีคำถามกับมันว่าทำไมต้องทำแบบนี้ด้วย ทำไมไม่ทำแบบนั้นวะ เพราะว่าตัวตนเรามันไม่เปลี่ยนหรอก

เป็นเอก รัตนเรือง

Writer

Avatar

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

อดีตบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ The Cloud และเจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่มชื่อ เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น, Lonely Land ดินแดนเดียวดาย, The Fairy Tale of Underfox และ รักเขาเท่าทะเล

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล