ภายในห้องประชุมฟิล์มแฟกตอรี่ – กลางวัน

10 โมงเช้า, อดีตก๊อปปี้ไรเตอร์หญิงและอาร์ตไดเรกเตอร์ชายนั่งอยู่ด้วยกัน มีกาแฟดำคนละถ้วยอยู่ในมือ เธอสวมชุดดำสนิท แว่นดำ และรองเท้าบูทปลายแหลม ปากแดงสดจิบกาแฟอย่างสง่างาม ส่วนเขาสวมเสื้อยืดกับกางเกงขาสั้น นั่งท่าสบายๆ เหมือนอยู่บ้าน

พวกเขาเคยเป็นเพื่อนร่วมงานกันสมัยทำงานโฆษณาที่ Leo Burnett แต่เพิ่งมาพบกันใหม่เร็วๆ นี้

ก๊อปปี้ไรเตอร์หญิง แหม่ม-วีรพร นิติประภา กลายเป็นนักเขียนซีไรต์จากนวนิยายเล่มแรกในชีวิต ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต

ส่วนอาร์ตไดเรกเตอร์ชาย ต้อม-เป็นเอก รัตนเรือง กลายเป็นผู้กำกับหนังระดับนานาชาติ หนังเรื่องล่าสุดของเขา Samui Song – ไม่มีสมุยสำหรับเธอ กำลังเดินสายฉายทั่วโลก

ตัดภาพไปที่ผู้ชมรอบๆ ห้อง สายตาของพวกเขาเต็มไปด้วยความสงสัย

‘วัยรุ่นอายุยี่สิบกว่าๆ 2 คนผ่านอะไรมา ทำงานอย่างไร แล้วกลายมาเป็นคนทำงานสร้างสรรค์ระดับแถวหน้าของเมืองไทยได้อย่างไร’

เขาและเธอมองหน้ากัน

ถ้วยกาแฟพร่องแล้ว 2 ถ้วยถูกวางลงบนโต๊ะ

เรื่องมันเริ่มต้นที่บริษัทโฆษณา

วีรพร นิติประภา, เป็นเอก รัตนเรือง

จุดเริ่มต้นที่คุณสองคนรู้จักกันคือตอนไหน

แหม่ม : ตอนเป็นคนข้างคอกกันที่ Leo Burnett ที่นั่นจะเป็นคอกๆ เหมือนซองม้า เราได้ยินเสียงเป็นเอกอยู่ตลอดเวลา แต่ว่าไม่ได้คุยกันหรอก เพราะสมัยนั้นงานหนักมาก

ต้อม : แต่แหม่มอยู่แป๊บเดียวเอง ไม่นาน

แหม่ม : อยู่ก่อนต้อมเข้ามาหน่อยหนึ่ง

ต้อม : เฮ้ย ไม่ใช่ แหม่มมาทีหลังเรา เราอยู่ก่อน เราจำได้

แหม่ม : (หัวเราะ) พอ 30 ปีผ่านไป เราก็เริ่มตีกันว่าอะไรใช่ไม่ใช่

คุณสองคนทำงานด้วยกันรึเปล่า

แหม่ม : เปล่า ถ้าอยู่กลุ่มเดียวกัน ป่านนี้บีบคอกันไปนานแล้ว เราไม่ค่อยได้คุยกัน มันจะมีคนที่สนิทกับคนง่าย กับคนที่ไม่สนิทกับใครในบริษัทโฆษณาทั่วๆ ไป แล้วเราสองคนก็จะเป็นพวกไม่สนิทกับใคร

ต้อม : ไม่ เราสนิทกับทุกคนหมดยกเว้นแหม่ม (หัวเราะ) แล้วพวกที่ไม่สนิทกับใครก็ชอบมาคุยกับเรา ชอบเอาความลับมาบอกเรา

แหม่ม : ส่วนเราไม่คุยกับใคร เราอยู่ที่นั่นประมาณปีหนึ่ง แล้วก็ไม่เข้ากับอะไรเลย

ต้อม : เราชอบทุกอย่างที่นั่นหมดเลย ได้ทำงานแบบครีเอทีฟ สนุกดี แล้วก็มีผู้หญิงสวยๆ ให้เราดู เรามีความสุขมาก งานแม่งก็ไม่ได้ซีเรียสมาก เหมือนเล่น ได้คุมถ่ายรูป (หันไปมองหน้าพี่แหม่ม) แหม่มได้รางวัลบ่อยนะตอนเขียนก๊อปปี้ เราจำได้ว่าก่อนมาทำโฆษณา แหม่มเป็น บ.ก. หนังสือเกย์

แหม่ม : (หัวเราะ) ชอบใช่ไหม เป็นแฟนคลับใช่ไหมล่ะ

ต้อม : ชอบตอนที่รู้จักกันที่นั่น รู้สึกว่าคนนี้มีแบ็กกราวนด์น่าสนใจดีว่ะ

วีรพร นิติประภา, เป็นเอก รัตนเรือง

วีรพร นิติประภา, เป็นเอก รัตนเรือง

หลังจากไม่เจอกันนานมาก พบว่าคนหนึ่งได้ซีไรต์ อีกคนทำหนัง คิดว่ามันเหลือเชื่อไหม ถ้าย้อนมองไปในวันที่เจอกัน

ต้อม : ก็เซอร์ไพรส์นะ ไม่ใช่ในแง่ที่แหม่มไม่น่าทำได้ แต่เซอร์ไพรส์ว่าเรารู้จักคนที่ได้ซีไรต์คนนี้ด้วย ตอนแรกเรายังไม่รู้ชื่อจริงแหม่มเลย เรียกแต่ชื่อเล่นมาตลอด

แหม่ม : แต่เราไม่เซอร์ไพรส์นะ เราเห็นเขาเป็นคนแวววาวตั้งแต่เล็กๆ เป็นคนมีอะไร ตอนนั้นเราเห็นนักโฆษณาแก่ๆ เรารู้ว่าต้อมจะไม่ไปจบที่ตรงนั้น

ต้อม : เราสนุกกับการทำงานโฆษณา แต่เราไม่ได้เชื่อในมันไง มันเป็นที่ที่ให้เราเล่นได้ แต่เราเกลียดโฆษณาจะตาย โฆษณาห่าอะไรก็ทำให้เราเชื่อไม่ได้ มาหลอกกันชัดๆ  แต่นั่นก็เป็นเหตุผลที่ทำให้เราเหมาะกับงานนี้ เราจะรู้ว่าเวลาทำแล้วคนไม่เชื่อจะรู้สึกยังไง แต่เขาก็หลอกกันไปมาระหว่างเอเจนซี่โฆษณากับลูกค้าว่าคนเชื่อ แต่จริงๆ คนไม่เชื่อหรอก

แล้วสูตรการสร้างความเชื่อคืออะไร

ต้อม : ทำหน้าตาย มาสายก็บอกว่ารถติด โกหกหน้าตาย ยังไงใครก็เชื่อ ถ้าเราไม่เชื่อคือเราไม่ซื้อสิ่งที่เห็น พอไม่ซื้อก็ยากที่จะเข้าไปในโลกนั้น

แหม่ม : เราปูพื้นหลัง โน้มน้าวเขาตั้งแต่ต้นว่านี่คือเรื่องจริง มีความจริงของเรื่อง มีต้นไม้ มีแมว ถึงนิยายเราทุกคนเวอร์วัง เยอะ ดราม่า แต่มันเป็น reality ของคนกลุ่มนี้

พอไม่ได้เป็นเด็กๆ แล้ว การทำเรื่องแฟนตาซียากขึ้นมั้ย

แหม่ม : โห คนแก่ก็ฝัน ดูโฆษณาทีวีสมัยนี้สิ อาจจะหนักข้อกว่า เข้าขั้นเฟอะฟะขึ้นด้วย

ต้อม : เราว่าคนที่มันไม่มีแฟนตาซี มันก็ไม่มีแต่เด็กแล้วนะ

วิธีทำให้คนเชื่อของคนทำหนังยากกว่ารึเปล่า เพราะเรียกร้องการทำงานจากคนหลายกลุ่ม

ต้อม : จริงๆ งานเขียนอาจจะยากกว่านะ แค่แหม่มไม่ต้องจ้างคนมาสร้างฉากให้ สร้างเองในหัว เราต้องจ้างคนมาตอกตะปู เลื่อยไม้

แหม่ม : หนังสือมันทิ้งสเปซให้คนอ่านเพ้อเจ้อไปเองได้ด้วย ในขณะที่ของเป็นเอก บ้านเป็นอย่างนี้ก็เป็นอย่างนี้ให้เห็นเลย ของเราอาจจะบ้านทำด้วยอิฐ จบ สีอะไร ใหญ่เท่าไหร่ ก็ไม่ได้บอก ไปคิดเอง

ต้อม : ของเราขนาดกำหนดได้ขนาดนั้น คนดูบางคนยังบอกว่างงเลย

แหม่ม : ของเราคนก็งง (หัวเราะ)

วีรพร นิติประภา, เป็นเอก รัตนเรือง

วีรพร นิติประภา, เป็นเอก รัตนเรือง

คนที่เสพงานของพวกคุณแล้วงง ควรทำความเข้าใจเรื่องอย่างไร

ต้อม : ความงงก็ไม่ได้แย่นะ สมมติไปดูหนังเราอาจจะไม่ต้องคิดตามมันมาก ปล่อยตัวเองไปกับมัน คิดมากไปบางทีก็งง บางทีมันสื่อเท่าที่เห็นแค่นั้นแหละ แต่เราถูกสอนมาให้มองหาและเสพแต่สิ่งที่สำเร็จรูป

แหม่ม : นี่เป็นปัญหาของการทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ ของสังคมและประเทศเราด้วย บางทีพวกที่บอกว่างงๆ เขาก็เข้าใจอยู่ แต่ทำไมต้องการสรุปความเข้าใจเป็นหนึ่งประโยค ในขณะที่ความจริงมีอยู่ 10 ชุด คุณต้องการข้อสรุปอันเดียว จะได้ยังไง

สิ่งนี้เป็นปัญหาสำหรับคนทำงานศิลปะรึเปล่า

ต้อม : ไม่ได้เป็นปัญหาของเรานะ เป็นปัญหาของเขา เขางง เขามีปัญหา เราไม่ได้มีปัญหา ถ้าเขาไม่ชอบเนี่ย อาจจะมีปัญหา แต่ของเราคนดูส่วนมากยังไปไม่ถึงจุดนั้นเลย ยังไม่รู้เลยว่าชอบหรือไม่ชอบ หยุดอยู่ตรงขั้นงง

แหม่ม : เราเข้าใจว่าการทำงานที่สร้างคำถามได้ จะคำถามโง่หรือฉลาดก็ตาม มันโอเคแล้ว ส่วนคำตอบมันไม่ใช่หน้าที่ของคนทำงานเว้ย

เป็นเอก รัตนเรือง

เวลาสร้างงาน ตั้งใจทำให้มันคลุมเครือตั้งแต่แรกเลยรึเปล่า หรือมี message แต่ไม่อยากพูดตรงๆ ออกมา

ต้อม : เราไม่มี message ตอนคิดนะ ตอนคิดคือถึงเวลาทำหนังแล้ว เรื่องนี้มาจากไหน ก็มาจากสิ่งที่มันตกตะกอนค้างๆ ในหัวนี่แหละ แล้วก็ดูว่าเรื่องในชีวิตมีอะไรมาประกอบเป็นหนัง ถ้าทำวิธีนี้ message ไม่มีทางมี ถ้าจะมีก็หลังทำเสร็จแล้ว เช่น หนังเรื่องนี้ดูเป็น feminist ถ้าทำหนังแบบสตูดิโอ เขาอาจจะมี message ก่อนแล้วค่อยทำตามนั้น ของเรามันเละๆ หน่อย

ประเด็นมันอยู่ตรงสิ่งที่วางแผ่ให้คนดู ประสบการณ์ชีวิตคนดูต่างกันก็ตีความต่างกัน แต่เราหวังความสนุกในการดู เพราะหนังทำเสร็จก็ไม่ได้เก็บไว้ที่บ้าน ต้องไปปะทะกับคนดู มันถึงจะครบวงจร สนุกของเราไม่ได้หมายความว่าต้องหัวเราะนะ เราแค่ก็กลัวเรื่องน่าเบื่อ กลัวคนหลับหรือเสียสมาธิไปคิดเรื่องอื่น เราก็อยากให้คนดูอยู่กับเรา ต้องต่อสู้มากในหนังทุกเรื่อง วิธีการเสพมันต่างกับหนังสือ การดูหนังในโรง ทุกคนมีเวลาเข้าไปนั่งเท่ากันหมด

คุณเริ่มต้นด้วยการมี message หรือเริ่มต้นด้วยการคำถาม

แหม่ม : เหมือนต้อมนะ เราจำเป็นต้องกลับมาเกลี่ยตอนเขียนเสร็จแล้ว เอาเข้าเอาออก ตัดต่อ ตอนทำครั้งแรกก็จะเละๆ ก่อน แต่วิธีการทำงานมีหลายแบบ บางคนตั้งไว้เลยว่าบทที่หนึ่งจะพูดเรื่องนี้ บทที่สองจะพูดเรื่องนี้ ตอนจบก็ตั้งไว้แล้ว แต่เราทำไม่ได้ การรับรู้มันควรเป็นธรรมชาติกว่านั้น เหมือนเวลาที่เราเดินไปตลาด คนนี้พูดอย่าง คนนั้นพูดอย่าง แล้วนี่คือวันของวีรพร นี่คือนิยาย 1 เล่ม วันและเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องสะอาดเป็นระเบียบขนาดนั้น ทุกวันนี้ข้อมูลมันเป็นคอลลาจ ทำไมต้องไปจัดมัน เราเล่าเรื่องจากการชอบสังเกตคน เรานั่งดูคนเป็นวันๆ ได้โดยไม่ทำห่าอะไร

ต้อม : เราก็ชอบนะ ชอบสังเกต ชอบฟังคนเวลาคุยกัน

แหม่ม : ชอบอยู่แล้ว ถ้าดูหนังเขาคุณจะรู้เลย หนังเขาบอกเลยว่าเป็นคนสังเกต มีรายละเอียดเยอะ

ต้อม : เรื่องน้อย รายละเอียดเยอะ (หัวเราะ)

แหม่ม : มันเป็นความผิดพลาดที่คนคิดว่ารายละเอียดไม่ใช่ตัวเล่าเรื่อง รายละเอียดต่างหากที่เป็นตัวเล่าเรื่อง เผลอๆ ตัวโครงไม่ได้เล่าอะไรเลย

ต้อม : โครงมันก็มีอยู่แค่ 10 โครง เหมือนกันทุกเรื่อง มันมีเรื่องไหนที่มนุษย์ยังไม่ได้เล่าอีกล่ะ ไม่มี เล่ามาหมดแล้วทุกเรื่อง แค่เล่าต่างกัน แล้วแต่คนทำ หนังสือแหม่มรายละเอียดโคตรเยอะเลย หมอนยังพูดได้ตั้ง 1 ย่อหน้า แบบแหม่มเอางี้หรอ หมอนเนี่ยนะ (หัวเราะ)วีรพร นิติประภา, เป็นเอก รัตนเรือง

คนทำงานศิลปะเรียกร้องอารมณ์ศิลปินในการทำงานรึเปล่า

แหม่ม : บ้า เรียกร้องการทำต่างหาก ทำเข้าไป เราเริ่มชีวิตที่เอเจนซี่ คุณไม่มีสิทธิ์อกหัก ไม่มีสิทธิ์ตาย แอคเคานต์หนึ่ง 300 ล้าน บางทีมีคุณค่ามากกว่าชีวิตเราอีก ถึงเวลางานก็ต้องออก ถ้าไม่ออกหรือส่งงานที่ไม่มีคุณภาพ งานมันก็เด้งกลับมาใหม่ วิธีการก็คือกระโดดถีบให้มันออกให้ได้ อย่าคิดว่าวันนี้อกหัก เซ็ง ไม่อยากทำงาน ไม่ได้เลย

ต้อม : เราใช้วิธีเดียวกัน ของเรานั่งที่โต๊ะแล้วก็กระทืบมันออกให้ได้วันละ10 หน้า 10 หน้า เรากระทืบบทออกมาจนได้ 70 หน้าภายในเวลา 3 อาทิตย์ ตอนแรกมันก็ห่วยนะ แต่อย่างน้อยมีห่วยมาวางไว้ก็ดีกว่า แล้วเราก็ปรับ ตรงไหนไม่เวิร์กก็แก้ ปั้นไปเรื่อยๆ

แหม่ม : ตายล่ะ เก่งกว่า ของเรา 3 ปี ไม่มีทางหวังว่าจะเขียนเป็นพรืดแล้วเสร็จ ส่งสำนักพิมพ์ได้เลย มันทำได้แค่ร่าง แรเงา ลงสีไปเรื่อยๆ

ต้อม : ของเรามันจะมีอีกขั้นหนึ่ง บางทีเสร็จแล้วต่อให้ยังไม่ได้ดีขนาดนั้น แต่มันใช้หาเงินและทำงานได้ ระหว่างที่หาโลเคชันอยู่ บางทีเราไปเจอโลเคชันใหม่ ก็เปลี่ยน ถ้าเราชอบ ทุกอย่างก็จะเปลี่ยนไปหมด ไปเจอนักแสดงที่ชอบ ไม่ได้ตรงกับบทเลยแต่ว่าอยากได้คนนี้ น่าสนใจ ดูเป็นคนมีอะไร ก็แก้ให้เข้ากับเขา แก้ไปแก้มาอาจจะแย่ลงเรื่อยๆ แต่บางทีมันก็ดีขึ้น เพราะคนนี้เสือกเอาอะไรมาที่เราคิดไม่ได้มาให้

แหม่ม : สรุปก็ 3 ปีเท่ากัน

ต้อม : ใช่ ของเราต้องหาเงินอีกนะ

แหม่ม : ถ้าคุณคิดว่าคุณไม่ได้รับอนุญาตให้ตัน คุณก็ไม่ตันหรอก คนที่ เฮ้ย ไม่มีอารมณ์เขียน โห มึงจะรออารมณ์อะไร เราไม่มีแบบนั้น

วีรพร นิติประภา, เป็นเอก รัตนเรือง

แต่การทำงานแบบนี้ต้องใช้แรงบันดาลใจจากชีวิต มีหมดมุกกันบ้างไหม

ต้อม : บางทีมันก็ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของเราไง เรื่องของชาวบ้านที่เราสนใจ ตราบใดที่ยังมีคนคุยกับเราอยู่เรื่อยๆ ยังไงมันก็ไม่หมด วันก่อนคุยกับคนก็แบบ โห คืนนี้นอนหลับแล้วว่ะ วันนี้ได้เรื่องหนึ่งแล้ว

ฟังดูแล้วขัดกับภาพลักษณ์ที่ดูมีความเป็นศิลปินสูง พวกคุณทำงานอย่างมีวินัยมาก 

แหม่ม : มาก คนทำงานไม่มีเวลามาทำตัวติสท์หรอก

ต้อม : งานของเราต้องใช้เงินมหาศาล พึ่งเงินทุนคนอื่นเป็นล้านๆ เราไม่มีเงินจำนวนนั้น ยิ่งต้องมีวินัยมากๆ บอกเขาไว้ว่า 31 ตุลาจะส่งบทร่างแรก เราก็จะส่งเป๊ะๆ ถ้าเรารู้ว่า 2 เดือนข้างหน้าเราต้องทำงานชิ้นนี้ให้เสร็จ เราก็จะหยุดเที่ยวตอนกลางคืน ใครโทรมาชวนไปกินเหล้าก็ไม่ไป ไปไม่ได้ พรุ่งนี้ต้องตื่นมานั่งที่โต๊ะแล้วทำ

ต้นทุนของคนทำหนังคือเงิน แล้วต้นทุนของการเป็นนักเขียนคืออะไร

แหม่ม : ความเดียวดายมหาศาล โดยปกติเราจะไม่คุยกับใครเลยระหว่างทำงาน ไม่คุยว่าเรากำลังทำเรื่องนี้แบบนี้นะ เราก็จะเก็บคนเหล่านี้ไว้ แบกไว้จนถึงจุดหนึ่งแล้วพิจารณาว่าเรื่องสมเหตุสมผลมั้ย อย่าง ไส้เดือนฯ ตอนจบมีตัวละครหายไป จริงๆ ก็ตายนั่นแหละ แต่หลังจากที่คุณสร้างตัวละครที่โคตรรักชีวิต รักผู้ชาย ปลูกต้นไม้ เลี้ยงแมว ฟังเพลง จะให้เห็นเขาตายจริงๆ มันไม่สมเหตุสมผลทางความรู้สึก แล้วคุณเป็นคนเดียวเท่านั้นที่จัดการตรงนี้ได้ ในงานเขียนมันจะเหลือคุณคนเดียวเสมอ

มันมีช่วงที่เอาหัวโขกกำแพงเรื่อยๆ ไปทีละกำแพงเหมือนกันนะ ไม่พูดกับผัว 3 เดือน ผัวพูดกับแมวก็ไม่ได้ เราจะบอกให้เขาเงียบๆ

แล้วเวลาคุณอยู่กับงานหนังเป็นแบบนี้ไหม

ต้อม : ไม่นะ แต่ถ้ามันเป็นช่วงที่วิกฤตจริงๆ เราก็ไม่ยุ่งกับโลกภายนอก ปกติก็ยุ่งน้อยอยู่แล้ว เลยไม่ค่อยมีปัญหา แล้วโลกภายนอกเขาก็ไม่ค่อยอยากจะดีลกับเรา เคยเจอโน้ต อุดม ครั้งหนึ่ง ดีใจมาก ไม่ได้เจอกันตั้งนาน ก็ไปกินเบียร์กัน เสร็จแล้วโน้ตก็เล่าให้ฟังว่าไปทำอะไรมา เราก็ถามว่าทำไมมึงไม่ชวนกูวะ กูอยากไป โน้ตก็บอกว่าผมไม่ค่อยกล้าโทรหาพี่ ผมมีความรู้สึกว่าพี่อาจจะยุ่ง ทุกวันนี้เรามีภาพว่ายุ่งอยู่ตลอดเวลา ซึ่งไม่นะ ยุ่งน้อยแล้ว ทำงานน้อยมาก ยกเว้นช่วงนี้ที่เดินทางไปเทศกาลหนังไม่หยุด

แหม่ม : หนังจะเข้าไทยเมื่อไหร่

ต้อม : 1 กุมภาฯ ปีหน้า แต่ฉายเมืองนอกแล้วนะ

แหม่ม : เสียงตอบรับดีไหม

ต้อม : ดีนะ โอเค ก็ตามสูตร ตื่นเต้น สนุก ตื่นเต้น แล้วตอนจบก็…งงฉิบหาย!

วีรพร นิติประภา, เป็นเอก รัตนเรือง

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan