2560 เป็นปีพิเศษของ เป็นเอก รัตนเรือง

วาระแรก เขาทำหนังมาครบ 20 ปี นับจากการเปิดตัวหนังเรื่องแรก ฝัน บ้า คาราโอเกะ

วาระที่สอง เขาเปิดตัวหนังเรื่องที่ 10 ไม่มีสมุยสำหรับเธอ หรือ Samui Song ในเทศกาลหนังทั่วโลก ก่อนจะวนมาเข้าฉายในเมืองไทยวันที่ 1 ก.พ. 2561

วาระที่สาม เขามาทำโปรเจกต์เล็กๆ สนุกๆ กับ The Cloud ด้วยการชวนคนที่เขาสนใจมานั่งคุย แล้วเรียบเรียงกลายเป็นคอลัมน์นี้

รายชื่อของบุคคลในวาระที่ 3 นั้นยาวเป็นหางว่าว แต่เวลาว่างของเขากลับสั้นอย่างน่าตกใจ

ในช่วงเกือบ 2 เดือนที่เรานัดหมายกัน ตารางนัดหมายของเขาเต็มไปด้วยคิวเดินทาง ทั้งไปร่วมเทศกาลหนัง ไปต่างประเทศ และไปปฏิบัติธรรม เวลาว่างของเขามีแค่ 2 วัน

“ถ้าเป็นช่วงก่อนหน้านี้เนี่ย นอนอยู่บ้านทั้งเดือน” ผู้กำกับวัย 55 ปีบอกพร้อมเสียงหัวเราะ

คนแรกที่ ต้อม-เป็นเอก รัตนเรือง อยากคุยด้วยคือ โต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล ผู้กำกับหนังพันล้าน ซึ่งได้ชื่อว่า ทำหนังดีได้ป๊อปที่สุดในประเทศไทย

ต้อมและโต้งทำหนังกันมาคนละหลายเรื่อง และพวกเขาเหมือนกันหลายเรื่อง

พวกเขาเริ่มต้นจากการเป็นผู้กำกับหนังโฆษณา กลายมาเป็นคนทำหนังที่โด่งดังระดับโลก ใช้ชีวิตเดินสายตามเทศกาลหนังเหมือนกัน ทำหนังคุณภาพเหมือนกัน และเป็นแรงบันดาลใจให้คนทำหนังเหมือนกัน

ต่างกันบ้างก็แค่…

ต้อม โต้ง โต้ง ต้อม

กลับจากเทศกาลหนังเมื่อวาน ไปอีกเทศกาลพรุ่งนี้

The Cloud : บรรยากาศเทศกาลหนังที่อินเดียเป็นยังไงบ้าง

ต้อม : เป็นเทศกาลหนังที่โกลกาตา เขาติดต่อเรามา 2 ปีแล้วว่าอยากฉายหนังเราแบบ Retrospective วันละเรื่อง มันคือการฉายที่ทำให้เห็นการเดินทางของผู้กำกับคนหนึ่งว่าเริ่มยังไง เปลี่ยนแปลงไปยังไง แรกๆ ก็ทำหนังสนุกดี แล้วน่าเบื่อขึ้นเรื่อยๆ แต่หนังที่น่าเบื่อหรือสนุกของมันก็มีอะไรบางอย่างที่ดูแล้วพอจะรู้ว่าทำโดยคนคนเดียวกัน

โต้ง : คนที่มาดูเป็นใคร

ต้อม : ชาวบ้านเลย ไม่ค่อยมีคนเก๋หรอก มีคอหนังบ้าง กลุ่มนักหนังสือพิมพ์บ้าง มีตั้งแต่เด็กยันแก่ คนอินเดียดูหนังกันโคตรคุ้มเลย โรงเต็มแล้วก็นั่งพื้น พื้นเต็มก็ยืน ที่นั่งพื้นก็กินข้าวไปด้วยนะ

The Cloud : คนดูเข้าใจไหม

ต้อม : ก็เป็นเรื่องๆ ไป เรื่องที่คนชอบสุดคือ มนต์รักทรานซิสเตอร์ กับ เรื่องตลก 69

The Cloud : ช่วงนี้เดินสายเทศกาลหนังบ่อยนะ

ต้อม : พอมี Samui Song เราจำเป็นต้องไปแค่ 3 ที่เท่านั้น ที่เวนิซเป็นเป็นรอบ World Premier ที่โตรอนโตเป็น North America Premier ปูซานก็เป็น Asian Premier ส่วนอินเดียเป็นความชอบส่วนตัว ใครเชิญเราก็ไป พรุ่งนี้เราจะไปเทศกาลหนังของทาเคชิ คิตาโน เป็นเทศกาลหนังอาร์ตโคตรๆ เราต้องไปทำโปรแกรมช่วยเป็นเมนเทอร์ให้ผู้กำกับหน้าใหม่ด้วย อยู่ที่นั่น 8 วัน ปัญหาคือเราไม่อยากไปเทศกาลหนังแล้ว ชีวิตมันเปลี่ยนไปแล้ว ไม่สนุกเหมือนเมื่อก่อนแล้ว เราไม่ได้อยากไปปาร์ตี้แล้ว แฟนก็มีเป็นตัวเป็นตนแล้ว แก่แล้ว มีหมา เราก็คิดถึง ไม่อยากเดินทาง ก็ไปเฉพาะงานที่จำเป็นจริงๆ อย่างพวกเพื่อนต่างชาติที่ช่วยเหลือกันสมัยเราทำหนังเรื่องแรก ตอนนี้ก็กลายเป็นใหญ่เป็นโตตามเทศกาลหนังกันหมดแล้ว ถ้าเขาชวนเราก็ต้องไป

The Cloud : โต้งเดินสายบ่อยไหม

โต้ง : ตอนนี้ไม่มีแล้วครับ ช่วง พี่มากฯ นี่เยอะมาก บินจนได้บัตรโกลด์ กลับมาวันหนึ่งก็ต้องไปต่อ ตอน แฟนเดย์ฯ ไม่เท่าไหร่ หนังผมไปแต่ญี่ปุ่นเลย พี่มากฯ ได้ไปฉายที่ญี่ปุ่น 4 เทศกาล มีเทศกาลหนังตลกที่โตเกียว หนังประวัติศาสตร์ที่เกียวโตด้วย แล้วก็เทศกาลหนังผี

The Cloud : ชอบอะไรที่สุดในเทศกาลหนัง

โต้ง : ตอน กวน มึน โฮ ไปฉาย เขาเตือนก่อนเลยว่าคนญี่ปุ่นไม่หัวเราะเหมือนที่อื่นนะ ญี่ปุ่นเป็นประเทศปราบเซียนหนังตลก มุกที่ทุกประเทศขำก๊ากแทบจะกระทืบโรง คนญี่ปุ่นจะหึๆ เสียเซลฟ์มาก แต่เขาร้องไห้หนักกว่าชาติอื่นๆ นะ เสียงร้องไห้ดังกว่าเสียงหัวเราะ พี่มากฯ ไปฉาย 4 เทศกาล ผมลุ้นมากว่าจะหัวเราะดอกไหน มุกที่ทั้งโลกตบมือกันลั่น เช่น ตอนชินตกบันไดที่ฝันซ้อนฝัน คนญี่ปุ่นก็หึๆ มีก๊ากอย่างมาก 2 คน เทศกาลส่วนใหญ่ที่ผมไปไม่อาร์ตเท่าของพี่ต้อม

The Cloud : บรรยากาศเทศกาลหนังที่โต้งไปเป็นยังไง

โต้ง : ก็เป็นเทศกาลหนังทั่วไป แต่เทศกาลอย่าง Fantasia International Film Festival ก็บ้าสุดถึงขั้นเรื่อง แฝด ของผมมีฉากที่หมาของมาช่าโดนรถเหยียบ คนกรี๊ดปรบมือลั่นเลย คือชอบมาก ถ้ามีฉากผีหลอกแล้วสะดุ้งได้ คนดูจะลุกขึ้นยืนปรบมือเลย ทั้งเรื่องลุกเป็นสิบที นี่มันเทศกาลบ้าอะไรวะ (หัวเราะ)

ต้อม : มีพวกโปรแกรม Midnight Madness ในเทศกาลหนังต่างๆ ด้วย เริ่มที่โตรอนโต มันเป็นอย่างที่โต้งบอกคือ คนเข้ามาปลดปล่อย รถทับหมาคาตา เหมือนหนังปาร์ก ชุน วุก ที่เอามีดแทงปั้กๆๆ ส่วนมากจะเป็นหนังที่มีฉากที่มีความรุนแรง

ต้อม เป็นเอก รัตนเรือง

คนทำหนังผีที่ไม่กลัวผี แต่ไม่ดูหนังผี

ต้อม : โต้งเอนจอยกับการไปเทศกาลหนังไหม

โต้ง : แล้วแต่อันเลย ส่วนใหญ่ก็เอนจอยนะ สมัยที่ผมทำหนังผีได้ไปเทศกาลประหลาดๆ เยอะ เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยแล้ว ไปแนวญี่ปุ่นแทน แนว Fantasia เนี่ยเอนจอยมาก แต่ถ้าไปเทศกาลที่หนังอื่นๆ มาซีเรียสหมดเลย ผมจะนอยด์ๆ นิดหนึ่ง มันใช่ที่ทางของเราหรือเปล่าวะ หนังคนอื่นเขาควรค่าแก่รางวัลเหลือเกิน หนังเราผีตุ้งแช่ทุก 5 นาที (หัวเราะ) ช่วงนั้นกระแสหนังผีเอเชียกำลังมา ทั้ง The Eye ทั้ง Ringu แล้วฮอลลีวูดก็เริ่มรีเมกหนังผีเอเชีย ผมไปแล้วมีคนนัดกินข้าวเยอะมาก เยอะจนงงเลย

ต้อม : เราว่าหนังผีเอเชียมาจบลงตอนที่เราทำ นางไม้ (หัวเราะ)​ เป็นหนังผีที่คนดูคิดว่า นี่ผีแล้วเหรอ

The Cloud : ตอนทำนางไม้ ตั้งใจจะให้เป็นหนังผีไหม

ต้อม : มันเป็นหนังเกี่ยวกับความสัมพันธ์ เราคิดว่าเป็นหนังผีแน่ๆ แต่ไม่ใช่ผีน่ากลัว ออกแนวหนังลึกลับมากกว่า ว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อ เห็นหรือไม่เห็น เราทำหนังเรื่องนี้จากภาพผู้ชายคนหนึ่งยืนเอากับต้นไม้อยู่ กางเกงกองอยู่ที่ข้อเท้า มันเป็นภาพที่ปรากฏขึ้นมาในหัวเรา เรามีภาพอะไรแบบนี้อยู่เต็มไปหมด เดี๋ยวมันก็หายไป แต่่บางภาพอีกสองสามวันมันก็จะกลับมาใหม่

โต้ง : มีเรื่องอื่นที่ทำจากวิธีนี้อีกไหม

ต้อม : เรื่องตลก 69 อีกเรื่อง เราเห็นภาพกระเป๋าเดินทางวางอยู่หน้าห้องบ่อยมาก ไม่ได้ฝันนะ บางทีนั่งคุยอยู่ก็เห็น ไม่รู้เรียกว่าอะไร

โต้ง : ปกติพี่ดูหนังผีไหม

ต้อม : ไม่ดูเลย เราไม่ได้กลัวผีนะ แต่เราไม่ชอบอาการ เฮ้ย! ไม่ได้กลัวนะ แต่โห เล่นงี้กูก็ต้องตกใจดิ มันเหมือนไปร้านอาหารแล้วกินเผ็ดเยอะๆ ไม่รู้กินทำไม

โต้ง : หนังผีแบบตุ้งแช่เนี่ย ผมเนี่ยโคตรชอบเลย (หัวเราะ)

เป็นเอก โต้ง บรรจง

ไอ้พังก์คนนั้นคงหายไปแล้ว คงกลายเป็นผู้ใหญ่ที่เข้าใจมนุษย์แล้ว แต่ไม่เลย

The Cloud : การที่ทั้งคู่ทำหนังโฆษณามาก่อน ส่งผลกับการทำหนังใหญ่ยังไงบ้าง

โต้ง : ถ้าผมไม่ได้ทำที่ฟีโนมีนามาก่อน หนังใหญ่ผมไม่มีทางสำเร็จเท่านี้ พี่ต่อ (ธนญชัย ศรศรีวิชัย)​ สอนให้คิด ไอเดียมีเท่านี้ จะขยี้ไปให้ไกลสุดได้แค่ไหน อย่าง ชัตเตอร์ฯ นี่คือวิธีคิดแบบโฆษณามาก ไอเดียคือภาพถ่ายติดวิญญาณ แล้วเราจะตีให้มันว้าวได้แค่ไหน การคิดแบบโฆษณาช่วยได้มาก เพราะผมทำหนังพาณิชย์ด้วย คนชอบถามว่า ผมมีโปรเจกต์ส่วนตัวที่อยากทำไหม ที่ไม่ต้องแคร์เรื่องเงิน คือว่าหนังที่ผมทำอยู่ทุกวันนี้ก็ส่วนตัวอยู่แล้วนะ (หัวเราะ)

ต้อม : เหมือนคนชอบมาบอกเราว่า ทำไมพี่ไม่ทำหนังตลาดสักเรื่อง พี่ก็ทำได้นะ คือหนังกูเนี่ยตอนเริ่มต้นโปรเจกต์กูคิดว่าตลาดทุกเรื่องนะ ไม่ได้พูดเล่นนะ เราคิดเหมือนโต้ง แต่ผลลัพธ์มันตรงกันข้าม (หัวเราะ)

โต้ง : การจับคู่มาคุยกันวันนี้มันใช่มาก (หัวเราะ)

ต้อม : หนังโฆษณาช่วยเรา 2 เรื่อง เรื่องแรก ประสิทธิภาพในกองถ่ายเรานี่ไม่แพ้ใคร เพราะกองถ่ายโฆษณามันต้องมีประสิทธิภาพจริงๆ มีเวลาถ่าย 2 วัน ต้องถ่ายให้ครบเพื่อเล่าเรื่องให้ได้ อีกเรื่องตรงข้ามกับโต้ง เราอึดอัดกับโลกของโฆษณามาก ทุกช็อตต้องน่าสนใจหมด ต้องตัดเร็ว ต้องคม โฆษณาเป็นสื่อที่ต้องการความป๊อปปูลาร์ ยิ่งป๊อปคุณก็ยิ่งประสบความสำเร็จ เราอยู่ในอุตสาหกรรมนี้มายี่สิบกว่าปี พอเราได้ทำหนังไทย เข็มเราตีกลับเลย ถ้าไม่จำเป็นกูจะไม่ตัด กูจะมาสเตอร์ไปยาวๆ (ลากเสียง)​ อยากรู้ว่าถ้าเปิดหนังด้วยฉากที่เดินเข้าไปในป่าแล้วเห็นคนโดนข่มขืนแต่ก็ไม่เข้าไปดูใกล้ๆ ดูอยู่ไกลๆ เหมือนสัตว์ แล้วก็ไป คัตนั้นคัตเดียวโดยไม่ตัด 8 นาทีกว่า เตรียมตัวถ่าย 3 วัน พอทำหนังใหญ่ยิ่งมีน้อยช็อตยิ่งดี

คนที่มาจากหนังโฆษณาชอบทำไตเติลหนังให้หวือหวาเหมือนหนังฝรั่ง แต่เราเอาแบบวู้ดดี้ อัลเลน เลย พื้นดำ ตัวขาว มันเป็นผลจากการตีกลับของการทำโฆษณา

โต้ง : พี่ต้อมเคยบอกว่า หนังโฆษณามันน่าเบื่อมาก เดี๋ยวก็ต้องสโลว์ เสียงเปียโนต้องมา ผมจะบอกว่า หนังโฆษณาผมนี่แหละครับ (หัวเราะ) ทุกเรื่องเลย ลูกค้าไม่ต้องบอกนะ ใส่เองเลย ชอบ

ต้อม : เคยสังเกตไหม ถ้ามือเราไปโดนแก้วหล่นเนี่ย มันต้องสโลว์ทุกเรื่องเลย มึงจะสโลว์ทำไมวะ มันไม่ได้มีความสำคัญอะไรเลย ประเด็นของเรื่องอยู่ที่อื่นด้วยซ้ำ แต่มีของตกหรือมีคนวิ่งเมื่อไหร่ จะสโลว์ทันที

The Cloud : การเป็นผู้กำกับหนังชื่อดัง มีผลกับการโน้มน้าวใจลูกค้าหนังโฆษณาไหม

ต้อม : เดี๋ยวนี้เราต่อรองได้มากขึ้นเยอะ

The Cloud : เมื่อก่อนเป็นไง

โต้ง : พี่ต้องเล่าเรื่องในตำนานที่ลูกค้าขอโปรดักต์ใหญ่ขึ้น

ต้อม : นั่นมันตำนาน เอาเรื่องเมื่อเร็วๆ นี้ดีกว่า (หัวเราะ) ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า เราเคยมีกิตติศัพท์สไลด์ตัวไปบนโต๊ะประชุม เพราะแม่งถามซ้ำอยู่ได้ว่าแพ็กช็อตที่ตัวแสดงจะถือ ที่ว่าโคลสอัพมันโคลสอัพแค่ไหน ถามอยู่ 5 ครั้ง ครั้งสุดท้ายเราเลยกระโดดสไลด์ตัวไปตามโต๊ะประชุม ไปยื่นโปรดักต์ให้ดูตรงหน้า มันเป็นเรื่องเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน สมัยนั้นเราเป็นพังก์ เป็นเด็กอายุ 27 คนหนึ่งที่คิดว่าตัวเองเก่งมาก มันก็พอจะเข้าใจได้ว่าทำไมถึงหลุดได้ขนาดนั้น

แต่ 2 ปีที่แล้ว เราทำหนังโฆษณาเรื่องหนึ่ง ถ่ายเสร็จตัดเสร็จเรียบร้อย มี 2 เวอร์ชัน 60 วินาทีกับ 15 วินาที อัน 60 วินาทีเรียบร้อยแล้ว แต่ไอ้ 15 วินาที ซึ่งมีอยู่ 7 คัต 2 คืนก็ยังไม่จบ รุ่งขึ้นก็ยังขอแก้อีก หนัง 15 วินาที 7 คัต มันจะสลับกันได้สักกี่แบบ 3 วันไม่จบ เป็นไปได้ยังไง รู้ตัวอีกทีเราอยู่ในห้องตัดหยิบเก้าอี้ออฟฟิศมาทุ่มใส่กำแพงหนึ่งตัว เปรี้ยง! แล้วก็เดินหาอีกตัว เปรี้ยง! ลูกค้าอยู่ห้องติดกัน แต่ประตูเปิดอยู่ เราก็เรียกลูกค้าว่า “ไอ้โรคจิต กูไม่แก้แล้ว” หญิงนุ้ย (ม.ร.ว. ปัทมนัดดา ยุคล) ที่เป็นคนตัดต่อก็บอกว่า มึงกลับบ้านไปเลย ลูกค้าจะแก้อะไร เดี๋ยวกูจัดการเอง เราเดินออกไปเหมือนมันยังมีอะไรเหลืออยู่ในตัว เห็นแก้วน้ำวางอยู่ก็ปาอัดกำแพงอีก เปรี้ยง!

ตอนนั้นเราอยู่ไม่ได้แล้ว ถ้าเราอยู่เดี๋ยวลูกค้าไม่กล้าแก้ต่อ เขาคงกลัวเรา เห็นเราน้ำลายฟูมปากขนาดนั้น ลูกค้าเขาเป็นคนที่น่ารักมากแต่เขาตัดสินใจอะไรไม่ได้เลย เขาต้องส่งอีเมลไปให้อีกคนโทรมาบอกว่าลองแก้แบบนี้ เขาต้องมารับกรรมเพราะเราน็อตหลุด เดินออกมายังไม่ทันถึงที่จอดรถเลย เรารู้สึกเหี้ยกับตัวเองในเวลาอันรวดเร็ว กูไม่น่าทำแบบนั้นเลย กูเป็นเหี้ยอะไรวะ ทำไมกูหลุดได้ขนาดนั้น เราไม่ได้ทำตอนอายุ 27 แต่นี่อายุ 53

หลังจากวันนั้นอีก 2 วันก็หยุดปีใหม่ เราก็ไปอยู่เชียงใหม่ 2 อาทิตย์ ระหว่างอยู่เชียงใหม่เราก็นั่งคุยกับเพื่อนว่ากูไม่น่าเลยว่ะ แก่จะตายห่าอยู่แล้วทำไมหลุดได้ขนาดนั้น ลูกค้าเขาก็น่ารักมาก ไม่น่าต้องมาโดนแบบนี้ เอเจนซี่ก็โคตรดีเลย มายืนขอโทษเรา มึงไม่ต้องมาขอโทษกู กูต้องขอโทษมึง 14 วันที่อยู่เชียงใหม่เรารู้สึกเหี้ยทุกวัน บอกเพื่อนว่า เดี๋ยวกลับไปจะไปขอโทษลูกค้า ตอนเกรดสีเขาก็ไม่มา ทำวีทีอาร์ก็ไม่มา จนกระทั่งไฟนอลมิกซ์ครั้งสุดท้ายที่เขาต้องมาแอพพรูฟ เขาเดินเข้ามาก็สวัสดีเราเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เราก็ขอโทษเขาบอกว่าเราผีเข้า ตอนนี้หายแล้ว เพราะฉะนั้น เดี๋ยวดูมิกซ์เสียงจะแก้อะไรก็ไม่ต้องเกรงใจ เขาก็บอกว่าไม่เป็นไรค่ะ แล้วเราก็เฮฮาฮิฮะกัน เข้าไปดูหนัง ฟังคอมเมนต์แรก เราแม่งเดินออกจากห้องเลย มาแบบจับต้องอะไรไม่ได้เลย มึงว่ากูเซอร์ มึงเซอร์กว่ากูอีก คราวที่แล้วแม่งสมควรโดนแล้ว กูไม่ควรรู้สึกเหี้ยอยู่ 2 อาทิตย์ที่เชียงใหม่เลย (หัวเราะ) เราเดินไปโกลเด้น เพลซ ซื้อเบียร์แดกเลย ไม่เข้าไปอีกแล้ว เขาก็แก้กันแบบแฮปปี้มากที่ไม่มีเราอยู่

คือมันเมื่อ 2 ปีนี่เอง เราเคยคิดว่าไอ้เป็นเอกคนที่เคยโดดขึ้นโต๊ะตอนอายุ 27 คนนั้นหายไปแล้ว มันคงกลายเป็นผู้ใหญ่ที่เข้าใจมนุษย์แล้ว แต่ไม่เลย อย่าเผลอ แม่งจะโผล่มาทันที เป็นเหตุการณ์แบบดาวหางฮัลเลย์คือ 25 ปีมาครั้งหนึ่ง แต่โดยรวมๆ แล้วไม่ค่อยมีปัญหากับลูกค้า เอเจนซี่ส่วนใหญ่เป็นเพื่อนเรา ค่อนข้างจะเลือกมาแล้วว่าลูกค้าที่ทำกับเราจะหัวก้าวหน้าหน่อย

The Cloud : ผู้กำกับพันล้านโดนลูกค้าสั่งแก้งานไหม

โต้ง : ลูกค้าส่วนใหญ่อยากให้ผมทำงานให้อยู่แล้วก็จะสบาย แต่ก็เคยมีที่เราพยายามโน้มน้าวอะไรบางอย่าง แล้วเขาบอกว่า “ผมก็ไม่ค่อยอยากจะเชื่อคุณหรอกนะ แต่คุณก็พันล้านมาแล้วนี่” อ้าว แล้วนี่มึงเชื่อหรือไม่เชื่อเนี่ย แล้วมึงชมหรือมึงด่าอยู่เนี่ย รู้สึกเหมือนโดนด่า (หัวเราะ) ส่วนใหญ่ผมเซ็งกับเรื่องที่คนตัดสินใจไม่มาอีกต่อไปแล้ว ในกองถ่ายก็ไม่มา ใช้วิธีถ่ายส่งไปให้ดู เคยต้องรอ 2 ชั่วโมงเพราะคนตัวใหญ่ยังไม่ตอบ ผมตะโกนในกองถ่ายเลยว่า ไม่ต้องถ่ายมันแล้วมั้ง แล้วก็เหมือนพี่ต้อมคือเราตะโกนใส่คนที่น่ารักที่สุด แต่เขาดันตัดสินใจไม่ได้

The Cloud : ตอนทำหนังโฆษณาคุณเชื่อสูตรแค่ไหน

ต้อม : หนังโฆษณาในอินเทอร์เน็ตของเราที่ถูกพูดถึงและแชร์เยอะๆ มักจะตรงข้ามกับสิ่งที่คนบอกให้ทำ ของเราช้า ยาว บางอันเป็นสัมภาษณ์แทนที่จะเป็นเรื่อง เราไม่ค่อยเชื่อเรื่องกฎเกณฑ์พวกนั้น ประเด็นที่ทำสำคัญที่สุด ถ้าประเด็นดีคนก็พร้อมจะดู ถ้าเรื่องไม่โดน 10 วินาทีก็ไม่มีใครดู

ต้อม เป็นเอก

แค่เปิดกล้องวันแรก คนทั้งกองถ่ายก็ถามกันว่าเด็กคนนี้มันเป็นใคร

โต้ง : พี่ต้อมเคยบอกว่า ดูหนังเก่าๆ ของตัวเองไม่ค่อยได้ ทุกวันนี้ยังเป็นอยู่ไหม

ต้อม : ตอนนี้ดูได้แล้ว เห็นแผลแต่ไม่ได้เจ็บปวดเหมือนเมื่อก่อน ขึ้นกับอายุด้วย ก็ถูกแล้วตอนนั้นเราทำไม่เป็น ตอนนั้นคิดได้แค่นั้น มีความสามารถแค่นั้น ตอนนี้นั่งดูได้แบบสบายใจ ไม่ว่าใครจะชมว่า มนต์รักฯ ดียังไง สนุกยังไง ตลอดเรื่องนั้นเรามีปัญหากับการกำกับต๊อก (ศุภกร กิจสุวรรณ) มาก แม่งมันจะเยอะไปถึงไหน ลิงไปถึงไหน พอหนังออกมามีแต่คนชมว่าต๊อกมันโคตรดี แต่เราไม่เคยฟังเสียงเหล่านั้นเลยนะ เราว่ามันโคตรลิงเลย ไม่เคยชื่นชมมันเลย ไม่นานมานี้ได้ดู มนต์รักฯ ที่ไหนไม่รู้ ต๊อกแม่งโคตรเก่งเลยว่ะ บางซีนมันเล่นจนเราน้ำตาซึมเลย กูไม่เคยชื่นชมมันเลย อยากจะกราบแม่งเลยอะ ต๊อกมึงเก่งจริง กูไม่เคยเห็นสิ่งนี้เลยในตัวมึง

The Cloud : ตอนกำกับก็ไม่เห็นเลยเหรอ

ต้อม : เรารู้สึกว่าเรื่องนั้นยังไงมันก็รอดด้วยเรื่องอยู่แล้ว เลยไม่เคยเห็นความเก่งของต๊อกเลย ทั้งที่มันเล่นดีฉิบหาย

โต้ง : ได้บอกหรือยัง เขาได้ยินต้องดีใจมากแน่ๆ

ต้อม : ยัง ไม่ได้เจอเลย ไม่มีเบอร์ด้วย

โต้ง : ตอนนี้ผมอยู่ในโหมดที่พี่เป็นก่อนหน้านี้ คือผมกึ๋ยหนังตัวเอง พอผ่านไปสัก 2 ปี มาดูนี่โคตรงงเลย กูถ่ายอะไรไปวะ ทำไมตรงนั้นตัดแบบนั้น แต่ซีนที่ดีจริงๆ มันก็ดีจริงๆ อย่าง ชัตเตอร์ฯ ผมดูแล้วกึ๋ยทั้งเรื่องเลย แต่ซีนขี่คอนี่แม่งเข้าใจเลยว่าทำไมมันถึงดัง

ต้อม : ดีที่รู้สึกแบบนี้กับหนังตัวเอง เพราะคุณจะได้พัฒนาไง ความไม่พอใจเป็นแรงขับเคลื่อนมากกว่าความสำเร็จอีก ความสำเร็จนำมาซึ่งความกลัว

โต้ง : นักแสดงคนไหนที่เจ๋งสุดที่เคยทำงานด้วย

ต้อม : ปีเตอร์ (นพชัย ชัยนาม) เจ๋งสุดครับ เขาสมาธิสูงมาก จริงจังกับสิ่งที่ทำมาก เขากลัว แต่ความกลัวของเขามันดีมาก เขาบอกเหตุผลว่า “ผมไม่อยากเป็นส่วนที่เหี้ยในหนังที่ดี” ประโยคนี้แม่งโคตรประทับใจเลย แล้วเขาก็พิสูจน์ได้จริงๆ

อีกคนคือสายป่าน (อภิญญา สกุลเจริญสุข)​ เขาเป็นนักแสดงที่ยูนีกมาก ไม่กลัวอะไรเลย เวลาเล่นเขาเล่นลงลึกสุดขั้วแบบทุกคนที่เล่นร่วมซีนกับสายป่านหนาวไปตามๆ กัน เขาไม่เคยเล่นหนังเล่นละครมาก่อนด้วยนะ อายุ 16 มาฉลองวันเกิดอายุ 17 ในกองถ่ายเรา มันไม่เคยมีในประวัติศาสตร์ที่เปิดกล้องวันแรก คนในกองทุกคนเอาแต่พูดถึงเด็กคนนี้ว่าใครวะ มันมาจากไหน เก่งฉิบหาย

โต้ง : คนแรกคือเผือก (พงศธร จงวิลาส) เวลาปล่อยให้เล่นอิมโพรไวซ์มันเล่นดีซะจนต้องกลับไปถ่ายซ่อม เรื่อง พี่มากฯ ตอนเล่นไพ่เผือกแซวว่า พ่อมึงเป็นเกาจิ้งเหรอวะ ผมรู้สึกว่าถ้าพูดเบอร์นี้ มันต้องเล่นไพ่โชว์กว่านี้ เลยกลับไปถ่ายแก้ใหม่ให้โชว์เล่นไพ่เวอร์ๆ เลย เวลาเขาท้วงอะไรบางอย่างมันก็ใช่ไปหมด

อีกคนคือพี่ช่า (มาช่า วัฒนพานิช) ตอนทำเรื่อง แฝด ผมเด็กมาก ผมเสียดายมาก เขามาเล่นตอนอายุ 37 สวยมาก น่าจะพีกได้เลย แค่สคริปต์มันไม่ถึง ผมรู้สึกว่าผมทำหนังที่ไม่ควรค่ากับการแสดงของเขา

ต้อม เป็นเอก โต้ง บรรจง รูปวาด

ถึงทางตันก็เอาปืนออกมา

The Cloud: เวลาดูหนังพี่ต้อม ชอบอะไร

โต้ง : ชอบตอนซีนรักแบบดีดดิ้น อย่างเช่นซีนโรแมนติกแล้วกวนตีนแบบ ฝนตกขึ้นฟ้า ช่วงต้น ยังเคยบอกพี่ต้อมเลยว่า ทำหนังรักดิพี่ ทำแล้วได้เงินแน่นอน แต่พี่ต้อมก็ไม่เคยฟังอยู่แล้ว (หัวเราะ) ผมชอบหนังพี่ต้อมตอนที่ยังไม่มีปืน พี่ต้อมเป็นคนเขียนไดอะล็อกโคตรมีเสน่ห์เลย แต่สุดท้ายก็จะมีปืน มีเลือดทุกเรื่อง สักพักหนึ่งต้องเอาปืนมายิงกัน อะไรวะ (หัวเราะ)

ต้อม : มันต้องมีปืน มีเลือด เพราะไปต่อไม่ได้ ก็ต้องเอาปืนออกมา (หัวเราะ)

โต้ง : ผมชอบเรื่อง Last Life ที่สุด ดูรอบแรกในสตูดิโอที่พระรามเก้า ฉายบนเพดานให้นอนดู หัวนักแสดงขาดไปครึ่งหนึ่ง เฟรมแม่งโคตรเซอร์ ก็คิดว่าพี่ต้อมแม่งเจ๋งว่ะ แต่คนฉายบอกว่า ฉายพลาดครับ (หัวเราะ)

ต้อม : รอบนั้นคุณภาณุ (อิงคะวัติ) จัด อยากลองฉายแบบให้คนนอนดูหนังจริงๆ

โต้ง : พี่ไม่คิดว่าเดิมพันสูงไปเหรอ

ต้อม : ไม่มีเดิมพันอะไรสูงเกินไปหรอก (หัวเราะ) เราเข้ามาทำหนังด้วยความบังเอิญล้วนๆ เราไม่กลัวอะไรอยู่แล้ว มีโอกาสได้มาทำ แล้วยังทำอยู่ได้ก็โอเคแล้ว

โต้ง : เป็นผมนี่กลัวจะตายแล้วนะ

ต้อม : หรือเพราะอย่างนี้ ชีิวิตเราถึงไม่ค่อยก้าวหน้าเท่าไหร่ (หัวเราะ)​

โต้ง :  ถ้าเป็นผมต้องมีเทสต์ก่อน ลองสัก 10 คนก่อน ผมนึกถึงตอนทำฉากตลกครั้งแรกในเรื่อง ชัตเตอร์ฯ เป็นฉากที่อนันดาเข้าห้องน้ำแล้วนึกว่าเจอผี แต่เป็นกะเทยเข้ามาขี้ ผมไม่คิดว่าตัวเองเป็นคนตลก กลัวการทำฉากตลกมากๆ ไอเดียพูดเล่นกันมาตลอด สุดท้ายตอนถ่ายซ่อมก็ถ่ายเผื่อไว้สักหน่อย รอบนั้นเป็นรอบเทสต์ เอาคนฟีโนมาดู 50 คน ฉากนี้มาผมนี่ดึงเสื้อมาปิดหน้าเลย คิดว่าถ้าวืด จะเอาฉากนี้ออกก่อนเลย ปรากฏคนตบมือสนั่น บอกว่าเครียดมาเกือบตาย รอซีนอะไรแบบนี้แหละ ต้องมีรอบเทสต์ถึงรู้ว่าทำแล้วรอด ผมจะบอกว่า ผมไม่มีทางกล้าทำอะไรแบบพี่เลย

The Cloud : หนังพี่ต้อมมีรอบเทสต์ไหม

ต้อม : พอตัดไปถึงจุดหนึ่งที่เราค่อนข้างชอบแล้ว จะให้เพื่อน 4 คนที่ไว้ใจได้และดูงานเราทุกเรื่องมาดู เขาเป็นคนที่ไม่ได้ชอบหนังอาร์ต ชอบหนังฮอลลีวูดปกติ และรู้จักเราค่อนข้างดี สิ่งเดียวที่เรากลัวที่สุดในการทำหนังคือ กลัวคนดูเบื่อ เวลาคนบอกว่าหนังพี่เขาเซอร์ฉิบหาย งงฉิบหาย อันนี้ไม่กลัว แต่กลัวดูๆ ไปแล้วตรงนี้โคตรหย่อนเลย

The Cloud : 4 คนนี้ได้ทักเรื่อง Invisible Waves ไหม

ต้อม : ตอนที่เราทำเรื่อง Invisible Waves เราอยู่ในสถานะที่มีพาวเวอร์มาก เราทำหนังมา 4 เรื่อง แม่งดีขึ้นทุกเรื่อง กราฟเราพุ่งมาก ตอนนั้นคิดว่ากูจะไม่ประนีประนอมอะไรแล้ว จะไม่ดึงอะไรแล้ว จะไปให้สุดลิมิต

โต้ง : พี่เคยบอกว่า ซีนคุยกันจะถ่ายแต่ตีน

ต้อม : เราไม่ถ่ายโคลสอัพเลยทั้งเรื่อง ถ่ายแต่มุมกว้าง เป็นการทดลองที่เรียกว่าโง่มาก แต่ตอนนั้นเราทำได้ไง โปรดิวเซอร์ยอมเราหมด ตอนทำ Invisible Waves อาจจะไม่มีการเทสต์ให้ใครดูด้วยซ้ำ แล้วก็ล้มหน้าฟาดเต็มเหนี่ยว ตื่นเลย (หัวเราะ) หนังโต้งมีเทสต์ไหม

โต้ง : มีรอบภายใน วรรณฤดี​ (โปรดิวเซอร์) จะเอาผลมาถกกันว่าเชื่อหรือไม่เชื่อ ถ้าเชื่อก็โอเค ไม่เชื่อก็โอเค

The Cloud : ตอนทำหนังได้พันล้าน มีช่วงเวลาแบบพี่ต้อมที่ไม่ฟังใครไหม

โต้ง :  มีบ้าง (หัวเราะ) แฟนเดย์ฯ อาจจะมั่นใจไปนิด อยากลองทำหนังรักแบบโคตรเชย คิดว่าคนจะตอบรับมากกว่านี้ แต่ผมก็ได้ทำแบบที่ผมต้องการ

ต้อม : โต้งเขาอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ต่างจากเราด้วยนะ เขามาในยุคที่อุตสาหกรรมหนังไทยค่อนข้างแข็งแรงแล้ว โต้งมีคนรอบข้างที่คอยสนับสนุนตั้งแต่ฟีโนมีนา จีทีเอช ของเรานี่แบบกูควงปืนมาคนเดียวเลย มาด้วยความศรัทธาผสมความบ้านิดๆ แล้วคนรอบตัวก็ดันเชื่อ

โต้ง ต้อม โต้ง ต้อม

ชอบมาก

The Cloud : พี่ต้อมชอบอะไรในหนังโต้ง

โต้ง : ดูหรือเปล่าเหอะ

ต้อม : ดูแต่ไม่ทุกเรื่อง พี่มากฯ นี่ดูรอบสื่อ เราหัวเราะแบบคนบ้าเลย พอหนังเข้าโรงก็ต้องพาเพื่อนฝรั่งไปดูอีกรอบ พาแฟนไปดูอีกรอบ แล้วเราต้องทำหน้าที่เป็นผู้ปกป้องหนังเรื่อง พี่มากฯ ตลอดเวลา สังคมเรามีความงี่เง่าอยู่อย่างหนึ่งตรงหนังเรื่องไหนได้เงินจะบอกว่าเป็นหนังปัญญาอ่อน คนชอบพูดแบบนี้โดยเฉพาะคนที่พยายามชอบหนังเรา เขาจะบอกว่า หนังพี่ไม่มีทางได้เงินหรอกเพราะคนไทยแม่งปัญญาอ่อน ไม่ดูหนังแบบพี่หรอกเพราะดูแล้วต้องคิด คนไทยชอบดูหนังแบบ พี่มากฯ เราบอก เฮ้ย มึงหยุดเดี๋ยวนี้เลย พี่มากฯ เป็นหนังดีนะมึง สำหรับกูไม่ว่ามันจะทำเงินหรือไม่ทำเงินกูไม่แคร์ ใน พี่มากฯ มีอีโมชันกี่แบบวะ เปิดฉากมาโคตรโพสต์โมเดิร์นเลย พูดประโยคแรกคล้ายๆ หนังพี่อุ๋ย (นนทรีย์ นิมิบุตร)​ แล้วโดนตบกบาลบอกว่า มึงคิดว่ามึงอยู่ในหนังพีเรียดเหรอ สำหรับเราซีนนั้นแม่งคือแบบตบกบาลคนทั้งโรงว่าพวกมึงเป็นเหี้ยอะไรกัน แล้วมันก็ตลกด้วย น่ากลัวด้วย โรแมนติกด้วย การควบคุมภาษาหนังที่แตกต่างกันขนาดนั้นให้อยู่ในเรื่องเดียวกันแล้วลงตัวได้ สำหรับเราถือว่าเฟิร์สคลาสมาก

โต้ง : ต้องกราบกองเชียร์ไว้ ณ ที่นี้ (กราบพี่ต้อม)​

ต้อม : สิ่งที่เราชอบในหนังโต้งคือมันมีอะไรคล้ายๆ สิ่งที่เราทำกับหนังเรา ไม่ได้มีอารมณ์เดียวตั้งแต่ต้นจนจบ คล้ายๆ ว่าทำโรแมนติกมาก็ต้องทวิสต์ซะหน่อยเดี๋ยวจะอ้วก หรือทำน่ากลัวมากๆ ก็ต้องมีตุ๊ดมาขี้ เวลาเราทำหนังเราก็คิดเรื่องพวกนี้

The Cloud : อิจฉาอะไรโต้งที่สุด

ต้อม : (คิดนาน) เกือบหลุดปากบอกเงินแล้ว (หัวเราะ) ไม่ใช่ เราเคยคุยกับโต้งเรื่องเขียนบท เขามีทีมเลยโยนไอเดียใส่กัน เวลาเรานั่งเขียนบทคนเดียวมันมีช่วงที่รู้สึกว่า กูก็อยากมีทีมเหมือนกัน

โต้ง : แต่ผมอยากเขียนบทเองคนเดียวได้ ผมอิจฉาพี่ตรงนี้ ได้ทำอย่างที่พี่ต้องการมาตลอดแม้ว่าจะไม่ได้เงิน (หัวเราะ) แล้วก็อิจฉาที่พี่ไม่กลัวอะไรเลย ถึงผมจะมั่นใจขึ้นทุกวัน แต่ผมก็ยังกลัว ย้อนกลับไปตอนเด็กๆ ผมกลัวการออกกองถ่ายมาก ถึงขั้นว่าโลเคชันแคนเซิลแล้วดีใจ แสดงว่าเราไม่ปกติแล้ว แสดงว่าเรากลัวมาก กลัวออกกองแล้วโง่ จำความรู้สึกตอนไปดูห้องตัดได้เลย เราไหว้ก่อนไป ขอให้มันดีเหอะ เพราะกูแก้ไม่เป็น (หัวเราะ) ถ้ามันดีเราจะรู้ว่าดี ถ้าไม่ดีก็จะรู้ว่าไม่ดี แต่แก้ยังไงวะ พอแยกมาทำหนังคนเดียว ได้เลือกเรื่องเอง ความกลัวนั้นก็ค่อยๆ หายไปเอง

ตอนทำ ชัตเตอร์ฯ เป้าหมายคือ ทำหนังผีที่น่ากลัวฉิบหาย มันอาจจะเป็นเรื่องศาสตร์ พอมาทำ สี่แพร่ง ทำด้วยความไม่กลัวเลย เพระมันมี 4 ตอน คิดว่าถ้าตอนผมเหี้ย เพื่อนๆ คงช่วยไว้ได้แหละ (หัวเราะ) แต่ถ้าเอาเรื่องนี้มาขยายเป็นหนังยาว ผมไม่กล้าทำ เพราะเราไม่เคยทำหนังตลก แล้วพล็อตมันติงต๊องมากเลย ผีหลอกคนนอนตรงกลาง แล้วกูจะทำไปทางหนังตลกหรือหนังน่ากลัวดีวะ ตอนนั้นยังไม่เจอตัวเอง พอลองมาทางนี้แล้วได้ก็เริ่มมั่นใจ

ต้อม : สิ่งที่ดีของโต้งคือ ส่วนผสมในหนัง โต้งสามารถทำสิ่งที่น่ากลัวได้ด้วยแล้วก็ตลกได้ด้วย เป็นสไตล์ของเขา ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมาก

โต้ง : ผมกำลังกลัวว่าสเต็ปต่อไป ถ้าทำหนังตลกโดยที่ไม่ต้องน่ากลัวมาก จะตลกได้เท่าเดิมไหม

ต้อม เป็นเอก

วันที่ GTH ติดต่อมาพร้อมฮอลลีวูด

The Cloud : ทำไมโต้งถึงอยากเขียนบทคนเดียวได้

โต้ง : ถ้าเราจบเรื่องการเขียนบทด้วยตัวเราเองคนเดียวและใช้เวลาน้อยได้ก็จะยิ่งดี แต่เราก็ไม่มีวินัยพอ เวลาตันแล้วมันตันเลย แต่พอมีทีม ตันปุ๊บโยนลงไป ก็มีคนมีช่วยคิดกระเด้งไปกระเด้งมา กลายเป็นเคยตัว

ต้อม : ของเราเวลาตันปุ๊บ ก็เอาปืนออกมาทันที (หัวเราะ)

โต้ง : ผมน่าเขียนบทให้หนังพี่ แล้วพี่เขียนบทให้ผมนะ ไม่รู้พี่จะยอมไหม

ต้อม : เอาไหม เราไปทำกับ GDH ด้วย (หัวเราะ)

โต้ง : นึกภาพพี่ต้อมทำหนัง GDH ไม่ออกเลย

ต้อม : พี่เก้ง (จิระ มะลิกุล) เคยเรียกเราไปรับบรีฟหนังนะ เป็นบทของโอปอล์ (ปาณิสรา พิมพ์ปรุ) เป็นไอเดียที่คนใน GTH (GDH ในปัจจุบัน) ลงความเห็นว่าต้องเป็นเอก เราเข้าไปคุยกับพี่เก้งว่า ถ้าผมทำออกมาแล้วพวกพี่ไม่ชอบ แล้วผมไม่แก้ มันจะยังไงวะ เขาบอกว่า ไม่ได้ ถ้าทำหนังที่นี่ต้องทำตามระบบ เขาบอกว่า คิดง่ายๆ เหมือนทำหนังโฆษณา รับบรีฟแล้วทำตามบรีฟ เราก็ เออ จริงว่ะ โฆษณายังทำได้เลย อันนี้ก็น่าจะโอเค แล้วก็เป็นเกียรติมากที่ได้ทำหนังให้ GTH แต่ตอนนั้นเรายุ่งมากเลย เป็นช่วงไฮไลต์ของชีวิตเลย มี GTH ติดต่อมา มีฮอลลีวูดด้วย

The Cloud : ช่วงไหน

ต้อม : หลังเรื่อง Invisible Waves ตอนนั้นฮอลลีวูดติดต่อจะเอาหนัง เรื่องตลก 69 ของเราไปรีเมก แล้วก็มีอีกโปรเจกต์ที่เกิดขึ้นพร้อมกัน เขาอยากให้เราเขียนบทและกำกับ เป็นไอเดียที่โปรดิวเซอร์จากอเมริกาตัดมาจากข่าวหนังสือพิมพ์ เขาถามว่ายูอยากเขียนบททำหนังเรื่องนี้ไหม ไอคิดถึงยู ยูทำต้องตลกแน่ๆ มันออกแนวเสียดสีหน่อย ตอนนั้นเรายุ่งมากกำลังเขียนบทเรื่อง พลอย อยู่ เลยบอกพี่เก้งว่า เราทำได้แต่ต้องรออีก 3 ปีนะ สุดท้ายเราก็เลยไม่ได้ทำ แล้วสรุปว่าเรื่องนั้นได้ทำไหม

โต้ง : ไม่ได้ทำ แล้วหนังฮอลลีวูดล่ะ

ต้อม : เรื่องที่รีเมกเราบอกว่าเรารีเมกหนังตัวเองไม่ได้แน่ๆ เราได้เป็น Executive Producer มันไปไกลจนถึงได้ผู้กำกับแล้ว มีนางเอกแล้ว สุดท้ายมันก็คงเหมือนหลายๆ โปรเจกต์ในฮอลลีวูดที่สุดท้ายมันก็หายไป อาจจะบทไม่ถึง เขาไม่ชอบ หรืออะไรก็ว่ากันไป ส่วนเรื่องข่าวหนังสือพิมพ์ เราเขียนบทกับคุ่น (ปราบดา หยุ่น) ไปอยู่ที่ญี่ปุ่นกัน คุ่นไปเขียนบทที่นั่นเดือนหนึ่งเลยมั้ง ไปอยู่เมืองในข่าวนั้นเลย โปรดิวเซอร์มีบ้านอยู่ที่นั่น คุ่นก็ไปอยู่บ้านนั้น เราอยู่กับคุ่นอาทิตย์สองอาทิตย์ เพิ่งรู้ว่าทำหนังกับฮอลลีวูดมันไม่ง่ายเหมือนทำกับไฟว์สตาร์ฯ ที่ให้เราทำอะไรก็ได้แค่อย่าเกินงบ

แต่ฮอลลีวูดนี่แก้บททีมึนตึ้บเลย มันส่งโน้ตมาเป็นข้อๆๆ ทุกอันเป็นเรื่องเนื้อหาเรื่องเหตุผลหมด ทั้งที่หนังมันค่อนข้างจะโรแมนติกหน่อย คุ่นเขียนมาเราโคตรชอบ เขียนดีมาก พอโดนคอมเมนต์มา คุ่นก็แก้ไปหนึ่งรอบ สองรอบ พอรอบสามก็ขอบาย เหลือเราคนเดียว เราสู้ต่อเพราะอยากทำหนังฮอลลีวูด พอถึงร่างที่สี่ที่ห้าเราต้องเขียนเอง ก็เขียนจนเขาแฮปปี้แล้ว เราก็แฮปปี้ แต่ตัวนางเอกที่ดำเนินเรื่องมันเป็นคนนิวยอร์กที่เป็นยิว ซึ่งจะมีวิธีการพูดแบบหนึ่งซึ่งเราเขียนไม่ได้หรอก เลยบอกโปรดิวเซอร์ให้ไปหาคนเขียนบทที่เข้าใจวัฒนธรรมแบบนี้ของนิวยอร์กมาเขียนไดอะล็อกให้เรา เขาก็ไปจัดการ แล้วก็หายไป ก็คงเหมือนหลายๆ โปรเจกต์ที่พอโปรดิวเซอร์ไปติดต่อสตูดิโอเพื่อหาเงิน แต่หาไม่ได้ สุดท้ายเลยไม่ได้ทำ เราพบว่าการจะไปทำหนังในระดับนั้นมันยากมาก เสียเวลา และไร้สาระมาก กระบวนการมันยิ่งกว่าหนังโฆษณาที่เราทำกันอีก โต้งคงรู้แหละ ทำหนังให้ต่างประเทศอยู่เหมือนกันนี่

โต้ง : เล่าได้แค่ว่ากำลังคุยอยู่ เล่าได้แค่นี้ (หัวเราะ)

โต้ง บรรจง ต้อม เป็นเอก

การทำหนังได้รางวัลและได้เงิน เป็นความลับอันดำมืด และไม่ใช่วัตถุประสงค์ของการทำหนัง

โต้ง : การทำหนังให้ได้เงินยังเป็นความท้าทายของพี่อยู่ไหม

ต้อม : ท้า

โต้ง : แต่ให้ทำก็ยังทำวิธีเดิม

ต้อม : ในเมืองไทย มนต์รักฯ ได้เงินเยอะสุด 25 ล้าน แต่หนังอย่าง Last Life in the Universe หรือ Invisible Waves ทำเงินจากทั่วโลกเยอะมาก ในขณะที่เรากำลังคุยกันอยู่ตอนนี้มันก็ยังทำเงินอยู่นะ ทุกครั้งที่ฉายไม่ว่าจะที่ไหนก็ได้เงิน แล้วก็ได้เยอะด้วย ในแง่การขายให้ต่างประเทศ Last Life กับ Invisible Waves ก็ขายดีมาก การทำหนังได้รางวัลและได้เงิน สำหรับเราเป็นความลับอันดำมืดทั้งคู่ แล้วมันก็ไม่ใช่วัตถุประสงค์ของการทำหนัง เราไม่เคยคิดว่าจะทำหนังให้ได้เงินหรือไม่ได้เงิน ในชีวิตเรามีหนัง 2 โหมด คือ หนังยุคแรกๆ ที่ไม่ค่อยส่วนตัวเท่าไหร่ หยิบเรื่องนี้มาทำเพราะสนุกดี ตลกดี กวนตีนดี เช่น เรื่องตลก 69, มนต์รักฯ กับโหมดหลังที่ใช้คำว่า อาร์ตขึ้นเรื่อยๆ ทดลองขึ้นเรื่อยๆ มีความส่วนตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ

พอได้ไปลิ้มรสหนังแบบ Last Life แล้วมันออกมาดีก็อยากจะทดลองอีก ทดลองไปก็เริ่มมีประเด็นในชีวิต เรื่องความสัมพันธ์ เรื่องความดาร์กในชีวิต เราใช้หนังเป็นเครื่องบำบัด เรามีปัญหาอะไรกับชีวิต เราตั้งคำถามอะไรกับโลก มันจะไปอยู่ในหนังของเรา เลยเกิดเป็นหนังยุคน่าเบื่อ

พอเราทำจากประสบการณ์ชีวิตตัวเอง มันทำให้หนังมีความรู้สึกสูงมาก เช่น พลอย หรือ Last Life ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ชอบ แต่คุณปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกซีนมันเต็มไปด้วยอารมณ์ที่ยูนีกมาก มันเกิดขึ้นได้จากผู้กำกับคนนี้คนเดียว เพราะมันมาจากข้างในของเราจริงๆ

พอเรามาทำ ฝนตกขึ้นฟ้า แม้ว่ารายได้จะไม่ดีแต่มันไม่ค่อยส่วนตัวเท่าไหร่ เราทำเอามัน คนถือปืนไล่ยิงกัน แล้วเราก็ค้นพบว่ามันสนุกดีว่ะ ไม่ต้องส่วนตัวมาก ทำเอาบันเทิง

ถ้าตอบคำถามโต้งก็คือ ในอนาคตเราคงทำหนังที่เอนเตอร์เทนมากขึ้นเรื่อยๆ อาจจะกลับไปสู่หนังยุคแรกๆ อาจเพราะตอนนี้ชีวิตดีแล้ว เลยไม่รู้จะตั้งคำถามอะไร แก่แล้วด้วย ตอนนี้มาหาเรื่องที่ดีมาเล่าให้มันประหยัดที่สุด แล้วก็สนุกที่สุด

โต้ง : Sumui Song อยู่ในโหมดไหน

ต้อม : คล้ายๆ ทดลองเหมือนกันนะว่าเล่ายังไงไม่ให้น่าเบื่อ เป็นการผสมหนังหลายแบบมากไว้ในเรื่องเดียวกัน

โต้ง : ยังเซอร์อยู่ไหม

ต้อม : เซอร์มาก แต่สนุก ปกติหนังเซอร์จะน่าเบื่อ แต่นี่สนุกเลย

ต้อม เป็นเอก โต้ง บรรจง

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล