17 มิถุนายน 2020
13 K

“ไฟสวยไหมครับ รอดไหม”

ภีม พูลผล ถามเราด้วยเสียงหัวเราะ ทันทีที่เราบอกว่าเคยไปคอนเสิร์ตที่เขาออกแบบไฟให้

เขาเป็น Lighting Designer นักออกแบบแสงให้งานบันเทิงและงานศิลปะ ตั้งแต่คอนเสิร์ต เฟสติวัล อีเวนต์ ไปจนถึง Art Installation โดยทำงานร่วมกับศิลปินหลายๆ แขนง และเป็นผู้ก่อตั้ง Saturate Designs ซึ่งเชื่อว่าไฟคือวิธีการสื่อสารสิ่งที่ศิลปินต้องการบอกสู่คนดูที่ง่ายที่สุด

ภีม พูลผล จากลูกมือช่วยพ่อจัดไฟใน 7 สีคอนเสิร์ต สู่ Lighting Designer คอนเสิร์ตดังในวัย 23

คุณอาจไม่คุ้นหน้าเขา และอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อของเขาด้วยซ้ำ แต่ถ้าคุณเป็นคนชอบไปคอนเสิร์ต คงต้องมีอย่างน้อยหนึ่งหรือสองงานของเขาที่คุณเคยเห็นอยู่บ้าง ทั้งดอกไม้บนจอ LED ในคอนเสิร์ตของ POLYCAT สายรุ้งในอิมแพ็คของคอนเสิร์ต POTATO หรือการจำลองตลาดปลาของวง Whal & Dolph ที่น่ารักมากๆ

ภีมเริ่มก้าวเข้ามาในวงการนี้ตั้งแต่จำความได้ เริ่มจากการติดตามพ่อที่ทำงานสายเดียวกัน ก่อนจะเริ่มมีส่วนร่วมช่วยพ่อทำงานบ้าง เขาเป็นคนคนหนึ่งที่รู้ตัวว่าอยากทำอะไรมาตั้งแต่เด็ก สิ่งที่เขาสนใจและฝึกฝนมาตลอดจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับแสงและสี จนได้ไปเรียนต่อด้านนี้โดยเฉพาะ

ภีม พูลผล จากลูกมือช่วยพ่อจัดไฟใน 7 สีคอนเสิร์ต สู่ Lighting Designer คอนเสิร์ตดังในวัย 23
ภีม พูลผล จากลูกมือช่วยพ่อจัดไฟใน 7 สีคอนเสิร์ต สู่ Lighting Designer คอนเสิร์ตดังในวัย 23

นอกจากสามคอนเสิร์ตที่เล่าไปแล้วข้างต้น เขาคือเบื้องหลังของแสงไฟสวยๆ ในคอนเสิร์ตของศิลปินดังๆ หลายคน ทั้ง Scrubb, Bodyslam, The TOYS, Lomosonic, Penguin Villa, Better Weather เทศกาลดนตรีใหญ่ๆ อย่าง Maho Rasop Festival, CAT EXPO รวมถึง Big Mountain Music Festival ที่เริ่มจากการทำไฟให้วงวงเดียว เป็นออกแบบ 3 เวทีและ 5 เวทีในปีถัดๆ มา ภีมบอกว่าตัวเองได้ร่วมงานกับ 1 ใน 4 ของศิลปินที่เขาอยากทำงานด้วยไปแล้ว และไม่คิดจะทำแบบนี้ไปจนถึงอายุ 80 ต่อให้อยู่กับสิ่งนี้มาตั้งแต่เกิด เขาก็ยังมีเรื่องใหม่ๆ เรียนรู้อยู่ทุกวัน 

ในวัยแค่ 23 นับว่านี่คือพอร์ตโฟลิโอชั้นยอดที่นายจ้างคนไหนเห็นก็คงประทับใจ แต่ความสำเร็จในช่วงอายุยังน้อยก็ไม่ได้ทำให้เขาคิดว่าตัวเองเก่งกว่าใครเลย ตรงกันข้าม ภีมยอมรับข้อเสียในทุกงานที่ได้ทำอย่างภาคภูมิใจ เล่าให้ฟังด้วยความเข้าใจและอารมณ์ขัน ก่อนจะเปิดผลงานชิ้นถัดไปที่ได้แก้ไขข้อบกพร่องของงานชิ้นก่อนหน้าให้เราดู

Tech Geek ประจำโรงเรียน

ภีมเติบโตมาในครอบครัวที่ทำงานสายโปรดักชันมาตั้งแต่เขายังไม่เกิด เริ่มจากการที่พ่อเคยเป็นพนักงานของบริษัททำไฟประจำให้ BEC-Tero ส่วนแม่ก็ทำงานกับ BEC-Tero มาตั้งแต่เริ่มต้น ทั้งคู่มีประสบการณ์ทำโปรดักชันให้งานคอนเสิร์ตศิลปินต่างชาติชื่อดังอย่าง ไมเคิล แจ็กสัน (Michael Jackson) และ ฟิล คอลลินส์ (Phil Collins) ช่วงที่เขาเกิด ทั้งพ่อและแม่ก็ลากออกมาเปิดบริษัทโปรดักชันทำคอนเสิร์ตของตัวเอง

“ผมเกิดมาก็อยู่กับสิ่งเหล่านี้ตั้งแต่แรก ถือว่าเป็นความโชคดีที่ได้ติดตามคุณพ่อตั้งแต่สองสามขวบไปดูคอนเสิร์ตตั้งแต่เล็กๆ ได้เห็นว่าโปรดักชันมันมีหลายแผนก หลายหน้าที่ ซึ่งผมสนุกกับ Lighting มากที่สุด เนื่องจากคุณพ่อเป็นคนทำไฟเอง และเราชอบเวลาที่กดปุ่มหนึ่งปุ่มมันสร้างอารมณ์คนดูได้หนึ่งมู้ด พอกดอีกปุ่มก็ทำให้คนกรี๊ดได้ เหมือนกับเราเป็นคนกำหนดโชว์ในมุมหนึ่ง เป็นเหมือนปากกาให้ศิลปินเล่าเรื่อง”

ภีม พูลผล จากลูกมือช่วยพ่อจัดไฟใน 7 สีคอนเสิร์ต สู่ Lighting Designer คอนเสิร์ตดังในวัย 23

เขาบอกว่าชีวิตในวัยเด็กของตัวเองไม่ใช่เด็กเรียนเก่ง (จริงๆ เขาใช้คำว่าแย่) ทุกวันศุกร์ เขาจะขอออกจากโรงเรียนตั้งแต่เที่ยง ให้พี่ในบริษัทพ่อกับแม่มารับไป 7 สีคอนเสิร์ต เพื่อดูพ่อทำไฟ กิจวัตรของเขาเป็นอย่างนั้นตั้งแต่อายุ 8 – 9 ขวบ จนช่วงประมาณประถมศึกษาปีที่ 5 เขาก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมทำไฟให้ 7 สีคอนเสิร์ต

“ตอนนั้นยังไม่เข้าใจเรื่องเทคนิค ไม่รู้ว่าไฟทำงานยังไง หรือต่อยังไง รู้แค่ว่าแต่ละท่อน ไฟทำหน้าที่อะไรบ้าง เช่น ท่อนร้องต้องกดปุ่มนี้ ท่อนโซโล่กดอีกปุ่มหนึ่ง พอสักพักคุณพ่อก็ให้ทำอะไรมากขึ้น เริ่มจากให้เรากดปุ่มเดียวทั้งงาน แต่ต้องกดให้ถูก ห้ามผิด แล้วก็ค่อยๆ เพิ่มปุ่มขึ้นเรื่อยๆ สำหรับเด็กคนหนึ่งมันกดดันนะ แต่ก็สนุกมาก 

ภีม พูลผล จากลูกมือช่วยพ่อจัดไฟใน 7 สีคอนเสิร์ต สู่ Lighting Designer คอนเสิร์ตดังในวัย 23
ภีม พูลผล จากลูกมือช่วยพ่อจัดไฟใน 7 สีคอนเสิร์ต สู่ Lighting Designer คอนเสิร์ตดังในวัย 23

“ตอนแรกพี่ที่ออฟฟิศเป็นคนโปรแกรมซีนไฟให้ เรากดปุ่มที่เขาโปรแกรมไว้แล้วอย่างเดียวทั้งโชว์ พอเวลาผ่านไปก็ยากขึ้นเรื่อยๆ ให้เราลองโปรแกรมเอง แล้วบอร์ดไฟที่ใช้มันใหญ่มาก มีปุ่มเป็นเจ็ดสิบปุ่ม เราไม่เคยทำ แต่ด้วยความชอบก็ไปขอร้องพี่ที่เป็นเจ้าของบริษัทให้เช่าอุปกรณ์ไฟว่า ผมขอยืมบอร์ดตัวนี้มาไว้ที่บ้านสักอาทิตย์หนึ่งได้ไหมครับ ช่วงนั้นก็รีบกลับบ้านมาเล่นบอร์ดไฟทุกวัน ในขณะที่เพื่อนไปร้านเกม ถ้าเทียบ Position ในโรงเรียนตอนนั้นคือเป็น Tech Geek เป็นคนเก่ง Final Cut คนเก่ง iMovie เป็นคนแรกที่ใช้คอมฯ Mac นำเทรนด์เรื่องเทคโนโลยีในห้อง”

หลังจากนั้น ภีมก็ได้ทำคอนเสิร์ตขนาด Thunder Dome หรือ Royal Paragon Hall แล้ว ตั้งแต่ยังไม่เข้ามัธยมปลายด้วยซ้ำ

ภีม พูลผล จากลูกมือช่วยพ่อจัดไฟใน 7 สีคอนเสิร์ต สู่ Lighting Designer คอนเสิร์ตดังในวัย 23

ก้าวสำคัญ

พอเรียนจบ ม.3 ภีมตัดสินใจว่าอยากจะเรียนด้านนี้อย่างจริงจัง จึงมองหามหาวิทยาลัยต่างประเทศที่มีชื่อเสียงในด้านนี้ เขาและครอบครัวเลือกเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เพราะเป็นเมืองที่ใกล้ประเทศไทยที่สุด แต่ก่อนจะเข้ามหาวิทยาลัยที่โน่นได้ เขาต้องไปเรียนมัธยมปลายก่อน 2 ปี ซึ่งดูเหมือนเขาจะต้องห่างหายจากการทำ Lighting กับพ่อไปในช่วงระหว่างนั้น แต่ก็ไม่…

“ตอนแรกก็คิดว่าคงไม่ได้ทำไฟเลยช่วงที่ไปเรียนไฮสคูล แต่พลิกล็อก โรงเรียนที่ไปมีจัดละครเวทีทุกปี ตอนแรกๆ คนก็ไม่ค่อยเชื่อว่าเราจะทำได้เพราะเห็นเป็นเด็กเอเชีย พออยู่ไปเขาก็เริ่มเห็นความสามารถ ผ่านไปสักพักเราถึงกับขนไฟจากบ้านที่เมืองไทยไปออสเตรเลียไว้ให้โรงเรียนเช่า มันเลยเถิดมาก 

“ผมไม่เคยทำละครเวทีมาก่อน เอาจริงๆ ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ ก็เลยลองใช้สกิลล์จากการทำคอนเสิร์ตมาใส่ มีเวิร์กบ้าง ไม่เวิร์กบ้าง แต่พอทำไปปีสองปีก็เริ่มเรียนรู้แล้วว่า ละครเวทีมันต้องการความเป็นธรรมชาติมากกว่าความเปรี้ยงปร้าง ตูมตาม จะมากระโตกกระตากไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น การที่ไฟดวงหนึ่งจะหมุนไปหาคนคนนั้น มันต้องดับก่อนไปถึงตัวละคร A แล้วค่อยเปิด มันลากไปเลยไม่ได้ เพราะชีวิตจริงพระอาทิตย์มันไม่ได้หมุนมาหาเราแบบนั้น เหมือนกับเราจำลองไฟธรรมชาติอยู่”

ภีม พูลผล จากลูกมือช่วยพ่อจัดไฟใน 7 สีคอนเสิร์ต สู่ Lighting Designer คอนเสิร์ตดังในวัย 23

หลังจบไฮสคูล ภีมเลือกเรียนต่อมหาวิทยาลัยชื่อ NIDA (National Institute of Dramatic Art) ซึ่งสอนทั้ง Production Design, Lighting, Acting ทำฉาก คอร์สที่เขาเรียนคือ Technical Theatre and Stage Management ซึ่งเป็นการสอนโปรดักชันทั้งหมด รวมถึงการทำแสงสีเสียง ข้อดีของมหาลัยฯ นี้คือมีโรงละคร 5 โรง ทุกปี NIDA จะมีละคร 3 ซีซั่น ทุกครั้งที่มีละคร นักศึกษาทั้งหมดต้องมาทำงานด้วยกัน 

“สองปีแรกที่เข้าไปเรียนเขาสอนแต่การทำละครเวที ซึ่งเป็นจุดที่เราโหว่ ตอนทำคอนเสิร์ตมีอะไรก็เปิดร้อยเปอร์เซ็นต์ ขยับหมด แต่สายละครเวทีสอนให้รู้ว่า การเพิ่มไฟแค่ศูนย์หรือหนึ่งเปอร์เซ็นต์ก็สร้างความแตกต่างของอารมณ์คนดูได้ สามปีที่ทำละครกับ NIDA มา เราเริ่มจาก Assistant Stage Manager ตำแหน่งที่ต่ำที่สุด ถึงดีไซเนอร์ ตำแหน่งที่สูงที่สุด มันทำให้เรารู้ว่าหัวใจของแต่ละตำแหน่งก็มีหน้าที่ที่สำคัญ เพื่อจะประกอบกันเป็นละครหนึ่งเรื่อง 

“ผมว่าตัวเองโชคดีที่ไม่ได้เรียนแต่ Lighting พอกลับมาทำงานจริงๆ มันทำให้เราเข้าใจทุกคนมากขึ้น เราจะรู้ว่าขั้นตอนนี้ เราต้องขอความช่วยเหลือจากใคร ต้องทำยังไงให้งานเราราบรื่นขึ้น”

ภีม พูลผล จากลูกมือช่วยพ่อจัดไฟใน 7 สีคอนเสิร์ต สู่ Lighting Designer คอนเสิร์ตดังในวัย 23

ชื่อของ ‘ภีม พูลผล’

สมัยเรียน ภีมจะกลับมาไทยช่วงที่มีงานเทศกาลดนตรี Big Mountain เสมอ จนงานงานนั้นกลายเป็นคอนเสิร์ตที่เปลี่ยนชีวิตเขาไปเลยเมื่อ บอล-ต่อพงศ์ จันทบุบผา หรือ บอล Scrubb ผู้เห็นภีมมาทำงานกับพ่อแม่ตั้งแต่เด็ก ชักชวนให้ไปทำไฟให้วง Scrubb ที่งาน Big Mountain Music Festival 7 เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาเจอคนทำงานสายนี้มากขึ้นอย่าง โก อุเอดะ (Go Ueda) Lighting Designer ชาวญี่ปุ่น วอ-วรธร พีรพงศ์พรรณ และ ต้น-เรืองฤทธิ์ สันติสุข จาก ​DuckUnit พล หุยประเสริฐ เจ้าของบริษัท H.U.I. ชื่อของ ภีม พูลผล เป็นที่รู้จักในประเทศไทยมากขึ้น พอเรียนจบเขาจึงตัดสินใจกลับมาทำงานที่เมืองไทยทันที

ภีมมีโอกาสได้ทำงานมากมายหลังจากนั้น ยกตัวอย่างเช่น CAT EXPO, คอนเสิร์ต G19, POLYCAT, Potato, Bodyslam และ Big Mountain อีกหลายครั้ง หัวใจสำคัญของการทำงานนี้ที่เราสรุปได้จากการนั่งคุยกับภีมมี 2 ข้อคือ หนึ่ง ต้องถ่ายทอดความรู้สึกของศิลปินให้ดีที่สุด และสอง คนดูคือคนที่สำคัญที่สุด

ภีม พูลผล จากลูกมือช่วยพ่อจัดไฟใน 7 สีคอนเสิร์ต สู่ Lighting Designer คอนเสิร์ตดังในวัย 23
ภีม พูลผล จากลูกมือช่วยพ่อจัดไฟใน 7 สีคอนเสิร์ต สู่ Lighting Designer คอนเสิร์ตดังในวัย 23

“ถ้าทำงานกับวงที่เพลงเขาสื่อสารออกมาง่าย เนื้อเพลงตรงไปตรงมาอย่าง Scrubb เราอาจจะสื่อสารด้วยแสง ด้วยสีอย่างเดียวได้ แต่ถ้าเนื้อเพลงยากหน่อยอย่างพี่เล็ก Greasy Cafe ก็อาจจะต้องมีกราฟิกมาช่วยให้คนดูเข้าใจง่ายขึ้น แต่ต้องอย่าลืมว่า สุดท้ายคนไม่ได้มาคอนเสิร์ตเพื่อดูไฟนะ คนซื้อบัตรมาดูพี่เล็ก มาดูพี่บอล พี่เมื่อย คอนเสิร์ตส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ให้ศิลปินได้แสดงออกในสิ่งที่เขาเล่นที่อื่นไม่ได้ สมมติพี่ตูน Bodyslam เล่นเพลงความหมายลึกมาก เกี่ยวกับชีวิต ถ้าเล่นในร้านเหล้า คนคุยกัน มันเป็นไปไม่ได้ที่เขาจะเล่นเพลงนั้นในที่แห่งนั้นได้ เขาเลยต้องมีคอนเสิร์ตเพื่อถ่ายทอดอารมณ์และสิ่งที่ตั้งใจจะสื่อจากเพลงนี้ได้อย่างที่ตั้งใจที่สุด 

“คอนเสิร์ตเป็นพื้นที่ของศิลปิน ไม่ใช่ของเรา เราเป็นคนซัพพอร์ตเขา ให้เขาเล่าเรื่องของตัวเองได้ดีขึ้น ระหว่างทำงานเราเลยพยายามสื่อสารกับศิลปินตลอดเวลา เพราะสุดท้ายเขาคือคนเขียนบทหนัง เราเป็นแค่คนทำหนังให้เขา เราต้องคุยกับเขาให้รู้ว่าถ้าคุณเล่นเพลงนี้ แสงและภาพข้างหลังคุณจะเป็นยังไง”

ภีม พูลผล จากลูกมือช่วยพ่อจัดไฟใน 7 สีคอนเสิร์ต สู่ Lighting Designer คอนเสิร์ตดังในวัย 23

ผลงานที่สอนให้เก่งขึ้น

เราขอให้เขาเลือกงานที่ภาคภูมิใจ งานที่ชอบ งานที่สนุก งานที่เปลี่ยนชีวิตมา 5 – 6 งาน แต่เขาเลือกมา 10 และไม่ใช่เพราะทั้งสิบงานนั้นสมบูรณ์แบบทั้งหมด แต่เป็นงานที่มีข้อผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ซ่อนอยู่เสมอ ซึ่งทำให้เขาเติบโตและเก่งขึ้นเรื่อยๆ

01 SCUBB Big Mountain Music Festival 9 (2017)

ภีม พูลผล จากลูกมือช่วยพ่อจัดไฟใน 7 สีคอนเสิร์ต สู่ Lighting Designer คอนเสิร์ตดังในวัย 23

“จริงๆ เราเคยทำวงนี้มาตั้งแต่ 7 สีคอนเสิร์ต แล้ว เป็นวงที่อยู่ในทุกช่วงชีวิต แต่ปีนั้นเป็นคอนเสิร์ตที่แตกต่างจากที่ผ่านๆ มาเพราะสี ผมชอบใช้คู่สี เราจะศึกษาวงก่อนว่าอาร์ตไดเรกชันของเขาเป็นยังไง อย่างอัลบั้มแรกๆ จะใช้สี Aqua กับสีเหลือง ช่วงร็อกจะเป็นสีส้มสีแดง ซึ่ง Scrubb จะมีความป๊อป ใช้สีเหลืองกับสีฟ้ามาตลอด เป็นป๊อปเรโทร ไม่ค่อยลงชมพูเท่าไหร่ จนมาอัลบั้มหลังๆ พวกเพลงรอยยิ้มที่เป็นเพลงรักที่มีความหวานขึ้น

ภีม พูลผล จากลูกมือช่วยพ่อจัดไฟใน 7 สีคอนเสิร์ต สู่ Lighting Designer คอนเสิร์ตดังในวัย 23

“งานนี้ผมใช้ไฟนีออนไปตั้งบนเวที เพราะเห็นคอนเสิร์ตต่างประเทศเขามี Lighting Installation เป็นของตัวเอง และเป็นครั้งแรกที่เราออกแบบไฟเพลงต่อเพลง ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่เตรียมไว้เป็นชุด ชุดเพลงช้า ชุดเพลงเร็ว”

02 Klear / Palmy GENIE G19 (2018)

ภีม พูลผล จากลูกมือช่วยพ่อจัดไฟใน 7 สีคอนเสิร์ต สู่ Lighting Designer คอนเสิร์ตดังในวัย 23

“หลังจาก Big Mountain ครั้งแรก พี่พลก็ชวนไปทำสองงาน เป็นวง Klear กับปาล์มมี่ ผมก็ถามว่างานอะไร พี่พลบอกว่า ‘G19’ เดี๋ยว ราชมังฯ เลยเหรอพี่ งานนี้ใหญ่มากๆ เรื่องสีหลายๆ คนชม ส่วนเรื่องไดนามิกเราก็ยังไม่เก่งมาก คนดูยังไม่รู้สึกถึงไฟเราได้มากพอ เพราะเรียน Theatre มาด้วย มันเลยจะนิ่งๆ 

ภีม พูลผล จากลูกมือช่วยพ่อจัดไฟใน 7 สีคอนเสิร์ต สู่ Lighting Designer คอนเสิร์ตดังในวัย 23

“มันเปลี่ยนชีวิตมากนะ เรียนก็ยังไม่จบ เรียนเต็มเวลาด้วยนะ แล้ว NIDA ถ้าเป็นช่วงละครเรียนเก้าโมงเช้าถึงห้าทุ่ม บินไปบินมา เงินที่ได้มาก็ต้องเอาไปจ่ายค่าตั๋วเครื่องบิน เหนื่อยนะ แต่เขาให้โอกาสแล้วก็ต้องลองเหนื่อยดูสักตั้ง”

03 SCRUBB 18+ (2018)

ภีม พูลผล จากลูกมือช่วยพ่อจัดไฟใน 7 สีคอนเสิร์ต สู่ Lighting Designer คอนเสิร์ตดังในวัย 23
ภีม พูลผล จากลูกมือช่วยพ่อจัดไฟใน 7 สีคอนเสิร์ต สู่ Lighting Designer คอนเสิร์ตดังในวัย 23

“งานนี้ทำกับ DuckUnit เป็นงานฉาก เราเป็นคนออกแบบไฟ แต่ตอนนั้นยังไม่เข้าใจการดีไซน์ไฟให้ซัพพอร์ตฉากเท่าไหร่ รอบแรกไม่มีไฟไปส่องฉากเลย เราไม่ได้คิดถึงฉาก คิดแต่ว่าคนดูจะต้องเห็นไฟ แต่พอใกล้วันงาน พี่เขาก็สอนว่ามันต้องมีไฟส่องฉากด้วยนะ การที่จะเอาไปส่องฉากมันมีรายละเอียดนะ ต้องใช้ไฟยังไง ต้องใช้สีอะไร สิ่งที่พี่ต้น DuckUnit ทำคือการเอาสีทุกโทนที่ใช้ในฉากมาทาที่ไม้ แล้วเอาไฟแต่ละสีส่องดูว่าผลลัพธ์เป็นยังไง ฉากสีชมพูเจอไฟสีแดงจะกลายเป็นสีอะไร ปกติคอนเสิร์ตเขาจะปล่อยควันให้เห็นลำไฟ แต่พอมีฉาก สีไฟจะไปอยู่ที่ฉากมากกว่า ทำให้การย้อมฉากเป็นสิ่งสำคัญ”

04 Better Weather Better Together Concert (2019)

ภีม พูลผล จากลูกมือช่วยพ่อจัดไฟใน 7 สีคอนเสิร์ต สู่ Lighting Designer คอนเสิร์ตดังในวัย 23
ภีม พูลผล จากลูกมือช่วยพ่อจัดไฟใน 7 สีคอนเสิร์ต สู่ Lighting Designer คอนเสิร์ตดังในวัย 23

“Betther Weather เป็นคอนเสิร์ตแรกที่ทำในนามบริษัท Saturate Designs ทำไฟด้วย ทำกราฟิกด้วย ได้ผันตัวจากคนออกแบบไฟอย่างเดียว เป็นการออกแบบทั้ง Lighting และซีน ซึ่งกราฟิกของเราทำออกมาเพื่อสนับสนุนไฟ งานนี้ทำให้รู้ว่าตัวเองยังไม่เก่งเรื่องซิงก์ไฟกับเพลงหรือกราฟิก เรายอมรับ”

05 PENGUIN VILLA WHY FLY? CONCERT (2019)

ภีม พูลผล จากลูกมือช่วยพ่อจัดไฟใน 7 สีคอนเสิร์ต สู่ Lighting Designer คอนเสิร์ตดังในวัย 23

“งานที่แล้วทำให้ได้รู้จักคนมากขึ้น เลยได้มาทำคอนเสิร์ตให้พี่เจ Penguin Villa (เจตมนต์ มละโยธา) งานนี้ก็ไฟเป็นหลัก กราฟิกเป็นรอง ช่วงแรกจะเป็นกราฟิกจ๋า พอหลังจากเพลง Acrophobia ผ้าจะร่วงลงมาเป็นแผงไฟขนาดใหญ่ที่เราซ่อนไว้อยู่ คนก็กรี๊ด

ภีม พูลผล จากลูกมือช่วยพ่อจัดไฟใน 7 สีคอนเสิร์ต สู่ Lighting Designer คอนเสิร์ตดังในวัย 23

“เราอยากลองทำงานบนผ้าสีขาวบ้าง เพราะส่วนใหญ่คอนเสิร์ตจะเล่นบนผ้าสีดำหมดเลย เพราะมันควบคุมแสงได้ง่ายกว่า แต่เราอยากรู้ว่าสีขาวจะไปได้ถึงไหน”

06 POLYCAT I Want You Concert (2019)

ภีม พูลผล จากลูกมือช่วยพ่อจัดไฟใน 7 สีคอนเสิร์ต สู่ Lighting Designer คอนเสิร์ตดังในวัย 23
ภีม พูลผล จากลูกมือช่วยพ่อจัดไฟใน 7 สีคอนเสิร์ต สู่ Lighting Designer คอนเสิร์ตดังในวัย 23

“POLYCAT เป็นงานปล่อยของทุกอย่าง ปล่อยของจริงๆ วงน่ารักมาก เราตั้งใจจะทำ Time Code คือทำไฟซิงก์กับดนตรีร้อยเปอร์เซ็นต์ วิธีการทำงานคือ เราส่งนาฬิกาจากมือกลองมาหาหลอดไฟ แปลว่าไฟเราไม่ต้องกดเลย มือกลองเล่นปุ๊บ ไฟวิ่งเองทั้งโชว์ และเป็นงานแรกที่เอาจอ LED มาวางเป็นดีไซน์ที่มากกว่าแผงใหญ่ๆ ด้านหลังเหมือนงานทั่วไป เราเอาจอ LED มาทำเป็นแท่งปริซึม เพราะตีความจากคำว่า Poly ที่เป็นรูปหลายเหลี่ยม แล้ววงมีสามคนก็เลยมีสามแท่ง นี่เป็นงานของตัวเองงานแรกที่ออกสู่สายตาส่วนใหญ่เพราะเป็นงาน Lighting จริงๆ”

07 The TOYS Loy On Mars Concert (2019)

ภีม พูลผล จากลูกมือช่วยพ่อจัดไฟใน 7 สีคอนเสิร์ต สู่ Lighting Designer คอนเสิร์ตดังในวัย 23
ภีม พูลผล จากลูกมือช่วยพ่อจัดไฟใน 7 สีคอนเสิร์ต สู่ Lighting Designer คอนเสิร์ตดังในวัย 23

“ผมชอบคาแรกเตอร์ The TOYS อยู่แล้ว เขาเป็นคนกวนแต่เท่ เลยคิดว่าน่าจะทำอะไรได้เยอะ คอนเซปต์คือ Loy on Mars ช่วยคิดกับพี่พล หุยประเสริฐ ก็ได้เวทีออกมาเป็นวงกลม อยากให้เขารู้สึกเหมือนกำลังลอยอยู่ในสเปซที่มีไฟมากมาย งานนี้ก็ภูมิใจมากๆ คนพูดต่อเยอะ ชีวิตนี้ไม่เคยทำเวทีวงกลมด้วย ได้เรียนรู้ว่ามันยาก เพราะปกติมีคานติดไฟความยาวสิบสองเมตร เวทีธรรมดาเราเอาไปสิบสองตัววางได้เลย แต่นี่เราต้องเฉลี่ยเป็นองศาแล้วมาคำนวณอีกที”

08 Whal & Dolph Fish Market Concert (2019)

ภีม พูลผล จากลูกมือช่วยพ่อจัดไฟใน 7 สีคอนเสิร์ต สู่ Lighting Designer คอนเสิร์ตดังในวัย 23
ภีม พูลผล จากลูกมือช่วยพ่อจัดไฟใน 7 สีคอนเสิร์ต สู่ Lighting Designer คอนเสิร์ตดังในวัย 23

“งานนี้อาจจะไม่ค่อยเป็นที่พูดถึงเท่าไหร่ แต่เป็นงานที่ทำให้เราเหมือนได้กลับบ้านละครเวทีอีกครั้ง ทำเป็นตลาดปลา มีฉาก ผมได้เอาเทคนิคการทำไฟแบบละครมาปัดฝุ่นใหม่ คือต้องย้อมฉากด้วย ต้องย้อมคนด้วย ต้องทำให้รู้สึกว่ามันเรียบๆ ในขณะเดียวก็ต้องเอาเทคนิคไฟคอนเสิร์ตมาผสมด้วย”

09 POTATO Magic Hours Concert (2019)

ภีม พูลผล จากลูกมือช่วยพ่อจัดไฟใน 7 สีคอนเสิร์ต สู่ Lighting Designer คอนเสิร์ตดังในวัย 23
ภีม พูลผล จากลูกมือช่วยพ่อจัดไฟใน 7 สีคอนเสิร์ต สู่ Lighting Designer คอนเสิร์ตดังในวัย 23

“Magic Hours คือช่วงเวลาที่แสงจะสวยที่สุดของวัน เราเลยขายไปว่ามันคือปรากฏการณ์แสงจากหลายๆ ช่วงเวลามารวมกัน จะพูดถึงธรรมชาติเป็นหลัก เราเลยดีไซน์ไฟให้ต่างออกไป ปกติไฟจะอยู่แค่ที่เวที แต่พอเป็นปรากฏการณ์แสง เราคิดว่าคนดูก็ต้องได้รับสิ่งเดียวกันสิ เราเลยเอาไฟจำนวนเท่าๆ กับบนเวทีไปไว้กับคนดู เป็นร้อยๆ ดวงเลย คนดูเลยเหมือนได้อยู่ในโลกของ Potato แล้วก็มีเพลงที่วงเน้นชื่อ เธอคือเรื่องจริง ที่เราสร้างปรากฏการณ์รุ้งกินน้ำในอิมแพ็ค แค่ซีนนี้น่าจะสามแสนบาท”

10 Bodyslam นับ 1 ถึง 7 คอนเสิร์ต (2020)

ภีม พูลผล จากลูกมือช่วยพ่อจัดไฟใน 7 สีคอนเสิร์ต สู่ Lighting Designer คอนเสิร์ตดังในวัย 23
ภีม พูลผล จากลูกมือช่วยพ่อจัดไฟใน 7 สีคอนเสิร์ต สู่ Lighting Designer คอนเสิร์ตดังในวัย 23

“พอเริ่มได้รับความไว้ใจก็เลยได้ทำไฟให้กับวง Bodyslam ซึ่งค่อนข้างยาก เพราะปกติเป็นคนฟังเพลงป๊อป คือฟังเพลงเขานะ แต่ไม่เคยทำเพลงร็อกแบบนี้ เลยได้ออกมาเป็นคอนเสิร์ต Bodyslam ที่ไม่ตูมตาม แต่เน้นที่ Design Concept ความยากอีกอย่างคือเขาเล่นทั้งหมดสี่สิบเพลง แล้วศิลปินต้องดูงานก่อนทั้งหมด เลยกลายเป็นงานที่ได้เรียนรู้เรื่องการแบ่งเวลาไปด้วย”

รางวัลที่ยิ่งใหญ่

“เหมือนเวลาเราจะไปปล้นร้านทอง มันลุ้น”

ภีมตอบเราด้วยเสียงหัวเราะเมื่อถามถึงความสุขในการดีไซน์แสงสีในคอนเสิร์ต

“ผมชอบตอนทำคอนเสิร์ตที่สุด ชอบเห็นไฟจริงๆ ที่หน้างานจริงๆ เพราะเรารู้สึกว่ามันจับต้องได้ มันคือของจริง ชอบเห็นการตอบรับของคนดู มันมีอะดรีนาลีนบางอย่าง เพลงสรรเสริญฯ จบปุ๊บ ไฟดับ คนกรี๊ดแน่นอน เอาละว่ะ จุดนั้นคือจุดตัดสินชีวิตว่าเราจะรอดบนเขียงในสองชั่วโมงข้างหน้าไหม ศิลปินร้องเพลงให้คนดู แต่คนดูมองไม่เห็นหน้าเขา มันก็คือหน้าที่เรา ผมชอบโมเมนต์ที่กำลังจะเริ่มที่สุดแล้ว มันเหมือนงานที่เราทำมาทั้งหมดจะมีคุณค่าก็ตอนนี้

“วงการนี้เปลี่ยนไปเยอะมาก เมื่อก่อนไม่มีอาชีพ Lighting Designer ที่แยกออกมาทำเดี่ยวๆ ดีไซเนอร์ทุกคนจะอยู่กับบริษัทเจ้าของไฟ สมมติแกรมมี่ไปเช่าไฟกับบริษัทหนึ่ง เขาก็จะมีคนเล่นไฟอยู่แล้ว เวลาจ่ายเงินก็รวมเป็นแพ็กเกจเดียวกัน มาวันนี้ ลูกค้ามาหาเราก่อน แล้วเราถึงค่อยไปหาบริษัทเช่าไฟ เราเป็นหน้าด่านก่อน เทคโนโลยีก็พัฒนาขึ้น เรา Previsualization ให้ศิลปินเห็นงานก่อนได้ แต่ก่อนศิลปินไม่เคยได้เห็นก่อนเลยนะ บางงานประตูจะเปิดแล้วเพิ่งเห็นว่าไฟเวทีเป็นสีฟ้า พอเป็นแบบนี้ทั้งศิลปินและค่ายก็เริ่มจะเห็นคุณค่าของงานดีไซน์มากขึ้น

“รางวัลของเราคือการที่คนดูรู้สึกไปพร้อมๆ กับไฟในแบบที่เราอยากให้เขารู้สึก สมมติท่อนนี้ไฟดับหมดเลย แล้วอยู่ดีๆ ปั้ง! คนกรี๊ด หรือหลังจากจบงานไปถ้าเห็นคนถ่ายรูปไฟในคอนเสิร์ตเยอะๆ ไฟสวยมาก โชคดีที่เรามีโซเชียลที่ทำให้เห็นฟีดแบ็กงานตัวเองได้ง่ายขึ้น เมื่อก่อนไม่รู้เลยจนกว่าค่ายจะทำดีวีดี เราต้องไปร้านโดเรมีที่สยามซื้อดีวีดีมาดู สำหรับเราฟีดแบ็กจากวงและคนดูสำคัญที่สุด สุดท้ายอาจจะเป็นคนดูด้วยซ้ำไป เพราะเราทำคอนเสิร์ตให้คนดูดู แม้มันจะเป็นความภาคภูมิใจของวง แต่คนดูก็คือส่วนที่สำคัญที่สุด”

ความฝันของภีมในฐานะ Lighting Designer คือการได้ทำไฟให้กับวงดนตรีที่เขาชื่นชอบอย่าง Phoenix, 1975, Tame Impala และวงไทยอย่าง TELEx TELEXs เขาบอกว่า Lighting ในคอนเสิร์ตคือเครื่องมือช่วยสื่อความหมายในใจศิลปินได้ เป็นสิ่งที่ถึงตัวคนดูได้ง่ายที่สุด และอาจจะเข้าใจง่ายที่สุดด้วยซ้ำ หน้าที่ของเขาคือการควบคุมว่าคนดูจะเห็นหรือไม่เห็นอะไร แต่สุดท้ายแล้วมันคือการออกแบบ มันคือการออกแบบประสบการณ์ใน 2 ชั่วโมงนั้น ซึ่งมากไปกว่าแค่ทำให้คนเห็นหน้าศิลปินแล้ว

ภีม พูลผล จากลูกมือช่วยพ่อจัดไฟใน 7 สีคอนเสิร์ต สู่ Lighting Designer คอนเสิร์ตดังในวัย 23

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล