30 พฤษภาคม 2020
3 K

ร้อนและแห้ง

แค่คิดถึงภาพทะเลทราย จินตนาการถึงแดดแผดเผาและเม็ดทรายก็ทำให้รู้สึกไม่สบายเนื้อสบายตัว แต่หลังจากขี่อูฐบ้าง จี๊ปบ้าง เข้าทะเลทรายหลายต่อหลายครั้ง ภาพจำเดิมๆ เกี่ยวกับแดนแล้งเวิ้งว้างก็เปลี่ยนไป บางครั้งร้อนจัด บางครั้งลมแรงจนเหน็บหนาวและทรายปลิวเข้าซอกฟัน และบางครั้งเมื่อภูมิประเทศบันดาล ผืนทรายสีทองก็บรรจบกับมหาสมุทร 

ไปทะเลกลางทะเลทรายกาตาร์ สืบหาไข่มุกที่หายไปจากตะวันออกกลาง

Khawr al Udayd หรือ Inland Sea คือตัวอย่างทะเลทรายและทะเลโอบกอดกันกลมเกลียว เป็นเขตอนุรักษ์ธรรมชาติทางตะวันออกเฉียงใต้ของกาตาร์ที่ติดกับซาอุดีอาระเบีย พื้นที่อ่าวเล็กๆ ของประเทศเล็กๆ ที่มั่งคั่งด้วยน้ำมัน เป็นดินแดนที่เคยถูกแย่งชิงอย่างดุเดือด และเคยเป็นแหล่งชุมนุมโจรสลัด แต่ปัจจุบันทะเลสาบลากูนและหาดทรายสวยงามกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติยอดนิยมของกาตาร์

ไปทะเลกลางทะเลทรายกาตาร์ สืบหาไข่มุกที่หายไปจากตะวันออกกลาง
ไปทะเลกลางทะเลทรายกาตาร์ สืบหาไข่มุกที่หายไปจากตะวันออกกลาง

ทัวร์ยอดนิยมที่นักท่องเที่ยวชอบอกชอบใจซื้อเป็นแพ็กเกจ ประกอบด้วยการควบจี๊ปปุเลงๆ บนเล่นบนเนินทรายลูกแล้วลูกเล่า ขี่อูฐตัวโตที่แต่งตัวเก๋ไก๋ ชมวิวทะเลสาบบนเนินสูง และไปเล่นน้ำนอนอาบแดดที่ Sealine Beach 

ไปทะเลกลางทะเลทรายกาตาร์ สืบหาไข่มุกที่หายไปจากตะวันออกกลาง
ไปทะเลกลางทะเลทรายกาตาร์ สืบหาไข่มุกที่หายไปจากตะวันออกกลาง

วันนั้นแดดจัด ลมแรง เมื่อเหยียบเข้า Regency Sealine Camp สิ่งแรกที่เราทำคือย่ำฝ่าทรายร้อนๆ ไปจุ่มเท้าลงทะเล เพราะอยากรู้ว่าท่ามกลางความร้อนขนาดเมืองไทยชิดซ้าย น้ำจะอุ่นไหม คำตอบคือไม่ ทะเลอ่าวเปอร์เซียเย็นตามปกติ แค่ขับรถออกจากตัวเมืองที่หรูหราเพียงครู่เดียว ก็มาพักผ่อนหย่อนใจตามแคมป์ริมหาดเหล่านี้ได้ ในแคมป์มีทั้งห้องนั่งเล่นติดแอร์ ห้องกินข้าว ห้องเปลี่ยนชุดอาบน้ำเสร็จสรรพ นักท่องเที่ยวนุ่งบิกินี่เล่นน้ำได้ตามสบายหากต้องการ

ไปทะเลกลางทะเลทรายกาตาร์ สืบหาไข่มุกที่หายไปจากตะวันออกกลาง

ชีวิตของชาวทะเลทรายผูกพันกับทะเล ทุกฤดูร้อน ตั้งแต่มิถุนายนถึงกันยายน ชาวอาหรับโบราณจะออกเรือไปหาปลาและงมหาไข่มุก (Pearling) ในท้องทะเล เพื่อทำความเข้าใจความสำคัญของผืนน้ำเค็มต่อแดนอาหรับให้มากขึ้น เราไปเรียนรู้เรื่องนี้ที่ National Museum of Qatar มิวเซียมแสนสวยใหม่เอี่ยมที่เล่าประวัติชาติอาระเบียได้เก๋สนุก 

ข้อมูลในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติระบุว่า ก่อนการค้นพบน้ำมัน ทรัพยากรธรรมชาติที่พลิกโฉมดินแดนอ่าวเปอร์เซียให้ร่ำรวยมหาศาล ชีวิตความเป็นอยู่ในดินแดนแห้งแล้งยากลำบาก การเพาะปลูกจำกัดแค่ในโอเอซิส ที่พึ่งของพวกเขาคือทะเล และอัญมณีจากมหาสมุทรก็หล่อเลี้ยงชีวิตชาวอาหรับทั้งอ่าวเปอร์เซีย ทั้งคูเวต บาห์เรน อาหรับเอมิเรตส์ และการ์ตาร์ 

ไข่มุกเคยเป็นสินค้าส่งออกที่มูลค่ามากที่สุดของการ์ตาร์ โดยเฉพาะในช่วงศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 ไข่มุกจากอาหรับเป็นที่ต้องการจากทั่วโลก เริ่มจากในอินเดีย เปอร์เซีย จักรวรรดิออตโตมัน ไปจนถึงยุโรปและอเมริกาเหนือ ชนชั้นสูงและชนชั้นกลางทั่วโลกที่เติบโตขึ้นต้องการอัญมณีประดับกายและเสื้อผ้า ไข่มุกอาหรับจึงสร้างรายได้ให้ผู้คนตั้งแต่ระดับชาวบ้านถึงเศรษฐี บางครอบครัวเลี้ยงชีพด้วยการหาไข่มุกเป็นหลักอย่างเดียวทั้งปี นับเป็นหนึ่งในงานที่เก่าแก่ที่สุดของดินแดนอาหรับ

ไปทะเลกลางทะเลทรายกาตาร์ สืบหาไข่มุกที่หายไปจากตะวันออกกลาง
ภาพ : www.qm.org.qa
ไปทะเลกลางทะเลทรายกาตาร์ สืบหาไข่มุกที่หายไปจากตะวันออกกลาง

อุตสาหกรรมนี้เริ่มต้นด้วยกลุ่มชาวบ้าน ประกอบด้วยนักดำน้ำ (Ghawas) กัปตัน (Nokhudah) คนดึงเชือก (Sib) และลูกเรือฝึกหัด (Tabbab) ซึ่งออกเรือเป็นกลุ่มๆ จากท่าไปท้องทะเลลึก มีทั้งการออกเรือยาวนาน 2 เดือน ไปจนถึงระยะสั้น 40 วัน เมื่อไปถึงแหล่งหอยมุก นักดำน้ำที่นุ่งผ้าเตี่ยว ผูกกระชอนใส่หอยมุกไว้ที่คอ จะลงน้ำพร้อมเชือกผูกหินถ่วงน้ำหนักติดตัวเพื่อให้ลงน้ำลึกได้รวดเร็ว ระบบรักษาความปลอดภัยคือเชือกอีกเส้นที่ผูกเอวไว้ เมื่อเก็บหอยมุกให้มากที่สุดในลมหายใจเดียวเสร็จ นักดำน้ำจะกระตุกเชือกให้คนบนเรือดึงตัวขึ้นสู่ผิวน้ำ ซึ่งอาจตื้นแค่ไม่กี่เมตร ไปจนถึง 40 เมตร 

 นักดำน้ำมีอุปกรณ์เสริมติดตัวน้อยมาก เช่น คลิปอุดจมูก ถุงมือหนังคลุมปลายนิ้วไว้กันมือโดนบาด และอาจปั้นขี้ผึ้งหรือฝ้ายอุดหู คนกลุ่มนี้ทำงานหนักตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนพระอาทิตย์ตกดิน โดยเฉลี่ยนักดำน้ำต้องดำดิ่งลงน้ำราว 40 – 60 ครั้งต่อวัน เป็นงานที่เสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพมาก และชีวิตบนเรือต้องทรหดอดทน เพราะต้องประหยัดน้ำจืด มีอาหารหลักคือปลา ข้าว และอินทผลัม 

ทุกวันกัปตันเรือจะจับตาการแกะหอยมุกอย่างใกล้ชิด และเป็นผู้เก็บรวบรวมไข่มุกทั้งหมด เมื่อเดินทางกลับฝั่ง ไข่มุกที่งมมาได้จะถูกส่งต่อให้พ่อค้าไข่มุกนำไปค้ากำไรต่อ พ่อค้ารายใหญ่มักเป็นเจ้าของเรือหลายลำ ซึ่งรับประกันทั้งความมั่งคั่งและชื่อเสียง หลายครอบครัวสืบต่ออาชีพนี้จากรุ่นสู่รุ่น ผู้ขายไข่มุกต้องเป็นผู้มีความรู้ จำแนกประเภทและกำหนดราคาไข่มุกจากขนาด รูปร่าง สี และความวาว (Lustre) โดยอุปกรณ์คู่ใจพ่อค้าคือตาชั่ง ตะแกรง และช้อน พกใส่หีบไม้ Bishtakhtah ติดตัว

ไปทะเลกลางทะเลทรายกาตาร์ สืบหาไข่มุกที่หายไปจากตะวันออกกลาง
ภาพ : www.qm.org.qa

ไข่มุกที่สมบูรณ์แบบราคาแพงมาก และไข่มุกที่จับคู่หน้าตาเหมือนกันได้จะยิ่งแพงขึ้นไปอีก พ่อค้าไข่มุกจึงนิยมสะสมไข่มุกชั้นเลิศและรอคอยอย่างใจเย็น จนกว่าจะหาไข่มุกที่หน้าตาคล้ายคลึงกันมาขายเป็นชุด เนื่องจากไข่มุกตามธรรมชาติควบคุมคุณภาพไม่ได้ ไม่ว่าจะเก็บจากความลึกระดับไหน รูปทรงของอัญมณีจากทะเลจึงหลากหลาย ไม่กลมดิกเหมือนภาพจำที่เราคุ้นเคย

ไปทะเลกลางทะเลทรายกาตาร์ สืบหาไข่มุกที่หายไปจากตะวันออกกลาง
ไปทะเลกลางทะเลทรายกาตาร์ สืบหาไข่มุกที่หายไปจากตะวันออกกลาง
ไปทะเลกลางทะเลทรายกาตาร์ สืบหาไข่มุกที่หายไปจากตะวันออกกลาง

พิพิธภัณฑ์รวบรวมเครื่องประดับมุกอาหรับจากหลายประเทศหลากยุคสมัยมาจัดแสดง ทั้งมงกุฎ เทียร่า หมวก สร้อยคอ ต่างหู โดยชิ้นที่ยิ่งใหญ่อลังการที่สุดคือ ‘พรมไข่มุกแห่งพโรทา’ (Pearl Carpet of Baroda) ปักไข่มุกธรรมชาติเม็ดเล็กๆ จากอ่าวเปอร์เซียราว 1,500,000 เม็ด ไม่รวมเพชร ทับทิม และมรกต

ไปทะเลกลางทะเลทรายกาตาร์ สืบหาไข่มุกที่หายไปจากตะวันออกกลาง

มหาราชาแห่งเมืองพโรทาหรือวโฑทรา Khanderao II Gaekwad สั่งทำพรมผืนนี้ใน ค.ศ. 1860 และปักเสร็จสิ้นใน ค.ศ. 1865 พระองค์ตั้งใจนำพรมที่หรูหราไปประดับหลุมฝังศพนบีมูฮัมหมัด ศาสดาแห่งศาสนาอิสลาม ที่เมืองอัลมะดีนะฮ์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย แต่เจ้าเมืองพโรทาสิ้นพระชนม์เสียก่อน พรมนี้จึงตกเป็นของราชวงศ์ และต่อมากลายเป็นโบราณวัตถุล้ำค่าของพิพิธภัณฑ์แห่งชาติกาตาร์

ไข่มุกอาหรับกระจายตัวไปทั่วโลก ไม่ว่าไปราชสำนักอินเดีย พระราชวังอังกฤษ หรือคฤหาสน์ในอเมริกา อัญมณีจากอ่าวเปอร์เซียก็เดินทางไปถึง แต่ความรุ่งเรืองเฟื่องฟูของธุรกิจไข่มุกก็ค่อยๆ เสื่อมถอยลง โดยเฉพาะในยุค 1920 หลังปรากฏการณ์อังคารทมิฬ (Black Tuesday) ค.ศ. 1929 ที่ตลาดหุ้นนิวยอร์กล้ม ตามมาด้วยภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) ซึ่งส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลก ราคาไข่มุกตกลงอย่างหนัก

ไปทะเลกลางทะเลทรายกาตาร์ สืบหาไข่มุกที่หายไปจากตะวันออกกลาง
มิกิโมโตะ โคคิชิ (Mikimoto Kōkichi)  ภาพ : National Diet Library

ต่อมาในช่วง 1930 อุตสาหกรรมไข่มุกธรรมชาติสาบสูญไปจากอ่าวเปอร์เซีย เมื่อทั่วโลกหันมานิยมมุกเลี้ยงจากญี่ปุ่น เทคโนโลยีการเลี้ยงหอยมุกของมิกิโมโตะ โคคิชิ (Mikimoto Kōkichi) ซึ่งพัฒนาจนได้ไข่มุกรูปทรงงดงามขนาดใหญ่ปริมาณมากๆ โดยมีราคาเพียงหนึ่งในสิบของไข่มุกอาหรับ ทำให้ความนิยมไข่มุกธรรมชาติลดน้อยลง จนชาวอาหรับถูกบีบบังคับเลิกกิจการงมหอยมุกไปในที่สุด 

ความเปลี่ยนแปลงไม่ใช่จุดสิ้นสุด ประวัติศาสตร์เปลี่ยนโฉมหน้าไปโดยสิ้นเชิงเมื่อถึงยุคค้นพบน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ เบื้องลึกมหาสมุทรอ่าวเปอร์เซียคือทรัพยากรคุณค่ามหาศาล และความผูกพันกับทะเลของชาวอาหรับยังคงอยู่ แม้ผ่านกาลเวลา

ไปทะเลกลางทะเลทรายกาตาร์ สืบหาไข่มุกที่หายไปจากตะวันออกกลาง

ใครสนใจไปเยี่ยมทะเลและพิพิธภัณฑ์แห่งชาติกาตาร์ Qatar Airways เปิดเส้นทางบินจากกรุงเทพฯ สู่โดฮา ความพิเศษคือที่นั่ง Qsuites ชั้น Business Class เที่ยวกรุงเทพฯ – โดฮา กับเครื่อง Boeing 777-300ER แบบใหม่ล่าสุดนั้นหรูหราสบายเสมือนมีห้องส่วนตัวบนเครื่องบิน เพราะทุกที่นั่งกว้างมีฉากกั้นของตัวเอง แถมถ้ามาเป็นกลุ่มยังล้อมฉากใหม่เป็นห้องใหญ่ได้อีก ยกระดับการเดินทางเสมือนได้นั่งชั้น First Class ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมและจองตั๋วได้ที่นี่

ไปทะเลกลางทะเลทรายกาตาร์ สืบหาไข่มุกที่หายไปจากตะวันออกกลาง
ไปทะเลกลางทะเลทรายกาตาร์ สืบหาไข่มุกที่หายไปจากตะวันออกกลาง

ข้อมูลเพิ่มเติม

books.google.co.th

qittour.com/pearl-diving-in-qatar/

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง