15 ปีก่อน คุณน่าจะเคยรู้จัก แพร-พิมพ์ลดา ไชยปรีชาวิทย์ ในฐานะพิธีกรบนจอแก้วผ่านรายการวัยรุ่นที่ฮอตฮิตสุดแห่งยุค อย่าง Strawberry Cheesecake

จากนั้นเราเห็นหน้าเห็นตาเธอมาเรื่อยๆ ทั้งจากงานพิธีกรและนักแสดงหลายบทบาท

จนล่าสุด เธอทำเพจของตัวเอง ทำยูทูบแชนแนล PEAR is hungry ที่ใส่คำอธิบายเอาไว้ว่า ‘อาหารจะทำให้เรารักกันมากขึ้น’

เธอชอบทำอาหาร ชอบเดินทาง ชอบทดลองและลงมือทำอะไรๆ ด้วยตัวเอง นี่เลยเป็นส่วนผสมของบทบาท ‘นักเล่าเรื่องอาหาร’ ที่เธอเป็นล่าสุด

ท่าทีที่เธอออกสื่อเป็นเช่นไร ตัวตนในบ้านของหญิงสาวผู้สร้างความหิวที่เราเห็นวันนี้ไม่มีอะไรต่าง เธอยังคงสดใส คุยสนุก จะมีเรื่องเซอร์ไพรส์ก็แต่เธอเป็นนักเรียนรู้กับทุกอย่าง (ถ้าคุณลองนับจะพบว่าเธอพูดคำว่าเรียนรู้เกิน 20 ครั้ง) และเป็นคนคิดมากกว่าที่เราคิด

เรามาถึงก่อนเวลานัดหมายเล็กน้อย ก้าวเท้าเข้าประตูบ้าน แซมมี่ สมาชิกสี่ขาแสนซนพันธุ์บอสตันเทอร์เรียร์ ของ ผ้าป่าน-สิริมา ไชยปรีชาวิทย์ ผู้เป็นน้องสาว รีบวิ่งมาทักทายด้วยการทำจมูกฟุดฟิด ก่อนกระโดดขึ้นบนตักราวกับคุ้นเคยกันมานาน

ส่วนเจ้าบ้าน เมื่อเห็นเจ้าหมาช่วยรับแขก เธอก็ผละไปเปิดตู้เย็น หยิบวัตถุดิบง่ายๆ มาเตรียมทำเมนูยามบ่ายต้อนรับ เธอว่าใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที

Toast Grilled Cheese ในจานหมดลง บทสนทนาเพื่อเรียนรู้ชีวิตในบ้านของคนตรงหน้าจึงเริ่มต้นขึ้น

บ้านของแพร พิมพ์ลดา แห่ง PEAR is hungry ที่มีครัวเป็นห้องเรียนรู้

การทำบ้านคือการเรียนรู้คนในบ้าน

ตึกแถวขนาด 3 ชั้น คือบ้านที่บรรจุชีวิตของครอบครัวไชยปรีชาวิทย์ แพรมีพี่น้อง 6 คน แม้ไม่ใช่บ้านที่อยู่มาแต่เกิด แต่เป็นบ้านที่โตมากับเธอ หลังครอบครัวย้ายเข้ามาอยู่ในช่วงที่แพรเรียนมหาวิทยาลัย (เธอว่าอย่าไปนับอายุเชียว)

แปลนบ้านเรียบง่าย สำเร็จรูป ชั้นล่างเป็นห้องนั่งเล่น ห้องกินข้าว และครัวที่เจ้าตัวขอแบ่งพื้นที่เป็นห้องอัด พร้อมห้องคลังแสงเก็บวัตถุดิบปรุงอาหาร

ส่วนชั้นบนเป็นพื้นที่ส่วนตัวของสมาชิกทั้ง 8

แพรเริ่มต้นเล่าให้ฟังว่า บ้านหลังนี้ตกแต่งด้วยฝีมือเธอ ในวัยที่ยังไม่รู้จักสไตล์ที่ชอบ ในวันที่ห่างไกลความรู้ด้านดีไซน์ แม่ชวนไปเลือกกระเบื้องก็จิ้มๆ เอาสีขาวไว้ก่อน เฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่มาจากบ้านเก่า แพรเล่าแบบติดตลกว่า ไม่ค่อยมีอะไรที่เข้ากันสักอย่าง ประตูห้องแต่ละคนยังไม่เหมือนกันด้วยซ้ำ เพราะพ่อกับแม่ปล่อยให้ลูกๆ ออกแบบพื้นที่ของตัวเอง ตรงไหนที่เป็นส่วนรวมจึงถามความคิดเห็นทุกคนและเลือกที่ฟังก์ชันเอาไว้ก่อน

อยู่มาวันหนึ่ง เธอเกิดอยากทำบ้านใหม่ ครั้งแรกลงทุนให้อินทีเรียดีไซเนอร์วาดบ้านในฝันอย่างดี แต่เจ้าของบ้านสูงวัยไม่แอพพรูฟจึงต้องพับโครงการ ครั้งที่สองเกิดจากการเรียนรู้ว่าถ้ารื้อทั้งหมดแม่ไม่ยอมแน่ ด้วยเป็นพื้นที่ส่วนกลาง ก็ต้องพยายามให้เขามีส่วนร่วมในการออกความคิดเห็น แม้แม่จะเริ่มคล้อยตามบ้างแล้ว แต่ในอีกมุม เมื่อของทุกอย่างยังไม่พัง ไฉนต้องทุบแล้วทำใหม่กันด้วยเล่า

นั่นเลยทำให้แพรได้เรียนรู้เรื่องการประนีประนอมอย่างเต็มขั้น

“เราแยกเป็นสองเรื่อง เรื่องการทำบ้านกับการทำห้อง การทำบ้านเป็นการเรียนรู้คนในบ้านว่าพื้นที่ไหนเป็นของใคร และจะทำอย่างไรให้อยู่ร่วมกันอย่างสบายใจ ส่วนทำห้องคือเรียนรู้ตัวเราเอง”

อย่างที่เล่าไปตอนต้นว่าเธอแบ่งครัวเป็นสตูดิโอเล็กๆ ในการอัดคลิปโฮมเมด ครั้นจะเปลี่ยนพื้นที่ทั้งหมด มองเห็นความเป็นไปได้ยาก เธอตัดสินใจลองอีกครั้งด้วยการทำเป็นมุมๆ 

“จริงๆ แม่เราเป็นคนเปิดมากนะ ไม่ได้ปิดกั้นทุกอย่างแบบคนหัวโบราณ เราว่ามันเป็นการเรียนรู้การบาลานซ์พื้นที่ของเขา สร้างความเชื่อใจแบบค่อยๆ ไล่ระดับ และเขาก็รู้สึกว่าที่แพรทำมันโอเค จน ณ ตอนนี้เราทำอะไรให้กับบ้านก็ได้”

มุมแรกเริ่มจากฟังก์ชัน ติดชั้นวางของไม้ที่แพรลงมือต่อเอง นำอุปกรณ์ทำครัวเรียงไว้อย่างเป็นระเบียบ และย้ายเครื่องกรองน้ำลงไปไว้ในตู้ด้านล่าง พร้อมติดที่ห้อยเรียงกระทะเป็นชั้นๆ

บ้านของแพร พิมพ์ลดา แห่ง PEAR is hungry ที่มีครัวเป็นห้องเรียนรู้

ส่วนมุมหน้าต่างครัว เริ่มขยับไปที่การซ่อมแซมและเสริมความสวยงาม

ดีลที่สองสำเร็จ! เธอโน้มน้าวจนเอาเหล็กดัดออกไปได้

“ถ้าใครรู้จักแม่เราจริงๆ จะรู้ว่าเขาเป็นคนห่วงความปลอดภัยมาก เอ๋-มณีรัตน์ คำอ้วน มานอนบ้านยังขำอยู่จนทุกวันนี้ว่า แม่เราล็อกสามชั้น ล็อกประตูข้างหน้าที่เป็นกรงสีขาว ล็อกประตูกระจก แล้วล็อกประตูนอกอีก การเอาลูกกรงออกเลยเป็นเรื่องเหลือเชื่อมาก แต่เขายอมฟังเรา เพราะเห็นแล้วว่ามุมหนึ่งสองสามสี่มันรอด มันดี ” แพรเล่าอย่างติดตลก ก่อนชวนให้ชะโงกหน้าออกไปนอกหน้าต่างที่อยู่สูงจากคลองระบายน้ำในระยะเอื้อมไม่ถึง

บ้านของแพร พิมพ์ลดา แห่ง PEAR is hungry ที่มีครัวเป็นห้องเรียนรู้

การทำห้องคือการเรียนรู้ตัวเอง

จากชั้นล่าง เราขอเดินตามแพรขึ้นบันไดไปยังชั้น 3 ห้องนอนและห้องทำงานสีเหลืองสดซึ่งไม่ได้เพิ่งทาใหม่ แต่เธอเลือกสีนี้มาก่อนกาล ในยุคที่ช่างงงว่าทำไมถึงเอาสีทาภายนอกมาทาภายใน 

เดินผ่านห้องนอนสีหวานที่บนชั้นเต็มไปด้วยหนังสือการ์ตูนเล่มโปรด ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับอาหาร เช่น ไอ้หนูซูชิ, จอมโหดกระทะเหล็ก, เซียนบะหมี่สีรุ้ง, ยอดกุ๊กแดนมังกร, ยุทธภูมิกระเพาะเหล็ก โดยเล่มที่เปลี่ยนโลกให้กับแม่ครัวตัวจิ๋วเลยคือ โซ้ยแหลก ที่แพรเคยหยิบสูตรซูชิทอดจากในนั้นไปทำจริงมาแล้ว

ส่วนเตียงนอนวินเทจตรงข้าม ไม่รู้ว่าน่ารักเพราะดีไซน์บวกสีเหลืองนวลเข้ากันดีกับผนัง หรือเรื่องที่เล่าว่าเป็นเตียงเก่าของพ่อแม่ซึ่งใช้ตอนแต่งงาน ก่อนส่งต่อให้อาม่า และตกทอดมาถึงเธอหรือเปล่า

บ้านของแพร พิมพ์ลดา แห่ง PEAR is hungry ที่มีครัวเป็นห้องเรียนรู้

ห้องทำงานแต่ละมุมประดับประดาด้วยข้าวของที่ชอบทั้งเฟอร์นิเจอร์เก่า งานหวาย รูปภาพ สารพัดสิ่งเล็กสิ่งน้อย และมีเรื่องราวซ่อนอยู่ทุกชิ้น 

“ห้องนี้บ่งบอกความเป็นตัวเรามากที่สุด เพราะเป็นพื้นที่ที่ไม่ต้องประนีประนอมกับใคร อยากเอาอะไรมาใส่ก็ใส่ไปเลย แต่ละมุมเรามองเรื่องดีไซน์กับฟังก์ชันไปในทิศทางเดียวกัน แต่เราเปลี่ยนเลย์เอาต์ห้องบ่อยมากนะ นี่น่าจะเป็นเวอร์ชันที่เจ็ดหรือแปดแล้ว” เธอพาเดินรอบๆ ก่อนค่อยๆ เล่าแต่ถึงละมุม

“เราชอบรายละเอียดของของเก่า แล้วชอบ DIY เอง อย่างกระจกบ้านนี้ตั้งแต่สมัยประถม เคยอยู่ในห้องนอนคนงานมาก่อน ตู้ไม้ที่เป็นช่องๆ นี้ ให้ทายว่ามันคืออะไร” เธอชี้ไปยังโต๊ะเครื่องแป้ง

เราไล่ตั้งแต่ตู้เก็บเอกสาร ช่องใส่ยาโต๊ะเก็บไวน์ แต่ไม่ถูกสักอย่าง ยกมือยอมแพ้ดีกว่า

“มันคือที่เก็บรองเท้าเด็ก” นักประดิษฐ์เฉลย

“ไปซื้อมาจากร้านเฟอร์นิเจอร์ขายของเด็ก ลดราคา ก่อนหน้านี้เอามาใช้หลายอย่างมาก เป็นชั้นวางหนังสือ พอหนังสือมากขึ้นเริ่มไม่พอ ก็เลยเปลี่ยน เป็นโต๊ะเครื่องแป้ง หน้าบานที่ปิดอยู่ คือแผ่นกั้นให้เป็นสองชั้น เพื่อให้วางได้สองคู่ เราก็ดึงออก” 

ถัดไปเป็นมุมโต๊ะทำงาน ซึ่งมีสองมุม มุมหลักที่ใช้งานบ่อยเป็นโต๊ะนั่งพื้น และมีอุปกรณ์ข้างกายอย่างอุปกรณ์วาดรูป เครื่องเขียน ข้างกันมีตู้เก็บอุปกรณ์ทำงานศิลปะ ส่วนโต๊ะนั่งอยู่ติดริมหน้าต่าง บนโต๊ะมีสารพัดหินสะสมจากหลากหลายที่ วันไหนก็หยิบมาล้างน้ำจนใสสะอาด เพื่อเรียกพลังงานเพิ่ม (แต่แพรแอบกระซิบว่าไม่ได้มู จริงๆ นะ)

“เราวาดรูปบำบัดตัวเองจากความเครียด เพราะเป็นคนที่คิดเยอะมาก อาจารย์สอนวาดรูปคนแรกของเราคือ ฮ่องเต้ (กนต์ธร เตโชฬาร) สอนแค่ชั่วโมงเดียว ก็ให้เราลองวาดคอนทัวร์เลย เป็นการวาดเส้นต่อกันห้ามยก และบอกให้ฝึกวาดทุกวันไปเรื่อยๆ ซึ่งช่วงนั้นเราวาดทุกวันจริงๆ นะ หลานมาก็ชวนหลานวาดรูป”

บ้านของแพร พิมพ์ลดา แห่ง PEAR is hungry ที่มีครัวเป็นห้องเรียนรู้

อีกฝั่งผนังเป็นโซนรูปภาพที่แฟนคลับทำให้และของกระจุกกระจิกที่เก็บไว้เพราะมีเรื่องเล่า อาทิ ช่อดอกไม้ที่เพื่อนให้มา สารพัดภาพสัตว์ที่ประดับงานแต่งก้อย-ตูน ลังไม้ที่เก็บมาจากข้างทางรถไฟในญี่ปุ่น ตู้จากออฟฟิศเก่า และผ้าพิมพ์ส่วนผสมของ Traditional Yorkshire ที่ซื้อจากตลาดในเมืองยอร์ก ประเทศอังกฤษ ซึ่งไปโร้ดทริปกับ ว่านไฉ (อคิร วงษ์เซ็ง) อาสาพาไปหลง จนเป็นต้นกำเนิดของ PEAR is hungry

บ้านของแพร พิมพ์ลดา แห่ง PEAR is hungry ที่มีครัวเป็นห้องเรียนรู้
บ้านของแพร พิมพ์ลดา แห่ง PEAR is hungry ที่มีครัวเป็นห้องเรียนรู้

ด้านนอกระเบียง เธอแบ่งพื้นที่ไว้ปลูกต้นไม้และทดลองปลูกผัก เพื่อดูว่าคนที่มือร้อน จับอะไรเป็นตาย ขนาดกระบองเพชรยังไม่รอด จะเลี้ยงต้นไม่ไหวหรือเปล่า 

“พอเราใส่ใจมันมากขึ้น ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าไม่ใช่แค่อยากรดน้ำก็รด แต่เราต้องสังเกตว่าเขาต้องการอะไร เรียนรู้ลักษณะต้นไม้ แล้วเข้าใจนิสัยเขาจริงๆ แต่ละต้นมีความชอบต่างกัน บางต้นชอบน้ำมาก บางต้นชอบแดด แต่วันไหนแดดร้อนเกินไปก็ไม่ไหว การเลี้ยงต้นไม้ทำให้เข้าใจความสัมพันธ์ เหมือนเวลามีแฟน ต้องรู้ว่าเขาต้องการอะไร ไม่ใช่เราคิดว่าสิ่งนี้ดีแล้วเราอยากให้ พังตลอดเลย ตอนนี้เลยรู้สึกว่า ต้นไม้รอด ชีวิตคู่เราต้องรอดแล้ว” เธอหัวเราะเขินๆ

บ้านของแพร พิมพ์ลดา แห่ง PEAR is hungry ที่มีครัวเป็นห้องเรียนรู้

“อีกเรื่องคือ เราแพลนไว้ว่าต่อจากนี้จะทำสวนเอง ตอนนี้เลยลองปลูกผักแบบออร์แกนิกให้คนในครอบครัวกิน เป็นผักที่เก็บกินใบได้ ใบมินต์ เคล และยังช่วยเรื่อง Zero Waste สำหรับเรามาก อย่างเวลาทำอาหาร ซื้อกะเพรามากำหนึ่ง จริงๆ เราใช้แค่สิบใบเอง ที่เหลือทิ้งหมดเลย อันนี้เด็ดแค่พอใช้ และเลี้ยงมันในต้นต่อไป”

เรียนรู้ว่าการเปิดร้านอาหาร ไม่ใช่การทำอาหาร

ไหนๆ ก็วนมาเรื่องอาหาร เลยชวนคุยถึงที่มาที่ไปในการเข้าครัวของนักเล่าเรื่องชวนหิวคนนี้สักนิด 

“การทำอาหารเกิดขึ้นจากการเห็นแก่กิน” แพรเกริ่นด้วยเสียงหัวเราะแล้วเล่าต่อว่า สมัยก่อนบ้านเป็นกงสี อาม่ากับซิ่มเป็นคนทำอาหารทุกเวลาแล้วก็ตั้งเอาไว้บนโต๊ะ หลังเลิกเรียน เด็กหญิงพิมพ์ลดาจะรับหน้าที่ถืออาหารไปไว้บนโต๊ะ ระหว่างทางก็แอบกินไปเรื่อยๆ นานวันเข้าซิ่มก็ชวนเข้าครัว หัดทำไข่เจียว วันว่างก็เล่นทำอาหารกับญาติๆ 

“ช่วงช่วงประถม มัธยมต้น ถ้าคนถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร ก็จะบอกเสมอว่าอยากเปิดร้านอาหาร อยากเป็นเชฟ พอเราทำแล้วอร่อย อาเจ็กกินก็ เฮ้ย ทำได้ไง รู้สึกเป็นรางวัลที่มีคนชม กลายเป็นความฝัน ซึ่งเราได้เปิดร้านอาหารแล้ว แต่ก็ปิดไปแล้วเช่นกัน”

นี่คือเรื่องสำคัญในชีวิตที่สอนให้คนชอบทำอาหารแต่ไม่มีความรู้เรื่องการทำร้านอาหารได้เรียนรู้อีกอย่าง 

“เราเปิดร้านซุปและคิดสูตรเอง เพราะอยากไปต่อเลยลงเรียนคอร์สเล็กๆ International Cuisine ของสวนดุสิตกับที่เลอกอร์ดองเบลออีก พอเรียนจบเราเริ่มรู้มากขึ้น แต่เอาจริงๆ การทำร้านอาหารเป็นคนละเรื่องกับที่ฝันไว้เลย มันไม่ใช่การทำอาหาร แต่คือการบริหารคนในการทำอาหาร พอหันกลับไปตอนนั้นรู้สึกว่าเราโคตรอ่อนต่อโลก เราเปิดร้านโดยที่ยังไม่ได้มีความรู้มากนัก แถมยังเปิดก่อนเรียนจบด้วย เราแค่ทำในสิ่งที่เราอยากกิน แต่ไม่รู้วิธีการบริหารจัดการด้วยซ้ำ ว่าจะทำยังไงให้อาหารทุกจานออกมาเหมือนกัน การ Half Cool แล้วค่อยมาจบงานก่อนเสิร์ฟ

“โชคดีที่คนรอบๆ ข้างช่วยเหลือเราหมดเลย มี เชฟแวน (เฉลิมพล โรหิตรัตนะ) มาช่วยสอนให้เรียนรู้ไปทีละขั้น แต่ท้ายที่สุดมันไม่เหมือนการทำอาหาร เลยคุยกับน้องชายว่าปิดดีกว่า แล้วค่อยไปทำสิ่งที่ตัวเองชอบ จากนั้นเลยเริ่มทำเพจ

“ต้องบอกก่อนว่าเราไม่ได้เก่งเรื่องการทำคอนเทนต์เลย ทุกอย่างค่อยๆ เรียนรู้หมด เรียนรู้จากความผิดพลาด ว่าทำอันนี้ไม่เวิร์ก แต่ก่อนหน้านี้เป็นคนชอบจัดการ ต้องวางแผนทุกอย่างให้ครบค่อยลงมือทำ ถ้าอันไหนเสี่ยง ยังไม่รู้ว่าผลจะเป็นยังไง จะไม่ลงมือทำเลย 

“จนกระทั่งทำ PEAR is hungry จริงๆ ก่อนทำคิดมาเป็นปีแล้วไม่ได้ทำสักที จนวันที่ว่านบอกอยากไปอังกฤษ เออ อยากไปเหมือนกัน ไปกันป่ะ อันนั้นคือไม่คิดแล้ว กระโดดลงไปทำเลย พอทำและเห็นข้อผิดพลาด สิ่งที่เราขาดตกหล่น ก็ค่อยๆ เติม

“พอแก่ตัวเรื่อยๆ เหมือนใจมันแกร่งขึ้น ก็แค่พลาด แล้วไปต่อแค่นั้นเอง จุดสำคัญคือตัวตนเราโตขึ้น แล้วเรียนรู้ว่าเรื่องบางเรื่องควบคุมได้ บางเรื่องไม่ได้ จงเรียนรู้กับความผิดพลาด พอเข้าใจถึงคำเหล่านี้ มันทำให้ชีวิตเราสบายขึ้น เบาขึ้น และสนุกขึ้น เอาจริงพูดปีนี้กับปีที่แล้วยังไม่เหมือนกันเลย เรียกว่าเจ็บจนชิน”

บ้านของแพร พิมพ์ลดา แห่ง PEAR is hungry ที่มีครัวเป็นห้องเรียนรู้

ขอคั่นโฆษณาสักครู่ PEAR is hungry เป็นรายการเล่าเรื่องแบบไม่มีวันอิ่ม มีรายการที่พาไปตะลุยชิมอาหาร สอนทำเมนูง่ายๆ พาเข้าครัวบ้านเพื่อน และล่าสุดชวนคุณแม่มาไลฟ์สดด้วย ส่วนโปรเจกต์ถัดไป แพรกระซิบบอกว่า กำลังจะทำมื้ออาหารของตัวเองในรูปแบบ Chef’s Table เป็นเมนูที่อยากให้ทุกคนได้กิน รอติดตามเร็วๆ นี้ได้เลย

การทำงานกับตัวเองทำให้เรียนรู้ว่าความสุขหาได้ง่ายๆ 

หลังบทสนทนาเงียบลงสักครู่ คนตรงหน้าพึมพำขึ้นมาว่า

“ยิ่งวางยิ่งเบา”

มีเรื่องไหนที่วางแล้วเบา-เราถามทำลายความเงียบ

แพรนิ่งคิด และเงียบไปพักใหญ่

“ความคาดหวัง ไม่ได้ทำได้ร้อยเปอร์เซ็นต์นะ แต่บางทีถ้าเราวางความคาดหวังต่อตัวเองลงได้ เคยสัมผัสว่ามันเบาจริงๆ เราเคยร้องไห้กับยอดวิว ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีผลกับลูกค้า กับน้องๆ ที่เราต้องดูแล เราเคยอยู่ในจุดที่ทำคอนเทนต์เสิร์ฟคนชอบ เพราะรู้ว่าทำให้คนดูมากกว่า หรือง่ายต่อเรามากกว่า แต่ก็เรียนรู้แล้วว่ามันไม่เวิร์กเสมอไป ท้ายสุดเราอยู่กับมันได้ไม่นาน เพราะไม่ใช่ตัวตนเรา ณ ตอนนี้ เราใช้คำว่าทำในแบบที่ชอบและขยี้ลงไปเรื่อยๆ คนชอบในสิ่งนี้ก็จะมาเจอกันเอง คิดว่านะ

“วันนี้ที่พูดได้เพราะเราทำงานกับตัวเองมาเยอะมาก เรียนรู้แล้วว่าเราชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ย้อนไปเมื่อสิบปีที่แล้ว เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองชอบฟังเพลงแบบไหน ไม่รู้ด้วยว่าชอบแต่งตัวสไตล์ไหน เพราะอยู่กับการที่มีสไตล์ลิสต์แต่งตัวให้ การเริ่มทำงานกับตัวเองทำให้เราหาความสุขง่ายๆ ได้มากเลย เพราะเรารู้แล้วว่านี่คือความชอบ จากนั้นก็ลงมือและใช้เวลากับมัน ยิ่งถ้ามันหาได้โดยที่อยู่ในบ้านเรา มันยิ่งพลัสคูณสอง”

บ้านของแพร พิมพ์ลดา แห่ง PEAR is hungry ที่มีครัวเป็นห้องเรียนรู้

แล้วความสุขที่หาได้ในบ้านของแพรคืออะไร-เราถาม

“คือการใช้เวลากับที่บ้านและทำอาหารให้ครอบครัวกิน แต่ก่อนเป็นคนไม่ติดบ้านเลยนะ ทุกคนรู้ว่า ถ้าเราอยู่บ้านเกินสามวันจะผื่นขึ้น (หัวเราะ) ต้องออกไปข้างนอก พอวัยทำงานก็ออกจากบ้านทุกวัน กลับถึงบ้านแค่อาบน้ำนอน หกโมงเช้าตื่นมาไปกองถ่าย 

“ตอนนี้พ่อกับแม่เขาแก่แล้ว เลยตั้งจุดเล็กๆ ว่าอยากทำอาหารให้แม่กินทุกวัน แล้วเขาชมว่าแพรทำอาหารอร่อยมากกกกก ก็มีความสุขแล้ว กลับกัน พ่อไม่กินอาหารเราเลย วันไหนเขากินเราก็แฮปปี้ (หัวเราะ) 

“แล้วเราก็ไม่เคยมีความคิดจะย้ายออกไปไหน เพราะเป็นคนติดครอบครัวมาก โตมากับการที่ลูกหกคนนอนอยู่บนเตียงด้วยกัน พอโตขึ้นมาหน่อยเป็นห้องสามคน พอพี่สาวแต่งงานแล้วย้ายออก เป็นครั้งแรกที่อยู่ห้องคนเดียว เลยนั่งร้องไห้ เพราะเหงา (หัวเราะ) ทำไมห้องโล่งขนาดนี้ ปรับตัวไม่ทัน คิดอยู่อย่างเดียวว่าถ้าต้องออกจากบ้านนี้ ต้องแต่งออกเท่านั้นเลย” เธอว่าขำๆ ก่อนจบประโยคด้วยถ้อยคำน่ารักที่ซ่อนความรักไว้ไม่มิด

“แม่สร้างบ้านนี้ไว้ตั้งใจให้เป็นบ้านสำหรับทุกคน ถึงใครแต่งงานหรือไม่แต่งงานก็อยู่ไปได้จนตาย”

บ้านของแพร พิมพ์ลดา แห่ง PEAR is hungry ที่มีครัวเป็นห้องเรียนรู้

Writer

Avatar

ปาริฉัตร คำวาส

อดีตบรรณาธิการสื่อสังคมและบทความศิลปวัฒนธรรม ผู้เชื่อว่าบ้านคือตัวตนของคนอยู่ เชื่อว่าความเรียบง่ายคือสิ่งซับซ้อนที่สุด และสนใจงานออกแบบเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (กับเธอ)

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน