แม้จะต้องเผชิญกับวิกฤตหมอกควันแทบทุกฤดูร้อน แต่เราเชื่อว่า ‘เชียงใหม่’ ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางในฝันของใครหลายคนอยู่ดี เพราะใครเล่าจะไม่อยากใช้ชีวิตแบบคนเมืองเหนือ ท่ามกลางขุนเขาที่ลมหนาวพัดผ่านต้นไม้ใบหญ้า นำพาบรรยากาศรื่นรมย์มาให้ทุกปลายปี

คนต่างถิ่นจำนวนไม่น้อยติดอกติดใจเสน่ห์ความเนิบช้า จึงขึ้นมาตั้งถิ่นฐานปลูกบ้านที่เมืองเหนือ เช่นเดียวกับ จิ๋ม-ภรณี เจตสมมา อดีตชาวกรุง เจ้าของเรือนไม้หลังงามที่สร้างขึ้นด้วยฝีมือและทักษะของ ‘สล่า’ อันเป็นคำเมืองที่ใช้เรียกนายช่างผู้สร้างสรรค์สถาปัตยกรรมด้วยเทคนิคแบบล้านนาที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ

ต้นจามจุรี ภาษาเหนือเปิ้นเรียกฉำฉา ออกดอกบานสะพรั่งและร่วงหล่นเมื่อสิ้นลมหนาว ให้ร่มเงาตระหง่านปกคลุมรอบรั้ว ซึ่งประกอบไปด้วยเรือน 3 หลังต่างฟังก์ชัน และแมกไม้นานาพันธุ์ที่กระจัดกระจายให้สีเขียวเย็นตาไปทั่วอาณาบริเวณ

บ้านสวน ในฝัน ที่สร้างจากไม้เก่าทั้งหลังด้วยฝีมือและเทคนิคของสล่าล้านนา

เมื่อปีก่อน ภรณีปรับปรุงบางส่วนของบ้านเพื่อเปิดให้บริการ Bed & Breakfast ในชื่อ Peace-Love-Joy และเปิดครัวให้บริการอาหาร Chef’s Table ฝีมือ เชฟกี้-รณิฐา จริตกุล ในชื่อ GeesTable ที่เน้นผสมผสานวัตถุดิบออร์แกนิกท้องถิ่นและนานาชาติ ออกมาเป็นเมนูสุขภาพแสนอร่อย แถมยังมีเตาดินสำหรับอบพิซซ่าแบบต้นตำรับ เผื่อวันไหนแขกครึ้มอกครึ้มใจอยากชิมอาหารอิตาลี เชฟก็จัดให้ได้สบายมาก

ใต้แสงแดดยามบ่ายของเชียงใหม่ปลายฤดูหนาว ภรณีต้อนรับเราด้วยซอร์เบต์ผลไม้รวมรสชาติชื่นใจ ก่อนจะนั่งลงเล่าเรื่องราวของบ้านที่มีตัวตนของเธออยู่ในนั้นให้ฟัง

01

ความฝันที่เบ่งบาน

ภรณีซื้อที่ดินผืนนี้เมื่อนานมาแล้ว ตั้งแต่สมัยยังทำงานเป็นคนโฆษณาอยู่ที่บริษัท Leo Burnett จนเวลาล่วงเลยไปหลายสิบปี ชีวิตในเมืองกรุงถึงจุดอิ่มตัว ความฝันเล็กๆ ที่ถูกปลูกไว้ในใจมาแสนนานจึงค่อยๆ เบ่งบานขึ้นอีกครั้ง

“เราอยากอยู่เชียงใหม่ มีบ้านในฝันในใจตั้งแต่เด็กแล้ว ที่ดินตรงนี้ พอมาดูแล้วรู้สึกเลยว่าใช่ เพราะมีต้นไม้เดิมอยู่เยอะ ตอนหลังเลยซื้อที่ดินที่อยู่ติดกันเพิ่มอีกแปลง เราเริ่มสร้างบ้านจากเงินน้อยๆ เพราะก็เหมือนคนกรุงเทพฯ ทั่วไป เป็นมนุษย์ทำงานที่ต้องใช้จ่ายหลายอย่าง ไม่ได้มีเงินเก็บมากมาย บ้านหลังนี้จึงเป็นความฝันที่ถูกหล่อเลี้ยงให้เป็นภาพที่ชัดเจนขึ้นช้าๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป

บ้านสวน ในฝัน ที่สร้างจากไม้เก่าทั้งหลังด้วยฝีมือและเทคนิคของสล่าล้านนา บ้านสวน ในฝัน ที่สร้างจากไม้เก่าทั้งหลังด้วยฝีมือและเทคนิคของสล่าล้านนา

“เพราะชื่นชอบงานคราฟต์และฝีมือช่างพื้นเมือง เราจึงไม่ได้ใช้บริการผู้รับเหมาก่อสร้าง แต่ตั้งใจมองหาช่างไม้พื้นเมืองหรือที่ทางเหนือเรียกว่าสล่ามาปลูกบ้านหลังนี้ให้ โดยเราเป็นคนเขียนแบบบ้านอย่างที่อยากได้ด้วยตัวเอง และได้รุ่นน้องสถาปนิกที่รู้จักกันมาช่วยเคาะแบบ จับตรงนั้นตรงนี้ให้เข้าที่

“เราเป็นคนชอบอ่านนิตยสารเรื่องบ้านและสวน ก็ค่อยๆ เก็บข้อมูลไป ใช้วิธีการง่ายๆ เหมือนตอนทำงาน ด้วยความที่เป็นโปรดิวเซอร์คุ้นเคยกับการทำฉากอะไรพวกนั้นอยู่แล้ว ก็จะตัดสิ่งที่เราชอบเก็บไว้เป็นเรเฟอเรนซ์ จนถึงเวลาก็เอาเรเฟอเรนซ์พวกนั้นมากองรวมกัน จากนั้นค่อยๆ จัดหมวดหมู่แล้วหาพื้นที่ในบ้านให้มัน เช่น ดีไซน์แบบนี้ สีสันแบบนั้น เราจะให้มันอยู่ตรงส่วนไหนของบ้าน”

รายละเอียดเล็กๆ ถูกนำมาประกอบเข้าไว้ด้วยกันภายใต้คอนเซ็ปต์ดีไซน์ตามใจผู้อยู่ ซึ่งภรณีจำกัดความบ้านของเธอว่า บ้านชนบท โดยต้องโล่ง โปร่ง มีช่องให้แสงและลมเล็ดลอดเข้ามาได้อย่างอิสระ และใช้วัสดุบ้านๆ อย่างไม้

02

ประกอบไม้ให้เป็นบ้าน

ภรณีใช้ขั้นตอนประกอบบ้านแบบสมัยก่อน นั่นคือไปซื้อเรือนไม้เก่ามาทั้งหลัง จากนั้นจึงถอดไม้ออกมาเป็นชิ้นๆ แล้วนำมาประกอบกันขึ้นใหม่ตามแบบบ้านที่ออกแบบไว้ ซึ่งต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญที่สามารถคำนวณได้ว่าต้องซื้อเรือนไม้เก่าขนาดใหญ่แค่ไหน จำนวนเท่าไหร่ จึงจะเพียงต่อการประกอบกันขึ้นมาเป็นบ้านหลังใหม่

เรือนไม้หลังประธานจึงถูกประกอบขึ้นพร้อมๆ กับเรือนบริวารด้านหลังที่ตั้งใจให้เป็นที่พักคนงาน เพราะช่วงแรกๆ ของการก่อร่างสร้างบ้านที่เชียงใหม่ เจ้าของบ้านยังทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ

บ้านสวน ในฝัน ที่สร้างจากไม้เก่าทั้งหลังด้วยฝีมือและเทคนิคของสล่าล้านนา

“พอประกอบเรือนเสร็จ มันจะมีเศษไม้เหลือเยอะทีเดียว เราไม่อยากทิ้งเพราะเสียดาย เลยต้องหาพื้นที่ไว้เก็บชิ้นไม้พวกนั้น จะตั้งไว้บนพื้นเฉยๆ ก็ไม่ได้ ปลวกจะกินเอา ก็เลยต้องตั้งเสาขึ้นมาจากพื้นดิน แล้วเอาไม้ไปพาดเก็บไว้ข้างบน

“ปรากฏว่านานวันเข้าเพิงเก็บไม้กลายเป็นเพิงเก็บของสัพเพเหระที่รกขึ้นทุกวัน เห็นแล้วขัดหูขัดตา ประกอบกับเราใกล้จะรีไทร์จากงานที่ทำอยู่ที่กรุงเทพฯ พอดี เลยเกิดเป็นไอเดียต่อเติมเพิงหลังนี้ให้เป็นเรือนหลังที่ 3 สำหรับเป็นสเตชั่นทำครัว ทำขนม”

บ้านสวน ในฝัน ที่สร้างจากไม้เก่าทั้งหลังด้วยฝีมือและเทคนิคของสล่าล้านนา

นอกจากวัสดุหลักอย่างไม้เก่าแล้ว องค์ประกอบอื่นๆ ส่วนใหญ่ก็ล้วนเป็นของเก่าทั้งหมด ไม่ว่าจะกรอบประตู กรอบหน้าต่าง ไปจนถึงลูกบิดและโคมไฟ ภรณีเล่ายิ้มๆ ว่าบางครั้งมีของที่ต้องซื้ออยู่ในใจ จดขนาดไปเรียบร้อย ปรากฏว่าพอไปถึงร้าน เจอของเก่าสวยมาก ถูกใจจนต้องซื้อ กลับมาถึงบ้านต้องลำบากหาที่ใส่มันเข้าไปอีก

“เพิ่งมารู้ตัวว่าเป็นคนชอบก่อสร้าง (หัวเราะ) ว่างเป็นไม่ได้ต้องทำนู่นนี่ก๊อกแก๊กไปเรื่อย”

03

จากคนเมือง (กรุง) มาเป็นคนเมือง (เหนือ)

“เชียงใหม่คือสวรรค์ของคนชอบทำบ้านเลยนะ เพราะมีของถูก ของสวย อยู่เยอะ เราเองก็ยังติดนิสัยคนเมืองอยู่หน่อยตรงที่บ้าซื้อ ซื้อมากองๆ เอาไว้แล้วก็ต้องเที่ยวหาที่ใส่ เพื่อนชอบถามว่าบ้าหรือเปล่า อยู่บ้านคนเดียวทำไมเก้าอี้เต็มไปหมด เพราะเก้าอี้ในบ้านเราเยอะมาก เป็นคนชอบเก้าอี้ทรงต่างๆ (ยิ้ม)

“บ้านเราเหมือนโรงเก็บของ เพราะมีเฟอร์นิเจอร์ข้าวของแทบทุกสไตล์ ถ้าชิ้นที่ดูโมเดิร์น ออกไปทางสแกนดิเนเวียน บางส่วนขนมาจากกรุงเทพฯ ส่วนชิ้นเท่ๆ หน้าตา Rustic ไปจนถึงชิ้นที่ทำด้วยช่างฝีมือพื้นเมืองเนี่ย แน่นอนว่ามากจากเมืองเหนือนี่แหละ”

บ้านสวน ในฝัน ที่สร้างจากไม้เก่าทั้งหลังด้วยฝีมือและเทคนิคของสล่าล้านนา บ้านสวน ในฝัน ที่สร้างจากไม้เก่าทั้งหลังด้วยฝีมือและเทคนิคของสล่าล้านนา

ด้วยความที่เจ้าของบ้านชื่นชอบงาน Art and Craft เราจึงได้เห็นชิ้นงานศิลปะยูนีกสวยๆ ที่ภรณีสะสมตั้งแต่สมัยทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ แขวนอยู่ทั่วไปในเรือนทั้งสามหลัง ซึ่งตอนนี้มีฟังก์ชันการใช้งานแตกต่างกัน เรือนประธานเป็นบ้าน เรือนบริวารหลังที่ 2 และ 3 ตอนนี้เปิดให้บริการ Bed & Breakfast และ Chef’s Table โดยเชฟกี้-รณิฐา จริตกุล

เรือนประธานหลังแรกสร้างเสร็จตั้งแต่ ค.ศ. 2001 ด้วยงบประมาณหลักแสนปลายๆ ภรณีเล่ายิ้มๆ ว่าอยู่ไปซ่อมไป เพราะปัญหาจุกจิกเยอะพอตัว อย่างแรกเนื่องจากบ้านอยู่ใต้ต้นฉำฉาซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ที่กิ่งก้านเปราะเหลือเกิน มันจึงทิ้งกิ่งลงมาทำให้หลังคาทะลุอยู่บ่อยๆ รั่วที 20 – 30 รู จนถึงปัจจุบันก็เปลี่ยนวัสดุหลังคาไปแล้ว 5 รอบด้วยกัน

บ้านสวน ในฝัน ที่สร้างจากไม้เก่าทั้งหลังด้วยฝีมือและเทคนิคของสล่าล้านนา

อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่เจอคือพื้นไม้ คนโบราณจะรู้ดีว่าถ้าปลูกบ้านไม้ต้องทิ้งช่องใต้พื้นไว้ให้ลมผ่านข้างใต้ด้วย เพื่อไม่ให้เกิดความชื้นใต้ตัวบ้าน และทำให้แผ่นไม้แห้งอยู่เสมอ แต่เรือนประธานหลังนี้ แรกเริ่มสร้างติดดิน ไร้ช่องลม ทำให้ต้องมายกบ้านขึ้นทีหลัง และอีกสารพัดปัญหาให้ตามแก้

“ถือว่าเป็นความบันเทิงระหว่างก่อสร้าง เพราะบางอย่างเราก็เพิ่งมาเรียนรู้จากประสบการณ์จริง เจอปัญหาก็ค่อยๆ แก้ไป ถือว่าไม่ได้เดือดร้อนใคร เดือดร้อนก็แต่ตัวเอง (ยิ้ม)”

บ้านสวน ในฝัน ที่สร้างจากไม้เก่าทั้งหลังด้วยฝีมือและเทคนิคของสล่าล้านนา

04

ผลิบานและเติบโต

“เราเป็นคนชอบต้นไม้มากและใช้เวลาอยู่ในสวนเยอะ Green House ในบ้านเลยเป็นความตั้งใจตั้งแต่แรกที่เขียนไว้ในแบบเลย บางคนอาจจะอยากมีห้องไวน์ บางคนอาจจะอยากมี Walk-in Closet แต่สำหรับเรา ที่สุดของความใฝ่ฝันคือการมี Green House ไว้ปลูกต้นไม้ในบ้าน

บ้านสวน ในฝัน ที่สร้างจากไม้เก่าทั้งหลังด้วยฝีมือและเทคนิคของสล่าล้านนา

“สวนทุกส่วนในบ้านจัดเองทั้งหมด อาจเพราะเราเป็นคนที่สามารถอยู่กับอะไรนานๆ ได้ ไม่เบื่อง่ายๆ ชอบอะไรก็จดจ่อทำอยู่นั่น พอเราอยู่กับต้นไม้เยอะๆ ก็จะรู้จักเขามากขึ้น ทำให้สังเกตและเรียนรู้ได้ว่า ต้นนี้อยู่ตรงไหนแล้วงอกงามดีที่สุด

“การปลูกต้นไม้ก็เหมือนหลายๆ อย่างในชีวิตที่การปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ จะทำให้เขาเติบโต เบ่งบาน ได้ดีกว่าการที่เราไปฝืนบังคับ แค่ประคองอยู่ห่างๆ ก็พอ จนเมื่อเขาเริ่มรกยุ่งเหยิงนั่นแหละ เราอาจจะเข้าไปตัดแต่งบ้างแต่ก็น้อยและบรรจงมาก เพื่อไม่ให้ไปทำลายธรรมชาติการเติบโตของเขา

บ้านสวน ในฝัน ที่สร้างจากไม้เก่าทั้งหลังด้วยฝีมือและเทคนิคของสล่าล้านนา

“เมื่อก่อนตอนอยู่กรุงเทพฯ ไม่ว่าจะรีบร้อนแค่ไหน ต้องออกจากบ้านไปกองถ่ายตี 3 ตี 4 ก็ตาม จะต้องขอมีเวลาชั่วโมงหนึ่งจิบกาแฟและทำตัวย้วยอยู่สักแป๊บ ทุกวันนี้ที่เชียงใหม่ ช่วงเช้าเป็นเวลาที่เราได้ย้วยนานหน่อย ละเอียดกาแฟ เดินดูต้นไม้ใบหญ้า จากนั้นสายๆ ก็เตรียมตะกร้ากับข้าวไปเยี่ยมแม่ที่สถานบำบัดฟื้นฟู ช่วงบ่ายกลับมาก็ย้วยต่อในสวนเป็นส่วนใหญ่

“อยู่กับต้นไม้ที่เราชอบ บางทีแค่นั่งดูแดดค่อยๆ ตกจากร่มไม้ เช้ามุมนั้น บ่ายมุมนี้ ก็แสนสุขแล้ว”

05

Peace-Love-Joy

“ตลอดชีวิตอ่านหนังสือมามากมาย มีหนังสือหลายเล่มที่นำไปสู่คำถามที่วนเข้ามาในทุกช่วงชีวิตเลยว่า คุณมีเป้าหมายอะไรในชีวิต แพสชันของชีวิตคุณคืออะไร พออ่านเจอคำถามอะไรแนวนี้ก็จะชะงักและแอบเศร้าทุกที เพราะตัวเราไม่มีอะไรแบบนั้นเลยตอบไม่ได้ (หัวเราะ)

“พอเราเติบโตขึ้น คำตอบของเป้าหมายมันเลยกลายมาเป็นคำถามใหม่ว่า อะไรที่มีแล้วชีวิตจะเป็นสุข ซึ่งเราตอบได้อย่างไม่ลังเลว่า Peace Love Joy”

Peace คือความสงบสันติ

Love คือความเมตตากรุณา

Joy คือความเบิกบานสนุกสนาน

และเพราะเป็นจุดตั้งต้นของความสุข คำ 3 คำนี้จึงถูกนำมาตั้งเป็นชื่อห้อง 3 ห้องในเรือนบริวารทั้งสองหลังที่เปิดให้บริการ Bed & Breakfast ซึ่งแต่ละห้องล้วนมีสไตล์และความหมายเฉพาะตัวที่สอดคล้องไปกับชื่อห้อง

ห้อง Joy for 4 สำหรับเพื่อนและครอบครัวใหญ่ ที่เต็มไปด้วยสีสันและความสนุกสนาน

ห้อง Love for 2 สำหรับคู่รัก กับดีเทลในการตกแต่ง ตั้งแต่เฟอร์นิเจอร์ไปจนถึงแพตเทิร์นกระเบื้องแสนสวย

บ้านสวน ในฝัน ที่สร้างจากไม้เก่าทั้งหลังด้วยฝีมือและเทคนิคของสล่าล้านนา

และห้อง Peace for 2 ที่เน้นความเรียบโก้ สงบเงียบเพราะหันระเบียงด้านหน้าเข้าหาสวน

บ้านสวน ในฝัน ที่สร้างจากไม้เก่าทั้งหลังด้วยฝีมือและเทคนิคของสล่าล้านนา บ้านสวน ในฝัน ที่สร้างจากไม้เก่าทั้งหลังด้วยฝีมือและเทคนิคของสล่าล้านนา

“ที่ชอบอีกอย่างของคำ 3 คำนี้ คือไอคอนมันเรียบง่ายและสื่อความหมายในตัวเอง พอจับไอคอนมาวางเรียงกันตามชื่อ Peace-Love-Joy เลยยิ่งน่ารักเข้าไปใหญ่”

06

ชีวิตที่เดินไปตามจังหวะ

“เคยคิดว่าการที่เรารอจนรีไทร์แล้วค่อยย้ายขึ้นมาอยู่เชียงใหม่ ทั้งที่เป็นความฝันมาตั้งนมนาน มันช้าไปจริงๆ ถึงกับบอกรุ่นน้องหลายคนว่า ถ้าคิดจะทำอะไร ให้รีบทำเข้านะ ช้าไปจะหมดแรง นึกอยากทำอะไรเยอะๆ มันก็ไม่คล่องตัวอย่างแต่ก่อน

“แต่พอมานึกอีกที ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ก็ไม่เลวนะ ก็ถูกต้องตามครรลองของมัน เพราะในแต่ละช่วงชีวิต เราก็จะมีเรื่องราวและจังหวะให้ก้าวเดิน อายุเท่านี้ ความคิดเราแบบนี้ พอโตขึ้นมาหน่อย ความคิดเปลี่ยนไปเป็นหลังมือเฉยเลย

“และบางครั้งจังหวะชีวิตมันไม่พาเราไปตามคิด หลายสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้น ต่อให้อยากแค่ไหน ถ้าไม่ใช่จังหวะที่ใช่ มันก็จะไม่เกิดขึ้น ดังนั้น แต่ละก้าวที่เดินไปข้างหน้า มันคือจังหวะที่เหมาะสมที่สุด ณ ขณะปัจจุบันแล้ว

“เหมือนต้นไม้ บางต้นปลูกอยู่ตั้งนาน ประคบประหงมเอาใจสุดฤทธิ์ ก็ไม่ยอมเบ่งบานสักที แต่เดี๋ยวพอถึงช่วงเวลาที่เหมาะสม เขาก็จะผลิดอกออกผลเอง อย่าเพิ่งใจร้อนให้ชีวิตค่อยๆ เดินไปตามจังหวะเวลา”

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน

Photographer

Avatar

ชัยวัฒน์ ทาสุรินทร์

โด้เป็นช่างภาพดาวรุ่งจากสาขาศิลปะการถ่ายภาพ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นที่รักของเพื่อนๆ และสาวๆ ถึงกับมีคนก่อตั้งเพจแฟนคลับให้เขา ชื่อว่า 'ไอ้โด้ FC'