คอลัมน์วันนี้เป็นตอนเบาๆ เกี่ยวกับสัตว์โลกน่ารักประเภทหนึ่ง

คุณเคยแง้มหอยแล้วเจอตัวประหลาดอยู่ข้างในมั้ยครับ

หอยในที่นี้หมายถึงพวกหอยแครง หอยแมลงภู่ หอยนางรม หอยเชลล์ หอยลาย หรือหอยสองฝาอะไรก็ตามแต่ที่เราชอบกินกันนี่แหละ และตัวประหลาดที่แอบอยู่ในเปลือกหอยเหล่านี้ก็คือน้องปูนั่นเอง

บางคนอาจจะบอกปูอยู่ในหอยก็ปูเสฉวนไง ไม่เห็นจะแปลกตรงไหน อันนี้ไม่เหมือนกันครับ

ปูเสฉวนมันคือปูที่ไปเอาเปลือกหอยซึ่งเจ้าของบ้านไม่มีชีวิตแล้ว มาสวมเป็นบ้านตัวเองอีกที แต่ที่ผมกำลังพูดถึงนี่คือปูที่เข้าไปขอเบียดอาศัยอยู่กับหอย ตอนที่หอยยังมีชีวิตอยู่เลย

ในหอยมีปู รู้จัก ‘ปูถั่ว’ ปูตัวจิ๋วที่ใช้หอยเป็นบ้าน และอาศัยอยู่ในหอยตลอดชีวิต
ภาพ : dantheclamman.blog
ภาพ : หนังสือ ざんねんないきもの事典 : おもしろい!進化のふしぎ

สมาชิกปูในสกุลพินโนเทอเรส (Pinnotheres) ส่วนใหญ่จะเป็นปูที่มีวิถีชีวิตแบบนี้ การเข้าไปอยู่กับหอยทำให้ปูได้ประโยชน์เห็นๆ นอกจากจะได้อยู่ร่วมชายคากับหอยภายใต้เปลือกอันแข็งแรงปลอดภัยแล้ว หอยยังมีระบบสาธารณูปโภคสูบน้ำเข้าออก 24 ชั่วโมง ทำให้มีเศษอาหารไหลลอยมาให้คีบกินได้ตลอด เหมือนเราเข้าไปตั้งรกรากในร้านซูชิสายพานประมาณนั้น

ถามว่าทำไมหอยต้องคอยสูบน้ำ นอกจากเพื่อหายใจเข้าออกและระบายของเสียแล้ว ตัวหอยเองยังประกอบอาชีพเป็นนักกรองกิน (Filter Feeder) ซึ่งเป็นอาชีพยอดนิยมมากในมหาสมุทร ในขณะที่คนชอบกินน้ำกรอง หอยและสัตว์มากมายชอบกรองน้ำกิน เพราะในน้ำมีสิ่งมีชีวิตตัวเล็กตัวน้อยผสมเศษนู่นเศษนี่เยอะแยะมากมาย ซึ่งแค่กรองออกมาแล้วกลืนลงท้องก็อิ่มแล้ว บนบกทำแบบนี้ไม่ได้ เพราะขืนทำคงอดอยากปากแห้งตายเหมือนนักเขียน ขณะที่ในน้ำ การกรองเป็นอาชีพที่ฮิตมาก ตั้งแต่วาฬสีน้ำเงินก็กรองกิน ปลาทูก็กรองกิน ฉลามวาฬก็กรองกิน 

อย่างไรก็ตาม พวกนี้เป็นสายกรองกินด้วยการอ้าปากว่ายน้ำ คอยดักอาหารผ่านอวัยวะซี่ๆ ที่มีวิวัฒนาการมาจากเหงือกบ้างฟันบ้าง ขณะที่หอยสองฝาส่วนใหญ่สบายกว่านั้นอีก คือเป็นสายกรองอยู่กับที่ ไม่ต้องว่ายไปไหนเลย แค่ใช้ระบบสูบน้ำเข้ามาไหลเวียนแทน ทั้งหมดนี้ทำให้หอยเป็นบ้านที่อยู่สบาย อุดมสมบูรณ์ และปลอดภัยสำหรับน้องปูมาก

แต่เอาจริงๆ ก็ยกเว้นตอนที่ถูกคนจับมาทำซีฟู้ดน่ะแหละ

หลายวัฒนธรรมคุ้นเคยกับการเจอปูในหอยดี เช่น ที่อเมริกามีชื่อเรียกปูพวกนี้โดยเฉพาะเลยว่า ‘Pea Crab’ หรือ ‘ปูถั่ว’ คงจะเพราะทั้งขนาด รูปร่างกลมรีพอๆ กับเม็ดถั่ว หรือเผลอๆ อาจจะรวมถึงความเคี้ยวกรุบกรอบเค็มมันเหมือนถั่วด้วยก็ได้ (ที่สงสัยคือถ้า Pea Crab แปลว่าปูถั่ว แล้วทำไม Peacock ไม่แปลว่า ลึงค์ถั่ว)

ในกรณีที่แกะหอยนางรมมาแล้วเจอปูถั่ว ฝรั่งบอก เอ้า งั้นเราก็แยกมาทอดเสียเลยซี่ รวมให้ได้เยอะๆ แล้วบีบเลม่อนจิ้มมายองเนส สูตรนี้ร่ำลือกันว่าเป็นอาหารโปรดของท่านประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตันเลยทีเดียว ขณะที่ในเมืองไทยนั้น บ่อยครั้งเราจะเห็นคนโพสต์ถามทางโซเชียลหรือเว็บบอร์ดต่างๆ

“โทษนะครับ/ค่ะ พอดีที่บ้านซื้อหอยแครงลวกมากินแล้วเจอตัวอะไรไม่รู้อยู่ข้างใน หน้าตามันเหมือนปูตัวเล็กๆ แต่มีไข่เต็มท้องเลย สยองมาก กลัวไม่กล้าทานกันต่อเลย มันคือตัวอะไรครับ/ค่ะ ที่เผลอกินไปแล้วเป็นไรมั้ย กลัวเป็นพยาธิ ใครรู้บอกทีนะครับ/ค่ะ”

ในหอยมีปู รู้จัก ‘ปูถั่ว’ ปูตัวจิ๋วที่ใช้หอยเป็นบ้าน และอาศัยอยู่ในหอยตลอดชีวิต
ภาพ : www.tkvariety.com
ในหอยมีปู รู้จัก ‘ปูถั่ว’ ปูตัวจิ๋วที่ใช้หอยเป็นบ้าน และอาศัยอยู่ในหอยตลอดชีวิต


จากนั้นพอชาวเน็ตเริ่มฮือฮาเว็บข่าวต่างๆ ก็จะเอาไปพาดหัว ชวนอ้วก ‘ปูถั่ว’ สัตว์น่าขยะแขยง แฝงตัวอยู่ในหอย ที่เราเผลอกินเข้าไปโดยไม่รู้ตัว!! หรือ หนุ่มสงสัย ซื้อหอยแครง แกะออก เจอปูในหอยแทบทุกตัว!! และตามธรรมเนียม อาจารย์เจษฎาก็จะต้องออกมาชี้แจง “มันคือปูถั่วครับ เป็นปูตัวจิ๋วที่อาศัยอยู่ในตัวหอยสองฝา… สรุปว่าเป็นปู ไม่ใช่เห็บหมา เพราะฉะนั้น ต้มสุกแล้วก็กินได้นะครับ แต่มันจะกรุบๆ แข็งหน่อยๆ ไม่นิ่มเหมือนเนื้อหอย…”

ไม่น่าแปลกใจหากคนในเมืองส่วนใหญ่จะไม่รู้จักเจ้าปูประเภทนี้ ผมเองก็เพิ่งจะรู้จักมันไม่นานนี่แหละ แถมยังไม่เคยเห็นตัวจริงเลยด้วย อย่างไรก็ตาม ระหว่างเสิร์ชรูปในเน็ตก็เห็นมีบางร้านเริ่มทำเมนูปูถั่วขายแล้วเหมือนกันนะ อย่างร้าน Sea Breeze ซีฟู้ด ก็มีโพสต์ลงเฟซบุ๊กว่า “ปูถั่วตัวน้อยๆ ติดมากับหอยเชลล์ เอามาชุบแป้งทอด แกล้มน้ำเก๊กฮวย อร่อยกว่าจักจั่นทะเลอีกนะ” วันหลังใครได้มีโอกาสลองก็มารีวิวหน่อยนะครับ

ในหอยมีปู รู้จัก ‘ปูถั่ว’ ปูตัวจิ๋วที่ใช้หอยเป็นบ้าน และอาศัยอยู่ในหอยตลอดชีวิต

ทีนี้หากย้อนกลับมาดูชีวิตของน้องปูกันต่อ คำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ปูเข้าไปในหอยได้ยังไงตั้งแต่แรก

เรานึกภาพหอยแครงหอยแมลงภู่มันไม่ได้เปิดเปลือกง่ายๆ ยกเว้นจะให้ความร้อนจนเอ็นมันคลาย หรือถ้าเป็นหอยนางรมก็ต้องแซะ หอยไม่ได้สมยอมง่ายๆ นะที่จะให้มีอะไรแปลกปลอมเข้าไป เพราะฉะนั้นหากปูจะเข้าก็ต้องเข้าไปตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก ตั้งแต่ระยะตัวอ่อนแทบมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นนั่นเลยทีเดียว โดยตอนหอยสูดหายใจเข้าก็เอาตัวอ่อนปูเข้าไปพร้อมกับน้ำที่มันสูบนี่แหละ 

ปูเองเมื่อรับรู้ว่าถึงเป้าหมายแล้วก็จะปักหลักโตอยู่ในนั้นเลย ไม่ต้องออกมาอีกแล้ว ถามว่าหอยเซ็งมั้ย ก็อาจจะไม่เซ็งเท่ากับถ้าเจอปรสิตประเภทที่มาดูดเลือด ความสัมพันธ์ระหว่างปูกับหอยนี่ในทางนิเวศวิทยาเขาเรียกว่าเป็นแบบอิงอาศัย (Commensalism) ก็คือมาขออยู่ด้วยเฉยๆ ไม่ได้เบียดเบียนอะไร แต่ก็ไม่ได้ช่วยทำประโยชน์อะไรให้ด้วย เช่นเดียวกับกล้วยไม้ที่ขอเกาะบนต้นไม้ใหญ่ หรือเพรียงที่เกาะบนหลังวาฬ 

แต่แน่นอน ต่อให้แค่มาอิงอาศัย ถ้าทำตัวสบายเกินไป เจ้าบ้านก็อาจรู้สึกตะหงิดได้เหมือนกัน ลองนึกภาพถ้าเป็นบ้านคุณ แล้วอยู่ดีๆ มีตัวเอเลี่ยนหน้าตาแบบในหนังริดลีย์ สก็อต มาขออาศัยด้วย คุณเอเลี่ยนไม่ทำร้ายเรานะ แต่แค่มาขอนอนโซฟา มาเปิดตู้เย็นแบ่งของกินเราทุกวัน ตื่นเช้ามาเจอแกนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ เล่นมือถืออยู่ที่โต๊ะอาหาร เวลาเดินผ่านก็ต้องเกรงใจ อะไรประมาณนั้น 

ในกรณีของปูกับหอยนี่ บางทีปูก็ทำให้หอยระคายเคืองได้ เพราะอยู่กันแบบเนื้อแนบเนื้อ หรือถ้าในฤดูที่อาหารน้อยๆ บางทีปูก็แย่งอาการกินซะจนหอยผอมซูบ เมื่อเป็นเช่นนี้ ความสัมพันธ์แบบอิงอาศัยก็เปลี่ยนเป็นแบบปรสิตได้เหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม จากมุมมองของปู ในเมื่อบ้านหอยอยู่สบายขนาดนี้ก็ไม่ต้องออกไปไหนแล้ว เวิร์กฟรอมโฮมไปเลยตลอดชีวิต ยกเว้นแค่เวลาเดียวเท่านั้นที่ต้องคิดหนัก นั่นก็คือเวลาหาคู่

บ้านหอยขาดอย่างเดียวคือไม่มีอินเทอร์เน็ต เพราะฉะนั้น ใช้แอปฯ ออนไลน์เดทติ้งไม่ได้ แถมจะไปบังคับคุณหอยให้พาไปหาปูตัวอื่นก็ไม่ได้อีก ย้อนกลับไปดูภาพจากซีฟู้ด เราจะเห็นว่าหอยหนึ่งตัวมักเจอปูถั่วอยู่ในนั้นแค่หนึ่งตัว และมักเป็นปูอุ้มไข่ด้วย แสดงว่ามันต้องมีวิธีอะไรบางอย่างที่ทำให้ผสมพันธุ์ได้สำเร็จ ปูตัวผู้กับปูตัวเมียมาเจอกันได้ยังไงนะ

จากการศึกษาวิจัยปูถั่วที่อาศัยในหอยแมลงภู่นิวซีแลนด์พบว่า ตัวผู้จะต้องเป็นฝ่ายที่รวบรวมความกล้าก้าวออกจากบ้านตัวเอง แล้วเดินทางฝ่าอันตรายไปหาสาว ซึ่งนับเป็นการเดินทางครั้งสำคัญที่สุดของชีวิตหนุ่ม

แน่นอน เพื่อให้บรรลุภารกิจ ปูสาวจะช่วยปล่อยฟีโรโมนออกมาตามน้ำ ทำให้ตัวผู้รู้ได้ว่าต้องไปทิศทางไหนถึงจะเจอหอยที่มีปูตัวเมียอยู่ (คล้ายๆ กับตัวเมียกดเรียกแกร็บแล้วมีแผนที่บ้านให้) ทว่า อะไรๆ ก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น ต่อให้สาวบอกตำแหน่งแล้ว แต่ขืนตัวผู้รีบร้อนออกมาตอนกลางวันนี่ตายแน่ เพราะไหนจะมีผู้ล่ารอจับกิน แถมมีโอกาสไม่น้อยที่จะโดนหอยหนีบตาย ช่วงกลางวันหอยมีความตื่นตัวและเซนซิทีฟค่อนข้างสูงต่ออะไรที่มายุกยิกบนเยื่ออ่อนของมัน และอาจจะตอบสนองด้วยการปิดฝาหงับ! ซึ่งในบางงานวิจัยก็เจอตัวผู้จำนวนไม่น้อยที่ถูกหนีบตาย ระหว่างพยายามมุดออกจากหอยตัวเอง หรือไม่ก็ตอนจะมุดเข้าบ้านตัวเมีย สรุปแล้ว กระทำการยามวิกาลย่อมปลอดภัยกว่าด้วยประการทั้งปวง

ท่ามกลางความมืดมิดและหนาวเย็น ตัวผู้ต้องออกตามหารัก โดยการดมกลิ่นผ่านอวัยวะอะไรก็ตามที่ปูใช้เป็นจมูก ทีนี้เมื่อไปถึงบ้านสาวแล้ว ก็ใช่ว่าจะปีนหลังคาขึ้นชั้นสองแล้วแอบย่องเข้าทางหน้าต่างได้ หอยไม่มีหน้าต่าง แต่ก็ยังดีที่หอยในยามค่ำคืนมักจะเปิดฝาแง้มไว้นิดหนึ่ง กระนั้นก็ยังไม่กว้างพอจะให้ตัวผู้มุดเข้าไปอยู่ดี 

จังหวะนี้เองที่งานวิจัยพบพฤติกรรมน่าสนใจมาก คือปูถั่วตัวผู้จะใช้ปลายขาของมัน ค่อยๆ เขี่ยเนื้อหอยที่แพลมออกมาจากช่องเปิด โดยเขี่ยเบาๆ ด้วยแรงพอเหมาะ ถ้าเขี่ยแรงเกินหอยจะสะดุ้งและปิดฝา แต่ถ้าเขี่ยด้วยความเบาและความถี่ที่พอดี หอยจะค่อยๆ เคลิ้มและเปิดฝากว้างออกทีละนิดๆ ที่สำคัญต้องอดทนและเขี่ยให้นานพอ งานวิจัยพบว่าปูตัวผู้ใช้เวลาเขี่ยหอยเฉลี่ยคืนละ 200 นาที กว่าหอยจะยอมเปิดฝาจากกว้าง 3.7 มม. เป็น 5.5 มม. ให้ปูพอเล็ดรอดเข้าไปได้ (ความหนาเฉลี่ยของกระดองปูตัวผู้อยู่ที่ประมาณ 4.6 มม.)

ทำความรู้จัก ปูถั่ว ปูตัวกระจิริดที่แอบอาศัยอยู่ในหอยสองฝาและรูตูดของปลิงทะเล
ปูถั่วตัวผู้ที่พยายามจะแอบย่องเข้าหอยยามวิกาลเพื่อไปหาปูตัวเมีย
ภาพ : www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4365294

ครั้นมุดเข้าเรือนหอยสำเร็จ ที่เหลือก็น่าจะราบรื่นแล้ว ปูตัวเมียที่รออยู่ข้างในไม่น่าจะเรื่องมากอะไรแล้ว เพราะหล่อนเป็นคนส่งฟีโรโมนเรียกตัวผู้มาเอง แถมประชากรตัวผู้ยิ่งมีน้อย หนุ่มหน้าไหนเข้ามาก็คงเอาหมด แต่หลังจากนั้นไม่แน่ใจว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง พอเสร็จกิจมีการดึงเยื่อหอยมานอนห่มผ้า ก้ามคีบบุหรี่แบ่งกันสูบหรือเปล่า ตัวผู้นอนค้างบ้านตัวเมียหรือเปล่า หรือต้องรีบลุกใส่กางเกงแล้วกลับให้ถึงบ้านตัวเองก่อนเช้า อันนี้ก็ไม่รู้เหมือนกัน งานวิจัยที่ผมอ่านมาไม่ได้บอกไว้ แต่ที่รู้แน่ๆ คือปูถั่วที่เราเจอในหอยแต่ละตัวมักเป็นตัวเมียเดี่ยวๆ เสียเยอะ ซึ่งก็คงต้องไปวิเคราะห์สันนิษฐานกันต่อเองว่าพฤติกรรมแบบไหนที่ทำให้ลงเอยเกิดผลลัพธ์เช่นนั้น

ไม่แน่ตัวผู้อาจจะเสเพลออกไปหาตัวเมียบ้านอื่นต่อ ไม่แน่มันอาจจะอายุสั้น หรือบางทีตัวผู้อาจจะถูกตัวเมียเตะออกมา เพราะบ้านหอยมันคับแคบมาก อยู่ร่วมกันสองตัวแบบถาวรไปเลยคงลำบาก เหมือนเป็นห้องคอนโดฯ เล็กๆ ที่อึดอัด ตบตีกันง่าย ต้องคอยแย่งห้องน้ำ แย่งพื้นที่ตู้เย็น เรื่อยไปจนตำแหน่งวางของเล่น ในแง่นี้มีญาติปูถั่วอีกก๊กหนึ่ง ซึ่งวิวัฒนาการเลือกอสังหาแบบไม่ต้องกังวลเรื่องพื้นที่ ทำให้อยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวแบบสามีภรรยาได้ นั่นก็คือปูถั่วที่อิงอาศัยอยู่ในรูตูดของปลิงทะเล

ทำความรู้จัก ปูถั่ว ปูตัวกระจิริดที่แอบอาศัยอยู่ในหอยสองฝาและรูตูดของปลิงทะเล
ปลิงทะเลขาว หรือ Holothuria scabra

ปลิงทะเลนั้นตัวใหญ่กว่าหอยกาบทั่วไปมาก (เราอย่าไปนับหอยมือเสือนะ) ถ้าเปรียบเป็นบ้านก็มีมุมต่างๆ มากมายให้คุณผู้ชายกับคุณผู้หญิงได้แบ่งสรรกันใช้เป็นพื้นที่ส่วนตัว ผลการวิจัยในปลิงทะเลชนิดหนึ่งที่คนจีนนิยมกินกัน เจอปูถั่วอาศัยอยู่ในรูตูดของปลิงที่จับได้ประมาณ 9 ใน 10 โดย 91.4 เปอร์เซ็นต์ ของกรณีที่เจอเป็นปูที่อยู่เป็นคู่สามีภรรยา (1 คู่ต่อปลิงหนึ่งตัว) 7.9 เปอร์เซ็นต์เป็นตัวเมียโสดที่อยู่บ้านตัวเดียว และน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ เป็นตัวผู้โสดที่อยู่บ้านตัวเดียว ที่น่าทึ่งยิ่งกว่าคือตำแหน่งของห้องตัวผู้กับตัวเมียในบ้านปลิงนี่มีความเฉพาะเจาะจงมาก ซึ่งการจะนึกภาพให้ออก เราต้องเข้าใจกายวิภาคของปลิงทะเลเสียก่อน

ปลิงทะเลเป็นสัตว์ที่หายใจทางตูด

เนื่องจากด้านหัวของมันมักคว่ำหน้าหากินจมโคลนจมทรายอยู่ตลอดเวลา อวัยวะที่เหมาะแก่การหายใจมากกว่าจึงกลายเป็นรูทวาร ปลิงจะสูบน้ำเข้าทางรูตูด ซึ่งเปรียบได้กับการหายใจเข้า จมูกเราบานอย่างไร ทวารปลิงก็บานเช่นนั้น น้ำไหลเข้าตูดแล้วไหลต่อไปยังท่อพิเศษที่ต่อแยกออกมาสองข้าง และแตกแขนงเป็นพุ่มฝอยอีกมากมาย คอนเซ็ปต์คล้ายคลึงกับปอดและหลอดลมของคนเราไม่มีผิด เพียงแต่นี่ต่ออยู่กับตูด และหายใจเอาน้ำเข้าออกแทนที่จะเป็นอากาศ (ศัพท์วิชาการของอวัยวะนี้เรียก Respiratory Tree ซึ่งผมจะแปลเป็นไทยว่า พุ่มหายใจก็แล้วกัน)

ทำความรู้จัก ปูถั่ว ปูตัวกระจิริดที่แอบอาศัยอยู่ในหอยสองฝาและรูตูดของปลิงทะเล
รูตูดปลิงทะเล
ภาพ : www.youtube.com/watch?v=_f2WDLkPvNU
ทำความรู้จัก ปูถั่ว ปูตัวกระจิริดที่แอบอาศัยอยู่ในหอยสองฝาและรูตูดของปลิงทะเล
กายวิภาคปลิงทะเล สังเกตตูดต่ออยู่กับท่อที่แตกแขนงเป็นพุ่มสำหรับหายใจเรียก Respiratory Tree

เช่นเดียวกับกรณีหอยซึ่งได้ตัวอ่อนของปูติดเข้ามากับน้ำ เวลาปลิงหายใจเข้า ตูดของมันก็สูดเอาตัวอ่อนปูเข้ามาด้วย แต่กรณีนี้เมื่อปูเติบโตเป็นตัวใหญ่แล้วจะไม่ได้เพ่นพ่านไปทั่ว แต่จะฝังตัวเป็นซิสต์อยู่ตรงตำแหน่งเฉพาะเจาะจงเลย คือตรงทางเชื่อมต่อระหว่างช่องตูดและพุ่มหายใจฝั่งขวาของปลิงเท่านั้น โดยซิสต์หรือห้องของตัวเมียจะอยู่ใกล้ปากทางที่เปิดออกสู่ตูดมากกว่าห้องของตัวผู้เสมอ ทั้งนี้เพื่อเอื้ออำนวยต่อการพ่นกระจายไข่ออกไปข้างนอก (นึกภาพรูตูดปลิงขยาย แล้วมีไข่ปูพ่นพรูออกมา) ส่วนห้องตัวผู้จะอยู่ถัดลึกเข้าไปข้างในแต่ก็ไม่ไกลกันมาก บางทีอาจจะติดกับห้องตัวเมียเลยหรือไม่ก็ยังอยู่ในระยะที่แวะมาผสมพันธุ์ได้ง่ายๆ

จะเห็นว่าปูหนุ่มชนิดนี้ได้อยู่ครองคู่อย่างอบอุ่น และไม่ต้องลำบากออกไปไหนแล้ว ขณะที่ญาติของมันซึ่งอาศัยในหอยยังคงต้องออกไปเสี่ยงตายเพื่อพบรัก อย่างไรก็ตาม รูตูดปลิงที่มีพื้นที่กว้างขวาง ระบบระบายน้ำดี ปลอดภัย อาหารอุดมสมบูรณ์ ย่อมเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่หลายเผ่าพันธุ์หมายตา นอกเหนือจากปูแล้ว ยังมีปลาตัวยาวๆ อีกหลายชนิดที่เห็นรูตูดปลิงเปิดอ้าอยู่ไม่ได้ ต้องรีบมุดเข้าไปอาศัยเป็นบ้านทันที ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามีผลกระทบอะไรกับปูที่อยู่ข้างในหรือเปล่า

ถามว่าปลิงภูมิใจมั้ยที่รูตูดมันเป็นที่นิยมขนาดนี้ ผมคิดว่าไม่นะ มันน่าจะรำคาญแต่ช่วยอะไรไม่ได้มากกว่า จุดอ่อนของปลิงคือไม่สามารถปิดตูดได้ตลอด เพราะสำหรับปลิง การขมิบตูดค้างไว้ก็คือการกลั้นหายใจ

ทำความรู้จัก ปูถั่ว ปูตัวกระจิริดที่แอบอาศัยอยู่ในหอยสองฝาและรูตูดของปลิงทะเล
ตัวอย่างปลาที่เข้าไปอาศัยในรูตูดปลิง
ภาพ : www.australiangeographic.com.au

สักวันผมอาจจะได้เขียนบทความภาคสองที่ชื่อว่า ‘ในหอยมีปู ในหู (รูด) มีปลา’

แต่ไม่ว่าจะในอะไรก็ตาม ธรรมชาติก็มีเรื่องราวมหัศจรรย์ซ่อนไว้เสมอ

ข้อมูลอ้างอิง

Mate locating and access behaviour of the parasitic pea crab, Nepinnotheres novaezelandiae, an important parasite of the mussel (www.ncbi.nlm.nih.gov)

Life cycle of the pea crab pinnotheres halingi sp. Nov., an obligate symbiont of the sea cucumber holothuria scabra jaeger (decapoda.nhm.org/pdfs/16712/16712.pdf)

Note on the pea crab Holotheres semperi (Bürger, 1895) parasitising the sea cucumber Holothuria scabra in Rempang, Indonesia (spccfpstore1.blob.core.windows.net/digitallibrary-docs/files/9e/9e8f0276df42e02120c1012840a2a65d.pdf)

Writer

Avatar

แทนไท ประเสริฐกุล

นักสื่อสารวิทยาศาสตร์สาขาชีววิทยา ผู้เคยผ่านทั้งช่วงอ้วนและช่วงผอมของชีวิต ชอบเรียนรู้เรื่องราวสนุกๆ ที่แฝงอยู่ในธรรมชาติแล้วนำมาถ่ายทอดต่อ ไม่ว่าจะผ่านงานเขียน งานแปล และงานคุยในรายการพอดแคสต์ที่ชื่อว่า WiTcast