บ้านสองชั้นหน้าตาสวยอบอุ่นใจกลางทองหล่อนี้ไม่ใช่บ้าน แต่เป็นร้านเฟอร์นิเจอร์วัสดุคราฟต์ไทย ‘ป้าย่า’ ของ ปราโมทย์ และ เจี๊ยบ – ปรียาภรณ์ วงศ์ศิริมานะ

Paya แบรนด์เฟอร์นิเจอร์วัสดุไทยที่คนไทยเคยเมิน แต่เป็นขวัญใจ Expat มาตลอด 30 ปี

ถ้าคุณไม่เคยได้ยินชื่อแบรนด์นี้มาก่อน ไม่ต้องแปลกใจ ลูกค้าส่วนใหญ่ของป้าย่าเป็นชาวต่างชาติที่เข้ามาพำนักในเมืองไทย โดยเฉพาะชาวตะวันตกและชาวญี่ปุ่นที่อยากได้เฟอร์นิเจอร์แต่งบ้านสไตล์ไทยที่เก๋ไม่เหมือนใครและคุณภาพดี

แต่ถ้าคุณเคยรู้จักป้าย่ามาบ้าง คงเคยเห็นผ้าทอสีสันสดใสเป็นผ้าห่ม ผ้าม่าน โซฟา หมอนสามเหลี่ยมฟูนุ่ม ไปจนถึงตู้ โต๊ะ เตียงไม้เนื้อแข็งที่งานเนี้ยบกริบ ใช้ทนทานถึงรุ่นลูกหลาน

วันนี้ที่พาไปเปิดประตูเข้าร้านป้าย่า ขออภัยล่วงหน้าที่ไม่ได้พามาช้อปปิ้งออนไลน์ เพราะธุรกิจอายุ 30 ปีนี้ยังคงวิถีค้าขายแบบเก่าที่เชื้อเชิญให้คนไปลองเลือกซื้อสินค้าหน้าร้าน พูดคุยและสั่งเฟอร์นิเจอร์ที่รักที่ชอบได้ทุกแบบ ขนาด และสีสัน

ท่ามกลางสงครามการค้าบนอินเทอร์เน็ตที่ดุเดือดเลือดพล่าน สมรภูมิเฟอร์นิเจอร์ก็เต็มเปี่ยมด้วยของนำเข้าจากต่างประเทศ ป้าย่าแทบไม่ทำโปรโมชันหรือการตลาดใดๆ แต่ยังคงขายได้และเติบโตอย่างมั่นคง ด้วยแนวคิดที่ไม่อยากเป็นที่หนึ่งในอุตสาหกรรมผ้าทอหรือเฟอร์นิเจอร์

แล้วป้าย่าอยู่ได้อย่างไร ไปดูกัน

ฝันหนีกรุงของพนักงานธนาคาร

30 กว่าปีก่อน ปราโมทย์และปรียาภรณ์ทำงานที่ธนาคารต่างชาติ ฝ่ายชายทำงานปล่อยกู้ให้บริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ ฝ่ายหญิงทำงานธุรกรรมบริหารเงิน คนทำงานกับตัวเลขสองคนตัดสินใจแต่งงานกันแล้วลาออก เพราะเบื่อรถติด งานออฟฟิศ และกรุงเทพฯ 

หลังได้โบนัสก้อนใหญ่ หนุ่มสาวสองคนตั้งใจไปตายเอาดาบหน้า สองสามีภรรยาจะเช่าตึกแถวเปิดร้านกาแฟสดที่เชียงใหม่ ไม่ต่างจากฝันวัยรุ่นยุคนี้เท่าไหร่ แต่อย่าลืมว่ายุคนั้น Starbucks ในอเมริกาเพิ่งเริ่มได้ไม่นาน ไร่กาแฟเมืองไทยไม่ได้มีมากมาย และเมืองเหนือยังแทบไม่มีคาเฟ่สักร้าน ในที่สุดโครงการคาเฟ่ที่มาก่อนกาลของทั้งคู่จึงถูกพับไป

Paya แบรนด์เฟอร์นิเจอร์วัสดุไทยที่คนไทยเคยเมิน แต่เป็นขวัญใจ Expat มาตลอด 30 ปี

“อยู่เชียงใหม่ไปราวปีครึ่งเงินก็หมด เชียงใหม่ตอนนั้นเงียบมาก นักท่องเที่ยวไม่เหมือนทุกวันนี้ ตู้เอทีเอ็มยังไม่ค่อยมี ที่ในเมืองที่ทำเลดีพอจะเปิดร้านกาแฟหรือเปิดร้านอะไรได้ก็แพง เราไม่มีเงินจริงๆ สุดท้ายเราก็รู้ว่าเชียงใหม่ไม่มีตลาด นิมมานฯ ยังไม่เกิด ความต้องการซื้อของอยู่กรุงเทพฯ” 

ปราโมทย์เล่าความล้มเหลวแรกด้วยเสียงดังฟังชัด แม้ฝันการเป็นเจ้าของธุรกิจร้านกาแฟอันแสนโรแมนติกจะจบลงอย่างรวดเร็ว แต่กลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจใหม่โดยบังเอิญ

“ระหว่างยังแกว่งๆ อยู่เราก็ขับรถท่องเที่ยวไปเรื่อย พอไปเห็นพวกกลุ่มทอผ้าเลยสนใจศึกษา เราเบนมาดูแหล่งทอผ้าฝ้ายตามจอมทอง สันกำแพง แล้วก็ลำปาง พอมีเวลาว่างเราก็ไปตระเวนดูผ้าไหมอีสาน เพราะเทคนิคต่างกัน เกิดไอเดียว่าจะเอาผ้าทอมือมาขาย แต่ว่าไม่ขายผ้าถุงนะ เพราะเราไม่มีความรู้เรื่องเสื้อผ้า จะขายผ้าทำเฟอร์นิเจอร์เพราะตอนนั้นยังแทบไม่มีใครทำ คู่แข่งน้อย น่าจะเอามาขายที่กรุงเทพฯ ได้ เรารู้ว่าคนไทยคงไม่ค่อยชอบเอาผ้าไทยมาแต่งบ้าน แต่ต่างชาติน่ะชอบ” 

ปราโมทย์และเจี๊ยบกลับมาเมืองหลวงอีกครั้ง ร้านของแต่งบ้านเริ่มต้นขึ้น โดยคุณพ่อของปราโมทย์แบ่งตึกแถวย่านสุขุมวิทที่เช่าทำอู่ซ่อมรถ ให้สองสามีภรรยาเปิดร้านขนาดหนึ่งคูหาที่ปากซอยสุขุมวิท 53 เริ่มจากขายผ้าทอมือ หมอน ผ้าม่าน ผ้าคลุมเตียง โดยมีช่างเย็บผ้า 1 คนคอยช่วย กิจการกระจิริดนี้จึงมีสมาชิกทั้งหมด 3 คนถ้วน ทำงานกันเองทุกอย่าง

“เราอยากได้ชื่อร้านภาษาไทยที่สะกดง่ายๆ ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ เราเริ่มต้นทำงานกับคุณป้าคุณย่าที่ทอผ้า แล้วเราก็เรียกพี่สาวของปู่ว่าป้าย่า พอคำนึงถึงคนที่ทำงานให้เรา เลยตั้งชื่อร้านว่าป้าย่า”

เจี๊ยบเล่าที่มาของชื่อร้านที่สั้นกระชับ จำง่าย และฟังดูอบอุ่นน่ารักถึงทุกวันนี้

ร้านที่คนไทยเมิน แต่คนต่างชาติชอบ 

สมัยก่อนแบรนด์ไทยมีแค่ 3 เจ้าใหญ่ๆ คือชินวัตร ไมตรี และนันทขว้าง ชินวัตรขายได้ทั้งในและต่างประเทศ ไมตรีเน้นส่งออก และนันทขว้างก็เป็นแบรนด์เก๋ซึ่งดังมากที่กรุงเทพฯ 

ป้าย่าที่เพิ่งตั้งไข่ไม่มีต้นทุนอะไรไปต่อสู้ แต่จุดแข็งของแบรนด์นี้คืออ่านออกว่ารสนิยมคนต่างชาติเป็นอย่างไร เลยตั้งเป้าจับกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติในเมืองไทย ปราโมทย์เรียนปริญญาตรีและใช้ชีวิตอยู่ในอเมริกาหลายปี สมัยเรียนเขาชอบแก้เบื่อด้วยการนั่งอ่านหนังสือแต่งบ้านในห้องสมุดสถาปนิก จึงพอจับทางการแต่งบ้านของ Expat ในเมืองไทยได้ นอกจากนี้ยังเคยเป็นอาสาสมัครในสมาคม Thai Craft Sale กลุ่มชาวต่างชาติที่จัดตลาดนัดขายงานหัตถกรรมเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านภาคเหนือและอีสาน จึงพอมองเห็นโอกาสธุรกิจที่ดูสดใส

Paya แบรนด์เฟอร์นิเจอร์วัสดุไทยที่คนไทยเคยเมิน แต่เป็นขวัญใจ Expat มาตลอด 30 ปี

“คืองี้ สมัยโน้นคนไทยเราเนี่ยไม่ค่อยแต่งบ้าน เพราะบ้านเราอยู่กันหลายรุ่น มีพ่อแม่พี่น้องปู่ย่าตายาย ของใช้ก็เป็นของคนหลายชั่วคนปะปนกัน และเราจะไม่ค่อยเชิญเพื่อนที่ไม่ค่อยสนิทมาบ้าน บ้านจัดสรรก็ไม่ค่อยจะมี บ้านจึงเป็นความลับมากๆ

“แต่ฝรั่งเขาปาร์ตี้บ่อย เขาชอบเชิญเพื่อนเชิญแขกมาบ้าน บ้านต้องดูดี เขาเลยทุ่มเงินทุ่มทองไปกับการแต่งบ้าน และเวลาเขาอยู่เมืองไหน ก็อยากแต่งบ้านโดยใช้สินค้าเมืองนั้นหรือสไตล์เมืองนั้น ผ้าม่านถูกๆ ที่ติดมากับบ้านเช่าเขาไม่เอาเลยนะ เขาต้องเลือกเองแต่งเอง ผ้าไทยลายยากๆ แบบมัดหมี่ ฝรั่งเขาจะชอบมาก แต่สีต้องอ่อนจางนุ่มนวลหน่อย ถ้าแม่สีเข้มๆ นี่ไม่เวิร์ก เราก็พยายามคัดของที่มีคุณภาพมาขาย ถ้าใครเดินเข้ามาในร้านป้าย่าแล้วบอกว่าอยากได้ของแต่งบ้านอะไร เราจะพยายามทำให้ได้ ไม่ชอบปฏิเสธคน”

“เราเป็นพ่อค้าคนกลางที่ขายสินค้าระหว่างหมู่บ้านกับ Expat ซึ่งอยู่คนละโลกกันเลย ฝ่ายหนึ่งทำงานข้ามชาติ อยู่บริษัทใหญ่โต กับชาวบ้านซึ่งสมัยนั้นอยู่กันง่ายๆ แต่เราสื่อสารได้ทั้งสองฝ่าย เราสื่อกับฝรั่งก็ได้เพราะเรารู้ภาษา รู้ว่าเขาคิดอะไร ในขณะเดียวกันเราก็รู้ว่าชาวบ้านเขาคิดอะไร เราคุยกับชาวบ้านรู้เรื่อง ไม่ดูถูกเขา ให้เกียรติเขา” 

ในยุคก่อนอินเทอร์เน็ต ป้าย่ากลายเป็นตัวเชื่อมโยงสำคัญระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค ให้งานคราฟต์ที่ถูกจริตชาวต่างชาติได้ออกไปสู่โลกกว้าง

ต้นน้ำดี ปลายน้ำจะดี

กว่าจะกลายเป็นสินค้าหัตถกรรมไทยที่ได้คุณภาพสากล ป้าย่าต้องลงทุนกับการพัฒนาการผลิต ในยุคอะนาล็อก การเปลี่ยนกี่ทอผ้าจากหน้ากว้าง 90 เซนติเมตร เป็น 120 เซนติเมตร คือก้าวใหญ่ที่เปลี่ยนระบบความเคยชินของคน เนื่องจากผ้าที่ทอสำหรับนุ่งห่มหน้าแคบเกินไปสำหรับทำเฟอร์นิเจอร์ นอกจากนี้ต้องปรับระบบให้ชุมชนทอผ้าได้ต่อเนื่องครั้งละมากๆ โดยมีลวดลายและสีสันสม่ำเสมอ

ปราโมทย์และปรียาภรณ์นำความรู้ของแต่ละชุมชนมาแลกเปลี่ยนกัน เช่น ช่างทอที่จอมทอง เชียงใหม่ ถนัดการทอได้จำนวนมาก ส่วนช่างที่อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน ย้อมสีได้ติดทน ป้าย่าก็เป็นตัวกลางถ่ายทอดความรู้

Paya แบรนด์เฟอร์นิเจอร์วัสดุไทยที่คนไทยเคยเมิน แต่เป็นขวัญใจ Expat มาตลอด 30 ปี

“ครูที่ดีของพวกเราคือพวกเขานั่นแหละ เราดูว่าเขาย้อมอะไร ทอผ้าแบบไหน ต้องเข้าไปใช้เวลาศึกษา แล้วหลังจากนั้นก็พูดคุยกัน สมัยก่อนชาวบ้านย้อมสีแบบไม่ชั่งวัดตวง แต่พอเราเริ่มทำเป็นอุตสาหกรรม กระบวนการย้อมสีเคมีต้องใช้วิทยาศาสตร์ช่วยให้คงที่ ทำระบบวัดตวง ใส่ส่วนผสมก่อนหลัง สังเกตอุณหภูมิ ย้อมสีให้เป็นล็อตเดียวกัน ต้องใช้เตาแก๊สไฮสปีดเหมือนเตาอาหารจีน เราก็พยายามสื่อสารกับเขา

“แต่ก็ไม่ใช่แค่ไปสื่ออย่างเดียว ต้องทำด้วยกัน หมายถึงเราต้องรู้แม้กระทั่งว่าโครงสร้างเส้นต้องเปลี่ยนยังไง ถึงเอามาทำเป็นผ้าหกสิบเมตรได้อย่างแข็งแรงไม่คดงอ เพราะผ้าเฟอร์นิเจอร์ต้องแข็งแรงกว่าผ้านุ่งห่ม เราก็ต้องร่วมมือเอาชนะไปด้วยกัน” เจี๊ยบซึ่งเป็นฝ่ายดูแลผ้าและเส้นใยโดยตรงของป้าย่าอธิบายเป็นฉากๆ 

Paya แบรนด์เฟอร์นิเจอร์วัสดุไทยที่คนไทยเคยเมิน แต่เป็นขวัญใจ Expat มาตลอด 30 ปี

ตัวละครสำคัญในเรื่องนี้คือป้าแหม่ม Rosemarie Wanchupela สตรีชาวอเมริกันที่ตกหลุมรักเมืองไทย ทั้งทำหนังสือสูตรย้อมผ้าและจัดเวิร์กช็อปย้อมสีธรรมชาติในเมืองไทยร่วมกับชุมชนในหลายจังหวัด ป้าแหม่มดูแลกลุ่มทอผ้าที่ขอนแก่น และยังแนะนำปราโมทย์กับปรียาภรณ์ให้รู้จักกับช่างทอผ้าฝีมือดีที่กลายเป็นผู้ผลิตผ้าทอให้ป้าย่าในเวลาต่อมา

ผ้าของร้านเฟอร์นิเจอร์นี้จึงมีหลากหลาย ทั้งผ้าฝ้ายและผ้าไหม มีผ้ามัดหมี่เส้นยืนแบบเชียงใหม่ มัดหมี่เส้นพุ่งแบบอีสาน ผ้าลายน้ำไหลแบบน่าน ผ้าลายขิด และอื่นๆ สารพัด หัวหน้ากลุ่มหรือชุมชนเป็นผู้กระจายเส้นยืนและเส้นพุ่งให้ช่างทอผ้าที่สนใจการทอเป็นรายได้เสริม โดยแต่ละกลุ่มจะทำงานตามจังหวะความพอใจของตน เอาคุณภาพเป็นที่ตั้ง ไม่ได้เร่งรัดเอาทีละมากๆ รวดเร็วแบบโรงงาน 

กลวิธีที่ทำให้พี่ป้าน้าอาย่ายายหลายจังหวัดทำงานกับป้าย่าอย่างราบรื่น คือการซื่อสัตย์เรื่องเงินทอง จ่ายเงินตรงเวลา อดีตพนักงานธนาคารใช้ความรู้เรื่องไฟแนนซ์ช่วยคำนวณต้นทุนและการบริหารเงินให้ เพราะรู้ดีว่าถ้าผู้ผลิตอยู่ไม่ได้ ป้าย่าก็ยืนไม่ไหวเหมือนกัน

ร้านของแต่งบ้านครบวงจร

ปีที่ 3 ของธุรกิจ ป้าย่าขยายจาก 1 คูหาเป็น 3 คูหา มีช่างเย็บผ้าประจำห้าคนที่ยังอยู่ด้วยกันถึงทุกวันนี้

ปีที่ 5 ป้าย่าเริ่มขายของแต่งบ้านอื่นๆ โดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์ไม้ควบคู่ไปด้วย จนกระทั่งเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง พ.ศ. 2540 ฟองสบู่แตกกลายเป็นโอกาสของธุรกิจส่งออก ค่าเงินบาทที่ลดลงจาก 50 บาทต่อดอลลาร์กลายเป็น 27 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ทำให้ชาวต่างชาติในเมืองไทยจับจ่ายเงินได้เหมือนของทุกอย่างลด 50 เปอร์เซ็นต์

“ลูกค้ามาดูๆ ยังไม่ตัดสินใจ พอค่าเงินบาทลงปุ๊บมาเหมาเลย ซื้อแหลก ทำให้เราพอมีทุนขึ้นมา นอกจากงานผ้าเราเลยมุ่งไปจับงานคราฟต์อื่นๆ เช่น งานสาน งานปั้น งานไม้ งานอะไรต่างๆ นานาที่เป็นของใช้ในบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเราก็ติดต่อเขาโดยตรง น้อยมากที่เราจะซื้อแล้วเอามาวาง” ปรียาภรณ์เอ่ย 

การขยายธุรกิจเป็นไปโดยธรรมชาติ เพราะลูกค้าชาวต่างชาติที่ต้องการตกแต่งบ้าน ไม่ได้ต้องการแค่ผ้าม่าน พรม หมอน แต่ยังต้องการเฟอร์นิเจอร์สารพัด สินค้าหัตถกรรมไทยๆ ในร้านที่สองสามีภรรยานำมาตกแต่งร้านจึงถูกลูกค้ามาขอซื้อบ่อยๆ ด้วยคติไม่ปฏิเสธคน ข้าวของที่ป้าย่านำมาขายจึงเพิ่มประเภทขึ้นเรื่อยๆ

Paya แบรนด์เฟอร์นิเจอร์วัสดุไทยที่คนไทยเคยเมิน แต่เป็นขวัญใจ Expat มาตลอด 30 ปี
Paya แบรนด์เฟอร์นิเจอร์วัสดุไทยที่คนไทยเคยเมิน แต่เป็นขวัญใจ Expat มาตลอด 30 ปี

ราว 10 ปีหลังเปิดตัวธุรกิจ ป้าย่าขยายตัวเป็นร้านเฟอร์นิเจอร์แทบครบวงจร เพราะปราโมทย์ก็รับช่วงต่อโรงงานเฟอร์นิเจอร์ไม้ประดู่เก่าแก่ที่ส่งโต๊ะตู้คุณภาพดีมาให้ตลอด 

“ผมสั่งเฟอร์นิเจอร์ผลิตตามออเดอร์ลูกค้าจากโรงงานนี้ตลอด วันดีคืนดีเถ้าแก่เสียชีวิต ลูกชายเขาเสนอขายกิจการ ผมก็ซื้อเลย เพราะถ้ามีเงิน คุณซื้อไม้ได้ ซื้อเครื่องจักรได้ แต่ซื้อช่างที่ทำงานเป็นไม่ได้ ช่างไม้จริงจะอ่านงานเป็น ทำเฟอร์นิเจอร์ไม้แบบมีเดือยในตัว เอาไม้เสียบเข้าไปในสลัก ซึ่งโรงงานแบบนี้หาได้น้อยมาก เพราะหลังๆ มามีแต่เฟอร์นิเจอร์ไม้อัด ช่างตอกตะปู ยิงแม็ก” 

“เราเห็นว่ามันมีมูลค่าที่จะทำเงินในอนาคต โรงงานนี้ขายไม่ได้แพงมาก ลูกชายเขาขายเพราะเบื่อ เขาโตมากับโรงงานไม้ขายส่ง มีร้านค้าที่บีบเขา กดราคาเขาตลอดเวลา เขาคงไม่มีความสุข ถ้าผมต้องรับมรดกอู่ซ่อมรถของพ่อ ผมก็ไม่เอาเหมือนกัน เครื่องมืออู่พ่อผมนี่ผมยกให้คนโน้นคนนี้ไปเลย ไม่ทำแล้ว แต่เราทำเฟอร์นิเจอร์แล้วมีความสุข ลูกค้าเราดี ทำไปทำมากลายเป็นเพื่อนกัน ไปเมืองนอกก็ไปนอนพักกับเขา Supplier เราก็ดี เวลาซื้อผ้าเราก็ไปนอนบ้านชาวบ้าน เป็นสังคมที่น่าอยู่ เราอยากทำอะไรที่มันเล็กๆ คุยกันได้ ไม่ใช่ค้าขายกับบริษัทใหญ่ๆ แล้วต้องมากดขี่กัน ระแวงกันตลอด” 

นอกจากโรงงานไม้ ป้าย่ายังขยายตัวด้วยการรับช่วงดูแลกลุ่มงานคราฟต์อื่นๆ ที่ประสบปัญหาขาดผู้ว่าจ้างและตลาด ทั้งกลุ่มผ้าฝ้ายมัดหมี่ที่ขอนแก่น ซึ่งคริสทีน ชาวฝรั่งเศสซึ่งย้ายไปทำงานต่างประเทศเมื่อ 20 ปีก่อนเคยดูแล กลุ่มนี้ถนัดการทอลายอีสานให้ใหญ่ขึ้น ดัดแปลงเป็นของแต่งบ้านได้สนุก แถมยังทอผ้าได้สีดีชัดแจ๋ว ปัจจุบันผู้นำกลุ่มคือยายไข่วัย 88 ปี หัวหน้ากลุ่มมัดหมี่ที่อำเภอมัญจาคีรี แถมยังมีกลุ่มทอพรมที่คลองตันซึ่งทำลวดลายร่วมสมัยได้เก๋ เพราะก่อตั้งโดยมิชชันนารีฟินแลนด์

Paya แบรนด์เฟอร์นิเจอร์วัสดุไทยที่คนไทยเคยเมิน แต่เป็นขวัญใจ Expat มาตลอด 30 ปี
Paya แบรนด์เฟอร์นิเจอร์วัสดุไทยที่คนไทยเคยเมิน แต่เป็นขวัญใจ Expat มาตลอด 30 ปี

ป้าย่ายังรับงานของกลุ่มทอผ้าไหมอีสานเจ้าเล็กๆ จากสุรินทร์ โคราชมาเก็บในคอลเลกชัน นำผ้าชาวเขามาแต่งหมอน เลือกย่านลิเภาจากนครศรีธรรมราชมาทำกล่อง ทำกระโปรงโคมไฟจากงานจักสาน สตูลผ้าฝ้ายที่ได้แรงบันดาลใจจากโมร็อกโก

ต้นทุนความพร้อมที่สะสมมาตามกาลเวลา ทำให้ทุกวันนี้ป้าย่ารับงานทำสินค้าตกแต่งบ้านชั้นดีให้ลูกค้าต่างชาติ และรับตกแต่งห้องบางส่วนของโรงแรมให้คราฟต์พิเศษ เช่น ห้องอาหาร ห้องสวีท รวมถึงรับขึ้นตัวอย่างชิ้นงานฝีมือละเอียดสำหรับให้โรงงานใหญ่ๆ รับช่วงผลิตต่อไป

“ตอนนี้รับทำเกือบจะหมดทุกงานละครับ ยกเว้นงานปูนซีเมนต์ มันเป็นงานที่เราไม่ชอบ เอาเวลามาพัฒนางานที่เราชอบดีกว่า จะงานผ้าหรือเฟอร์นิเจอร์ก็ได้ มันสนุกที่ทำให้เรามีอะไรได้คิด ไม่ใช่แค่ซื้อมาขายไปเฉยๆ” 

กินน้อยๆ แต่กินนานๆ

ป้าย่าย้ายมาอยู่ทองหล่อซอย 10 ราว 15 ปีก่อน โดยด้านหลังโชว์รูมแสนสวยมีโรงงานเย็บผ้าและโกดังเก็บเฟอร์นิเจอร์ไม้ เคล็ดลับความมั่นคงทางธุรกิจของป้าย่า ที่ทำให้อยู่รอดแม้มรสุมเศรษฐกิจประเทศไทยและวิกฤตต่างๆ ในโลกจะเข้ามาหลายระลอก คือความเชื่อแบบคนรุ่นเก่า ต้องมัธยัสถ์ มีน้อยใช้น้อย และไม่คิดขยายธุรกิจอย่างรวดเร็วเกินตัว 

“เราไม่เคยกู้เงิน ขี้เหนียว ตอนผมเรียนไฟแนนซ์ ทำงานธนาคาร สิ่งที่เราเรียนมาคือ ถ้าคุณจะเติบโต คุณต้องกู้เงินก่อน แต่คุณพ่อผมเขาก็ไม่เคยกู้เงิน เราแค่อยากมีอาชีพ มีรายได้ ถ้ากู้เงินมันมีความเครียดตามมาแน่ๆ แล้วเราไม่ได้ต้องการจะเป็นที่หนึ่งของประเทศไทย เราขับกระบะก็ได้ พูดง่ายๆ คือตกเย็นผมอยากนอนหลับลง

“เราชอบกินปลาเล็ก พออยู่ได้ ลูกค้ามาซื้อสองสามชิ้นแล้วก็ไป ถ้าลูกค้าเจ้าเดียวสั่งเราเยอะๆ เราต้องทุ่มทรัพยากรทั้งหมด ขายลูกค้าคนอื่นไม่ได้ ต้องปิดตลาดตัวเอง เราเลือกทางเดินว่าไม่กินปลาใหญ่ โรงแรมใหญ่ๆ มาสั่งเราก็ไม่รับ เพราะว่าทำไม่ได้ ถ้าเราทำให้เขา เราก็ไม่ได้ขายของหน้าร้านเรา ทำแบบนี้ความเสี่ยงน้อย ถ้าปลาเล็กตัวนั้นเป็นปลาเน่า มันก็แค่ตัวเดียว แต่ถ้าคุณไปมีลูกค้าเจ้าใหญ่ เขาเบี้ยวครั้งเดียว เจ๊ง แล้วเราเห็นมาเยอะ ก็ไม่อยากเจอสภาพนั้น”

Paya แบรนด์เฟอร์นิเจอร์วัสดุไทยที่คนไทยเคยเมิน แต่เป็นขวัญใจ Expat มาตลอด 30 ปี

“เราไม่ชอบไปเร่งช่างทอผ้าด้วย รู้สึกลำบากใจ มีงานโรงแรมหนึ่งต้องการผ้าสามพันเมตร เราต้องสั่งทอผ้าพร้อมกันสามจังหวัด มันเสร็จก็จริงแต่เราไม่อยากทำ ปล่อยให้ช่างทอไปเรื่อยๆ ตามสมัครใจดีกว่าต้องมารับออเดอร์ใหญ่ๆ แล้วทุกคนเครียดเกร็งขึ้นมา” ฝ่ายภรรยาผู้รับหน้าที่ดูแลการผลิตผ้าโดยตรงขยายความจังหวะการทำงานที่สอดคล้องหัตถกรรมไทย

มาตราฐานส่งออก

สินค้าส่วนมากของป้าย่ามักลงเอยไปอยู่เมืองนอก โดยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ขาย Expat ในเมืองไทย และเมื่อคนเหล่านั้นย้ายบ้านก็ขนกลับไปหรือสั่งของติดไม้ติดมือกลับไปด้วย จุดเด่นของป้าย่าคือเข้าใจกฎเกณฑ์การส่งออกของต่างประเทศ จึงเลือกวัตถุดิบที่เหมาะกับการขนส่ง มั่นใจว่าขนไปใช้ที่เมืองหนาวแล้วข้าวของจะอยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อม

Paya แบรนด์เฟอร์นิเจอร์วัสดุไทยที่คนไทยเคยเมิน แต่เป็นขวัญใจ Expat มาตลอด 30 ปี

“หมอนสามเหลี่ยมเราแพงกว่าในตลาดสามสี่เท่าตัว เพราะเราใช้ผ้าดีกว่า แล้วนุ่นของเราก็เป็นของใหม่ที่ไปควานหามา ตอนผมโตนุ่นเป็นของถูก ของเหลือเฟือ ที่ไหนก็มี แต่เดี๋ยวนี้เมืองไทยไม่มีนุ่นที่จะมายัดหมอนแล้ว ที่ใช้ๆ กันอยู่เป็นนุ่นปั่นรีไซเคิลจากที่นอนเก่าซึ่งไม่สะอาด พอเราบอกเหตุผลลูกค้าแล้วเขาเชื่อใจ แล้วเราก็รู้ว่าประเทศไหนนำเข้าอะไรได้บ้าง

“ออสเตรเลียห้ามนำเข้านุ่น ถ้าคนออสเตรเลียซื้อกลับบ้านเราต้องใช้ใยโพลีเอสเตอร์ยัดไส้แทน ส่วนอเมริกาไม่ให้นำเข้าฟาง หมอนสามเหลี่ยมทั่วไปที่ขายบ้านเรามีฟางตรงกลาง ไปถึงเขาจะผ่าทิ้งทันที ดังนั้นเราเขียนใบปะบอกลูกค้าตลอดว่าตอนคุณไปถึงสนามบิน ตม. จะเล่นงานคุณ คุณต้องบอกว่าหมอนเราไม่มีฟางอยู่ข้างในนะ”

Paya แบรนด์เฟอร์นิเจอร์วัสดุไทยที่คนไทยเคยเมิน แต่เป็นขวัญใจ Expat มาตลอด 30 ปี

ปราโมทย์เล่ารายละเอียดหมอนที่เป็นสินค้าเด่นของร้าน นอกจากนั้นงานไม้ที่นี่ยังเป็นที่ร่ำลือในหมู่ชาวต่างชาติว่าคุณภาพดีไม่ปริแตก เพราะเข้าใจธรรมชาติการหดและขยายตัวของไม้ จึงใช้เทคนิคการประกอบแบบมีช่องว่างให้ไม้หายใจ ขนไปไว้ในเมืองหนาวแล้วไม้ไม่แตก ไม่หลุดสลายเป็นชิ้นๆ 

One of a kind

การตลาดของร้านเรียบง่ายมาก ป้าย่าแทบไม่ทำโปรโมชัน ไม่โฆษณามากมาย ไม่ไปออกร้านที่ไหน และจะลดราคาสินค้าแค่ครั้งเดียวต่อปีเท่านั้น เพราะร้านเฟอร์นิเจอร์นี้เน้นการผลิตสินค้าดีๆ มีคุณภาพให้ลูกค้ารักกันนานๆ มากกว่าไปแข่งขันในตลาดที่ตัวเองไม่ถนัด ลูกค้าส่วนใหญ่ของร้านมาจากการบอกกันปากต่อปาก และหนังสือคู่มือแนะนำสินค้าไทยของกลุ่มชาวต่างชาติ เช่น ชาวฝรั่งเศสและญี่ปุ่น ซึ่งนิยมงานคราฟต์เป็นพิเศษ

Paya แบรนด์เฟอร์นิเจอร์วัสดุไทยที่คนไทยเคยเมิน แต่เป็นขวัญใจ Expat มาตลอด 30 ปี

“เราไม่เชื่อเรื่องลดราคา ฝรั่งหรือคนไทยเราคิดราคาเท่ากัน แต่ละชิ้นติดราคาไว้เลย ไม่ต้องมานั่งต่อรองกันมาก ตัวกำหนดราคาสินค้าคือต้นทุนบวกกำไร นี่คือราคาขายของเรา ไม่ใช่ว่าคุณรวยกว่าจึงต้องจ่ายแพงกว่า คุณจนกว่าต้องจ่ายถูกกว่า ไม่ คุณจะรวยหรือจนไม่สำคัญ คุณจะเป็นฝรั่งหรือคนไทยไม่สำคัญ สำคัญว่าต้นทุนคือเท่าไหร่ ผมมีความสุขที่จะขายเท่านี้ แล้วลูกค้าก็เข้าใจ”

การหดตัวของเศรษฐกิจโลก อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ต่างชาติ รวมถึงสถานการณ์ปิดประเทศ ทำให้ปัจจุบันลูกค้าต่างชาติของป้าย่าลดหายไปมาก แต่สิ่งที่น่าชื่นใจคือมีคนไทยรุ่นใหม่ๆ สนใจงานคราฟต์มากขึ้น และเริ่มเห็นความงามในการเอาหัตถกรรมไทยร่วมสมัยไปตกแต่งบ้าน ป้าย่าจึงก้าวไปข้างหน้าอย่างช้าๆ ด้วยจังหวะสม่ำเสมอเหมือนเคย 

“จากที่เราคิดว่าสินค้าหัตถกรรมต้องหายไป ในมุมหนึ่งมันก็ยังอยู่ได้ คนทอของเราก็มีกำลังใจ เขาก็ยังได้ทำงานกันอยู่ในปริมาณที่เรียกว่าพออยู่ได้ทีเดียว” เจี๊ยบเอ่ย

“ในประเทศที่พัฒนาแล้วมากๆ อย่างอเมริกา งานไม้จริงก็ยังอยู่ได้นะ แต่ว่าของทำมือกลายเป็นของแพง คนทั่วไปซื้อเฟอร์นิเจอร์วอลมาร์ต ซื้อของ IKEA แต่ว่าคนมีสตางค์หน่อยก็สั่งผลิต จักรยานเหมือนกัน ของดีๆ ถูกๆ มีขายเป็นโหลๆ ขณะเดียวกันก็มีคนทำจักรยานในอเมริกาและอังกฤษที่ทำคันต่อคัน แล้วขายได้คันละเป็นแสน 

ธุรกิจของแต่งบ้านจากงานคราฟต์ไทยที่ไม่ทำโปรโมชัน ไม่ลดราคา ไม่ซื้อโฆษณา แต่อยู่ในคู่มือแต่งบ้านของลูกค้าจากทั่วโลก

“ที่ผ่านมาเราโดนแย่งตลาดไปเยอะ เพราะของเราไม่ถูก เป็นงานตามสั่ง ค่าแรงกินไปซะเยอะมาก แล้วความสูญเสียก็มีเยอะ ของบางอย่างผมทำเหมือน IKEA แล้วแพงกว่าสามเท่า ขนาดไม่เอากำไร ดังนั้นเราไม่สู้กับเขา ยังมีกลุ่มคนที่อยากได้ของที่ไม่ซ้ำซาก ของที่มีชิ้นเดียวในโลก ของโหลเนี่ยยังไงมันก็โหล บางทีก็ใช้ได้ไม่ถึงสิบปี แต่ของเราบางชิ้นอยู่ได้เป็นร้อยปีเลยนะ

“เวลาลูกค้ามาสั่งของ ผมพยายามส่งรูปขั้นตอนการผลิตให้เขา ตัดไม้แล้วนะ ทำเดือยแล้วนะ ลูกค้าก็บอกว่าติดป้ายยี่ห้อคุณมาด้วย มันมีมูลค่า งานผ้าทอเราก็ให้ช่างเซ็นชื่อและลงวันที่กำกับมาด้วยว่าม้วนนี้ใครทอ”

ยุคสมัยที่ทุกอย่างสั่งซื้อออนไลน์ได้ การเปิดหน้าร้านไม่จำเป็นสำหรับธุรกิจยุคใหม่ แต่กิจการอายุ 30 ปีนี้ยังเชื่อในการตลาดแบบเก่า ลงทุนกับการเปิดร้านสวยอบอุ่นให้คนมาจับมาลองสินค้า ลูกค้าจึงได้มาเห็นบรรยากาศการตกแต่งจริง และพูดคุยสั่งของกันอย่างกระจ่างชัดเจน เพราะของหลายชิ้นเป็นของ Custom Made ลูกค้าเองก็รู้สึกสนุกกับการมีส่วนร่วมในการสั่งทำสินค้าตามขนาด สี และแบบ ที่ต้องการได้ ทั้งผู้จำหน่ายยังได้เรียนรู้และเตรียมพร้อมรับความต้องการของลูกค้าในอนาคตด้วย

ตลาดคราฟต์เสรี

การเลียนแบบอาจเป็นเรื่องน่าหวาดกลัวของคนทำงานคราฟต์ แต่เจ้าของธุรกิจหัตถกรรมปฏิเสธที่จะหวาดกลัว ทั้งยังเปิดโอกาสให้ชาวบ้านที่ส่งผ้าให้ขายผ้าของตัวเองได้เต็มที่ เพราะเชื่อว่าแรงบันดาลใจสินค้าแต่งบ้านเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดสู่กันและกันตลอดเวลา 

“พรมลายน้ำไหลที่น่านนี่พูดได้เลยว่าเกิดจากเรา แต่ก่อนน่านไม่ได้ทอพรม เมืองไทยเราไม่ได้ใช้พรมเพราะว่าเป็นเมืองร้อน ตอนที่ผมอยู่อเมริกาผมไปซื้อพรมลายคล้ายๆ กันนี้ที่ตลาดรัฐบาลกัวเตมาลา แล้วเอาไปให้ชาวบ้านที่น่าน ถามว่าทออย่างนี้ได้ไหม เพราะเทคนิคมันเหมือนกับผ้าซิ่นลายน้ำไหลของเขา ที่น่านทอจนอิ่ม เดี๋ยวนี้ไปทอที่อีสานแล้ว ไม่ต้องหวงกัน มันอยู่ที่ว่าสีใครดี เนื้อใครดี ถึงจะขายได้ มีคนมาฟ้องว่าที่ลาวที่พม่าก็มีผ้าลายของเรา เราก็ขำๆ มีหน้าที่วิ่งหนีไปหาลายใหม่ๆ มาอย่างเดียว” 

ธุรกิจของแต่งบ้านจากงานคราฟต์ไทยที่ไม่ทำโปรโมชัน ไม่ลดราคา ไม่ซื้อโฆษณา แต่อยู่ในคู่มือแต่งบ้านของลูกค้าจากทั่วโลก

“เราไม่เคยพูดเลยนะว่าต้องทอส่งให้เราคนเดียว คุณทำให้ใครก็ได้ เพราะว่าเราไม่สามารถทำให้เขาอยู่รอดด้วยตัวเราคนเดียว เขาควรทำให้หลายๆ คนเพื่อเสถียรภาพของเขาด้วยซ้ำ แต่น้อยมากที่ของขายจะชนกัน เพราะบางทีรสนิยมตลาดคนละอย่าง งานแบบที่ทำให้เรา ไปขายที่อื่นก็อาจขายได้หรือไม่ได้” เจี๊ยบเอ่ยอย่างจริงใจ

“ตอนนี้เด็กรุ่นใหม่เขาเก่งขึ้นเยอะ เขาได้ภาษาและเข้าไปทำงานพัฒนาในหมู่บ้านได้เลย ก็ดีไปอีกแบบ ไม่มีอะไรจะเสียเลยถ้าเราไม่คิดเยอะ อย่าลืมว่าเราแก่แล้วนะ เราต้องปล่อยวางเหมือนกัน”

ป้าย่ารุ่นต่อไป

เมื่อถามว่าอนาคตของป้าย่าจะเป็นอย่างไร สองสามีภรรยาหันมามองหน้ากันแล้วตอบว่า พวกเขาอาจกลับไปเชียงใหม่ ไปทำฝันหนีกรุงเทพฯ ของหนุ่มสาวคู่นั้นให้เป็นจริงอีกครั้ง 

“เราอาจสร้างศูนย์กิจกรรมที่ใกล้ชิดธรรมชาติ จัดคอร์สเรียนหรือทัวร์ ไปทอผ้ากับชาวบ้าน ทำนู่นทำนี่เป็นรายได้เสริม คือผมก็ใกล้หกสิบแล้ว อาจจะต้องกระโดดลงจากหลังเสือบ้าง ให้รุ่นใหม่เขามาทำ เพราะว่าเรามีฐานอยู่แล้วทั้งผู้ผลิตและลูกค้า” 

ปัจจุบันปรายและปรีดิ์ ลูกสาวของทั้งคู่เริ่มเข้ามาดูแลการดีไซน์สินค้าสำหรับคนรุ่นใหม่ และเริ่มทำโปรเจกต์ใหม่ๆ กับคู่ค้าอื่นๆ ธุรกิจของครอบครัววงศ์ศิริมานะปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัลทีละขั้นอย่างช้าๆ ไม่ปรู๊ดปร๊าดฉับไวเพราะยึดติดกับความสำเร็จมหาศาล

ป้าย่าไม่ได้อยากเป็นธุรกิจอันดับหนึ่งด้านผ้าทอมือหรือเฟอร์นิเจอร์ แต่จะเป็นธุรกิจที่ทำสินค้าแต่งบ้านที่มีคุณภาพจนคนรัก และอยากอุดหนุนให้อยู่คู่บ้านด้วยกันไปอีกตราบนานเท่านาน

ธุรกิจของแต่งบ้านจากงานคราฟต์ไทยที่ไม่ทำโปรโมชัน ไม่ลดราคา ไม่ซื้อโฆษณา แต่อยู่ในคู่มือแต่งบ้านของลูกค้าจากทั่วโลก

Lesson Learned

หนึ่ง
“งานคราฟต์กลายเป็นของดีของพิเศษที่คนอยากได้เมื่อพอมีรายได้มั่นคง เชื่อว่าคนที่ยังอยากทำอะไรเหมือนสมัยโบราณ ก็ยังพอมีลู่ทางด้านนี้ไปได้เรื่อยๆ เราจะปรับปรุงก็ค่อยๆ ทำ ไม่ได้กลัวอนาคตหรือการเปลี่ยนแปลงข้างหน้าเท่าไหร่”

สอง
“ไม่ว่าจะทำผ้าหรือทำเฟอร์นิเจอร์ เรารู้ว่ามันเป็นงานยาก แต่ถ้าเราไม่รับทำงานยาก เราก็จะไม่มีงานทำต่อเนื่อง จะทำง่ายๆ รอวางขายอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีทั้งงานง่ายและยาก ของยากๆ เป็นเรื่องสนุก เพราะถ้าไม่คิดอะไร สมองจะฝ่อ ต้องให้สมองได้เจออุปสรรคบ้าง”

Facebook : Paya Shop

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ