“ผมไม่ค่อยดุ” พอลล์ กาญจนพาสน์ ตอบแบบนั้นเมื่อเราถามถึงสไตล์การบริหารคนของเขา

“ไม่ใช่ไม่ดุนะ แต่การดุไม่จำเป็นต้องตวาด” จุ๋ม หนึ่งในทีมของคุณพอลแทรกขึ้นมาทำให้เขาถึงกับหัวเราะ

“เออใช่ ว่าแบบไม่ดุ”

เคล็ดลับของการทำธุรกิจสไตล์ พอลล์ กาญจนพาสน์ ผู้นำอาณาจักรหมื่นล้านที่มีชื่อว่า อิมแพ็ค

ถ้าย้อนไปเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน เด็กหนุ่มวัย 23 ปี เดินทางจากประเทศอังกฤษมายังประเทศไทย ที่ที่เขาไม่เคยได้ใช้เวลานานเกินหนึ่งฤดูร้อน ภาษาใหม่ สังคมใหม่ ธุรกิจที่ไม่คุ้นเคย คือสิ่งที่พอลล์ กาญจนพาสน์ ผู้ที่ใช้ชีวิตในต่างประเทศมาตลอด ต้องมาเจอในปีนั้น เขากลับมาพร้อมดีกรีสาขาบริหารธุรกิจเพื่อมาสืบทอดธุรกิจเมืองทองธานีต่อจากพ่อ (อนันต์ กาญจนพาสน์) หลังจากนั้น เมืองทองธานีก็ไม่ได้มีแค่ธุรกิจศูนย์แสดงสินค้าเพียงอย่างเดียว พอลล์เห็นโอกาสในการทำธุรกิจอื่นๆ โดยเฉพาะธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งล่าสุดเพิ่งเปิดตัว The Coffee Academics ร้านกาแฟสัญชาติฮ่องกงที่เรานัดเจอกับเขา

The Coffee Academics
The Coffee Academics

ถ้าจะเรียกอิมแพ็คว่าเป็นอาณาจักรหมื่นล้านในวันนี้อาจจะน้อยไปด้วยซ้ำ เพราะมูลค่าของธุรกิจได้ทะยานเพิ่มขึ้นอย่างที่ไม่เคยคิดมาก่อน ในขณะที่กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด คนนี้ ดูไม่เหมือนภาพผู้บริหารที่เรานึกไว้ตอนแรกสักนิด

คุณพอลล์มองโลกในแง่ดีเป็นที่หนึ่ง อารมณ์ขัน เข้าใจความแตกต่างของคน และให้โอกาสลูกน้องเสมอ เขาเป็นคนตรง ถ้าไม่รู้ก็บอกไม่รู้ อะไรที่รู้ก็ยินดีที่จะสอน เขามีลักษณะของเจ้านายในฝันของหลายๆ คน การันตีโดยรอยยิ้มและการพยักหน้าเห็นด้วยจากลูกน้องในทีมที่นั่งอยู่ด้วยกันขณะสัมภาษณ์

บทสนทนาด้านล่างนี้ทำให้เรารู้จักเขามากขึ้นอีกหน่อย และได้รู้ว่าการเป็นผู้นำของธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ไม่จำเป็นต้องเก่งทุกเรื่องเสมอไป

เคล็ดลับของการทำธุรกิจสไตล์ พอลล์ กาญจนพาสน์ ผู้นำอาณาจักรหมื่นล้านที่มีชื่อว่า อิมแพ็ค

‘อิมแพ็คเป็นอาณาจักรหมื่นล้าน’ คือสิ่งที่คนนอกมอง สำหรับคุณ อิมแพ็คคืออะไร

มันก็ยังเป็นบริษัทเล็กๆ เรายังทำงานกับคนกลุ่มเดิม ลูกน้องก็ยังเป็นคนเดิม ลูกค้าก็เป็นคนเดิม เรากลับมาทำที่นี่ได้ยี่สิบสองปีแล้ว สถานที่ใหญ่กว่าเดิม จากสองหมื่นตารางเมตร ตอนนี้รวมๆ กันก็เกือบๆ สองแสน วันก่อนไปข้างนอกเจอผู้บริหารห้างสรรพสินค้ารายใหญ่แห่งหนึ่ง เขาบอกว่า เขามีห้างยี่สิบแห่งอยู่ที่ยุโรป แต่ของเราก็ยังอยู่ตรงนี้ เลยไม่ได้รู้สึกว่าเราใหญ่ มองไปข้างบนมีคนที่ใหญ่กว่าเราเยอะแยะ มองลงข้างล่างก็มีคนที่เล็กกว่าเราอีกมาก เราก็อยู่ของเราแบบนี้ ไม่ได้มองว่าตัวเองใหญ่แล้วต้องทำตัวใหญ่

วิธีคิดแบบนี้ถือเป็นข้อดีสำหรับการทำธุรกิจไหม

ข้อดีคือมันง่ายต่อการทำงาน ในเรื่องสเกล จากวันแรกมาถึงวันนี้มันก็เปลี่ยนมาเยอะ จำนวนพนักงาน ยอดรวมธุรกิจก็เติบโตไปมาก แต่ถ้ามองแค่สิบถึงสิบห้าปีที่ผ่านมา เราก็อาจจะมีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นในเมืองทองธานี มีร้านอาหาร ร้านกาแฟ เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ แต่มันไม่ได้ต่างกันเยอะเลย ธุรกิจหลักของเราก็ยังเป็นการให้เช่าพื้นที่ อาจจะมีร้านอาหารเพิ่มขึ้น ยกระดับให้ลูกค้า มีลูกค้าหลากหลายมากขึ้น ด้วยสถานการณ์ปัจจัยต่างๆ ที่เปลี่ยนไป แต่วิธีทำงานก็ยังคล้ายเดิม อาจจะเป็นเพราะลูกน้องเก่งขึ้น (ยิ้ม) เรียนรู้ว่าอะไรที่ต้องปล่อย อะไรที่ต้องผลัก มันก็เป็นประสบการณ์

หลายสำนักข่าวบอกว่า เมืองทองธานีเริ่มมาจากการเป็นสนามกีฬาเอเชียนเกมส์

อาคารแรกของเราถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการจัดงานแสดงสินค้านี่แหละ แต่เผอิญว่างานแรกที่มาจัดเป็นงานกีฬา ทำให้มีภาพว่าเราเป็นที่จัดกีฬา รัฐบาลก็ติดป้ายเลยว่า ‘เมืองทองธานี Sport Complex’ ยี่สิบกว่าปีผ่านไปเขาก็ไม่ยอมเปลี่ยนให้เราสักที สุดท้ายเลยมีป้ายเล็กๆ งอกขึ้นมาเขียนว่า อิมแพ็ค เรายังบอกลูกน้องเลยว่า เนี่ย ตอนตีสองตีสาม ปีนขึ้นไปเปลี่ยนให้เขาเลย ไม่มีใครรู้หรอก ลูกน้องบอกไม่ได้ๆ เดี๋ยวโดนจับ (หัวเราะ) มันเป็นภาพจำที่ผิดมาตั้งแต่แรก

เคล็ดลับของการทำธุรกิจสไตล์ พอลล์ กาญจนพาสน์ ผู้นำอาณาจักรหมื่นล้านที่มีชื่อว่า อิมแพ็ค

ตอนนั้นมีศูนย์แสดงสินค้าแบบนี้เกิดขึ้นหรือยัง

ตอนนั้นก็มีไบเทค มีศูนย์ประชุมฯ สิริกิติ์

สิ่งที่ทำให้อิมแพ็คแตกต่างจากศูนย์แสดงสินค้าอื่นๆ คืออะไร

ถามว่าเรากับคู่แข่งแตกต่างกันยังไง จริงๆ ก็คล้ายๆ กัน เผลอๆ ตอนนั้นเขาทำได้ดีกว่าเราด้วยซ้ำ เขามีพื้นที่จอดรถใต้ดิน ถึงวันนี้เรายังไม่มีที่จอดรถใต้ดินเลย ตอนแรกๆ เขานำเราอยู่แล้ว แต่เราก็มาแซงด้วยขนาดพื้นที่ที่ใช้จัดงาน ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ของคุณพ่อ คุณพ่อบอกว่า เรากับเขามีพื้นที่สองหมื่นตารางเมตรเท่ากัน งั้นเรามาสร้างอีกหมื่นห้า ตอนนั้นเราคัดค้านว่า จะดีเหรอ สองหมื่นคนยังเช่าไม่เต็มเลย จะสร้างอีกหมื่นห้าทำไม แต่สุดท้ายก็เชื่อคุณพ่อ พอมีพื้นที่เพิ่ม กลายเป็นว่าเราจัดงานสองงานได้พร้อมกัน จากตรงนั้นมันก็เติบโตขึ้นไป คู่แข่งอาจจัดได้ครั้งละงานเดียว ไม่เกินสองงาน ของเราอาจมีได้ถึงหกงาน แปดงานด้วยซ้ำ พอจัดงานเยอะคนก็บอกเราว่ารถติด ผมเลยบอกว่าห้างในเมืองก็รถติด รถติดมันคือผลกระทบของการที่มีคนมาเยอะ เรายังแก้ปัญหานี้อยู่ทุกวัน ก็มีทางด่วน และรอรถไฟฟ้าสร้างเสร็จ

ตอนคุณกลับมาจากต่างประเทศใหม่ๆ มี Culture Shock ของการทำงานในวัฒนธรรมไทยไหม

มีครับ ช็อกนิดๆ ผมไม่เคยทำงานในต่างประเทศ แต่ก็พอรู้ความเร็วของคนฮ่องกงกับคนอังกฤษบ้าง มาทำงานที่นี่ก็ช็อกเลย เพราะที่นี่เหมาะกับเรามาก ค่อนข้างชิลล์ เราแฮปปี้ เราชอบสปีดที่นี่ ไม่ต้องรีบมาก 

ในฐานะที่โตมาในครอบครัวนักธุรกิจ ชีวิตวัยเด็กเป็นยังไง

จริงๆ คุณพ่อทำอสังหาริมทรัพย์ ทำร้านนาฬิกา ร้านแว่นตา มาตั้งแต่เราอายุเก้าขวบสิบขวบ เป็นช็อปเล็กๆ ตามสถานที่ต่างๆ ในฮ่องกง สมัยนั้นเราก็ตามคุณพ่อไปทำงาน คุณพ่อเป็นคนชอบทำงาน เสาร์-อาทิตย์ก็ทำงาน เวลาคุณพ่อไปเยี่ยมร้าน จากร้านหนึ่งไปอีกร้านหนึ่ง เราก็ตามไป ตอนนั้นบ้านเราไม่ได้อยู่ในเมือง พอออกมาแบบนี้ก็ได้แวะร้านขนมบ้าง ร้านสะดวกซื้อบ้าง สนุกดี แต่คุณพ่อก็ยังไม่เคยสอนงานจริงจัง แล้วเราก็ไม่เคยทำงานช่วงปิดเทอม

พอโตมาหน่อยคุณพ่อก็ย้ายมาทำธุรกิจที่เมืองไทย ตอนเรามาที่นี่ไม่รู้ภาษาไทยเลย อ่านก็ไม่ได้ พูดก็ไม่ได้ ซัมเมอร์ก็เลยต้องเรียนภาษาไทย เรียนเสร็จกลับอังกฤษก็ไม่ได้ใช้อีก กลับมาอีกทีก็ต้องเริ่มต้นเรียนใหม่ เราเลยไม่ได้สัมผัสกับการทำงานมาตั้งแต่เด็ก จนเรียนจบกลับมาก็เป็นช่วงเอเชียนเกมส์ที่เมืองทองธานีพอดี ตอนนั้นอายุยี่สิบสาม เราก็เริ่มจากตรงนั้น เรียนรู้งานจากที่คุณพ่อทำ

เคล็ดลับของการทำธุรกิจสไตล์ พอลล์ กาญจนพาสน์ ผู้นำอาณาจักรหมื่นล้านที่มีชื่อว่า อิมแพ็ค
เคล็ดลับของการทำธุรกิจสไตล์ พอลล์ กาญจนพาสน์ ผู้นำอาณาจักรหมื่นล้านที่มีชื่อว่า อิมแพ็ค

แล้วจริงๆ อยากเป็นนักธุรกิจไหม

แต่ก่อนเคยอยากเป็นสถาปนิกครับ รู้สึกว่าอาชีพนี้มันเท่ดี ที่โรงเรียนจะมีวิชาเกี่ยวกับดีไซน์ เทคโนโลยี ออกแบบโต๊ะ เราก็ชอบและตั้งใจว่าอยากไปทางนั้น พอจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่อังกฤษเราก็ตั้งใจปูทางไปสถาปัตย์อย่างเดียว ฟิสิกส์ เคมี คณิตศาสตร์ ปรากฏว่าสอบเคมีตกแล้วเกรดไม่ถึงแน่นอน เลยเลือกเรียนบริหารธุรกิจแทน

คุณเป็นนักธุรกิจประเภทที่มีไอเดียใหม่ๆ เข้ามาในหัวตลอดหรือเปล่า อย่างที่อิมแพ็คเริ่มเห็นโอกาสในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม

เคยทำแบบทดสอบลักษณะนิสัย เขาบอกว่าเราไม่ใช่คนที่คิดไอเดียขึ้นมาเองได้ แต่ต้องมีไอเดียตั้งต้นของคนอื่นมาก่อน แล้วเราค่อยเอามาพัฒนาต่อ จึงจะสำเร็จ ซึ่งเราภูมิใจนะ บางทีเราไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่คิดออกแล้วไปทำ เราอาจจะเอาไอเดียหรือโอกาสที่มีมาคิดว่าควรทำหรือเปล่าก็ได้เหมือนกัน

อย่างธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม เราเริ่มจากร้านอาหารญี่ปุ่นชื่อ Tsubohachi เปิดมาเจ็ดปีแล้ว มีอยู่ประมาณสิบสาขา ก็ไม่ได้เกิดจากการที่เราบอกว่าเทรนด์ญี่ปุ่นกำลังมา ลองไปหาแบรนด์สิ แต่เกิดจากเพื่อนชวนไปกินข้าว เลยได้รู้จักกับผู้บริหารของแบรนด์เขา เราก็เห็นโอกาสว่าถ้าเอามาเปิดก็น่าจะดี หรืออย่างโกคาร์ทที่อิมแพ็ค เราก็ไม่ใช่คนต้นคิดว่าต้องมีตรงนี้ แต่มีคนมาเสนอว่า พื้นที่ว่างตรงนี้น่าจะทำอะไรแบบนี้ เราเห็นว่าครอบครัวมาเที่ยวที่นี่เยอะ เลยไปทำการบ้านต่อจากที่เขาเสนอ ซึ่งสุดท้ายก็ออกมาคนละแบบเลยนะ มันก็สำเร็จ แต่เราก็ไม่ได้คิดขึ้นมาเอง สุดท้ายก็เลยยอมรับว่าเราไม่มีไอเดียก็ได้ ไปต่อยอดของคนอื่นมา (หัวเราะ)

แต่การเห็นโอกาสแบบนี้ก็เป็นลักษณะที่ดีอย่างหนึ่งของนักธุรกิจ

วิธีคิดของเราคือมองให้เป็นภาพ สมมติว่าอิมแพ็คคือวงกลมใหญ่ๆ ตรงกลาง แล้วธุรกิจอื่นคือวงกลมเล็กด้านนอก เวลาจะเลือกทำอะไรผมจะมองว่าวงกลมนั้นจะต้องเกี่ยวข้องกับวงกลมตรงกลางให้ได้ อย่างเช่นโกคาร์ท เราก็มองไปถึงลูกค้าที่จัดงาน อาจจะเป็น Team Building อาจจะเป็น Product Launch หรืออาจจะแค่คนมาจัดงาน พอจบงานก็พาแขกมาเล่นเพื่อพักผ่อน มันก็เป็นอะไรที่เชื่อมกันได้ อย่างร้านอาหาร เราก็เสนอให้ลูกค้า ทำข้าวกล่องบริการลูกค้าได้ ร้านกาแฟร้านนี้ก็เหมือนกัน

แต่ไม่ใช่ทุกอันที่รอดนะ มันก็คือธุรกิจแหละ เราเคยทำระบบซื้อตั๋วซึ่งมันก็เชื่อมกับสถานที่จัดงานแสดงต่างๆ สุดท้ายก็ไม่รอด หรือโกคาร์ทที่ทำแล้วประสบความสำเร็จมาก เราเลยลองไปเปิดในเมืองแล้วทำให้ถนนมันท้าทายยิ่งขึ้น ปรากฏว่าก็ไม่เวิร์ก ปิดตัวไปหลังจากเปิดได้หนึ่งปีเพราะลูกค้าบอกว่ายากเกิน แทนที่จะเสียเงินมาแล้วขับสนุกๆ ต้องมาเครียดอีก พอไม่สำเร็จ เราก็เรียนรู้ แล้วก็ไปต่อ พยายามให้ไม่เกิดปัญหาเดิมๆ อีก

The Coffee Academics

จากการบริหารธุรกิจขนาดใหญ่อย่างอิมแพ็ค มาเป็นธุรกิจเล็กอย่างร้านอาหารญี่ปุ่นหรือร้านกาแฟ The Coffee Academics มีวิธีการที่แตกต่างกันไหม

จริงๆ ไม่ได้แตกต่างกันมากเลย ความใส่ใจที่เราให้กับงานจัดแสดงสินค้ากับที่ให้กับร้านกาแฟร้านนี้ก็ไม่ต่างกัน แต่สิ่งที่แตกต่างคือความละเอียด พูดตรงๆ คือผมเป็นคนที่มาตรฐานไม่สูง อะไรอยู่ได้ก็อยู่ไป สปีดไม่เร็วมาก ซึ่งการที่เราทำธุรกิจอื่นๆ ด้วยมันทำให้เราเรียนรู้วิธีทำงานด้วย 

ร้านอาหารญี่ปุ่นเราก็ไม่ได้เรียนรู้แค่เรื่องอาหาร เราก็ได้รู้วัฒนธรรมการทำงานเขาที่จริงจังมากๆ ใส่ใจมากๆ การเอาแบรนด์เขามา เราเอาอย่างอื่นมาด้วย ร้านกาแฟนี้ก็เหมือนกัน เราได้เรียนรู้เรื่องความตั้งใจ วิธีการทำ Online Marketing ของเขา มาตรฐานของผมอาจจะอยู่ระดับกลาง แต่ของเขาคือสูง แล้วเขาไม่ปล่อย ไม่ประนีประนอม ถ้าไม่ได้คือไม่ได้ จากที่เราเคยทำแค่นี้ ลูกน้องทำแค่นี้ พอต้องมาทำงานกับเขาก็ทำให้รู้ว่า จริงๆ เราก็ทำแบบเขาได้เหมือนกัน ซึ่งคนที่มาทำร้านนี้ก็คือทีมที่อิมแพ็คนั่นแหละ เราอยากให้ลูกน้องเรามาเรียนรู้เพื่อนำไปใช้กับสิ่งอื่นๆ ที่เราทำ

The Coffee Academics
The Coffee Academics

ไม่ค่อยเห็นแง่มุมนี้ของการทำแฟรนไชส์เท่าไหร่ ส่วนใหญ่เอามาก็จบแล้ว แต่คุณพยายามเรียนรู้จาก Know-how ของเขา

ใช่ บางคนบอกว่าทำไมไม่จ้างที่ปรึกษาสักคน เปิดแบรนด์ใหม่ มันก็ทำได้ แต่การซื้อแฟรนไชส์มันคือทางลัดที่เขาไปลองมาแล้วว่า อันนี้ดี อันนี้ไม่ได้ แล้วเรานำสิ่งที่เรียนรู้จากเขามาพัฒนาการทำงานที่เรามีอยู่แล้ว

แต่พอเป็นแฟรนไชส์จากต่างประเทศ อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์ลูกค้าในประเทศเสมอไป         

ตอนนี้เราจะยึดมาตรฐานของเขาก่อน แต่เราเข้าใจว่าคนไทยถ้าดื่มกาแฟเย็นก็ชอบแบบที่เย็นกว่าเขา ปกติเขาอาจจะใส่น้ำแข็งสี่ก้อน มาเมืองไทยลูกค้าบอกว่าไม่พอ ต้องแปดก้อน หรืออย่างกาแฟร้อนของเขาจะมีรสหวาน แต่จากพฤติกรรมคนไทย ถ้ากาแฟหวานจะชอบให้เย็นด้วย ต้องหวานและเย็น แต่ถ้าเป็นกาแฟร้อนจะไม่ชอบหวาน ลูกน้องเราก็ต้องลองสอบถามลูกค้าว่าเป็นยังไง ชอบไหม แล้วค่อยปรับไป

The Coffee Academics

นอกจากเชื่อมกับธุรกิจอิมแพ็คได้ มีเหตุผลอื่นที่ทำให้คุณเห็นโอกาสในธุรกิจใหม่ๆ ไหม

รางวัลต่างๆ ที่เขาได้ก็บอกอย่างหนึ่ง แต่ถามว่าเจ้าอื่นที่ได้รางวัลไม่มีเหรอ ก็มีแหละ แต่ถ้ามัวแต่หาสิ่งที่ดีกว่าอาจจะเสียโอกาสตรงหน้าก็ได้ จะร้านอาหารญี่ปุ่น ร้านกาแฟหรือธุรกิจอะไรก็แล้วแต่ มันไม่ใช่แค่เจ้าใดเจ้าหนึ่งที่มีความรู้อย่างเดียว เราไม่ใช่คนที่ต้องหาสิ่งที่ดีที่สุดแล้วค่อยทำ อยู่ที่ว่าเราเห็นอะไร อย่างร้านอาหารญี่ปุ่นที่เราทำก็ไม่ได้รางวัลอะไรนะ แต่จุดแข็งของเขาคือ เขาเปิดมาแล้วสามสิบปี ที่ญี่ปุ่นมีอยู่สามร้อยสาขา ทำให้เรานึกถึงร้านอาหารสีฟ้า นั่นแปลว่าถ้าเราเอาร้านเข้ามาเปิดในไทย คนญี่ปุ่นที่อายุสามสิบปีขึ้นไปก็ต้องเคยเจอร้านนี้แหละ แต่สุดท้ายรางวัลมันไม่ได้ทำให้เราขายของได้ มันอยู่ที่สินค้าและบริการที่เราต้องลงมือทำ 

สิ่งสำคัญที่สุดที่ได้เรียนรู้จากการทำธุรกิจแฟรนไชส์คืออะไร

เราได้รู้ว่าทีมเราทำได้มากกว่าที่คิด ซึ่งมันก็กลับมาที่ตัวเรา เราต้องไม่ยอมลูกน้องง่ายๆ ไม่คือไม่ แต่ก่อนเราดูแลลูกน้องก็เหมือนดูแลลูก ต้องระวังคำพูด พูดแบบนี้ไม่ได้ พูดแบบนั้นก็อาจจะไม่ได้สิ่งที่ต้องการ เวลาไปโรงเรียนลูก ครูสอนว่าต้องดูแลเด็กยังไง เราก็เอามาปรับใช้กับลูกน้อง พอมาทำตรงนี้ก็อาจจะต้องปรับตัวเองด้วย เผลอๆ วิธีการเลี้ยงลูกก็ต้องเปลี่ยนเหมือนกัน (หัวเราะ) ถ้าเราไม่ผลักดัน บางอย่างก็อาจจะไม่เกิดขึ้น

แนวทางการทำธุรกิจของคุณเป็นการตามคนอื่น หรือแข่งกับตัวเองและพัฒนาให้ดีขึ้น

เนื่องจากธุรกิจเราค่อนข้างหลากหลาย บางธุรกิจก็แข่งกับคนอื่น บางธุรกิจก็แข่งกับตัวเอง อย่างอิมแพ็ค ผมจะพูดกับผู้ถือหุ้นและลูกน้องเสมอว่าเรายังแข่งกับตัวเองอยู่ เพราะว่าโอกาสที่ลูกค้าจะย้ายไปจัดงานที่อื่นค่อนข้างน้อย เพราะเขาชินกับที่นี่แล้ว นอกจากว่าเราไปทำอะไรที่ผิดมาก ทำยังไงให้เราทำได้ดีกว่าคราวที่แล้วที่เขามา ทำยังไงให้คนที่มาชมงานรู้สึกสะดวกกว่าที่เคยมา ทำยังไงให้รถติดน้อยลง ทำยังไงให้มีพื้นที่จอดรถเพิ่มขึ้น มันเป็นความท้าทายที่เราท้าทายตัวเองอยู่ตลอด แต่อย่างร้านอาหารหรือร้านกาแฟเหล่านี้มันแข่งกับคนอื่นด้วย แค่ในห้างนี้ก็มีหลายเจ้าแล้ว ก็ต้องดูว่าเราจะสู้เขาได้ยังไง จะสร้างความแตกต่างยังไง 

เคล็ดลับของการทำธุรกิจสไตล์ พอลล์ กาญจนพาสน์ ผู้นำอาณาจักรหมื่นล้านที่มีชื่อว่า อิมแพ็ค

คุณเป็นผู้นำแบบไหน

เราไม่ชอบดุคนอื่น ดุลูกมากกว่าดุลูกน้องอีกนะ ไม่รู้เหมือนกัน ลองให้ลูกน้องตอบไหม (ยิ้ม) เราให้โอกาสทางความคิดกับคน ค่อนข้างไว้ใจและปล่อยลูกน้องเหมือนกัน สิ่งไหนเรารู้ เราก็สอนเขา สิ่งไหนไม่รู้ก็บอกไม่รู้ จะไม่พยายามทำเหมือนว่ารู้ อะไรที่ไม่ถนัดก็ให้คนที่ถนัดมาสอนเราดีกว่า

คุณเป็นผู้นำที่มองโลกในแง่ดีมาก

มาก (ลากเสียง)

แล้วคนที่มองโลกในแง่ดีขนาดนี้มีวิธีรับมือกับความล้มเหลวของโลกธุรกิจยังไง

ไม่ยากครับ พรุ่งนี้เริ่มใหม่ เวลาล้มก็ไม่มีใครแฮปปี้หรอก แต่สุดท้ายก็ต้องยอมรับความเป็นจริง แล้วก็ทำต่อ

สมมติมีตำราสอนเรื่องการบริหารจัดการสไตล์คุณพอลล์ ในนั้นจะมีอะไร

บางมาก สองหน้าจบ (หัวเราะ) อย่าไปคิดเยอะ เดี๋ยวก็ผ่านไป ผมเชื่อมากว่าถ้าเราจ้างลูกน้องมา เราคาดหวังว่าเขาจะทำสิ่งหนึ่งได้ แล้วเราจะไปทำแทนเขาทำไม หรือถ้าเขาไม่ใช่ แล้วเราจะจ้างเขามาเพื่ออะไร ไม่มีหรอกที่คนคนเดียวจะทำเองได้หมด มันต้องมีทีม การทำงานกับคนคือสิ่งที่ยากที่สุด ถ้าเลือกได้คงเลือกงานที่ไม่ต้องทำกับใคร แต่มันไม่มีหรอก ไม่มีธุรกิจอะไรที่ทำคนเดียวได้หรอก สำคัญคือเราต้องยอมรับทั้งข้อดีและข้อเสียของคน

เคล็ดลับของการทำธุรกิจสไตล์ พอลล์ กาญจนพาสน์ ผู้นำอาณาจักรหมื่นล้านที่มีชื่อว่า อิมแพ็ค

11 Questions Answered by the Managing Director of IMPACT Exhibition Management

  1. สิ่งแรกที่ทำเมื่อถึงโต๊ะทำงาน : เปิดเฟซบุ๊ก
  2. คนที่มีอิทธิพลต่อชีวิตคุณมากที่สุด : คุณพ่อ
  3. คิดยังไงกับคำว่า ‘เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ ทำ’ : ขึ้นอยู่กับแต่ละคน
  4. ถ้าวันนี้ไม่ได้บริหารอิมแพ็คจะทำอาชีพอะไร : เชฟ
  5. ชมรมที่เคยอยู่สมัยเรียน : ไม่มี
  6. กีฬาที่ชอบ : อะไรที่มีบอลเล่นหมด ยกเว้นฟุตบอล
  7. เครื่องดื่มที่ชอบ (ไม่ต้องเป็นกาแฟก็ได้) : เบียร์
  8. ร้านอาหารที่กินบ่อยเท่าไหร่ก็ไม่เบื่อ : อาหารที่บ้าน
  9. หนังสือเล่มล่าสุดที่อ่าน : Siege: Trump Under Fire
  10. คำพูดติดปาก : ไม่เป็นไร
  11. ถ้าไปแข่ง แฟนพันธุ์แท้ จะเป็น แฟนพันธุ์แท้ เรื่องอะไร : อาหารจีน

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan