ปลายเดือนสิงหาคม 2562 ‘มลายูลิฟวิ่ง’ ซึ่งเป็นกลุ่มคนทำงานสร้างสรรค์ชาวสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เคยผนึกกำลังกันจัดเทศกาลออกแบบและศิลปะขึ้นที่กลางย่านเมืองเก่าปัตตานี ชื่อว่า ‘Pattani Decoded เทศกาลถอดรหัสปัตตานี’ เรียกแบบไทย ๆ ได้ว่า ‘ปัตตานีดีโคตร’

ตลอด 4 วันที่กิจกรรมดำเนินไป ถนน 3 สายในเขตเมืองเก่าอันประกอบด้วย อาเนาะรู ปัตตานีภิรมย์ และฤาดี (อา-รมย์-ดี) ล้วนคึกคักขึ้นทันตา ด้วยเหล่าศิลปินที่ยกขบวนกันมานำเสนอผลงาน คนในพื้นที่ซึ่งร่วมใจกันจัดกิจกรรม รวมถึงผู้ร่วมงานที่สนุกสนานกับการ ‘ถอดรหัสปัตตานี’ ผ่านโชว์เคส เวิร์กชอป และเสวนา

ลายแทงนิทรรศการย่อยในงาน Pattani Decoded 2022 คัดสรรโดยนักสร้างสรรค์แห่งลุ่มน้ำตานี

หลังจากห่างหายไปถึง 2 ปีซ้อนเพราะโควิด-19 ปีนี้มลายูลิฟวิ่งได้ชุบชีวิต Pattani Decoded ขึ้นใหม่ให้ไฉไลกว่าเดิม ภายใต้ธีม ‘เกลือหวาน’ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวปัตตานีมาแต่โบราณนานกาล

ฮาดีย์ หะมิดง ประธานจัดงาน และ ราชิต ระเด่นอาหมัด ประธานฝ่ายออกแบบ ช่วยกันเล่าให้เราฟังว่าเกลือหวาน ที่ภาษามลายูเรียกว่า ‘การัม มานิส (Garam Manis)’ เป็นของใกล้ตัวสำหรับคนปัตตานี บรรพบุรุษของพวกเขาทำเกลือหวานมานานหลายร้อยปีแล้ว เป็นส่วนผสมในอาหารที่คุณแม่ คุณยาย หรือใครต่อใครทำให้รับประทาน ทว่าเรื่องราวของเกลือหวานปัตตานีกลับยังมีอีกมากมายให้ลงลึกศึกษา กระทั่งคนปัตตานีแท้ ๆ หลายคนก็ไม่เคยล่วงรู้ถึงบางแง่มุมมาก่อน

ต่อไปนี้คือบางส่วนของนิทรรศการย่อยซึ่งเป็นไฮไลต์ประจำงาน Pattani Decoded 2022 ระหว่างวันที่ 2 – 4 กันยายน 2565 ที่สองหัวหอกของงานเลือกเฟ้นมาแนะนำให้รู้จัก

01
Field Work

คืนความระยิบระยับสู่นาเกลือ

ลายแทงนิทรรศการย่อยในงาน Pattani Decoded 2022 คัดสรรโดยนักสร้างสรรค์แห่งลุ่มน้ำตานี

‘ตันหยงลุโละ’ เป็นตำบลริมอ่าวที่ขึ้นชื่อเรื่องการทำเกลือหวาน ชื่อตำบลดังกล่าวมีความหมายว่า ‘อ่าวที่มีความระยิบระยับ’ ชื่อนี้ได้มาเพราะนักเดินเรือในอดีตแลเห็นความระยิบระยับบนฝั่งมาแต่ไกล ต้นตอของประกายวิบวับนั้นก็คือเกลือหวานที่กองอยู่บนนาเกลือนั่นเอง

ตำนานที่มาของชื่อ ‘ตันหยงลุโละ’ ได้จุดแรงบันดาลใจแก่ ปัว-ศาวินี บูรณศิลปิน สถาปนิกแห่ง Thingsmatter และทีม Subper ให้ออกแบบผลงาน Land Art Installation โดยการนำกระจกเงานับร้อย ๆ บานมาติดตั้งทั่วนาเกลือบริเวณบ้านบานา ใกล้ท่าเรือปัตตานี พร้อมให้ชื่อผลงานว่า Field Work

ยามเมื่อแสงอาทิตย์สาดส่อง ทั้งผืนนาก็จะระยิบระยับด้วยแสงสะท้อนของกระจกที่ทำมุมองศาต่างกัน เกิดเป็นความระยิบระยับเหมือนที่นักเดินเรือมองเห็นจากท้องทะเล

ที่ตั้ง : นาเกลือแหลมนก ตำบลบานา อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี

จัดแสดง : วันที่ 2 – 4 กันยายน 2565 เวลา 09.00 – 21.00 น.

02
The Old Man and The Sea Salt

ตีแผ่ชีวิตหนุ่มใหญ่ที่มีจิตวิญญาณเป็นนาเกลือ

ลายแทงนิทรรศการย่อยในงาน Pattani Decoded 2022 คัดสรรโดยนักสร้างสรรค์แห่งลุ่มน้ำตานี

เกลือหวานไม่ใช่แค่เครื่องปรุง และนาเกลือก็ไม่ใช่เพียงสถานที่ สำหรับชาวปัตตานีหลายชีวิตที่ยึดอาชีพทำนาเกลือมาแต่หนุ่ม แต่ยังเป็นมรดกที่บรรพบุรุษฝากฝังไว้ รวมทั้งรายได้หลักที่พวกเขาหาเลี้ยงตนเองและครอบครัวอีกด้วย

The Old Man and the Sea Salt คือนิทรรศการภาพถ่ายโดยสตูดิโอฤาดีที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของบรรดาชายสูงวัยทั้ง 7 คนซึ่งพัวพันกับเกลือหวานมาทั้งชีวิต ผ่านทั้งวันที่รุ่งโรจน์และคืนที่ล้มเหลวของการทำนาเกลือมาอย่างโชกโชน ลายนิ้วมือของบางคนเลือนหาย เพราะตรากตรำจับอุปกรณ์ทำนาเกลือกลางแดด บางคนประกาศตนว่าเป็นรุ่นสุดท้ายที่ยึดอาชีพนี้เพราะขาดลูกหลานมาสานต่อ

ไม่เพียงจัดแสดงภาพถ่ายสะท้อนชีวิตของชาวนาเกลือเหล่านี้ ตลอดทั้ง 3 วันที่จัดนิทรรศการยังมีช่วงพิเศษชื่อ Meet The Old Man ที่จะเชิญพวกเขามาสนทนาให้ฟังถึงเบื้องลึกเบื้องหลังในการทำนาเกลือ

ที่ตั้ง : สตูดิโอฤาดี ถนนฤาดี ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี

จัดแสดง : วันที่ 2 – 4 กันยายน 2565 เวลา 09.00 – 21.00 น.

03
Le Sel De La Vie

แรงบันดาลใจจากเกลือสู่ผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวัน

ตัวอย่างนิทรรศการย่อยใน Pattani Decoded 2022 ที่พบได้ในงานสร้างสรรค์แห่งปีของจังหวัดปัตตานี ซึ่งกลับมาอีกครั้งพร้อมกับธีม ‘เกลือหวาน’

ชื่อนิทรรศการภาษาฝรั่งเศสที่มีความหมายว่า ‘เกลือแห่งชีวิต’ เดิมเป็นชื่อหนังสือ ประพันธ์โดยอาจารย์ชาวฝรั่งเศส มีเนื้อหาเกี่ยวกับเกลือในเอเชียอาคเนย์ ซึ่งในเล่มนี้ได้กล่าวถึงเกลือของปัตตานีด้วย

เอ็มโซเฟียน เบญจเมธา แห่งเบญจเมธาเซรามิก ได้เลือกชื่อนี้เป็นคอนเซ็ปต์และชื่อนิทรรศการสำหรับแสดงศิลปหัตถกรรมที่เขาเป็นผู้ออกแบบ และร่วมมือกับบรรดาช่างศิลป์ในพื้นที่ รังสรรค์ผลิตภัณฑ์ขึ้นจากนาเกลือ เม็ดเกลือ ต้นคราม ตลอดจนถ้วยชามอายุร้อยปีที่ชอบฝังตัวอยู่ตามคันนาเกลือปัตตานี แอบกระซิบว่ามีประติมากรรมชิ้นหนึ่งซึ่งเขาร่วมสร้างกับเพื่อนฝูงดีไซเนอร์ในวงการอย่าง กรกต อารมย์ดี, ศุภชัย แกล้วทนงค์ และ วลงกรณ์ เทียนเพิ่มมูล ด้วยนะ

เอ็มโซเฟียนขนานนามเพื่อนร่วมทำงานทุกสายงานที่ร่วมใจสร้างสรรค์งานนี้ว่า ‘เกลอเกลือ’ คนเหล่านี้คือผู้มีส่วนช่วยในการสร้างความตระหนักรู้แก่ผู้คนว่าเกลือหวานมีความสำคัญเพียงใด ผ่านการออกแบบสมัยใหม่กับงานศิลปหัตถกรรมดั้งเดิมในท้องถิ่น ดังคำกล่าวของเขาว่า “หากไม่มีเกลือก็จะไม่มีชีวิต หากไม่มีชีวิตก็จะไม่มีวิถี หากไม่มีวิถีก็จะไม่มีศิลปหัตถกรรม”

ผลงานที่เอ็มโซเฟียนและเหล่าเกลอเกลือจะนำมาจัดแสดงที่นิทรรศการมีมากกว่า 20 อย่าง แต่จะมีอะไรบ้าง ต้องรอชมที่งานเท่านั้น

ที่ตั้ง : มอ.ปัตตานีภิรมย์ 203 ถนนปัตตานีภิรมย์ ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี 

จัดแสดง : วันที่ 2 – 4 กันยายน 2565 เวลา 09.00 – 21.00 น.

04
The Memoirs of Taning

ออกแบบลวดลายผ้าโปร่งผสมผสานความเป็นมลายูและจีน

ตัวอย่างนิทรรศการย่อยใน Pattani Decoded 2022 ที่พบได้ในงานสร้างสรรค์แห่งปีของจังหวัดปัตตานี ซึ่งกลับมาอีกครั้งพร้อมกับธีม ‘เกลือหวาน’

แม้ว่า Pattani Decoded ปีนี้จะมาในธีมเกลือหวาน แต่ของดีในเมืองงามสามวัฒนธรรมยังมีอีกหลายสิ่งอย่างที่จูงใจให้เหล่านักสร้างสรรค์นำไปสร้างงาน ยกตัวอย่างเช่นคราม

เอิ้น-ศริญญา ลิมป์ทองทิพย์ จากแบรนด์ Srinlim เป็นศิลปินนอกพื้นที่ที่ได้มาปัตตานีหลายครั้ง เศษจานชามย้อมครามของที่นี่เป็นที่ถูกอกถูกใจเธอมาก แต่เพราะงานย้อมครามปัตตานีได้สูญหายไปในชั่วระยะเวลาหนึ่ง และไม่ได้รับการกล่าวขวัญถึงหรือให้ความสำคัญเท่าที่ควร คุณเอิ้นจึงนำเทคนิคการย้อมครามมาเป็นสารตั้งต้นในการสร้างผลงานของเธอ

วัสดุที่ศิลปินสาวเลือกใช้ย้อมคือผ้าโปร่งซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากผ้าสองชนิด สองวัฒนธรรม ในเมืองปัตตานี ได้แก่ผ้าคลุมผมโปร่งบางของสตรีมุสลิม กับม่านปักลายฉลุตามบ้านคนในชุมชนจีน เรียกได้ว่าเป็นการผสมผสานวัฒนธรรมชาวมลายูและชาวจีนในพื้นที่เข้าด้วยกัน

ที่ตั้ง : บ้านเลขที่ 5 ถนนอาเนาะรู ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี

จัดแสดง : วันที่ 2 – 4 กันยายน 2565 เวลา 09.00 – 21.00 น.

05
หย่งชางกิ้มซิ้น

ศิลปะการซ่อมพระจีนบนถนนปัตตานีภิรมย์ 

ตัวอย่างนิทรรศการย่อยใน Pattani Decoded 2022 ที่พบได้ในงานสร้างสรรค์แห่งปีของจังหวัดปัตตานี ซึ่งกลับมาอีกครั้งพร้อมกับธีม ‘เกลือหวาน’

งาน Pattani Decoded 2022 มียอดศิลปินอีกมากมายที่พร้อมนำศาสตร์และศิลป์ของพวกเขามาแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ขอยกตัวอย่าง โก้-ชูโชติ เลิศลาภลักขณา เจ้าของร้านหย่งชางกิ้มซิ้น

พี่โก้เป็นชาวไทยเชื้อสายจีนในชุมชนกือดาจีนอ (ตลาดจีน) จบการศึกษาด้านสถาปัตยกรรม แต่ชีวิตได้หันเหมาทางซ่อมบูรณะเทวรูปพระจีน หรือ ‘กิ้มซิ้น’ ที่ชำรุด เนื่องจากเคยเช่าพระจีนมาบูชาเอง แต่พระจีนองค์นั้นเกิดแตกหักระหว่างขนส่ง เขาเลยลองซ่อมแซมด้วยตัวเอง ปรากฏว่าซ่อมได้ดีเหมือนของเดิม 

นั่นคือจุดเปลี่ยนที่ดลใจให้พี่โก้หันมารับซ่อมพระจีนจนเป็นกระบี่มือหนึ่งในปัตตานี มีคนส่งพระจีนที่เสียหายมากมายทั้งในและนอกประเทศ ส่งผลให้ร้านหย่งชางกิ้มซิ้นของเขากลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง

ปกติพี่โก้มักจะไม่เปิดหน้าร้านที่ถนนปัตตานีภิรมย์ เนื่องจากงานซ่อมเป็นงานประณีตที่ต้องใช้สมาธิในการทำสูง แต่ในวันที่ 2 – 4 กันยายนนี้ จะเป็นไม่กี่ครั้งที่นายช่างคิวทองอย่างพี่โก้นำพระออกมาซ่อมที่หน้าบ้านให้ชมกันอย่างเต็มตาและจุใจ

ตัวอย่างนิทรรศการย่อยใน Pattani Decoded 2022 ที่พบได้ในงานสร้างสรรค์แห่งปีของจังหวัดปัตตานี ซึ่งกลับมาอีกครั้งพร้อมกับธีม ‘เกลือหวาน’

ที่ตั้ง : ถนนปัตตานีภิรมย์ ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี

จัดแสดง : วันที่ 2 – 4 กันยายน 2565 เวลา 09.00 – 21.00 น.

ภาพ : Pattani Decoded

Writer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย