The Cloud x สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA)
The Cloud ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) จังหวัดปัตตานี และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ทำโครงการศึกษาอัตลักษณ์ของเมืองปัตตานี แล้วนำเสนอในมุมใหม่ เพื่อให้เห็นว่าจังหวัดปัตตานีมีเรื่องราวที่น่าสนใจ น่านำมาต่อยอดในรูปแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และน่าเดินทางไปสัมผัสความพิเศษนี้
พวกเรามองว่า ปัตตานี คือเมืองพหุวัฒนธรรม
มีอัตลักษณ์และเสน่ห์เฉพาะตัวมากมาย ทั้งเรื่องราวในเชิงประวัติศาสตร์ และการขับเคลื่อนเมืองโดยคนรุ่นใหม่ยุคปัจจุบัน
ในอดีตที่นี่เป็นดินแดนฮินดู-พุทธ หรือ ฮินดู-ชวา ที่ชื่อ ‘ราชอาณาจักรลังกาสุกะ’ มีผู้คนหลายเชื้อชาติเข้ามามีปฏิสัมพันธ์และอาศัยร่วมกัน เช่น สยาม มลายู ชวา อินเดีย อาหรับ จีน จึงมีวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวก่อนที่ศาสนาอิสลามจะเดินทางมาถึงและได้รับการยอมรับมาจนถึงปัจจุบัน
ในช่วงที่ปัตตานีมีสถานะเป็นเมืองท่า มีการติดต่อค้าขายกับชาติต่างๆ เช่น โปรตุเกสที่เข้ามาค้าขายกับปัตตานีเป็นเมืองแรก แล้ว 2 ปีต่อมาถึงเดินทางไปค้าขายกับอยุธยา อิทธิพลของโปรตุเกสหลายอย่างยังคงมีให้เห็นในปัตตานี ไม่ว่าจะเป็นขนมอย่างบ๊ะหนี่ มหรสพอย่างรองเง็ง และคำศัพท์อย่างโก๊ะ (หน่วยเงิน ถ้ากาแฟแก้วละสิบบาท จะเรียกว่าปูโละห์โก๊ะ มาจากหน่วยเงินโปรตุเกสโบราณชื่อ Gosh)
อิทธิพลจากชาติต่างๆ รวมทั้งความเป็นมลายู พุทธ และจีน ปรากฏให้เห็นในชีวิตประจำวันอย่างผสมกลมกลืนกัน ทั้งอาหาร สถาปัตยกรรม มหรสพ และศิลปวัฒนธรรมต่างๆ เช่น เครื่องดื่มยอดนิยมยามเช้าของชาวมลายูคือ แตออ ซึ่งเป็นคำภาษาจีน แปลว่า ชาร้อน
มีการจัดทำเส้นทาง ‘วงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี’ ในเขตพื้นที่ชั้นในของเมือง ระหว่างถนนปัตตานีภิรมย์ ถนนอาเนาะรู ถนนยะรัง และถนนยะหริ่ง ซึ่งเต็มไปด้วยสถานที่สำคัญของวัฒนธรรมต่างๆ ให้แวะไปเรียนรู้
เรื่องราวความน่าสนใจของจังหวัดปัตตานีมีมากมายจนมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เขียนรายงานออกมาได้หลายร้อยหน้า แต่น่าเสียดายที่เราไม่สามารถถ่ายทอดได้ครบ ก็เลยขอคัดสรรมาแค่ส่วนหนึ่ง เป็นสิ่งของและสถานที่ 14 อย่าง เมื่อเรารู้จักแล้ว เราจะได้รู้จักปัตตานีในมุมใหม่ ที่อาจจะไม่เคยรู้มาก่อน
01
มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี
เมื่อครั้งรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ มาทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่จังหวัดปัตตานี ทรงเห็นว่าที่นี่มีประชากรนับถือศาสนาอิสลามเป็นจำนวนมาก สมควรจะมีมัสยิดที่ใหญ่โตและสวยงามขึ้น จึงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นเงินทุนก้อนแรก จากนั้นรัฐบาลก็อนุมัติงบประมาณสำหรับการก่อสร้าง เมื่อถึง พ.ศ. 2506 มัสยิดกลางปัตตานีก็เปิดใช้งาน
ตัวอาคารเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง 2 ชั้น บางส่วนสร้างตามแบบของทัชมาฮาล ในประเทศอินเดีย ชั้นล่างตกแต่งด้วยหินอ่อนใช้เป็นที่ละหมาด ชั้นบนเป็นดาดฟ้า มียอดโดมสีเขียวขนาดใหญ่กลางอาคาร และโดมขนาดเล็กล้อมรอบ 4 ด้าน ด้านข้างมีหออะซาน ด้านหน้ามีสระน้ำซึ่งสะท้อนเงาของตัวมัสยิด
มัสยิดกลางถือเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวมุสลิม และใช้ประกอบศาสนกิจสำคัญ อย่างการละหมาดวันละ 5 เวลา รวมถึงการละหมาดใหญ่ที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในวันศุกร์ด้วย
02
ศาลเจ้าเล่งจูเกียง
ชาวจีนมีความสัมพันธ์กับดินแดนปัตตานีมานับพันปีผ่านการค้าขาย เดินทางมาตั้งรกราก และแต่งงานกับคนท้องถิ่น ช่วงต้นรัตนโกสินทร์มีกลุ่มชาวจีนฮกเกี้ยนเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ทำมาหากิน และได้รับความไว้วางใจให้เป็นเจ้าภาษีนายอากร จนเรียกได้ว่าเป็น ‘กลุ่มชาวจีนสร้างเมือง’
เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวเกิดที่ประเทศจีน ในครอบครัวตระกูลลิ้ม ชื่อ หอเหนี่ยว มีพี่ชายชื่อ ลิ้มเต้าเคียน (ลิ้มโต๊ะเคี่ยม) เขาหนีภัยจากจีนพร้อมเรือสามสิบกว่าลำมาอาศัยที่ปัตตานี เข้ารีตนับถือศาสนาอิสลาม มีภรรยาเป็นเชื้อพระวงศ์ของเมืองปัตตานี
น้องสาวไม่ทราบข่าวคราว จึงอาสาออกตามหาพี่ชายให้กลับบ้านไปหามารดา พร้อมกับลั่นวาจาว่า หากทำไม่สำเร็จจะไม่ขอมีชีวิตอยู่ เมื่อเดินทางมาถึงปัตตานี ลิ้มเต้าเคียนติดงานคุมก่อสร้างมัสยิดจึงไม่อาจกลับไปพร้อมน้องสาว ลิ้มกอเหนี่ยวจึงผูกคอตาย จากนั้นก็มีเรื่องราวอภินิหารต่างๆ ทำให้มีการสร้างศาลและรูปจำลอง เมื่อมีผู้ไปกราบไหว้เป็นจำนวนมาก ก็เลยย้ายศาลมาอยู่กลางเมือง ชื่อ ‘ศาลเจ้าเล่งจูเกียง’ (ศาลเทพเจ้าแห่งความเมตตา) แต่คนทั่วไปเรียกว่า ‘ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว’
ทุกปีจะมีงานสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว (ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3) เป็นงานใหญ่ประจำปีที่ยิ่งใหญ่มาก มีการอัญเชิญองค์พระต่างๆ ราว 30 องค์ใส่เกี้ยวแห่ไปทั่วเมือง เป็นวาระสำคัญที่ชาวปัตตานีจะกลับมารวมตัวกัน เพื่อร่วมขบวนแห่ เกี้ยวแต่ละหลังใช้คนหาม 4 คน คานหามแต่ละข้างรับผิดชอบโดยตระกูลต่างๆ ในปัตตานี สืบทอดกันมายาวนาน
ขบวนแห่จะออกจากศาลเจ้า ไปตามถนน ลุยข้ามแม่น้ำปัตตานีเพื่อระลึกถึงการเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลของเจ้าแม่ เมื่อเดินทั่วเมืองแล้วก็กลับมาทำพิธีลุยไฟที่หน้าศาลเจ้า ในช่วงกลางคืนก็จะมีมหรสพทั้งงิ้วและมโนราห์เฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่
03
วัดตานีนรสโมสร
ชาวมุสลิมและชาวพุทธในปัตตานีอยู่ร่วมกันฉันมิตรมาเนิ่นนาน ภาพของนายอุเซ็ง แวหลง คนถีบสามล้อรับจ้างชาวมุสลิม ผู้ทำหน้าที่รับส่งหลวงตาวีระ จากวัดตานีนรสโมสร ออกบิณฑบาตทุกเช้า เป็นที่คุ้นตาของชาวเมือง
วัดตานีนรสโมสรเป็นวัดที่สร้างขึ้นเป็นแห่งแรกในเขตเมืองปัตตานีใน พ.ศ. 2395 เมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสต้นมาที่ปัตตานี จึงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์มาให้สร้างศาลาการเปรียญ และเมื่อสร้างเสร็จพระองค์ก็เสด็จฯ มาสมโภชด้วยพระองค์เองใน พ.ศ. 2432
วัดนี้มีพระพุทธรูปไม้แกะสลักโบราณที่เรียกว่า พระนุ่งซิ่น เพราะจีวรแกะสลักเป็นลายดอกพิกุล แล้วก็มีอับเฉาหรือตุ๊กตาหินจีน (ทางวัดทาสีทองทับ) ซึ่งมากับเรือสินค้าจากประเทศจีน และพระบรมรูปหล่อทองเหลืองครึ่งพระองค์ของรัชกาลที่ 5 ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนำมามอบด้วยพระองค์เอง
นอกจากนี้ ยังเป็นที่ตั้งของโรงเรียนตามหลักสูตรประถมศึกษาแห่งแรกในจังหวัดปัตตานี ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2444 ที่นี่จึงเป็นสถานศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรมให้ชาวปัตตานีมาเนิ่นนาน
04
ย่านอา-รมย์-ดี
ในบรรดาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานีถือเป็นเมืองที่เท่ที่สุดในสายของพี่น้องมุสลิมวัยรุ่น เพราะเป็นเมืองเก่าที่อยู่มานานที่สุด มีความหลากหลายที่สุด มีมหาวิทยาลัยทำให้มีวัยรุ่นเยอะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีโครงการพัฒนาอาคารเก่าให้กลายเป็นคาเฟ่ พิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี่ สถานที่จัดกิจกรรม และจุดถ่ายรูป เรียกรวมๆ ว่าย่านกือดาจีนอ (ตลาดจีน) ครอบคลุมพื้นที่ถนนอาเนาะรู และปัตตานีภิรมย์ ต่อมาก็กลุ่ม Melayu Living และภาคประชาชนอีกมากมาย ก็ช่วยกันพัฒนาต่อ จนขยายพื้นที่มาถึงถนนฤาดี จึงเรียกว่าย่านอา-รมย์-ดี
ถนนอาเนาะรู เป็นที่ตั้งของศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว อาคารสองฝั่งถนนเป็นบ้านแบบจีน ซึ่งเป็นห้องแถวหน้าแคบแต่ลึกมาก ทุกหลังมีบ่อน้ำกลางบ้านเพื่อใช้อุปโภคบริโภค เรียกว่า ฉิ่มแจ้ มีอาคารที่น่าสนใจหลายหลัง เช่น บ้านเลขที่ 27 หรือ บ้านกงสี ของหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง (ปุ่ย แซ่ตัน) ผู้นำชุมชนจีนและนายอากรชาวจีนซึ่งเข้ามาอยู่ที่ปัตตานีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 โรงเตี๊ยมอาเนาะรู ร้านอาหารที่กลางวันขายข้าวมันไก่และข้าวหมูกรอบ กลางคืนขายเครื่องดื่ม ในอดีตเป็นเรือนรับรองและบ้านภรรยาน้อยของหลวงสุนทรสิทธิโลหะ (ตันจูเบ้ง) ลูกชายของหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง บ้านเลขที่ 1 บ้านสไตล์ชิโนยูโรเปียนตรงหัวมุมอาเนาะรู เดิมเป็นบ้านของบุตรสาวคนโตของหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง เป็นบ้านหลังแรกที่ได้รับการออกบ้านเลขที่โดยเทศบาลเมืองปัตตานี
ถนนปัตตานีภิรมย์ มีอาคารที่น่าสนใจคือ บ้านขุนพิทักษ์รายา เรือนแถวสองชั้นแบบจีนประยุกต์ที่ได้รับการบูรณะแล้ว บ้าน ม.อ.ปัตตานีภิรมย์ บ้านแฝด 3 หลังสีเหลืองนวล สไตล์จีนผสมตะวันตก ทาง ม.อ. ได้ซื้อและปรับปรุงเป็นพื้นที่สาธารณะของชุมชน แล้วก็ยังมีพื้นที่ของกลุ่ม Melayu Living ซึ่งจัดกิจกรรมเชิงศิลปวัฒนธรรมอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อาคารหลายหลังใช้เป็นกองบัญชาการของกองทัพญี่ปุ่น และมีที่ตั้งของโรงฝิ่นเก่าด้วย
ถนนฤาดี เป็นถนนที่ติดกับถนนปัตตานีภิรมย์ มีอาคารอยู่ 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นสไตล์ชิโนยูโรเปียนแบบปัตตานี ซึ่งมีทั้งตึกปูนและตึกครึ่งอิฐครึ่งไม้ อาคารที่โดดเด่นคือ White House กลุ่มที่สองคือ บ้านทรงผอมลึก ปัจจุบันทาสีสารพัดตามนโยบายพัฒนาเมืองจนสีสันสดใสทั้งถนน ที่นี่มีป้ายอีซูซุที่เขียนแบบโบราณ เพราะเคยเป็นโชว์รูมรถอีซูซุแห่งแรกในภาคใต้ ของชาวญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปัจจุบันกลายเป็นร้านรับทำป้าย อีกช่วงที่น่าสนใจก็คือบริเวณตลาดเทศวิวัฒน์ (เทศ คือ ชาวต่างประเทศ) ป้ายชื่อร้านย่านนี้มีหลายภาษาอยู่รวมกัน ทั้งภาษาไทย มลายู จีน และอังกฤษ
05
ผ้าจวนตานี
ปัตตานีมีผ้าท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากมาย แต่ผ้าที่โดดเด่นที่สุดคือ ผ้าจวนตานี หรือผ้ายกตานี จุดเด่นคือ มี ‘ล่อง’ หรือลวดลายตามชายผ้า จนบางครั้งก็เรียกว่า ‘ผ้าล่องจวน’ ช่างทอผ้ารุ่นเก่าเรียกว่า ‘จูวา’ จะเรียกว่า ‘ล่องจูวา’ ผ้าจวนปัตตานีมีอีกชื่อหนึ่งว่า ‘ผ้าลีมา’ ถือเป็นผ้าชั้นสูง มีราคาแพง
ผ้าจวนตานีนั้นซื้อขายกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น รู้จักแพร่หลายในหมู่ขุนนางและพระราชวงศ์ และปรากฏอยู่ในวรรณคดีหลายเรื่อง เช่น อิเหนา รามเกียรติ์ ขุนช้างขุนแผน
ผ้าจวนตานีเคยสูญหายไปจากจังหวัดปัตตานีเพราะขาดผู้สืบทอด ต่อมา รศ.จุรีรัตน์ บัวแก้ว เป็นแกนนำรื้อฟื้นคืนมาจนสำเร็จ ผ่านกลุ่มทอผ้าตำบลทรายขาว ที่อำเภอโคกโพธิ์ จนผ้าไหมมัดหมี่จวนตานี เป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่ผู้ชอบผ้าไหมพื้นเมือง
06
ผ้านายูจีนอ
ผ้าที่น่าสนใจอีกชนิดของจังหวัดปัตตานี เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ชื่อผ้านายูจีนอ (ผ้ามลายูจีน) เป็นการผสานความเป็นมลายูกับจีนเข้าด้วยกันอย่างลงตัว เป็นผ้าปาเต๊ะที่นำลวดลายของช่องลมและกระเบื้องปูพื้นของอาคารเก่าบนถนนอาเนาะรูมาทำเป็นบล็อกทองเหลืองแบบโบราณ แล้วพิมพ์เป็นแพตเทิร์นลงบนผ้า จากนั้นก็เติมสีลงไปจนเต็มผืนแบบผ้าปาเต๊ะ มีขายทั้งแบบเป็นผืน และนำไปแปรรูปเป็นสินค้าต่างๆ มากมาย
07
กริชปัตตานี
สิ่งที่โดดเด่นเช่นเดียวกับผ้าก็คือ กริช ที่ปัตตานีมีงานชื่อ กริชาภรณ์ เป็นงานที่จัดแสดงทั้งกริชและผ้าพร้อมกัน กริชเป็นอาวุธประจำตัวที่นิยมในหมู่ชาวมลายู นอกจากจะเป็นอาวุธประจำกายแล้ว ยังเป็นเครื่องบ่งบอกฐานะทางสังคม เศรษฐกิจ และยศถาบรรดาศักดิ์ แล้วก็ยังเป็นเครื่องรางของขลัง กริชบางประเภทจะถูกตีและทำพิธีตามวันเดือนปีเกิดเจ้าของกริช จึงเป็นกริชเฉพาะตัวอย่างแท้จริง ในสมัยโบราณยังใช้กริชแทนตัวเจ้าบ่าว คือเมื่อเจ้าบ่าวไม่สามารถมาร่วมพิธีแต่งงานของตนเองได้ (เช่น มีศัตรูอยู่ในหมู่บ้านเจ้าสาว) เจ้าบ่าวอาจส่งกริชของตนมาเป็นตัวแทนในพิธีได้ และถือว่าการวิวาห์นั้นชอบด้วยกฎหมายและประเพณี
กริชมีหลายสกุล แต่สกุลที่โดดเด่นมากในภาคใต้คือ กริชสกุลช่างปัตตานี ลักษณะเด่นคือ ด้ามจับเป็นรูปหัวนกพังกะหรือนกกระเต็น ครั้งหนึ่งโรงแรมโอเรียนเต็ลเคยเปิดให้สั่งทำกริชโดยต้องส่งวันเดือนปีเกิดมาด้วย มีชาวยุโรปและอินเดียสั่งกันเยอะมาก ราคาเริ่มต้นที่ 70,000 บาท ผู้ที่ตีกริชและทำฝักก็คือช่างชาวปัตตานีนั่นเอง
08
เรือกอและ
เรือกอและเป็นเรือท้องถิ่นที่อยู่คู่กับจังหวัดปัตตานีมาเนิ่นนาน เป็นเรือที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก ต่อสู้กับคลื่นลมกลางทะเลได้ดี ใช้เป็นเรือประมง ยามว่างก็นำมาจัดแข่งพายเรือ แหล่งต่อเรือกอและส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอยะหริ่ง ปะนาเระ และสายบุรี
ความพิเศษของเรือกอและคือ ลวดลายสีน้ำมันสีสันฉูดฉาดที่เขียนอยู่ข้างเรือ เป็นลวดลายแบบมลายูผสมไทยซึ่งจิตรกรพื้นบ้านหัดขีดเขียนเรียนรู้ด้วยตัวเอง ส่วนใหญ่เป็นลายพรรณพฤกษา ลายกนก บัวคว่ำ บัวหงาย ตรงหัวเรือมักวาดเป็นรูปหัวนกในตำนาน อย่างนกกาเฆาะซูรอหรือนกกากะสุระ เชื่อกันว่าเป็นนกการเวกหรือนกสวรรค์ที่บินเทียมเมฆ และบุหรงซีงอ ที่มีหัวเป็นนกตัวเป็นราชสีห์ มีฤทธิ์มากดำน้ำก็ได้ บ้างก็เป็นรูปหัวพญานาค หรือเหรา
แบมัง-มะยานัม อูมา ศิลปินนักวาดลายเรือกอแห่งอำเภอปันนาเระ ลองนำลวดลายของเรือกอและมาอยู่บนสิ่งของต่างๆ เช่น แกะเป็นลายบนรองเท้าแตะ แล้วก็สร้างกลุ่มลูกศิษย์ที่ไม่ได้วาดลายลงบนเรือ แต่เปลี่ยนมาวาดบนของที่ระลึกต่างๆ ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มลายเรือกอและอยู่ตามอำเภอต่างๆ อดุลย์ มูดอ ลูกศิษย์ของแบมัง เล่าว่า พวกเขาวาดลวดลายสไตล์ปัตตานี ซึ่งเป็นแนวมลายูผสมผสานเส้นสายและลวดลายดอกไม้แบบไทยลงบน ร่ม เสื้อ กรอบรูป นาฬิกา และว่าว มาเกือบ 10 ปีแล้ว
09
ตูป๊ะซูตง
ปัตตานีได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมที่หลากหลาย อาหารท้องถิ่นจึงมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่หลากหลาย เช่น ไก่กอและ ซึ่งนางเม๊าะเต๊ะ ต้นเครื่องในวังจะบังติกอ เป็นผู้คิดค้นสูตรและเคยทำขายทุกเย็นที่หน้าโรงภาพยนตร์วิกคิงส์ โรงหนังเก่าในเมืองปัตตานี
ข้าวยำ 5 สี ที่ต้องกินคู่กับน้ำบูดู (ซึ่งหมักด้วยเกลือหวานของปัตตานี) นาซิดาแฆ เป็นข้าวเจ้าผสมข้าวเหนียวและหางกะทินึ่งสุก ใส่ฮาลือบอ (เครื่องเทศ) คลุกเคล้าแล้วกินกับแกงปลาโอ แกงไก่ หรือแกงไข่ โรยหน้าด้วยข้าวคั่วและมะพร้าวคั่ว แนมด้วยพริกสด
ตัวอย่างของขนมขึ้นชื่อก็มี ลอป๊ะตีแก (กระโดดแทง) เป็นขนมที่เด้งและยืดหยุ่นมาก จึงต้องยกไม้พายกวน และทิ่มแทงขนมเวลากวนในกระทะ แกลแป๊ะซาฆู แป้งสาคูปิ้งบนหม้อดินเผาโบราณ และบ๊ะหนี่ เป็นขนมไข่ที่เชื่อมกับน้ำเชื่อมจนเป็นสีส้ม ได้รับอิทธิพลมาจากโปรตุเกส
เมนูที่เราอยากแนะนำที่สุดคือ ตูป๊ะซูตง หรือปลาหมึกยัดไส้ข้าวเหนียว เป็นได้ทั้งอาหารคาวและหวาน เป็นอาหารมื้อหลักก็ได้ อาหารว่างก็ได้ มีขายหน้าโรงพยาบาลและร้านอาหารหลายร้าน เช่น ร้านเดอนารา อาหารและขนมท้องถิ่นเหล่านี้ หาชิมได้ที่ตลาดวอกะห์เจ๊ะหะ ชุมชนจะบังติกอ ตลาดเทศบาล และร้านน้ำชาบังหนูด หน้า ม.อ.
10
เกลือหวาน
ปัตตานีเป็นจังหวัดเดียวในภาคใต้ที่ทำนาเกลือและผลิตเกลือมายาวนานกว่า 400 ปี เอกลักษณ์ของเกลือปัตตานีคือ รสกลมกล่อม ไม่เค็มขม เพราะใช้น้ำในอ่าวปัตตานีซึ่งเป็นน้ำทะเลผสมน้ำจืดจากแม่น้ำปัตตานีและแม่น้ำยะหริ่ง จนชาวปัตตานีเรียกว่า ‘ฆาแฆ ตานิง มานิส’ หรือ ‘ปัตตานีถิ่นเกลือหวาน’
ในอดีตปัตตานีเป็นแหล่งผลิตเกลือแห่งเดียวในแหลมมลายู เกลือปัตตานีจึงเป็นสินค้าราคาแพงที่ส่งขายไกลถึงสิงคโปร์ และเรือสินค้านานาชาติที่มาค้าขายกับปัตตานีต้องซื้อเกลือกลับไป
เกลือหวานของปัตตานีเป็นสูตรลับสำคัญของอาหารพื้นบ้านปัตตานีมากมาย เช่น น้ำบูดู (ถ้าเปลี่ยนไปใช้เกลือจากที่อื่น รสชาติน้ำบูดูจะไม่กลมกล่อม) การใช้เกลือปัตตานีดองสะตอจะทำให้สะตอกรอบ ไม่เปื่อยยุ่ย รสชาติหวานมัน อร่อย
ถ้าอยากเห็นบรรยากาศนาเกลือไปดูได้ที่ถนนนาเกลือในเขตเทศบาลเมืองนี่เอง ที่นั่นมีเกลือและอาหารทะเลตั้งขายเรียงรายอยู่ข้างทาง แต่ในร้านขายของที่ระลึกในเมืองก็มีผลิตภัณฑ์เกลือหวานที่นำมาต่อยอดได้อย่างน่าสนใจโดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ทั้งเกลือสปาขัดผิว และเกลือขมิ้นบานา คือการนำขมิ้นขูดมาผสมกับเกลือ เมื่อนำไปทาปลาสดแล้วทอด เนื้อปลาจะไม่เค็มจนเกินไป และจะหอมขมิ้น
11
สกายวอล์ก
จุดชมวิวที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองปัตตานี คือเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติหรือสกายวอล์ก สูง 13 เมตร เหนือป่าชายเลน ทางเดินชมวิวความยาวประมาณ 400 เมตร แห่งนี้ อยู่ด้านหลังสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ปัตตานี ในพื้นที่ของ ม.อ. จุดเริ่มต้นมาจากทางมหาวิทยาลัยขุดลอกดินออกจากพื้นที่จึงเกิดเป็นป่าชายเลน ทางเทศบาลจึงทำทางเดินศึกษาธรรมชาติ พอต้นไม้ในป่าชายเลนเริ่มสูงขึ้น ทางจังหวัดเห็นว่าน่าทำสกายวอล์กให้คนเดินชม นอกจากจะเห็นป่าชายเลนด้านล่างแล้ว ก็ยังเห็นทิวทัศน์โดยรอบด้วย
ถือเป็นจุดชมวิวยอดนิยมของคนในเมือง สวยทั้งช่วงเช้าและช่วงเย็น จากสกายวอล์ก เราจะมองเห็นหอดูนกของ ม.อ. ด้วย เร็วๆ นี้จะมีการสร้างทางเดินช่วงที่ 2 ทำให้เป็นทางเดินครบรอบ มีความยาวรวมราวกิโลครึ่ง
12
รองเท้าทะเลจร
กิจการธุรกิจยุคใหม่ของปัตตานีซึ่งเป็นที่พูดถึงทั่วประเทศ ไม่น่าจะมีแบรนด์ไหนโด่งดังไปกว่า รองเท้าทะเลจร (Tlejourn) อีกแล้ว กิจการเพื่อสังคมแบรนด์นี้ ก่อตั้งโดย ดร.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นการนำขยะจากรองเท้าแตะที่เก็บโดยกลุ่มผู้พิทักษ์ขยะริมชายหาด (Trash Zero) จากหมู่เกาะและชายหาดต่างๆ มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลายอย่าง เช่น พื้นยางปูสนามเด็กเล่นและรองเท้าแตะ รองเท้าทะเลจรหนึ่งคู่ทำจากขยะรองเท้า 10 ข้าง
รองเท้าทะเลจรผลิตโดยชาวชุมชนในปัตตานี กลุ่มแม่บ้านก็ช่วยเย็บถุงผ้าปาเต๊ะเป็นบรรจุภัณฑ์ ช่วยสร้างรายได้ให้ชาวบ้าน ปัจจุบันรองเท้าทะเลจรส่งออกไปยังต่างประเทศ และมีขายในร้านค้า และโรงแรมชั้นนำ หลายแห่งทั่วประเทศ รวมถึงได้ร่วมทำรองเท้าแตะรุ่นพิเศษกับรองเท้าแตะแบรนด์ดังอย่างนันยางด้วย ในจังหวัดปัตตานี หาซื้อทะเลจรได้ที่ Farm Outlet Pattani
13
ตลาดรูสะมิแล
ปัตตานีเป็นตลาดเสื้อผ้ามือสองที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน ก่อนอื่นต้องขอเล่าที่มากันก่อน พื้นที่ตำบลบางปู เดิมเป็นหมู่บ้านชาวประมง (ปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ควรไปนั่งเรือชมนกและชมหิ่งห้อย) ช่วง พ.ศ. 2524 มีพ่อค้าชาวบางปูบุกเบิกการนำเนื้อกระสอบจากประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียมาขายที่ตลาดนัดสนามหลวงในกรุงเทพฯ (เมื่อก่อนใช้เป็นที่จัดตลาดนัด)
ยุคนั้นเสื้อผ้าอัดมาเป็นก้อนสี่เหลี่ยมขนาด 30 กิโลกรัม เสื้อผ้าด้านในเรียกว่า บาญู ฆูนี (Baju Guni) แปลว่า เสื้อกระสอบ ในช่วงนั้นพ่อค้าเสื้อกระสอบจากสามจังหวัดชายแดนใต้ทำรายได้อย่างมหาศาล เพราะผูกขาดการนำเข้า สัปดาห์ละหลายหมื่นบาท คนในตำบลบางปูจึงหันมาทำธุรกิจที่เกี่ยวกับเสื้อกระสอบ เช่น รับจ้างซักรีด คัดแยกเกรดเสื้อ กันอย่างคึกคัก
พ.ศ. 2525 ตลาดนัดสนามหลวงย้ายไปอยู่ที่ตลาดนัดพหลโยธิน (เปลี่ยนชื่อเป็นตลาดนัดจตุจักรในเวลาต่อมา) แต่กลุ่มพ่อค้าเสื้อกระสอบรายใหญ่จากสามจังหวัดไม่ย้ายตามไป แยกย้ายไปทำอาชีพอื่น และนั่นอาจจะเป็นเหตุผลให้เกิดตลาดของมือสองขนาดใหญ่ในจังหวัดปัตตานีแทน
ตลาดของมือสองที่ใหญ่ที่สุดในปัตตานีคือ ตลาดรูสะมิแล ตั้งร้านขายของสองฝั่งถนนรูสะมิแลตลอดความยาวราว 1.5 กิโลเมตร มีเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า หมวก ผ้ากันเปื้อน ผ้าปูที่นอน ชุดจักรยานก็มี ราคาเริ่มต้นที่ไม่กี่สิบบาท เปิดขายตั้งแต่สายๆ ถึงบ่ายวันอาทิตย์ ตอนนี้ขยายมาถึงถนนด้านหน้าโรงเรียนสาธิตฯ เป็นตลาดของเก่าแบบคลองถม และเสื้อผ้าที่คัดมาแล้ว เป็นบรรยากาศอีกแบบหนึ่ง ถือเป็นสถานที่ช้อปปิ้งอันดับหนึ่งในดวงใจของวัยรุ่นปัตตานี
ถ้าเป็นช่วง 5 โมงถึง 3 ทุ่ม วันศุกร์ถึงอาทิตย์ วัยรุ่นจะมาพบกันที่ตลาดเปิดท้าย (ตลาดสุวรรณมงคล) เป็นตลาดมือสองที่มีขายทั้งเสื้อผ้า และข้าวของเครื่องใช้ที่ปูผ้าขายกับพื้น เป็นการเดินเลือกของในบรรยากาศเย็นสบาย แต่ตลาดที่เด็ดที่สุดคือ ตลาดขยะที่อยู่ฝั่งตรงข้าม เป็นการขายของแบบเพิ่งเปิดกระสอบ ให้เหล่าคนที่มีสายตาแหลมคมทั้งหลายเข้าไปคัดของเป็นรายแรกๆ วัยรุ่นปัตตานีจำนวนไม่น้อยก็เลยคุ้นเคยกับการคัดของแบรนด์เนม และของมือสองที่มีความพิเศษทั้งหลายมาขายต่อในโลกออนไลน์ ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้น โพสต์ขายในอีเบย์เลยทีเดียว
ของมือสองที่ฮิตที่สุดในหมู่วัยรุ่นมุสลิมตอนนี้คือ ผ้าเลอปาส (ผ้าปล่อยชาย ไม่เย็บปลาย) เป็นผ้าอเนกประสงค์แบบผ้าขาวม้า ใช้ได้ทั้งชายหญิง โพกหัว บังแดด เข้าสวน เช็ดตัว และทำพิธีกรรม มันเพิ่งดังในช่วง COVID-19 นี่เอง เพราะงานฮารีรายอปีที่แล้วมีกระแสคนแต่งตัวชุดมลายูไปฉลองและถ่ายรูปตามที่ต่างๆ ซึ่งผ้าเลอปาสก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ต้องมี เหล่าเยาวชนเลยตามหาผ้าเลอปาสมือสองมาใช้กันจนฮิต ถ้าจะเล่นก็เล่นผืนที่ผลิตในอังกฤษหรืออินเดีย ที่เด็ดสุดคือสีเหลือง ซึ่งเป็นสีที่แสดงถึงความหรูหรานั่นเอง
14
ลูกหยียะรัง
ลูกหยีนั้นเปรียบได้กับผลไม้ประจำจังหวัดปัตตานี ที่แค่ชิมยังไม่พอ เราควรไปชมด้วย ขอแนะนำให้มุ่งหน้าไปท่องเที่ยวชุมชนดงต้นหยี หมู่บ้านปูลาตะเยาะฆอ อำเภอยะรัง ซึ่งเป็นย่านที่ปลูกและแปรรูปลูกหยีกันมาหลายชั่วอายุคน มันเด็ดและเด่นดังจนทางจังหวัดกำลังผลักดันให้ลูกหยียะรังเป็นสินค้า GI (สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) เลยทีเดียว
ต้นหยีสูงใหญ่คล้ายต้นยางนา ที่นี่มีต้นหยีโบราณอายุถึง 400 ปี ซึ่งน่าจะมีอายุมากที่สุดในประเทศไทย ความสูงก็ไล่เลี่ยกับตึก 10 ชั้น ในอำเภอยะรังมีต้นหยีอายุเกินร้อยปีอยู่เกือบร้อยต้น มีต้นหยีรุ่นลูกรุ่นหลานรวม 3 พันกว่าต้น ซึ่งในจำนวนนี้มีต้นที่ออกผลอยู่พันกว่าต้น ความพิเศษของต้นหยีก็คือ นับจากวันที่เริ่มปลูกจนถึงวันที่ออกผลนั้นต้องใช้เวลายาวนานราว 30 ปี ต้นหยีเกือบทั้งหมดที่ออกผลจึงเป็นมรดกที่บรรพบุรุษหลายรุ่นปลูกไว้ให้
การเก็บลูกหยีก็ต้องให้ผู้ชำนาญการปีนขึ้นไปถึงยอด แล้วตัดกิ่งที่มีผลลงมา ตัดกิ่งด้านไหน ปีหน้าด้านนั้นก็จะไม่ออกผลอีก ต้องรอปีถัดไป เพราะต้นหยีจะออกผลตามกิ่งที่มีอายุเท่านั้น
การแปรรูปลูกหยีคุณภาพดีที่สุดในช่วงต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวคือ ลูกหยีเชื่อม จากนั้นก็จะนำมาแปรรูปเป็นน้ำลูกหยี น้ำพริกลูกหยี เยลลี่ลูกหยี สบู่ลูกหยี และสินค้าที่คนคุ้นเคยกันดีอย่าง ลูกหยีกวน และลูกหยีฉาบ ชิมแล้วรับรองว่า จะได้ยิ้มจนตาหยีแน่ๆ
ขอบคุณ
- รศ.อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ
- ผศ. ดร.พรปวีณ์ พุ่มเกิด
- ผศ. ดร.นภดล ทิพยรัตน์
- ผศ. ดร.จรีรัตน์ รวมเจริญ
- อ.พิชัย แก้วขาว
- คุณรดา จิรานนท์
- คุณมณฑิรา เพชรอุไร
- คุณประทุมรัตน์ รัตน์น้อย
- คุณนราวดี โลหะจินดา
- Melayu Living