4 มีนาคม 2020
14 K

“พอพลบค่ำ กรุงเทพฯ ก็สว่างไสวด้วยด้วยแสงไฟฟ้า…หลังจากสันติภาพมาเยือน พระนครก็อุ่นหนาฝาคั่งด้วยผู้คนทั้งกลางวันและกลางคืน” 

บทเปิดของ พล นิกร กิมหงวน ตอนกรุงเทพฯ ราตรี ดังขึ้นในหัวของเราในช่วงพลบค่ำบนถนนสีลม น่าฉงนที่แม้เวลาไหลผ่านมาหลายสิบปีจากสงครามมหาเอเชียบูรพาอันเป็นฉากหลังของหัสนิยายโดย ป. อินทรปาลิต เล่มดังกล่าว แต่บรรยากาศเบื้องหน้าของเรายังคงคลุ้งกลิ่นที่ใกล้เคียงพอสมควร ตัวละครชาวต่างชาติที่เดินกันขวักไขว่ เพียงเปลี่ยนจากทหารเป็นพ่อค้าและนักท่องเที่ยว ย่านบันเทิงอาจย้ายจากเมืองเก่าสู่เมืองใหม่ แต่แสงไฟประดิษฐ์ของมันยังคงส่องให้เห็นความเป็นมนุษย์ที่ขับเคลื่อนด้วยเสียงเพลงและธนบัตรอยู่เช่นเดิม

เราเดินเข้าซอยพัฒน์พงศ์ ถนนเส้นเล็กแค่สามร้อยกว่าเมตรแต่เลืองชื่อไปทั่วโลก ผ่านเสียงเรียกลูกค้าและนักเลงบาร์ที่นั่งกันเรียงรายสองข้างทาง พลางนึกตลกในใจ “ใครจะไปคิดว่า ท่ามกลางย่านนี้จะมีพิพิธภัณฑ์ซ่อนอยู่”

ป้ายไฟ ‘Patpong Museum’ ตั้งอยู่ตรงทางเข้าเดียวกันกับบาร์ Black Pagoda ทำให้เราลังเลเล็กน้อย แต่เมื่อทราบความตั้งใจของเรา พนักงานต้อนรับหญิงในชุดสั้นสีแดงสดก็พยักหน้า แล้วรี่พาเราขึ้นไปบนชั้นสองทันที “ยินดีต้อนรับเข้าสู่พัฒน์พงศ์มิวเซียมค่ะ” เธอแจกแจงราคาค่าเข้าพร้อมยื่นแผ่นพับในรูปพาสปอร์ตและบัตร Free Drink สมนาคุณให้หนึ่งใบ “ใช้แลกได้แต่ ชา กาแฟ และ Soft Drink นะคะ ถ้าเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ต้องจ่ายเงินต่างหากค่ะ”

พิพิธภัณฑ์ขนาดเล็กนี้ก่อตั้งขึ้นโดย ไมเคิล เมสซ์เนอร์ (Michael Messner) ผู้มีพื้นเพเป็นคนออสเตรีย โตมาในบ้านที่คุณพ่อเป็นศิลปินและเคยดูแลพิพิธภัณฑ์ที่บ้านเกิดมาก่อน โชคชะตาพัดพาเขามาที่ประเทศไทยและได้แต่งงานกับหญิงสาวชาวไทย คุณไมเคิลตัดสินใจตั้งหลักปักฐานที่นี่กับธุรกิจ เริ่มจากร้านอาหารในย่านพัฒน์พงศ์ อย่างไรก็ดี พอทำไปได้สักพักเขารู้สึกว่า ลูกค้าขาประจำย่านนี้ล้วนมีเรื่องเล่าที่ไม่ธรรมดา มีจำนวนไม่น้อยที่เคยเป็นทหารผ่านศึกจากช่วงสงครามเวียดนาม บ้างเป็นสายสืบให้กับ CIA บ้างเป็นผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นละแวกนี้ เขาจึงมีไอเดียริเริ่มที่จะสืบสาวเท้าความ สะสมร่องรอยประวัติศาสตร์กว่าร้อยปีของย่านที่ทุกคนรู้จัก แต่น้อยคนนักจะรู้จริง 

Patpong Museum มิวเซียมเล็กที่เล่าร่องรอยประวัติศาสตร์ย่านพัฒน์พงศ์ตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม
Patpong Museum มิวเซียมเล็กที่เล่าร่องรอยประวัติศาสตร์ย่านพัฒน์พงศ์ตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม

ตรงทางเข้าเราเห็นหางสีแดงของมังกรที่เปรียบเสมือนผู้นำทางของเรา ลอดผ่านผนังของประตูทรงโค้งแนวจีน สื่อถึงเชื้อชาติของต้นตระกูลผู้ถือครองสิทธิ์บนถนนสายนี้ นั่นคือ นายตุ้น แซ่ผู่ ชาวจีนไหหลำจากมณฑลไหหนาน ย้ายมาอยู่ในไทยกับญาติตั้งแต่อายุเพียง 12 ปี เริ่มต้นด้วยการค้าขายข้าวและเกลือ

ต่อมาธุรกิจจึงขยับขยายความอุตสาหะ จนได้รับสัมปทานทำเหมืองดินขาวส่งให้ปูนซีเมนต์ไทย และได้รับพระราชทานตำแหน่ง หลวงพัฒน์พงศ์พานิช จากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ พ.ศ. 2470 ในห้องแรกของมิวเซียมนี้เราจึงได้เห็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับประวัติของท่าน ตั้งแต่กระสอบข้าวของแรงงานจีนให้ลองหาบยก (แค่มองก็รู้แล้วว่าหนัก) ไปจนถึงแผนที่ของกรุงเทพฯ ขนาดใหญ่สมัย ร.ศ. 115 (พ.ศ. 2439) และแผนที่แสดงเส้นทางเดินเรือจากสยามไปจีน

Patpong Museum มิวเซียมเล็กที่เล่าร่องรอยประวัติศาสตร์ย่านพัฒน์พงศ์ตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม

ตรงกลางห้องมีโมเดลจำลองพื้นที่พัฒน์พงศ์ สีลม และสุรวงศ์ ในพ.ศ. 2489 ซึ่งเป็นปีที่หลวงพัฒน์พงศ์พานิชตัดสินใจซื้อที่ดินผืนนี้ บนโมเดลเราชี้บอกถนนสีลมได้เพียงเส้นรถรางเล็กๆ ที่วิ่งผ่าน ส่วนฝั่งสุรวงศ์นั้นเป็นป่ากล้วยทั้งหมด มีเพียงบ้านไม้สักหนึ่งหลังที่เคยเป็นธนาคารและที่ประจำการของทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งหมดดูต่างกับภาพของถนนเส้นนี้ในปัจจุบันลิบลับ

Patpong Museum มิวเซียมเล็กที่เล่าร่องรอยประวัติศาสตร์ย่านพัฒน์พงศ์ตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม
Patpong Museum มิวเซียมเล็กที่เล่าร่องรอยประวัติศาสตร์ย่านพัฒน์พงศ์ตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม

เอกสารครอบครัวสีจางบนผนังให้ข้อมูลกับเราว่าหลวงพัฒน์พงศพานิชย์ สมรสกับ นางเพี้ยน ซิ้นประยูร เมื่อ พ.ศ. 2443 มีบุตรธิดาด้วยกัน 7 คน หนึ่งในนั้นคือคนที่มาต่อยอดที่ดินของพ่อผืนนี้ และเปลี่ยนภาพลักษณ์ของมันจากพื้นที่เกษตรสู่ย่านธุรกิจที่สำคัญอันดับต้นๆ ของเมืองไทย เขาคนนั้นคือ อุดม พัฒน์พงศ์พานิช ซึ่งเรื่องราวของเขาถูกเล่าในห้องถัดมา

Patpong Museum มิวเซียมเล็กที่เล่าร่องรอยประวัติศาสตร์ย่านพัฒน์พงศ์ตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม

คุณอุดมเป็นบุตรที่ถูกส่งไปเรียนต่อในเมืองนอก ระหว่างศึกษาอยู่ในสหรัฐอเมริกา เขาได้เข้าร่วมขบวนการเสรีไทย ซึ่งมี CIA หรือสำนักข่าวกรองกลางของรัฐบาลสหรัฐอยู่เบื้องหลัง มีพันธกิจต่อต้านการรุกรานของกองทัพญี่ปุ่นและอำนาจพรรคคอมมิวนิสต์

อย่างไรก็ดีเมื่อเขากลับมาที่บ้านเกิด สงครามได้จบลงเสียแล้ว คุณอุดมจึงทุ่มเทกับการพัฒนาที่ดินใจกลางกรุงเทพฯ ท่ามกลางเสียงคัดค้านของครอบครัว เขาตัดสินใจถางป่ากล้วยออกแล้วตัดถนนตรงกลางแปลง เพื่อสร้างอาคารพาณิชย์ทั้งสองฝั่งอย่างทันสมัย

ถนนสายนี้เป็นที่รู้จักในชื่อ ‘ถนนพัฒน์พงศ์’ นับแต่นั้นมา นอกจากนี้ คุณอุดมยังเชิญชวนเพื่อนในเครือข่ายทั้งทางทหารและธุรกิจจากเมืองนอกมาร่วมเปิดห้างร้านบริษัทของตนบนถนนเส้นนี้ ทั้งบริษัท IBM ปั๊มน้ำมัน Shell และ Caltex ไปจนถึงออฟฟิศของสายการบินอย่าง Air France และ Pan Am ฯลฯ ซึ่งเราจะเห็นกล่องไฟของบริษัทเหล่านี้ติดเรียงรายอยู่บนผนัง แม้กระทั้งร้านอาหารญี่ปุ่นร้านแรกๆ ของไทยก็เปิดที่นี่ เห็นได้จากป้ายของ ‘ภัตตาคารมิสุ’ ซึ่งมีเจ้าของเป็นทหารญี่ปุ่นที่ปลดประจำการ อีกทั้ง Foreign Correspondents’ Club หรือสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศก็มีออฟฟิศตั้งอยู่ย่านนี้ (เมื่อย้ายไปที่ตั้งใหม่ตรงถนนเพลินจิต คุณไมเคิลก็ขอเก็บป้ายอันเดิมมาจัดที่แสดงในพิพิธภัณฑ์ด้วย) 

Patpong Museum มิวเซียมเล็กที่เล่าร่องรอยประวัติศาสตร์ย่านพัฒน์พงศ์ตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม

ในฐานะคนชอบของเก่า เราเพลิดเพลินอย่างมากที่ได้ดูวัตถุจัดแสดงในห้องนี้ ตั้งแต่ตู้ต่อสายโทรศัพท์ ของโรงแรม Plaza Hotel ที่คุณไมเคิลบอกว่าเป็นโรงแรมแรกที่มีน้ำร้อน แอร์ และสายโทรศัพท์ จวบจนเอกสารสิ่งพิมพ์ อย่างนิตยสาร Bangkok Bulletin ลงเลขปี 1960 (พ.ศ. 2503) ซึ่งแม้จัดแสดงอยู่ใต้แผ่นกระจก แต่ภัณฑารักษ์ยังอุตส่าห์สแกนทุกหน้าแล้วอัปโหลดไว้ออนไลน์ แถมมี QR code ให้เราสแกนเพื่อเปิดอ่านได้อย่างสะดวก ในเล่มเต็มไปด้วยบทความและโฆษณาภาษาอังกฤษ บ่งบอกความนำสมัยและความหลากหลายของทั้งห้างร้านและผู้คนบนถนนพัฒน์พงศ์เป็นอย่างดี

ขณะเดียวกัน นิทรรศการยังพูดถึงเรื่องการเมืองเข้มข้น ซึ่งซ่อนอยู่เบื้องหลังความเจริญของถนนเส้นนี้ด้วย ผ่านการจัดแสดงของอีกส่วนที่น่าสนใจไม่แพ้กัน อาทิ การ์ตูน Propaganda ต่อต้านคอมมิวนิสต์ เรื่อง ไฟเย็น รูปถ่ายจากร้านอาหารร้านหนึ่ง เป็นที่รู้กันว่าคือแหล่งนัดประชุมของสายลับ (ซึ่งปัจจุบันยังเปิดอยู่! ถ้าอยากรู้ว่าร้านไหนต้องไปหาคำตอบในนิทรรศการ) เอกสารจากบริษัทสายการบิน Civil Air Transport ซึ่งเป็นบริษัทบังหน้าของ CIA ซุ่มทำภารกิจอยู่ทั่วทวีปเอเชียด้วย

Patpong Museum มิวเซียมเล็กที่เล่าร่องรอยประวัติศาสตร์ย่านพัฒน์พงศ์ตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม

จวบจนอาวุธปืนจากสงครามเวียดนาม และโซนที่อุทิศให้กับนายพลสุดโหด แอนโทนี โพเชอปนี (Anthony Poshepny) หรือที่รู้จักกันในชื่อ Tony Poe ผู้มีบทบาทสำคัญในสงครามและเป็นที่รู้จักจากการ ตัดหู ตัดหัวของฝ่ายศัตรู ส่งให้กับผู้บัญชาการแทนการรายงาน และถึงแม้เขาจะปลดประจำการเมื่อ พ.ศ. 2517 แต่เขายังคงแวะเวียนมาเป็นลูกค้าที่ถนนสายนี้ต่อไม่เสื่อมคลาย เช่นเดียวกับอีกหลายพันนายทหารที่ไหลเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ หลังได้รับคำสั่ง ‘R&R’ (Rest and Recover)

Patpong Museum มิวเซียมเล็กที่เล่าร่องรอยประวัติศาสตร์ย่านพัฒน์พงศ์ตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม

ในห้องกลางของมิวเซียมเราได้เห็นหัวของมังกรแดงที่เลื้อยนำเรามาตั้งแต่ทางเข้า อ้าปากผงาดอยู่เหนือแบบจำลองอาคารของถนนพัฒน์พงศ์ตามผังปัจจุบัน โดยมีคำอธิบายแปะไว้ว่า ตามความเชื่อของคนจีนแล้ว ที่ดินของหลวงพัฒน์พงศ์พานิชนั้นตีความได้ว่าเป็น หัวมังกรตัวใหญ่ ลำตัวของมันพาดเป็นแม่น้ำเจ้าพระยากับถนนเจริญกรุงปัดวนรอบเยาวราช และมีหางมังกรกลับมาที่สีลม

Patpong Museum มิวเซียมเล็กที่เล่าร่องรอยประวัติศาสตร์ย่านพัฒน์พงศ์ตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม, พัฒน์พงศ์ มิวเซียม

ไม่ว่าจะจริงหรือไม่ หัวมังกรแห่งนี้ก็เป็นที่รู้จักและจดจำของผู้คนจากทุกสารทิศทุกมุมโลกอย่างน่าทึ่ง โดยเฉพาะหลังจากจุดเปลี่ยนในช่วงกลางยุค 70 จนถึงช่วงต้นยุค 80 ที่กรุงเทพฯ เริ่มพัฒนาย่านสุขุมวิทเป็นย่านธุรกิจใหม่ โดยบริษัทต่างชาติลุกย้ายออกจากพื้นที่ แล้วถูกแทนที่ด้วยสถานบันเทิง อีกทั้งธุรกิจมืดของมาเฟียค้ากัญชาและอาวุธ ก่อเป็นภาพจำของถนนสายนี้จวบจนปัจจุบัน 

ภาพของ ‘ถนนสายบาปแห่งเมืองไทย’ ถูกตีแผ่ทางสื่อทั้งหนังสือ ภาพยนตร์ และเพลงนับไม่ถ้วน เห็นได้จากผนัง Hall of fame อุทิศให้กับคนดังทั้งหลายที่มาผูกพันกับถนนเส้นนี้แม้ชั่วข้ามคืน เราหยิบแท็บเล็ตขึ้นมาส่องภาพเงาบนผนังเพื่ออ่านข้อมูลเพิ่มเติมของแต่ละคนได้อย่างสนุกสนาน มีตั้งแต่นักเขียนชาวอเมริกัน ดีน บาร์เร็ตต์ (Dean Barret) นักแสดงอย่างวิลเลม เดโฟ (Willem Dafoe), ฮิว แกรนต์ (Hugh Grant) และไรอัน กอสลิง (Ryan Gosling) ที่เคยมาในช่วงถ่ายภาพยนตร์ ไปจนถึงดารารุ่นใหม่อย่างเคนดัล เจนเนอร์ (Kendell Jenner) ที่แวะมาช่วงถ่ายโฆษณา Pepsi ที่ถนนวิทยุ ผู้บอกว่าเธอ ‘บอบซ้ำ’ (Traumatised) หลังจากที่ดูปิงปองโชว์! 

Patpong Museum มิวเซียมเล็กที่เล่าร่องรอยประวัติศาสตร์ย่านพัฒน์พงศ์ตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม, พัฒน์พงศ์ มิวเซียม

และท่ามกลางรูปคนดังเหล่านี้ มิวเซียมยังใส่รูป ‘คุณยายขายดอกไม้นิรนาม’ (Flower Lady) ผู้เป็นหนึ่งในคนขายของที่มีบุคลิกน่ารักเป็นที่จดจำของคนแถวนี้เป็นเวลาหลายสิบปีด้วย ใกล้ๆ กับผนังนี้ก็มีภาพขนาดใหญ่และมิวสิกวิดีโอเพลง Ricochet ของศิลปินระดับตำนานอย่าง เดวิด โบวี (David Bowie) ที่ถ่ายทำในไนต์คลับชื่อดัง Superstar Bar ในพัฒน์พงศ์ช่วงปี 1983 ขณะที่เขาเดินทางมาจัดแสดงคอนเสิร์ต Serious Moonlight Tour (มีโปสเตอร์ทัวร์นี้ให้ดูด้วย) ซึ่งจะว่าไปก็ถือว่าแปลก เพราะปกติแล้วเดวิด โบวีจะเรียกเงินสูงถึงแสนดอลลาร์ฯ ในการแสดงแต่ละครั้ง แต่เขากลับยินดีมาแสดงที่สนามกีฬากองทัพบก ที่กรุงเทพฯ ด้วยการลดราคาสุดๆ อาจเป็นเพราะเขาอยากมาสัมผัสบรรยากาศแดนบาปชื่อดังนี้ด้วยอีกคนกระมัง

Patpong Museum มิวเซียมเล็กที่เล่าร่องรอยประวัติศาสตร์ย่านพัฒน์พงศ์ตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม, พัฒน์พงศ์ มิวเซียม

โซนที่เหลือของมิวเซียมเป็นการเล่าถึงธุรกิจสถานบันเทิงทั้งหลาย เปิดด้วยประวัติที่มาของ ‘บาร์อะโกโก้’ แห่งแรกในไทย ซึ่งในตอนนั้นเจ้าของร้านต้องขอใบอนุญาตทั้งหมด 2 ใบ ใบแรกคือ ใบอนุญาตสถานบันเทิงจากกระทรวงกลาโหม (สถานบันเทิงถูกมองว่าเป็นเรื่องความมั่นของชาติ) และสองคือ ใบอนุญาตการเต้นรำ ออกโดยกระทรวงมหาดไทย

แน่นอนว่าเจ้าของบาร์ดังกล่าวเป็นอดีตทหารชาวอเมริกันด้วยเช่นกัน จากนั้นเราเดินเข้าไปในห้องที่ถูกจัดจำลองเหมือนสถานเริงรมย์ เราซื้อเครื่องดื่มจากบาร์พลางชมภาพวิดีโอผู้หญิงขนาดเท่าคนจริงเต้นยั่วยวนอยู่บนบาร์อย่างตื่นใจ เจ้าหน้าที่แอบกระซิบว่า ถึงแม้ห้องนี้จะไม่มีคำบรรยายหรือวัตถุมีค่าอะไรจัดแสดง แต่วันดีคืนดีคุณอาจจะได้เจอ ‘แจ็กพ็อต’ คือได้นั่งคุยกับลูกค้าขาประจำแถวนี้ที่มีเรื่องเล่าสุดพิสดารเกินกว่ามิวเซียมจะเล่าได้เสียอีก

Patpong Museum มิวเซียมเล็กที่เล่าร่องรอยประวัติศาสตร์ย่านพัฒน์พงศ์ตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม, พัฒน์พงศ์ มิวเซียม

ในห้องสุดท้ายสะท้อนถึงกิจกามที่ดำเนินอยู่หลังประตูของผับบาร์แถวนี้ ผ่านการจัดแสดงทั้งชุดภาพถ่ายของพนักงานบริการ Sex Toy แบบ S&M วิดีโอว่าด้วยปิงปองโชว์ และโชว์พิสดารอื่นๆ ที่เป็นที่นิยม แถมมีเครื่องยิงปิงปองอัตโนมัติให้ผู้ชมได้ฝึกตั้งท่ารองรับลูกปิงปองดูด้วย หรือใครอยากจะลองรูดเสาก็มีเสาเหล็กให้ทดลองดู

Patpong Museum มิวเซียมเล็กที่เล่าร่องรอยประวัติศาสตร์ย่านพัฒน์พงศ์ตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม, พัฒน์พงศ์ มิวเซียม

สิ่งที่น่าเสียดายสำหรับเราคือยังขาด ‘เสียง’ ของพนักงานชายหญิงเหล่านี้ที่จะบอกเล่าเรื่องราวของพวกเธอมากกว่าการเป็นวัตถุทางเพศ อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่บอกเราว่าพวกเขากำลังปรับปรุงและเพิ่มเติมส่วนจัดแสดงอยู่เรื่อยๆ อีกทั้งยังมีแกลเลอรี่ของมิวเซียมที่อยู่ในอีกตึกหนึ่ง ซึ่งตั้งใจแสดงศิลปะร่วมสมัยว่าด้วยวิถีชีวิตของคนในพัฒน์พงศ์ อย่างโชว์ล่าสุดเป็นนิทรรศการเดี่ยว ของ ตะวัน วัตุยา ที่มาวาดภาพพอร์ตเทรตสีน้ำของผู้คนในย่านนี้กว่า 10 ปี

Patpong Museum มิวเซียมเล็กที่เล่าร่องรอยประวัติศาสตร์ย่านพัฒน์พงศ์ตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม, พัฒน์พงศ์ มิวเซียม

เราเดินออกมาจากพัฒน์พงศ์มิวเซียม สู่เสียงเรียกลูกค้าบนถนนพัฒน์พงศ์อีกครั้ง แต่บัดนี้เราเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงในแสงสีที่สาดส่องบนพื้นที่แห่งนี้ ทั้งจากในอดีตตั้งแต่ครั้งที่เป็นป่ากล้วย จวบจนปัจจุบันที่มีร้านรวงและแผงตลาดผุดขึ้นมาเต็มถนน มิวเซียมเล็กๆ แห่งนั้นชี้ให้เห็นว่า ไม่ว่าที่ไหนก็มีประวัติศาสตร์ในแบบของมัน และชวนให้คิดถึงว่ากาลเวลาแห่งอนาคตจะพัดพา ‘หัวมังกร’ แห่งนี้ หันไปสู่สิ่งใดอีก

Patpong Museum มิวเซียมเล็กที่เล่าร่องรอยประวัติศาสตร์ย่านพัฒน์พงศ์ตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม, พัฒน์พงศ์ มิวเซียม

Writer

Avatar

Museum Minds

ทีมที่ปรึกษาเฉพาะทางด้านปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทย รับปรึกษาปัญหาหัวใจ (และคอลเล็กชัน และการสร้างสื่อศึกษา และวิเคราะห์ผู้เข้าชม และทำแบบประเมินนิทรรศการ) ให้มิวเซียมทั่วราชอาณาจักร

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ