ชื่อธุรกิจ : สวนสามพราน, สามพรานริเวอร์ไซด์, สามพรานโมเดล, Patom Organic Living

ประเภท : โรงแรม, เกษตรอินทรีย์, คาเฟ่

อายุ : 58 ปี

ผู้ก่อตั้ง : ดร.ชำนาญ และ คุณหญิงวลี ยุวบูรณ์

ทายาทรุ่นสอง : สุชาดา ยุวบูรณ์ และ ภุชงค์ ยุวบูรณ์

ทายาทรุ่นสาม : โอ-อรุษ นวราช และ ฟี่-อนัฆ นวราช

“ทุกคนบอกว่าการเติบโตมาในสวนสามพรานเป็นสิ่งพิเศษ สมัยก่อนผมยังไม่รู้สึกเท่าไหร่ แต่ตอนนี้พอมองย้อนกลับไป ผมพบว่าตัวเองมีความสุขและโชคดีที่ได้เติบโตมาที่นั่น มีพื้นที่ริมแม่น้ำให้วิ่งเล่น”

บ่ายวันนี้เรามีโอกาสได้นั่งพูดคุยกับ ฟี่-อนัฆ นวราช ในคาเฟ่ย่านทองหล่อของเขาที่ชื่อ Patom Organic Living ตัวร้านเป็นอาคารกระจกตั้งอยู่กลางอาณาบริเวณสีเขียวเย็นตา เสิร์ฟอาหารและขนมจากส่วนผสมออร์แกนิกที่เจ้าของร้านบอกเราได้หมดว่าได้มาจากฟาร์มไหนบ้าง ฟี่เกริ่นให้เราฟังถึงวัยเด็กกับความทรงจำในสวนหลังบ้านที่ใหญ่มาก และมีคนรู้จักทั้งประเทศอย่างสวนสามพราน 

ทายาทรุ่น 3 ผู้ต่อยอดสวนสามพราน สู่ฟาร์มออร์แกนิกและคาเฟ่ออร์แกนิก Patom Organic Living

สวนสามพรานเริ่มต้นจากการเป็นโรงแรม ร้านอาหาร สวนกุหลาบ และพื้นที่แสดงศิลปะวัฒนธรรมไทย หลังดำเนินธุรกิจมายาวนาน 58 ปี แผ่กิ่งก้านสาขาใหญ่โตจนเป็นที่รู้จักดีทั้งในหมู่คนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว ลูกไม้รุ่นที่ 3 กำลังขยายกิจการใหม่บนรากฐานธุรกิจที่ตายายสร้างมา เพื่อรักษาผืนดินในอำเภอสามพรานให้เป็นมรดกลูกหลาน ทั้งคาเฟ่สายรักษ์โลกของฟี่ และสามพรานโมเดลของพี่ชาย โอ-อรุษ นวราช สองธุรกิจที่มีเป้าหมายแผ่ร่มเงาไปถึงผู้คนในสังคมและสิ่งมีชีวิตอื่นในธรรมชาติกันทั้งคู่

ครอบครัวนี้ใส่ปุ๋ยสูตรไหน รดน้ำพรวนดินอย่างไรให้ลูกไม้งอกเงยงดงาม คงไม่มีอะไรอธิบายได้ดีไปกว่าคำตอบที่ได้จากตัวลูกไม้เอง

ทายาทรุ่น 3 ผู้ต่อยอดสวนสามพราน สู่ฟาร์มออร์แกนิกและคาเฟ่ออร์แกนิก Patom Organic Living

เตรียมพื้นที่

เราศึกษาประวัติศาสตร์ของโลกได้จากการศึกษาวัตถุที่แทรกอยู่ในชั้นดิน เราจึงอดไม่ได้ที่จะขอจับเสียมมาคุ้ยพื้นที่ที่เป็นรากฐานให้ทายาทหนุ่มคนนี้ได้หยั่งราก

การมีคุณตาเป็นข้าราชการ และคุณยายเป็นภริยาข้าราชการที่ต้องเข้าวังบ่อยครั้ง ทำให้บรรยากาศในครอบครัวของฟี่ค่อนข้างมีพิธีรีตรองอยู่ไม่น้อย ฟี่เล่าว่าเขาเติบโตมาท่ามกลางญาติพี่น้องรุ่นราวคราวเดียวกันกว่า 10 คน ทำให้เรามองเห็นภาพครอบครัวใหญ่ที่มีความเป็นไทยแบบอนุรักษ์นิยม ในมุมธุรกิจสวนสามพรานก็เป็นครอบครัวขนาดใหญ่ไม่แพ้กัน และเคยเป็นบ้านของพนักงานกว่า 800 ชีวิต

“ตั้งแต่เด็กเราเห็นคุณยายเดินตรวจสวนทุกเช้า คุณแม่ผมก็ทำงานหนัก ตอนผมยังเด็กสวนสามพรานมีพนักงานเยอะมาก แต่คุณยายกับคุณแม่ผมเป็นสไตล์ Micro Management ลงรายละเอียด มีเรื่องอะไรทุกคนก็วิ่งมาถาม ให้เขาตัดสินใจ”

ในขณะที่พนักงานวิ่งมาหาคุณยายและคุณแม่เรื่องงาน ฟี่กับพี่น้องก็วิ่งเล่นอยู่ในสวนหลังบ้านขนาดใหญ่

ทายาทรุ่น 3 ผู้ต่อยอดสวนสามพราน สู่ฟาร์มออร์แกนิกและคาเฟ่ออร์แกนิก Patom Organic Living

“ตอนผมยังเด็ก สวนสามพรานเป็นเหมือนสวนหลังบ้านที่ผมกับญาติๆ วิ่งเล่น เราข้ามไปบ้านญาติบ้าง ออกไปตามสวนตามร่อง เอาจักรยานมาขี่ลุยกัน โตมาหน่อยก็ใช้เป็นที่หัดขับรถ แอบกินเหล้าเพราะสวนหลังบ้านเรามีคนรู้จักเยอะ แต่มันก็สนุก พื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่แห่งอิสระที่เราออกไปวิ่งได้โดยไม่ต้องมีผู้ใหญ่มาวิ่งตาม

“ผมคุ้นเคยกับธุรกิจครอบครัวก็จริง แต่คุณยายและคุณแม่ไม่เคยพูดว่าต้องมารับช่วงต่อ เขาอาจจะมองว่า เด็กๆ ไม่ควรเป็นเจ้านายหรือหัวหน้าในธุรกิจครอบครัวในทันที แต่ควรไปหาประสบการณ์ที่อื่นก่อน”

เพื่อให้หลานได้รับความรู้และประสบการณ์อย่างเต็มที่ คุณตาคุณยายจึงใช้กำไรที่รอมริบจากการทำธุรกิจสวนสามพรานมาผลักดันให้หลานทุกคนไปเรียนเมืองนอก ฟี่ถูกส่งไปเข้าโรงเรียนประจำที่อังกฤษตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ก่อนบินลัดฟ้าข้ามไปเรียนปริญญาตรีและโทที่สหรัฐอเมริกา

“ตอนเรียนผมมาสาย Art and Design ผมเรียนปริญญาโทด้านถ่ายภาพที่ Pratt Institute เรียนจบก็ทำงานเป็นผู้ช่วยช่างภาพแนวท่องเที่ยวที่นิวยอร์กอยู่ห้าปี จนผมเริ่มอิ่มตัวกับชีวิตที่นั่นจึงคิดเรื่องกลับมาลงหลักปักฐานที่ไทย”

เมื่อคิดได้ดังนั้น ฟี่ในวัย 28 ปี ตัดสินใจกลับบ้านพร้อมประสบการณ์เต็มกระเป๋าหลังจากลาเมืองไทยไป 18 ปี เขาเริ่มยื่นมือเข้ามาสู่ธุรกิจโรงแรมของครอบครัวที่เขายอมรับว่าไม่ถนัดเอาเสียเลย

ปรับสภาพดินและน้ำ

“ธุรกิจโรงแรมเป็นธุรกิจที่ต้องเข้าไปรับลูกค้า ต้องยิ้ม พูดคุยอยู่ตลอดเวลา แต่ผมไม่ใช่สไตล์นั้น” คำบอกเล่าของฟี่ทำให้เรารู้ว่า ลูกไม้ลูกนี้ก็ไม่ได้หล่นใต้ต้นเสียทีเดียว

ฟี่รู้ตั้งแต่วันที่ตัดสินใจกลับบ้านแล้วว่า ต้องเข้าไปมีเอี่ยวกับธุรกิจที่บ้าน เงื่อนไขของเขาคือ เขายังคงอยากทำในสิ่งที่รักควบคู่ไปกับการช่วยพัฒนาสวนสามพราน ผลงานแรกกับธุรกิจครอบครัวจึงเป็นการเข้าไปอยู่ในทีมการตลาด ถ่ายภาพโรงแรมใหม่เพื่อให้ฝ่ายขายมีพอร์ตฟอลิโอที่สวยงาม ในขณะเดียวกันก็ยังรับงานฟรีแลนซ์ถ่ายภาพไปด้วย แต่หลังจากนั้นไม่นาน สุขภาพของคุณยายก็เริ่มไม่ดี คุณแม่ต้องแบ่งเวลาไปดูแลคุณยาย ในสายตาของฟี่ที่เป็นเพิ่งเข้ามาแตะธุรกิจนี้หมาดๆ จึงมองเห็นช่องว่างมากมายเมื่อผู้จัดการใหญ่อย่างคุณแม่ลดบทบาทลง

“หลังจากที่เข้ามาช่วยงานที่บ้านได้สามสี่เดือน ผมก็ขยับมาช่วยดูงานบริหารจัดการมากขึ้น เพราะเราเห็น Loop Hole ว่าไม่มีใครทำอะไรบ้าง ความเป็นธุรกิจครอบครัวไม่ได้มีระบบตายตัวเท่าไหร่นัก ผมเลยพยายามสร้างระบบให้ชัดเจนขึ้น 

ทายาทรุ่น 3 ผู้ต่อยอดสวนสามพราน สู่ฟาร์มออร์แกนิกและคาเฟ่ออร์แกนิก Patom Organic Living
ทายาทรุ่น 3 ผู้ต่อยอดสวนสามพราน สู่ฟาร์มออร์แกนิกและคาเฟ่ออร์แกนิก Patom Organic Living

“สวนสามพรานเคยเป็นธุรกิจที่ค่อนข้างโบราณ เราอยากให้มันมีระบบขึ้น ความเป็นธุรกิจครอบครัวไม่ใช่แค่บ้านเราที่มีสามรุ่น พนักงานเองก็มีสามรุ่นด้วย เราจำเป็นต้องสร้างคน ไม่อย่างนั้นเราจะเหนื่อยตลอดไป ผมจึงมองหาคนรุ่นใหม่ที่มีแวว มีศักยภาพ เพื่อปั้นเขา”

เมื่อทายาทรุ่นสามที่กำลังไฟแรงเข้ามาจับธุรกิจครอบครัวที่ดำเนินมาเกือบ 50 ปี ไม่แปลกที่จะเกิดสงครามน้อยใหญ่ขึ้น อันเป็นปัญหาคลาสสิกของธุรกิจครอบครัว

“ความขัดแย้งมันมีอยู่แล้ว มีทุกระดับตั้งแต่ผู้จัดการจนถึงเจ้าของ กลุ่มพนักงานเขาอาจไม่ได้ขัดแย้งกับเรา แต่เขามีปัญหากันเอง เมื่อเราสร้างคนใหม่ขึ้นมา คนเก่ากับคนใหม่ก็ชนกัน แม้แต่ผมกับแม่ยังขัดกันเลย คนอายุยี่สิบกับคนอายุสี่สิบคิดไม่เหมือนกันอยู่แล้ว

“เราผ่านมันมาด้วยการตกลงกับเขาว่า ถ้าจะให้เราทำ เขาต้องหย่อนให้เราแปดสิบเปอร์เซ็นต์ คุณเก็บยี่สิบเปอร์เซ็นต์ไว้ก็ได้ เขาถึงเริ่มหย่อนลง แต่โอ้โห้ ทะเลาะกันตลอดเวลา ไม่ควรทำงานกับพ่อแม่จริงๆ” ฟี่หัวเราะ “แต่เราก็ประคองกันมา ปรับความเข้าใจ ไม่ได้ Shut Off ไปเลย”

หลังการเข้ามาของรุ่นที่ 3 สวนสามพรานก็เริ่มลดจำนวนพนักงานลง จนเหลือในปัจจุบันราว 200 คน ความสนุกไม่ได้หยุดแค่การปรับเปลี่ยนทางธุรกิจเท่านั้น แต่ยังลุกลามไปถึงการทดลองปลูกพืชชนิดใหม่ขึ้นมาคั่นระหว่างแปลงด้วย แถมพืชเหล่านั้นยังโตขึ้นมาเกินความคาดหวังของเจ้าของสวนอีกต่างหาก

ทายาทรุ่น 3 ผู้ต่อยอดสวนสามพราน สู่ฟาร์มออร์แกนิกและคาเฟ่ออร์แกนิก Patom Organic Living

เกษตรผสมผสาน

หากเปรียบสวนสามพรานเป็นแปลงเกษตร เหล่าทายาทรุ่นที่ 3 อย่างฟี่และพี่ชายคือคนที่เข้ามาเขย่าแนวทางการทำสวนทำไร่ให้กลายเป็นเกษตรแบบผสมผสาน

“เดิมทีสวนสามพรานเป็นโรงแรมนั่นแหละ เราไม่ได้เน้นเรื่องทำเกษตรเลยจนกระทั่งพี่ชายผมเริ่มเมื่อ ค.ศ. 2010” ฟี่ท้าวความถึงจุดเริ่มต้นของสามพรานโมเดล “พี่เขาใส่ใจสุขภาพอยู่แล้ว เลยสนใจเรื่องพืชผักออร์แกนิก และอยากให้สวนสามพรานมีจุดขายคือการเสิร์ฟอาหารออร์แกนิกให้ลูกค้ารับประทาน เรามีที่ดินสามสิบไร่อยู่ตรงแม่น้ำ เขาเลยไปลองผิดลองถูกทำฟาร์มของตัวเองตรงนั้นดู”

การทดลองในวันนั้น ผลของมันลุกลามใหญ่โต จากแค่มีผลผลิตออร์แกนิกส่งเข้าโรงแรมของครอบครัว กลับค้นพบว่า ปลูกเองอย่างไรก็ไม่พอใช้ จึงเริ่มไปชักชวนเกษตรกรในละแวกนั้นมาร่วมก๊วนกระทำความออร์แกนิกไปด้วย เพื่อให้มีจำนวนสินค้าเพียงพอ วิธีจูงใจให้เกษตรกรหันมาลดสารเคมีในแปลงเกษตรกันมากขึ้น คือการเปิดตลาดสุขใจทุกสุดสัปดาห์ ให้เกษตรกรมาขายผลผลิต โดยจ่ายแค่ค่าเช่าแผง 80 บาท เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีความต้องการสินค้าออร์แกนิกจริงๆ นะ 

ทายาทรุ่น 3 ผู้ต่อยอดสวนสามพราน สู่ฟาร์มออร์แกนิกและคาเฟ่ออร์แกนิก Patom Organic Living

“เราเรียกการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อให้เกิดความเคลื่อนไหวด้านเกษตรอินทรีย์และหาช่องทางการตลาดให้กับเขาว่า ‘สามพรานโมเดล’ เรารู้ว่ามีความต้องการสินค้าออร์แกนิก เราต้องทำให้เกษตรกรเห็น

“เราน่าจะเป็นเอกชนรายแรกๆ ที่เชื่อมกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์เข้าด้วยกัน โชคดีที่เรามีสวนสามพรานเป็นตัวสนับสนุน โรงแรมเป็นธุรกิจที่ต้องใช้สินค้าเกษตรจำนวนมากอยู่แล้ว จึงช่วยผลักดันให้เกิดความต้องการสินค้าออร์แกนิกได้ และช่วยตอบคำถามของเกษตรกรที่ถามเราประจำว่า เขาปลูกได้นะ แล้วมีคนรับซื้อของเขาหรือเปล่า

“หลังจากทำสามพรานโมเดลมาได้สักระยะ เราก่อตั้งมูลนิธิสังคมสุขใจขึ้นมาเพื่อที่รับทุนจากหน่วยงานต่างๆ อย่าง สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) NIA (สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ) หรือ สกว. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย) เพื่อทำงานสนับสนุนและผลักดันเกษตรกรให้หันมาปลูกแบบอินทรีย์มากขึ้น หรือถ้าเขาทำอยู่แล้ว ก็เชื่อมเขาให้ถึงปลายน้ำแบบไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ให้ผู้บริโภคได้ซื้อหาผักออร์แกนิกในราคายุติธรรม”

ทายาทรุ่น 3 ผู้ต่อยอดสวนสามพราน สู่ฟาร์มออร์แกนิกและคาเฟ่ออร์แกนิก Patom Organic Living
ทายาทรุ่น 3 ผู้ต่อยอดสวนสามพราน สู่ฟาร์มออร์แกนิกและคาเฟ่ออร์แกนิก Patom Organic Living

เมื่อเชื่อมคนต้นน้ำอย่างเกษตรกรไปถึงคนที่อยู่ปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภคที่เข้ามาซื้อหาสินค้าในตลาดสุขใจ หรือเชื่อมไปที่ธุรกิจโรงแรมได้แล้ว ความโปร่งใสตลอด Supply Chain ก็เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เป็นเรื่องที่ฟี่กล่าวย้ำกับเราหนักหนาว่า Traceability (การตรวจสอบย้อนกลับ) คือปัจจัยสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคได้

แต่การขับเคลื่อนเรื่องสังคมอินทรีย์ในสวนสามพรานไม่ได้จบแค่นั้น วันดีคืนดีทายาทรุ่นสามช่างคิดทั้งฟี่และพี่ชาย อยากให้สบู่แชมพูที่ใช้ในห้องพักเป็นออร์แกนิกด้วย

“เรามีวัตถุดิบที่ดีอยู่ ทำไมไม่แปรรูปของเหล่านี้เพื่อเพิ่มมูลค่า ให้กลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจของเรา” ฟี่แชร์ไอเดียที่แสนเรียบง่ายและเป็นตัวของตัวเอง ที่กลายมาเป็นแบรนด์ Patom กับ คาเฟ่ Patom Organic Living ในภายหลัง

ทายาทรุ่น 3 ผู้ต่อยอดสวนสามพราน สู่ฟาร์มออร์แกนิกและคาเฟ่ออร์แกนิก Patom Organic Living

ฝากธรรมชาติเลี้ยงดู

ฟี่เล่าติดตลกว่า Patom เป็นแบรนด์ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก และ Patom Organic Living คาเฟ่ออร์แกนิกนั้น เป็นเหมือนทางหนีให้เขาได้ออกจากธุรกิจโรงแรมมาทำสิ่งที่ตรงกับความชอบมากขึ้น

“หลังสามพรานโมเดลเกิดมาได้ห้าปี พี่ชายผมจ้างอดีตนักเคมีของกระทรวงวิทย์มาอยู่กับเรา ผมเลยได้โอกาสทำแบรนด์ Patom เป็นการหาอะไรที่เป็นตัวเราและช่วยธุรกิจทางบ้านได้ด้วย” เขาเท้าความถึงจุดเริ่มต้น “ตอนแรกทำแค่สบู่ แชมพู วัตถุดิบจากสวนของเราเองหรือของเกษตรกรเครือข่าย เราทดลองปลูกเองก่อน ถ้าได้ผล ค่อยไปขอให้เกษตรกรปลูกเพิ่ม

ทายาทรุ่น 3 ผู้ต่อยอดสวนสามพราน สู่ฟาร์มออร์แกนิกและคาเฟ่ออร์แกนิก Patom Organic Living
ทายาทรุ่น 3 ผู้ต่อยอดสวนสามพราน สู่ฟาร์มออร์แกนิกและคาเฟ่ออร์แกนิก Patom Organic Living
ทายาทรุ่น 3 ผู้ต่อยอดสวนสามพราน สู่ฟาร์มออร์แกนิกและคาเฟ่ออร์แกนิก Patom Organic Living

“ทำแบรนด์ Patom อยู่สองปี ผมก็ไปขอพื้นที่บ้านเก่าของคุณตาคุณยายที่ทองหล่อมาทำร้าน Patom Organic Living เพราะผมมีของแล้ว แต่ไม่อยากเข้าห้างฯ อยากสร้างร้านของเราเอง ขายของกินที่สูตรโบราณที่เราเสิร์ฟอยู่แล้วที่โรงแรม ชวนให้คนกรุงเทพฯ มาสัมผัสความเป็นออร์แกนิกในพื้นที่ใกล้ๆ ถ้าเขาถูกใจค่อยชวนไปต่อที่สวนสามพราน”

นี่คือโอกาสที่ฟี่ได้แสดงฝีไม้ลายมือด้านการออกแบรนดิ้งของสินค้าและร้าน ไม่ใช่แค่โลโก้เท่านั้น สินค้าทุกอย่างที่ขายในร้านคือการสื่อสารแบรนด์ที่เข้มแข็ง การเลือกเฉพาะวัตถุดิบอินทรีย์ที่ปลูกได้ในประเทศไทย ตรวจสอบได้ถึงฟาร์มด้วยความช่วยเหลือของสามพรานโมเดล ทั้งหมดนี้บอกเล่าถึงพันธะสัญญาที่ Patom Organic Living มีให้กับผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม

ทายาทรุ่น 3 ผู้ต่อยอดสวนสามพราน สู่ฟาร์มออร์แกนิกและคาเฟ่ออร์แกนิก Patom Organic Living
ทายาทรุ่น 3 ผู้ต่อยอดสวนสามพราน สู่ฟาร์มออร์แกนิกและคาเฟ่ออร์แกนิก Patom Organic Living

“เรามีทั้งของกินและของใช้ ทำให้คำว่า Organic Living มันชัดขึ้นมาจริงๆ ทุกอย่างอยู่ในชีวิตประจำวันและเชื่อมโยงกับต้นน้ำได้ อย่างคอมบูฉะขวดนี้” ฟี่ยกขวดเครื่องดื่มในมือขึ้นเป็นตัวอย่างประกอบ “เกษตรกรที่ป่าละอูเป็นคนทำ มะนาวใช้วัตถุดิบจากราชบุรี น้ำผึ้งก็มาจากป่าละอูเหมือนกัน แต่เราไม่ได้เป็นออร์แกนิกร้อยเปอร์เซ็นต์ อะไรต้องนำเข้าเราก็จะเลือกใช้วัตถุดิบที่เป็นธรรมชาติ และปลูกในประเทศแทน”

นอกจากการจัดการกับต้นน้ำ คือวัตถุดิบในคาเฟ่แล้ว การจัดการปลายน้ำของผลิตภัณฑ์ที่ขายในพื้นที่ของ Patom Organic Living ยังน่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะนอกจากให้ลูกค้าบริการตัวเองตอนสั่งอาหารแล้ว ยังต้องบริการตัวเองไปถึงการแยกขยะหลังจากทานอิ่ม ในร้านมีจุดแยกขยะเอาไว้ให้บริการเสร็จสรรพ เพราะฟี่เชื่อว่าคนเราจำเป็นต้องเรียนรู้ 

“ขยะเศษอาหารเราเอาไปทำปุ๋ยหมักอยู่แล้ว ส่วนของบรรจุภัณฑ์ของสินค้าแบรนด์ Patom เรากำลังเปลี่ยนไปเป็นขวดพลาสติกแบบใหม่ที่ใช้เม็ดพลาสติกที่ผลิตในประเทศแทนการนำเข้าจากจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในความร่วมมือของแบรนด์ Patom กับ PTT Global Chemical หรือ GC การเข้ามาอยู่ในลูปนี้ดีตรงที่อย่างน้อยเรารู้ว่าขวดของเรามีทางไป ถ้าเราเก็บขวดมาแล้วเราต้องเอาไปคืนที่ไหน เพื่อให้ทาง GC เอาไปจัดการต่อ

ทายาทรุ่น 3 ผู้ต่อยอดสวนสามพราน สู่ฟาร์มออร์แกนิกและคาเฟ่ออร์แกนิก Patom Organic Living

“สวนสามพราน สามพรานโมเดล และ Patom ในเวลานี้เราเป็นธุรกิจที่ทำเรื่องออร์แกนิกอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นด้านหนึ่งของความยั่งยืน เราก็ไปเผยแพร่การทำเกษตรอินทรีย์ให้กับชุมชนในพื้นที่ระยองพร้อมกับ GC ส่วน GC เขาเป็นแนวนวัตกรรม ผมว่ามันคือการเติมเต็มกันและกัน”

หลังจากเปิดร้านมาได้ 3 ปี Patom ภายใต้การนำของฟี่ได้ทำหน้าที่ส่วนต่อขยายของสวนสามพรานและสามพรานโมเดลผลักดันสังคมเกษตรอินทรีย์ ผ่านการสร้างความร่วมมือใหม่ๆ กับพันธมิตรหลากหลาย แถมยังแบ่งรายได้ 3 เปอร์เซ็นต์กลับไปให้สามพรานโมเดลใช้วิจัย พัฒนา และสนับสนุนเกษตรกรต่อไป เขาว่านี่คือวิสัยทัศน์ความสำเร็จที่เขามีในใจ ทั้งสำหรับแบรนด์ Patom และสำหรับสวนสามพราน

“เมื่อก่อนสวนสามพรานมีภาพลักษณ์ว่าเป็นที่เที่ยวของฝรั่ง แต่เมื่อเราทำเรื่องเกษตรอินทรีย์ ทำให้เข้าถึงคนไทยและเกษตรกรในพื้นที่มากขึ้น ตอนนี้เราต่อยอดเรื่อง Partnership ซึ่งน่าดีใจที่มีองค์กรใหญ่ๆ มาจับมือกับเรา เป็นความต้องการเรื่องความยั่งยืนที่ตรงกัน พอมาทำด้วยกันมันดีกว่าอยู่แล้ว

“เรื่องของความยั่งยืนหรือออร์แกนิก สำหรับผมไม่ใช่แค่การทำเพื่อชุมชน แต่ทำเป็นธุรกิจได้” ฟี่แบ่งปันบทเรียนที่เขาได้จากการทำธุรกิจโดยใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน “ทั้งเรา พันธมิตร เกษตรกร ทุกคน Win-Win หมด ความยั่งยืนอยู่กับธุรกิจของคุณได้เลย ขอแค่คุณทำมันจริงๆ ไม่ได้ทำเพื่อแค่ประชาสัมพันธ์

“แม้ว่าคุณตาคุณยายจะเสียไปแล้ว แต่ผมเชื่อว่าเขาน่าจะมีความสุขกับการที่เราต่อยอดแบบนี้ ไม่ใช่การสร้างโรงแรมเพิ่มอีกร้อยห้อง แต่ไปสัมผัสกับชุมชนอย่างชัดเจน แล้วเราก็ได้ทำสิ่งที่เราชอบด้วย” ฟี่กล่าวปิดท้าย

นี่คือเรื่องเล่าของธุรกิจโรงแรมที่เริ่มต้นในอำเภอสามพรานโดยสองสามีภรรยาเมื่อ 58 ปีก่อน เมื่อผ่านมือของกาลเวลา ทายาท และได้ลองฝากให้ธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแรงบันดาลใจ ก็สามารถเติบโตมาเป็นสิ่งที่เราอยากหยิบยืมคำของคุณยายของฟี่มานิยามว่า ‘ธุรกิจเกื้อหนุนสังคม’

ทายาทรุ่น 3 ผู้ต่อยอดสวนสามพราน สู่ฟาร์มออร์แกนิกและคาเฟ่ออร์แกนิก Patom Organic Living

GC Circular Living Symposium 2020: Tomorrow Together งานประชุมด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จัดโดยบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ร่วมกับพันธมิตรระดับโลก National Geographic และเครือข่ายพันธมิตรที่รวบรวมกว่า 40 ผู้นำความคิด นวัตกร และนักธุรกิจจากทั่วโลก มาร่วมแบ่งปันความคิดและประสบการณ์เกี่ยวกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อขับเคลื่อนโลกสู่ความยั่งยืน ด้วยนวัตกรรม การสร้าง Business Model เพื่อก่อให้เกิดระบบนิเวศทางธุรกิจ (Ecosystem)

งานนี้มุ่งหวังการแลกเปลี่ยนมุมมองและส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องราวที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ในรูปแบบ Circular in Action รวมพลังปฏิวัติการใช้ทรัพยากรโลก เพื่อสร้างสมดุลเพื่อความยั่งยืน โดยถอดบทเรียนด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน วิถีการพึ่งพาตนเอง…ใช้สิ่งที่มีให้คุ้มค่า เปลี่ยนแนวความคิดสู่การปฏิบัติที่พร้อมขยายผล ถ่ายทอดจากประสบการณ์ตรงที่เข้าใจง่ายและเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เป็นประโยชน์ทั้งในชีวิตประจำวัน SMEs องค์กรและหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนสังคม เพื่อเป็นแรงกระเพื่อมให้การนำแนวคิด Circular Economy ขยายผลออกไปให้มากที่สุด เพื่อจะสร้าง ‘วันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า’ ร่วมกัน (Tomorrow Together)

เข้าชมทุก Speaker ทุก Session ย้อนหลังได้ที่นี่

Writer

Avatar

เกวลิน ศักดิ์สยามกุล

นักออกแบบ-สื่อสารเพื่อความยั่งยืน ที่อยากเล่าเรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านชีวิต บทสนทนา และแบรนด์ยาสีฟันเม็ดเล็กๆ ของตัวเอง

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน