The Cloud x Designer of the Year

เต้-ปฏิพัทธ์ ชัยวิเทศ Designer of the Year 2019 สาขา Textile and Fabric Design ต้อนรับเราสู่สตูดิโดบ้านไม้หลังสีขาวของเขา หลังจากแนะนำแมวที่เลี้ยงไว้ทั้งสามตัว บรูซ บาบาร่า และราเชล เขานั่งคุยกับเราตรงโต๊ะไม้ในห้องรับแขกที่เป็นทั้งที่ทำงานและที่พักผ่อน

ไม่รู้ว่าเป็นความบังเอิญหรือโชคชะตาที่ทำให้บัณฑิตเอกภาพพิมพ์ จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ที่มีความฝันว่าอยากเป็นนักออกแบบผลิตภัณฑ์มาตลอดคนนี้ จับพลัดจับผลูไปเรียนสาขาเทกซ์ไทล์ Diplôme Municipal de Lissier Textile & Tapestry ที่ École supérieure des beaux- arts Tours Angers Le Mans ไกลถึงประเทศฝรั่งเศส ที่ที่เปลี่ยนมุมมองของเขาที่มีต่อคำว่า ‘เทกซ์ไทล์’ ตลอดไป

ปฏิพัทธ์ ชัยวิเทศ ผู้ออกแบบ Textile ออกนอกกรอบ ด้วยการถักทอตะเกียบ ผลไม้ ฯลฯ ให้เป็นผืน

เมื่อพูดถึงเทกซ์ไทล์ ไม่ว่าใครก็ต้องนึกถึงผ้า นึกถึงการทอ นึกถึงวงการแฟชั่น เป็นอย่างแรกๆ เต้เองก็เคยเข้าใจแบบนั้น จนกระทั่งได้ไปฝรั่งเศสก็ทำให้รู้ว่าเทกซ์ไทล์คือพื้นผิว ซึ่งทำจากอะไรก็ได้ อย่างไรก็ได้

คุณต้องตกใจแน่ถ้าเราบอกว่า เทกซ์ไทล์ของเขาทำมาจากสรรพสิ่งตั้งแต่เข็มกลัดไปจนถึงผลไม้ และไม่ใช่แค่จุดประสงค์ทางแฟชั่นอย่างเดียว แต่มันยังเติมเต็มเขาในด้านศิลปะ ผ่านการตั้งคำถามสะท้อนสังคมของเขาและงานออกแบบผลิตภัณฑ์อย่างที่เคยอยากทำมาเสมอ

ปฏิพัทธ์ ชัยวิเทศ ผู้ออกแบบ Textile ออกนอกกรอบ ด้วยการถักทอตะเกียบ ผลไม้ ฯลฯ ให้เป็นผืน

ถ้ามองงานของเขาเผินๆ อาจจะไกลกับงานเทกซ์ไทล์ลิบลับ แต่เราอยากให้คุณปรับความคิดว่า ‘เทกซ์ไทล์ไม่เท่ากับผ้า’ แล้วลองมองงานของเขาดีๆ อีกครั้งหนึ่ง ไม่แน่ว่าครั้งนี้คุณอาจจะพบคำตอบของคำถามที่เขาตั้งไว้

เรากลับมาที่ออฟฟิศ เห็นต้นแนบอุราเลื้อยบนผนังสีขาวครีมแล้วคิดเล่นๆ กับตัวเองว่า นี่มันก็เทกซ์ไทล์เหมือนกันนี่นา

01

นักออกแบบผลิตภัณฑ์?

“เราอยากเรียนสาขาที่เกี่ยวกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ แต่สอบไม่เคยติด”

ด้วยความที่ชอบวาดรูปเล่นมาตั้งแต่เด็ก ทำให้เต้สนใจด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์เป็นพิเศษ แต่โชคชะตามักเล่นตลกเสมอ เขาสอบไม่ติดสาขาที่หวังไว้ เลยได้มาเรียนเอกภาพพิมพ์ ภาคทัศนศิลป์ ที่คณะศิลปศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเขาบอกว่าจริงๆ ภาพพิมพ์ก็ไม่ได้ตอบโจทย์สิ่งที่อยากทำหรอก แต่ใกล้เคียงการดีไซน์ที่สุดเมื่อเทียบกับเอกอื่นๆ ในภาคเดียวกัน เพราะเป็นรากฐานของกราฟิกดีไซน์

ในระหว่างที่เรียนเอกภาพพิมพ์ เต้ก็ยังสนใจเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์อยู่ เขาศึกษาด้วยตัวเองผ่านอินเทอร์เน็ตและร้านหนังสือแถวมหาวิทยาลัย แล้วนำสิ่งที่ได้มาปรับใช้กับสาขาที่เรียนด้วยคำถามที่ว่า ถ้านำภาพพิมพ์มาต่อยอดให้เป็นสามมิติจะออกมาเป็นอย่างไร

“ตอนนั้นในรุ่นไม่ค่อยมีคนทำภาพพิมพ์ให้เป็นสามมิติ ถ้าทำภาพพิมพ์ก็ภาพพิมพ์ เพนต์ก็เพนต์ไปเลย เพราะมันมีหลายกระบวนการ ต้องเข้าแท่นพิมพ์แล้วค่อยมาปรับเป็นสามมิติอีกที แต่เราอยากลอง วิทยานิพนธ์เราก็ไม่ได้ทำภาพพิมพ์ แต่ทำออกมาเป็นงานประติมากรรมเลย”

“แล้วได้ทำภาพพิมพ์บ้างไหม” เราถาม

ปฏิพัทธ์ ชัยวิเทศ ผู้ออกแบบ Textile ออกนอกกรอบ ด้วยการถักทอตะเกียบ ผลไม้ ฯลฯ ให้เป็นผืน

“ทำครับ ช่วงปีสามต้องฝึกงานกับศิลปิน เราฝึกงานกับ พี่โลเล-ทวีศักดิ์ ศรีทองดี (ศิลปินและนักวาดภาพประกอบ) แต่ก็กลัวว่าเรียนจบมาจะไม่มีประสบการณ์การทำงาน เลยไปสมัครที่แบรนด์เสื้อผ้าชื่อ Senada อีกที่ ขอฝึกตำแหน่งกราฟิกทั้งๆ ที่ทำคอมก็ไม่เก่ง แต่เขาก็รับนะ แล้วกราฟิกดีไซเนอร์เขาลาออกพอดี เราก็เลยได้ไปทำกราฟิก ตอนนั้นเขาทำคอลเลกชันที่ต้องใช้การเพนต์ เราก็เพนต์แล้วมาสแกนลงคอม ออกมาเป็นผ้าคอลเลกชันหนึ่งให้เขา ซึ่งได้วางขายจริงๆ มีเดินแฟชั่นวีกจริงจัง เป็นครั้งแรกที่เริ่มทำ Textile จากนั้นพอเขาเห็นว่าเราทำได้ก็แนะนำต่อ เลยได้ทำงานด้านเทกซ์ไทล์มาเรื่อยๆ”

อย่างที่บอกไปแล้วว่านิสิตภาพพิมพ์คนนี้ทำธีสิสจบเป็นงานประติมากรรมไม้ เพราะความสนใจที่มีต่อการออกแบบผลิตภัณฑ์มาโดยตลอด แต่งานประติมากรรมของเขามีวิธีคิดแบบการทำภาพพิมพ์ คือการทำซ้ำไปซ้ำมา

“พอเรียนจบเราอยากทำงานออกแบบผลิตภัณฑ์มาก แต่ไม่มีประสบการณ์และพื้นฐานด้านนี้มาก่อน ส่วนงานเทกซ์ไทล์ก็ยังทำเป็นฟรีแลนซ์อยู่ จนได้งานที่ Propaganda ตอนแรกเข้าไปเป็นกราฟิกดีไซเนอร์เหมือนเดิม แล้วจึงค่อยๆ เรียนรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ จากนั้นก็ได้งานที่บริษัททำเฟอร์นิเจอร์ เป็นครั้งแรกที่ได้ทำเฟอร์นิเจอร์ออกมาวางขายจริงๆ ก่อนจะตัดสินใจไปเรียนต่อเพื่อหาความท้าทายใหม่”

02

Textile ไม่เท่ากับผ้า

แม้จะมีประสบการณ์ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์มาบ้าง แต่เต้ก็ยังอยากศึกษาเรื่องนี้อย่างละเอียดต่อ จึงตัดสินใจสมัครเข้าโรงเรียนศิลปะที่ฝรั่งเศส แต่โชคก็ไม่เข้าข้างเขาอีกแล้ว เขาสอบไม่ติดสาขาออกแบบผลิตภัณฑ์ แต่ได้เข้าเรียนเทกซ์ไทล์แทน

“ทำไมการเป็นนักออกแบบผลิตภัณฑ์มันยากขนาดนี้” เราถึงกับอุทานออกมา

“นั่นสิ (หัวเราะ) เพราะประสบการณ์มีแต่งานภาพพิมพ์ เขาก็เลยรับเข้าสตูดิโอเท็กซ์ไทล์ คิดว่าเรียนไปปีหนึ่งก่อนแล้วกัน ปีหน้าค่อยลองยื่นใหม่ ที่ที่เราอยากเข้าเรียนมันเข้ายากมากเลย คือเขาจะมีดีไซเนอร์ระดับโลกมาทำเวิร์กช็อปในคลาสอยู่ตลอด แล้วเราสมัครเข้าเรียนได้แค่สามครั้งในชีวิต ไม่มีกำหนดอายุ ปีแรกเราสมัครไปสองครั้ง ไม่ได้ ปีถัดมาไปสมัครก็ไม่ได้อีก ทีนี้พอหมดโควตาแล้วก็ต้องเรียนเทกซ์ไทล์ต่อ” เต้เล่าถึงความหลังสมัยเรียนที่ฝรั่งเศส

ปฏิพัทธ์ ชัยวิเทศ ผู้ออกแบบ Textile ออกนอกกรอบ ด้วยการถักทอตะเกียบ ผลไม้ ฯลฯ ให้เป็นผืน
ปฏิพัทธ์ ชัยวิเทศ ผู้ออกแบบ Textile ออกนอกกรอบ ด้วยการถักทอตะเกียบ ผลไม้ ฯลฯ ให้เป็นผืน

แต่วิชาเทกซ์ไทล์ของ École supérieure des beaux-arts ไม่เหมือนกับที่เขาเคยคิดไว้ การเรียนที่นี่เปลี่ยนความคิดของเต้ที่มีต่อ ‘สิ่งทอ’ จากหน้ามือเป็นหลังมือ มันไม่ใช่การสอนทอผ้าหรืองานฝีมือเกี่ยวกับแฟชั่นเหมือนที่เราเข้าใจกัน เพราะที่นี่สอนเรื่องคอนเซปต์และการนำไปปรับใช้กับชิ้นงานต่างๆ เทกซ์ไทล์สำหรับเต้ในวันนี้เป็นอะไรก็ได้ และผลลัพธ์สุดท้ายก็ไม่ต้องเป็นผืนผ้าอีกต่อไป

“มีเพื่อนเกาหลีที่เรียนด้วยกันเอาถุงพลาสติกมาจับขยำๆ ทอๆ เป็นผืน มีคนหนึ่งในคลาสเขาทำเทกซ์ไทล์โดยฉีดสีในน้ำแข็ง เอามาวางในห้องแล้วปล่อยให้มันละลาย น้ำไล่เฉดสี Gradient ที่ละลายนองบนพื้นก็เป็นเทกซ์ไทล์แล้ว มันเป็น Surface ทุกคนตบเข่าฉาด ทำไมคิดไม่ได้แบบนี้ มันพลิกวิธีคิดไปเลยนะ เทกซ์ไทล์ไม่ต้องเป็นผ้าแล้ว (หัวเราะ)

ปฏิพัทธ์ ชัยวิเทศ ผู้ออกแบบ Textile ออกนอกกรอบ ด้วยการถักทอตะเกียบ ผลไม้ ฯลฯ ให้เป็นผืน

“ในขณะที่เพื่อนอีกคนทอพรมใหญ่ๆ ขนาดที่ทอไปสองปีจนเรียนจบยังไม่เสร็จเลย คือเขาปล่อยให้เราทำอะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องทอผ้าแบบดั้งเดิม เพราะเขาสอนให้เราทำอะไรก็ได้ที่มีแนวคิดและเทคนิคจากเทกซ์ไทล์ ที่ประกอบไปด้วยการออกแบบพื้นผิว การสร้างแพตเทิร์น และการใช้เส้นตั้งเส้นนอนคิดงาน ก็ถือเป็นการทำสิ่งทอแล้ว แม้ว่าจะออกมาเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือประติมากรรมก็ตาม คำว่า Texture กับ Textile มันก็มาจากรากศัพท์เดียวกัน” เต้เล่าถึงวันที่เปลี่ยนชีวิตของเขาไปตลอดกาล

เมื่อหลุดออกมาจากกรอบที่บอกว่า ‘เทกซ์ไทล์เท่ากับผ้า’ ได้แล้ว จินตนาการและไอเดียของเต้ก็เดินทางไปได้ไกลกว่าเดิม เขาใช้ทั้งตะเกียบ ต้นไม้ เข็มกลัด มาถักทอร้อยต่อเป็นผืน ครั้งหนึ่งเขาเคยทำโปรเจกต์ประกวดที่ประเทศอิตาลี โดยมีโจทย์คือทำอะไรก็ได้ที่อยู่บนโต๊ะอาหาร ถ้าคิดถึงคำว่าเทกซ์ไทล์ก่อน งานจะเป็นอะไรไม่ได้เลยนอกจากที่รองจานและผ้าปูโต๊ะ แต่พอเทกซ์ไทล์คือพื้นผิวที่เกิดจากอะไรก็ได้ อาหารจึงกลายเป็นวัสดุหลักที่ใช้ทำงานศิลปะในครั้งนั้น

ปฏิพัทธ์ ชัยวิเทศ ผู้ออกแบบ Textile ออกนอกกรอบ ด้วยการถักทอตะเกียบ ผลไม้ ฯลฯ ให้เป็นผืน
ปฏิพัทธ์ ชัยวิเทศ ผู้ออกแบบ Textile ออกนอกกรอบ ด้วยการถักทอตะเกียบ ผลไม้ ฯลฯ ให้เป็นผืน

“สมัยเรียนเราทำงานเสิร์ฟอาหารไปด้วย เลยคิดว่าอาหารน่าจะทำงานได้ เลยลองเอาสิ่งทอมาห่อผลไม้ดู แล้วปล่อยให้มันเน่าไปตามธรรมชาติของมัน เราต้องการเปรียบเทียบระหว่างวัสดุธรรมชาติกับวัสดุสังเคราะห์ สุดท้ายมันกลายเป็นงานอาร์ต ไม่ใช่งานดีไซน์แล้ว งานนี้ต่อยอดมาเป็นงานชุด Surgery ที่จัดแสดงที่ BACC พูดถึงการศัลยกรรม เราใช้สิ่งที่ใกล้เคียงกับมนุษย์มากขึ้น คือสัตว์ ทีแรกตั้งใจใช้สัตว์จริงๆ แล้วปล่อยให้เน่าในหอศิลป์ไปเลย เพราะเราลองทำแล้ว เวลาเน่ามันจะมีหนอน มีพื้นผิวที่เปลี่ยนไป แต่สุดท้ายทีมงานกลัวควบคุมกลิ่นไม่ได้ เลยเปลี่ยนมาใช้สัตว์สตัฟฟ์แทน”

03

เริ่มจากของใช้ใกล้ตัว

งานของเต้ทั้งในเชิงศิลปะและผลิตภัณฑ์ล้วนเริ่มจากสิ่งใกล้ตัว ตั้งแต่รูปผืนใหญ่ที่ทำจากเข็มกลัด เชิงเทียนที่ได้แรงบันดาลใจมาจากอิฐช่องลม ไปจนถึงงานศิลปะที่อธิบายความแตกต่างทางวัฒนธรรมระหว่างไทยกับฝรั่งเศส งานของเขามักเริ่มจากการตั้งคำถามโดยใช้ของใช้ใกล้ตัวเป็นวัสดุหลัก เพื่อทำให้คนอื่นกลับมาตั้งคำถามด้วยเช่นกัน และแม้คำตอบสุดท้ายจะออกมาหลากหลายรูปแบบ แต่ขั้นตอนที่อยู่เบื้องหลังนั้นคือวิธีคิดแบบเทกซ์ไทล์ทั้งหมด

Les Outils

ปฏิพัทธ์ ชัยวิเทศ ผู้ออกแบบ Textile ออกนอกกรอบ ด้วยการถักทอตะเกียบ ผลไม้ ฯลฯ ให้เป็นผืน

“ผมชอบทำงานกับสิ่งของในชีวิตประจำวัน เพราะทุกคนมีภาพจำของมันอยู่แล้ว พอเราปรับเปลี่ยนอะไรสักอย่างหนึ่งก็ทำให้เกิดคำถามว่า ‘ทำไม’ คนดูจะได้คิดต่อ Les Outils คือวิทยานิพนธ์ของผมที่ฝรั่งเศส เป็นการใช้หวีและอุปกรณ์เครื่องครัวจำพวกที่ขูดเนยหรือที่ตักสปาเกตตีมาใช้เป็นแกนทอผ้า งานนี้เราต้องการพูดเรื่องวัฒนธรรมของฝรั่งเศสที่แตกต่างจากบ้านเรามากๆ 

“เขาเป็น One Way อย่างกินข้าว เขาก็ต้องกินเป็นคอร์สๆ ในขณะที่เรากินรวมกัน หรือเวลาไปติดต่อราชการจะมีปัญหามาก สมมติว่าคนที่เราไปหาไม่อยู่ ถามคนที่นั่งโต๊ะข้างๆ เขาว่า ฝากเอกสารให้ได้ไหม เขาก็บอกว่า ไม่ได้ ไม่ใช่หน้าที่ฉัน เรารู้สึกว่ามันลำบากเหลือเกิน เลยลองเอาของที่อยู่ในชีวิตประจำวันของคนฝรั่งเศสมาเปลี่ยนหน้าตาเป็นเทกซ์ไทล์ แล้วนำไปจัดแสดง อยากทดลองว่าถ้าคนที่เขามีพื้นฐานวัฒนธรรมอีกแบบหนึ่งมาดู เขาจะรู้สึกยังไง”

Stitch Up

ผู้ออกแบบ Textile ออกนอกกรอบ ด้วยการถักทอตะเกียบ ผลไม้ ฯลฯ ให้เป็นผืน
ผู้ออกแบบ Textile ออกนอกกรอบ ด้วยการถักทอตะเกียบ ผลไม้ ฯลฯ ให้เป็นผืน

“ส่วนงานนี้เป็นงานช่วงที่เราทำธีสิส เราอยากให้มีรูปติดผนังใหญ่ๆ เป็นสีเงิน และไม่อยากเอาผ้ามาทอเป็นผืน เลยลองมองหาสิ่งใกล้ตัวในชีวิตประจำวันมาทำ ก็นึกถึงเข็มกลัดที่เรียกว่า Safety Pin มันมีสีเงิน และเราชอบที่เวลาขายมันจะมาเป็นพวงๆ เหมือนกระดิ่งที่สั่นแล้วดังกรุ๊งกริ๊งๆ เลยลองเอามาคล้องกันดูว่าจะต่อเป็นผืนได้ไหม สุดท้ายก็ทำได้ ออกมาเป็นรูปขนาดประมาณสามเมตร เวลาแอร์เป่าก็จะดังกริ๊งๆ มันเลยเป็นมากกว่าเทกซ์ไทล์ มันมีเสียง มีมิติอื่นของมันด้วย”

เชิงเทียนจากอิฐช่องลม

เชิงเทียนจากอิฐช่องลม

“เฟอร์นิเจอร์แบรนด์หนึ่งให้โจทย์เราว่า ทำอะไรก็ได้ให้เขาหน่อย ตอนนั้นเราสนใจเรื่องลายไทย เกิดคำถามว่าจริงๆ แล้วลายไทยคืออะไร อย่างลายกระหนก คนไทยก็ไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว ทีนี้เราไปเห็นอิฐช่องลม มันน่าสนใจดี เลยไปถอดแพตเทิร์นมาก่อนว่าอิฐช่องลมในเมืองไทยมีหกสิบสี่แบบ ซึ่งถูกดีไซน์ให้มีโครงสร้างที่รับน้ำหนักได้โดยอิงกับความสวยงามตามสมัยนิยม ตอนแรกเราก็คิดจะให้มันเป็นแค่แพตเทิร์น สุดท้ายอยากให้มันเป็นเหมือนที่มันเป็นอยู่ แต่ย่อส่วน เราเลยดีไซน์ถอดแบบให้เป็นประติมากรรมเป็นเชิงเทียนทองเหลือง”

Ramyon

Ramyon

“Ramyon เป็นโปรเจกต์ที่เราต้องไปแสดงที่เกาหลีใต้ เราเลยไปรีเสิร์ชว่ามีวัฒนธรรมเกาหลีในเมืองไทยเข้ามาได้ยังไง และมีอะไรที่ฮิตบ้าง ก็มีเรื่องของซีรีส์กับ K-POP ที่คนฮิตกันมาก ทีนี้มันจะมีมาม่าเกาหลีที่เป็นเหมือน Subculture ที่แฝงมากับซีรีส์พวกนั้นอยู่เสมอ แล้วคนไทยรับวัฒนธรรมอะไรเข้ามาก็ชอบเปลี่ยนให้เป็นวัฒนธรรมตัวเอง เหมือนเอาตะเกียบของจีนมาใช้กับอาหารไทย ก็เลยทำเป็นรูปปั้นพอร์เทรตเด็กเจเนอเรชันนี้ที่รับเอาวัฒนธรรมเกาหลีมาผสมกับวัฒนธรรมตัวเอง โดยการถอดพิมพ์หัวออกมา แล้วเอามาม่าเกาหลีหล่อเข้าไปแทน”

04

การออกแบบคือการเปลี่ยนวิธีคิด

งานที่ทำให้เรารู้จักชื่อของเต้ มักเป็นงานออกแบบผลิตภัณฑ์อย่างของตกแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์ ส่วนงานอาร์ตก็เห็นบ่อยๆ ในแกลเลอรี่หรือเทศกาลศิลปะ และอาจจะไม่เหมือน ‘เทกซ์ไทล์’ แบบที่เราเคยเข้าใจนัก เพราะคำจำกัดความของคำว่า เทกซ์ไทล์ ของเขามันกว้างออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดแล้ว

ปลอกหมอนผ้าม่อฮ่อมเชียงใหม่ ที่ดีไซน์ใหม่ให้เป็นแบบ Geometric ตามสไตล์สแกนดิเนเวีย

ย้อนกลับมาที่ความตั้งใจอยากจะเป็นนักออกแบบผลิตภัณฑ์ของเขาอีกครั้ง การออกแบบสำหรับเขาในปัจจุบันก็กว้างออกไปอีกเช่นกัน เขามองว่ามันไม่ใช่แค่ออกแบบตัวสินค้าหรือเทกซ์ไทล์ที่เกี่ยวข้อง

“มันคือการเปลี่ยนวิธีคิด โดยเอาวิธีคิดของเราไปเปลี่ยนบริบทของสินค้า ยกตัวอย่างเช่นงานที่เราทำกับเว็บไซต์ designboom ไปออกงานแฟร์สำหรับเฟอร์นิเจอร์ที่สตอกโฮล์ม เราเอาผ้าม่อฮ่อมเชียงใหม่มาดีไซน์ใหม่ให้เป็นแบบ Geometric ตามสไตล์สแกนดิเนเวีย โดยให้คนท้องถิ่นเย็บผ้าปูโต๊ะและปลอกหมอนง่ายๆ เราดีไซน์ลายเป็นตารางทแยง ให้เขาเย็บตีเส้นตามคู่สีที่เราจับให้ อย่างสีน้ำเงินคู่ส้มที่ปกติเขาไม่ทำหรอก แต่มันร่วมสมัย สุดท้ายได้ผลิตภัณฑ์ที่ทำง่าย ขายง่าย เพิ่มกลุ่มลูกค้าที่ยังไม่เคยซื้อเขา และยังขายลูกค้ากลุ่มเดิมได้”

พูดง่ายๆ ก็คือ การออกแบบสำหรับเขาคือการบริหารองค์ความรู้ที่มีอยู่ และดีไซน์ขั้นตอนทุกอย่างเสียใหม่ ให้ออกมาเป็นคำตอบที่ดีที่สุด เต้เล่าให้ฟังถึงอีกโครงการที่เขาเข้าไปช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ด้วยความรู้และประสบการณ์ของเขา ทั้งในด้านงานออกแบบและเทกซ์ไทล์

ธงจระเข้คาบดอกบัวบนธงยุโรป

“เคยเห็นพวงกุญแจช้างที่มีผ้าชิ้นๆ สีๆ อยู่บนหลัง ที่ขายตัวละสิบยี่สิบบาทไหม” เต้ถาม

แน่นอน เราเชื่อว่าทุกคนเคยเห็นของชิ้นนี้ตามร้านขายของฝากต่างๆ ที่ชาวต่างชาติต้องมีติดไม้ติดมือกลับไปฝากเพื่อนและครอบครัวที่บ้านเป็นแน่ โจทย์ของเต้คือ จะทำอย่างไรให้ธงนี้มีทั้งคุณค่าและมูลค่าเพิ่มขึ้นในเวลาเดียวกัน ผ้าที่อยู่บนหลังช้างนำมาเย็บต่อขึ้นมาเป็นธงลักษณ์เหมือนธงรบของยุโรปได้ และเพื่อให้เข้ากับบริบทของคนไทยมากขึ้น เต้นึกถึงธงกฐินที่เป็นรูปจระเข้ เต่า หรือนางเงือก 

“สุดท้ายเขาเลือกลายจระเข้คาบดอกบัวบนธงยุโรป เพราะคนเชื่อว่าจระเข้มีปากใหญ่ เก็บเงินได้เยอะ ค้าขายอะไรก็จะร่ำรวย แล้วนำไปแขวนกับขาตั้งทองเหลือง เปลี่ยนพวงกุญแจช้างให้เป็นของประดับตามบ้านหรือโรงแรมไปโดยปริยาย

05

ศิลปะ / งานดีไซน์กับผู้คน

เต้เคยใช้ชีวิต 5 ปีในประเทศที่ให้ความสำคัญกับศิลปะและงานดีไซน์เป็นอันดับหนึ่ง การได้เรียนศิลปะและทำงานศิลปะในที่แห่งนี้น่าจะเป็นความฝันของศิลปินและดีไซเนอร์ทุกคน และที่สำคัญ มันขัดเกลาให้งานดีไซน์เป็นงานศิลปะไปด้วยในตัว

“การอยู่ที่ฝรั่งเศสสอนอะไรหลายๆ อย่าง สิ่งหนึ่งที่ได้จากในคลาสคือวิธีคิดกับงานเทคนิค แต่การใช้ชีวิตมันเป็นศิลปะหมด แม้กระทั่งใบปลิวของสถานีดับเพลิงที่เขาแจกตามบ้านแม่งยังสวยเลย (หัวเราะ) โคตรมีดีไซน์ 

“ตอนแรกไปถึงเราแอบผิดหวังนะ คิดว่าที่ปารีสทุกคนจะแต่งตัวคูลร้อยเปอร์เซ็นต์ จริงๆ ก็ไม่คูลทุกที่นี่หว่า แต่ทุกคนให้ความสำคัญกับศิลปะหมด เขามีชีวิตอยู่ได้ด้วยศิลปะจริงๆ เวลาเราทำอะไรออกมาเขาจะไม่ติว่าไม่ดี แต่จะให้คำแนะนำตลอด ขนาดเจ้าของบ้านที่เราเช่าอยู่ดูงานเรา ยังคอมเมนต์อย่างกับครูศิลปะที่สอนเราเลย เพราะศิลปะมันซึมซับไปกับวัฒนธรรมของเขาแล้ว”

ปฏิพัทธ์ ชัยวิเทศ ผู้ออกแบบ Textile ออกนอกกรอบ ด้วยการถักทอตะเกียบ ผลไม้ ฯลฯ ให้เป็นผืน

การย้ายกลับมาในประเทศที่ศิลปะอาจจะยังไม่ใช่ปัจจัยหลักของชีวิตคน จึงเป็นความท้าทายของศิลปินคนหนึ่ง ซึ่งเต้โชคดีที่ได้มีโอกาสจัดแสดงงานหลายครั้ง รวมไปถึงวงการศิลปะและการออกแบบก็เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับ 5 ปีก่อน ทุกวันนี้เต้ยังคงทำงานในฐานะนักออกแบบและศิลปิน ยังผลิตงานศิลปะที่เต็มไปด้วยคอนเซปต์สะท้อนสังคมโดยใช้สิ่งต่างๆ รอบตัว โดยได้แต่หวังว่าคำถามที่เขาตั้งจะช่วยสะท้อนให้คนเห็นอะไรบางอย่างได้บ้าง เขายังตั้งใจนำความรู้ด้านเทกซ์ไทล์ที่เรียนมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพิ่มมูลค่าและคุณค่าให้สิ่งต่างๆ เหล่านั้น จนเรียกตัวเองว่า ‘นักออกแบบผลิตภัณฑ์’ เหมือนที่เคยอยากเป็นมาตลอดได้อย่างเต็มปาก

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan