The Cloud x GC Circular Living

นับเป็นเวลาหลายสิบปีที่มนุษย์เราได้รับความสะดวกสบายจากการใช้พลาสติกนานารูปแบบ และไม่ว่าใครจะลุกขึ้นมารณรงค์ชวนลด ละ หรือเลิก ใช้พลาสติก หรือแม้แต่ให้ความรู้เรื่องรีไซเคิลพลาสติกอย่างไร ผู้คนก็ยังมองพลาสติกเป็นผู้ร้าย เหมือนทุกครั้งที่เราต้องโทษใครสักคนไว้ก่อน 

ไม่มีประโยชน์ที่จะหาตัวผู้กระทำผิดที่สุดของปัญหาสิ่งแวดล้อมในตอนนี้ เราย่อมรู้ว่าเราต่างมีส่วนไม่มากก็น้อย คิดแล้วก็รู้สึกไม่ค่อยดีนัก ความทรงจำในห้องเรียนวิชาเคมีสมัยมัธยมปลายสอนให้เห็นกระบวนการกว่าจะเป็นพลาสติก ซึ่งยิ่งใหญ่ ใช้ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ มนุษย์ เงินทุน และเทคโนโลยีมหาศาล แต่กลับได้ผลลัพธ์เป็นบรรจุภัณฑ์อายุงานสั้น เช่น ใส่ของไม่ถึง 5 นาทีก็กลายเป็นขยะในถังแล้ว 

บทความไม่ได้ตั้งใจมาพูดแทนหรือแก้ตัวให้ใครทั้งนั้น เพียงแค่รู้ว่าผู้ผลิตต้นทางไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่พยายามเปลี่ยนวิธีการคิดและบริหารงานของตัวเองซึ่งกระทบผู้ใช้ทั้งอุตสาหกรรม เราจึงอยากเล่าเรื่องนี้ให้คุณฟัง

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ The Cloud จะได้มีโอกาสนัดหมายพูดคุยกับ คุณปฏิภาณ สุคนธมาน ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลาย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC มากกว่าวิธีคิดที่ผลักดันและยกระดับผู้ใช้พลาสติกทั้งระบบ เราสนใจมุมมองบริหารองค์กรและเคล็ดลับการทำงานที่เปลี่ยนข้อมูลเป็นความเชี่ยวชาญซึ่งเต็มไปด้วยปฏิภาณสมชื่อ

ก่อนคุยกับเขา มีคนเตือนเราว่า เขาเป็นคนดุมาก

วินาทีที่เขายอมรับว่าตัวเองเป็นคนที่ดุจริง บรรยากาศการสนทนาก็เปลี่ยนไป ยิ่งคุยยิ่งพบมุมที่เข้าถึงง่ายของเขา ไม่แปลกใจว่าทำไมผู้ใต้บังคับบัญชาจึงรักและเคารพเขา

ใครอยากได้วิธีทำงานกับเจ้านายดุๆ ไปปรับใช้ ลองฟังเรื่องราวและคำแนะนำจากกัปตันทีมคนนี้พร้อมกัน

การบริหารองค์กรที่ทำเรื่องพลาสติกวันนี้แตกต่างจากอดีตยังไง

สมัยก่อนเราเป็นเพียงผู้ผลิตเม็ดพลาสติกตั้งต้นเกรดต่างๆ เพื่อลูกค้านำไปผลิตต่อตามการใช้งาน แต่วันนี้เราเปลี่ยนมาขายวิธีการแก้ปัญหาให้ลูกค้า เช่น ในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ต้องการเปลี่ยนโครงสร้างบางส่วนให้กลายเป็นพลาสติกเพื่อลดน้ำหนัก อย่างคานรับน้ำหนักช่วงล่างของรถยนต์ งานของเราคือ พัฒนาคุณสมบัติของพลาสติก เบาอย่างเดียวไม่พอเพราะเขากำลังจะใช้มันแทนที่สิ่งที่แข็งแกร่งอย่างเหล็ก และการพัฒนาจะเกิดจากคิดขึ้นเองไม่ได้ เราต้องคุยกับเขาถึงความต้องการใช้งานจริง โจทย์คือแล้วจะพัฒนาอย่างไรให้หักในส่วนที่ควรหัก และแข็งในส่วนที่ควรแข็ง นอกจากน้ำหนัก ข้อดีของพลาสติกคือพัฒนาต่อได้หลากหลาย เพราะขึ้นรูปง่ายกว่า

ยังไง

ที่อาคารสำนักงานใหญ่ เรามีศูนย์ความร่วมมือและพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือ Customer Solution Center (CSC) เพื่อออกแบบและแก้ปัญหาให้ลูกค้า สำหรับคนทั่วไปที่ทำธุรกิจ เช่น อยากทำเครื่องสำอางขาย ต้องการบรรจุภัณฑ์สวยงาม ดูดี ออกแบบสวย แต่ไม่มีความรู้เรื่องบรรจุภัณฑ์พลาสติกมาก่อน เราก็มีทีมออกแบบ ทีมผลิตแม่พิมพ์ ทีมสร้างสรรค์ เพื่อให้ลูกค้ารายย่อยได้งานที่ต้องการ และเราอยากยกระดับการใช้งานพลาสติก แทนที่จะใช้ผลิตถุง ถัง และกะละมัง ก็ให้ความรู้และตัวอย่างการสร้างสรรค์งานที่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้วิถีและความต้องการใช้งานพลาสติกเปลี่ยนไป

ปฏิภาณ สุคนธมาน ผู้บริหารผู้เปลี่ยนความต้องการใช้งานพลาสติกของผู้ผลิตทั้งระบบ

ทำไมบริษัทใหญ่อย่าง GC ถึงเลือกจะลงทุนกับผู้ประกอบการรายย่อย 

เพราะผลจากเรื่องนี้จะยกระดับเราทั้งอุตสาหกรรม การสนับสนุนสตาร์ทอัพหรือผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ทำให้เราได้ทดลองทำโจทย์ที่หลากหลาย เช่น ปัจจุบันมีเครื่องพิมพ์สามมิติ ที่พิมพ์แบบออกมาดูและปรับแก้ ก่อนทดลองผลิต ทำให้ประหยัดเวลาและได้สิ่งที่ตอบโจทย์การใช้งานทุกคนจริงๆ

เรื่องนี้สำคัญยังไง

กระบวนการกว่าจะได้มาซึ่งพลาสติก จากก๊าซธรรมชาติ จากน้ำมันปิโตรเลียม เปลี่ยนให้เป็นปิโตรเคมี เปลี่ยนให้เป็นเม็ดพลาสติก ไม่เพียงเงินลงทุนในแต่ละห่วงโซ่มีมูลค่าหลายแสนล้าน พลาสติกใช้เทคโนโลยีและความพยายามมากมายเหลือเกิน สิ่งที่เราต้องการสื่อสารคือ พลาสติกไม่ใช่สิ่งไม่ดี เพียงแต่วันนี้เราใช้เขาถูกต้องหรือเปล่า ในวันที่ผู้คนเคยชินกับความสะดวกสบาย จะให้ลดการใช้พลาสติกคงทำได้แต่หากจะต้องตัดขาดเลยคงยาก สำคัญที่สุดคือ ให้ความรู้และทำให้เห็นว่าจะอยู่ร่วมและจัดการกับพลาสติกที่ใช้ยังไง 

เราเคยแยกประเภทขยะอย่างตั้งใจมั้ย ทิ้งแล้วรู้ไหมว่านำมันไปทำอะไรต่อได้อีกบ้าง ถ้าทิ้งก็ต้องทิ้งอย่างรับผิดชอบ ผมชอบวิธีของคนญี่ปุ่นไม่เพียงแค่แยกนะ แต่เขาล้างขยะที่รีไซเคิลได้ทุกชิ้นก่อนจะแยก ทำให้ขยะไม่เป็นขยะเพราะกลับไปทำอย่างอื่นต่อได้ในต้นทุนที่ถูกลง

อะไรคือวิธีการที่คุณใช้สื่อสารให้คนเข้าใจว่าพลาสติกไม่ใช่เป็นผู้ร้าย

ในฐานะผู้ผลิตเราเองก็รู้สึกไม่ดีนะ พลาสติกทำมาอย่างลำบากยากเย็น บางทีใช้เป็นถุงใส่ของไม่ถึง 5 นาทีแล้วทิ้ง เราอยากให้คนเห็นคุณค่าทรัพยากรนี้มากกว่าที่เคย จากเม็ดพลาสติกผลิตถุงเป็นของที่เกิดประโยชน์ เช่น ท่อน้ำ สายไฟ ถังน้ำขนาดใหญ่ เส้นใยเสื้อผ้า เปลี่ยนจากพลาสติกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งเป็นพลาสติกเกรดอื่นที่ขายได้ราคาสูงกว่า ในความเป็นจริงถุงพลาสติกก็ยังต้องมีอยู่ นึกภาพกินปลาหมึกย่างราดน้ำจิ้ม เราพยายามแนะนำทางเลือกให้ผู้ใช้รู้จักไบโอพลาสติกซึ่งย่อยสลายได้ แปลว่าพลาสติกชิ้นนั้นจะกลับกลายเป็นดินเลยนะ ไม่ได้แตกตัวเป็นไมโครพลาสติก นั่นเป็นเพราะพลาสติกทั่วไปทำจากน้ำมัน แต่ไบโอพลาสติกทำจากน้ำตาล

น้ำตาลอ้อย?

ใช่ เราเป็นประเทศเกษตรกรรม ปลูกอ้อยเยอะ และเราลงทุนพัฒนาเรื่องนี้กับอเมริกานานแล้ว ที่อเมริกาใช้น้ำตาลจากข้าวโพด ได้พลาสติกประเภทที่เรียกว่า PLA กระบวนผลิตจะใช้น้ำตาลอ้อยหมักใส่แบคทีเรีย จากนั้นรอให้ทำปฏิกิริยาถ่ายกากออกมา แล้วจึงนำกากนั้นไปผลิตไบโอพลาสติก

กระบวนการเหมือนจะสั้นกว่าการทำพลาสติกจากน้ำมัน

กระบวนการยาวกว่า รอเวลากินเชื้อและย่อยแบคทีเรียออกมา ความยากคือการควบคุมคุณภาพและความเสถียรในการผลิต เราถึงบอกว่าไม่มีทางที่ไบโอพลาสติกจะแทนพลาสติกที่มีในโลกได้ 

ต่อให้ปลูกอ้อยทั้งโลกก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้งาน?

ไม่พอ ที่สำคัญ ราคาสูงเพราะเทคโนโลยีการผลิตเพิ่งเริ่มต้น เพราะฉะนั้น เลือกประเภทการใช้งานให้เหมาะสม เช่น ไปทดแทนบรรจุภัณฑ์ใส่อาหารที่ปกติจะรีไซเคิลไม่ได้ เพราะปนเปื้อนอาหารไปแล้ว เป็นต้น

ปฏิภาณ สุคนธมาน ผู้บริหารผู้เปลี่ยนความต้องการใช้งานพลาสติกของผู้ผลิตทั้งระบบ

จากนักเรียนรัฐศาสตร์มาสู่ผู้บริหารในสายธุรกิจเคมีภัณฑ์ได้ยังไง

หลังจากเรียนจบจากคณะรัฐศาสตร์ สาขารัฐประศาสนศาสตร์การบริหารการคลัง ต่อด้วยปริญญาโทบริหารธุรกิจงานการเงิน ก็ทำงานบริหารการเงินมาตลอด เคยมีคนถามหน้าที่ของ Chief Financial Officers หรือ CFO ผมก็ตอบว่าคือ นักขาย โดยหน้าที่แล้วต้องขายความน่าเชื่อถือของบริษัทให้แก่นักลงทุนและธนาคาร ขายหุ้นแล้วก็ต้องคิดขยายธุรกิจ ขายผลประกอบการ ขายทุกๆ อย่างที่ทำให้บริษัทมีความมั่นคง ระหว่างทำงานเดินสายเจอนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ ยิ่งเปิดโลกการบริหารธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้ จนวันที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารก็นำประสบการณ์และความรู้จากที่เคยแลกเปลี่ยนมาต่อยอด

ความเข้าใจในบริษัทและธุรกิจที่ผ่านมาเปลี่ยนแปลงตัวคุณอย่างไรบ้าง

ฟังดูอาจจะรู้สึกว่าวิชาการนะ ในกระบวนแปลงข้อมูลเป็นความรู้ประกอบด้วย 4 ลำดับขั้น ได้แก่ ขั้นแรกข้อมูลดิบ (Data) ข้อมูลตัวเลขที่ขึ้นและลง สังเคราะห์เป็น Information จนรู้ความหมายกลายเป็น Knowledge ที่เมื่อสะสมเยอะๆ จะกลายเป็นปัญญา (Wisdom) ที่การทำงานมันยากเพราะเราไม่รู้ว่าอะไรคือ Knowledge และอะไรคือ Wisdom จนกว่าจะมีประสบการณ์จากการทำงานแก้ปัญหามามากพอ เหตุการณ์ที่เข้ามาไม่ค่อยเหมือนกันหรอก แต่ความรู้และปัญญาที่มีจะช่วยให้แก้ปัญหาต่างๆ ได้

ถ้ามีตำราบริหารธุรกิจสไตล์คุณ เนื้อหาส่วนใหญ่จะพูดเรื่องอะไร

เรื่องการบริหารคน โดยเฉพาะเรื่องการมองเป้าหมายที่ตรงกัน การเห็นประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว การทำงานเป็นทีม วันนี้สิ่งที่ GC พยายามผลักดันหรือเปลี่ยนองค์กร ได้แก่ หนึ่ง กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออกในสิ่งที่ถูกต้อง สอง พัฒนาตัวเอง ซึ่งการทำงานเหมือนเดิมๆ ไม่ถือเป็นการพัฒนา เมื่อกล้าคิดแล้วต้องกล้าทำในสิ่งใหม่ๆ โดยทำงานเป็นทีมนะ มีหลายเรื่องที่คุณไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเองคนเดียว สาม ทำงานเชิงรุกเพื่อสนองความต้องการของลูกค้า ระลึกเสมอว่าถ้าไม่มีลูกค้า ธุรกิจก็ไม่อาจอยู่รอด และสุดท้าย ทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว เรื่องนี้สำคัญและคุยกันบ่อยมาก ว่าส่วนรวมที่ว่านั้นส่วนรวมของใคร ต้องไม่ใช่ส่วนรวมของฝ่าย แต่เป็นส่วนร่วมของบริษัท

อะไรคือความยากของการบริหารคน

สิ่งที่ยากคือ คนคิดได้หลากหลาย เคยมีคนที่จบสายวิทย์เดินมาถามว่า ที่ให้กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออกนั้น แบ่งเป็นหัวข้อละกี่เปอร์เซ็นต์ เราก็บอกให้ดูความเหมาะสม คุณต้องรู้ว่าเมื่อไหร่ควรจะทำ หยุด หรือฟัง คนอื่นเขา สำคัญที่ยอมรับข้อตกลงที่มีร่วมกัน สมัยทำงานใหม่ๆ ใครๆ ก็บอกว่าบริหารคนเป็นเรื่องยากสุด เราก็ยังไม่เชื่อ คิดว่างานต่างหากที่ยาก แต่ตอนนี้ยอมรับแต่โดยดี

คุณชอบทำงานกับลูกน้องแบบไหน

ลูกน้องที่อดทน เพราะผมค่อนข้างที่จะกดดัน

ชอบให้ลูกน้องเถียงหรือว่าชอบให้เชื่อฟัง

ทั้งสองแบบ คุณควรจะเถียงในสิ่งที่ควรเถียง คุณควรจะเชื่อฟังในสิ่งที่ควรจะเชื่อฟัง ลูกน้องที่เชื่อฟังอย่างเดียว เราก็ไม่รู้ว่าเขาจะเข้าใจสิ่งที่สั่งไปถูกต้องมั้ย หลายครั้งที่ฟังมุมมองใหม่จากพวกเขาก็เปลี่ยนความคิดได้เหมือนกัน ถ้าถามผมว่าชอบแบบไหนมากกว่า ผมชอบแบบที่มีอะไรก็พูดกันมาตรงๆ ไม่ชอบแบบที่ว่า ‘ครับ ครับ’ โดยที่ไม่เข้าใจ สุดท้ายงานก็ไม่เกิดขึ้นอย่างที่คุยกันไว้ แต่ก็ไม่ใช่ตั้งหน้าตั้งตามาเถียง อันนั้นก็อีกแบบหนึ่งนะ

ซึ่งวิธีที่คุณใช้รับมือกับคนแล้วได้ผล ก็คือ…

ผมไม่ใช่ผู้บริหารที่ดีที่สุดหรอกนะ ผมดุมาก แต่ทุกครั้งที่ดุจะบอกทางออกหรือทางแก้ของปัญหาเสมอว่าเขาต้องทำอะไร

ปฏิภาณ สุคนธมาน ผู้บริหารผู้เปลี่ยนความต้องการใช้งานพลาสติกของผู้ผลิตทั้งระบบ

ได้ยินมาว่าคุณดุลูกน้องตามความคาดหวังที่แตกต่างกัน

ใช่ ผมคาดหวัง โชคร้ายหน่อยนะถ้าใครที่ผมให้ความคาดหวังเยอะ จะรู้สึกหนัก แต่เราอยากให้เขาเก่งขึ้นกว่าเดิม นายคนแรกในชีวิตเคยสอนว่า ทำงานกับเขาผิดได้ไม่ว่า แต่ขออย่างเดียว อย่าผิดครั้งที่สอง ซึ่งบ่อยครั้งความผิดเกิดจากที่เขาแยกประเด็นไม่ออก เอาเรื่องนั้นผสมเรื่องนี้ แล้วพยายามแก้ทุกอย่างในเวลาเดียวกัน ซึ่งคุณจะสับสนเอง สิ่งที่ผมช่วยได้คือ แยกเรื่องก่อน แล้วแก้ทีละเรื่อง เหมือนวิชาพีชคณิตที่พวกคุณเรียนกันมานั่นแหละ หาทางพิสูจน์ปัจจัยของเรื่องที่เกิดขึ้น

แสดงว่าปัญหาคือการลำดับความสำคัญของงานเหรอ

ลำดับความสำคัญ หรือจริงๆ แล้วเพราะตั้งโจทย์ไม่เป็น

อะไรคือคำแนะนำที่เราไปปรับใช้ เพราะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับทุกคนทำงาน

ต้องสร้างปัญญาขึ้นมา แล้วจะรู้ว่าจะแก้ปัญหานั้นยังไง เจอบ่อยๆ ระหว่างที่ประชุมรวมกัน เราก็หวังให้ทุกคนรับฟังปัญหาของคนอื่น เรียนรู้จากคนอื่น ฟัง คิด ถาม แต่ในความเป็นจริงคนส่วนใหญ่สนใจแต่เรื่องที่เกี่ยวกับตัวเอง นั่งทำงานของตัวเองขณะที่คนอื่นกำลังพูด สุดท้ายก็ไม่ได้อะไร หนึ่ง คุณรู้สึกเสียเวลา สอง คุณไม่เกิดความรู้ที่เป็น Knowledge และ Wisdom เมื่อมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น คุณก็จะคิดไม่ออกเพราะว่าคุณไม่มีฐานข้อมูลเรื่องอื่นๆ ผมจะบอกให้ทีมตั้งใจฟัง เมื่อฟังเราจะคิดตามและถามจนเข้าใจ อย่าไปคิดว่าการถามคำถามง่ายๆ หรือซ้ำๆ จะดูไม่ฉลาด จากประสบการณ์สมัยเดินสายคุยกับนักลงทุน ผมพบว่าคำถามซ้ำๆ ทำให้ผู้ตอบแตกฉานมากขึ้นจริงๆ

ผู้บริหารผู้เปลี่ยนความต้องการใช้งานพลาสติกของผู้ผลิตทั้งระบบ

6 Questions Answered

by Chief Operating Officer – Downstream Petrochemical Business of  PTT Global Chemical (GC)

  1. โครงการเกี่ยวกับพลาสติกในโลกที่รู้สึกประทับใจ: โรงงานรีไซเคิลเคลื่อนที่ชื่อ Trashpresso ซึ่งตั้งในพื้นที่ที่มีคนเยอะๆ ให้คนเรียนรู้ว่าพลาสติกที่ใช้รีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติกได้ทันทีอย่างไรบ้าง
  2. คำพูดติดปาก: ส่วนใหญ่เป็นประโยคคำถาม เพราะลูกน้องบางคนจะตอบสิ่งที่อยากตอบ จนเราต้องบอกว่า ‘ฟังคำถามนะ’
  3. ไอเทมรักโลกที่อยากอวด: โห เยอะมาก เลือกไม่ได้เลย มีพรมที่ปูในห้องทำงานทำมาจากรีไซเคิล PP สีสวยงามมาก เราอยากทำให้คนเห็นว่าของรีไซเคิลใช้ในชีวิตประจำวันได้จริงนะ อย่างชิ้นนี้เราใช้ตกแต่งห้องทำงาน
  4. ถ้ามีเวลาให้ขึ้นไปกล่าวสุนทรพจน์ให้เด็กจบใหม่ 10 วินาที คุณจะพูดว่า: ความสำเร็จประกอบด้วยสองอย่าง ครึ่งหนึ่งคือดวง อีกครึ่งคือฝีมือ เช่น การได้พบนายดีทำให้เราพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งการได้นายที่ดีหรือไม่ดี คือดวง
  5. เจ้านายที่ดีในนิยามของคุณ: นายดุไม่ได้แปลว่าเขาเป็นคนไม่ดี นายที่ดีของเราคือนายที่สั่งงานเยอะ ครั้งหนึ่งทำงานกับผู้บริหารระดับสูง เขาขอให้จดบันทึกการประชุม แค่คิดว่าเด็กรัฐศาสตร์จดบันทึกการประชุมเรื่องวิศวกรรมก็ยากแล้ว แต่ทำให้เราตั้งใจฟัง ไม่อย่างนั้นจะจดไม่ได้ และต้องทำความเข้าใจ ไม่เช่นนั้นจะเขียนเพื่อไปใช้งานต่อไม่ได้ ทำให้เข้าใจความสำเร็จ ที่มากกว่าความคิด และความรู้ก็คือการพาสิ่งที่เราคิดไปสู่คนอื่น
  6. คุณไปแข่งแฟนพันธุ์แท้ตอนไหนได้บ้าง: แฟนพันธุ์แท้นาฬิกา

หนึ่งในสาเหตุของวิกฤตด้านทรัพยากรธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก มาจาก ‘สังคมที่ขาดการคิดก่อนใช้’ ซึ่งก่อให้เกิดขยะปริมาณมหาศาลที่ยากต่อการจัดการ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาปรับใช้ โดยสร้างสรรค์แนวทางใหม่ในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าและยาวนาน ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาสร้างทางเลือกใหม่ในการใช้ชีวิตหรือการดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืน เพื่อลดการสร้างผลกระทบต่อโลก

ถึงเวลาที่เราต้อง ‘ปฏิวัติทรัพยากร’ อย่างจริงจัง ทุกคนสามารถมีบทบาทสำคัญในการร่วมปกป้องอนาคตของโลกใบนี้ได้ด้วยการนำแนวคิด Circular Living ซึ่งเป็นการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล